วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วิธีเจริญอานาปานสติที่ได้ผลแม้แต่กับมือใหม่

ถาม : วิธีเจริญอานาปานสติที่ได้ผลแม้แต่กับมือใหม่
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/GCtAPKwMZco
ดังตฤณวิสัชนา ๒/๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
เริ่มต้นขึ้นมาเวลาคนเรานั่งสมาธิเนี่ยนะ โดยสัญชาตญาณมันจะเพ่งอยู่กับอะไรอย่างหนึ่ง ด้วยความเข้าใจผิดๆว่าการเพ่ง ณ จุดแคบๆตรงนั้นเนี่ย จะก่อให้เกิดสมาธิ อย่างเช่นพอหลับตาลงไปก็จะจ้องลมหายใจ หรือว่าไปบริกรรมพุทโธ  หรือบริกรรมคำอะไรก็แล้วแต่ที่ยึดไว้ประจำใจ แต่แล้วอาการเพ่งแบบคับแคบนั้นน่ะ มันก็ก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ความรู้สึกอึดอัดก่อตัวมากขึ้นๆ  สะสมไปตามนาที ตามชั่วโมงที่ผ่านไป สุดท้ายพอออกจากสมาธิรู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน รู้สึกว่าไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้ความนิ่ง ไม่ได้ความสงบ ไม่ได้ความรู้สึกปีติสุขอะไรแบบที่เขาว่าๆกัน มีแต่ความรู้สึกเหนื่อยอ่อน หรือกระทั่งมีความเคร่งเครียด อันนี้ก็เป็นเพราะว่านั่งสมาธิผิดมุมมอง ตั้งมุมมองไว้ผิดตั้งแต่เริ่ม

ก่อนที่จะมาถึงอานาปานสติ ผมก็จะให้เคลียร์จุดที่เป็นอุปสรรคขัดขวางสมาธิเสียก่อน นั่นคือความเป็นร่างกายและความเป็นจิตใจที่มันจับ มันวาง มันเพ่ง อยู่กับอะไรที่ผิดๆ

เริ่มต้นขึ้นมาเรานั่งอยู่กับเก้าอี้อย่างนี้ ไม่ต้องไปนั่งขัดสมาธิ ไม่ต้องไปพยายามที่จะดัดท่าทางให้มันผิดปกติอะไรทั้งสิ้น เวลาที่เรานั่งอยู่กับเก้าอี้อย่างนี้นี่นะ มันจะเหมือนกับเป็นอิริยาบถปกติด้วยซ้ำ เพราะว่าคนเรานี่มักจะนั่งอยู่บนเก้าอี้กันเป็นส่วนใหญ่  ในแต่ละวันนี่เราจะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม นั่งอยู่ที่ทำงานก็ตาม มันจะอยู่ในอิริยาบถซึ่งมีเก้าอี้รองรับอยู่ เพราะฉะนั้นท่านั่งแบบนี้นี่มันใช้ได้ทุกสถานที่ ทุกเวลาที่เราหาเก้าอี้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปพยายามดัด พยายามฝึก โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มต้นและผู้ที่เริ่มสูงวัย บางทีการนั่งขัดสมาธิหรือที่เรียกว่าขัดสมาธิเพชร มันลำบาก เป็นความลำบากแก่กาย ก็อาจจะมาเริ่มต้นด้วยการนั่งเก้าอี้ได้ เมื่อทำสมาธิไปจนกระทั่งเกิดความรู้สึกปีติ เกิดความรู้สึกสุข จนกระทั่งความกวัดแกว่งของร่างกายมันสงบระงับลง อันนั้นค่อยไปนั่งสมาธิแบบที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชร มันยังไม่สาย มันจะรู้สึกว่าขัดสมาธิเพชรแล้วไม่เมื่อยไม่ขบ อันนี้ก็เป็นเพราะว่ามีปีติไปหล่อเลี้ยง ถ้าทางกายก็บอกว่ามีสารเอนดอร์ฟินหลั่ง มันทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนหยุ่น กล้ามเนื้อมันไม่เกร็ง มันไม่รัด มันมีความผ่อนคลาย มันถึงได้สบาย ถึงแม้ว่าจะนั่งต่อเนื่องกันนานๆ เป็นชั่วโมงก็ตาม

ทีนี้ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น เรามาเริ่มต้นจากเบสิกกันก่อน เริ่มต้นจากการที่เราวางเท้าราบกับพื้น แล้วก็วางมือราบกับหน้าตัก คอตั้ง หลังตรง การรู้สึกถึงหลังตรงนี่มีส่วนสำคัญ มีส่วนช่วยให้เกิดความรู้สึกถึงร่างกาย เกิดความรู้สึกถึงความมีอยู่ของอิริยาบถนั่ง ถ้าหากว่าเราไม่สามารถรู้สึกถึงอิริยาบถนั่งได้นี่ บางทีมันลำบากที่จะจับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาเป็นตัวตั้งในการเริ่มต้นเจริญสติ ทำสมาธิแบบอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าสอน ถ้าหากว่าเราสำรวจลงไปที่ฝ่าเท้า รู้สึกว่ามันยังเกร็งอยู่ มันยังงออยู่ ก็แบราบเสีย ทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนสลวย หรือเกิดความรู้สึกผ่อนพักสบายที่ฝ่าเท้า ความรู้สึกผ่อนพักที่ฝ่าเท้านี่ ตรงนั้นมันเริ่มมีสติเข้ามาที่กายแล้ว แทนที่จะต้องเพ่งจุดใดจุดหนึ่ง หรือว่าแทนที่จะต้องบริกรรมอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเคร่งเครียด เราแค่สำรวจฝ่าเท้าแล้วผ่อนคลายออกไป นี่ตรงนี้เข้ามาที่กายแล้ว สติมันอยู่กับเนื้อกับตัวเรียบร้อยแล้ว พอรู้สึกถึงความสบายที่ฝ่าเท้า ก็มารู้สึกถึงความสบายที่ฝ่ามือ ถ้าหากฝ่ามือยังกำยังเกร็ง หรือว่ามีอาการผิดปกติอย่างใดๆนี่ เราก็แค่วางฝ่ามือราบกับหน้าตัก ให้เกิดความรู้สึกว่านี่เราวางจริงๆ วางนี่ อาการวางนี่นะคนมักจะเปรียบเทียบ เอาฝ่ามือมาเป็นสัญลักษณ์ของการวาง เพราะว่าเวลากำนี่ มือนี่แหละ ที่กำมากที่สุด มีมือนี่ล่ะเป็นสัญลักษณ์ทางใจที่ไม่ยอมปล่อย ทีนี้ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงฝ่ามือที่วางราบสบาย ตรงนี้มันเกิดความรู้สึกเหมือนปล่อย เหมือนวางขึ้นมา ตรงที่ฝ่าเท้ากับฝ่ามือมีความผ่อนพักสบาย คุณจะรู้สึกว่างๆ ขึ้นมา ว่างที่ฝ่าเท้า ว่างที่ฝ่ามือ มันเป็นการสั่งสมความว่างขึ้นมา ไล่ขึ้นมาถึงใบหน้า ลองสำรวจสังเกตดูว่า หัวคิ้วยังขมวดอยู่ไหม หรือว่าขมับยังตึงอยู่ไหม ต้นคอยังเกร็งอยู่ไหม ถ้าหากว่ารู้สึกถึงอาการเกร็ง อาการตึงหรือว่าการทำงานของมัดเนื้อแบบไหน หรือว่าจุดใด เราก็แค่รู้ไป มันจะคลายออกมาเอง เหมือนกับที่เราสำรวจฝ่ามือ ถ้าหากว่าเห็นว่ามันกำอยู่ เราแค่แบมันออกไป วางราบมันออกไป ในอาการปล่อยวางแบบเดียวกัน กล้ามเนื้อบนใบหน้าก็เป็นแบบนั้นฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อสำรวจสังเกตทั้งฝ่าเท้าฝ่ามือและทั่วทั้งใบหน้าแล้วว่ามันผ่อนคลายจริง คุณจะเกิดความรู้สึกสบายทั่วทั้งตัวขึ้นมา นั่นเพราะว่า ๓ จุดนี้เป็น ๓ จุดสำคัญที่สุด ที่รวบรวมเอามัดเนื้ออื่นๆ ในร่างกายไว้ ถ้าหากว่า ๓ จุดนี้ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อมันก็สบายตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของร่างกาย ตรงความรู้สึกว่าร่างกายไม่กำไม่เกร็ง ตรงนั้นแหละที่สภาพของร่างกายอยู่ในสภาพอ่อนควร ที่จะเริ่มฝึกอานาปานสติแล้ว ที่ไล่ตั้งแต่เท้า มือ มาจนถึงใบหน้ายังไม่ได้เข้าการฝึกอานาปานสตินะ อานาปานสติเริ่มต้นตอนที่ร่างกายมันเหมือนจะพร้อมแล้วนี่แหละ

ถ้าหากว่าใครรู้สึกถึงอาการฟุ้งซ่าน รู้สึกถึงอาการเกร็ง รู้สึกถึงอาการไม่พร้อม ก็กลับไปไล่สำรวจใหม่ ไม่ต้องพยายามบังคับจิตใจตัวเองให้สงบ ไม่ต้องพยายามสั่งตัวเองให้มีสติ แค่สำรวจสังเกตไป ฝ่าเท้ายังเกร็งอยู่ไหม ฝ่ามือยังกำอยู่ไหม ใบหน้าส่วนใดส่วนหนึ่งยังมีอาการขมวด ยังมีอาการตึงอยู่ไหม แค่สำรวจสังเกตมาเท่านี้ สติมาอยู่กับเนื้อกับตัวเรียบร้อย เอาล่ะพอมาอยู่กับเนื้อกับตัวเรียบร้อย ร่างกายคอตั้งหลังตรง มีความรู้สึกผ่อนคลายสบาย อยู่ในอาการพักทั้งตัวแบบนี้ เราแค่สำรวจสังเกตต่อไป เหมือนถามตัวเอง จังหวะนี้ร่างกายมีความต้องการลมหายใจเข้าไหม ไม่ใช่ไปรีบร้อน ไม่ใช่ไปพยายามบังคับ ดึงเอาลมหายใจเข้ามาทั้งๆที่ร่างกายมันยังไม่ได้เรียกร้อง เพราะว่าอาการที่รีบร้อนดึงเข้ามาหรือบังคับให้มันวิ่งเข้ามานี่นะ ตัวนี้นี่มันเป็นภาวะที่เกิดจากความอยาก อยากจะสงบ อยากจะทำสมาธิ อยากจะให้มีสติ ความอยากนี่มันทำให้เกิดการบดบัง ไม่ใช่เกิดการเปิดเผย สังเกตดูที่อาการทางใจ อยากเมื่อไหร่มันรู้สึกมืดๆ ทึบๆ เมื่อนั้น มันรู้สึกถึงอาการกระวนกระวายเมื่อนั้น รู้สึกร้อนๆ รู้สึกว่าไม่สงบ ไม่เย็น นี่อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ต้นเหตุของความทุกข์มันก็มาจากอาการดิ้นรนทะยานอยากของใจ” นี่แหละ

ถ้าหากว่าเราดูลม โดยไม่อาศัยความอยากเป็นเครื่องดู แต่อาศัยความรู้ รู้ว่าอะไร รู้ว่าร่างกาย ถึงจังหวะที่จะต้องดึงลมหายใจเข้ามาแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าถึงจังหวะที่ร่างกายควรจะดึงลมเข้ามา เราจะรู้สึกเหมือนขาด เหมือนร่างกายมันหิว หิวลมหายใจนะ ตรงนั้นเราค่อยลากเข้ามา ช้าๆ สบายๆ พอเข้ามาจนสุดเรารู้สึกถึงความอึดอัดทางกาย เราก็ปล่อยพ่นลมหายใจ ระบายออกไปสบายๆเช่นกัน เข้ามาแค่ไหน ออกไปแค่นั้น เมื่อลมหายใจหยุด สิ้นสุดที่ตรงไหน อย่าพึ่งรีบร้อนดึงลมเข้ามาทันที  ให้สังเกตดูว่าร่างกายนี่ตามจริงแล้วอยากจะได้ลมหายใจเข้ามาแล้วหรือยัง ถ้าหากว่ายังไม่ได้มีความต้องการลมหายใจเข้ามา เราก็ปล่อยให้มันนั่งนิ่งๆ สบายๆ นั่นแหละ เราจะพบว่าตอนที่ร่างกายไม่ดึงลมเข้า ไม่ระบายลมออก มันก็มีสติไปอีกแบบหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนโปร่ง เหมือนเบา เหมือนนิ่ง เหมือนสงบ สงบจากอาการเคลื่อนไหวใดๆทั้งสิ้นนะ มันจะอยู่ในอาการไม่ไหวติงอยู่พักหนึ่ง อาการที่นิ่งไม่ไหวติงอยู่พักหนึ่งนี่ มันทำให้เราสามารถตั้งหลัก รู้ต่อไปได้ว่าร่างกายถึงเวลาที่จะลากลมหายใจเข้ามาแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าถึงเวลาแล้วเราก็ลากเข้ามาตามอาการของร่างกาย ไม่ใช่ตามความอยากของจิตใจ พอเรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นว่าลมหายใจเดี๋ยวก็ผ่านเข้าผ่านออก ผ่านเข้าผ่านออกไป มันจะเกิดความรู้สึกสงบขึ้นมา สงบอย่างผู้รู้ สงบอย่างผู้ดูว่าลมหายใจมันแสดงความไม่เที่ยงอยู่ เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก แล้วบางทีนะเราลากเข้ายาวๆ ๒-๓ ครั้ง มันเกิดความรู้สึกอึดอัด ครั้งต่อๆ ไป ระลอกลมหายใจที่ต้องการมันก็สั้นลง นี่ตรงนี้มันก็เริ่มแสดงความไม่เที่ยงของลมหายใจยาวและลมหายใจสั้น พอสั้นไปหลายๆครั้งเข้าบางทีมันเกิดความรู้สึกหิว หิวมากขึ้น เราก็ลากลมหายใจยาวขึ้น นี่อาการมันเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของธรรมชาติ ไม่ใช่อาการตามใจอยาก แต่เป็นความรู้สึกว่า นี่ธรรมชาติเขาบอกอย่างนี้ เขาเป็นไปอย่างนี้ แล้วเรามีหน้าที่แค่เฝ้าดู เฝ้าสังเกตอยู่เฉยๆ จิตมันก็เกิดภาวะหนึ่งขึ้นมา ภาวะรู้อยู่เฉยๆ ไม่ใช่รู้แบบเฉื่อยชานะ รู้แบบตื่น รู้แบบมีความสว่าง เห็นความจริงว่าร่างกายนี้ยังต้องพึ่งพาลมหายใจอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาที่ลมเข้าเราก็เห็นว่าลมเข้า ถึงเวลาที่ลมออกเราก็เห็นว่าลมออก


ถ้าหากว่าใครเกิดความรู้สึกว่าฟุ้งซ่าน เกิดความเกร็งขึ้นมาใหม่ เราก็สำรวจ สังเกตไล่ขึ้นมาจากฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ใบหน้านะ มันก็จะกลับเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวเหมือนเดิม เหมือนตอนเริ่ม ทำบ่อยเท่าที่มันจำเป็น ทำบ่อยเท่าที่เราจะเห็น ความฟุ้งซ่านหรือว่าความเกร็ง ความกำ อาการขมวด อาการตึง เราเห็นอาการอะไรก็แล้วแต่ ที่มันปรากฏอยู่กับร่างกายที่มันเป็นอาการผิดปกติ ไปจากภาวะพร้อมจะทำสมาธินี่ เราก็ไล่สำรวจ สังเกตมาเลย ตั้งแต่ฝ่าเท้า ขึ้นมาฝ่ามือ แล้วก็ใบหน้า พอเราเห็นถึงความไม่เที่ยงของลมหายใจ สิ่งที่จะได้ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง เป็นหลักตั้งของการเจริญสติ ก็คือจิต จิตที่มันว่างจากอุปาทานเป็นแวบๆ ถึงแม้ว่าจะทำเป็นครั้งแรก แต่หากทำถูกทางทำได้อย่างตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตั้งเข็มทิศไว้ให้นะ เราก็จะรู้สึกขึ้นมาอย่างน้อยชั่วแวบหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่งที่จิตมันนิ่ง มันมีความสว่าง มีความสงบ มีความสบาย พร้อมรู้ พร้อมที่จะตื่น มันจะเห็นว่า เออ ที่ลมหายใจทั้งเข้าทั้งออกมันเป็นแค่กองลมที่ถูกรู้ถูกดู โดยความนิ่งความสว่างของจิต มันจะเริ่มแยกได้ว่า ที่เคยรู้สึกว่าเป็นลมหายใจของเรา ที่แท้มันแค่ลมชั่วคราว ที่ผ่านมาชั่วคราว ผ่านเข้าผ่านออกชุดหนึ่ง มันเป็นคนละชุดกันตลอดชีวิตเลย แต่เราเข้าใจว่าเป็นลมหายใจของเรามาตลอด ก็เพราะว่าความเข้าใจผิด หลงเข้าใจไป สำคัญไปว่าอะไรๆ ที่เนื่องด้วยกายนี้ มันคือตัวเราทั้งสิ้น ต่อเมื่อมาฝึกดู ฝึกรู้เห็นตามจริงอยู่อย่างนี้นะ มันก็จะเกิดมุมมองใหม่ เกิดการรับรู้ใหม่ว่าลมหายใจนี้ไม่ใช่นะ มันเป็นแค่ธาตุลม มันมีแค่ภาวะพัดไหว พัดเข้าพัดออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น จิตผู้รู้ผู้ดูอยู่นี่ มันก็ไม่ได้มีมโนภาพ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าตัวมันนี่เป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง มีชื่อเรียกว่าอะไร นามสกุลว่าอะไร มันมีแต่ภาวะรู้ว่างๆอยู่ มีความว่างในความรู้นั้นน่ะ ไม่ใช่ความว่าง ความรู้แบบเปล่าประโยชน์ แต่เป็นความว่างความรู้ที่เป็นพุทธิปัญญา ซึ่งมันสลัด มันกะเทาะเอาอุปาทานออกไปว่านี่คือฉัน นี่คือตัวเรา นี่คือกายของเรา แล้วถ้าหากว่าใครสามารถนั่งสมาธิแบบอานาปานสติอย่างนี้ได้นะ ครั้งเดียวเท่านั้นแหละ มันก็จะสามารถใช้เป็นตัวตั้ง ใช้เป็นหลักสังเกตในชีวิตประจำวันต่อไปได้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น