ดังตฤณ : ทีนี้ มาถึงขั้นที่เราจะเข้าสู่หมวดของจิตนะครับ
สำหรับท่านที่เคยผ่านมาแล้วก็คงเข้าใจ
แต่ถ้าหากว่าเพิ่งทำวันนี้เป็นครั้งแรกก็ขอให้ดูภาพนี้ก่อน
เรายกมือขึ้นมาแบบเดิม
ทำมือครึ่งวงกลม เสร็จแล้วแทนที่ตอนหายใจออก เราจะวางมือลงกับหน้าตัก ..
เปลี่ยนมาเป็น วางมือขวา ซ้อนมือซ้าย บริเวณหน้าอก แล้วก็ทำความรู้สึก
เมื่อวางมือขวาซ้อนมือซ้ายได้
ทำความรู้สึกถึงช่วงหน้าอก ถึงศอก ที่เป็นสามเหลี่ยม จากช่วงกลางอก
ถึงข้อศอกทั้งสอง ที่มาบรรจบกันที่ฝ่ามือ ซึ่งวางซ้อนกันอยู่
ฝ่ามือขวา
เปรียบเหมือนกับจิต ฝ่ามือซ้ายเปรียบเหมือนกับที่ตั้งของจิต ที่มีความราบเรียบ
สม่ำเสมอ ไม่โคลงเคลง
ถ้าเราสามารถรู้สึกถึงสามเหลี่ยมตรงนี้ได้
ใจของเรา ซึ่งอยู่ตรงกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของสามเหลี่ยม ก็จะมีความเสถียรนะครับ
คือเหมือนกับได้ที่ตั้ง ได้ที่วาง เหมือนกับแผ่นดินที่มีความราบเรียบ หนักแน่น
โดยที่ไม่มีความอึดอัด โดยที่ไม่มีความหนัก
เพราะใจที่เป็นสมาธิ
ใจที่มีปีติ ที่มีสุขแล้ว เป็นใจที่มีความว่าง ที่มีความเบา แล้วใจที่ว่าง เบา
และเสถียรนั่นเอง ที่เรียกว่า จิตตั้งมั่น เป็นสมาธิ
เมื่อเรามีความตั้งมั่นของจิต
มีความนิ่ง มีความสบาย มีความเย็น โดยไม่มีความโยกเยก แล้วเอาความตั้งมั่นนั้น
ไปรู้ว่า ลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก ตามจังหวะเดิม
เหมือนที่เคยทำมาก่อนช่วงท่าที่ 3
ก็จะมีความรู้สึกว่าจิตที่ตั้งมั่น
มีเครื่องหล่อเลี้ยง ลมหายใจนี่เองเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ลมหายใจที่มากับปีติ
และสุขนี่เอง เป็นเครื่องพยุงให้ความตั้งมั่น สามารถที่จะเสถียรอยู่ได้ต่อ
พอเมื่อยมือก็ลดมือลงมาวางบนหน้าตัก
เราจะย้อนกลับไปสู่ท่าที่สองใหม่
ถ้าหากว่าเมื่อยมือแล้ว
เมื่อยแขนแล้ว เราก็กลับไปท่าที่สอง จิตก็ยังคงตั้งมั่นนั่นแหละ
เพราะการประสานมือเพื่อให้รู้ว่าจิตที่ตั้งมั่น ตั้งอยู่อย่างไร
มีความรู้สึกประมาณไหน แล้วเราก็เลิกใช้ฝ่ามือไกด์ได้ กลับมาสู่ท่าที่สอง
คราวนี้
คุณจะเห็นเลยว่า พอผ่านจิตที่ตั้งมั่นมาแล้ว แล้วกลับมาสู่ท่าที่สอง
ลมหายใจจะมีความชัดเจนขึ้น .. ลองดูนะ
พอลมหายใจมีความชัดเจนขึ้น
ก็เท่ากับ วิตักกะ และวิจาระ มีคุณภาพสูงขึ้น
แล้วถ้าคุณมีความผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัวอยู่แล้ว
และจิตมีความเบิกบานอยู่แล้ว ปีติและสุขก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นเงาตามตัว
สำหรับใครก็ตาม ถ้าหากว่าลมหายใจมีความสม่ำเสมอเป็นอัตโนมัติ
และรู้สึกว่า ปีติกับสุขมาเต็ม จิตมีความตั้งมั่นดี
คุณจะเลิกใช้ฝ่ามือไกด์ก็ได้นะครับ
มาถึงจังหวะที่เราวางฝ่ามือนิ่งอยู่กับหน้าตักได้แบบสบายๆ
แต่ถ้าหากว่ายังรู้สึกว่า
จับลมหายใจ จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน ก็ใช้ฝ่ามือไกด์ไปก่อน
ถึงตรงนี้
คุณจะรู้สึกนะ ว่าสภาพทางกาย คอตั้งหลังตรง สภาพของลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก
กับสภาพของจิต ที่มีหน้าที่ตั้งมั่น รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าอะไรเป็นอะไร
มีความสัมพันธ์กันหมด
กายตั้ง คอตั้งหลังตรง
จะเหมือนกับ พานทองรองรับสมาธิ มีความพร้อมที่จะให้เกิดสมาธิ
ส่วนจิตที่เป็นสมาธิแล้ว
ก็จะมาปรุงแต่งสภาพทางกายให้มีความอ่อนหยุ่น อย่างท้อง จะขยายออกเหมือนลูกโป่ง
ที่มีความยืดหยุ่นสูง คุณจะรู้สึกว่า หายใจเข้าด้วยท้องป่องนี่ ได้กว้างขวางขึ้น
มากขึ้น เก็บลมได้มากขึ้น
แล้วสภาพของจิตที่มีความนิ่ง
มีความสว่างขึ้นมา ก็จะมีความรู้สึกถึงลมหายใจชัด
ตอนนี้
เรากลับมาอยู่ท่าที่สองกันนะครับ เพราะการที่เราประสานฝ่ามือขวากับมือซ้าย แน่นอน
ทำให้เมื่อยแขนนะ
จุดประสงค์ของเราแค่ที่จะให้เกิดการรับรู้เข้ามาที่ความตั้งมั่นของจิต
จากนั้น ก็กลับมาสู่ท่าที่สองได้
สำหรับท่าที่สองนี้
จริงๆ แล้ว เป็นท่าที่รวมเอาทั้งวิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุข ไว้ด้วยกัน
รวมทั้งตัวจิตที่ตั้งมั่นด้วย
ถ้าหากว่า
เราทำท่านี้ไปเรื่อยๆ ทั้งคุณภาพของวิตักกะก็ดี วิจาระก็ดี
รวมทั้งปริมาณความรู้สึกของปีติ และสุข จะชัดขึ้นเรื่อยๆ
ถึงตรงนี้นะครับ
จิตของเรา จะมีความนิ่งแบบหนึ่ง ความรู้สึกในตัวตน จะเริ่มเปลี่ยนไป
จะเริ่มแตกต่างไป
ปกติความรู้สึกในตัวตนของเราถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากความคิดแบบสุ่ม
เวลาเรานั่งอยู่เฉยๆ ตอนไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้คุยกับใคร ความคิดอะไรที่ผุดขึ้นมา จิตก็ไปยึดความคิดนั้นว่าเป็นตัวของมัน
เป็นตนของมัน
ความรู้สึกในตัวตนของคนทั่วไป
จึงเกิดจากความคิดแบบสุ่มเป็นหลัก
ทำงานทั้งวี่ทั้งวัน
ก็อาจจะมีความรู้สึกในตัวตนอันเกิดจากความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับงาน หลายๆ
ชั่วโมงต่อวัน
ตัวตนของใคร
จะใหญ่แค่ไหน ตัวตนของใครจะเล็กแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณภาพของความคิด
คุณภาพของความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หรือการว่างงาน จะปรุงแต่งให้ใจเป็นไป
ทีนี้พอมานั่งสมาธิ
เมื่อเกิดวิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุขขึ้นแล้ว รวมทั้งจิตเริ่มตั้งมั่นขึ้นมาอ่อนๆ
บ้างแล้ว ความรู้สึกในตัวตน จะเข้ามาอยู่ในสภาพร่างกาย สภาพของจิตใจ
ถ้าสภาพกาย
สภาพใจมีคุณภาพดีมาก ก็รู้สึกว่าตัวตนของเรา จะใหญ่ขึ้น ยกระดับขึ้น
เหนือกว่าความรู้สึกแบบโลกๆ เหมือนตัวเราสูงส่งขึ้น มีความสว่างมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เป็น 8% พอรู้สึกถึงลมหายใจที่สว่าง
พอรู้สึกถึงจิตที่รวมดวง มีความผนึกรวม มีความตั้งมั่น ธรรมชาติธรรมดา
อันเกิดจากการปรุงแต่งจิตแบบนั้น จะทำให้รู้สึกว่า ตัวตนของเรา
อยู่เหนือกว่าระดับโลกๆ เหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา เหนือกว่าตัวตนเก่าๆ
เรื่องของตัวตน
มาจากตรงนี้นะ มาจากภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา ทั้งสภาพทางกาย
ทั้งสภาพทางใจ
เราจะมาดูกัน
พอมีจิตที่เริ่มเป็นสมาธินะ เริ่มจากรูปขันธ์ก่อน ความเป็นกายนี้ คือรูปขันธ์ คือ
ขันธ์ที่เป็นรูปนั่นเอง
กายกับใจ
แบ่งเป็นเลเยอร์ (layer - ชั้น) ต่างๆ 5 เลเยอร์
เลเยอร์แรก ชั้นแรก
ได้แก่รูปขันธ์ ความเป็นรูปที่จับต้องได้ สิ่งที่กำลังปรากฏชัดอยู่คือ
ฝ่ามือที่เคลื่อนไหว หรือว่าอย่างน้อยที่สุด ลมหายใจที่ผ่านเข้า ผ่านออก
ถ้าเราเห็นรูปขันธ์ได้
ถามตัวเองง่ายๆ ว่า รูปขันธ์ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ ปรากฏเพื่อให้เกิดความสำคัญมั่นหมาย
ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา หรือว่า เป็นเครื่องหมายกระตุ้นให้นึกถึงความไม่เที่ยง ..
ถามตัวเองแค่นี้นะ
ตรงที่คุณเห็นลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก
แล้วรู้สึกว่า มีตัวคุณหายใจอยู่ นี่เรียกว่า มีความสำคัญมั่นหมายว่า ลมหายใจ
เกี่ยวข้องกับคุณ เป็นตัวคุณ หรือมีตัวคุณหายใจอยู่
แต่ถ้าหากว่า
ลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกนี้ ปรากฏสักแต่เป็นธาตุอะไรชนิดหนึ่ง ที่พัดเข้า
พัดออกอยู่ในกายนี้ ไม่มีความเป็นคุณ ไม่เกี่ยวข้องกับคุณ รู้สึกอยู่ชัดๆ ณ
จิตขณะนี้ว่าเป็นแค่อะไรอย่างหนึ่ง ผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไป ไม่ใช่ตัวใครเลย
ตัวนี้ ที่เรียกว่า
มีความสำคัญมั่นหมายที่แตกต่างไปแล้ว
ตัวความสำคัญมั่นหมายว่าลมหายใจนี้
หรือว่าท่านั่งคอตั้งหลังตรงนี้ เป็นตัวของเรา อันนี้เรียกว่า อัตตสัญญา คือมีความรู้สึกว่า
กายนี้ ลมหายใจนี้เป็นตัวของเรา
แต่ถ้าหากว่าคุณแค่เห็นด้วยจิตที่เป็นสมาธิธรรมดาๆ
อย่างนี้ว่า ลมหายใจผ่านเข้ามาแล้วต้องผ่านออกไปเป็นธรรมดา
ท่าเคลื่อนไหวที่เคยทึบ
กลายเป็นโปร่ง จากที่ยึดๆ กลายเป็นอ่อนหยุ่น
มีความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยอยู่ตลอดเวลา
เห็นอย่างนี้แล้วรู้สึกว่า
นี่ไม่ใช่เรา นี่สักแต่เป็นการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย ของรูปธรรม
ที่เราเห็นอยู่นี่
ปรากฏชัดอยู่ก็คือธาตุดิน ที่ขยับไหวไป ..คอตั้งหลังตรง อยู่ในท่านั่งนี้
นี่ก็ธาตุดิน ยกตั้งขึ้นได้ด้วยกระดูกสันหลังนะครับ แล้วฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ
ส่วนลมหายใจก็เป็นธาตุลมที่ผ่านเข้ามาแล้วต้องผ่านออกไปเป็นธรรมดา
ถ้าหากว่าเราเห็นชัดๆ
แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่สักแต่เป็นอะไรอย่างหนึ่ง ภาวะอย่างหนึ่ง
ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ ทุกขณะจิต
ตัวนี้
เกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาอีกอย่างว่า ของไม่เที่ยง ไม่ได้มีตัวเดิมคงทนอยู่
ตัวนี้เรียกว่า
อนัตตสัญญา
แต่ถ้าหากว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลง
ความไม่เที่ยง ความไม่เหมือนเดิมชัดเด่นกว่า ก็เรียกว่าเป็นอนิจจสัญญา
ระหว่าง อัตตสัญญา กับ
อนิจจสัญญา จะกระโดดไปกระโดดมาได้ ภายในพริบตาเดียว ถึงแม้ว่าเราจะมีสมาธิอยู่
แต่ถ้าหากสติเราคลาดเคลื่อนไป มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของภาวะต่างๆ
ที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตานี้
จิตก็เคลื่อนไปยึดว่า
นี่เป็นตัวเป็นตนของเรา ด้วยความเคยชินที่มีมาชั่วกัปชั่วกัลป์
จะยึดตัวเหยื่อล่อคือสภาพกาย สภาพใจ ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ ขณะหนึ่งๆ
เป็นตัวของมันอยู่ตลอดเวลา
ต่อเมื่อมีสติ มีสมาธิมากพอ
มีกำลังมากพอที่จะมองเห็นว่า ลมหายใจก็ไม่เหมือนเดิม สภาพทางกายก็ไม่เหมือนเดิม
ตัวนี้ ถึงจะเกิดความสำคัญมั่นหมายใหม่ขึ้นมา รู้สึกว่าไม่ใช่ .. ตัวเรา
ก็ไม่เที่ยง ตัวนี้คือ อนัตตสัญญานะครับ
อนัตตสัญญา
จะปนอยู่ด้วยกันกับการเห็นแบบยอมรับตามจริงว่า อะไรๆ ในภาวะกายใจนี้
ไม่เที่ยงหมดเลย
พอความรู้สึกว่าไม่เที่ยง
ความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเราเกิดขึ้นเต็มๆ จิต จิตเต็มๆ ดวงที่มีสมาธิอยู่ รับรู้
และยอมรับ
บางคนรับรู้
แต่ไม่ยอมรับ บางคนยอมรับ แต่ไม่รับรู้ .. ต่างกันอย่างไร
เวลาคนปกตินี่นะ คิดๆ
เอาว่ากายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ก็ยอมรับได้ง่ายมากเลย แต่ไม่ได้รับรู้จริงๆ
เป็นแค่คิดๆ เอาเฉยๆ
แต่ครั้นเรามาเข้าสมาธิ
ทำสมาธิได้ จิตมีความเป็นกลางมากพอ จิตมีกำลังมากพอที่จะเห็นความไม่เที่ยง ..
นี่ก็สามารถรับรู้ ส่วนจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ก็ขึ้นอยู่กับว่า กำลังของปัญญา
ของแต่ละคน จะมีมากหรือน้อยแค่ไหน
บางคนจิตเป็นสมาธิแล้ว
สามารถเห็นได้อย่างแจ่มชัดว่า ไม่เที่ยงจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ตัวเดิมจริงๆ ด้วย
แต่ไม่อยากยอมรับ ยังมีความรู้สึกในอัตตาเหนียวแน่นอยู่ เกาะกุมอยู่
ในขณะที่บางคน
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย แค่เห็นว่า
นี่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ด้วย ก็เลิกยึดเลย คือรับรู้ แล้วก็ยอมรับแบบง่ายๆ ซื่อๆ
อย่างตอนนี้
ถามตัวเองง่ายๆ เลยว่า รู้เข้ามาที่กายนั่ง
แล้วรู้สึกว่ากายนั่งนี้เป็นตัวคุณหรือเปล่า
ตอนนี้รู้เข้ามาที่ลมหายใจ
มีตัวคุณเป็นผู้หายใจหรือเปล่า หรือว่าร่างกายเอาลมเข้ามาเอง แล้วก็พ่นลมออกไปเอง
ไม่มีตัวใครอยู่ที่นี่เลย
ถามตัวเองได้คำตอบปรากฏอยู่ในจิตของคุณตามจริง
อันนั้นแหละ ที่เรียกว่า เราเห็นแล้วว่ากำลังเกิด อัตตสัญญา หรือว่า อนัตตสัญญา
สัญญา แปลว่าความสำคัญมั่นหมาย
ความจดจำได้ ความหมายรู้ว่า อะไรเป็นอะไร
สำหรับคืนนี้นี่นะ เราจะไม่เอาสัญญาชนิดอื่น
ประเภทที่จำได้ว่า สีชมพู สีเหลือง ประเภทที่จำได้ว่า นั่นเพื่อนเรา นั่นแฟนเรา
นี่ร่างกายของคนชื่ออะไร จะไม่เอาสัญญาที่มีความละเอียดอ่อนพวกนั้น
แต่จะมุ่งเน้นมาที่ตรงนี้ก่อนเลย
ตัดตรงเข้ามาที่ นิจจสัญญา หรือ อนิจจสัญญา อัตตสัญญา หรือว่า อนัตตสัญญา
ความสำคัญมั่นหมายอยู่ว่า
กายนี้ใจนี้ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
คนนี่นะ เริ่มต้นขึ้นมา
จะมีความรู้สึกว่ามีตัวตนของเราอยู่แน่ๆ และเป็นตัวตนที่เที่ยง
ต่อเมื่อมาเห็นสภาพทางกายสภาพทางใจเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ
ทุกวินาที ทุกขณะ อันนี้ ถึงได้เกิดความรู้สึกขึ้นมา สำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่า
ไม่เที่ยง
ตัวไม่เที่ยงนี่แหละ
ที่เรียกว่า อนิจจสัญญา ความรู้สึกว่าจะไม่เหมือนเดิมแน่ๆ นั่นแหละ ที่เรียกว่า
อนิจจสัญญา
ตัวอนิจจสัญญา
พอเกิดขึ้นแก่กล้า ก็รู้ว่าไม่มีตัวเดิม ไม่เคยมีตัวใคร มีแต่ภาวะอะไรๆ
ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวนี้ที่เรียกว่า อนัตตสัญญา .. สำคัญมั่นหมาย
ถูกต้องตามจริงว่า ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับคืนนี้
ในการฝึกที่จะมองสภาพกาย สภาพใจโดยความเป็นรูปนาม เราก็มาอยู่ที่ประมาณนี้กัน
เดี๋ยวถัดจากนี้
เราจะมาดูฟีดแบคกัน
สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
กลุ่มที่บอกว่าเห็นลมหายใจ เป็นลมสว่างได้ทุกครั้ง เป็นพวกที่ผมว่า หนึ่งในพัน
หรือว่าหนึ่งในหมื่น ของผู้ที่พยายามทำสมาธิ ที่มาถึงตรงนี้ได้
แล้วกลุ่มที่สอง อย่างที่บอกนะครับ คุณจ่ออยู่แล้วล่ะ นิดเดียว คุณยกระดับขึ้นได้ ขอแค่มีความเข้าใจอย่างที่ผมพูดไปนะครับ ในรายการคืนนี้
________________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
จากสมถะสู่วิปัสสนา
- การทำสมาธิร่วมกัน แอนิเมชัน (ท่าที่ ๓)
วันที่ 22 สิงหาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป :https://www.youtube.com/watch?v=Xvo55cADmdE
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น