วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

01 เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์ : เกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

 

สำหรับคืนนี้ ก็จะมาว่ากันต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่จะดูสังขารขันธ์อย่างไรให้เป็นจริงๆ

 

ถ้าดูสังขารขันธ์เป็นจริงๆ แล้ว คุณจะพบว่าพุทธพจน์หลายๆ พุทธพจน์เกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ ฟังแล้วเข้าอกเข้าใจแจ่มแจ้ง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระพุทธองค์ท่านตรัสเปรียบเทียบ ขันธ์ 5 ไว้กับอะไรต่างๆ นะ

 

ก่อนอื่นใด ถึงวันนี้นะครับ มาถึงจุดที่ต้องย้อนกลับมาทบทวนนะว่า พวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่ แล้วตอนนี้เกิดผลลัพธ์แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

 

กลุ่มหนึ่ง ก้าวหน้าไปจนเห็นกายใจเป็นขันธ์ 5 ได้ กับกลุ่มที่ยังท้ออยู่กับจุดออกตัวเริ่มต้นนะครับ ที่กล่าวอย่างนี้ ผมเอาข้อเท็จจริงมาจากไหน เอาข้อเท็จจริงมาจากผลโพลของสัปดาห์ก่อนนะครับ



โพลแรก จะสะท้อนให้เห็นนะว่า ปฏิบัติมาได้อย่างไร

แล้วโพลที่สอง จะชี้นะครับว่า หลังจากทำสมาธิแบบพุทธด้วยกันแล้ว เกิดผลอย่างไร

 

ซึ่งตัวเลขสอดคล้องกันนะ ทำให้ผมมั่นใจว่าพวกคุณตอบออกมาจากประสบการณ์จริง แล้วก็เวิร์คด้วยนะครับ จากสถิติ ตัวเลขเกินร้อยมักไม่โกหก

 

กลุ่มที่หนึ่ง ก็ถือว่าตัวเลขประมาณ 1 ใน 4 แล้วกัน เป็นพวกที่เข้าใจแล้วจริงๆ

 

คือทำสมาธิไป ไม่ใช่ทำสมาธิแบบหัวหลักหัวตอ ไม่ใช่ทำสมาธิไปแบบนั่งทื่อเฉยๆ แต่ว่าเป็นสมาธิแบบพร้อมที่จะเอามาใช้

 

สมาธิแบบพร้อมใช้ของพุทธนี้ เรียกว่าสมถะนะครับ .. งานสมถะ

 

หากว่าทำสมถะได้ดีแล้ว เลื่อนขั้นอีกนิดเดียว พลิกมุมมองอีกนิดเดียว ก็สามารถที่จะรู้กายใจ โดยความเป็นรูปนามขันธ์ 5 ได้

 

ส่วนกลุ่มที่บอกว่ายังไม่เข้าใจ ก็ 1 ใน 4 เหมือนกัน ไม่เคยเกิดประสบการณ์ที่จะเชื่อได้ว่าทำสมาธิเป็น หรือว่ามองเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 แล้วก็มีอยู่ประมาณ 1 ใน 4

 

ส่วนกลุ่มกลางๆ นี่ถึงแม้ว่าจะยังครึ่งๆ กลางๆ แต่ก็เป็นพวกที่กำลังวิ่งอย่างแข็งขันนะครับ

 

ถึงแม้ว่าจะยังไปไม่ถึงจุดที่คุณมั่นใจว่าคุณกำลังพุ่งเป้าไป แต่ก็อยู่ในทางแน่ๆ นะครับ

 

ซึ่งทางของเรา เป้าหมายของเรามีอะไรบ้าง

 

ที่เราทำกันอยู่นี่ คืออานาปานสติ และอานาปานสติ ก็อาจยากสำหรับคนทั่วไป ทำแล้วปวดหัวบ้าง ทำแล้วเครียด ทำแล้วเสียวหว่างคิ้วบ้าง หรือว่าทำแล้ว ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย

 

ก็เลยเอา มือไกด์ มาช่วย เป็นเครื่องช่วยให้คุณรู้ลมหายใจเป็นเฉยๆ นะครับ คือไม่ได้ให้ทำตลอดไป

 

ถ้าเป็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มือไกด์ก็ได้

 

หรือถ้าพบว่าการใช้มือไกด์มาช่วย ทำให้คุณเข้าสมาธิ รู้จักอานาปานสติจริงๆ ก็อาจจะทำไปเรื่อยๆ นานสักระยะหนึ่ง ไม่ได้เสียหายอะไรนะ

 

เพราะเป้าหมายของเราจริงๆ อย่างท่าทีหนึ่ง ก็คือตั้งใจให้เกิดวิตักกะ และวิจาระ พูดง่ายๆ คือ รู้สึกถึงลมหายใจชัด

 

ถ้ายังไม่เข้าใจว่า วิตักกะคืออะไร วิจาระคืออะไร

 

วิตักกะ คือนึกถึงลมหายใจ วิจาระ คือมีจิตแนบเป็นหนึ่งกับลมหายใจ

 

ถ้าคุณรู้สึกถึงลมหายใจชัด นั่นแหละก็คือเป้าหมายของท่าแรก

 

ส่วนท่าที่สอง เป้าหมายก็คือ ให้หายใจยาวอย่างไม่ฝืนได้

 

การหายใจยาว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับทุกคน ถ้าทำครั้งเดียว แต่ถ้าหากว่าจะเอาสมาธิกันจริงๆ หายใจยาว ลากลมหายใจเข้ายาว ระบายลมหายใจออกยาว ส่วนใหญ่จะทำกันไม่ไหว ทำกันไม่เป็น แล้วก็ทำแล้วเครียด ทำแล้วแทนที่จะเกิดปีติสุข กลายเป็นเกิดความทุกข์ เกิดความอึดอัดไปแทน

 

เพราะฉะนั้น ท่าที่สองถูกออกแบบมา เพื่อให้หายใจยาวอย่างไม่ฝืนนะครับ พอหายใจยาวอย่างไม่ฝืนได้ ก็เกิดอาการที่เรียกว่า กายสังขารระงับ กายระงับแล้วก็เกิดปีติสุขนะ

 

พอเกิดปีติสุข จิตก็ระงับที่เรียกว่า จิตตสังขารระงับ ซึ่งเกิดจากการที่พอปีติสุขแล้ว ก็มีความรู้สึกว่า เต็มใจที่จะเงียบจากการฟุ้ง ความฟุ้งนี่มารบกวนไม่ได้ อันนี้คือจุดประสงค์ของท่าที่สอง

 

แล้วก็จุดประสงค์ของท่าที่สามนะครับ ก็คือให้มีจิตตั้งมั่น

 

ซึ่งผลของท่าทั้งหมดนี่ ผมไม่ได้ชี้นำไว้ก่อนนะ ว่าจะเกิดภาพหรือเกิดประสบการณ์อะไร ก็เล็งผลเลิศไว้นะครับว่า พวกคุณทำท่าต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็จะเกิดผลที่ถูกต้องตามมาเอง

 

ผลเป็นอย่างไร?

 

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นนะครับ ก็เช่นที่เคยให้ดูแล้ว .. จะมีความรู้สึกถึงลำตัว ที่ดึงลมหายใจเข้า และระบายลมหายใจออก

 

ขึ้นต้นมาท้องพอง แล้วก็ช่วงอกกระเพื่อม เหมือนกับรับช่วงต่อ ในการดึงลมเข้า ถ้าเห็นแบบนี้ เรียกว่าเข้าเป้าท่าทั้งสามนะครับ

 

แล้วก็จะมีเรื่องของความสว่างที่จะเกิดขึ้น

 

ความสว่างนี่ ผมไม่ได้กะเกณฑ์นะ ไม่ใช่จะให้คุณตะบี้ตะบันเอาให้เกิดความสว่างให้ได้ แต่ว่าเป็นผลลัพธ์ เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงลมหายใจอย่างถูกต้องนะครับ

 

แต่ถ้าหากว่ารู้ลมหายใจไม่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นความรู้สึกมืดๆ ทึบๆ ไปแทน หรือเกิดความรู้สึกอึดอัดไปแทน

 

นี่เป็นสิ่งที่แต่ผมก็พยายามจะทำให้พวกคุณเห็นในคืนนี้

 

คืนนี้เราจะมา เริ่มกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนะครับ แต่ก่อนอื่นใด ผมจะเอา

อันนี้ให้ดูก่อน


ถ้าหากว่าทำสมาธิไปไม่ว่าจะแนวไหน แล้วเกิดความอึดอัด เกิดโทสะ เกิดความรู้สึกอยากออกจากสมาธิ จะออกแนวอย่างนี้ จะมืดๆ

 

ตอนแรกๆ นี่เกิดความรู้สึกเหมือนกับ พอจะรู้สึกถึงท่านั่งได้บ้าง รู้สึกถึงลมหายใจได้บ้าง แล้วก็จะค่อยๆหรี่ลงๆ กลายเป็นว่ามีความฟุ้งซ่าน หรือมีโทสะ อัดอั้นตันใจเกิดขึ้นเต็มไปหมด มืดฟ้ามัวดิน แล้วก็มองไม่เห็นกาย มองไม่ออกเลยว่า ลมหายใจกำลังเข้า หรือกำลังออกอย่างไร

 

อันนี้ก็เป็น ธรรมชาติธรรมดา จะคิดว่าไม่สว่าง แล้วจิตมืดลง หรือว่ามีการปรุงแต่งในทางที่จะทำให้เกิดหลุมดำก็ได้

 

ส่วนคนที่พอจะทำได้บ้าง แค่คุณรู้สึกถึงกายนั่ง รู้สึกว่ามีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก รวมทั้งรู้สึกว่ายังมีความคิดเอื่อยๆ อยู่ในหัว นี่แค่นี้ก็เรียกว่ามีความสว่างเกิดขึ้นแล้ว

 

นี่คือจะได้ทำความเข้าใจไปด้วยนะว่า แม้สว่างอยู่ในขอบเขตกายแค่นิดหน่อย ก็ถือว่าเป็นกุศลธรรม ที่พอจะช่วยให้เห็นความจริงเกี่ยวกับกายขึ้นมาได้บ้างแล้ว

 

ขอให้ตรงนี้เป็นจุดนัดพบความเข้าใจกันด้วยนะครับ ว่า ความสว่างนี่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนกับแสงไฟนีออนเสมอไป

 

เอาแค่คุณเริ่มรู้สึกถึงความเป็นกายนั่ง อย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตก็เริ่มสว่างแล้ว

 

ส่วนอีกระดับหนึ่ง จะเป็นความสว่างแบบที่เรียกว่าสว่างนวลๆ นะ รู้สึกอิ่มใจรู้สึกสบายใจ บางครั้ง เลือนๆ เหมือนคิดไปเอง แต่บางครั้งก็เริ่มชัด มีความสว่างแบบที่แผ่ออกมาเกินๆ กายไปนิดหนึ่ง

 

นี่อันนี้ก็ถือว่าเอามาเป็นเครื่องพิจารณาได้นะครับ

 

ที่สำคัญคือถ้าสว่างนวลๆ แบบนี้มาถึงขั้นนี้ คุณจะเริ่มรู้จักจิตเงียบได้เป็นพักๆ เงียบจากความฟุ้งซ่าน

 

ถ้าตั้งต้นรู้ออกมาจากจิตที่เงียบเชียบได้  ทำสมาธิจะเริ่มแยกออกว่า

 

อย่างนี้กาย กายตั้งอยู่ตรงนี้

อย่างนี้ลมหายใจ ลมหายใจนี่อยู่คนละที่กับกาย

อยู่คนละเลเยอร์ อยู่คนละชั้นกับกาย

แล้วก็สามารถแยกออกว่า ความคิดฟุ้งซ่าน มาเองไปเองในหัวนี้

อย่างนี้เรียกว่าเริ่มแยกขันธ์ได้

 

เห็นไหม คือแค่สว่างนวลๆ คือแยกขันธ์ได้แล้วนะ แล้วถ้าแยกขันธ์ได้นานพอก็จะยกระดับสูงขึ้นไปนะ แบบที่ เราเรียกกันว่า ตื่นรู้ ประกอบด้วยปัญญาแบบพุทธ เรียกว่าเป็นจิ ตผู้รู้

 

พูดง่ายๆ ก็คือ จิตที่ตื่นขึ้นยอมรับว่า กายใจนี่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าตื่นขึ้นธรรมดาๆ ก็เป็นวิปัสสนาไปเป็นครั้งๆ

 

แต่ถ้าหากว่าจิตรวมลงได้ถึงฌาน อย่างนั้นก็คือเข้าถึงมรรคผลนั่นเอง เพราะได้พบนิพพาน คือ ไม่ใช่แค่เข้าใจว่ากายใจไม่ใช่ตัวตน แต่ได้พบธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นต่างหาก เหมือนกับการกลับเหรียญ หรือว่าเปลี่ยนจากพรมที่อยู่ด้านมีลวดลาย พลิกกลับไปเป็นพรมที่ไม่มีลวดลาย มีความว่างเปล่า แล้วก็มีความสะอาดตากว่ากัน

 

ทีนี้พวกนี้ ก็จะเป็นพวกที่ส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ .. คือไม่จำเป็นต้องอย่างนี้เสมอไปนะ.. ส่วนใหญ่ถ้าหากว่ายกระดับขึ้นมาจากสว่างนวลได้ ก็จะเป็นสว่างจ้าเหมือนสว่างเต็มห้อง สว่างเต็มท้องฟ้า

 

คือถ้าถึงขั้นนี้ ถ้าคุณเป็นพวกที่เอาแต่ปฏิบัตินะ คุณจะนึกว่า ความสว่างนี้คือจิต

 

คือพูดง่ายๆ ว่าพอมีความสว่างขึ้นมาเต็มท้องฟ้านี่ คุณจะรู้สึกว่าจิตของคุณใหญ่มาก แล้วก็มีความสูงส่ง แล้วก็ติดใจอยู่ว่าตัวเองทำได้ ตัวเองเข้าถึงสมาธิขั้นสูง หรือตัวเองเข้ามาหลอมรวม เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอะไรบางอย่าง ธรรมะอะไรบางอย่างที่เหนือมนุษย์ เหนือโลก

 

เสร็จแล้วก็ไปต่อไม่ถูก หรืออย่างมากก็เลื่อนขั้นสมาธิไปเรื่อยๆ แล้วก็ติดสมาธิ หรือติดมโนภาพตัวตนแบบใหม่ขึ้นมา

 

คือตัวตนเดิม จะมีรูปร่างหน้าตา มีหูตา

แต่ตัวตนแบบใหม่ คือจะมีแต่ความสว่างเต็มท้องฟ้า

 

ทีนี้ ถ้ามาถึงความสว่างในสมาธิขั้นนี้ แล้วคุณมีความรู้ทางทฤษฎีแบบพุทธประกอบ เป็นฐานเป็นทุน ก็จะทราบว่าความสว่างนี้ ที่คุณเข้าถึงได้นี่ คือสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง

 

พอคุณรู้ว่า ความสว่างเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง อย่างนี้จะไปต่อถูก

 

จะเป็นความสว่างที่มีคุณค่ามหาศาล เพราะว่าความสว่างนี้ จะง่ายที่จะแสดงให้คุณเห็นธรรมะ ที่ทั้งหยาบ แล้วก็ละเอียดเป็นชั้นๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของสังขารขันธ์นี่ จะเห็นได้ง่ายเลยนะว่า เราสามารถปอกเปลือกสังขารขันธ์ได้ทุกระดับ เหมือนกับลอกกาบกล้วย ซึ่งเดี๋ยวหลังจากทำสมาธิ เราจะได้มาทำความเข้าใจตรงนี้กัน

 

ก่อนอื่นใด อย่างที่นัดหมายกันไว้ ตกลงกันไว้นะ พวกที่บอกว่ายังออกตัวจากจุดเริ่มต้นไม่ได้ รู้สึกว่าผ่านความมืดความทึบภายในไปไม่ได้นี่นะ ซึ่งจะทำให้เกิดความท้อแท้ ฟังธรรมะ ปฏิบัติแล้วสงสัย แล้วก็งุนงงไปหมดนี่นะ

 

ที่ผ่านมา เรามีปัญหา เราติดขัดกันในท่าที่สอง คือมีความไม่เข้าใจหรือมีความเมื่อย เมื่อยแขนบ้างอะไรบ้าง

 

คือจริงๆ ถ้าเหวี่ยงแขนเป็น วาดแขนเป็นแบบสบายๆ แขนอ่อนๆ กล้ามเนื้อไม่เกร็งนี่ จะสบายนะ ไม่ใช่เกิดความรู้สึกเมื่อย

 

ที่เมื่อยนี่เพราะว่ายังเกร็งแขนอยู่ จิตกับกายไม่สัมพันธ์กัน ก็เลยไม่เกิดความเห็นอะไรขึ้นมา

 

คืนนี้นี่ผมปรับท่าให้ง่ายลง จริงๆแล้ว ยังเป็นท่าที่สองอยู่นั่นแหละ แต่ทำให้ง่ายลง จุดประสงค์เพื่อให้ไปถึงจุดหมายเดียวกัน คือสามารถเห็นสังขารขันธ์ไล่ไปตามลำดับได้ นับจากมโนภาพในตัวตนหยาบๆ นะครับ ไปจนกระทั่งนิมิตสังขารขันธ์ ที่ขึ้นต้นด้วยวิตักกะวิจาระ

 

แล้วถ้าเป็นไปได้ หลายท่านอาจจะเข้าถึงปีติและสุข แล้วก็มีความสว่างออกมาจากภายในได้ จากท่าใหม่ที่กำลังจะได้ทำกัน

 

จังหวะเวลานี้ เรามาสวดมนต์กันก่อนนะครับ การสวดมนต์แต่ละครั้งสำหรับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ก็ชี้ให้เห็นความสำคัญ เพื่อที่จะได้อัญเชิญ พระพุทธคุณ มาประดิษฐานในจิต ถ้าหากว่าเราสวดถูก สวดบท อิติปิโสฯ ได้ถูก แล้วก็อัญเชิญพระพุทธคุณ มาประดิษฐานในจิตของเราได้นะ

 

จะเหมือนกับได้ส่วนของความไม่กระสับกระส่าย ของความมีจิตไม่ดิ้นรนของพระพุทธเจ้า มาอยู่ในตัวได้ฟรีๆ นะครับ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงเกริ่นนำ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :  https://www.youtube.com/watch?v=GaUdz5dA49U&t=613s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น