ดังตฤณ : พอมาถึงตรงนี้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำมาถูกนะครับ คุณจะรู้สึกถึงกายอย่างชัดเจน แล้วก็รู้สึกถึงการหายใจ ที่มีความสะดวกราบรื่น แล้วก็ผ่อนคลายเนื้อตัว ทำให้จิตใจผ่อนพัก ไม่เกิดความหงุดหงิด ไม่เกิดความฟุ้งซ่าน แล้วก็ร่างกายมีความพร้อมที่จะยืดหยุ่น
ถ้าหากว่าใครไปถึงขั้นที่เห็นว่า ตัวของเราเหมือนกับถุงลมที่โป่งพองออกมา
แล้วก็ยุบลงไปได้ อันนี้ยิ่งดี เพราะเห็นอย่างนั้นแหละ ที่จะช่วยตรึงให้จิตอยู่กับ
อารมณ์อันเป็นคุณ คือลมหายใจเข้าออก
ทีนี้ ลองใส่ใจดูนะครับ
เนื้อตัวเบา ก็เป็นความเบาชนิดหนึ่ง
ใจเบา ก็เป็นความเบาอีกชนิด หนึ่ง
ถ้าทั้งตัว ทั้งใจมีความเบาเสมอกัน
เนื้อตัวไม่เกร็ง ผ่อนคลายทั่วตลอด ใจไม่คิดถึงเรื่องอะไรอื่น มีความรู้สึกผ่องๆ จากกลางความว่าง
อย่างนี้เรียกว่าความเบา
ความเบาตัวเบาใจอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราใส่ใจเข้าไปที่ความเบา
ความรู้สึกเบานั้นแหละ ความรู้สึกเบากำลังมีอย่างไร เราก็ใส่เข้าไปอย่างนั้น
การใส่ใจความเบา ทำให้เกิดความผ่องใส
ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความสว่างที่เกิดขึ้น สว่างได้มากขึ้นไปอีก
นี่เป็นเคล็ดลับ ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้นะ ถ้าหากจะให้จิตมีความผ่องใสหรือพูดง่ายๆ
ว่าให้จิตมีความสว่างเจิดจ้าออกมา เคล็ดลับง่ายๆ ก็คือให้ใส่ใจความเบา
ยิ่งเราใส่ใจไว้ในความเบานานขึ้นเท่าไหร่ คุณจะรู้สึกว่าความสว่างความผ่องใสของจิต
จะเบ่งบาน ขยายออก และขยายแบบไม่มีขอบเขต ขยายแบบที่ไม่มีการมา
ถูกห่อหุ้มด้วยอะไรแข็งๆ
เป็นความเบา เป็นความผ่องใส เป็นความสว่าง
ในแบบที่คุณรู้สึกได้ว่าอย่างนี้แหละที่จิตแผ่ออกไปได้ ไม่มีประมาณ
ถ้าใส่ใจความเบาได้น้อย ก็ไขแสงให้สว่างได้น้อย
ถ้าใส่ใจความเบาได้มาก ก็ไขแสงสว่างให้ได้มากขึ้น
ที่ตรงนี้ ถามตัวเองว่า ความสว่างนี้ทำให้หลงเข้าใจว่าเป็นจิตหรือไม่?
ถามตัวเองเฉยๆ ยังไม่ต้องเอาคำตอบจริงจัง ว่าอันไหนผิดอันไหนถูก
เอาแค่ว่าจิตรู้สึกไปหรือเปล่า ว่าความสว่างนี่คือจิต
แล้วก็ถามตัวเองว่าความสว่างนี้น่าติดใจ หรือว่าน่ารู้ว่าไม่ใช่ของเรา เป็นไปตามเหตุปัจจัย
เราใส่ใจความเบา ก็เกิดความสว่าง
เราเลิกใส่ใจความเบา ความสว่างก็อาจจะหายไป
ให้บอกตัวเองว่าความสว่างนี้ ที่แท้แล้ว ถ้าหากเข้าใจอย่างถูกต้อง
ก็คือเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง
ความสว่าง เป็นส่วนประกอบของจิต
เป็นองค์ประกอบ เป็นสภาพของจิต
แต่ไม่ใช่ตัวของจิต
ความสว่าง เป็นสังขารขันธ์
ความสว่างเป็นสิ่งปรุงแต่ง
ให้จิตเกิดความรู้สึกว่าเห็นทั่ว เห็นตลอด
แต่ตัวความสว่างเองไม่ใช่จิต จิตเป็นธรรมชาติรู้
ตอนที่จิตรู้อะไร อาจจะไม่ได้รู้ออกมาจากความสว่างก็ได้
อาจจะรู้อะไรออกมาจากความมืดก็ได้
แต่พอเรามาทำสมาธิ มาเจริญอานาปานสติ
จนกระทั่งเกิดความเบาเกิดความใส ความสว่างนี้ได้เหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ก็สว่างขึ้นมา
เกิดขึ้นมา
แต่พอเราเลิกทำอานาปานสติ หรือว่าเลิกใส่ใจความเบา
ความสว่างนี้ก็หายไป
นี้แหละที่เรียกว่า ความสว่าง หรือสังขารขันธ์นี้
เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย
อย่างที่เมื่อคราวก่อน เราคุยกัน เรื่องที่มโนภาพในตัวตนของเรา
โดยหลักๆ เลยมาจากการเห็นเงาตัวเองในกระจก ซึ่งพอมาเป็นมโนภาพที่อยู่ในใจของเรา พอเราไม่ได้ส่องกระจกแล้ว
มโนภาพเดิม ที่เป็นเงาในกระจก อาจจะเบี้ยวบิดผิดเพี้ยนไปก็ได้
หรืออย่างตอนใจเราเศร้าหมอง อาจมืดอาจจะเหมือนคนหน้ามืด
ซึ่งอาการเหล่านี้ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อบนใบหน้าของเรา ตอบสนองกับสภาพของจิต
อย่างถ้าหากว่า เรานั่งสมาธิ มีความรู้สึกอึดอัด
กล้ามเนื้อบนใบหน้าที่เกร็ง หรือว่าเนื้อตัวที่เกร็ง
ก็จะก่อมโนภาพ ในตัวตน ประมาณว่ามีความทรมาน มีความเป็นคนที่หน้าตาไม่ดี มีหน้าตาที่บูดเบี้ยว
หรือว่าอึดอัด เกร็งเนื้อเกร็งตัวไปหมด
แต่ถ้าหากว่าเรานั่งสมาธิได้ดี
กล้ามเนื้อบนใบหน้าผ่อนคลาย กล้ามเนื้อทั่วตัวมีความผ่อนพัก
ก็รู้สึกว่าเราดูดีขึ้น มโนภาพที่ปรากฏในใจเรา จะเหมือนกับพ่อพระแม่พระ
เหมือนกับอะไรที่ใกล้เคียงกับความเป็นเทวดา
มโนภาพ เกิดขึ้นอย่างนี้
ถูกปรุงแต่งด้วยกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนใบหน้า
แต่พอเราเริ่มมีสมาธิขึ้นมา
เริ่มรู้สึกถึงลมหายใจ มีวิตักกะ วิจาระ
เริ่มรู้สึกถึงความสว่างนวลขึ้นมา มโนภาพเดิมๆ จะหายไป
กลายเป็นมโนภาพของลมหายใจขึ้นมาแทน หรือมโนภาพของความสว่างขึ้นมาแทน
หรือบางคน ถ้าหากว่าฝึกดีแล้ว ก็อาจจะเห็นว่า กายนั่งนี้
ปรากฏเป็นของดั้งเดิมที่แท้ ที่เป็นเนื้อในจริงๆ เป็นโครงกระดูก
เหมือนโครงกระดูกนี้กำลังหายใจเข้าหายใจออกอยู่
มีลมหายใจเข้ามาในโครงกระดูกนี้ แล้วก็มีลมหายใจผ่านออกไปจากโครงกระดูกนี้
อันนี้ จริงกว่ามโนภาพในตัวตนแบบเดิมๆ ที่สะท้อนออกมาจากเงากระจก
เป็นสิ่งที่เรารู้ได้เลย โดยไม่ต้องอาศัยกระจกที่ไหน
นี่ก็เรียกว่าเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง
การที่เราสามารถรู้ได้ว่า เดิมทีมโนภาพในตัวตน ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ชนิด
หนึ่ง เป็นของหลอกเป็นของหยาบๆ แล้วแปรเปลี่ยนมา เป็นลมหายใจ เป็นนิมิตลมหายใจ หรือว่านิมิตโครงกระดูก
อันนี้เรียกว่า เปลี่ยนจากมโนภาพหลอกๆ มาเป็นนิมิตของจริง
ของจริงในความเป็นกายนี้
และถ้าถึงจุดหนึ่ง เกิดความสว่างทั่ว เหมือนกับกายนี้หายไป
มีแต่ความสว่าง ที่นำพามาโดยการลากลมหายใจเข้ายาวๆ แล้วก็ระบายลมหายใจออกยาวๆ
นิมิตร่างกายที่เป็นโครงกระดูกบ้าง หรือว่าเป็นลมหายใจบ้าง
ก็เบาบางลงไป แปรเปลี่ยนมาเป็นแสงสว่างเต็มทั่ว ทั่วห้องหรือบางทีก็ทั่วฟ้า ขึ้นมาแทน
ถ้าหากว่าความสว่างนี้ หลอกเราไม่ได้
สติเราเท่าทันว่าความสว่างนี้ เป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็น แสงสว่างที่ล่ออยู่ตรงหน้า ให้ดึงให้ตัวเรา
หรือว่าใจเรา ถลำแล่นออกไปข้างนอก
หรือว่าจะเป็นความสว่าง ที่นำมาสู่การเห็นสภาพภายในของกายก็ตาม
ทุกความสว่าง จะก่อให้เกิดปัญญาเหมือนกันหมด คือ
ความสว่างเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง
ความสว่างไม่ใช่จิต
ความสว่างไม่ใช่เรื่องน่าติดใจ
แต่ความสว่างเป็นเรื่องน่าดู
ว่ามันเกิดจากเหตุปัจจัย เดี๋ยวก็ต้องหายไป
นี่เห็นไหม เดิมเรารู้สึกว่าถูกครอบงำอยู่ ด้วยมโนภาพตัวตน
ที่เป็นเงากระจก
ต่อมา สายลมหายใจ หรือว่าโครงกระดูก
ทำให้เรารู้ว่าหน้าตาที่แท้จริงของรูปขันธ์
คือการประกอบชิ้นส่วน ดิน น้ำ ไฟ ลมเข้าด้วยกัน
ไม่ได้มีมโนภาพตัวตนอย่างที่เราคิด
ไม่ได้มีมโนภาพในตัวตนอย่างที่เราจดจำมาตั้งแต่เกิดเลย
เสร็จแล้วพอเราใส่ใจความเบา จนถึงความสว่าง
ระดับที่เกินกายออกไป
มีนิมิตความสว่างปรากฏแทน
อันนี้ก็จะเป็นสังขารขันธ์อีกแบบหนึ่ง
แต่ละขั้นแต่ละตอนนี้คือ การที่เราสามารถมีสติ รู้ได้ว่าสังขารขันธ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แปรปรวนไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย
พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้นะ ถ้าเราพิจารณาสังขารขันธ์
อุปมาเหมือนกับ การลอกเปลือกต้นกล้วยที่ยังอ่อนอยู่
ปอกกาบออกจนหมด ก็จะไม่พบแก่น
ท่านตรัสไส้นะครับว่า บุรุษผู้หนึ่ง มีความต้องการแก่นไม้
เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวหาแก่นไม้อยู่ แล้วก็ถือขวานอันคมเข้าไปสู่ป่า เสร็จแล้วก็เห็นต้นกล้วยใหญ่ในป่า
เป็นลำต้นตรงยังอ่อนอยู่ ยังไม่เกิดแกนไส้ ก็ตัดต้นกล้วยนั้นที่โคน แล้วก็ตัดปลาย
แล้วจึงปอกกาบออก ปอกกาบออกอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่พบกระพี้
แม้แต่กระพี้ก็ไม่พบ จะไปเจอแก่นได้อย่างไร
ฉะนั้นคนที่มีตาเห็นต้นกล้วยอยู่ ก็สามารถพินิจพิจารณาโดยแยบคายว่า
ต้นกล้วยนั้น ปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นสารไม่ได้
แก่นสารในต้นกล้วยจะพึงมีได้อย่างไร
อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น
สังขารทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีอยู่ จะเป็นอดีตก็ตาม
อนาคตก็ตามหรือปัจจุบันที่เราเห็นอยู่จะจะ ด้วยสติขณะนี้ก็ตาม
จะภายนอก หรือภายในก็ตาม
หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม
เลว หรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ใกล้ หรือที่ไกลก็ตาม
ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นอยู่เป็นขณะๆ ว่าสังขารทั้งหลายเหล่านั้น
แต่ละอย่าง ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน พอปอกออกไปเรื่อยๆ พอเห็นไปเรื่อยๆ ก็จะรู้สึกว่าข้างในของเรา
แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีตัวตนเป็นแก่นสารอยู่เลย
มีแต่ของที่เป็นของหลอกเป็นชั้นๆ
จะดูเป็นภาพแอนิเมชันอย่างนี้ก็ได้
เหมือนกับต้นกล้วย ที่เราปอกออกมา ทีละชั้น ทีละชั้น
ทีละชั้น
เราก็จะยิ่งเห็นความเบาบางลง จนกระทั่งในที่สุด เจอแต่ความว่าง
ไม่มีอะไรเลย ที่เป็นแก่นสารของต้นกล้วย
แบบนั้นเหมือนกัน เวลาที่เราพิจารณาเห็นว่า
เดิมมีมโนภาพในตัวตนอันเกิดจากเงากระจก หรือว่าเกิดจากโทรศัพท์มือถือเซลฟี่ แล้วเห็นว่าภาพมโนภาพนั้น
จริงๆแล้ว บิดเบี้ยวได้ง่ายมาก แล้วก็ไม่มีความจริงอยู่เลยเพียงแต่อารมณ์เราเปลี่ยนไป
มโนภาพก็ต่างไป
ถ้าเรากำลังหน้ามืดอยู่ เรากำลังซึมเศร้าอยู่
เรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ มโนภาพในตัวตนก็จะโย้เย้
แต่ถ้าหากว่ามานั่งสมาธิ มีความรู้สึกว่าใบหน้าของเราผ่อนคลาย
เนื้อตัวของเราผ่อนคลาย ราวกับว่าเป็นเทวดาเลยนะ มีมโนภาพขึ้นมาอีกแบบ หนึ่ง
แต่พอเริ่มเข้าสมาธิได้ มีลมหายใจขึ้นมาแทน
ก็เหมือนปอกเปลือกที่หยาบๆ ออกไป
ชั้นแรก ที่เป็นมโนภาพในตัวตน มาพบกับ นิมิตลมหายใจ
นิมิตของ สังขารขันธ์ อันเกิดจากวิตักกะ
และวิจาระ คือตัวลมหายใจเป็น รูปขันธ์
แต่ว่าการเห็นลมหายใจ ชัดเจนด้วยใจ อย่างนี้เป็น
สังขารขันธ์
ก็เหมือนกับตัวตนของเรา ย้ายที่ หรือแปรรูป มาเป็นลมหายใจแทน
ทีนี้ พอเกิดความสว่างขึ้นมา ร้อยทั้งร้อย ถ้าไม่ได้ทำความรู้มาก่อน
ก็จะเข้าใจว่าความสว่างนั้นคือจิต จิตคือความสว่าง จิตกำลังเปล่งความสว่างอยู่
แต่จริงๆแล้วนั่นคือสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจิต
สังขารขันธ์ เริ่มจากวิตักกะ วิจาระ มีปีติ
มีสุข
คือจะปีติหรือสุขอ่อนๆ ก็ตาม แสงสว่างก็เริ่มเกิดขึ้นมานวลๆ
แต่ถ้ามีความแก่กล้า วิตักกะ วิจาระ ปีติและสุข มาเต็มขั้นจริงๆ
ก็สว่างจ้าไม่มีประมาณ
นี่ .. ตัวนี้ ที่จะมาล่อในขั้นสุดท้าย ให้เราหลงเข้าใจไปว่า
มันคือจิตของเราคือตัวของเรา แต่พอเราทำความรับรู้ ด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่านั่นคือสังขารขันธ์
โลกเปลี่ยนเลยพลิกเลยนะ พลิกออกมาจากข้างใน
ก็เหมือนกับกาบกล้วยกาบหนึ่ง ที่ถูกปอกออก
ความรู้สึกที่เหลืออยู่ คือจิตที่นิ่งเงียบรู้อย่างเป็นกลาง ว่าอะไรๆ ทั้งหลายที่เป็นสังขารขันธ์
ไม่มีเลยสักอย่างเดียว ไม่มีเลยสักชนิดเดียว ที่เป็นตัวเป็นตน
พอเริ่มทำสมาธิแบบอานาปานสติ แล้วสามารถเห็นสังขารขันธ์ได้เป็นชั้นๆแบบนี้
เหมือนปอกกาบกล้วยออก คุณจะสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในระหว่างวันได้อย่างง่ายๆ เลย
เพราะพอทำความเข้าใจ แล้วก็ทำให้เกิดการเห็น จุดที่สูงที่สุดแล้วนี่
จุดที่ดีที่สุด เท่าที่จะเป็นที่ตั้งให้ตัวตนได้แล้ว แล้วเราเห็นว่านั่นไม่ใช่ตัวตน
นั้นเป็นแค่สังขารขันธ์
ก็จะไม่มีสังขารขันธ์ชนิดใดอื่นเลย ที่คุณจะเห็นไม่ได้
อะไรๆ นี่ส่วนใหญ่สังขารขันธ์ทั้งนั้นแหละ ที่ปรุงแต่งทางใจ
ส่วนที่เป็นความรู้ ความจำ ความจำได้หมายรู้
หรือว่าส่วนที่เป็นความสุขความทุกข์ ถูกแยกออกไปได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ตัวสังขารขันธ์นี่
มาสารพัดหน้าสารพัดตา เราจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ก็มักจะนึกว่าสังขารขันธ์นี่แหละเป็นตัวเรา
ทั้งความฟุ้งซ่าน ทั้งความโลภ อยากได้นั่นอยากได้นี่
ทั้งความโกรธ
ทั้งความรู้สึกหลงสำคัญตนผิด อะไรต่างๆนี่ ก็คือสังขารขันธ์ทั้งนั้น
ทีนี้ อย่างถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้วจริงๆ แล้วเอาไปต่อยอดด้วยการเดินจงกรม
คุณก็จะรู้สังขารขันธ์ได้ทั้งหมด เหมือนกับเป็นเรื่องหลอกเล่น
คือเวลาที่เรารู้เท้าชัด ขณะเดินจงกรม จะสามารถเห็นได้ง่ายๆ
ว่ามีความคิด มีความฟุ้งซ่าน หรือมีความปรุงแต่งทางจิต ชนิดใด เกิดขึ้นมาในหัว แล้วพอเราสามารถเห็นได้ถนัด
เห็นได้ชัดนะ ว่าเกิดขึ้นมาเป็นห้วงๆ เรารู้ทัน จับได้ไล่ทัน ว่าที่เกิดขึ้นบนหัวนี่เป็นสังขารขันธ์
เป็นการปรุงแต่งไปของจิต
การเดินจงกรมของคุณ ก็จะเป็นการเดินจงกรมที่มีเป้าหมาย
ไม่ว่าจะเดินตามรูปแบบ แบบกลับไปกลับมา หรือว่าเดินไปตามท้องถนน จะเกิดความเห็น จะเกิดความรู้
เหมือนกับ เดินจงกรมเป็นแล้ว เดินไปเพื่อที่จะเห็นความไม่เที่ยงของสังขารขันธ์
เริ่มต้นขึ้นมา เอาจับแค่เท้ากระทบอย่างเดียว พอจับเท้ากระทบชัดได้
จิตมีความสว่าง มีความตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ก็สามารถที่จะเห็นได้ว่า บนหัวของเราเกิดอะไรขึ้น
หรือว่าการปรุงแต่งทางใจในกลางอกของเรานี่ มีอะไรให้เห็นได้บ้าง
ตรงนี้ ถ้าใครไปศึกษาวิธีการเดินจงกรม ไปดูทำความเข้าใจ
แล้วก็มาต่อยอดจากการนั่งสมาธิ ด้วยการเดินจงกรมนะครับ คุณจะมีสติทั้ งในขณะที่นิ่ง
แล้วก็ตอนที่เคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้
คนที่จะนั่งสมาธิเอาความสุขอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
ในการเห็นกายใจเป็นรูปนาม เพราะว่า มาติดอยู่กับท่านิ่งท่าเดียว ไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในระหว่างวัน
ในการรู้กายใจ
แต่ถ้าหากว่าฝึกต่อยอดด้วยการเดินจงกรม แบบนี้ เป็นไปได้สูงที่ระหว่างวันของคุณ
จะมีสติเท่าทัน ความเคลื่อนไหวทางกาย และความเคลื่อนไหวทางใจ
อำนาจการปรุงแต่งทางใจทั้งหลาย จะค่อยๆ ลดบทบาท
ค่อยๆ เบาบางลง แล้วมีสติ มามีบทบาทแทนที่
ตัวสติของคุณที่เจริญขึ้น จะออกแนวที่ว่า มีความรู้สึกว่า
ความคิดอ่านที่ผ่านๆ มาทั้งชีวิตนี่ผิดส่วนใหญ่ หรืออารมณ์ยึดอะไรเป็นจริงเป็นจังนี่
เป็นเรื่องตลก เรื่องของความไม่รู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อารมณ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเหลวไหล
หรือบางที คุณอาจจะเกิดความรู้สึก สำนึกผิดย้อนหลังขึ้นมามากมาย
อันนี้เป็นเรื่องของการเข้าถึงมหากุศลจิต ที่ยกระดับขึ้นมาสูงมากๆ เลยนะ คือสูงจนกระทั่งมองเห็นชัดเจนว่า
ที่ผ่านๆ มานี่อะไรบ้างที่เป็นบาปเป็นกรรม ที่ผ่านๆ มาอะไรบ้าง ที่เป็นแค่อารมณ์ ที่ก่อตัวลุกลามเป็นไฟลามทุ่งแล้วเผาผลาญ
หรือว่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไร ที่เหลวไหลสิ้นดี
ตัวของจิตที่เริ่มวางตัวตนแล้ว ยังไม่ใช่ถึงขั้นมรรคผลนะ
แต่เริ่มวางตัวตนได้แล้ว แล้วเห็นอะไรๆ สักแต่เป็นสังขารขันธ์ จะเริ่มเข้าทาง รู้สึกว่าความคิด
และอารมณ์มนุษย์นี่เหลวไหลสิ้นดี
แล้วก็จะเหมือนคุณมีชื่อปลอมเป็นพันๆ ชื่อ
หรือเป็นนักแสดงที่รู้ตัวเองว่าว่า ตอนเข้าบทบทหนึ่ง จริงๆแล้วแค่เฟคนะ แค่ปลอม
แค่ปลอมความรู้สึก ปลอมสีหน้าสีตา แสดงท่าหลอกให้คนเชื่อว่า
นี่เราเป็นบุคคลเช่นนั้น เราเป็นเจมส์บอนด์ เราเป็นซินเดอเรลล่า เราเป็นเจ้าหญิง เจ้าชายโน่นนี่นั่น
แล้วก็ รู้สึกอยู่ในใจลึกๆ ว่าตัวเราจริงๆไม่ใช่หรอก
พอถอดจากบทนั้นก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ที่มีชื่ออีกแบบ
ทีนี้ ถ้าเรื่องสังขารขันธ์ เหมือนกับคนปลอมชื่อ
หรือปลอมบทบาทนี้เป็นพันๆ ชื่อ พันๆ นามสกุลนะ พอจับได้ไล่ทัน รู้ตัวระลึกได้ว่า เราไม่ได้ชื่อนั้นเราไม่ได้ชื่อนี้
จริงๆ ชื่อนั้นชื่อนี้ต่างหาก
เสร็จแล้ว คิดไปคิดมาทบทวนไปทบทวนมา ชื่อนี้ก็ไม่ใช่
นามสกุลนี่ก็ไม่ใช่ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นชั้นๆ จนกระทั่งหมดชื่อหมดนามสกุล
ถึงจุดสุดท้าย ชื่อปลอมสุดท้าย นามสกุลสุดท้าย ตกลงไม่มีชื่อจริงๆ
ไม่มีนามสกุลจริงๆ อยู่เลยมีแต่จิต เหลือแต่จิตที่รู้ว่า ทั้งหลายทั้งปวง สักแต่เป็นสังขารขันธ์
เหมือนกับเราลอกกาบกล้วยออกมาได้ จนถึงชั้นที่สุด
ก็พบความว่างเปล่าไม่เจอแก่น
ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนนี้ จะช่วยให้คุณเห็นนะว่า
พุทธพจน์แค่หนึ่ง เดียวนี่ อย่างแค่ท่านเปรียบเทียบว่า สังขารขันธ์เหมือนกับแก่นกล้วย
ที่มันไม่มี ยิ่งปอกออกมาเรายิ่งเห็นความจริง
ตรงนี้ถ้าเราเข้าไม่ถึงการปฏิบัติ หรือว่าไม่เจริญอานาปานสติ
ไม่ได้มีสมาธิจะเห็นไม่ได้นะ
พุทธพจน์แค่คำเดียว บางคนต้องใช้เวลาทั้งชีวิต
กว่าจะเข้าใจ หรือบางคนนะต้องใช้เวลาหลายชาติ กว่าที่จะมีสักชาติ
หนึ่งได้ทำตามที่พระพุทธองค์ ประทานแนวทางไว้ อย่างเช่น ทำอานาปานสติสมาธิ
แล้วก็มาทำความเข้าใจกายใจนี้ โดยความเป็นขันธ์ มีความสามารถที่จะเห็นขันธ์แยกได้ แยกขันธ์ได้
การทรงจำพุทธพจน์ไว้ได้มากมาย แล้วมาอวดอ้างว่ามีความรู้ธรรมะ
หรือว่ามีธรรมะสูงส่ง นี้ก็จัดเป็นสังขารขันธ์ที่ผิดทิศผิดทางอีกชนิดหนึ่ง
ไม่ได้ช่วยให้กิเลสลดลงเลย
อย่างบางคนเป็นมหาเปรียญ เปลี่ยนศาสนาไป หรือบางคนเป็นมหาเปรียญ
แล้วผันตัวไปเป็นพ่อค้าออนไลน์ก็มีนะ
ตรงนี้ เวลาที่คุณไปพบกับพระพุทธพจน์ที่สำคัญ เช่น
พุทธพจน์ที่มีการยิงคำถามเข้าสู่ใจของผู้ปฏิบัติ ว่าสังขารขันธ์นี่ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ใจเราจะตอบออกมาจากประสบการณ์ตรง ว่าไม่เที่ยง ..
ด้วยความรู้ความเข้าใจในอีกแบบหนึ่ง ที่แตกต่างจากอ่านๆ ฟังๆ มาเฉยๆ
จะออกมาจากแก่นข้างในว่า สังขารขันธ์ไม่เที่ยงจริงๆ
แล้วถ้าหากว่า เรารู้ว่าสังขารขันธ์ไม่เที่ยง เจอการยิงคำถามจากพระพุทธพจน์อีกว่า
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
บีบคั้นตัวเองให้แตกสลาย หรือว่าเป็นสุข อยู่ยั้งยืนยง
อันนี้ เราก็จะตอบได้จากสัญชาตญาณทางใจ
ความหยั่งรู้ทางใจในอีกแบบ หนึ่ง นะว่า
สิ่งใดไม่เที่ยง สังขารขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์อยู่จริงๆ
เป็นทุกข์อยู่ต่อหน้าต่อตา ณ ขณะที่จิตมีสติรู้
ณ ขณะที่เราปฏิบัติภาวนา เราสามารถเห็นได้ว่าเป็นทุกข์จริงๆ
และสิ่งใดที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เหมือนหมอกควัน
ที่พร้อมจะสลายตัวไปตลอดเวลานี้
นั่นแหละที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์
-
ช่วงอธิบายหลังทำสมาธิร่วมกัน
วันที่
25 กันยายน 2564
ถอดคำ
: เอ้
รับชมคลิป
: https://www.youtube.com/watch?v=yM7kMbaGVK0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น