วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

08.2 เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์ : รวมฟีดแบคหลังท่าที่ 2 ปรับใหม่

- ท่าที่ 2 สำหรับหนู ยังฝืนๆ กับลมหายใจค่ะ เหมือนต้องกลั้น อึดอัดหน่อยๆ ค่ะ

ดังตฤณ : ลองทดลองดูนะ ทดลองดูว่า ตอนที่เราไม่คุ้น แล้วอึดอัด ถ้าทำไปเรื่อยๆ จะมีความสมูท มีความราบรื่น มีความต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ไหมนะครับ

 

เพราะต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งนะ คือไม่มีสูตรสำเร็จ หรือท่าอะไรตายตัวแน่นอน ที่จะทำให้เราสบายขึ้นมาทันที หรือว่าเกิดปีติสุขขึ้นมาทันที เป็นไปไม่ได้นะ แต่เป็นไปได้ที่ ถ้าเราคลิกกับอะไร ท่าไหน แล้วเกิดความรู้สึกว่า ยิ่งทำยิ่งค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ อันนั้นแหละที่จะใช่นะ

 

เหมือนเล่นกีฬา ไม่มีใครที่จะเล่นได้ดีทันที แต่มีครับ ที่วิธีฝึก ซึ่งถูกกับเรา ได้กับเรา แล้วเรายิ่งซ้อมบ่อย ยิ่งทำบ่อยขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

 

การฝึกเจริญอานาปานสติ ให้ได้ผล ไม่ใช่การทำแค่สิบนาที หรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน แต่จริงๆ แล้วถ้าจะเอาแบบได้ผล ลองไปถามกลุ่มแรกดูก็ได้ ถ้ารู้จักใครที่เป็นกลุ่มแรก

 

ส่วนใหญ่ เชื่อเถอะว่า ทำเรื่อยๆ ทั้งวัน ทำเล่นๆ ทำเอาสนุก ทำเหมือนขนม เพราะพอทำสมาธิเป็น หายใจเป็นแล้ว จะเกิดความรู้สึกว่า ได้อยู่ตลอดเวลา ทำได้เหมือนคุณติดใจเล่นเกมนี่ ถ้าหากว่าติดใจเกมไหน แล้วคุณเล่นทั้งวันได้ อันนั้นแหละ ที่คุณจะเก่ง

 

เหมือนกัน ถ้าหากว่าเรามาฝึกอานาปานสติ ด้วยการเข้า ด้วยทางไหนก็ตาม ถ้าหากว่ามันพาคุณมารู้สึกถึงลมหายใจได้บ่อยๆ อันนั้นแหละ ท่านั้นแหละ ที่ยิ่งทำบ่อย คุณจะยิ่งเก่ง ยิ่งเป็นนะครับ

 

- ท่าที่ 2 ใหม่ ช่วยทำให้เกิดความผ่อนคลาย ตามรู้ลมหายใจได้ง่ายขึ้นเลยครับ เห็นร่างกายท้องพองยุบ เห็นลมหายใจเข้าออก เห็นความคิดที่

แวบขึ้นมาครับ

ดังตฤณ : แสดงให้เห็นว่าที่คุณทำโพลกัน ไม่ได้สักแต่ตอบ แต่มาจากประสบการณ์ของพวกคุณกันจริงๆ ซึ่งก็ดีครับ เราจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันนะ

 

- นั่งทำท่าที่ 2 จิตว่างกายว่าง ไม่ฟุ้งเลยค่ะ ความสว่างขึ้นรอบรอบตัว นั่งเก้าอี้ดีมากค่ะ ไม่รู้สึกเหนื่อย ร่างกายเบาสบาย แค่สงสัยมีอาการน้ำตาไหลข้างซ้ายไหลมาเรื่อยๆ จนหยุดทำสมาธิคะ

ดังตฤณ : เสร็จแล้วพอมาพิจารณาว่า ความสว่างนั้นเป็นสังขารขันธ์ที่เกิดจากเหตุปัจจัยได้ คุณก็จะเกิดปัญญาแบบพุทธ แล้วยิ่งเห็นแบบนั้นบ่อยขึ้นเท่าไหร่ มีปัญญาแบบพุทธบ่อยขึ้นเท่าไหร่ สมาธิของคุณก็จะยิ่งปรับยกระดับ ประณีตขึ้น แล้วก็มีความสว่างมากขึ้น มีความเจิดจ้ามากขึ้นในอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ก่อให้เกิดความติดใจ แต่ก่อให้เกิดความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ในแบบที่จะเป็นอิสระ รู้ได้ด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ นะ

 

- ท่าที่ 2 แบบใหม่ เห็นลมลากยาวได้ชัดขึ้นครับ แต่รู้สึกว่าจิตจะคับแคบกว่าท่าเดิม ทำๆไปเห็นกายเป็นแค่เครื่องสูบลม โดยมีท้องเป็นตัวดึงและปล่อยลมเข้าออกครับ

ดังตฤณ : อย่างที่บอกว่า นี่เป็นเวอร์ชันซิมพลิฟาย ทำให้ง่ายลง คือจะขาดผลพลอยได้ หรือคุณสมบัติอะไรหลายๆ อย่างในท่าที่สองเดิมไป แต่จะเข้าถึงคนได้มากขึ้น และคนจะรู้สึกว่าทำได้ง่ายขึ้น แล้วนี่เป็นส่วนที่ผมเติมเข้ามา เนื่องจากฟีดแบคของท่านที่ทำไม่ได้นะครับ

 

ที่บอกว่า เราทำไปด้วยกันก็เพราะอย่างนี้ มีฟีดแบคมา ผมก็มาประยุกต์ แล้วก็ดัดแปลง แล้วก็ทำเพิ่มเติมให้เป็นไปได้กับคนหมู่มาก จำนวนมาก มากขึ้นนะครับ

 

- ปฏิบัติอาทิตย์ผ่านมา เห็นลมหายใจได้ง่าย สังเกตเห็นความต่างระหว่างเมื่อเกิดมีความอยากให้สงบ ปีติเหมือนเสาร์ที่ผ่านมา ลมหายใจจะสั้นกระสับกระส่าย เมื่อเห็นความอยาก ความอยากก็ดับ แล้วก็กลับมาเห็นลมยาว สบาย มันก็เห็นลมสั้นลมยาว เห็นความอยากเกิดดับ หายใจนับหนึ่งทุกครั้งที่เห็นความอยากดับ หมุนวนอย่างนี้ บางวันถ้าเห็นทึบๆ ก็เดินจงกลม รู้เท้ากระทบพื้น แล้วมานั่งสมาธิต่อ จะสว่างและเบาขึ้นค่ะ บอกตัวเองทุกครั้งที่เห็นการเกิดดับ ว่าสังขารเกิดดับ สนุกทุกครั้งในการเห็นการเกิดดับไม่ว่าทึบหรือสว่าง ขอบคุณอาจารย์ และ ทุกคนมากที่แชร์ประสบการณ์ ช่วยได้มากทุกครั้งที่เกิดความสงสัย ขอบคุณค่ะ

ดังตฤณ : หลายคนยังเขียนคำว่า “จงกรม” ผิดอยู่เลยนะ ขออนุญาตแทรกขึ้นมานิดหนึ่ง จงกรม สะกดด้วย ร.เรือ นะครับ

 

- สัปดาห์ที่ผ่านมาคุมตัวเองให้ปฏิบัติไม่ค่อยได้ อยากจะเล่นไถมือถือไปเรื่อยๆ ยังดีที่วันนี้ยังพาตัวเองมาปฏิบัติได้ วันนี้ทำแล้วก็ฟุ้งๆ อยู่ตลอด ถึงจะทำไปๆ แล้วเริ่มสงบสบายขึ้น แต่ก็ยังเห็นใจที่หิวอารมณ์อยากจะออกไปเล่น ไปดู ส่วนความเข้าใจเรื่องสังขารขันธ์ ตอนอาจารย์พูดถึงการเห็นเหมือนชื่อเราเปลี่ยนไปเรื่อย ตรงนั้นพอคิดตาม ก็เข้าใจตามหลักการ  แต่อาจจะยังไม่เข้าใจจากจิต และวันนี้ รู้สึกไม่ค่อยสบาย ตัวร้อน และเย็นๆ ที่ปลายจมูกค่ะ

ดังตฤณ : คือเวลาที่เราเข้าใจมาจากจิตนี่นะ ก็คือการที่เราเห็นอะไรขึ้นมาชัดๆ มีวิตักกะ และวิจาระกับการเห็นนั้นๆ

 

นี่คือประโยชน์นะ ว่าเราทำความเข้าใจกับศัพท์ คำว่า วิตักกะ และวิจาระ

 

วิตักกะ คือนึกถึง วิจาระ คือมีจิตแนบเข้าไปเป็นหนึ่งเดียว ไม่เห็นอย่างอื่น

 

ทีนี้ ถ้าเรายังฟุ้งๆ อยู่ หรือว่ามีความเข้าใจในแบบที่เรียกว่า สุตมยปัญญา คือการรับฟังมา หรือ จินตามยปัญญา คือมีการคิดเอา ไม่ได้มีอารมณ์ ไม่ได้มีจิตที่แนบไปกับสิ่งนั้น

 

อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ ภาวนามยปัญญา ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นปัญญาแบบภาวนานะครับ

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเคยมีสมาธิ ถ้าเรามีความเข้าใจว่า ลมหายใจ เข้าไปสู่ร่างกาย แล้วก็ออกมาจากร่างกาย แล้วเห็นแยกว่า กายก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจก็ส่วนหนึ่ง ความคิดก็ส่วนหนึ่ง แค่นี้ เอาเป็นตัวตั้ง เวลาที่จะทำความเข้าใจเรื่องสังขารขันธ์ จะรู้สึกว่า พอมีสมาธิ เห็นแยกออกมา อีกนิดเดียว เห็นของจริงแล้ว

 

แต่ถ้าเราไม่มีสมาธินี่ จะไม่ใช่อีกนิดเดียวนะ อีกหลายชาติเลย กว่าที่จะเข้าใจธรรมะ เรื่องเกี่ยวกับขันธ์ 5 ได้

 

เรามาถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ยากหรอก ที่อธิบายมา เห็นมาว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา เราติดอะไรบ้าง นี่ก็คือส่วนหนึ่งนะครับ ที่จะเป็นข้อมูลจริง ให้เราเห็นว่า พัฒนาการของเรา มีอะไรบ้างเป็นอุปสรรค มีอะไรบ้างเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุน

 

อย่างของคุณ ที่เล่าให้ฟังมานี่ ก็เป็นสัปดาห์ที่ผ่านมาเหมือนกัน แล้วก็มีความเห็นอะไรบ้าง บางทีก็กระสับกระส่าย อย่างอาจไม่ได้ลงรายละเอียดว่ากระสับกระส่ายจากอะไรได้บ้าง

 

ถ้าอยากมีปีติ อยากได้ความสงบ เห็นความกระสับกระส่าย นี่ก็ลงรายละเอียดนะ แต่อาจไม่ได้ลงรายละเอียดว่าระหว่างวัน มีอะไรเป็นอุปสรรครบกวนจิตใจบ้าง

 

แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าสืบลงไป แต่ละคนมีอุปสรรคแบบบ้านๆ ชาวบ้าน ฆราวาส หรือต่อให้เป็นพระเป็นชี คือจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหารบกวนจิตใจ

 

จะมีปัญหาที่เราถูกรบกวนด้วยสิ่งต่างๆ หรือว่าสิ่งที่มาล่อให้หลงติดใจกันทั้งนั้น

 

ประเด็นคือ ถ้าเราฝึกอานาปานสติ อย่างมีความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอานาปานสตินี้ มาอยู่กับเราในชีวิตประจำวันได้ เราฝึกเดินจงกรม แล้วต่อยอดจากอานาปานสติ มาจนกระทั่งสามารถเห็นสังขารขันธ์ที่ก่อตัวขึ้นในหัว ในใจ แบบนี้

 

ในที่สุด ก็จะไปถึงจุดหนึ่ง ที่การปฏิบัติของเรา จริงไปหมด ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ หรือว่าจะอยู่ในชีวิตประจำวันก็ตามนะครับ แต่ละคนก็มีอุปสรรคต่างๆ นานา

 

- หลังจากฝึกสมาธิมาระยะหนึ่ง รู้สึกตัวเองสามารถควบคุมตัวเองในระหว่างวันได้ดีขึ้น รู้คิด รู้อ่าน รู้กระทำ เห็นชัดเจนและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ดังตฤณ : เป็นเรื่องธรรมดามากเลยนะ พอจิตมีคุณภาพมากขึ้น มีความเป็นกุศลมากขึ้น ก็จะไปเบียดบัง อะไรที่เป็นอกุศลออกไปจากชีวิตของเราเองนะครับ

 

- วันนี้นั่งแล้วมันนิ่งสงบ จนรู้สึกหัวใจเต้นตุบๆ กลางหน้าอกชัดเจนมากตลอดเวลา เลยดูไปเรื่อยๆค่ะ

ดังตฤณ : ดีครับ อะไรที่กำลังปรากฏชัด อันนั้นแหละที่น่าดูที่สุด เพราะว่า สิ่งใดปรากฏชัด สิ่งนั้น ก็หายไปได้ชัดเหมือนกัน

 

- ท่า ๒.๒ ทำให้ลมหายใจยาว ตรงลึก (ดีมากค่ะ)ต่างจากท่า ๒.๑

ท่า ๒.๑ กว้างขวาง แผ่ออกสบาย (สรุปคือ ดีมาก ทั้งสองท่า ถ้าเข้าใจว่าจะทำอย่างไรค่ะ)

ท่า ๒.๑ ถ้าตอนแรก ไม่เข้าใจ ทำไม่ได้สักที ลองยืน วาดแขน จะเข้าใจง่ายขึ้น ให้ลองยืน relax ก่อนทำค่ะ

ดังตฤณ : ก็เป็นข้อแนะนำจากกัลยาณมิตร ที่ร่วมทำมาพร้อมๆ กับพวกเรานะครับ ก็อนุโมทนาครับ

 

- เห็นกายหายใจชัดขึ้นลมหายใจอยู่คนละส่วนกับกาย จะเห็นความคิดผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ แล้วดับไป รู้สึกกายมีพลังกระแสวิ่งซ่านเป็นช่วงๆ

ดังตฤณ : ตัวพลังนั้น คือความปรุงแต่งฝ่ายรูป เป็นรูปขันธ์นะครับ แล้วถ้าเราสามารถรู้สึกได้ว่านี่เป็นรูปขันธ์ เป็นฝ่ายรูปขันธ์ชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วหายไป ก็ไม่แตกต่างจากสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นฝ่ายของจิตนะ

 

- วันนี้นับว่าได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งครับ อาจจะเป็นการเตรียมเหตุปัจจัย ด้วยการนั่งสมาธิเตรียมจิตมาแล้ว เมื่อเข้าสมาธิตอนเรียนสามารถจับลมหายใจได้เร็วขึ้น รู้สึกเบาสบายมากขึ้นครับ

ดังตฤณ : อนุโมทนา ถ้าเราทำอยู่เรื่อยๆ ทำอยู่ตลอด ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่มาทำด้วยกันช่วงสามทุ่มนี่นะ ในที่สุดแล้ว เราจะพบความจริงอยู่อย่างว่า อะไรก็ตามที่เราทำมาก อะไรก็ตามที่เรามีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญมาก อันนั้น ที่จะเป็นของจริง

 

ถ้ามาทำแค่แป๊บๆ บางคนมีนะ มาแค่วันเสาร์วันเดียว แล้วก็มาทำโพลบอกว่า ยังไม่ได้ .. มีนะ คือแบบนี้ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกันนะ คือต้องมีความเข้าใจพื้นฐานนะครับว่า เราทำอะไรบ่อย เราจะได้สิ่งนั้นจริง

 

แต่ถ้าเราทำอะไรแป๊บๆ เราจะไม่ได้สิ่งนั้นมานะครับ จะเป็นแค่ของผ่านมาผ่านไป แวบๆ นะ

 

- นั่งสมาธิแล้ว ไม่ได้ง่วง แต่ร่างกายหาวหนักมาก ต่อเนื่องตลอดเวลา น้ำตาไหลพรากๆตลอดค่ะ เป็นแบบนี้จนออกจากสมาธิ

ดังตฤณ : เวลาหาวบ่อยๆ ก็มองไปก็ได้ว่า เป็นรูปขันธ์ เรามองแบบเจาะจงลงไปเลย ว่า รูปขันธ์แสดงอะไรให้ดู .. แสดงท่าหาวให้ดู

 

แล้วถ้ามีสติ เริ่มมีสมาธิ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ตัวสติของเราดีขึ้น หรือว่าเรามีความสามารถที่จะรู้ลมหายใจได้ชัดขึ้น ก็เห็นว่านี่เป็นความปรุงแต่งแบบที่เรียก สังขารขันธ์ แยกเป็นต่างหากจากอาการหาว

 

คือดูแยกเป็นอะไรที่กำลังปรากฏเด่น เราดูอันนั้น อาการหาวปรากฏ เราก็รู้ นี่รูปขันธ์ หรือพอเริ่มมีสมาธิ จับลมหายใจได้ชัด .. ก็รู้ สังขารขันธ์

 

พอดูไปแบบนี้ ตอนแรกๆ จะเหมือนกับยังต้องพากย์ แต่พอเกิดความชำนาญแล้ว สติของเรา จะอยู่กับที่ๆ หนึ่ง ที่ๆ มีอิริยาบถปัจจุบันปรากฏอยู่

 

ปรากฏอยู่ในท่านั่ง จะนั่งหาว หรือนั่งนิ่งก็ตาม เสร็จแล้วมีอาการปรุงแต่งภายในอิริยาบถนี้อย่างไร เราก็จะเห็นว่า การปรุงแต่งทางจิตเหล่านั้น อาศัยอยู่ในกายนี้แหละ

 

พอเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาการหาว จะถูกมองได้ชัดขึ้นว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัย

 

มีเหตุมีปัจจัยทางรูป แล้วก็สติ กับสมาธิ เป็นสิ่งที่อยู่ข้างในนี้ ยังไม่ได้หายไปไหน

 

การที่เรามองเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ได้ ก็จะไม่เกิดความรู้สึกพะวงว่า จะต้องให้กายใจมีความนิ่งอย่างเดียว ห้ามหาว หรือว่าจะไม่ไปเกิดความพะวงว่า หาวบ่อยจัง เกิดอะไรขึ้นกับฉันนะ

 

จะมีความรู้สึกว่า เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องฝ่ายรูป อยากเป็นอะไรก็ช่าง มันไม่ใช่เรา

 

ตัวรูปขันธ์นี่ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา

 

ส่วนการปรุงแต่งทางจิต จะมีความปรุงแต่งมาอย่างไรก็ตาม เราก็จะมองด้วยว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในรูปขันธ์ นี้เป็นสิ่งที่อยู่ในอิริยาบถนี้ปัจจุบันนี้ ไม่ได้แตกต่างกัน มันปรากฏเป็นอย่างๆ เพื่อให้เห็นว่า ทุกอย่าง ต้องหายไปทั้งหมด ทุกอย่าง ต้องแปรปรวน คลี่คลาย กลายเป็นอื่นไปทั้งหมด

 

อย่างเช่นอาการหาวนี้ ตอนแรกอาการทางใจบอกไม่ง่วง แต่หาวไปหาวมา บางทีก็ง่วงตาม

 

หรือบางทีกลับกลายเป็นรู้สึกว่า ตื่นมากกว่าปกติ เอาแน่เอานอนไม่ได้สักอย่าง พอเห็นความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของฝ่ายรูป และฝ่ายนามไปเรื่อยๆ ในที่สุด จะเกิดปัญญา หรืออาจเกิดพลังขึ้นมาบางอย่าง ที่ทำให้อาการหาวนั้น ระงับลงไปได้

 

เราก็จะเห็นว่ามีเหตุมีปัจจัย แล้วก็มีความผูกโยง มีความต่อเนื่องกันนะ

 

- เกิดอาการเย็นมาก

ดังตฤณ : ไม่ได้บอกนะว่าเย็นจากอะไร เข้าใจว่าโดยรวมทั้งหมดนะครับ หลังจากนั่งสมาธิแล้ว แล้วก็พิจารณาสังขารขันธ์แล้ว

 

- เพิ่งประจักษ์แท้ในวันนี้จริงๆ ครับว่า ทำไมถึงต้อง ศีล สมาธิ และปัญญา

ดังตฤณ : จริงๆ แล้ว ถ้าเราทำสมาธิ จนเกิดสมาธิขึ้นมานี่นะ ปัญญาแบบพุทธ พร้อมจะได้ที่เกิด ได้ที่แจ้งอยู่ตลอดนั่นแหละ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันหมด

 

การใช้ชีวิตที่ผ่านมา โครงสร้างของจิต โครงสร้างของความรู้สึกนึกคิด โครงสร้างของการใช้จิตเล็งเป้าหมายอะไรอย่างไร มีผลกับสมาธิหมด และที่เป็นพื้นฐาน เป็นบาทฐาน ก็คือการใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ หรือ ออกนอกกรอบของศีล

 

ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่อยู่ในกรอบของศีลมาตลอด บางทีก็รู้สึก เอ๊ะ สมาธิ ก็ไม่ยากนี่ เป็นอะไรง่ายๆ

 

แต่จริงๆ แล้ว ไม่ง่าย ต้องมีชีวิตที่อยู่ในกรอบของศีลมาก่อน

 

ในขณะที่บางคนบอกว่า พยายามแสวงหาครูบาอาจารย์มาตั้งเยอะ พยายามมาทุกอุบาย ทุกวิธีการ แต่จิตก็ยังยุ่งเหยิง ไปเล็งเอาเฉพาะเรื่องของอุบายสมาธิ แต่ไม่เข้าใจ ความเชื่อมโยง ความเกี่ยวข้อง ว่าจิตใจที่ยังมีมลทิน มีความสกปรกของบาป ว่ามีเรื่องการแหกคอกออกไปจากรั้วของศีล มีผลเกี่ยวข้องกับจิตใจอย่างไร ที่พื้นฐานนะครับ

 

คุณภาพของจิต จะหยาบลงอย่างไร เลวลงอย่างไร จะไม่สนใจ สนใจแค่ว่า อุบายไหนที่ทำให้ตัวเองได้สมาธิ ก็จะกระโจนเข้าไป เสร็จแล้วก็พบความล้มเหลวหมดนะ

 

บางทีเจออุบายใหม่ รู้สึกว่า อันนี้เวิร์ค อันนี้ได้ผล ก็นึกว่าตัวเองเข้ากับวิธีนี้ อุบายนี้ แต่ที่ไหนได้ พอทำไปเรื่อยๆ กลับเข้าสู่ความยุ่งเหยิง กลับเข้าสู่ความรู้สึกวกวน มีแต่อะไรอลหม่านอยู่ในหัว นั่นก็เพราะศีลไม่ได้สะอาด

 

ตัวนี้แหละ ที่ว่าทำไมเราถึงต้องมาเน้นกันเป็นขั้นๆ เน้นกันเป็นข้อๆ ว่าเส้นทางสู่การพ้นทุกข์ ทำไมต้องเริ่มมาจากทาน ทำไมต้องต่อยอดด้วยศีล ทำไมต้องมาทำสมาธิ

 

เพราะมีเหตุผล ช่วงเริ่มต้นที่จุดออกตัวนี่ เราจะมองไม่เห็นเลยว่า มันสัมพันธ์กันอย่างไร ตราบจนกระทั่งเรามาทำสมาธิเป็น ตัวที่ก่อให้เกิดสมาธิได้นี่แหละ มองย้อนกลับไป มองเข้ามาข้างในที่จิต จะเห็นความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กันหมดเลย ระหว่าง ทาน ศีล ภาวนา นะครับ

 

- ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รู้สึกร่างกายเป็นโครงกระดูกเนืองๆ ในชีวิตประจำวัน การทำสมาธิคืนนี้ ช่วงแรกรู้สึกลมหายใจ แยกออกจากโครงกระดูก เกิดแสงสว่างที่ใบหน้าแผ่กว้าง ช่วงท้ายไม่รู้สึกถึงลมหายใจแต่รู้สึกแค่ซี่โครงขยายหุบ รู้สึกเกิดดับเท่าๆ กันทั้งภายในร่าง ภายนอกร่างชัดเจน เบาสบายเกิดปีติ สุข ....ขอบคุณมากครับ

ดังตฤณ : นี่คือเห็นรูปนามแล้ว เห็นกายใจเป็นรูปนามนะ

 

ทีนี้ ทำอย่างไร ที่จะเห็นได้เรื่อยๆ ตรงนี้ ตั้งโจทย์ไว้ด้วยนะ คือถ้าหากว่าเรารู้ลมหายใจเป็นแล้ว จะมีคำตอบที่ง่าย แล้วก็ชัดเจน

 

ทำไปเรื่อยๆ ระหว่างวัน อย่าให้หลุด จับปลาได้แล้วอย่าปล่อยให้หลุดไปได้นะครับ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงรวมฟีดแบค หลังทำสมาธิร่วมกันท่าที่ ๒

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=5Vg8BoMW9TI&t=17s

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น