วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

Q15เห็นลมหายใจเป็นสายบ้าง ไม่เป็นสายบ้าง ทำถูกไหม

ดังตฤณ : จะมีจิตอยู่แบบหนึ่งที่รู้สึกว่า ลมพุ่งเข้ามา ลมพุ่งออกไป เป็นความชัดเจน แล้วก็รู้สึกว่า จิตของเราไม่วอกแวกไปไหนนะครับ

 

อย่างนั้น ถือว่าเกิดวิตักกะ เกิดวิจาระ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ

 

แต่ทีนี้ บางทีคุณบอกว่า บางทีก็เป็นลำ บางทีก็ไม่เป็นลำ อย่างนี้ สันนิษฐานไว้ว่า อาการของจิต สภาพของจิต ยังไม่ตั้งเป็นสมาธิเต็มที่ เพราะตอนที่จิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ลมหายใจจะมาแบบคมชัด แล้วก็มีขนาด มีความยาว มีคุณภาพแบบที่คงเส้นคงวาเหมือนเดิมนะครับ

 

ทีนี้ ถ้าสับไปสับมา บางทีก็อาจจะยังไม่เป็นสมาธิเต็มที่

 

ทีนี้ ถามว่า ถูกหรือไม่ถูก ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด แต่คุณต้องรู้ มีสติทราบนะครับว่าเราอยู่ในขั้นไหน

 

ถ้าหากว่า เป๋ไปเป๋มา หรือว่า ยังมีความล้ำเหลื่อมไปเรื่อยๆ ก็ให้ทราบว่า ตอนนั้น วิตักกะ กับวิจาระ ยังไม่คงเส้นคงวา ยังไม่เข้าที่เข้าทาง

 

แค่รู้เฉยๆ คือไม่ใช่ไปพยายามเร่งรัด หรือว่าจะเอาให้ได้ แค่รู้เฉยๆ แล้วก็เป็นการเปรียบเทียบว่า ถ้าหากว่า เรายังมีสติ รู้สึกถึงลมเข้าออกอยู่ จะดีขึ้นเรื่อยๆ ไหม มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไหม ตรงนี้แหละ ที่จะถูกทิศถูกทาง

 

คือเราเห็นความไม่เที่ยง อย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปเอง ไม่ใช่ไปเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ หรือว่าเร่งรัดจะเอาให้ได้อย่างใจ ว่าจงเป็นสมาธิ ทุกอย่างจงคงเส้นคงวานะครับ

 

ที่คุณบรรยายมา ก็คือเห็นรายละเอียด ของความแตกต่างในลมหายใจแต่ละลมหายใจอยู่แล้ว

 

แค่คุณไม่ไปพะวงว่า เมื่อไหร่มันจะได้ดิบได้ดี เมื่อไหร่จะถูกเป๊ะขึ้นมา เท่านั้น อาการของใจของคุณก็จะอยู่ในทิศทางที่ใช่แล้ว

____________________

หายใจเข้าได้ ๓-๔ ครั้ง หน้าอกเริ่มอัดเข้ามา ก็หายใจเข้าไปได้อยู่แต่ผ่อนลมเข้า มันเหมือนเป็นช่องเล็กๆ ลงไปที่ก้น พอหายใจออกมันจะรู้สึกเหมือนลมวนๆ ที่ท้องก่อน ไม่เป็นลำ เหมือนตอนเข้า(แต่บางทีก็เป็นลำ) และรู้สึกได้ว่าลมออกจมูก ชาไปทั้งตัวเวลาหายใจเข้าออก ผมไม่ได้กำหนดจุดกระทบที่ปลายจมูก หรือตรงหน้าอก แต่ตามลมเข้า(ถึงก้น) ลมออก(ถึงอก) บางทีถึงปลายจมูกถ้ารู้สึกว่ามีลมอุ่นๆ แบบนี้ทำถูกไหมครับ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหลือแต่ตัวรู้สังขารขันธ์

- ช่วงคำถาม คำตอบ

วันที่ 25 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0i750OFLtC8

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น