วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

Q10จิตหายไปกับสิ่งที่รู้ หมายความว่าอย่างไร

ดังตฤณ : อย่างเช่น จักขุวิญญาณ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี รูป มากระทบตา

 

จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้ คือการรับรู้ทางตาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่าเรากำลังเงี่ยหูฟังเสียงอยู่ ถ้าหากว่าเรากำลังนึกภาพของบุคคลอันเป็นที่รักอยู่ในใจอย่างแจ่มชัด นี่เห็นหูเห็นตา เห็นรูปพรรณสัณฐานเขาชัดเจน อย่างนี้ จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้

 

จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นต่อเมื่อคุณเอาตาไปเล็งกับรูป ด้วยความตั้งใจจะดูรูป แล้วรูปนั้น เข้ามาอยู่ในใจ เข้ามาอยู่ในห้วงมโนทวารอย่างแจ่มแจ้ง แบบนี้ จักขุวิญญาณถึงเกิดขึ้น และตั้งอยู่

 

ทีนี้ ถ้าโลกหายวับไปเลย คุณถูกตีหัวสลบ หรือใครมายกของที่คุณกำลังจ้องออกไปพ้นหูพ้นตาทันทีทันใดแบบปุบปับ จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นในรูปนั้น ก็หายไปแล้ว

 

ตรงนี้นี่ ถ้าคุณกำลังจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ จะไม่เหมือนกับตอนที่คุณมีจิตนำขึ้นมาด้วยความฟุ้งซ่าน

 

ตอนจิตคนเราฟุ้งซ่านอยู่ มองไปก็จะรู้สึกว่า ฉันกำลังดูสิ่งที่ฉันพอใจจะดู พอได้ยินเสียงศัตรูมา อ้าวนี้ฉันกำลังมองสิ่งที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่เป็นเสี้ยนหนามแทงใจของฉันอยู่

 

นี่ มีตัวฉัน เป็นตัวเริ่มต้น เริ่มต้นด้วยความฟุ้งซ่าน เริ่มต้นด้วยกามฉันทะ หรือไม่ก็ พยาบาท

 

แต่ถ้ามีสมาธิอยู่ การรับรู้ของคุณที่ประกอบกับสัมมาทิฏฐิ จะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

 

อย่างจิต ถ้ายังไม่ลืม ยังไม่หลง มีสมาธิอยู่ อยู่ข้างในว่า เออ นี่ ลักษณะตั้งมั่นของจิตเป็นอย่างนี้ มีความสว่างโพลงอยู่อย่างนี้ แล้วเกิดการเห็นรูป รูปที่ชอบใจ จะรู้เป็นขณะนั้นเลย จิตนี่ จะมีสติคมชัด เห็นว่าหยิบภาพขึ้นมา ภาพนั้นปรากฏเป็นรูปที่ชอบ

 

หรือมีภาพอีกภาพหนึ่ง โพลงขึ้นมา เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ เหมือนกับเสี้ยนหนามแทงใจ แต่จะไม่มีความรู้สึกออกมาจากข้างในว่าฉันกำลังมองบุคคลอันเป็นที่รัก ฉันกำลังมองบุคคลที่ฉันเกลียด

 

แต่จะมีนิยามใหม่ จิตจะมองว่า มีการเห็นเกิดขึ้น แล้วการเห็นนั้น กระทบใจแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข ปรุงแต่ง ว่านี่คือบุคคลอันเป็นที่รัก แล้วก็อยากเข้าไปหา จะเห็นเป็นขั้นๆ เลยนะ แต่ไวมาก คือเห็นในคราวเดียว แต่เห็นแยกเป็นลำดับ หนึ่ง สอง สาม

 

หรือ พอเห็นอีกฝั่งหนึ่ง เกิดภาพสว่างโพลงขึ้นมา ประจักษ์ตาว่ามีรูปทรงสีสันของคนที่น่าเกลียดน่าชัง กระทบใจปุ๊บ เออ นี่ มีความรู้สึกเป็นทุกข์นำขึ้นมาก่อน แล้วความทุกข์นั้นเหนี่ยวนำให้เกิดความจำได้หมายรู้ขึ้นมาว่า นี่ เกลียดขี้หน้า อยากเข้าไปด่าจัง อันนี้สังขารขันธ์เกิด

 

ตัวการรับรู้ คือ ตาประจวบกับรูปนี่ จะแปรมาเป็นธรรมารมณ์กระทบใจได้อย่างรวดเร็ว คือพอภาพหายไป มีความรู้สึกเหมือนอยากเข้าไปด่ามันจัง ตัวนี้ จักขุวิญญาณหายแล้ว กลายเป็นมโนวิญญาณเกิดขึ้นแทน คือมีความรับรู้ว่า ฉันอยากจะไปด่ามันจัง มีความรับรู้อยู่กับตัวเองข้างในว่า กำลังคิดอะไรอยู่

 

เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า เรารู้อะไรก็ตาม ถ้าสิ่งนั้น หายไปจากห้วงมโนทวาร คืออย่างเช่นแค่มองคนที่เราเกลียด แล้วมานึกอยู่ว่าจะเอาอย่างไรกับเขาดีแค่นี้ จักขุวิญญาณหายแล้ว เพราะมาถูกแทนที่ด้วยธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์กระทบใจ

 

ตรงนี้ จริงๆ แล้วถ้ารู้ทั้งทฤษฎีด้วย แล้วก็มีประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติด้วย ก็จะเข้าใจนะว่า ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ สำคัญทั้งคู่ ควบคู่กันไป แล้วจะทำให้เราถูกตีกรอบให้เข้าสู่การสรุปธรรมอย่างไม่เนิ่นช้า เพราะบางที ถ้าเรามีประสบการณ์ตรงจากสมาธิ แต่ไม่มีทฤษฎีรองรับไว้ก่อน บางทีออกอ่าวได้

 

หรือบางทีรู้ทฤษฎีเยอะเลย แต่ไม่เคยเข้าใจจริงๆ ว่า ประสบการณ์ตรงๆ ตรงนั้น ที่เห็นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะไปต่ออย่างไร ไปไม่ถูกนะ หลงทางไปนิพพาน ออกอ่าวไปเสียก่อน

 

อันนี้ก็ ถ้าอยากทำความเข้าใจนะครับในเรื่องของขันธ์ 5 อายตนะ 6 ก็ศึกษาพุทธพจน์ดู มีให้ search เยอะแยะเลย แล้วอย่าไปเอาที่เขาตีความไว้แล้วนะ เอาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ เข้าไปในเว็บ 84000.org ก็ได้ อยากจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร ก็ดูจากตรงนั้น จากพระสูตรที่ขึ้นต้นว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ...” หรือว่า มีระบุอย่างแจ่มชัดนะว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหน ตรัสไว้กับใคร ตรัสไว้อย่างไร ตรงนี้มีความน่าเชื่อถือว่าเป็นพุทธพจน์จริงนะ

 

ส่วนอื่น บางทีเขาแยกแยะไว้ชัดเจนว่า เป็นระดับสาวกพูดถึง หรือมีการรวบรวมหมวดธรรมะเบ็ดเตล็ดไว้อะไรต่างๆ ที่ไม่ได้มีการระบุว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหนกับใคร

 

อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลรองลงมา ข้อมูลที่เชื่อถือได้คือพระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหนกับใครนะครับ

__________________________

รบกวนช่วยขยายความเพิ่มเติมในประโยคว่า “จิตหายไปกับสิ่งที่รู้” ทีครับ

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ชนวนสมาธิ

ช่วง คำถาม - คำตอบ

วันที่ 4 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=HFMQ2qNKNa4

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น