วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

03 ก้าวไกลไม่ลืมก้าวแรก : แอนิเมชัน อานาปานสติ

ดังตฤณ : เริ่มจากการนั่งคอตั้งหลังตรง

 

สำรวจเท้า ว่าเกร็งอยู่ไหม

ถ้าผ่อนคลาย จะรู้สึกว่างขึ้นมาที่พื้นล่าง

 

สำรวจฝ่ามือ มีความเกร็งอยู่ไหม

ถ้าหากว่าไม่กำ ไม่เกร็ง ผ่อนคลายสบายอยู่

ก็จะรู้สึกว่างขึ้นมาที่ฝ่ามือ ว่างขึ้นมาครึ่งตัว

                                                      

การรู้สึกถึงความนิ่ง คอตั้งหลังตรงนี่ พอเราทำๆ ไป แล้วมักจะลืมนะครับ แล้วก็ไม่เห็นความสำคัญ มองว่านั่งคอตั้งหลังตรงนี่พื้นๆ

 

แต่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณจำตรงนี้ได้ นี่จะเป็นจุดสำคัญที่สุดจุดหนึ่ง

 

เพราะอะไร? เพราะว่า เวลาที่สมาธิเกิด หรือเห็นลมหายใจได้ชัด

จะไม่ได้เห็นเพราะเกิดจากการที่จิตเพ่งเข้าไปที่ลมหายใจ

แต่เกิดจากการที่จิตเปิดกว้างพอ จิตมีความใหญ่พอ

จิตมีความสามารถที่จะรู้ว่า อิริยาบถนั่ง คอตั้งหลังตรง ในขณะนี้ ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรอยู่

 

คือพูดง่ายๆ ไม่ลืมหัว ไม่ลืมตัว แล้วก็เริ่มต้นจากง่ายๆ

ฝ่ามือที่วางนิ่งอยู่กับหน้าตัก เป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ว่า

กายนี้ กำลังนั่งคอตั้งหลังตรงอยู่ เป็นจุดศูนย์กลาง

 

เพราะฝ่ามือ .. เดี๋ยวเราต้องใช้กัน .. จะเป็นจุดที่ชัดที่สุดทางความรู้สึกของมนุษย์นะ

 

ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีฝ่ามือนี่แหละ ที่ชัดที่สุด เด่นที่สุด

 

แล้วถ้าหากว่าเราทำให้สติของเรา มีความระลึกอยู่กับท่านั่งนี้

คือไม่ใช่ไปพยายามให้เห็นทั้งตัวนะ ไม่ใช่เกิดความพยายามแบบนั้น

 

เอาแค่รู้ให้ชัดไปแค่ฝ่ามือจุดเดียวเลย แล้วก็ให้จุดอื่นๆ เหมือนกับเป็นแบคกราวด์แวดล้อม

 

คุณรู้ว่า ฝ่ามือกำลังวางอยู่บนหน้าตัก สบายๆ วางอยู่นิ่งๆ ไม่ต้องขยับไปไหน อาการรู้สึกว่า ฝ่ามือไม่ต้องขยับไปไหน จะพามารู้สึกได้เองว่า กำลังนั่งคอตั้งหลังตรงอยู่ เท้าสบาย ฝ่ามือสบาย และผ่อนคลายไปทั้งตัว

 

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เน้นย้ำมากๆ เพราะว่าเมื่อจะเห็นลมหายใจ ถ้าเห็น โดยไม่ลืมอิริยาบถ นั่งคอตั้งหลังตรงแบบนี้ ลมหายใจจะปรุงแต่งให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็ว คุณจะเห็นลมหายใจเป็นสาย ได้ในเวลาไม่กี่นาที

 

แต่ถ้าหากลืมอาการคอตั้งหลังตรงนี้ไปจุดแรก จุดเริ่มต้นของการเข้าสมาธิจุดนี้ ถ้าลืมไป ลมหายใจจะปรากฏเหมือนกับเครื่องล่อ ให้จิตถลำมามากเกินไป ออกแรงมากเกินไป แบบขี่ช้างจับตั๊กแตน

 

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวบอกไว้ก่อนเลย ถ้าเวลาเคลื่อนไหวมือ จนกระทั่งเอามือลงมาวางไว้บนหน้าตัก สบายๆ คุณต้องระลึกถึงฝ่ามือนิ่งๆ สบายๆ นี้

 

สำหรับคนที่บ่นว่า ทำแล้วไม่เกิดปีติเสียที ทำแล้วไม่เกิดสมาธิเสียที ลองกลับมาฟังตรงนี้ดีๆ อีกครั้ง ที่จุดเริ่มต้นนะครับ

 

รวมทั้งท่านที่ไปไกลแล้ว บางคนไปไกลแล้วนี่ จะมีความรู้สึกว่า แค่หลับตาก็รู้สึกเอง มีความประกอบทั่วพร้อม ในแบบที่จะเห็นลมหายใจชัดเป็นสาย เป็นความสว่าง และเกิดปีติ เกิดสุข

 

แต่ถ้าหากว่า เรามีจุดเริ่มต้นตรงนี้ดีๆ ฐานตรงนี้ที่มีสติรู้ว่า ถ้าเรามีท่านั่งคอตั้งหลังตรงไว้เป็นฐานของสมาธิอย่างนี้ คุณจะล้มกี่ครั้ง ก็กลับมาได้ใหม่เดี๋ยวนั้นเลย

 

เพราะว่าเข้าสมาธิ โดยเริ่มจากจุดแรกที่ถูกทาง โดยเข้ามาทางช่องนี้ แล้วก็สามารถจำได้แบบเป็นคำพูดเลยนะ ว่า เราต้องเอา ท่านั่งคอตั้งหลังตรงไว้เป็นหลัก แล้วก็ฝ่ามือที่วางอยู่บนหน้าตักสบายๆ

 

แบบนี้นี่แหละ ที่จะเป็นศูนย์รวมของโฟกัส ให้เราได้อยู่กับท่านั่งสบายๆ นี้ได้

 

จากนั้น มาทำความเข้าใจว่า เริ่มต้นขึ้นมาที่จะรู้สึกถึงลมหายใจได้ มามีโฟกัสกับลมหายใจได้ อย่างที่เรียกว่า วิตักกะ กับ วิจาระ

 


ขึ้นต้นมา เราก็หงายมือขวาขึ้นมาแล้วดันลมเข้า คือมีจินตนาการว่า เราใช้ฝ่ามือขวาดันลมเข้า เป็นการสร้าง connection สร้างความเชื่อมโยงขึ้นมาในใจ ว่ามือมีความสัมพันธ์กับลมหายใจอย่างไร

 

ที่เราต้องยกสลับข้าง เพื่อที่จะให้แขนไม่เมื่อยนั่นเอง ถ้าทำข้างเดียวจะเมื่อย และเอียงน้ำหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป

 

การที่เรามีฝ่ามือเป็นตัวช่วยไกด์ให้หายใจแบบนี้ สติของเราจะมีความคมชัดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากฝ่ามือเป็นสิ่งที่จับต้องได้

 

แต่ถ้ามือใหม่ ไปพยายามรู้ลมหายใจเอาเดี่ยวๆ ลมหายใจจะตามยาก รู้ได้ยาก ก็จะหลงได้ง่าย

 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเรามาใช้ฝ่ามือในการช่วยไกด์

 

เริ่มต้นขึ้นมาพอจะหายใจเข้า เราก็เหมือนกับทำไว้ในใจว่า เราจะใช้ฝ่ามือช่วยดันลมเข้า

 

พอไปถึงสุด ยกมือขึ้นไหว้ครึ่งซีก ให้ลมค้างในปอดแป๊บหนึ่ง แล้วค่อยผ่อนคลายลมหายใจออกมา

 

ตอนที่มือค้างนิ่งอยู่ตรงหน้านี่สำคัญ เป็นจุดสำคัญเหมือนกัน ถ้าหากว่าคุณนิ่งได้แบบสบายๆ รู้สึกไม่เกร็งตัว นั่นแสดงว่า คุณกักลมหายใจไว้ในปอดได้เต็มอิ่ม แบบที่ไม่มีความฝืน ไม่มีความเกร็ง

 

แล้วพอถึงจังหวะเวลาที่จะปล่อยลมหายใจออก ก็แค่ทำความรู้สึกเหมือนกับฝ่ามือคว่ำ ลากลมหายใจออกมา พอมาถึงหน้าตัก ก็ให้กะให้เป็นจังหวะพอดีกับที่ลมหายใจหยุด ง่ายๆ แค่นี้

 

แต่ผลที่เกิดขึ้น ภายในห้านาที คุณจะมีความรู้สึกว่าจิตของคุณไม่ไปไหน โฟกัสอยู่กับลมหายใจด้วยความรู้สึกสบายๆ

 

อาการที่โฟกัสอยู่กับลมหายใจได้สบายๆ อันนั้นแหละ ที่เรียกว่า วิตักกะ อันเป็นองค์ประกอบแรกของฌานนะครับ

 

ฌานขั้นต้น มีวิตักกะ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า วิตก เป็นองค์ประกอบแรก เป็นเครื่องหมาย เป็นสัญญาณบอกว่า จิตของคุณเริ่มมีสภาพเป็นสมาธิขึ้นมาบ้างแล้ว

 

ถ้าไม่มีตัววิตักกะ ไม่มีตัววิตก จิตก็จะแส่ส่ายไปเรื่อย ผลิตความคิดแบบสุ่มๆ ขึ้นมารบกวนจิตใจไม่เลิก เหมือนปล่อยให้แมลงหวี่ แมลงวันมาตอม

 

ทีนี้เมื่อลมหายใจ ปรากฏใกล้กับใจของคุณอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยมือช่วยไกด์ วันนี้ผมจะลองให้เวลาแค่สองนาที ให้คุณอยู่กับตัวเอง อยู่กับฝ่ามือและลมหายใจของตัวเอง ลองดูว่าสองนาที วิตักกะ จะเกิดขึ้นได้เต็มหรือเปล่า

 

(ทำสมาธิร่วมกัน โดยใช้ฝ่ามือไกด์ ท่าที่ 1)

 

ผมทำความรู้สึกไปนะ ว่าพวกคุณทั้งหมดที่อยู่ในที่นี้ประมาณ 900 คน ได้รวมกันเป็นคนๆ เดียวนี่ ตอนนี้ไปถึงไหน

 

ความรู้สึกก็คือ เริ่มรู้สึกถึงลมหายใจเข้าได้ชัดนะครับ .. หายใจออกอาจบางคนชัดบ้าง บางคนไม่ชัดบ้าง แล้วแต่

 

แต่อย่างน้อย ถ้าหากเราหายใจได้อย่างมีจังหวะจะโคน แล้วก็เป็นไปตามธรรมชาติ ความเรียกร้องของกาย เข้าถูกจังหวะที่กายหิวลม และออกถูกจังหวะที่กายเริ่มอึดอัดกับลม พอมาวางมือ เราไม่ลืมท่าคอตั้งหลังตรง ในที่สุดแล้วก็จะเกิดขึ้นแน่นอนนะ ตัววิตักกะอย่างต่อเนื่อง

 

และวิตักกะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะพาเอาวิจาระตามมาเองเป็นธรรมชาตินะครับ

 

วิจาระ ก็คือความรู้สึกว่า ใจว่างๆ นิ่งๆ แล้วในความว่าง ความนิ่งนั้น มีแต่ลมหายใจเป็นสาย ปรากฏชัดอยู่

 

ตรงนี้นะ ถ้าเราได้ทำกันมาหลายครั้งแล้ว และมองเห็นว่าเวลาที่จะใช้ในการเข้าถึงวิตักกะ กับวิจาระ สั้นลงๆ ตอนนี้ สองนาที คุณจะรู้สึกได้นะครับว่า มีกำลังมากพอ จิตมีความปลอดโปร่งมากพอที่จะเห็น ที่จะรู้สึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกได้ อย่างมีความสบาย สบายเนื้อ สบายตัว สบายใจปลอดโปร่งนะครับ

 

จะขอพูดให้กับท่านที่อาจเพิ่งมาเริ่มต้นคืนนี้ด้วยนะ ขั้นต่อไปเราจะหายใจในแบบที่ง่ายกับการเกิดปีติ และสุขนะครับ

 

ปีติ และสุขจะเกิดขึ้นง่ายๆ ก็เมื่อร่างกายผ่อนพัก มีความไม่กระสับกระส่าย แล้วพูดง่ายๆ ว่ากล้ามเนื้อคลายออกทั่วทั้งตัว จิตไม่ไปไหน มีความรู้สึกว่า ไม่กระสับกระส่ายทางใจไปด้วย

 

การที่จิตไม่ดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย จะพาให้เกิดวิเวก ซึ่งเดี๋ยวเราจะอาศัยท่าทางมาประกอบด้วย

 

ให้ซ้อมก่อนง่ายๆ เอาฝ่ามือ (ปลายนิ้ว) ทั้งสอง มาชนกัน ในระดับสะดือ แล้วยกมาตรงๆ รูดขึ้นมาตรงๆ ในระดับอก ซ้อมขึ้นลงๆ โดยยังไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น สำหรับมือใหม่นะ

 

แต่ถ้าใครทำชำนาญแล้วก็ทำไปเลย แบบที่เคยทำมานะ นี่ผมพูดให้มือใหม่สำหรับคืนนี้ก่อน

 

ซ้อมไปแบบนี้ ไม่ต้องทำอะไร พอเกิดความชำนาญแล้ว รู้สึกว่าไม่เป็นอะไรที่แปลกใหม่แล้ว ก็ให้ก้าวต่อไป โดยการที่เวลาที่คุณรูดมือขึ้นมาระดับอก ให้ป่องท้องออกมาด้วย เพื่อที่จะสูบลมเข้า

 

คือเวลาที่เรายกมือรูดขึ้นมา แล้วท้องป่องขึ้นมาด้วย คุณจะรู้สึกว่า ลมหายใจจะเข้าไปเอง

 

ที่จะป่องท้องออกมาได้ ก็เพราะว่าลมหายใจเข้าไป

 

พอซ้อมจนเกิดความรู้สึกว่าเข้าใจแล้ว ว่ายกมือขึ้นมาแบบนี้ก็เพื่อให้มีความแน่นอน ในการหายใจเข้า ด้วยการพองท้องออกมานะครับ

 

ลำดับต่อไป เราก็ยกมือรูดขึ้นมา ทั้งสอง แล้ววาดออกไป ทางด้านข้าง เพื่อที่จะหายใจเข้าให้ลึกขึ้น

 

เมื่อกี้หายใจด้วยท้องอย่างเดียว แต่คราวนี้ เราใช้ช่วงอก ในการดึงลมหายใจระลอกสุดท้ายขึ้นมาด้วย แล้วพอวาดมือเป็นครึ่งวงกลม ไปชนกันเหนือศีรษะ ขอให้ค้างอยู่แป๊บหนึ่ง เพื่อที่จะหายใจเข้าให้ลึกขึ้น

 

เมื่อกี้หายใจด้วยท้องอย่างเดียว คราวนี้เราใช้ช่วงอก ในการดึงลมหายใจระลอกสุดท้ายขึ้นมาด้วย แล้วพอวาดมือเป็นครึ่งวงกลม ไปชนกันเหนือศีรษะ ขอให้ค้างอยู่แป๊บหนึ่ง ขึ้นไปค้างอยู่ตรงเหนือศีรษะแป๊บหนึ่ง เพื่อกักลมไว้ในปอดครู่หนึ่ง แล้วค่อยระบายออก

 

เวลาลดมือลงมา ระบายลมหายใจตามออกมาด้วย วางมือที่หน้าตัก นิ่งๆ สบายๆ ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะสูบลมเข้าใหม่

 

ด้วยอาการแบบนี้ ในที่สุดแล้ว ลมหายใจคุณจะยาวแบบสดชื่น แล้วพอยาวแบบสดชื่นไปนานๆ เข้า มีจังหวะจะโคนที่แน่นอน ไม่ฝืน ไม่มีความลำบากทางกาย ไม่มีความเครียด ไม่มีความเกร็งทางกล้ามเนื้อของกายในส่วนใดๆ ในที่สุดก็เกิดความระงับทางกาย ระงับทางใจ ไม่กระสับกระส่าย จนเกิดความรู้สึกถึงอาการที่ไม่ดิ้นรนไปไหนของใจ

 

ใจสบายไม่ดิ้นรน ในที่สุดก็วิเวก และวิเวกนี่ เมื่อเกิดนานขึ้นแล้ว ในที่สุดก็เกิดความชุ่มฉ่ำตามมาเป็นธรรมชาติธรรมดา อันนี้ก็สามารถรู้สึกได้ถึงความชุ่มฉ่ำ ที่จะค่อยๆ เกิดขึ้น

 

ทีนี้ผมจะให้เวลา 5 นาทีนะครับ เฉพาะสำหรับที่เราจะใช้สองมือช่วยให้เกิดปีติ และวิเวก หลังจากนั้น เราจะเข้าสู่ช่วงของวิปัสสนากันนะ

 

(ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้ฝ่ามือช่วยไกด์ ท่าที่ 2 เพื่อให้เกิดความวิเวก)

 

เวลาที่เราวาดแขนออกไปนะครับ เราจะรู้สึกถึงอากาศว่างรอบด้านได้ เพราะอากาศว่างรอบด้าน ที่รู้สึกว่าปรากฏเป็นที่ว่างๆ ก็คือรัศมีจิตที่ขยายออกไปนั่นเอง

 

คุณจะเริ่มเข้าใจธรรมชาติของจิตว่า เดิมทีจะอุดอู้อยู่ นี้เป็นเบสิคความเข้าใจอีกจุดหนึ่งนะครับ ถ้าหากว่าจิตของคุณอุดอู้อยู่ด้วยความฟุ้งซ่าน ด้วยความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับภายใน มีอารมณ์ทุกข์บ้าง มีอารมณ์สุขบ้าง แล้วก็เก็บกักไว้อยู่ด้วยอาการยึดมั่นถือมั่น เป็นกระจุก แบบที่เกิดขึ้นทั่วไป

 

จิตก็จะอยู่แค่นี้มาทั้งชีวิต

 

แต่พอเราทำสมาธิ อย่างอาศัยมือเป็นตัวช่วยไกด์ แล้วเหวี่ยงออกไปด้านข้างแบบนี้ คุณจะรู้สึกเลยว่าจิตกว้างขึ้น

 

จิตที่กว้างขึ้น มีความสำคัญกับตัวสมาธิอย่างไร?

 

สมาธิคือการที่จิตแผ่ผายออกไป ท่านถึงแนะนำให้แผ่เมตตา

 

ก็เพราะอย่างนี้ จิตที่แผ่ออกไป และมีความสามารถที่จะรับรู้ถึงพื้นที่ว่างได้ จะกว้างออกไปเรื่อย ๆ และมีความเป็นสมาธิมากขึ้นเรื่อยๆ แตกต่างจากจิตที่กระจุกตัวอยู่กับความฟุ้งซ่าน

 

คราวนี้เราจะมาดู อาศัยฝ่ามือช่วยไกด์ให้เกิดความรู้สึกเข้ามาที่จิต ซึ่งจะเริ่มมีความสามารถตั้งมั่นขึ้นมาได้ โดยการที่เราใช้มือธรรมดา ยกขึ้นมา หายใจเข้า แล้วก็เหวี่ยงออกมาบรรจบกันเหนือศีรษะ

 

จากนั้น แทนที่จะวางมือลงบนตัก เราเอาฝ่ามือมาซ้อนกัน มาวางซ้อนกันข้างหน้า ช่วงอก เอามาซ้อนกันนิ่งๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับ มือขวา แทนจิต และมือซ้ายแทนพื้น เพื่อรองรับจิต

 

ถ้าหากว่ามีความนิ่ง มีความตั้งมั่น มีความไม่โยกโคลง ไม่คลอนแคลน คุณก็จะรู้สึกเข้ามาถึงใจ ที่กำลังตั้งอยู่นิ่งๆ ได้ นึกถึงกลางอก มาถึงข้อศอก แล้วมาบรรจบที่ฝ่ามือ ที่ตั้งอยู่เป็นสามเหลี่ยมแบบนี้ คุณจะรู้สึกถึงจิตที่ตั้งมั่นอยู่ได้

 

จิตที่ตั้งมั่น ไม่ใช่ตั้งอยู่ได้เอง แต่ต้องมีปีติ และสุขอันเกิดจากการหายใจสบายๆ มาได้พักหนึ่งเป็นตัวตั้ง เป็นตัวค้ำจุน

 

พอเมื่อยแขน ก็กลับไปวาดมือใหม่ เป็นครึ่งวงกลมใหม่ เปลี่ยนจากท่าที่สาม เป็นท่าที่สองได้ หลังจากเมื่อยแขน

 

นี่ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจอีกจุดหนึ่ง เป็นจุดที่เรามาทำความรับรู้นะ ว่า จิตที่เป็นสมาธิ มีลักษณะอย่างไร

 

มีลักษณะตั้งมั่น ตั้งอยู่กับที่ ไม่เคลื่อน และที่ตั้งอยู่กับที่ไม่เคลื่อน เพราะว่ามีการรับรู้ลมหายใจ ผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก ด้วยความปลอดโปร่ง ด้วยรัศมีจิตที่แผ่ออกกว้าง มีความว่างอยู่ตรงกลาง

 

ถ้าใครมีความอึดอัดอยู่ตรงกลาง มีความรู้สึกตันๆ แน่นๆ อยู่ตรงกลาง นั่นไม่ใช่สมาธิ นั่นคือการเพ่ง

 

แต่ถ้าหากว่ามีความว่าง มีความสบายที่ไม่คลอนแคลน อยู่ตรงกลาง อันนี้เรียกว่าเป็นสมาธิจิต

 

คราวนี้หลับตา จะวาดมือ หรือจะวางมือนิ่งอยู่กับที่ก็ตาม คุณอาจกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง สำรวจฝ่ามือฝ่าเท้า ว่าวางนิ่ง ว่าง ผ่อนคลาย สบายอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าหากฝ่าเท้าฝ่ามือ มีความผ่อนคลาย สบายอยู่ คุณจะรู้สึกถึงกายนั่ง คอตั้งหลังตรงได้ทั่วทั้งตัวแบบง่ายๆ ไม่ใช่ไปพยายามที่จะเห็นทั้งตัว แต่ว่าเกิดความรู้สึกถึงท่านั่งคอตั้งหลังตรงขึ้นมาเอง

 

รู้หัว รู้ตัว รู้มือ รู้เท้า แค่นี้แหละ เรียกว่าอาการที่รู้อิริยาบถนั่งคอตั้งหลังตรง

 

พอคุณสังเกตเข้ามา ด้วยจิตที่มีความนิ่ง ด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น ว่ากายนี้ตั้งอยู่ แล้วหายใจเข้า หายใจออก นี่เรียกว่า รู้เข้ามาที่ส่วนของรูปขันธ์ คือส่วนที่จับต้องได้

 

กายนี้ ยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ ตัวนี้นะ ที่คุณจะรู้สึกได้ ถึงความแข็งของธาตุดิน และธรรมชาติที่พัดเข้า พัดออกในธาตุดินก้อนนี้อยู่ นี่ก็คือธาตุลม

 

คุณลองถามตัวเองดู ถามออกมาจากกายที่ปลอดโปร่ง ถามออกมาจากใจที่ปลอดโปร่งนี้นะครับว่า กายนี้มีชื่อ และนามสกุลอะไร

 

จะตอบออกมาเป็นความจำว่า ชื่ออะไร นามสกุลอะไรก็ตาม นั่นเรียกว่า เป็นสัญญาขันธ์ เป็นความสำคัญมั่นหมายของจิต เป็นความหมายรู้หมายจำของจิต ว่ากายนี้ชื่อนี้ นามสกุลนี้

 

คราวนี้ พอเราเริ่มสังเกตว่า ลมหายใจที่ผ่านเข้า แล้วก็ผ่านออก เข้ามาในกายนี้ แล้วออกไปจากกายนี้ มีลมใดลมหนึ่งไหม ที่ซ้ำชุดเดิม เป็นลมหายใจเดิม

 

คุณจะตอบตัวเองถูกนะ ว่าไม่มีลมหายใจไหนหรอก ที่เป็นของเดิม ออกไปแล้วก็ออกไปเลย มีแต่ลมหายใจชุดใหม่เข้ามา

 

สังเกตจากอะไร สังเกตจากที่จะยาว จะสั้นไม่เท่ากัน มีความหยาบ ความละเอียดไม่เท่ากัน มีความเย็นตอนเข้า และอุ่นตอนออก ไม่เท่ากัน

 

แล้วถามใหม่ว่า ในลมหายใจเข้า ณ ขณะนี้ ลมหายใจออก ณ ขณะนี้ มีชื่อ มีนามสกุลว่าอะไร

 

ถ้าหากว่าเกิดการตอบออกมาว่า ลมหายใจนี้ ไม่มีชื่อ ไม่มีนามสกุล นั่นเรียกว่าเป็นสัญญาอีกแบบหนึ่ง เป็นความสำคัญมั่นหมาย เป็นความจดจำอีกแบบหนึ่ง เป็นความจดจำที่เกิดจากการรู้ การเห็น การเข้าใจอย่างแจ่มชัด ณ ขณะปัจจุบันว่า ลมหายใจไม่มีชื่อ ลมหายใจไม่มีนามสกุล

 

เมื่อกี้ตอนสำรวจกาย แล้วมีชื่อมีนามสกุล นั่นเรียกว่า อัตตสัญญา มีความจำได้หมายรู้ว่าเป็นใคร ยึดไว้ ว่าเป็นตัวตนของใคร พอเราถามว่าเป็นใคร จะมีชื่อ มีนามสกุลออกมา

 

แต่พอเรารู้ว่า มันเป็นอะไร เป็นแค่ลมหายใจ ที่เข้า ที่ออก ผ่านเข้าผ่านออก ผ่านเข้าผ่านออก ไม่ซ้ำชุดเดิม

 

ตรงนี้จะเกิดความรู้ขึ้นมาอีกแบบว่า ลมหายใจนี้ไม่มีชื่อ ลมหายใจนี้ไม่มีนามสกุล ตรงนี้เรียกว่าเกิด อนัตตสัญญา ขึ้นมา เกิดความรู้เห็นตามจริงขึ้นมาว่า รูปขันธ์เป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นอัตตา

 

รูปขันธ์ เหมารวมตั้งแต่ลมหายใจเป็นต้นไปจนถึงท่านั่ง ที่ประกอบด้วยกระดูก ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มีน้ำเลือดน้ำเหลืองเป็นธาตุน้ำ มีลมหายใจเป็นธาตุลม แล้วก็มีไออุ่นเป็นธาตุไฟ

 

แต่เราจับเอาแค่ธาตุดินกับธาตุลม ที่กำลังปรากฏชัดอยู่แค่นี้ก็พอ ว่าธาตุดินนี่แน่เหรอ ที่เป็นรูปพรรณสัณฐานแบบนี้ ที่มีชื่อ มีนามสกุล

 

ถ้าหากว่าคุณรู้สึกถึงอาการเพยิบพยาบของซี่โครงได้ ณ ขณะที่จิตกำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ คุณจะรู้สึกว่ากายนี้ แก่นแท้เนื้อในของมัน เป็นโครงกระดูกเป็นซี่ๆ อยู่ ซึ่งไม่มีใครออกแบบ

 

แล้วถามเข้าใจ ณ จุดที่กำลังเห็นว่า ซี่โครงเพยิบพยาบตอนหายใจเข้า ตอนหายใจออกอยู่นี้ ซี่โครงนี้มีชื่อหรือเปล่า ซี่โครงนี้มีนามสกุลหรือเปล่า

 

เห็นไหม พอความรู้ความเห็น มีความแตกต่างไป ความสำคัญมั่นหมาย ความจดจำ จะแตกต่างไปด้วย

 

จากเดิมที่เป็นอัตตสัญญา มีตัวตนอยู่แน่ๆ ตอนนี้ เริ่มเห็นจากจิตที่ตั้งมั่นแล้วว่า .. ไม่มี

 

ตัวที่รู้สึกว่าซี่โครง หรือว่ากระดูกสันหลังนี้ ไม่มีตัวใคร ไม่มีชื่อ ไม่มีนามสกุลแปะอยู่ ตัวนี้แหละ ที่เรียกว่า อนัตตสัญญา

 

ใจที่เบา เลิกยึด เลิกหวง เลิกพะวงอยู่กับความมีตัวตนของกายของใจ มีความปลอดโปร่ง มีความสบาย แล้วก็ปรุงแต่งให้สภาพทางกายมีความเบาตามไปด้วย ตรงนี้เรียกว่า สุขเวทนาอันเกิดจากการที่เราเจริญสมาธิ เจริญสติ

 

ถามว่าความสุข ความโปร่ง ความเบานี้ มีชื่ออยู่หรือเปล่า ที่สบายเนื้อ สบายตัวอยู่ ณ ขณะนี้ ในท่านั่งคอตั้งหลังตรงแบบผ่อนคลายนี้ มีชื่อของความสุข มีนามสกุลของความสุข เป็นใครอยู่จริงๆ หรือเปล่า

 

หรือว่า ความสุขที่แปรปรวนง่าย เดี๋ยวออกจากสมาธิก็หายสุข หรือไม่ ยังอยู่ในสมาธินี่เดี๋ยวก็เสื่อมลง เดี๋ยวก็พัฒนาขึ้น

 

ความสุขแบบนี้มีชื่อหรือเปล่า ความสุขแบบนี้มีนามสกุลหรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ความสุขนี้เป็นของเรา เป็นชื่ออะไร ของใคร แล้วมันเสื่อมไปให้เห็นจะจะ หรือว่าแตกต่างไปให้เห็นในทางดีขึ้น จิตกำลังเบา จิตกำลังสบาย แล้วสุขขึ้นเรื่อยๆ เบาขึ้นเรื่อยๆ

 

ความเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวนไปของสุขแบบนี้ มีชื่อ มีนามสกุลของใครอยู่ไหม

 

ตรงนี้แหละ ที่จะทำให้คุณเกิดความเห็น เกิดความเข้าใจขึ้นมาจริงๆ ว่า ภาวะทางธรรมชาติที่สำคัญมั่นหมาย ที่มีความจดจำว่าอะไรเป็นอะไร นี่ตัวใคร นี่ตัวฉัน หรือว่านี่เป็นอนัตตา ตรงนี้เรียกว่า สัญญาขันธ์

 

พอเราเห็นสัญญาขันธ์อย่างชัดเจน เราจะรู้สึกว่า ตัวสัญญาขันธ์เองก็ไม่มีตัวใครอยู่

 

ตัวสัญญาขันธ์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบว่า เหมือนพยับแดด ดูเหมือนมีอยู่นะ ดูเหมือนจำได้ ดูเหมือนจะสำคัญมั่นหมายว่า นี่เป็นตัวตน นี่ไม่ใช่ตัวตน

 

แต่แป๊บหนึ่ง ก็หายไป กลายเป็นความจดจำแบบอื่น แล้วแต่ว่าจะมีอะไรมากระทบทางกาย หรือทางใจ

 

เราแค่นึกถึงเรื่องอื่น สัญญาก็เปลี่ยนแล้ว สัญญาไปจดจ่อกับความจำได้หมายรู้เรื่องนั้นๆ ที่กำลังนึกถึง

 

หรือถ้าได้ยินเสียง เสียงอื่น แล้วจดจำได้ว่าเป็นเสียงของใคร ก็เรียกว่าสัญญาเกิดขึ้น เป็นสัญญาทางรูป ทางเสียง เป็นสัญญาที่ปรุงแต่งให้จำได้ว่า นั่นคือใคร หรือนั่นเป็นเสียงของอะไร

 

โดยตัวของสัญญาเอง มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราถามหา ไปพยายามแปะชื่อว่านี่ชื่ออะไร นามสกุลอะไร สำหรับสัญญาแบบนี้ จะพบว่าไม่มีชื่อของใคร ไม่มีนามสกุลของใคร

 

เหมือนกับที่เราไม่สามารถเอาชื่อ เอานามสกุล ไปแปะให้กับพยับแดดสายใดได้

 

พยับแดดเกิดขึ้น เหมือนมีน้ำอยู่บนถนน แต่พอเราเข้าไปใกล้ ก็ไม่มีเสียอย่างนั้น

 

ตัวนี้แหละ ที่ถ้าเราเห็นว่า มันปรากฏอยู่เป็นของจริงอยู่ต่อหน้าต่อตา ตรงหน้าจิต ณ บัดนี้ ก็จะเห็นเข้าไปอีกระดับหนึ่ง ว่าสัญญาไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวใคร วัดกันชัดๆ เลย เวลาถามว่าสัญญานี้ชื่ออะไร สัญญานี้นามสกุลอะไร ไม่มีชื่อ ไม่มีนามสกุลนะ

 

สำหรับวิปัสสนา เราเอาไปทีละนิดทีละหน่อย พอเราเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่า อย่างนี้เรียกรูป อย่างนี้เรียกเวทนา อย่างนี้เรียกสัญญา พอดูเข้ามาที่กายใจ มีเป้าหมาย มีธงว่าเราจะเห็นอะไร โดยความเป็นรูป โดยความเป็นนาม

 

ทีนี้ ช่วยทำโพลนิดหนึ่งนะครับ คำถามมีง่ายๆ เลยนะว่า

ทำสมาธิคืนนี้ ครั้งนี้” มี choice อยู่ 4 ข้อนะครับ

- เข้าใจเพิ่ม ก้าวหน้าเพิ่ม

- เข้าใจเท่าเดิม มีปีติ มีสุข มีความสว่างอยู่แล้ว

- เข้าใจเท่าเดิม รู้ลมชัดต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยปีติสุข ไม่ได้เกิด

- ยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจอะไรเลย

 

จะเข้าข่ายไหนก็ตาม ขอให้ตอบตามจริง ไม่ได้มีผลให้ชีวิตหรือหน้าตาคุณดีขึ้นเลย แต่จากประสบการณ์ตรง ตรงนี้ เดี๋ยวเราเอาไปขยายต่อได้ ว่าควรจะปรับปรุง หรือพัฒนาอะไรอย่างไรนะครับ

 

สำหรับคนที่บอกว่า เข้าใจเพิ่ม ก้าวหน้าเพิ่ม อาจหมายถึงคนที่ยังเตาะแตะอยู่ เพิ่งเริ่มต้นฝึกมาด้วยกัน แล้วเข้าใจดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น มีปัญญาเพิ่มขึ้น ก็อาจในแง่หนึ่งว่า ที่เคยรู้สึกว่าทำไม่ได้ ตอนนี้ทำได้ขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าเป็นความเข้าใจที่เพิ่มเติม

 

หรือคนที่ดีอยู่แล้ว ลมหายใจปรากฏสว่าง ชัดเจนอยู่แล้ว ก็อาจเข้าใจเพิ่มได้ แล้วพัฒนาต่อยอด ยกระดับขึ้นอีกนิดหนึ่ง คือไม่ใช่แค่รู้สึกอิ่มใจ พอใจอยู่กับการเห็นลมหายใจสว่าง แต่มีความรู้สึกว่า ปัญญาเกิดขึ้น ประกอบกับสมาธิที่จิตมีอยู่ ที่จิตเป็นอยู่ ที่จิตคงสภาวะอยู่

 

พอมีปัญญาประกอบด้วย ใจจะเบาลง มีความสว่าง มีความตื่นรู้แบบพุทธขึ้นมา ซึ่งอันนี้จะรู้ได้เฉพาะตนนะ

 

ตอนที่คุณมีสมาธิ ตอนที่จิตว่าง จิตเบาอยู่ จะมีหลายสภาวะ หลายรูปแบบ พอเติมปัญญาเข้าไป จะมีความรู้สึกขึ้นมาแบบหนึ่ง คือไม่ใช่แค่อาการที่จิตจ้าๆ แต่มีอาการที่จิตรู้แบบพุทธ

 

รู้แบบพุทธเป็นอย่างไร คุณจะทราบได้ด้วยประสบการณ์ตรงภายในเท่านั้น คือจะว่าง ปราศจากความรู้สึกว่า นี่ตัวฉัน มีความตื่น มีความเต็ม มีความพร้อมจะกระตือรือล้น ไม่ใช่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ใช่เฉื่อยชา

 

จะสบาย แต่มีความกระตือรือล้น มีความตื่นโพลงอยู่ แล้วก็มีลักษณะแบบพุทธ ที่ต่อไปถ้าเกิดขึ้นบ่อย คุณจะจำได้ แล้วก็รู้สึกเป็นปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

 

มีความปลอดโปร่ง ไม่มีหน้าตา ไม่มีความรู้สึกอยากยึด จะมีแต่ความรู้สึกอยากปล่อย มีความรู้สึกว่า เข้าไปรู้อะไรก็ตาม สักแต่รู้ เป็นอิสระ เป็นเอกเทศ มีความเป็นต่างหากออกมาจากสิ่งที่รู้

 

ปัญญาแบบพุทธที่ประกอบกับสมาธิที่เกิดขึ้น จะมีลักษณะแบบหนึ่ง ซึ่งคุณจะเข้าใจได้จากประสบการณ์ตรง

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ก้าวไกลไม่ลืมก้าวแรก

ช่วงแอนิเมชันอานาปานสติ

วันที่ 29 สิงหาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=9XsuWbSXgD0

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น