วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

06 ชนวนสมาธิ : แอนิเมชัน เรียนรู้กายใจไม่ใช่เรา

ดังตฤณ : น้อมนึกว่า เราถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาไป

แล้วใจ มีความสามารถที่จะระลึกถึงพระพุทธเจ้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระหฤทัยของพระองค์นะครับ

 

จิตของพระองค์ ที่มีความไม่กระสับกระส่ายแล้ว

มีความไม่ดิ้นรนแล้ว มีความไม่เอาอะไรแล้ว

ใจของเรา ก็จะได้ความผุดผ่อง

ได้ส่วน ได้เศษของความไม่ดิ้นรน แบบจิตของพระพุทธเจ้า

มาประดิษฐานในจิตของตนเองด้วย

 

คราวนี้เรามาทำสมาธิด้วยกัน

ผมจะให้ทำสมาธิในแบบที่ ไม่ได้เอาความนิ่งมาก สำหรับคืนนี้

ทำกันแบบที่เราเคยทำกันมา ใช้มือไกด์

เพื่อที่จะให้ลมหายใจปรากฏชัด

 

เอาแค่ วิตักกะ และ วิจาระ แบบไม่ต้องเต็มรูปแบบก็ได้

ไม่ต้องเกิดปีติ ไม่ต้องเกิดสุขมากก็ได้

แต่อย่างน้อย ได้ส่วนความรู้สึกว่าลมหายใจ เป็นเครื่องประกอบจิต

เราจะใช้เวลากันแค่ 5 นาที

ทำท่าแรกก็พอ หรือใครอยากจะถนัดทำท่าที่สอง ก็ตามสะดวกนะครับ

 

วันนี้ผมจะให้ทำแค่ท่าแรก แค่ 5 นาที

เพื่อที่จะเอาเศษของความฟุ้งซ่าน ที่อาจจะตกค้างอยู่

มาใช้ในการเจริญวิปัสสนาต่อ

 

เริ่มต้นขึ้นมา .. ลืมไม่ได้นะ .. เรานั่งคอตั้งหลังตรง  

การนั่งคอตั้งหลังตรง แล้วก็สำรวจว่าฝ่าเท้าของเรายังเกร็งอยู่ไหม

ถ้าไม่เกร็ง ก็จะเบาขึ้นมาที่ช่วงล่าง

สำรวจไล่ขึ้นมา ฝ่ามือถ้าไม่เกร็งอีก ก็จะสบายขึ้นมาครึ่งตัว

 

ฝ่ามือฝ่าเท้า จะเป็นจุดบอกเลยว่า ทั่วทั้งตัวของคุณ

จะมีความเกร็งหรือว่าผ่อนคลาย

 

หากฝ่ามือฝ่าเท้า มีความผ่อนคลาย อยู่ในท่านั่งคอตั้งหลังตรง

จะตรงแบบ 90 องศา หรือจะตรงแบบเอนหลังก็ตาม

ตรงนี้จะเกิดความสบายเนื้อตัวขึ้นมา

ที่สำคัญที่สุด จะเหนี่ยวนำให้เกิดสติ รู้เข้ามาในท่านั่งปัจจุบัน

ในความเป็นกาย อิริยาบถนั่งปัจจุบันเป็นอย่างไร เราจะรู้ชัดตามนั้น

 

พอแน่ใจว่า เรานิ่งอยู่กับฝ่ามือ ที่วางราบกับหน้าตัก

และฝ่าเท้า ที่ผ่อนคลายได้

ต่อมา ถ้าจะหายใจเข้าเพื่อให้เกิดวิตักกะ

ให้ยกมือขวา ช้อนเหมือนกับ ช้อนลมขึ้นมา

มีส่วนผลักดันลมเข้าสู่ปอด

พอจะหายใจออก ก็วาดมือวางลงมาบนหน้าตัก

 

พอวางมือลงมาบนหน้าตักนี้ ให้ชัวร์ว่าวางมืออยู่นิ่งๆ

ด้วยความรู้สึกสบาย ด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหายใจเข้า

 

เสร็จแล้ว พอจะหายใจเข้าครั้งต่อมา

ก็อาศัยมืออีกข้างหนึ่ง ที่เมื่อครู่ไม่ได้ใช้ เอามาใช้แทนที่

เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเมื่อยมือ

 

อันนี้ก็เป็นหลักการใช้มือไกด์ เพื่อที่จะได้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจ

ในแบบที่จะเกิดเป็นวิตักกะเองง่ายๆ

 

คุณจะเห็นว่า ถ้าเรากำหนดใจไว้ว่า

จะให้มือ มีส่วนช่วยในการผลักลมเข้าก็จะเหมือนกับว่า พอมือเคลื่อนที่ คุณจะรู้สึกถึงลมหายใจได้ชัดขึ้น

เพราะว่าสติของเรา ได้มือ ซึ่งจับต้องได้ เป็นรูปธรรม มามีส่วนช่วย

 

บางคนนี่จับลมหายใจไม่ได้เลย รู้สึกว่ายากเหลือเกิน

เพราะว่าลมหายใจ ไม่ได้มีตัวตน หรือบางคนหายใจอ่อน

 

ทีนี้ถ้าเราอาศัยมือมาช่วย ก็จะเกิดความรู้สึกว่า

ก็ตามได้ ก็มีจุดหมาย มีเป้าให้เป็นเครื่องช่วยน่ะครับ

 

(ทำสมาธิ) 5 นาทีนะ เราจะทำกันแค่ท่าแรกท่าเดียว

แล้วเราจะมายกขึ้นวิปัสสนาเลย

 

(นั่งสมาธิร่วมกันโดยใช้ฝ่ามือช่วยไกด์ 5 นาที)

 

พอถึงตรงนี้ คุณจะเริ่มมีความรู้สึกขึ้นมา

อย่างน้อยที่สุด ก็คือลมหายใจ จะปรากฏอยู่เป็นปกติ

 

คือปกติของคนเรา ลมหายใจจะไม่ปรากฏ

ปรากฏแต่ความอยาก .. อยากโน่น อยากนี่

 

แต่พอลมหายใจมันเข้ามันออก โดยมีสติรู้อยู่ เห็นอยู่ 5 นาที

อย่างน้อยที่สุด ลมหายใจก็ปรากฏ

มามีส่วน มามีบทบาททางจิตใจของคุณ

มากกว่าความอยากอื่นๆ ที่เคยเป็นมา

 

ทีนี้ ถ้าสังเกตความรู้สึกภายใน

ถ้าเราระลึกเข้ามา เท้ายังผ่อนคลายสบายอยู่ไหม

ฝ่ามือยังผ่อนคลายสบายอยู่ไหม ในท่าคอตั้งหลังตรงนี้

 

คุณจะรู้สึกว่ากายนี่ ปรากฏชัดขึ้น

ถึงแม้ว่าจะยังมีความฟุ้งซ่านอยู่ก็ตาม

แต่อย่างน้อย ท่านั่งจะปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง

เป็นรูปพรรณสัณฐานขึ้นมา

จะมีหัว มีตัว มีรยางค์แขน มีรยางค์ขา

 

แล้วความคิดที่ปรากฏอยู่ในหัว

จะไม่มีความเข้มข้น เท่าตอนที่อยากโน่น อยากนี่

จะเบาบางลง

 

ผมทำภาพประกอบตรงนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นว่า

ต่อไป เราจะพิจารณากายใจและความคิดอย่างไรนะครับ

 

เดิม เรามีความเป็นตัวเป็นตน มีความรู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์

มีเนื้อหนัง มีความเคลื่อนไหวได้

แล้วก็มีอะไรที่ฟุ้งๆ ยุ่งๆ อยู่ในหัว

บางที ก็หนาแน่นขึ้นมา บางทีก็เบาบางลงไป

เป็นกลุ่มความคิด ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

 

เรารู้สึกว่าเป็นความคิดของเราแน่ๆ เราเป็นผู้คิดแน่ๆ

ถึงแม้ว่า เราจะมีความไม่อยากคิด มันก็คิด

 

ถ้าเราศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสมอง

เราก็จะพบว่า จริงๆ แล้ว

นี่เป็นการที่เซลส์ประสาท สื่อสารกันด้วยไฟฟ้าในสมอง

พูดง่ายๆ ความคิด เป็นไฟฟ้าในสมองที่แล่นอยู่

 

ถ้าแล่นอยู่แบบไม่มีระเบียบ ก็เป็นความฟุ้งซ่าน

แต่ถ้าหากว่าแล่นอย่างมีรูปแบบ ที่ชัดเจน มีความช้า มีความชัด

ก็จะรู้สึกว่าจิตของเราสงบ

 

ทีนี้ พอเราทำสมาธิ จนถึงจุดที่ร่างกายนี้เหมือนหุ่น

มันจะเหมือนหุ่นจริงๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านให้แยกแยะว่า

กายนี้ ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม

เราจะรู้สึกขึ้นมาได้อีกแบบ หนึ่ง

ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนเป็นมนุษย์

 

ลองนึกว่าเราเป็นหุ่นสักตัวหนึ่ง

ที่ถูกโปรแกรมมาให้เข้าใจว่า มีตัวมีตน

อาศัยอะไร อาศัยไฟฟ้า ที่หล่อเลี้ยง ชิพ (chip) ภายในอยู่

เหมือนมีวงจรภายใน อยู่ในส่วนหัว

 

ซึ่งไฟฟ้านี่หล่อเลี้ยงโปรแกรม ความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนนั้นไว้

 

ทั้งที่จริงๆแล้วนี่กระแสไฟฟ้ามาแต่ละระลอกนี้ จะไม่ซ้ำ

ไม่ได้มีไฟฟ้าเดิมที่เป็นตัวเป็นตนเดิมอยู่

 

ทีนี้พอเรามารู้ด้วยความเป็นอย่างนี้ ว่า

ในหัวของเรา .. ลองหลับตานะ

ในขณะที่เรามีสมาธิอยู่ ตอนนี้มีแค่สมาธิอ่อนๆ

แล้วมาฟังผมพูด ต้องมีความฟุ้งซ่าน

ต้องมีอะไรยุ่งๆ ขึ้นมาในหัวแน่นอน

 

พอเราหลับตาลงไปใหม่ หลับตาอย่างรู้สึกถึงลมหายใจ

หลับตาอย่างรู้สึกถึงท่านั่ง คอตั้งหลังตรง

จะมีความฟุ้งในหัวที่ปรากฏขึ้นมา

 

ซึ่งถ้าหากว่าเรามอง มองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ว่าคือไฟฟ้าในสมอง

ไม่ได้มีความคิดก้อนใดก้อนหนึ่ง เป็นตัวเป็นตนเกาะกลุ่มอยู่

คุณจะรู้สึกขึ้นมาว่า จิตกำลังมองเห็นภาวะ

ที่ ผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

 

นี่เป็นการ เอาความจริงทางวิทยาศาสตร์มายืนยันเลย

 

ไฟฟ้าในสมอง ก็เกิดจากความต่างศักย์ของไอออน

ความเข้มข้นของไอออน ที่มีความแตกต่างกัน

 

แล้วที่เกิดการมีพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาได้

ก็เพราะอาหารที่เรากินเข้าไป เกิดการเผาผลาญ

เกิดกระบวนการทางชีวเคมี กลายเป็นพลังขึ้นมา

 

ความเป็นพลังตรงนี้ เราคิดง่ายๆว่า อยู่ในรูปของไฟฟ้าในหัว

ถึงคุณไม่เต็มใจจะคิด มันก็คิด เพราะว่ามีไฟฟ้าในหัวแล่นอยู่

 

เหมือนอย่างตอนที่กำลังรู้สึกอยู่นี่

ไม่แตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ที่ถูกหลอกมาตลอด

ถูกโปรแกรมให้รู้สึกว่า มีตัวมีตน

แล้วก็หล่อเลี้ยงความรู้สึกว่ามีตัวมีตนนี้อยู่ได้ด้วยไฟฟ้า

เป็นห้วงๆ เป็นขณะๆ

 

ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ และสามารถเห็นความจริงว่า

ภาวะความคิด ที่ลอยเข้ามา จรเข้ามาในหัว แล้วผ่านออกไปจากหัว

ไม่ได้มีตัวมีตนของใคร ตั้งอยู่ในความคิด

ไม่ได้มีความคิดของใคร ที่ก่อตัวก่อตนขึ้นมาถาวรได้

 

คุณจะทิ้งความคิด ไปเป็นขณะๆ โดยไม่มีความอาลัยอาวรณ์

ไม่รู้สึกว่า ภาวะทางความคิด ที่ผ่านเข้ามา แล้วผ่านออกไป

น่าหวงแหนอะไรเลย

 

ถ้าคุณจะต้องตายในวินาทีนี้ ในนาทีนี้

แล้วมีความคิดเสียดายชีวิต เกิดขึ้นมา

จิตจะมีความรู้เท่าทัน ว่า

ระลอกความคิดเสียดายชีวิตนั้น จริงๆแล้วเป็นแค่ภาวะหนึ่ง

ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ แล้วก็จะต้องหายไป ต่อหน้าต่อตา ณ บัดนี้แหละ

ไม่ได้มีใครติดตามความคิดนั้น หายไปกับความคิดนั้นเลย

 

นี่เอง ท่านจึงบอกว่าจริงๆแล้ว

ไม่มีใครเกิดมาตั้งแต่ต้น มีแค่ภาวะปรุงแต่งทางกายทางใจ

แล้วก็มีความคิด มาเชื่อม มาประสาน

ให้เกิดอุปาทาน ว่ามีกายมีใจของเราเกิดมา

ทั้งๆ ที่กายของเราใจของเรา เสื่อมไป สิ้นไปอยู่ตลอดเวลา

ตลอดวันตลอดคืน มาตั้งแต่เกิด

 

ต่อเมื่อเราละความเห็นผิด มีจิตเป็นสมาธิ

เห็นกลุ่มก้อนความคิดเป็นภาวะอื่น เป็นภาวะแปลกปลอม

เป็นภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวใคร นั่นเอง

 

ความหลงเข้าใจผิด ความหลงยึด สำคัญมั่นหมาย

ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน น่าหวงแหน ไม่อยากให้ตาย จึงหายไปด้วย

เหลือแต่ภาวะที่ปรากฏอยู่ ตามที่เป็นอยู่จริงๆ

 

กายเหมือนหุ่นให้นั่งดูเฉยๆ

กายนี้นั่งอยู่ ไม่มีบุคคลนั่งอยู่

ใจนี้แปรปรวนไป ไม่มีใครแปรปรวนตาม

 

มีแต่สติ ที่ตั้งมั่น เห็นอยู่ว่า

กายนี้ใจนี้ จะเป็นอย่างไรของมัน ก็ให้เป็นไป

 

ถามว่าตัวตนหายไปไหน

ไม่ได้หายไปไหน เพราะไม่ได้มีแต่แรกอยู่แล้ว

 

เหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกหลอกให้คิดว่ามี

ต่อเมื่อหุ่นยนต์ตัวนั้น สามารถเห็นได้ว่า ที่เป็นความคิด

ที่เป็นภาวะรู้สึกยึดติดถือมั่น

เป็นแค่ไฟฟ้าในสมอง ที่มาหลอกเป็นขณะๆ  

 

นี่ก็จะเป็นอีกทิศทางหนึ่ง

ถ้าหากว่าเราสามารถจะตั้งจิตให้เป็นสมาธิได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาธิที่เกิดจากอานาปานสติที่ถูกทาง

จะมีความสว่างนำเข้ามาที่ภายใน

 

ว่ามีความสงบ จิตกับกาย เหมือนต่างคนต่างอยู่ได้

เราก็จะเห็นกายเหมือนกับหุ่นยนต์

เป็นการเปรียบเปรย แต่ว่าก็เป็นภาวะแบบนั้นจริงๆ

 

ร่างกายโง่ๆ อยู่ ทื่อๆ อยู่ ไม่ได้มีความคิดความอ่านอะไร

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ก็เพราะอย่างนี้

 

กาย ไม่ต่างจากหุ่นไล่กา

ถ้าไม่มีจิตครองอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้

 

แล้วถ้าเรามองว่าความคิด

เป็นแค่กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้ามาในหัว

ถ้าเป็นหุ่นยนต์จริงๆ ก็เป็นไฟฟ้าที่มาจากแบตเตอรี่

แต่ถ้าเป็นมนุษย์ ก็เป็นไฟฟ้าที่มาจากไอออน

ที่เกิดขึ้นเป็นระลอก ระลอก นี่

 

เกิดแล้วหายไปจริงๆ ไม่ซ้ำตัวเดิมจริงๆ

เราเห็นด้วยความเข้าใจแบบนี้ ด้วยสมาธิแบบนี้

ก็เลิกเข้าใจผิด .. ทีละครั้งทีละหน

 

ทุกครั้ง ที่เราระลึกได้ถึงความจริงข้อนี้ แล้วก็วิธีดูแบบนี้

จะเหมือนกับที่พระพุทธเจ้า ตรัสเปรียบว่า

 

คล้ายกับนายขมังธนู ที่สามารถยิงเข้าเป้าได้ไม่พลาด

 

เอาแต่ละครั้งที่เข้าเป้า ก็ทำลายเป้านั้น

เป้าดิน ที่เราปั้นขึ้นมานี้

เป้าเล็กก็ถูกทำลายไป เป้าใหญ่ก็ถูกทำลายไปด้วย

 

ยิ่งเราแม่นขึ้นเท่าไหร่ จะตั้งอยู่ไกลแค่ไหน

ระยะใกล้ไกลของเป้า

ก็เปรียบเหมือนกับ สภาวะที่หยาบกับละเอียดนั่นเอง

 

ถ้าเป็นเป้าใกล้ๆ ก็เช่นลมหายใจ หรือว่ากายหยาบๆ (รูปขันธ์)

แต่ถ้าเป็นเป้าที่ไกลออกไปนิดหนึ่ง

ก็เหมือนกับความสุข หรือความทุกข์ ความอึดอัดที่เกิดขึ้น (เวทนาขันธ์)

 

หรือไกลกว่านั้นอีกนิดหนึ่ง

ก็เหมือนกับความสำคัญมั่นหมาย

เรานึกอะไรได้ขึ้นมา จำได้ขึ้นมา

เป็นตัวเป็นฐานของความคิด จำได้หมายรู้อะไรขึ้นมา

เราก็เห็นเป็นเป้า แล้วก็เล็งจิตเข้าไปรู้

ว่าเป้านั้นคือ สัญญาขันธ์

กำลังแสดงความเสื่อม ไม่ต่างจากพยับแดด

 

หรือมีความคิด อยากโน่นอยากนี่

มีความคิดในทางชั่ว มีความคิดในทางดี

ก็เห็นว่าเป็นความปรุงแต่งทางจิต เป็นสังขารขันธ์

ก็เป็นเป้าที่ไกลออกไป

 

และเป้าที่ไกลที่สุด จริงๆ แล้วก็คือ

สิ่งที่อยู่ติดตัวเรา ใกล้ชิดที่สุด

นั่นก็คือจิตของเรานี่เอง

 

จิตที่รับรู้ หรือที่เรียกว่า วิญญาณขันธ์  

ถ้าหากว่าเรามองเห็น ว่าจิตนี้ เกิดขึ้นเป็นขณะๆ

เพื่อรู้อะไรอย่างหนึ่ง อย่างเช่นรู้ความคิด

ว่าความคิดเกิดขึ้นแล้วหายไป

 

จิตที่รู้ความคิด ที่เกิดขึ้นแล้วหายไปนั้น

ก็หายตามความคิดไปด้วย

พอความคิดดับไป จิตที่รู้ความคิดก็หาย

กลายเป็นจิตที่มารู้อยู่กับตัวเอง หรือมารู้อยู่กับลมหายใจ

 

จิต เกิดดับเป็นขณะๆ รู้อะไร นั่นเรียกว่าเป็นจิตดวงหนึ่ง

พอจิตดวงนั้น ที่รู้อย่างนั้นหายไป ก็ถือว่าจิตนั้นดับไปแล้ว

กลายเป็นจิตดวงใหม่

 

เป้าสุดท้ายคือวิญญาณขันธ์ เป็นเป้าใหญ่มาก

ถ้าเราสามารถที่จะเล็งได้ถูก มีสติรู้ได้ถูกต้อง

ว่าวิญญาณขันธ์ไม่เที่ยง

 

จิตรู้อะไร แล้วเดี๋ยวก็หายไปตามสิ่งที่รู้

 

ตัวนี้จะทำลายความยึดติดถือมั่น ได้ถึงรากถึงโคน

เพราะตัวที่เรายึดมั่นถือมั่นที่สุด นั่นก็คือยึดว่าเรามีจิต

จิตเป็นเรา หรือว่าจิตเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริง

เป็นอัตตาที่แท้จริง

 

พอเราทำลายอุปาทาน

ความยึดติดถือมั่นสำคัญผิด ว่าจิตเป็นเราเสียได้

ก็ไม่มีใครอยู่จริงๆ

 

เหมือนแก้วทะลุ จากเดิมที่สามารถขังน้ำ คืออุปาทานไว้ได้

พอก้นแก้วทะลุไป ก็ไม่มีอะไร มีแต่ความว่างเปล่า

ไม่มีแก้ว ไม่มีน้ำ ไม่มีอุปาทานนั่นเอง

 

สมาธิ ที่เกิดขึ้นเห็นความจริงในกายใจแบบนี้

เรียกว่าสมาธิแบบรู้ แบบตื่น

แล้วถ้าเห็นได้ชัดเจน เห็นได้เป็นปกติ

จิตก็จะรวมลงเป็นฌานอีกแบบหนึ่ง

เป็นฌานที่ล้างกิเลสว่ามีตัวตน

 

ตรงนี้แหละ สูตรสำเร็จการทำสมาธิแบบพุทธ

แบบที่พระพุทธเจ้าท่านประธานแนวทางไว้

 

(ลืมตาขึ้น)

 

อันนี้ก็เป็นอีกทิศทางหนึ่ง

 

คือพอเราอุปมาอุปไมย ในขณะอยู่ในสมาธิ

แล้วเราเห็นกายใจโดยความเป็นของอื่น ของแปลกปลอมได้

ไม่ว่าจะเป็นท่านั่งนี้ จะเป็นลมหายใจนี้

หรือว่าจะเป็นความคิดที่ผุดขึ้นเป็นระลอก ๆ

 

ก็จะเป็นสมาธิในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากอานาปานสติธรรมดา

ที่รู้แค่ลมหายใจ ที่รู้แค่ความสุข ความทุกข์

ที่เกิดขึ้นในแต่ละลมหายใจ

 

แต่เรารู้ไปถึงกระทั่งว่า ภาวะที่มากับแต่ละลมหายใจ

แสดงความไม่เที่ยงแสดงความไม่ใช่ตัวตนอยู่!

__________________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ชนวนสมาธิ

ช่วง แอนิเมชัน เรื่องกายใจ

วันที่ 4 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=u57jzUeu4Ac&t=397s

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น