ดังตฤณ : พอเกิดประสบการณ์แบบนี้ (หมายเหตุ: รู้สึกว่าร่างกายเป็นหุ่น หรือวัตถุ) จะไปอธิบาย หรือว่าพูดเป็นตรรกะ เป็นเหตุเป็นผลแบบเดิมไม่ได้ บางทีต้องใช้การเปรียบเทียบ
ยกตัวอย่างนะ อย่างเช่นในฌานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พอถึงปฐมฌาน ก็จะเห็น กายใจ โดยความเป็น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ใครยังไม่เข้าใจศัพท์พวกนี้ยังไม่จำเป็นนะ
เอาเป็นว่ากายใจนั่นแหละ ภาวะทางกาย ภาวะทางใจที่แยกเป็นส่วนๆ นะ
ในขณะที่คุณมีสมาธิ
คุณจะเห็นราวกับว่ากายใจ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ชีวิตแบบเดิม
ที่คุณรู้จักหรือว่าที่คุณคิดว่ามันเป็นตัวคุณ
เหมือนอย่างสัปดาห์ที่แล้วผมตั้งคำถามว่ากายนี้มีตรงไหน
ส่วนของกระดูกส่วนของเลือดเนื้อ ส่วนของลมหายใจนี้ ที่มีชื่อ มีแซ่ มีนามสกุล
หลายท่านก็เพิ่งถึงบางอ้อว่า
เออ จริงด้วย ถ้าหากว่าเราสังเกต แต่ต้องสังเกตออกมาจากจิตที่เป็นสมาธิด้วย ถึงจะเห็นนะว่า
ที่แท้แล้วนี่ ร่างกายนี้ สภาวะของจิตใจแบบนี้ ไม่ได้มีชื่อ ไม่ได้มีนามสกุล
แต่เรามีชื่อนามสกุลขึ้นมา
เพื่อที่จะสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน ที่ยังหลงเข้าใจอยู่ว่ากายใจนี่คือตัวคือตน
อันนี้กระโดดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งนะ
หลายๆ ท่านในที่นี้ก็คงยังไม่เคยมีประสบการณ์ว่า ได้ปฐมฌาณเป็นอย่างไร
บางท่านได้แล้วนะ
ได้แบบได้จริงๆ ไม่ใช่ ฌาน แบบที่เข้าใจนึกว่าเป็นฌาน แต่ส่วนใหญ่เอาเป็นว่าผมเชื่อว่า
90% ในพวกเรา ยังไม่รู้ว่าปฐมฌาณเป็นอย่างไร
แต่อย่างไรก็ตาม
เราอยู่ในเส้นทางนั้น อยู่ในทิศทางนั้นนะครับ
ถ้าคุณถึงปฐมฌาณ
คุณจะมีความสามารถแบบหนึ่ง เห็นออกมาจากจิตว่ากายนี้ใจนี้
สักแต่เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่
อย่างเช่นเวลาที่คุณเห็นลมหายใจเข้า
ผ่านเข้าผ่านออกนี่ คุณจะไม่มองนะว่า ฉันกำลังหายใจ หรือว่าลมหายใจนี้เป็นของฉัน แต่จะมองว่ามีธาตุลมผ่านเข้าผ่านออก
นี่ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงนะ
ส่วนบอกว่าเห็นเหมือนดังหัวฝี
เหมือนดังลูกศร ก็คือเห็นโดยความเป็นของที่เป็นโทษ เป็นทุกข์ เป็นความรู้สึกที่น่าระอา
เป็นความรู้สึกว่าเป็นอะไรที่แหลม ที่ระคาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์อะไร
แม้กระทั่งอยู่ในปฐมฌาณ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะว่า หากมีความเข้าใจแบบพุทธ
มีสัมมาทิฏฐิ จะเห็นเลยว่า แม้สุขเวทนาที่ยิ่งใหญ่ ความสุขที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ปีติที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน
ล้นหลามเหลือเกิน ก็เป็นแค่ของที่น่าระคายชิ้นหนึ่ง เหมือนกับหัวฝี หรือว่าเป็นเหมือนหัวลูกศรนะครับ
ไม่ได้เป็นอะไรที่น่ายินดี
น่าอภิรมย์
แล้วจุดที่สำคัญตรงนี้
มาถึงคำนี้ที่สำคัญมากๆ แล้วคืนนี้หลังจากนั่งสมาธิด้วยกันผมจะจับจุดตรงนี้เป็นหลัก
เดี๋ยวจะถึงภาวะจิตแบบหนึ่ง ที่คุณสามารถเห็นได้ว่า ภาวะทางกายภาวะทางใจที่ปรากฏ ณ ขณะที่คุณอยู่ในสมาธินี่
จะเหมือนของอื่น ของแปลกปลอม
ตรงนี้ถ้าไม่มีสมาธิ
จะไม่เข้าใจนะ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงอะไร
ตอนเมื่อมีจิตเป็นสมาธิ
แล้วเห็นแยก เหมือนกายนั่งให้ดู เป็นหุ่นนั่งให้ดูอยู่ตรงหน้า ใจนี่เป็นแบ็คกราวด์อยู่ข้างหลัง
นั่งดู เป็นผู้ดูอยู่เฉยๆ ว่าลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก มีความสุข หรือแม้กระทั่งมีความคิดอะไรขึ้นมาในหัว เหมือนกับเราดูอยู่จากข้างหลัง
จะเริ่มเข้าใจว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เหมือนของอื่น ของที่เป็นต่างหากจากจิต ของที่แปลกปลอม คือจริงๆไม่ต้องมีก็ได้
แต่มีขึ้นมา มีให้ดู
เสร็จแล้วเราจะดูอย่างไร
ดูโดยอาการยึดว่าเป็นเรา หรือว่าดูโดยความเป็นของอื่นของแปลกปลอม
คือพอมีจิตเป็นสมาธิ
ยังไม่ต้องถึงฌานก็ได้ จะเริ่มมีความสามารถที่จะเห็นแบบนี้ เวลาความคิดโผล่ขึ้นมานี่
เราจะเห็นความคิดเป็นส่วนเกิน เป็นของอื่นได้
พระพุทธเจ้าตรัสถึงเปรียบเทียบนี่แหละ
ตรงนี้ที่ผมจะบอกว่า
พอเราอยู่ในโลกภายใน ที่เป็นสมาธินี่นะ
จะใช้คำอธิบายตรงๆ ไม่ได้
เสมอไป บางครั้งต้องใช้การเปรียบเทียบ
อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทียบนะ
บอกว่าคนที่มีสมาธิแล้วเพียรดูสภาพความเป็นกายเป็นใจอยู่ แล้วหมดกิเลสไปเรื่อยๆ กระเทาะกิเลสไปทีละชิ้นๆ
ให้ร่อนออกไป ท่านเปรียบเหมือนกับนายขมังธนู
ตอนแรกๆ
ฝึกยิงอาจจะไม่แม่น ตั้งเป้าใกล้ๆ บางทียังยิงไม่โดน
ลูกธนูออกนอกเป้าก็มี
แต่พอฝึกไปเรื่อยเรื่อย จะเข้าเป้า
แล้วก็เข้าเป้ากลางมากขึ้นๆ
ต่อให้ตั้งเป้าห่างไกลออกไป
ก็เริ่มยิงโดนเข้าเป้ากลางมากขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบเทียบนะ
เหมือนกับว่า ทำเป้าเป็นหุ่นที่ทำด้วยหญ้า หรือไม่ก็กองก้อนดิน
ก้อนดินนี่
เวลายิงธนูไป ก็จะแตกทำลาย แต่ถ้าก้อนดินใหญ่ขึ้นๆ หนาแน่นขึ้น แล้วเรายิงแม่นขึ้น
เข้าเป้ากลางมากขึ้น เป้าดินต่อให้ใหญ่แค่ไหนก็แตกทำลายได้ เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอกว่า
ยิงไม่พลาดแล้วก็ทำลายร่างใหญ่ๆ ได้ ของขนาดใหญ่ๆ เป้าใหญ่ได้
อันนี้เหมือนกัน
เวลาที่น้อมเอามาเปรียบเทียบกับตอนที่คุณอยู่ในสมาธิ แล้วเห็นเป็นขณะๆ
ว่าความคิดนี้โผล่มา ความคิดนั้นเป็นอย่างไร
มันเป็นตัวเรา
เป็นความรู้สึกของเรา ตัวเราคิดอยู่แน่ๆ
นี่คือเรียกว่ายังยิงธนูไม่เป็น ยังยิงธนูเข้าเป้าไม่เป็น
ยังเล็งจิตไม่เป็น
แต่ต่อมา พอมีความเข้าใจ มีความรู้มากขึ้น แล้วก็มีกำลังสมาธิมากขึ้น มีความสามารถที่จะเข้าสมาธิได้เร็วขึ้น พอเห็นความคิดโผล่มา
ท่ามกลางความว่างของใจ เห็นถนัดเลยว่า
นี่คือเป้า
เป้าอะไร
เป้าที่จะเล็งไปว่านี่ เป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศร เป็นเหมือนกับของอื่น ของแปลกปลอม ใจอยู่ในภาวะที่รู้ว่า
นั่นเป็นของแปลกปลอม ไม่ใช่ความคิดของเรา
ไม่ใช่ตัวตนเรา เป็นแค่ของจรมา เป็นภาวะจรมาชั่วคราว แล้วก็หายไป
ยิ่งเห็นได้แม่นยำขึ้นเท่าไหร่ โดยอาการแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้กิเลส
หลุดร่อนออกไป ทำลายกิเลสใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ว่าภาวะที่เข้ามาล่อจิตใจให้
หลงยึดว่ามันเป็นตัวเป็นตน จะเป็นเป้าแม่เหล็ก เป็นเป้าที่ดึงดูด เป็นเป้าที่ล่อใจให้น้ำลายไหลแค่ไหน
เราก็สามารถที่จะมีจิตที่เป็นสมาธิ
รู้ว่าไม่ใช่ มีความเป็นภาวะที่จรมาจรไป มาแป๊บหนึ่ง แล้วก็ไป ได้ชำนาญขึ้นเรื่อยๆ
นี่จุดสำคัญ
ที่เดี๋ยวพอหลังจากทำสมาธินะ ผมจะไกด์ แต่ไม่ใช่ด้วยคำพูด
อันนี้เป็นการปูพื้นความเข้าใจ ว่าเราจะเอาสมาธิมาใช้ในการเจริญวิปัสสนา
ในแบบที่ทำลายกิเลส ทำลายอุปาทานไปทีละน้อยได้อย่างไร
แล้วถ้าคุณทำเป็น
ถ้าคุณจับจุดตรงนี้ถูก ก็จะเหมือนกับตอนที่คุณเข้าสมาธิแล้วรู้สึกว่า เออทำไปได้เรื่อยๆ ไม่มีเวลาจำกัด
ไม่จำเป็นต้องรีบเลิก สามารถทำไปได้เรื่อยๆ เป็นอารมณ์แบบที่ว่า
คุณมีปีติในการทำสมาธิได้นานๆ
แต่อันนี้จะเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง คือสมาธิที่เห็นความไม่เที่ยงของความเป็นกายความเป็นใจ
ถ้าคุณจับจุดถูก
และรู้สึกว่าตัวเองสามารถทำไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่มีจำกัดเวลา
มีกำลังเหลือเฟือที่จะทำ คุณจะเป็น หนึ่ง ในผู้ที่เข้าใจว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครก็ตามเจริญตามหลักของสติปัฎฐาน
4 หากมีอินทรีย์แก่กล้า
อย่างเร็ว 7 วัน จะได้เข้าถึง ไม่ใช่แค่โสดาปัตติผลนะ
แต่มีสิทธิจะเป็นพระอรหันต์เลย หรือมีสิทธิที่จะเป็นพระอนาคามีก็ได้นะ
คือพวกที่มีอินทรีย์แก่กล้าที่แท้แล้ว
คราวนี้คุณคงเข้าใจ ว่าไม่เกี่ยวกับว่าเกิดในยุคพุทธกาล หรือเกิดในยุคไหนสมัยใด
ที่อยู่นอกพุทธกาล
แต่เป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะจับจุดถูกว่า
จะดูอย่างไร จะทำลายเป้าอย่างไร
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฌานสูตรนี่ ใครก็ตาม
มีสมาธิสามารถเห็นว่า ภาวะทางกายภาวะทางใจเป็นเป้า ให้เล็ง
ให้รู้ ให้เห็นถนัด ว่าเป็นแค่ของผ่านมาแล้วผ่านไป
ไม่ใช่ตัวตน นี่แหละ ถ้าทำได้เรื่อยๆ คุณเป็นหนึ่งในผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ที่จะถอดถอนอุปาทานได้เร็ว
สำหรับคืนนี้
ถึงแม้ว่าคุณจะยังไม่ได้ถึงปฐมฌาณนะครับ จิตยังไม่ได้เป็นเอกัคคตา ก็ควรฝึกไว้ก่อน เพราะว่าคนเราเริ่มฝึกไว้อย่างไรให้ชำนาญ
เดี๋ยวพอถึงฌานจริง หรือว่าไม่ต้องถึงฌานก็ได้ เอาแค่อุปจาระสมาธินี่ จิตของคุณจะเดินไปตามทางนั้น
นี่คือที่เราจะมาเป็นข้อสรุปของคืนนี้นะครับ
__________________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน ชนวนสมาธิ
ช่วง บรรยายฌานสูตร
วันที่ 4 กันยายน 2564
ถอดคำ
: เอ้
รับชมคลิป
: https://www.youtube.com/watch?v=XCwP559nqeQ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น