22% บอกว่าเกิดวิตักกะ และวิจาระ ขึ้นมาเต็มๆได้ง่าย
นั่นคือเหมือนกับจิต สามารถหยิบจับลมหายใจ ขึ้นมาจากความว่างได้อย่างแจ่มชัด
แล้วก็รู้สึกเลยว่าเป็นสมาธิต่อได้ พวกนี้คือมีชนวนสมาธิชั้นอ๋อง
คือพวกคุณ 22% จะรู้สึกเลยว่าตัวเองเข้าสมาธิเป็น
และชีวิตประจำวันของคุณ อันนี้พยากรณ์ได้เลยนะ ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มนี้จริง คุณจะรู้สึกเลยว่า
ใจนี่มีความห่างจากเรื่องยุ่งเหยิงในโลกออกมา ไม่ได้เสพติดกับอะไรที่มาล่อใจ
คือยังมีความสามารถที่จะเสพความบันเทิงอยู่ ไม่ใช่ไม่มีนะ
ก็ยังอาจจะคลุกคลีกับโลกๆ เขา แต่ว่าไม่ติด ไม่เสพติด ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุรนทุราย
จะลงแดง ถึงขนาดที่จะชักดิ้นชักงอถ้าหากว่าไม่ได้เสพ
แล้วก็จะเป็นพวกที่ ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร
นี่พยากรณ์ตัวเองเลยนะ จิตต้องเป็นแบบนี้ ถึงได้เห็นนะว่าลมหายใจนี่
หยิบขึ้นมาจับความว่างมาจับได้ง่ายๆ รู้สึกว่าจิตนี่เป็นหนึ่งเดียวกันกับลมหายใจได้ง่ายๆ
พอคนที่ไม่มีตัวกามฉันทะแรง คือไม่ได้ชอบเสพความบันเทิง
แบบถึงขั้นมัวเมานะครับ ไม่พยาบาทอาฆาตแค้นใครเขาง่ายๆ ใจอภัยได้ง่าย ไม่มีความฟุ้งซ่านห่อหุ้มอยู่
ไม่หดหู่ ไม่ห่อเหี่ยว แล้วก็ไม่ขี้สงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเส้นทางการทำสมาธิ
ใจคุณจะมีความปลอดโปร่ง และมีความพร้อม
นึกถึงลมหายใจปุ๊บ จะเหมือนกับคนที่มีความแม่นยำ
ยิงธนูได้เข้าเป้าแบบแม่นยำ ทำซ้ำมาจนกระทั่งทุกอย่าง เป็นออโต้ไพลอต เป็นอัตโนมัติ
ตัวเองแทบไม่ได้ฝืน ไม่ได้เค้น ไม่ได้ตั้งใจอะไรเป็นพิเศษทั้งสิ้น แค่นึกถึงเท่านั้นแหละ
เกิดขึ้นแล้ว วิตักกะและวิจาระ
ส่วนพวกที่สอง บอกว่าต้องรู้ลมสักพักหนึ่ง
วิตักกะ และวิจาระถึงจะเกิดขึ้นเต็มที่
พวกนี้ก็ไม่ใช่กระจอกนะ คือจิตต้องมีคุณภาพระดับหนึ่งด้วย
แต่วิธีการทำสมาธิ วิธีนึกถึงลมหายใจอาจจะยังไม่แม่น ต้องอยู่กับตรงนั้นไปพักหนึ่ง
ซึ่งกลุ่มนี้ด้วยความที่ บางทียังมีความไม่แน่ไม่นอน
ก็อาจเป็นไปได้ที่คุณจะรู้สึกเบื่อๆ อยากๆ ที่จะทำสมาธิ ไม่เหมือนกลุ่มแรก
กลุ่มแรกนี่ติดใจเลย นี่บอกได้เลย พยากรณ์ได้เลยว่า
คุณติดใจในการทำสมาธิ และทำสมาธิแบบอานาปานสติเริ่มเป็น เริ่มเอาไปใช้งานได้
กลุ่มที่สองนี่ บางทีคุณก็รู้สึกว่า เป็นสมาธิ แล้วสามารถเอาไปใช้พิจารณากายใจได้
แต่หลายๆ ครั้ง ส่วนใหญ่ยังไม่แม่น ยังนึกไม่ออกว่า ถ้าเราจะนึกถึงกายใจด้วยความเป็นรูปนามนี่
นึกกันอย่างไร
บางทีก็นึกได้เองเพราะว่า ภาวะของจิตนี่เข้าถึงจุดที่
จะเห็นกายใจเป็นรูปนามได้
แต่บางที สะโหลสะเหล มีความรู้สึกเป๋ไปเป๋มา ต้องนึกต้องทบทวนว่า
ที่เคยรู้ว่ากายใจเป็นรูปเป็นนาม เข้าทางอย่างไร ต้องเห็นอย่างไร บางทีเหมือนลืมกลายเป็นคนธรรมดาเต็มขั้น
เหมือนกับไม่เคยรู้เกี่ยวกับเรื่องกายใจเป็นรูปนามมาก่อนเลย
ตรงนี้คุณก็จะเห็นนะว่า คุณนี่จ่ออยู่ที่ประตูแล้ว
มีสิทธิ์แล้ว แต่ว่ายังไม่แน่ไม่นอน เพราะฉะนั้น ฉันทะ หรือว่าความพึงพอใจที่จะทำสมาธิ
หรือจะเจริญสติในระหว่างวันจะไม่เท่ากับกลุ่มแรก
คืนนี้มีคำแนะนำว่าทำอย่างไร ถึงจะมีวิตักกะและวิจาระ
ได้เร็วขึ้น แล้วก็ถ้ามีวิตักกะ และวิจาระแล้ว ไม่ต้องรอปีติสุขไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น
คุณสามารถที่จะโน้มน้อมเอาจิต ที่มีวิตักกะและวิจาระแล้วนั้น มาพิจารณากายใจด้วยความเป็นรูปนาม
และถ้าหากว่าคุณสามารถเห็นกายใจ โดยความเป็นรูปนามได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ
ก็จะพบว่า วิตักกะ และวิจาระ จะเกิดง่ายขึ้นตามไปด้วย พูดง่ายๆก็คือว่าสมาธิจะถูกจุดชนวนได้ง่ายขึ้น
ถ้าหากคุณมีทั้งกำลังของสมาธิ และมีทั้งปัญญา ที่จะทำให้จิตอยู่ในพื้นที่ของธรรมะ มากกว่าพื้นที่ทั้งโลก
ต้องสังเกตเลยว่าคุณยังเสพสุขได้แบบโลกๆ นั่นแหละ
แต่ถ้าหากว่าเอาเร็ว จะเอาแบบที่เป็นสมาธิได้ง่ายๆ พื้นที่ทางธรรมนี่ต้องมามีส่วน ขอมีส่วนร่วมด้วย
อย่างน้อยที่สุดครึ่งหนึ่ง
ไม่อย่างนั้นนะ พื้นที่ทั้งโลก 80% พื้นที่ทางธรรมให้แค่
20% พื้นที่ทางจิตนี่นะ ก็จะมีความรู้สึกลุ่มๆ ดอนๆ
วันหนึ่งเหมือนเก่ง อีกวันหนึ่งเหมือนไม่ประสีประสาอะไรเลย
ก็ต้องถามใจตัวเอง ตกลงกับตัวเองให้ได้ ว่าคุณอยากจะเก่งขึ้นไหม
สำหรับคนที่กังวลนะว่า เดี๋ยวจะเบื่อโลก
เดี๋ยวจะไม่สามารถเสพสุขแบบโลกๆ ได้อันนี้ผมยืนยันนะว่าแล้วคุณแบ่งดีๆนี่ 50:50 นะ ไม่ได้เสียพื้นที่ทั้งโลกไป
คุณยังสนุกได้ คุณยังรื่นเริงได้ ยังคงมีสีสันได้
เพราะหลายคนบอกนะว่า ไม่อยากทำมาก กลัวเบื่อโลก กลัวไปทำมาค้าขายแข่งกับใครก็ไม่ได้
ใจจืดไปหมด หรือว่ายังไม่ถึงเวลาของเรา อะไรแบบนี้
อันนี้รับประกัน จริงๆ แล้ว ยิ่งทำสมาธิได้ ยิ่งทำสมาธิได้เร็วนี่นะ
บางคน มีอารมณ์แบบโลกๆ คุกรุ่นขึ้นมาสลับกันได้แบบที่ว่า สนุกกว่าเดิมด้วย
บอกเลยนะสำหรับคนที่กลัว เพราะรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
เน้นฆราวาส เพราะฉะนั้นคือผมเข้าใจดี ว่าคำถามในใจของพวกคุณเป็นอย่างไร เพราะเจอมาเยอะ
30 กว่าปี
บางคนพูดอย่างนี้เลยนะ ว่าไม่อยากสนใจธรรมะ แม้กระทั่งสนใจธรรมะ
เพราะกลัวจะหลุดพ้น
โอ้โห นึกว่าการหลุดพ้นนี้ง่ายมาก แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ
ต้องผ่านอะไรมากมาย
บางทีนี่เป็นเรื่องที่พลิกความคาดหมายนะเพราะยิ่งได้ดีทางธรรม
ยิ่งมีกิเลสทางโลกมากขึ้น ยิ่งเสพอารมณ์ทางโลก ได้ด้วยความรู้สึกสนุกมีสีสันมากขึ้นด้วยซ้ำ
พวกที่สามบอกว่า ต้องรู้ลมอยู่นานกว่าจะเกิด วิตักกะและวิจาระ
ขึ้นมานิดหน่อย
ตรงนี้นี่คุณจะยิ่งมีกำลังใจน้อยลงไปอีกว่า เรานี่ต้องรอจังหวะฟลุค
นานทีปีหนถึงจะทำได้
กลุ่มนี้ จริงๆแล้ว ผมพยายามมาตลอด
ทั้งให้กำลังใจ แล้วก็ให้วิธีอุบายวิธี เพราะรู้ว่าถ้าให้ทำแบบเฉยๆ ไม่มีอะไรมาเป็นพี่เลี้ยงให้
ไม่มีเครื่องทุ่นแรงให้นี่นะ ไปไม่รอดแน่ๆ สำหรับกลุ่มนี้
ที่ผ่านมาผมก็มีทั้ง เสียงสติ ทั้งมือช่วยไกด์ ..
มือไกด์นี่ จริงๆแล้วใช้ได้ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงแอดวานซ์เลยนะ แต่ว่าแล้วแต่ความสมัครใจของแต่ละคน
บางคนบอกว่าทำแล้วดีขึ้น แต่ว่าไม่อยากทำ ไม่ขี้เกียจที่จะเคลื่อนไหวก็อยากได้แบบอะไรสบายๆ
อันนี้คือ จริงๆ คุณต้องรู้ตัวอย่างหนึ่งนะ ในกลุ่มที่สามนี่
ถ้าคุณไม่มีอุบายวิธีมาประกอบเลย การที่คุณจะยกใจของตัวเองให้เข้มแข็งขึ้น
หรือว่ามีกำลังใจ มีฉันทะให้ให้ดีๆ บางทียาก ต้องยอมรับความจริงข้อนี้
ถ้าอยากจะเอาดีทางสมาธิ หรือการเจริญสติ คุณต้องยอมรับความจริงบางอย่างเกี่ยวกับตัวเองให้ได้ด้วย
แล้วการยอมรับความจริงตรงนั้น จะได้เอาชนะความรู้สึกขี้เกียจที่จะลอง ขี้เกียจที่จะทำ
ขี้เกียจที่จะเอาจริงกับอะไรสักวิธีหนึ่ง
เรื่องของชนวนสมาธิสำหรับกลุ่มที่สามนี่
บางทีคุณจะพบว่า คุณนึกถึงลมหายใจได้ แต่พอนึกไปแล้ว แป๊บเดียว จะเหมือนคนขี้ลืม เหมือนปลาทอง
หรือเหมือนคนที่ตื่นจากหลับ แล้วพยายามจะนึกว่าเมื่อกี้ฝันอะไรมา
ตื่นขึ้นมาปุ๊บนี่นะ ก็มีการวิจัยนะ คนเรานี่ลืมความฝันกัน
50% และอีก 10 นาทีต่อมาลืมไปเลย 90%
ทีนี้ ก็เหมือนกัน การทำสมาธินี่
เราสามารถเทียบเคียงได้กับความฝัน เพราะว่าเกิดขึ้น เป็นประสบการณ์ทางจิต ที่เกิดขึ้นขณะเราหลับตา
พอเราหลับตาลงไปนี่นะ คน 99.99% จะหลง
ไม่รู้ว่าคิดอะไร สุ่มอะไรขึ้นมามั่วไปหมด เหมือนหลงทางเข้าป่า
ทีนี้การที่เราจะทำสมาธิให้ได้ผลขึ้นมา เหมือนการพยายามหาทางออกจากป่ารก
ป่านี่คุณเข้าใจไหม .. ป่า ต้นไม้เยอะ
ไม่ใช่เดินแป๊บๆ จะออกทุ่งโล่ง ต้องรู้ทาง และต้องมีเครื่องช่วย อย่างน้อยที่สุดมีเข็มทิศนำทาง
ถ้าไม่รู้หลักการอะไรเลยเดินไปมั่วๆ นี่ก็หลงป่าทั้งชีวิต
แต่ถ้าหากว่าคุณมีอุบายวิธี อย่างผมคิดให้นี่นะ เรื่องมือไกด์นี่
ถ้าคุณสามารถที่จะรู้สึกแฮปปี้ได้ นี่ก็เป็นเครื่องช่วย
แต่ถ้าคุณบอกว่าอยากจะทำตามใจฉัน ในแต่ละครั้ง เเล้วก็วนกลับมาที่เดิม
กลับมาทีความรู้สึกท้อ กลับมาที่ความรู้สึกว่า ชาตินี้ทำไม่ได้หรอก
ก็หลับตา แล้วก็ต้องหลงป่าอย่างนั้น ชั่วชีวิต
กลุ่มที่สี่บอกว่า เกิดวิตักกะนิดหน่อย คือพูดง่ายๆ
นึกถึงลมหายใจขึ้นมาได้แต่ไม่เกิดวิจาระเลย เพราะทำไปนานแค่ไหน ก็วนกลับมาที่ความฟุ้งซ่านเหมือนเดิม
โลกภายในเต็มไปด้วยความปั่นป่วน เกินกว่าที่จะหยิบยก ลมหายใจขึ้นมาเป็นอารมณ์ เป็นตัวตั้งได้
กลุ่มนี้ จริงๆแล้ว ผมอยากจะบอกอย่างนี้ว่า ช่วงทำสมาธิแรกๆ
นี่ผมก็เป็นแบบนี้นะ ไม่ได้เก่งมาตั้งแต่เริ่ม
และตรงข้าม จริงๆ ผมโดยพื้นฐานชีวิตนี้ ในชาตินี้
เป็นคนที่เหมือนกับถูกอารมณ์ลบ รบกวนอยู่เยอะ
อย่างตั้งแต่เป็นวัยรุ่นขึ้นมานี่สุขภาพไม่ดี
หายใจอึดอัดมาก ลำบากเพราะขึ้นรถเมล์ สูดควันพิษทุกวันๆ มีความรู้สึกเหมือนจะตาย โอกาสที่จะทำสมาธิออกมาจากความเป็นคนมีสุขภาพดี
ค่อนข้างต่ำมากๆ
แต่ผมก็ จะเรียกว่าอย่างไร .. ไม่ใช่ดื้อดันทุรัง
แต่เป็นความไม่ท้อ แล้วก็มีความรู้สึกว่าเราต้องเอาดีทางนี้ให้ได้
คนถ้าจะเอาอะไรจริง ในที่สุดในชีวิตจะจัดมาให้
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ผมจะบอกว่า ถ้าคุณมีความรู้สึกในหัว ..กลุ่มที่สี่
นี่นะ.. เหมือนกับว้าวุ่นไปหมด เหมือนกับมีอะไรมารบกวนจิตใจ แล้วก็คอยยั่วยุให้เลิกพยายามเถอะ
อย่าไปพยายามเลย อย่างไรก็ทำไม่ได้
นั่นแหละเป็นเสียงของมาร จะเป็นขันธมารก็ดี หรือว่าคุณอยากคิดถึงมารแบบไหนก็ได้ตามใจ
เอาเป็นว่าเป็นเสียงของการห้าม เสียงของการรบกวน เสียงของการเบรกไว้ไม่ให้ออกจากจุดเริ่มต้น
ชนวนสมาธิตรงนี้ เหมือนกับไม้ขีดไฟที่ชุ่มน้ำ ขีดให้ตายก็ไม่ติด
คุณต้องรู้ตัวเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มนี้จริงๆ จะจุดติดยาก
แล้วบางทีก็โทษกันไม่ได้ เป็นเรื่องน่าเห็นใจ
อย่างที่ผมยกตัวอย่าง ตัวผมเองก็เคยมีสุขภาพที่แย่มากๆ
จนเกินกว่าที่จะทำสมาธิได้ ไม่ใช่ว่าเราฟุ้งซ่าน หรือว่าเป็นคนที่จมปลักอยู่กับโลกอย่างเดียว
บางทีมีเหตุรบกวนอื่นๆ อย่างหลายๆท่านก็บอกว่าที่บ้านไม่เอื้อ เพราะมีการรบกวนกันอยู่ตลอดเวลา
เราอยู่ในที่แคบ เราอยู่ในที่ๆไม่สามารถจะมีพื้นที่ส่วนตัวในการทำสมาธิได้
ก็เลยมีข้ออ้างหลัก ที่จะบอกว่าจุดชนวนสมาธิอย่างไรก็ไม่ติด
แต่ถ้าหากว่า คุณรู้ คุณเข้าใจหลักการอย่างหนึ่ง
ว่าคนที่ฝักใฝ่ในธรรม คนที่จริงใจใสซื่อกับธรรมะ
ในที่สุดวันหนึ่ง ธรรมะจะมองเห็นเรา มองเห็นตัวเรา
แล้วก็เข้ามาโอบอุ้มเรา เข้ามาช้อนรับตัวเรา
ขอให้คุณอยู่กับตรงนี้จริงเถอะ
ตรงที่ตั้งใจว่าจะเอาดีทางธรรมให้ได้ จะทำสมาธิให้ได้ จะเจริญสติให้ได้
วันไหนที่ท้อ ความท้อเอาไปกิน
ก็ไม่ต้องฟูมฟายไม่ต้องดิ้นรนทุรนทุรายนะ ก็ให้มันเอาไปกิน
แต่ถ้าตื่นนอนขึ้นมาแล้วรู้สึกดีขึ้น
ก็อย่าทอดธุระอย่าทอดหุ่ย ให้ใช้ทุกจังหวะของ อาการทางใจที่เกิดความรู้สึกดีขึ้นมา
อยากจะหันกลับมาหาธรรมะ พุ่งตัวกลับมาทันที
มาทำสมาธิในแบบที่คุณรู้สึกว่า ไม่ต้องเอาอุบายนี้ก็ได้
เอาอุบายไหนก็แล้วแต่ที่คุณจะรู้สึกว่าพาให้ใจของคุณยังมีกำลังขึ้น แล้วก็มาจดจ่ออยู่กับอะไรอย่างหนึ่ง
ที่อยู่ในขอบเขตของกายใจนี้ จะได้ดีแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
สรุปนิดหนึ่ง ก่อนที่จะก้าวไปขั้นต่อไปนะ
คีย์ที่จะวัดความเป็นวิตักกะ คือมีความสามารถที่จะตั้งใจนึกถึงลมหายใจได้พอดีๆ
ไม่หนักเกินไปแล้วก็แผ่วเกินไปนะ เหมือนกับเราจับนกไว้ด้วยสองมือ
ด้วยแรงที่พอดีนะ ไม่เค้นจนเกินไป จนกระทั่งนกตาย แล้วก็ไม่หลวมเกินไป จนกระทั่งนกหลุดมือไปได้
อย่างนี้คือวิตักกะ
คุณลองดูตอนนี้ ถ้านึกถึงลมหายใจ
ถ้ารู้สึกว่าใจยังสบายอยู่ เนื้อตัวไม่เกร็ง อย่างนี้คือ วิตักกะ คีย์อยู่ที่ตรงนี้
ส่วนวิจาระ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มไหนก็ตาม ฟังดีๆนะ
วิจาระ คือความสามารถที่จะรู้ชัดอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุด หนึ่งระลอกลมหายใจ
หมายความว่าคุณอยู่กลุ่มไหนก็ตาม ณ ตอนนี้ ถ้าหากนึกถึงลมหายใจขึ้นมา
แล้วรู้สึกว่าลมหายใจนั้น ปรากฏอยู่ในใจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ อันนี้เป็นวิจาระอ่อนๆ
แล้ว
วิจาระของจริง คือความสามารถทางจิต ที่จะหยิบยกลมหายใจขึ้นมาจากความว่าง
คือ ตอนยังไม่มีลมหายใจอยู่ รู้สึกว่างๆ ว่างทางใจที่สบาย แล้วก็มีพื้นที่ว่าง ที่เป็นอากาศภายนอก
นึกถึงลมหายใจขึ้นมาเหมือนกับปรากฏ
นิมิตของลมหายใจขึ้นมาอัตโนมัติเลย อย่างนี้คือวิจาระ แบบที่มีคุณภาพ
แต่ถ้าคุณมีความตั้งใจจริง แล้วก็รู้วิธีที่จะนั่งคอตั้งหลังตรงสบายๆ
หรือจะเอน 45 องศา ก็ไม่ว่ากันเลยนะ ตามสบายเลยนะ อยู่ในรายการนี้ ไม่ต้องสำรวม
คือคุณจะมีความรู้สึกสบายเป็นตัวตั้ง แล้วความสบายนั้น
ทำให้เกิดการรับรู้ลมหายใจได้ ชั่วอย่างน้อยหนึ่งระลอก เข้าและออกต่อเนื่อง
แค่นี้ เป็นคีย์ของวิตักกะแล้ว ถึงแม้ว่าลมระลอกต่อมา คุณจะลืม ไม่มีความสามารถที่จะไปนึกให้ต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยคุณได้ตัวอย่างแล้ว
นิดหนึ่ง ว่าวิตักกะหน้าตาเป็นอย่างไร
จะเป็นทำนองเดียวกับนักฟุตบอล ที่นึกออกล่วงหน้าในใจว่า
จะเตะบอลด้วยความเคลื่อนไหวทางกายประมาณไหน เหวี่ยงเท้าเหวี่ยงขาอย่างไร ที่จะให้เกิดสัมผัสปะทะ
หลังเท้าโดนลูกบอล แล้วเกิดวิถีโค้งตามที่ต้องการเข้าสู่ประตูได้
ความสามารถแบบนี้ทางใจ จะเล่นกอล์ฟ เล่นเปียโน
เล่นไวโอลิน หรือแม้แต่การพิมพ์สัมผัส ถ้าหากว่าใจของคุณนี่มีสัมผัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในใจ
นั่นก็เรียกว่าวิจาระ
ทีนี้เอาจิตมาดูลมหายใจ เกิดวิจาระยากเพราะอะไร เพราะว่าไม่สนใจให้ต่อเนื่อง
ลมหายใจดูเหมือนกับไม่มีอะไรน่าสนใจ
ทีนี้ พอเราใช้มือไกด์ สำหรับหลายๆ คนก็คงเห็นว่า
ช่วยให้นึกถึงลมหายใจได้ง่ายขึ้น เพราะว่าฝ่ามือเป็นสิ่งที่จับต้องได้นะ
อันนี้จำเป็นต้องพูดถึง ปูพื้นความเข้าใจ เดี๋ยวเราจะทำสมาธิกัน
แล้วคืนนี้ คาดหมายได้ครับว่า ถ้าคุณเข้าใจตรงนี้ ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี่นะ จะยกระดับให้เกิดปัญญาในการทำสมาธิ
ได้สูงขึ้น เป็นตรงตามเป้าแบบพุทธมากขึ้น
แล้วก็จะย้อนกลับมามีผลให้คุณจุดชนวนสมาธิได้ไวขึ้นด้วย
ตอนที่จิตอยู่ในสมาธิจริงๆ แล้วนึกถึงสภาวะทางกายทางใจขึ้นมา
คุณจะรู้สึกว่ากายใจนี่เป็นวัตถุ
ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ให้มองกายด้วยความเป็นธาตุ
4 สักแต่เป็นดิน สักแต่เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ
คือส่วนที่เป็นดิน จะแข็ง จับต้องได้นะ กระดูกสันหลัง
หรือว่าเนื้อ
ส่วนที่เป็นน้ำ เช่นน้ำลาย น้ำมูก ไฟก็ไออุ่น ลมก็อย่างเช่นลมหายใจ
พอคุณอยู่ในสมาธิ คุณจะมีความรู้สึกขึ้นมา
หลายคนนะ เกิดขึ้นมาเอง รู้สึกว่าเหมือนกับร่างกายนี้เป็นหุ่น
ร่างกายนี่มีสภาพความเป็นวัตถุ ไม่แตกต่างจากโต๊ะ เก้าอี้ รู้สึกว่ามันเป็นแค่วัตถุไร้จิตวิญญาณ
หลายๆคนจะรู้สึกขึ้นมา
__________________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ชนวนสมาธิ
ช่วง คำอธิบายผลโพล
วันที่ 4 กันยายน 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=w8DqoXlDrF0&t=1172s
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น