วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564

01 ชนวนสมาธิ : ช่วงเกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

 

สำหรับคืนนี้มาว่าเรื่องชนวนสมาธินะ ว่ามีส่วนที่จะช่วยให้คุณมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้อย่างไร

 

ถ้าเราได้ชนวนสมาธิแบบแน่นอน มีความรวดเร็วนะครับ แล้วก็มีสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เราทำสมาธิเป็น

 

ก่อนอื่นใดนะ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหมือนกับมีการถามกันเยอะแล้วก็ผมก็ไปพยายามหาคำตอบมานะครับ ว่านั่งสมาธิ นั่งคอตั้งหลังตรงแล้วเกิดความเมื่อยขบตามเนื้อตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังนะครับ

 

อาจจะเป็นเรื่องของอายุ เป็นเรื่องของความอ่อนแอทางกล้ามเนื้อ หลายคน ไม่ได้ถนัดที่จะนั่งคอตั้งหลังตรงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร พอมาพยายามที่จะฝึกสมาธิก็เลยเกิดปัญหา

 

ผมก็ได้ให้เห็นนะว่า ถ้าเรายังคอตั้งหลังตรงอยู่นะ แต่เอนหลัง .. เอนหลังนี่ไม่ใช่ว่าคอไม่ได้ตั้ง หลังไม่ได้ตรง เพียงแต่ว่าอยู่คนละระนาบกันนะ แทนที่จะตั้งตรง 90 องศาก็เอนไป 45 องศา

 

พบว่าใช้ได้ ใช้การได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามาอาศัยมือไกด์ช่วย แล้วก็ทำสมาธิในแบบที่จะวาดแขนอะไรนี่ หลายท่านนะครับที่ทดลองดูแล้ว พบว่าเป็นที่สบาย เพราะว่าน้ำหนักของร่างกาย จะเทไปที่แผ่นหลัง แล้วก็ไม่ได้นอนราบซะทีเดียว

 

เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งใจทำ ก็ไม่ง่วงนะครับ แต่อาจจะได้ความรู้สึกว่าร่างกายเนื้อตัวนี่ ผ่อนคลาย ไม่ต้องมาเกร็ง ไม่ต้องมารับน้ำหนักนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนหลัง แต่ก็ให้พนักพิงที่เอนลง เป็นตัวรับน้ำหนักไปแทน  

 

หลายท่าน ก็น่าจะมีเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์อะไรที่ใช้เอน ประเภทเลซี่บอยประเภทที่เป็นเก้าอี้ผ้าใบ หรือว่าจะเอาหมอนมาหนุนให้เกิดการเอนได้สะดวก 45 องศา ถ้ามากกว่านั้น อาจจะใกล้เคียงกับการนอนหลับ แต่ว่าถ้าตั้งมากกว่านั้น อาจจะเหมือนกับใช้กำลังของช่วงก้นกบเยอะ จนรู้สึกปวด เวลาที่นั่งสมาธิไปนานๆ

 

เพราะฉะนั้น 45 องศานะ เอียงประมาณนั้น ก็จะทำให้รู้สึกว่าเป็นที่สบายกับร่างกาย ในขณะเดียวกันก็ไม่หลับด้วย

 

ก็ได้ตั้งเป็นสเตตัสโดยเฉพาะเลย ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา ทำคลิปให้ดูด้วยนะเป็นแอนิเมชันสั้นๆ ว่าออกมานี่ จะประมาณนั้นน่ะครับ ก็แก้ปัญหาให้หลายๆท่านได้

 

วันนี้ เรามาพูดถึงเรื่องของชนวนสมาธิ

 

ที่จะพูดถึงเรื่องของชนวนสมาธิ ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการที่ เราจะสังเกตตัวเอง ใช้ความคิด ใช้สติปัญญา ไม่ใช่นั่งๆ ทื่อๆ ไปอย่างเดียวแบบลูกทุ่ง

 

แต่มีการสำรวจตรวจสอบ แล้วก็ใช้ความคิดนี่แหละ ความคิดธรรมดาธรรมดานะ ที่จะมาทบทวนดูว่าสมาธิของเรา ยังมีจุดติดขัดอยู่ที่ตรงไหน หรือว่าสมาธิของเรา มีดีตอนช่วงเริ่มต้นเพียงใด

 

ถ้าเข้าสมาธิได้เร็ว จะมีผลหลักอยู่สองอย่าง

 

หนึ่ง คือรู้สึกมีกำลังใจว่า เราเข้าสมาธิเป็น

สอง คือเอามาใช้งานได้ง่าย พร้อมใช้งาน

 

จิตนี่คุณจะเห็นเลยนะว่า ตอนที่คิดๆ ฟุ้งซ่านอยู่ จะไม่พร้อมที่จะทำอะไร แม้กระทั่งงานแบบโลกๆ คุณลองคิดดูนะ ตอนคุณจะทำข้อสอบ หรือว่าตอนที่คุณจะต้องผ่านงานใหญ่ๆ ที่มีข้อมูลเยอะๆ

 

ถ้าสมองยังตีกันอยู่ ยังฟุ้งซ่าน ยังตกลงกับตัวเองไม่ได้ มีเสียงดังปรี๊ดขึ้นมาบ้าง มีเสียงแผ่วๆบ้าง แบบคนอ่อนแอ หรือปรี๊ดขึ้นมาแบบคนก้าวร้าว อย่างนั้น จิตยังไม่พร้อมใช้งาน แม้กระทั่งงานแบบโลกๆ

 

ต้องรอให้จิต ดูมีความเป็นผู้ใหญ่ก่อน มีเหตุ มีผล เสียงในหัวเป็นโมโนโทน (monotone) คือไม่ดังเกินไป ไม่เบาเกินไป ไม่แผ่วเกินไป ไม่แหลม แล้วก็ไม่ทุ้มเกินไป

 

จะอยู่ตรงที่คุณรู้สึกเหมือนกับว่า เราพูดเรียบๆ พูดแบบที่ไม่มีอารมณ์เข้ามาแทรกเจือ แต่มีความชัดเจนว่า เป้าหมายของเราคืออะไร เราจะดำเนินการ 1-2-3 อย่างไรทีละสเต็ป แบบนี้จะมีเสียงในหัวเป็นโมโนโทนขึ้นมา  

 

เสียงโมโนโทนในหัว จะใกล้เคียงกันแต่สมาธิ

 

ทีนี้ เราสังเกตนะ นี่เป็นตัวอย่างว่า ถ้าเราทำงานอยู่ในโลก หรือว่าคุยกับผู้คนเจรจากับผู้คน ด้วยเสียงโมโนโทนที่ออกมาทั้งปากด้วย แล้วก็เป็นโมโนโทนในหัวจริงๆ ด้วยนี่ ใจจะอยู่กลางๆ ไม่เอียงข้าง ไม่สุดโต่ง  เวลาที่จะเข้าสมาธิก็จะรู้สึกง่าย อันนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ เลย

 

ถ้าคุณสังเกตเข้ามาในตัวเอง แล้วพบว่าการทำงานของคุณ ไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลเสียเยอะ ก็จะพร้อม เหมือนมีฐานให้ต่อยอดเป็นสมาธิได้ไม่ยาก

 

ผิดกับคนที่ต้องทำงานแบบใช้อารมณ์เยอะๆ หรือว่าไม่ใช่เรื่องงานเรื่องการ  แต่เป็นเรื่องบ้านเรื่องเรือน อยู่กับคนที่ใช้อารมณ์ เจ้าอารมณ์บ่อยๆ แล้วเราก็อดไหลตามไปไม่ได้ ขาดสติ พลอยร่างพลอยแห มีอาการใช้อารมณ์ไปกับเขาบ่อยๆ ก็เข้าสมาธิยาก

 

นี่คือตัวอย่างง่ายๆในทางโลก ในการใช้ชีวิตทางโลกว่า ชนวนของสมาธิ จะเกิดจากเสียงในหัวแบบโมโนโทน ไม่ใช่เป็นพวกที่มีเสียงในหัวแบบปรี๊ดบ้างหรือว่าทุ้มต่ำแบบทอดอาลัยตายอยากบ้าง เอื่อยๆ อ่อยๆ ออเซาะ แบบคนที่แบบเรียกร้องความสงสาร

 

แบบนั้น คือเป็นเสียงที่บั่นทอนคุณภาพของจิต เป็นเสียงที่ไม่เอื้อให้จุดชนวนสมาธิได้ง่าย นี่เป็นข้อสังเกตนะ

 

ทีนี้ จริงๆแล้ว ไม่ได้มีแค่เรื่องของเสียงในหัว แต่ชีวิตประจำวันของคุณก็เป็นส่วนประกอบสำคัญ ให้เกิดองค์ประกอบของสมาธิ ที่เรียกว่าวิตักกะ

 

คำว่าวิตักกะ ถ้าฟังดู ความหมายบอกว่านึกถึงอะไรอย่างหนึ่ง อย่างเช่นนึกถึงลมหายใจ นี่คือวิตักกะ ดูเหมือนกับไม่มีอะไรยุ่งยากให้ต้องทำความเข้าใจกัน

 

แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้าทำสมาธิมากันจนกระทั่งเริ่มทำเป็น แล้วคุณสังเกตตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้น ตัว วิตักกะ นี่มีความสำคัญมาก

 

เพราะว่าถ้าหากไม่เกิดขึ้นเต็มจริงๆ ตัว วิตักกะ เจตสิก เกิดขึ้นแบบเอื่อยๆ แผ่วๆ อ่อนๆ ไม่ได้ตั้งใจจริง พูดง่ายๆนะโอกาสที่ ยิ่งทำนานไป จะยิ่งเฉื่อย เอื่อย อ่อยลง ยิ่งสูง

 

แต่ถ้าหากว่ามีความกระตือรือร้น องค์ประกอบของวิตักกะ ไม่ใช่มีแต่ทางใจอย่างเดียว ร่างกายนี่ถ้าหากว่า มีความพรักพร้อม ไม่ง่วงเหงาหาวนอนมีเอนเนอร์ยี่ (energy) มีความรู้สึกว่ายังมีกำลังวังชา แล้วก็หูตามีความตื่นพร้อม ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

 

อาการที่เราน้อมใจ นึกถึงลมหายใจในวาระแรกก็จะดีไปด้วย มีคุณภาพ

 

ถ้าใจเราไม่ได้วอกแวก ไม่ได้คิดอยากไปเล่น หรือว่าไม่ได้คิดอยากไปทำอะไรอย่างอื่น ไม่ได้มีอะไรค้างคาอยู่ในใจ เวลานึกถึงลมหายใจ ก็จะนึกถึงลมหายใจอย่างเดียว

 

เห็นไหม คือถ้าเราตรวจสอบดูนะว่า องค์สมาธิข้อแรกของเรานี่ มีอะไรเป็นตัวบั่นทอน หรือว่าเป็นตัวลดทอนคุณภาพบ้าง แล้วตั้งหลักใหม่ให้เห็นว่าขึ้นต้นมา เรานึกถึงลมหายใจได้อย่างชัดเจน แล้วก็มีอยู่ในใจอย่างเดียว นี่ก็เรียกว่าเป็นชนวนสมาธิ

 

เห็นไหม จะมีทั้งฝั่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ทำให้เสียงในหัวปรี๊ด หรือว่าเป็นโมโนโทน

 

แล้วเริ่มต้นขึ้นมา เรามีความใส่ใจที่จะรู้สึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกมากน้อยแค่ไหน มีความเต็มใจที่จะรู้ลมหายใจแค่ไหน เห็นไหม แต่ละวันจะไม่เท่ากัน

 

แล้วถ้าคุณสังเกต คุณก็จะเริ่มให้คำตอบกับตัวเองได้ว่า ทำไมเมื่อวานนั่งได้ดี วันนี้นั่งได้แย่ มีเหตุ มีปัจจัยอะไร

 

เริ่มต้นขึ้นมา เห็นไหม เอาแค่ใช้ชีวิตประจำวัน กับเอาแค่การนึกถึงลมหายใจ ก็เป็นคำตอบให้คุณร้องอ๋อ ขึ้นมาได้บ้าง

 

ทีนี้ อย่างเวลาคุณหลายๆ คนในที่นี้ที่ร่วมไลฟ์กันมา เริ่มทำสมาธิเป็น แล้วก็เห็นโลกภายในแตกต่างไป พอโลกภายในแตกต่างไปนี่นะ คุณจะพบว่าบางทีต้องใช้คำเปรียบเปรย อุปมาอุปไมย อธิบายอะไรๆ มากขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น ตอนว่าง ตอนใจรู้สึกว่างๆ อยู่ เหมือนลอยคออยู่ในทะเลกว้าง ทะเลแห่งความสุข ซึ่งสุขมาก สุขน้อยก็แตกต่างกันไปฃฃยิ่งสุขมากขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งติดใจที่จะหวนกลับมาทำสมาธิบ่อยขึ้นเท่านั้น

 

ในขณะที่บางคน รู้สึกว่าความสุขนั้น เป็นความสุขแบบธรรมดาๆ ไม่ได้มากมาย ไม่ได้เอ่อล้น ไม่ได้ถึงขั้นที่ชวนให้อยากกลับมาทำสมาธิบ่อยๆ

 

เพราะพอถึงตรงจุดที่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่คิดไม่อะไร จะรู้สึกเหมือนลอยคออยู่ในทะเลความสุขน้ำจืด ทะเลไม่มีรสชาติ ทะเลแบบจืดๆ หรือเป็นแค่สระใหญ่เฉยๆ ที่ไม่มีรสชาติอะไรเท่าไหร่ รู้สึกว่าลอยคออยู่ แล้วไม่ได้มีความอยากอยู่ตรงนั้นให้ได้นานๆ

 

แล้วที่สำคัญที่สุด ถ้าเราตั้งใจจะทำสมาธิแบบพุทธ พอไปถึงตรงนั้นเหมือนกันลอยคออยู่ในน้ำในสระกว้าง ก็เห็นท้องฟ้าข้างบน ที่เปิดโล่งแล้วไม่ได้รู้สึกยินดีอะไรไม่ได้รู้สึกว่า มีทิศทางที่จะทำอะไรต่อนี่

 

ก็จะคาอยู่ตรงนั้น รู้สึกว่าไปต่อไม่ถูก ติดอยู่กับสมาธิแบบจืดชืด

 

เพราะฉะนั้นคืนนี้ เรามาสำรวจดูกันที่จุดเริ่มต้น

 

เดี๋ยวจะให้ทำโพล พอทำโพลไปแล้ว คุณจะได้เห็นคนที่ทำได้ดีแล้ว มีชนวนสมาธิแบบชั้นอ๋อง จุดชนวนสมาธิได้เร็ว มีคุณภาพของจิต มีความรู้สึกปีติสุข ที่ล้นหลาม ก็จะรู้ว่าตัวเองอยู่ในข่ายของคนที่มีชนวนสมาธิดี

 

ส่วนคนที่ยังรู้สึกเหมือนครึ่งๆ กลางๆ ยังเฉยๆ ยังไม่ยินดียินร้ายอะไรกับสมาธิมากมาย อย่างน้อยพอเราได้สำรวจตรวจสอบรวมกัน ทำให้มองเห็นว่าตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วจริงๆ แล้วสามารถพัฒนาต่อขึ้นไปได้อย่างไร

 

ซึ่งคืนนี้ ผมจะมีทั้งเรื่องของคำตอบเกี่ยวกับ ชนวนสมาธิ ที่เราจะไปปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วก็การเอาสมาธิไปใช้ ให้ได้ผลเป็นสมาธิแบบพุทธทุกครั้ง

 

คือ ถ้าเกิดสมาธิแบบพุทธขึ้นมาทุกครั้งที่เราทำสมาธินี่นะ จะค่อยๆ สะสมแล้วก็ทวีปัญญาแบบพุทธขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง เราจะพบตัวเองว่า ที่ทำสมาธิมา ไม่ใช่แค่มานั่งสมาธิ 10 นาที 20 นาทีหรือ หนึ่งชั่วโมง

 

แต่สมาธิแบบพุทธของคุณ จะมีประโยชน์ ติดตามชีวิตของคุณไปในทุกขั้นตอนในระหว่างวัน แล้วถ้าจิตของคุณ พอมีปัญญาแบบพุทธ จะมีคุณภาพ จะมีความประณีต จะมีตัวชนวนสมาธิอีกแบบหนึ่ง คือเป็นชนวนทางปัญญา ประกอบอยู่กับจิตที่เป็นปกติในชีวิตทั่วไป

 

ก่อนอื่นใดเลย ก็อยากจะสอบถามนะ อย่างที่ผมเคยโชว์ให้ดูแล้วบ่อยๆ เมื่อคราวที่แล้ว ผมถามในแง่ที่ว่า คุณทำสมาธิ ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน 10 นาที 20 นาทีครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง .. สามารถรู้สึกถึงลมหายใจที่สว่างได้เป็นปกติไหม

 

แล้วก็ตอบกันมาประมาณ 8% ของพวกเราที่สามารถทำได้ถึงตรงนั้น คือจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตามนะ ขอแค่ว่าได้เห็นลมหายใจมีความสว่าง ราวกับว่าลมหายใจ นำความสว่างเข้ามาสู่ร่างกายได้เป็นปกติอันนี้ก็ตอบไปว่า 8%  

 

มีความสว่าง ทางการเห็นจากภายใน ทุกครั้งที่ทำสมาธิ

 

ทีนี้ผมถามใหม่ ซึ่งคำถามนี้จะนำไปสู่การมองเห็นตัวเอง สำรวจตัวเอง แล้วก็สามารถที่จะปรับปรุงตัวเองได้

 

ย้ำว่านี่ไม่ใช่การแข่งเขาแข่งเรา แต่ว่าเป็นการแข่งกับตัวเอง เป็นการพัฒนา เป็นการปรับปรุง ที่จะให้ตัวคุณเอง เกิดกำลังใจมากขึ้นว่า เราเข้าสมาธิเป็นจริงๆ แล้วก็มีความพร้อมจะเอาสมาธิไปใช้งานได้จริงๆ นะ

__________________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ชนวนสมาธิ

ช่วง เกริ่นนำ

วันที่ 4 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=1R6MpOtK-dw

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น