วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"น้ำครึ่งแก้ว" -- ใช้ชีวิตอย่างไร.. ในโลกที่ถูกเอาเปรียบ?

คุณดังตฤณให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘น้ำครึ่งแก้ว’ ออกอากาศทางกรุงเทพธุรกิจทีวี (๒ ก.พ. ๕๗) 

- นิยามน้ำครึ่งแก้วของคุณดังตฤณ?
- ปัญหาความอยุติธรรม - ความเหลื่อมล้ำในสังคม?
- ใช้ชีวิตอย่างไร.. ในโลกที่ถูกเอาเปรียบ?


ดูคลิปวิดีโอสัมภาษณ์คุณดังตฤณบนยูทูบ

หรืออ่านไฟล์ถอดเสียงได้ที่นี่...


พิธีกร: คุณผู้ชมครับถ้าเราพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่าเสียดายคนตายไม่ได้อ่านเนี่ยนะฮะ ซึ่งเป็นหนังสือที่แค่ชื่อก็ทรงพลังมาก ๆ แล้วเนี่ย ต้องบอกว่ามีน้อยคนมากที่ไม่เคยได้ยิน  แล้วก็น้อยคนเหมือนกันที่ไม่เคยได้อ่านนะครับ แล้ววันนี้น้ำในแก้วเราไม่ใช่ใครนะครับ ก็คือคุณ "ดังตฤณ" นะครับ "คุณศรันย์ ไมตรีเวช" หรือพี่ตุลย์ของเราครับ



พิธีกร: พี่ตุลย์ สวัสดีครับ



คุณดังตฤณ:  สวัสดีครับคุณบอล



พิธีกร: พี่ตุลย์ครับ เป็นธรรมดาครับเวลาที่มารายการเราแล้วเราเจอกับน้ำในแก้วที่ต้องบอกว่ามีแง่มุมของชีวิตที่ลึกซึ้งนะฮะ เรามักจะถามแบบนี้เสมอว่าเวลาพี่ตุลย์เห็นน้ำครึ่งแก้วเนี่ยพี่ตุลย์เห็นอะไร หรือมันมีปรัชญาอะไรเบื้องหลังคำว่าน้ำครึ่งแก้วในความคิดของพี่ฮะ



คุณดังตฤณ:  ก็มันมี 2 อย่างนะฮะ ถ้ามองตามความรู้สึก มันก็คือน้ำที่ถูกกินไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองเป็นสัญญลักษณ์ มันก็คือสิ่งที่หายไปครึ่งหนึ่ง การที่เรากินน้ำจากเต็มแก้วนี้ จริง ๆ มันไม่มีใครรินเต็มถึงแบบปริ่ม ๆ ถึงขอบแก้วหรอก อย่างมากก็ 8 ใน 10 หรือ 7 ใน 10 ครึ่งแก้วมันก็คือความหมายว่ามันอาจจะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ 30 เปอร์เซ็นต์ บางทีมันไม่ได้ 50 เต็มที่หรอก การที่เรารู้สึกว่าเราได้กินไปครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วพออยู่แค่นั้น วางแก้วคืนไว้บนโต๊ะแล้วไม่กินอีก แปลว่าเรามีของเก่าอยู่  ไม่ต้องกินเต็มแก้วก็ได้ก็อิ่ม หายกระหายได้ ถ้าหากว่าเราคิดถึงสิ่งที่เป็นจิตเป็นใจ มองว่าการที่เราไปเอาความชุ่มชื่นจากคนอื่นมา ขอแค่ครึ่งเดียวแล้วมาเติมกับอีกครึ่งหนึ่งที่เรามีอยู่ก่อนแปลว่าใจของเราใกล้เต็ม แต่ถ้าหากว่าเราต้องเอาเขามาทั้งหมดทั้งแก้วหรือว่าขอเพิ่ม แก้วเดียวไม่พอ เป็น 2 แก้ว 3 แก้ว นั่นแปลว่าเรายังมีความกระหายอยู่มาก ถ้าหากว่าเราเห็นน้ำครึ่งแก้วแล้วรู้สึว่าพอแล้ว นั่นแสดงว่าเราใกล้อิ่มแล้ว



พิธีกร: อ๋อ โอเครับ ก็เป็นมุมมองเหมือนกับว่าแทนที่เรา…



คุณดังตฤณ:  ไม่ต้องไปฉกฉวยจากคนอื่นมาทั้งหมดก็ได้ เอาความชุ่มชื่นจากเขามาแค่ครึ่งเดียวก็พอ แล้วมาบวกกับความชุ่มชื่นที่เรามีอยู่ มันก็สามารถอิ่มได้


พิธีกร: อิ่มเอมได้ แล้วก็เติมเต็ม


คุณดังตฤณ:  ซึ่งน่าจะเป็นแบบนั้น น่าจะเกิดขึ้นแบบนั้น แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ คือมีคนหิวเต็มโลกไปหมด ล้นโลกไปหมด เหมือนผมเคยเปรียบเทียบไว้ เป็นคนที่มีจิตวิญญาณเหมือนขอทาน คือ ต่อให้รวยแค่ไหน ต่อให้มีอำนาจยิ่งใหญ่เพียงใด จิตก็ยังโหยหิวความสุข เหมือนกับจิตวิญญาณของขอทาน คุณบอลอาจจะเคยเห็นคนรวยหรือว่าคนมีอำนาจอยู่แล้ว มันยังมีอาการโหยหิว มีอาการพุ่งไปหาอะไรบางอย่างมาเพิ่มเติม แล้วมันไม่จบ ไม่จบทั้งขีวิต สิ่งนี้แหละที่เรามองเปรียบกับน้ำครึ่งแก้วได้ว่าถ้าใครกินน้ำเข้าไปแค่ครึ่งแก้ว อาจเป็นเพราะว่าเขาพร้อมที่จะอิ่มอยู่แล้ว ใกล้ที่จะอิ่มอยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าเราเห็นแก้วเปล่า แล้วก็จะต้องเติมน้ำเข้าไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า มากินซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้กี่แก้วต่อกี่แก้ว อันนี้มันอาจจะสะท้อนว่าเขากำลังหิวกระหาย และหิวกระหายไม่เลิก อันนี้ล่ะผมเปรียบเทียบว่าน้ำเป็นความสุขและแก้วเป็นจิตใจ



พิธีกร: น้ำเป็นความสุขแก้วเป็นจิตใจ วันนี้ผมชอบมากเลยนะฮะว่าถ้าเราเห็นแก้วเปล่าอยู่แสดงว่าคนที่ต้องการหรือว่าคนที่กินเนี่ยยังไงแก้วก็จะเปล่าอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าน้ำมีอยู่ครึ่งแก้วเนี่ย….



คุณดังตฤณ:  ถ้าน้ำมีอยู่ครึ่งแก้วแล้ววางทิ้งไว้บนโต๊ะก็แสดงว่าเขาพอแล้ว



พิธีกร: เขาพอแล้ว และเขาก็กินแค่ครึ่งหนึ่งก็พอ



คุณดังตฤณ:  ใช่ คือเหลือคืนไว้บนโต๊ะ เผื่อคนอื่นมากินต่อได้



พิธีกร: พี่ตุลย์ครับ แน่นอน ตะกี้พี่ตุลย์พูดถึงเรื่องของคนที่มีแล้วไม่รู้จักพอนะครับ แน่นอนก็คืออาจจะหมายถึงคนที่มีฐานะทางสังคม หรือว่ามีทรัพย์สินเงินทองกระหายหาไปเรื่อย ๆ แต่แน่นอนพอเจอเหตุการณ์แบบนี้มันก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ คนที่เขาไม่มี ทุกวันนี้เขารู้สึกว่าเขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนที่อยู่ตรงข้ามกันหรือคนที่มีมากกว่า คนที่มีโอกาสในชีวิตมากกว่าอย่างนี้เป็นต้นผมก็เชื่อว่าเป็นคนส่วนไม่น้อยในสังคม พี่ตุลย์คิดว่าอย่างนี้คนที่เขารู้สึกแบบนี้จะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกความคิดตัวเองยังไงดีครับ



คุณดังตฤณ: คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเนี่ยนะ ส่วนใหญ่จะมีข้อเท็จจริงอยู่ประการหนึ่ง คือว่าเขาไม่สามารถที่จะไขว่คว้า ไม่สามารถที่จะหาอะไรได้มาเหมือนกับคนที่เขารู้สึกไม่ชอบใจหรือจงเกลียดจงชังอยู่ ถ้าหากว่าเทียบเป็นง่าย ๆ เจ้านายเอาเปรียบลูกน้อง หรือว่าสามีเอาเปรียบภรรยา หรือว่าเพื่อนเอาเปรียบเพื่อน อย่างนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วเราเห็นกันในทุกวงการ ถ้าหากเรามองเข้าไปพิจารณาเข้าไปนะว่าไอ้ความรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบมันเกิดขึ้นตอนไหน มันเกิดขึ้นตอนที่ว่ามาใช้ให้เราทำอย่างเดียว หรือว่ามาฉกฉวยมาเอาจากเราอย่างเดียว หรือว่ามาทำให้เราเนี่ยพูดง่าย ๆ ว่าต้องเปลืองแรงหรือว่าเปลืองกำลังเปลืองเวลาโดยที่อีกฝ่ายแทบจะไม่ได้ลงทุนลงแรงหรือว่าลงเวลาอะไรมาเลย ทีนี้มองในอีกมุมนึงนะครับ คือว่าคนที่บอกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบเนี่ยได้เคยไปเอาเปรียบอะไรคนอื่นไว้บ้างหรือเปล่า ถ้ามองนะว่าการเอารัดเอาเปรียบคือธรรมชาติที่มันพร้อมจะเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นบางทีนะเราเดินไปตามท้องถนน ทิ้งเศษขยะ หรือว่าเศษกระดาษ เศษแก้วอะไรต่าง ๆ ด้วยความคิดว่าเดี๋ยวก็มีคนมาจัดการเอง นี่ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยนะ ไอ้ความรู้สึกทำนองนี้เนี่ยถ้าถามตัวเองถ้าถามเราเอง เราจะบอกว่ามันเป็นการทำให้คนอื่นมีหน้าที่เขาจะได้มีการงาน แต่คนกวาดขยะเขาจะไม่รู้สึกแบบเรานะ ไอ้ประเภทที่ว่าอยู่ ๆ เห็นไอ้กองขยะอะไรเพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่มันไม่เคยมีเนี่ยเขาจะรู้สึกว่าถูกแกล้ง อันนี้ผมเคยได้ยินคนที่เขามีหน้าที่ตรงนี้เนี่ยบ่นออกมากับปากเขาเองเลยเข้าใจความรู้สึก มันเป็นความรู้สึกที่ชัดเจนมากว่าเนี่ยแกล้งหรือเปล่า เนี่ยไอ้ความรู้สึกตรงนี้เนี่ยคนทำไม่ได้จงใจ แต่ว่าโดยอีกนัยหนึ่งเนี่ยมันมีคนมองว่าเขาถูกเอาเปรียบเหมือนกัน จะบอกว่าการเอารัดเอาเปรียบบางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่าเราได้ทำไปหรือเปล่า ถ้าหากว่าเรามองว่ามันเป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันที่ไม่มีการเสมอภาคได้ ไม่มีใครเนี่ยที่จะสามารถสร้างสังคมขึ้นมาแบบหนึ่งที่ทุกคนเนี่ยเท่ากันหมด เท่ากันในความหมายที่ว่าได้รับอะไรเหมือนกัน ลงทุนลงแรงเหมือนกัน หรือว่าใช้เวลาเท่า ๆ กันในการขับเคลื่อนสังคม เราก็จะมองว่าตัวเองเนี่ยกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตามธรรมชาติ และในขณะเดียกันเราก็อาจจะกำลังเอารัดเอาเปรียบบางคนอยู่โดยธรรมชาติที่มันเหมือนกับยัดเยียดมา เรามีตำแหน่งหน้าที่หรือว่ามีตัวตนแบบหนึ่งที่ไปเบียดเบียนใครเขาเข้าโดยไม่รู้ตัว แล้วไปทำให้เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่าเราไปเอาเปรียบหรือว่าไปรังแกเขาได้เหมือนกัน



พิธีกร: สิ่งนั้นก็สะท้อนมาหาเรา



คุณดังตฤณ: สิ่งนั้นมันควรจะเป็นเครื่องบอกว่ายังไงเราก็ต้องถูกเอาเปรีบบไม่ว่าจะอยู่ในฐานะแบบไหน คือการที่เกิดความเข้าใจเป็นภาครวมเนี่ยอย่างน้อยจะลดความเกลียดชังลงได้



พิธีกร: มันเหมือนกับว่าถ้าเราทำใจว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานหรือที่เรายึดตามที่เราคาดหวังอยู่จริงหรอกอย่างนี้มันจะคล้าย ๆ กับที่พี่ตุลย์ว่าไหมครับ



คุณดังตฤณ: ใช่ คือเราคิดว่าถูกเอาเปรียบ แต่จริง ๆ แล้วที่ผมพูดมาทั้งหมดก็คือว่าเราต้องไปอยู่ตรงนั้นแหละ ถ้าเรามองว่ามันไม่ใช่เฉพาะเรานะที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เราก็เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอยู่เหมือนกัน อย่างน้อยที่สุดถึงแม้ว่าจะแก้ไขความอยุติธรรมไม่ได้ แต่ความเกลียดชังในใจเราจะลดลงด้วยความเข้าใจในการเห็นภาพรวมนั่นแหละ



พิธีกร: ครับผม นั่นก็เลยเหมือนกับว่าหลาย ๆ ครั้งคนเราก็ต้องมาทำความเข้าใจ แล้วก็มาเรียนรู้



คุณดังตฤณ: คือไม่ใช่ว่าไม่พยายามที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องนะ แต่อย่างน้อยลดความเกลียดชังในใจลงด้วยความเข้าใจในภาพรวมก่อน แล้วการขับเคลื่อนของเราที่จะมีต่อไปมันจะไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความเกลียด แต่เป็นขับเคลื่อนด้วยการพยายามที่เอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่สมดุล



พิธีกร: พี่ตุลย์ครับผมฟังแบบนี้เนี่ย ผมรู้สึกว่าการที่เราทำความเข้าใจหรือเข้าถึงเนี่ยมันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ



คุณดังตฤณ: ใช่ ในทุกสถานการณ์เนี่ยถ้าไม่เห็นภาพรวมก็จะเห็นแต่ภาพในใจที่เราตั้งขึ้นมา



พิธีกร: ปรุงแต่งขึ้น คิดไปเอง



คุณดังตฤณ: บางทีเนี่ยมันมีเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบเนี่ยนะฮะมันมาควบคู่กันกับความเกลียดชัง คือถ้าคนมีความรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบปุ๊บมันมองไม่เห็นอะไรอย่างอื่นนอกจากความรู้สึกเกลียดชังที่มันมืด



พิธีกร: แล้วตรงนั้นจะไปบดบัง



คุณดังตฤณ: ซึ่งความมืดหรือความเกลียดเนี่ยเวลาที่มันออกแรงต้านไป มันมักจะเป็นกระแสของความ พูดง่าย ๆ ว่าพยายามไล่น้ำเสียด้วยน้ำเสีย ในที่สุดแล้วมันก็ต้องเหลือน้ำเสียให้ต้องไล่ต่อคือน้ำเสียในใจเราเอง คือความมืดในใจเราเอง บางทีเราขับไล่ความมืดข้างนอกได้ แต่ความมืดในใจของเราเนี่ยมันครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นได้ชัดก่อนเป็นอันดับแรกก็คือครอบงำชีวิตเรา



พิธีกร: งั้นจะเห็นว่าการที่เรามีความเข้าใจหรือมีความกลับมาทบทวนสิ่งต่าง ๆ กับตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พี่ตุลย์ครับ การที่เรารู้จักตัวเราเองเนี่ยมันส่งผลดีกับชีวิตอย่างไร เพราะว่าเท่าที่เราเห็นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคมอะไรต่าง ๆ เราก็มักจะมองไม่ค่อยเห็นตัวเองเท่าไหร่ ตัดสินใจอะไรแล้วก็ทำอะไรไปตามกระแสโดยง่าย โดยไม่มีโอกาสได้คิดไตร่ตรอง หรือสะท้อนมาถึงตัวตนข้างในของเรา พี่ตุลย์มีแนวคิดเรื่องนี้อย่างไรบ้าง



คุณดังตฤณ: คือเรื่องของการทำความรู้จักตัวเอง ผมมองอีกย่างว่ามันเป็นเรื่องของความเข้มแข็งทางใจ คือคนอ่อนแอเนี่ยทำความเข้าใจตัวเองไม่ได้ มันต้องมีแต่คนที่สั่งสมกำลังมามากพอถึงจะเข้าใจอะไรได้ทั้งหมดแล้วก็มีแก่ใจเผื่อแผ่ความเข้าใจนั้นเนี่ยไปให้คนอื่นนะครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างคนถ้าถูกด่าแล้วเจ็บใจเคียดแค้นแล้ววางแผนพยายามจะเอาคืนด้วยความฉลาดแค่ไหนก็แล้วแต่ ความเจ็บใจความเคียดแค้นเนี่ยถามว่ามันเป็นเรื่องของคนเข้มแข็งหรือคนอ่อนแอ ผมมองอย่างนี้ว่าคนอ่อนแอที่ไหนก็สามารถที่จะเคียดแค้นได้ สามารถที่จะอยากเอาคืนได้ มีแต่คนเข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถยอมรับและให้อภัย แต่ไม่ใช่ให้อภัยในแบบนี้ไม่ทำอะไรเลยนะ คือให้อภัยในลักษณะที่เราไม่ตอบโต้ด้วยความเกลียด แต่ตอบโต้ด้วยความมีเหตุมีผล คนที่เข้มแข็งเท่านั้นที่สามารถจะรู้จักตัวเองว่าในขณะนี้เราทำอะไรต้องการอะไรและเรากำลังอยู่ในเส้นทางที่จะได้สิ่งที่ต้องการหรือเปล่า คนที่อ่อนแอเนี่ยจะมองเห็นแต่ว่าตัวเองกำลังต้องการอะไร อยากได้อะไร แต่มองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังอยู่ในเส้นทางไปสู่สิ่งที่ต้องการหรือเปล่า



พิธีกร: มันก็เหมือนกับว่าคนที่เขา…



คุณดังตฤณ: รู้จักตัวเองกับไม่รู้จักตัวเองมันแตกต่างกัน



พิธีกร: หรือไม่ก็คนที่ไม่รู้จักตัวเองเนี่ยเวลาที่เขาทะเลาะเบาะแว้งต่าง ๆ หรือว่าในครอบครัวเป็นต้น แน่นอนเขาอยากได้ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักตัวเองแล้วก็ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ก็ไม่ได้มานั่งถามตัวเองตลอดเวลาว่าเนี่ยทำไปทะเลาะกันไปมันได้สิ่งที่เราต้องการ ถูกไหมฮะ มันก็จะเป็นการตอบสนองแค่ตรงหน้าเท่านั้น อารมณ์ตรงหน้า



คุณดังตฤณ: ณ เวลาที่ผัวเมียทะเลาะกันสังเกตุได้ง่ายเลยมันเป็นจุดสังเกตุมนุษย์ได้ชัดเจนว่าทั้งสามีและภรรยาส่วนใหญ่แล้วเนี่ยไม่รู้จักตัวเองแล้วก็มีความอ่อนแอทางจิตวิญญาณ คือจะเรียกร้องจากอีกฝ่ายมากกว่าที่เราจะให้กับอีกฝ่าย คนเข้มแข็งเนี่ยจะเป็นที่พึ่งแล้วก็พร้อมที่จะให้แล้วก็มีความรู้สึกว่าเป็นผู้ดูแล แต่ถ้าหากว่าต่างฝ่ายต่างเรียกร้องอยากจะให้อีกคนมาดูแลตัวเองท่าเดียว แล้วตัวเองไม่หยิบยื่นไม่ดูแลไม่ให้ความใส่ใจอะไรเขาเลยเนี่ยมันคือความอ่อนแอของคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพา อยู่ในภาวะต้องพึ่งพา เวลาเรียกร้องไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาด ใช้วิธีแบบที่เราเห็นกันในเด็ก ๆ คือร้องแรกแหกกระเชอ หรือว่าแสดงอาการอาละวาด มนุษย์ไม่เคยเลิกเป็นเด็ก คนส่วนใหญ่เป็นเด็กกันตลอดเวลาตลอดทั้งชีวิต มีแค่ไม่กี่คนที่โตขึ้นมาจริง ๆ มีความเข้มแข็งจริง ๆ พอที่เป็นคนที่สามารถดูแลคนอื่นได้ และคนที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะรู้จักตัวเองจริง



พิธีกร: ครับคุณผู้ชมครับจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราเนี่ยโดยธรรมชาติถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเนี่ยเราก็มักที่จะทำอะไรที่นำไปสู่หนทางที่ทำให้ชีวิตมันหนักขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็ทำให้ชีวิตติดอยู่ในบ่วงของปัญหาอย่างแน่นขึ้นและแน่นขึ้นเรื่อย ๆ อันนั้นคือปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่อย่างที่พี่ตุยล์พูดนะครับการที่เรากลับมามีสติ การที่เรามาทำความรู้จักกับตัวเองมากยิ่งขึ้นแล้วก็พิจารณาสิ่งต่าง ๆ แล้วก็เข้าถึงสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ว่าทำไปเนี่ยเราต้องการอะไรกันแน่ แล้วสิ่งที่เราทำนำไปถึงสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่านะครับ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะหลุดไปจากบ่วงที่พูดถึงได้นะครับ เพราะฉะนั้นการที่เราปล่อยให้ตัวเองอยู่กับตัวเองในเชิงของธรรมชาติเป็นยังไงจะทำยังไงก็ทำตามใจฉันมันก็ได้ผลแบบนี้ครับ แต่ว่าเราเองอาจจะต้องมีการที่จะฝึกหรือว่ามีการที่จะมานึกทบทวนพิจารณานะครับ ก็เพื่อทำให้ตัวเราเองสามารถที่จะเข้าถึงเข้าใจธรรมชาติแล้วก็ใช้ธรรมชาติของเราไปในเชิงบวกกับชีวิตของเรามากยิ่งขึ้นได้นะครับ วันนี้เสียดายจริง ๆ ว่าเวลาของรายการค่อนข้างสั้นมาก โอกาสหน้าเราคงมีโอกาสได้มาเยี่ยมพี่ตุลย์ ดังตฤณ ใหม่อีกครั้งนะครับ วันนี้ต้องขอขอบคุณพีตุลย์มากเลยครับ ขอบคุณนะครับ



คุณดังตฤณ: สวัสดีครับคุณบอล.


วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เกลียดการถูกเอาเปรียบ รับมืออย่างไรดี?

บทสัมภาษณ์คุณดังตฤณในหัวข้อ "นิยามน้ำครึ่งแก้ว"
โดย "กรุงเทพธุรกิจทีวี"  วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

หัวข้อการสนทนา :
  • ลักษณะคนที่ "พอใจน้ำเพียงครึ่งแก้ว" VS คนที่มี "จิตวิญญาณขอทาน"
  • "เกลียดการถูกเอารัดเอาเปรียบ" ควรตั้งมุมมองแบบไหนจึงจะโต้ตอบออกไปได้ถูกต้อง? 
  • ทำไม "คนที่รู้จักตนเอง" จึงตอบโต้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างมีเหตุผล?
  • "คู่ที่ทะเลาะกัน แต่แก้ปัญหาไม่ได้" สะท้อนจิตวิญญาณอ่อนแอร้องขอแบบเด็ก !

คลิกรับชมวีดีโอบทสัมภาษณ์ได้ที่ลิ้งก์นี้ : http://www.bangkokbiznews.com/kttv/vdo/560603/
(คุณดังตฤณเริ่มให้สัมภาษณ์ประมาณนาทีที่ ๔:๓๐ และจบที่นาทีที่ ๒๑:๓๐)


เผยแพร่บทความ