วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 84 (เกริ่นนำ/ปิดท้าย) : อาจิณณกรรม / ฉันทะ 1 มีค. 65

EP 84 | อังคาร 1 มีนาคม 2565

 

พี่ตุลย์ : อรุณสวัสดิ์ครับทุกท่าน

วันนี้มาพบกัน เช้าวันอังคาร ตั้งแต่เก้าโมงถึงเที่ยง

 

คนเราเวลาจะตาย

ถ้าหากว่าดูจากสถานการณ์ทางจิตของคนทั่วไป

เอาแน่เอานอนไม่ได้นะ

แล้วแต่ว่าใครเอาจิตไปผูกไว้กับอะไรโดยมาก

 

แล้วสิ่งที่จิตของคนผูกอยู่โดยมาก ก็ขอให้สังเกตคือ

เวลาที่อยู่ระหว่างวัน คิดอะไรโดยมาก

หรือมีความเคยชิน ที่จะพูด ที่จะคุยอะไรโดยมาก

 

อาการที่ใจไปคลุก ใจไปวนเวียนคอยจะเข้าหา

นั่นแหละ ที่เรียกว่าเป็น อาจิณณกรรม

 

แล้วคนยิ่งใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ ก็จะยิ่งมีความผูกพัน

มีความผูกมัดอยู่กับนิสัยทางใจ อย่างไรอย่างหนึ่ง

เช่น คิดมากไม่เป็นเรื่อง

 

ตอนยังหนุ่มยังสาว อาการคิดมากนั้น บางทีตัดใจได้

แต่ยิ่งอายุมากขึ้น แล้วสะสมความเคยชินแบบนั้นมา

.. ไม่มีนะ ที่พออายุมากขึ้นแล้วเห็นโลกมากขึ้น

ผ่านร้อนผ่านหนาวมากขึ้น แล้วจะเบื่อไปเอง

 

ต้องมีเหตุอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย

เหนื่อยหน่าย อยากร้างลาจากนิสัยเดิมๆ

 

หรืออีกทีหนึ่ง คือสะสมยิ่งขึ้นๆ ทุกวัน

จนกระทั่งกลายเป็นคนขี้บ่น จู้จี้ ติดวนอยู่กับความคิดเดิมๆ

ปักใจอะไรแล้วไม่ยอมเปลี่ยน

ไม่ว่า จะด้วยการใช้เหตุผล

ไม่ว่าด้วยการใช้หลักฐานอะไร ไม่สน

เอาอารมณ์ตัวเองเป็นหลักฐาน เอาอารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง

ประเภทแบบนี้ที่เราเห็นกันโดยมาก

ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

 

ทุกอย่างจะเลวร้ายลง ถ้าหากสะสมอารมณ์ลบไว้มากๆ

นานเดือน นานปีไป

 

ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากสะสมอารมณ์ที่เป็นบวก ที่เป็นกุศล

วันต่อวัน มีการพิจารณาตัวเอง มีการติตัวเอง มีการเตือนตัวเอง

มีการคิด ที่จะปรับตัวเองเข้าสู่จุดที่เป็นกุศลในชีวิต

 

อันนี้ เรียกว่าเป็นสิ่งที่จะติดอยู่ในใจ ในช่วงท้ายๆ

คือรวมแล้ว สร้างหลุมดำ หรือว่าหลุมขาวไว้ มีพลังหนักแน่นมากกว่ากัน

 

นี่แหละ ที่ช่วงท้ายๆ จิตจะไปปักอยู่กับหลุมดำหรือหลุมขาว

 

ถ้าปักอยู่กับหลุมดำ ก็จะมีแต่เรื่องคิดร้าย คิดลบ

ตั้งแต่เด็กๆ มานึกว่าลืมไปแล้ว ก็ผุดขึ้นมาเป็นภาพต่อเนื่อง

แล้วก็เป็นสายยาวมาจนกระทั่งโต จนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว

จนกระทั่งแก่เฒ่า จะเห็นเลย เป็นอารมณ์ลบ

 

เพราะว่า หลุมดำ ถ้าหากไปเกิดช่วงท้ายๆ ชีวิต

จะผลิตเอาสิ่งที่ไม่ดี มาเป็นหลักฐานยืนยัน

ให้จิตรู้ว่าทั้งชาติ ทั้งชีวิตนี้มีแต่เรื่องแบบนี้

 

แต่ถ้าหากว่าเป็นหลุมขาว ก็จะดึงดูดเอาเรื่องดีๆ มา

บอกว่าชาตินี้ทำไว้ดีแล้ว ทำไว้พอสมควร ที่จะสบายใจ

รู้สึกอุ่นใจในช่วงท้ายๆ และรู้สึกปลอดภัย เดี๋ยวจะได้ไปดี

 

ตรงนี้ ที่เขาเรียกว่าเป็น ปุญญาภิสังขาร กับ อปุญญาภิสังขาร

 

ปุญญาภิสังขาร คือหลุมขาว

ที่จิตจะรู้สึกได้ถึงแรงดึงดูดเข้าหาสิ่งที่ดี ภาวะที่ดี

 

ส่วนหลุมดำ .. อปุญญาภิสังขาร

ก็จะดึงดูดเอาภาพความทรงจำ หรือปรุงแต่ง ให้จิตอยู่ในภาวะมั่วซั่ว

พูดง่ายๆ คือ มั่วซั่ว สับสน ร้อนรน เต็มไปด้วยความระอุ

รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะได้รับอันตรายใหญ่หลวง ก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ

 

เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่จะมีอะไรแบบนั้นปรากฏให้เห็น

 

ถ้ามีอะไรแบบนั้นปรากฏให้เห็นบ่อยๆ

รับรองคนไม่ทำบาป ไม่ทำกรรม และไม่คิดมากกัน

จะคิดดีแล้วก็คิดน้อยๆ คิดให้เข้าจุดทั้งนั้น

 

แต่ทีนี้ ถ้าเราทำได้ดีกว่านั้น

คนที่เจริญสติ ระหว่างมีชีวิตอยู่ อาศัยกายนี้ กายแบบมนุษย์

อาศัยจิตสำนึกแบบมนุษย์ ใจแบบนี้

มาเป็นเครื่องพิจารณาว่าอะไรๆ เกิดจากเหตุปัจจัยไม่เที่ยง

สักว่าเป็นธาตุหก สักว่าเป็นขันธ์ห้า

 

ตอนตาย ก่อนจะตาย

ถึงแม้ว่ายังไม่เคยรู้จักมรรคผลมาก่อน

ยังไม่เคยเห็นว่านิพพานเป็นอย่างไร ก็จะได้เห็น

เพราะว่าก่อนตาย จิตจะหนักแน่น

มีความแน่วเข้าไปในสิ่งที่ตัวเองสร้างไว้

 

ถ้าเจริญสติ ไม่ได้เรียกว่าหลุมขาว แต่เรียกหลุมใส

หลุมของความโปร่งแสง หลุมของความโปร่งเบา

หลุมของความไม่เอาอะไร จิตไม่ไปเกาะกับภาวะไหนๆ อีก

 

ตัวนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในขันธสูตร ธาตุสูตรว่า

ใครก็ตามเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ห้าได้เรื่อยๆ

ไม่มีทางตายก่อนได้โสดาบัน

 

หรือ ใครก็ตาม เห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหกได้

โดยเป็นปกติด้วยนะ คือเห็นเรื่อยๆ เห็นเป็นประจำทุกวัน

จนติดอยู่ในสัญญาขึ้นใจ

อย่างนี้ ก็ไม่มีทางตายก่อนได้โสดาบันเช่นกัน

 

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราเจริญสติ

อาศัยกาย อาศัยใจเป็นเครื่องมือนี้ไว้

ถึงแม้ว่าจะลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง ทำเล่นๆ บ้าง เอาจริงเอาจังบ้าง

แต่ขอให้ติดอยู่ในจิตจริงๆ เถอะ

 

ขอให้มีความรู้สึกเข้ามาเรื่อยๆ ว่า

กายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เกิดจากเหตุปัจจัย และต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา

 

ภาวะที่เราสร้างหลุมใสขึ้นมา

จะกลายมาเป็นพลัง ที่เหนือบุญเหนือบาป

ตอนช่วงท้ายๆ ของชีวิต จะไม่ไปคิดเรื่องอื่น

จะไม่ไปคิดเรื่องอะไรที่ต้องทิ้งไว้ในโลก

 

แต่จะคิด หรือให้ความสนใจ ให้ความใส่ใจ มีเป้าหมายชัดเจนว่า

จะดูความเป็นกายนี้ ความเป็นใจนี้ในวาระสุดท้ายว่า

จะแสดงความไม่เที่ยงอย่างไร

จะแสดงความไม่ใช่เราอย่างไร

จะสนใจอยู่แค่นั้น

 

แล้วพอจะตาย จิตก็เข้าวิถีที่จะถึงมรรคจิต ผลจิต

 

ตรงนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าหากเป็นคนธรรมดาทั่วไป

ตอนตาย จะไม่มีเป้าหมาย ไม่มีความชัดเจนว่าเราจะนึกถึงอะไร

 

ถ้าหากว่าสะสมบุญมามากพอ ก็เหมือนสร้างหลุมขาวรอไว้

ถ้าสะสมบาปมามากกว่า ก็เป็นการสร้างหลุมดำไว้รอท่า

 

ส่วนคนที่เจริญสติ มีความชัดเจน มีเป้าหมาย

ว่าชีวิตนี้ ขอเอามรรคเอาผล

ก็จะจดจ่ออยู่ตรงนั้นว่า ทั้งชีวิตมายังไม่ได้มรรคผล

ขอให้ได้เป็นคนที่สามารถมาพิจารณากายใจ

โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นอนัตตาก่อนตายก็ยังดี

 

ถ้าจิตแน่วเข้าไป

อย่างน้อยที่สุดก็ได้โสดาฯ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

บางคนนี่ อาจอยู่แถวๆ นี้ ในห้องนี้ก็ได้

บางคนก็อาจพิจารณากายใจ โดยความเป็นอนัตตามาบ้าง ก่อนตาย

 

อาจยังไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็มีทุน คือมีจิตพร้อมปล่อย พร้อมวาง

ขอแค่มาดู มารู้ จนเกิดสมาธิ

ก็อาจเป็นชาติสุดท้ายก็ได้ ในอัตภาพนี้

 

อย่างในธรรมบท มีอยู่บทหนึ่ง ของพระอรหันต์

ท่านกล่าวไว้บอกว่า ถ้าเธอเห็นกายนี้ใจนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง

ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลเราเขา

ร่างนี้ ในที่สุดจะวางเหมือนขอนไม้ทิ้งเปล่าอยู่ในโลก

แล้วก็อัตภาพนี้จะเป็นอัตภาพสุดท้ายของเธอ

 

อันนี้นะที่ท่านผ่านกันมาแล้ว

แล้วท่านพบความจริงเกี่ยวกับกายใจมา ก็มาบอกต่อ

 

ถ้าหากว่าเราๆ ท่านๆ ได้เจริญรอยตาม

อย่างน้อยที่สุดอุ่นใจได้ว่า

อย่างไรๆ ก็ต้องได้ดิบได้ดีกับท่านเขาไป

--------------------

 

(ปิดท้าย) แต่ละคน จะทราบด้วยตัวเอง

อยู่ในห้องนี้มาเห็นคนอื่นมา แล้วก็ตัวเองปฏิบัติไปด้วยนี่

จะมีอยู่จุดหนึ่ง ทุกคนแหละ พอไปถึงความใสความเบา

จะรู้สึกว่ามีสิทธิ์กันทุกคน

จะรู้สึกว่าเป็นไปได้นะ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเราขึ้นมาจริงๆ

 

ทีนี้ ที่จะไปถึงตรงนี้ ไม่ใช่แค่อาศัยรอจังหวะฟลุ้คๆ

ทุกคน จะอยากให้มรรคผลลอยมาจากอากาศ

หล่นตุ้บลงกลางหัวใจเรา

 

แต่ในโลกความเป็นจริงคือ

เราต้องทำ เราต้องเพียร เราต้องมีฉันทะ

ต้องมีแรง ที่จะขวนขวาย เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ไม่ใช่ว่าไปตั้งสเปคไว้ อีกสิบเมตร เดี๋ยวอีกสองกิโล แล้วจะถึง

แบบนั้นมีแต่ในจินตนาการ

แล้วบางคนต้องมีจินตนาการแบบนั้นไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชาติ

กว่าจะถึงจริงๆ

 

แต่ถ้าหากเรามีความเบา มีความใส

มีความเพียร มีฉันทะไม่เลิก

และไม่ยอมแพ้กับกิเลสที่มาขวาง

ไม่ยอมแพ้แม้กระทั่งกิเลสที่มีความหยาบ

อยากจะเอาเดี๋ยวนี้เลยนี่

 

ในที่สุด ทั้งหลายทั้งปวงจะเข้าสู่ภาวะสงบ

สงบทางใจ สงบจากความอยากแบบโลกๆ

และสงบจากความอยาก แม้กระทั่งจะเอามรรคเอาผล

 

ถึงตรงนั้น ที่จิตมีความเป็นไปเอง

ที่มีความเป็นอุเบกขาอย่างยิ่ง

ที่มีความเป็นอุเบกขาในลักษณะอยากใคร่พ้นไป

ที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ ถึงจะเห็นตัวเอง แบบหนึ่ง

 

ชีวิตจะเป็นไปอีกแบบหนึ่งว่า ไม่ใช่เพื่อใคร

ที่ทำอยู่นี้ไม่ใช่เพื่อเอาอะไร แต่เพื่อตรงนี้แหละ

ตรงความเข้าใจที่อยู่ในวินาทีนี้ว่า นี่ไม่ใช่เรา

 

เมื่อมีวินาทีนี้ที่ไม่ใช่เรา มากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อเนื่องกระทั่งจิตมีความเป็นปึกแผ่น

สามารถรวมดวงได้โดยความเป็นไม่ใช่เรา

นั่นแหละ ที่สักกายทิฏฐิจะขาดจริง

 

จะไม่พูดแบบเก๋ๆ ว่า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน

เพราะของแบบนี้เป็นกำลังไม่ได้นะ

แต่ละคนต้องบิ๊ว (built) กำลังขึ้นมาเอง

 

แต่จะพูดว่าที่ทำกันอยู่แล้วนี่ .. ทำต่อไปเถอะ

เอาจริงๆ มีสิทธิ์กันทั้งนั้นแหละ ทุกคนแหละ

 

แต่ว่าสิทธิ์นั้นคุณจะได้มา หรือไม่ได้มา

ขึ้นกับ ฉันทะ ขึ้นกับความเพียรที่จะต่อเนื่องแค่ไหน

ไม่ใช่ว่ามีสิทธิ์แล้ว อย่างไรๆ ต้องได้แน่

ไม่ใช่แบบนั้นเลยนะ

 

ที่มีสิทธิ์แล้ว แล้วหลุดไปอีกเป็นพันเป็นหมื่นชาติ มีเยอะแยะ

มีให้เห็นมากมายในสังสารวัฏนี้ .. ก็เพียรกันต่อ

แล้วก็มีกำลังทั้งทายกายทางใจ เพื่อที่จะไปให้ถึงก็แล้วกัน

_____________

วิปัสสนานุบาล EP 84

วันที่ 1 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=Jj95ul2tiac

 

 

วิปัสสนานุบาล EP 83 (เกริ่นนำ) : เหตุผลที่ควรสวดมนต์ 28 ก.พ. 65

EP 83 |28 กุมภาพันธ์ 2565

 

พี่ตุลย์ : อรุณสวัสดิ์ครับ

เป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ ที่เราทุกคนได้มาเจริญสติด้วยกันนะครับ

 

ยิ่งวัน ทุกอย่างยิ่งง่ายขึ้น พอเข้าฝักแล้ว

.. เริ่มจากเข้าจุดก่อน ถ้าเริ่มที่จะฝึกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายใน

พร้อมกับหายใจออก หายใจเข้า ตามสูตรอานาปานสติ

ก็เกิดมีความสามารถขึ้นมาที่จะรู้ภายใน รู้ภายนอก

 

รู้ภายใน คือใจ

รู้ภายนอก คือ ลมหายใจ ที่ผ่านเข้าผ่านออก

.. มันผ่านจากข้างนอกเข้ามา

แล้วก็ผ่านออกไปกลับคืนสู่ความว่างเหมือนเคย

 

แล้วก็รู้ผัสสะกระทบอะไรต่างๆ

ที่ทำให้จิต ภาวะภายในแปรปรวนไปอย่างไร

ในขณะเดียวกัน ก็มีความสามารถ

ที่จะอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องกำกับสติ

เริ่มจากง่ายๆ พอเข้าจุดแล้ว เสร็จแล้วก็ถึงจุดที่จะเข้าฝัก

 

เข้าฝักคือ อะไรๆ ก็ง่าย

รู้ลมหายใจนิดหน่อย ก็เกิดความรู้สึกว่า จิตมีความใส

ใจมีความเป็นสมาธิขึ้นมา

 

แล้วเรามาเดินจงกรมกัน

เริ่มจากรู้เท้ากระทบให้มีวิตักกะ ให้ใจสงบ

มีวิจาระ จากนั้นก็เขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ

ตอนนี้ เดินจงกรมหลับตา ก็กลายเป็นเดินแบบปิดไฟ

 

อะไรๆ ก็ดูเหมือนกับแตกต่างไปเรื่อยๆ

แต่ความรู้สึกจะง่ายลง ง่ายลงๆ

 

พอความรู้สึกง่ายลง หลายๆ คนพบว่า อธิบายยากนะ

ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของเราบ้าง

 

ความยากที่จะอธิบาย ทำให้ย้อนกลับไปเห็นว่า

พระพุทธเจ้าท่านทรงเป็นผู้ฉลาด ในการจำแนกธรรมขนาดไหน

 

ที่เรามาใช้คำศัพท์ ที่เรามาใช้คำเรียก

ตั้งมุมมองให้เห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ห้า หรือธาตุหกนี่

ไม่ใช่ว่ามีใครคนใดคนหนึ่งมาคิดเอาเอง

พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติขึ้นมาทั้งนั้น

 

และการที่เรารู้ตามเห็นตามพระองค์

ก็ไม่ใช่จะสามารถมาจำแนกอธิบายได้ละเอียดลึกซึ้ง แบบที่พระองค์ทำ

 

ก็ทำให้ย้อนกลับไปเห็นได้นะครับว่า

พระองค์ทำของยาก

ให้กลายเป็นของง่ายสำหรับพวกเราไว้แล้วอย่างไร

ไม่สมควรที่ใครจะไปอวดอ้างว่า ตัวเองเข้าใจธรรม

มีความรู้ลึกซึ้งในธรรมขึ้นมา

โดยที่เป็นความสามารถของพวกเรากันเอง หรือของคนใดคนหนึ่ง

 

แต่เป็นงานที่พระศาสดาสร้างไว้ทั้งนั้น

 

เรื่องความสำคัญผิด มีมาทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องน่าหนักใจ

บางคนใช้คำว่าขันธ์ห้า

หรือใช้คำว่าอะไรที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้

แต่บอกว่าตัวเองค้นพบเอง คิดค้นเอง

ราวกับว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

หรือเป็นพระพุทธเจ้ามาเกิดใหม่เสียเอง

 

ตรงนี้ เป็นจุดที่เราน่าจะรีบทำไว้ในใจตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า

สิ่งที่เราได้มา สิ่งที่เราประสบอยู่

เป็นสมบัติที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้ให้ทั้งนั้น

 

ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมเราจึงควรสวดมนต์กันนะครับ

 

เพราะถ้าไม่สวด ไม่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

บางทีก็ลืม เหมือนลูกลืมบุญคุณของพ่อแม่

ลูกลืมบุญคุณของผู้ที่สั่งสอนเลี้ยงดูเรามา

 

ตรงที่เป็นความลืม เป็นธรรมชาติของมนุษย์

ที่ไม่ค่อยมีความสามารถในการทบทวน

 

แต่พวกเราขอให้จำไว้แม่นๆ เลยว่า

อะไรๆ ที่เราได้มา อะไรๆ ที่ได้ดิบได้ดีมา

ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญครับ

 

แล้วก็ไม่ใช่เพราะมีคนยุคนี้ได้มาสร้างสรรค์ หรือว่าริเริ่ม

หรือว่ามาปรุงแต่งอะไรในภายหลัง

แต่เป็นพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

 

ถ้าใครลืม ถ้าใครไม่ทบทวน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนสวดมนต์เป็นโอกาสนะ

ถามใจตัวเองว่าเราสวดไป

.. นี่ รู้ไหมว่า เรากำลังขอบคุณพระพุทธเจ้า ที่ท่านให้ธรรมะเรามา

 

ยิ่งธรรมะในตัวของเราเบ่งบานมากขึ้นเท่าไหร่

ยิ่งของที่ปรากฏเป็นประสบการณ์ภายในง่ายลงเท่าไหร่

ยิ่งต้องเร่งไประลึกว่า จริงๆ ไม่ใช่ง่ายนะ ไม่ใช่เจอกันได้ง่ายๆ

ถึงแม้เราจะบากบั่นพากเพียรขนาดไหน

ก็คงไม่เท่ากับที่พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญเพียร .. หกพรรษา

 

แล้วก็ไม่ใช่ง่ายนะ ไม่ใช่ด้วยความสุข

ท่านเต็มไปด้วยความทุกข์กลางป่า

อยู่คนเดียวตามลำพัง หกปี ไม่ใช่น้อยๆ

ลองนึกดูว่านานขนาดไหน

 

และการที่พวกเราได้ดีมาจากท่าน

เพียงแค่มาสวดมนต์ แล้วระลึกถึง

ถ้าทำไม่ได้ ก็ในที่สุดจะเหมือนกับอีกหลายๆ คน ที่ลืม

นึกว่าตัวเองเป็นผู้ค้นพบธรรมะ หรือว่าเอาธรรมะมาเปิดเผย

เอาธรรมะมาแจกแจง

 

พวกเราก็อย่าลืมก็แล้วกัน

 

เรามาเริ่มเช้าวันนี้จากการสวดมนต์ร่วมกันครับ

 

(สวดมนต์บทอิติปิโสร่วมกัน)

 

----------------------

(ปิดท้าย) หลายคนคิดว่าทำได้ดีแล้ว กะเกณฑ์ให้ตัวเองต้องได้ดี

แล้วก็วนเวียนกับความอยากอะไรแบบนี้

ได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา

 

พอมองย้อนไป

.. คือต้องผ่านมาจุดหนึ่งถึงจะมองย้อนไปได้ว่า

เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่สมเหตุสมผล

เป็นเรื่องของคนที่ยังกระดูกอ่อน ..

 

ไม่ได้ว่าใคร แต่จะรู้สึกจริงๆ ว่า บนเส้นทางของการเจริญสติ

เรากำลังสู้กับกิเลส .. ช่วงต้น กระดูกอ่อนกันหมด

 

ความอยากก้าวหน้า อยากเอาดี

ตัวนี้ที่ขวางตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงขั้นใกล้เส้นชัย เป็นพระอรหันต์เลย ..

ที่เราทำๆ อยู่ อยู่ในขั้นที่ต้องทำความเข้าใจมากๆ

 

ถ้าเราจะเดินแบบปลอดโปร่ง มีฉันทะจริงๆ

อย่าไปกะเกณฑ์ว่าจะเอาเมื่อนั้นเมื่อนี้

วันนี้ได้แค่นี้ พรุ่งนี้ต้องได้ขั้นนั้น

หรือ ได้สมาธินิดๆ หน่อยๆ

ก็คิดว่าต้องได้ฌาน ได้ญาณ ... แบบนี้ เหนื่อย

 

ในระยะยาว จะเหนื่อย เพราะจะวนกลับมาที่เก่า

ที่รู้สึกใจเย็นเป็นพ่อพระแม่พระ

วันดีคืนดี โวยวายเป็นแม่ค้าปากตลาด

ทำให้เรารู้สึกว่าไปไม่ถึงไหน

 

ฆราวาสคือ part-time ไม่ใช่ full-time

ไปด้วยความคงเส้นคงวา

 ดีกว่าไปตั้ง spec ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ

_____________

วิปัสสนานุบาล EP 83

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=vC_vI2zf2CY

 


วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 74 (เกริ่นนำ) : วันมาฆบูชา

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน

เป็นการอรุณสวัสดิ์ในวันพิเศษทางพุทธศาสนาในไทยนะครับ

 

ที่ต้องกล่าวว่าเป็นวันพิเศษของพุทธศาสนาในไทย ก็เพราะว่า

มาฆบูชา ไม่ได้เป็นวันพิเศษทางศาสนาของคนทั้งโลกนะ

 

และแม้ในไทยเอง ก็ขึ้นอยู่กับกษัตริย์แต่ละพระองค์

ว่าจะมีความเป็นอุปถัมภกของพระศาสนา

หรือว่าเห็นค่า เห็นความสำคัญวันใดของศาสนา

ท่านก็ตั้งเอาวันนั้น มาเป็นวันสำคัญแห่งชาติ

 

อย่างเช่น วันมาฆบูชา

จริงๆ แล้วเดิมที ไม่ได้เป็นวันสำคัญทางศาสนาในไทยนะ

แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่สี่

ท่านได้ศึกษาธรรมะ เป็นกษัตริย์ที่มีความสนใจธรรมะอย่างสูง

 

แล้วท่านก็มองว่า วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญที่อยากให้คนไทยได้จดจำ

ก็เลยตั้งเป็นวันหยุด แล้วก็เป็นวันสำคัญแห่งชาติ

ก็เลยเกิดการจดจำกันขึ้นมาว่า พุทธศาสนามีวันมาฆบูชาด้วย

 

ทีนี้ อย่างถ้าให้มองว่า วันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร?

 

ถ้าจำแค่ว่า มีพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑๒๕๐ รูป

มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

นี่ยังไม่ได้รู้อะไรเลยนะ ยังไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

 

จริงๆ แล้วพุทธศาสนาทุกพุทธกาล

ศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ มีวันมาฆบูชาแบบนี้แหละ

แต่ที่ได้ชื่อเป็นวันมาฆบูชา เพราะว่าตรงกับปฏิทินของอินเดีย

เดือนอินเดีย เป็นเดือนมาฆ

ของไทย ตามจันทรคติ ก็เป็นกุมภาฯ บ้าง มีนาฯ บ้าง อะไรแบบนี้

 

แต่ถ้าหากว่าเรามองว่าทุกพุทธกาล มีวันประชุมสงฆ์แบบนี้

เราต้องจำว่า จริงๆ แล้วนี่ เป็นวันประกาศนโยบายทางพุทธศาสนา

 

ถ้าเทียบง่ายๆ ก็เหมือนการประกาศนโยบายของบริษัททั่วไปนั่นแหละ

 

อย่างถ้าหากว่า มีคนที่ริเริ่มอยากจะทำธุรกิจ ให้ใหญ่โตระดับโลก

ก็ต้องรวบรวมเอาบุคลากรสำคัญแผนกต่างๆ มาไว้

ทั้งตัวเอง ที่เป็นประธานบริษัท

มีไอเดียจะขายสินค้าอะไร ทำธุรกิจแบบไหน

หรือจะต้องมีฝ่ายบริหารที่จะเข้าใจคน รู้จักคน

ต้องมีฝ่ายเทคนิค ผลิตสินค้า หลายอย่างมารวมตัวกัน

 

แล้วให้นโยบายว่าบริษัทจะทำธุรกิจแบบไหน

มีนโยบายว่าจะเชิงรุก หรือเชิงรับ

ที่จะขยายออกไประดับประเทศ หรือระดับโลกอย่างไร

 

หรืออย่างถ้าเปรียบเทียบให้ใกล้เคียง

เข้ามาเป็นระดับความเชื่อ หรือระดับศรัทธา

เอาในทางลบแล้วกัน จะได้เกิดความจำได้ง่ายๆ

 

อย่างบางลัทธิ บางความเชื่อบอกว่า

ถ้าใครไม่มาเชื่อแบบที่ตัวเองเชื่อ ก็ฆ่าทิ้งได้

ชีวิตไม่มีความหมาย ชีวิตเหมือนมดปลวก

ชีวิตที่มีค่า คือชีวิตที่มาเชื่อแบบที่ตนเองเชื่อเท่านั้น

 

อย่างนี้มีจริงๆ แล้วก็ถ้าประกาศนโยบายแบบนี้

โดยรวมเอาคนที่มีความรู้ความสามารถ

ที่จะสนองตอบกับนโยบายแบบนี้ได้

ก็เป็นความเดือดร้อนของคนในโลก

คนที่ตายแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ตายแบบไม่มีความผิด

ตายทั้งไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดอะไรถึงตาย

 

แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการประชุม เป็นการรวมตัวกัน

เป็นการประกาศนโยบาย ในแบบที่

จะทำให้เกิดความเดือดร้อนไม่เลือกหน้า

 

ส่วนพุทธศาสนา ..คือแรกเริ่มเดิมที พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้

เพราะพระองค์มีจุดมุ่งหมายว่า

จะให้องค์ท่านเอง เป็นบุคคลที่จะสามารถพ้นทุกข์ได้แน่นอน

แล้วก็เอาความสามารถพ้นทุกข์นี้มาประกาศ

 

ตัวนี้เป็นตัวตั้งเลย ตั้งแต่พระองค์เริ่มบรรพชา

 

ทีนี้ พอพระองค์ตรัสรู้ได้ ตรงนี้แหละที่มีความหมายขึ้นมาว่า

พระองค์จะสถาปนาพุทธศาสนาอย่างไร

ถึงจะมี brand แบบพุทธ .. brand ของคนที่สามารถพ้นทุกข์ได้

 

พระองค์ไม่สามารถที่จะทำได้ตามลำพังของพระองค์เองนะ

ต้องมีบุคคลที่เป็นพยานยืนยันว่า พระองค์พ้นทุกข์ได้จริงก่อน

แล้วเขาพ้นทุกข์ตามได้

 

ทีนี้ก็ อย่างที่รู้ๆ นะครับว่า มีพระอัญญาโกณฑัญญะ

ที่เป็นสาวกองค์แรกให้พระองค์

ว่านิพพาน มีจริง การพ้นทุกข์มีจริง

 

จากนั้น ท่านใช้เวลาเก้าเดือน .. ทั้งหมดเก้าเดือนนะ นับแต่วันตรัสรู้ สามารถที่จะโปรดบุคคลผู้ควรโปรด

ได้เป็นพระอรหันต์ มีจำนวนมากมาย

 

แต่จะมีพระอรหันต์แบบที่มี power เป็นพิเศษ

อยู่ทั้งหมดด้วยกัน ๑๒๕๐ รูป

ที่พระองค์โปรดด้วยพระองค์เองให้บรรลุอรหัตผล

แล้วก็ใช้วิธีบวช โดยบอกว่า เธอจงมาเป็นพระเถิด เธอจงมาเป็นสงฆ์เถิด ..

 

เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือบวชโดยพระองค์ท่านเอง

 

ทีนี้ ถ้ามองอย่างแบบนึกย้อนกลับไป ถ้านึกไม่ออก

นึกถึงหนังซีรีส์ หรือหนังอะไรสักเรื่องที่ออกแนวไซไฟ ลึกลับ

ที่มีคนรู้กัน โดยไม่ต้องนัดหมายเป็นคำพูด

มีจำนวนสมาชิก หรือจำนวนบุคคล มากพอ ที่จะรวมกันเป็นพลัง

เป็นปึกแผ่น ก่อตั้งพระศาสนา

ทำให้พระศาสนามีความเป็นปึกแผ่นขึ้นมาได้

 

๑๒๕๐ รูปนั้น ที่เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ และมีอภิญญาหกด้วย

ไปประชุมกัน โดยไม่ได้นัดหมายเป็นคำพูด เป็นวาจา

แต่รู้กัน ด้วยใจของผู้มีอภิญญา

 

อันนี้ต้องอาศัยความเข้าใจด้วยนะว่า ผู้มีอภิญญา ท่านสื่อถึงกันได้

หรือสามารถรับรู้ความสำคัญของวันเวลา

ที่.. อย่างบอกว่าวันนี้ เหมาะ

แล้วก็ ๑๒๕๐ รูปนั้นสามารถรู้ได้ตรงกัน

 

ทีนี้ พอมาประชุม ไม่ได้มาแค่แสดงความกตัญญู

จริงๆ แล้ว ความกตัญญูในใจของพระอรหันต์ที่มีต่อพระพุทธเจ้า

ล้นเหลืออยู่แล้ว มีทุกวันอยู่แล้ว

และอยากแสดงความกตัญญูพร้อมกันอยู่แล้ว

 

แต่ในวันนั้น จริงๆ แล้ว

สาระสำคัญที่เป็นแก่นสารสูงสุดก็คือ

พวกท่านรวมพลังกันมา เพื่อที่จะมารับฟังว่า

นโยบายของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

 

ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ให้โอวาทปาติโมกข์

คือคำสอนที่เป็นสาระสำคัญว่า พุทธศาสนา ควรให้เป็นอย่างไร

เวลาที่เหล่าอรหันต์ไปประกาศศาสนา

 

ซึ่งท่านก็บอกแนวมาว่า ให้ละบาป บำเพ็ญบุญ ทำจิตให้ผ่องใส

 

ท่านไม่ได้สอนเหล่าพระอรหันต์

เพราะเหล่าพระอรหันต์ท่านทราบอยู่แล้ว ว่าจิตผ่องใสเป็นอย่างไร

ไม่จำเป็นต้องมาละบาปอีกแล้วด้วย

 

แต่ว่าท่านประกาศเป็นนโยบายของพุทธศาสนาว่า

พุทธศาสนาควรจะมีแนวทาง มีนโยบาย การเผยแผ่พระสัทธรรม

ด้วยรูปแบบที่ว่า ให้จำว่า

 

ไม่เอาบาป ละบาปให้ได้ก่อน

แล้วค่อยทำความเข้าใจว่า จะบำเพ็ญบุญได้อย่างไร

 

เอาเครื่องขวางออกไปก่อน แล้วค่อยปูทางให้ตัวเองเดิน

จนกระทั่งถึงเป้าหมายปลายทางคือจิตที่ผ่องใส

 

แล้วท่านก็ตรัสถึงแนวทางเช่นว่า ศาสนาพุทธไม่มีการกล่าวร้าย

ถ้าศาสนาไหน สาวกหรือว่ามีสานุศิษย์ของใคร เขามาสนใจพุทธศาสนา

ก็ขอให้มาสนใจด้วยการที่เราเผยแผ่

เอาความจริง เอาจุดหมายปลายทางคือนิพพานมาเป็นตัวตั้ง

แล้วก็ค่อยๆ ไต่ลำดับไปตามความเหมาะสมแต่ละบุคคล

ว่าถ้าจะเริ่มทำความเข้าใจ

ทำความเข้าใจจากการละบาปก่อน

แล้วมาบำเพ็ญบุญ แล้วก็ทำจิตให้ผ่องใส ในขั้นสุดท้าย

 

ไม่ใช่ไปกล่าวร้าย ไม่ใช่ไปโจมตี ให้ใครเสียหาย ..

ตัวนี้ คือถ้าหากอยู่ในยุคนี้

แล้วไม่รับทราบนโยบายข้อนี้ของพระพุทธเจ้าในวันมาฆบูชา

ถือว่า ไม่ได้เอาตามพระพุทธเจ้า แล้วเหล่าสาวกที่เป็นชั้นแรก

 

คือว่า ถ้าตั้งหน้าตั้งตาประกาศหลักธรรมคำสอน

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว

แล้วก็โดยไม่โจมตีใคร ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาไปอาละวาด ฟาดวงฟาดงา

บอกว่าคนนั้นผิด คนนี้ไม่ใช่ ของเขาดีคนเดียว

อย่างนี้ ไม่ใช่นโยบายของพุทธ

 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องของการปรับความเข้าใจ

ถ้าใครเข้าใจผิด หรือใครสอนผิดทาง

อันนี้เราชี้แจงไปตามลำดับได้

แต่ไม่ใช่ เริ่มต้นขึ้นมาโจมตีก่อน อวดศักดาก่อน

อย่างนี้ ไม่ใช่นโยบาย ของพุทธศาสนานะครับ

 

วันมาฆบูชาที่แท้จริง

ก็เหมือนกับเป็นวันประกาศนโยบายของศาสนา

โดยมีเหล่าพระอรหันต์ ที่มีอภิญญาหก

แล้วก็ได้รับการบวชโดยพระพุทธเจ้า โดยตรง

มาเป็นสักขีพยาน มาประชุมกัน รับนโยบายของพระพุทธเจ้า

 

นี่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจ

 

ปัจจุบัน มาจำกันว่าเป็นวันแสดงความกตัญญูบ้าง

หรือว่าบานปลายมามีแนวคิดว่า

เป็นวันแห่งความรักทางพุทธศาสนาด้วยซ้ำ

 

ถ้าหากว่าได้ย้อนทบทวนกลับไป

ถึงเหตุปัจจัยของความสำคัญของวันนี้

ที่จะบอกว่า วันนี้ เป็นวันสำคัญอย่างไร

 

เราก็จะได้ระลึกว่า

เรากำลังทำตามที่พระพุทธเจ้าวางนโยบายไว้

ในวันที่มีการรวมหมู่ รวมเหล่า

รวมพลัง ที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา ซึ่งวันนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

เกิดได้ครั้งเดียว

วันประกาศนโยบายเกิดขึ้นได้ครั้งเดียวในพุทธกาลหนึ่งๆ

 

แต่ละพุทธกาล ก็จะมีชื่อเรียกวันสำคัญวันนี้ต่างๆ กันไป นะครับ

ไม่ใช่วันมาฆบูชาอย่างเดียว

 

มาฆ นี่เป็นเดือนของอินเดีย แล้วก็อย่างถ้าว่ากัน

วันนี้มีความสำคัญอย่างไรกับห้องวิปัสสนานุบาล

ก็คือวันที่เรามาทบทวนกันว่า สองพันกว่าปี เกือบสามพันปี

 

เราอยู่ในยุคที่มาช้า ถ้าคิดเป็นเวลา

เหมือนมาช้า ไม่ทันพระพุทธเจ้า

แต่ยังทันคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่หรือเปล่า

และที่สำคัญที่สุดคือ

เราเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติกันอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าเราแน่ใจว่า จิตเรามีความเป็นไปได้

มีความพร้อม อยู่ในทิศทางที่จะเป็นพยาน

ให้กับพระพุทธเจ้าและพระสาวก

ก็ถือว่า เป็นวันที่ดีงาม

เป็นฤกษ์งามยามดี ของห้องวิปัสสนานุบาล

________________

ไลฟ์วิปัสสนานุบาล EP 74

วันมาฆบูชา 15 กุมภาพันธ์ 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=xjJcQ-aXLDA

 

วิปัสสนานุบาล EP 81 (เกริ่นนำ) : มาตรวัดความเฉียดมรรคผล

EP 81 'มาตรวัดความเฉียดมรรคผล'

 

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน

 

เมื่อคืนพูดถึงเรื่องของความสงสัย เกี่ยวกับว่า

บรรลุมรรคผลหรือยัง เฉียดแล้วหรือยัง

 

ก็มีข้อสงสัยตามมาว่า ถ้ายังไม่เคยที่จะบรรลุ จะรู้ได้อย่างไร

ว่าเราใช่แล้วหรือยัง หรือว่าอย่างน้อยเฉียดแล้วไหม?

ที่ทำๆ อยู่ รู้สึกว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนแน่แล้ว

 

แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวขวางไว้

หรือว่าจะมาเป็นข้อจำกัด ว่ายังไม่ถึงอะไรแบบนี้

 

ก็อย่างเวลาที่พระพุทธเจ้าท่านให้สอบทาน

หรือตรวจสอบผู้ที่อ้างว่าบรรลุมรรคผลแล้ว

ซึ่งในระดับอรหัตผล ท่านก็ตรัสไว้ใน ฉวิโสธนสูตรว่า

อย่าเพิ่งไปให้คำรับรองยินดี แสดงความยินดี

หรืออย่าเพิ่งไปคัดค้าน เวลาใครมากล่าวอ้างว่าตนบรรลุธรรมแล้ว

อย่างน้อยต้องถามเขาว่า ที่บรรลุธรรมนี่

บรรลุเพราะเห็นกายใจเป็นขันธ์ห้า เป็นธาตุหก หรืออย่างไร

 

ถ้าหากว่าเราพิจารณาจากหลักเกณฑ์

ที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้เป็นแนวทาง

เราก็จะน้อมเอามาพิจารณาตัวเองได้

 

เช่น บอกว่าเราบรรลุมรรคผล หรือเฉียด ใกล้ที่จะบรรลุ

มีอะไรเป็นสัญญาณบอก มีอะไรเป็นนิมิตหมายแสดง

 

อย่างบางคน แค่มีความรู้สึกว่างๆ

มีความรู้สึกว่าเห็นกายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

ตัวนี้ ถ้าเราทำความเข้าใจว่า การเห็นแบบนี้เรียกว่า

เห็นโดยมีอนัตตสัญญา ซึ่งแม้แต่คนธรรมดาก็มีกันได้

ยกตัวอย่างเช่น อย่างคนทั่วไป ไม่เคยที่จะมีภาวะที่พิเศษพิสดาร

หรือแตกต่างจากที่รู้สึกนึกๆ คิดๆ อย่างนี้

 

วันหนึ่งไปบล็อกหลัง ความรู้สึกหายไปครึ่งตัว

เกิดประสบการณ์ ว่าตัวเราหายไป เหลือแต่ความคิด

ร่างกาย เหมือนไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ชาๆ เหมือนท่อนไม้

เหมือนไม่มีความสามารถกระดุกกระดิกได้

 

แบบนี้ก็เป็นความรู้สึกว่าไม่มีตัว ไม่มีตนแบบเดิมๆ เหมือนกัน

มีตัวตนแปลกใหม่ขึ้นมาเป็นความคิด

 

หรือถ้าใกล้ตัวเข้ามา บอกว่าเดินจงกรมไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเดินจงกรมหลับตาแล้วเห็นผลกันเร็วๆ

มีความรู้สึกเทียบธาตุดินกับธาตุดิน

แล้วรู้ชัดว่า นี่ธาตุดินเสมอกันกับธาตุดินอื่น

เป็นวัตถุที่มีความเป็นหนึ่ง ในวัตถุหลากหลายรอบด้าน

 

แล้วเกิดความรู้สึกว่าตัวเราเล็กลงมา

เหลือแต่ความคิดกระจ้อยร่อย ที่โผล่มาแวบหนึ่งแล้วหายไป

 

ถามว่า นี่ต่างจากบรรลุมรรคผลอย่างไร ก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน

 

ตรงนี้ ก็ต้องเคลียร์กันให้ชัด

 

ตอนที่เราเห็นกายใจ ถนัดชัดเจนโดยความเป็นธาตุดิน

เห็นความคิดปรุงแต่งโดยความเป็นสัญญาขันธ์ โดยความเป็นสังขารขันธ์

รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน รู้สึกเป็นสภาวะ

 

ก็เรียกว่ามีอนัตตสัญญาอีกเหมือนกัน

คือ มีความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

 

หรือพอเห็นมันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย แล้วดับหายไป

เกิดอนิจจสัญญาขึ้นมา อย่างนี้ก็น่าสงสัยอีกเหมือนกันว่า

เราบรรลุมรรคผลแล้วหรือยัง

 

ตัวนี้ เวลาที่จะดูง่ายๆ เลย

ถ้าถอดเป็นใจความแบบชาวบ้าน ใช้ภาษาชาวบ้านคือ

ถ้ายังคิด ถ้ายังรู้สึกว่า เดี๋ยวเราจะบรรลุมรรคผล

เราอยากจะบรรลุ เราจะเพียรเพื่อที่จะบรรลุมรรคผล

.. นี่ยังยึดสัญญาขันธ์ อยู่ ยึดสังขารขันธ์อยู่ โดยความเป็นตัวเรา

 

ซึ่งอันนี้ พระพุทธเจ้าให้ตรวจสอบ อย่างฉวิโสธนสูตร ท่านตรัสไว้ชัดเจน

 

ถ้าหากเห็นว่า สัญญาขันธ์ เห็นว่า สังขารขันธ์เป็นของอื่น ไม่ใช่ตัวตน

พรากออกมาได้เด็ดขาด อย่างนี้เป็นอรหัตผลจริง

ซึ่งเราก็จะสามารถสำรวจสอดส่อง สอบทาน

ในระดับที่ล่างๆ ลงมาได้ว่าตอนที่นึกว่าเราจะบรรลุมรรคผล ..

ความนึกว่าๆ นั้นมีตัวเราอยู่หรือเปล่า

 

ถ้ามีความกระเหี้ยนกระหือรือ กระตือรือร้น

อยากให้ใครรับรู้ว่า นี่เราบรรลุมรรคผลแล้ว ..

แบบนี้คือยังยึด สัญญาขันธ์ ยึด สังขารขันธ์ แน่นอน

 

หรือ ยึดในสุขเวทนาอันเกิดจากความรู้สึกว่า

จิต นิ่ง สงบราบคาบ ไม่มีความรู้สึกในตัวในตน

เสร็จแล้วพอถอนจากความรู้สึกนั้น

กลายเป็นความรู้สึกธรรมดาๆ มองย้อนกลับไป

อ้าว..นั่นบรรลุมรรคผลหรือเปล่า

 

ถ้ามีตัวเราผู้รู้สึกถึงความเป็นเวทนานั้น ว่าเราเป็นเจ้าของเวทนานั้น

คือกลับมามีความรู้สึกนึกคิดตามธรรมดา แล้วย้อนทบทวนไป

มีความรู้สึกว่า ที่ผ่านมาเมื่อกี้นี้ มีเราเป็นเจ้าของเวทนา

ที่มีความสุขสงบราบคาบ ไม่มีตัว ไม่มีตน

นี่คือยึดเวทนาที่ผ่านมาแล้วล่วงมาแล้วว่าเป็นตัวเรา นั่นคือยังไม่ได้นะ

 

เพราะถ้าบรรลุมรรคผลแล้ว และเห็นนิพพานจริง

รู้จักนิพพานที่เป็นด้านกลับ ที่เป็นอะไรอีกมิติหนึ่ง

คือมีอยู่แล้วตรงหน้าเรานี่แหละ

แต่เรามองไม่เห็นเพราะเจอกำแพงที่เป็นขันธ์ห้าบังไว้

 

ตัวสัญญาขันธ์

ตัวสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง โดยความเป็นตัวเป็นตนนี่แหละ

ตัวดีที่สุด กำแพงที่ขวางไว้หนาหนักที่สุด

 

หรือแม้กระทั่งล่อลวงให้นึกว่า นั่นเป็นการสำเร็จมรรคผล

ตัวที่เป็นตัวขวางหนาหนักที่สุด สัญญาขันธ์ กับสังขารขันธ์นี่แหละ

ไปปรุงแต่งต่างๆ นานา

 

ถ้าเรายังยึดอยู่ว่าจะมีเราบรรลุมรรคผล

พูดง่ายที่สุดก็คือนั่นเป็นสัญญาณบอกว่า ยังไม่เฉียด ยังไม่ใกล้

 

แต่ถ้าหากเราพิจารณา จะอาศัยอานาปานสติก็ตาม

อย่างเช่น พอไปถึงขั้นที่จิตมีความสุขสงบ

มีความสุขรู้ว่าหายใจออก มีความสุขรู้ว่าหายใจเข้า

เกิดความรับรู้อย่างแจ่มชัดขึ้นมาว่า

ความสุขสักแต่เป็นเวทนา เป็นความรู้สึก

เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งเป็นภาวะชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

 

ลมหายใจ เป็นธาตุลม สักว่าเป็นภาวะชนิดหนึ่ง

ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอีกเหมือนกัน

และจิตออกห่างมา มีความรู้สึกเหมือนกับว่า

การรับรู้นี้ เป็นการรับรู้ออกมาจากอีกฝั่งหนึ่ง

อีกฝั่งหนึ่งของภาวะ รู้สึกว่าภาวะที่แสดงออก เป็นความสุขก็ดี

หรือภาวะที่แสดงออกเป็นลมหายใจ เป็นสายๆ ก็ดี

เป็นสิ่งถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวใคร

 

และจิตก็เกิดความรับรู้ขึ้นมา ถึงความเป็นวิญญาณขันธ์

หรือความเป็นวิญญาณธาตุ ว่าสักแต่เป็นธรรมชาติรู้

เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และดับไปตามเหตุปัจจัยที่หมดไป

ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน

และมีความนิ่ง เป็นปกติสงบอยู่ กับความรับรู้แบบนั้น

โดยไม่มีความกระเหี้ยนกระหือรือ

ไม่รู้สึกอยากให้ตัวเองบรรลุมรรคผล

 

อันนั้น คือถอนจากความยึดจริงๆ ว่า

สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์เป็นตัวเรา

 

ภาวะที่ปรากฏ จะรู้สึกนึกคิดอย่างไรก็ตาม

มีเวทนาเป็นสุขแค่ไหน มีเวทนาเป็นทุกข์แค่ไหน

สบายหรืออึดอัดอย่างไร ไม่สน

 

สนแค่ว่า มีสติรู้ว่ามันเกิดขึ้น และมันหายไปตามเหตุปัจจัย

 

เหมือนเข้ามาอยู่ในหุ่นหลอกๆ หุ่นหนึ่ง

หรือเข้ามาอยู่ในโพรงไม้ เหมือนวิญญาณดวงหนึ่ง

ที่อยู่ๆ ผุดเกิดขึ้น และเข้ามาสิงในโพรงไม้

เกิดความรู้ เกิดปัญญาว่าโพรงไม้นี้ ไม่ใช่ตัวของมัน

 

และตัวจิตวิญญาณเองก็รู้สึกว่า ตัวเองเป็นอะไรสว่างๆ

มีความรับรู้แป๊บหนึ่งแล้วเดี๋ยวก็ดับหายไป

 

ประมาณอย่างนี้

 

ถ้าเกิดสมาธิ เห็นความเป็นอย่างนี้ได้เป็นปกติ

ไม่รู้สึกว่ามีใครจะได้บรรลุมรรคผล

ตัวนี้แหละสัญญาณบอก

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในฉวิโสธนสูตร

เวลาที่จะตรวจสอบ เวลาที่จะสอบทานใคร

หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตามว่า

มีสัญญาณบอก มีลางบอก มีนิมิตบอกไหม

ตรงนี้แหละ .. ยึด หรือ ไม่ยึด

 

และจิตมีความรับรู้แบบเสถียร หรือไม่เสถียร

 

ถ้ายังมีความกระโดกกระเดก เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็พลุ่งพล่าน

อยากบรรลุมรรคผล วันนี้ พรุ่งนี้

อันนั้นยังไม่เฉียด ยังไม่ใช่สัญญาณบอกความใกล้

 

แต่ถ้าจิตมีความสงบนิ่งราบคาบ

และมีความรู้ชัดอยู่ในกายนี้ใจนี้ นับเริ่มตั้งแต่ลมหายใจ

ไปจนกระทั่งความรู้สึกความนึกคิด หรือจิตวิญญาณ

ว่าแต่ละขณะ แต่ละสภาวะ มันแป๊บหนึ่ง ของแป๊บหนึ่ง แล้วหายไป

ไม่มีตัวใครเกาะตาม เป็นเงาติดตามไป .. นี่ ตัวนี้ที่เป็นสัญญาณบอก

 

ถ้าจิตใสใจเบา ไม่มีความอยากเอามรรคผลเพื่อใคร

และมีความพอใจ มีฉันทะที่จะเห็น

เหมือนกับเราสร้างเหตุปัจจัย ให้ภาวะเห็นภาวะไปเรื่อยๆ

ตัวนี้สัญญาณบอกที่แจ่มชัดมากๆ

 

แล้วอย่างเมื่อวานก็มีคนสงสัยว่า ผมระบุตัวเลขหกคนในปีนี้ เอาอะไรมาวัด

 

ก็ตรงนี้แหละครับ คือมีนะ คนที่โผล่ขึ้นมาแต่จริงๆ ยังไม่เสถียรทีเดียว

แต่มีสิทธิ์ อยู่ในทิศทางที่จิตจะอยู่ในสภาพที่

มีสติรู้ ประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ

สักแต่รู้สักแต่เห็น ว่ากายนี้ใจนี้แสดงความเป็นภาวะเป็นขณะๆ

ไม่มีใคร ไม่ใช่ตัวตน และเลิกคาดหวังจะเอามรรคผลมาให้ใคร

มีแต่ให้ปัญญาเดินไปจนสุดทาง

 

คือรู้ อยู่ในอาการรับรู้ว่า เดินไปอย่างนี้แล้ว

ในที่สุด จะพ้นจากอุปาทานขึ้นมา

 

อันนี้คือเท่าที่สังเกต เท่าที่รับรู้จากที่ได้สัมผัส

และเห็นด้วยตาเปล่าในไลฟ์อย่างนี้แหละ

 

และตัวเลขหกคนนี้อย่างที่เมื่อวานบอกไว้แล้ว และมาย้ำอีกที

คือเอาเท่าที่เห็นชัดๆ แต่ว่าไม่ได้บอกว่าล็อคอยู่แค่หกนี้

หรือต้องได้หกแบบนี้แน่ๆ

คือมีความเป็นไปได้สูง และ เชื่อว่าด้วยสปีดระดับนี้

ด้วยความเพียรระดับนี้ยังคงเส้นคงวาอยู่

ผมเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้

ในขันธสูตร อายตนสูตร หรือว่าธาตุสูตร

 

ท่านบอกว่า ถ้าเห็นได้เป็นปกติ ไม่มีทางตายก่อนได้โสดาบัน

และเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะนิมิตหมายบอกเลยนะ

 

จิตของคนที่ไปถึงความเสถียรที่จะเห็นได้เรื่อยๆ ว่า

กายนี้ใจนี้สักว่าเป็นขันธ์ห้า สักว่าเป็นธาตุหก

สักว่าเป็นสภาวะ ไม่มีบุคคล มีแต่รูปนาม จะฉายแววจริงๆ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความเพียร ขึ้นกับฉันทะ

อาจมากกว่าหกคนในปีนี้ปีเดียว

 

เพราะเอากันจริงๆ ข้ามเส้นแรก ไม่ได้ยากอะไรมาก

ถ้าหากทำอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางไว้เป็นขั้นๆ จริงๆ

 

และจริงๆ สี่เดือน ถือว่า ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล

พระระดับข้ามเส้นเป็นพระโสดาบัน ถือว่าช้าแล้ว

นี่พูดจริงๆ ไม่ใช่แกล้งพูดอะไรทั้งสิ้น

 

สมัยพุทธกาล พอท่านทำกัน

และมีบรรยากาศของความเป็นพระอรหันต์เยอะด้วย

อย่างที่วันมาฆบูชาพูดถึง แค่เก้าเดือน

พระพุทธเจ้าท่านผลิต พระอรหันต์อภิญญาหก ได้ถึง ๑๒๕๐ รูป

ซึ่งมีความตั้งมั่น มีพลังสว่างอย่างใหญ่

มากพอที่จะทำให้พุทธศาสนาปักหลักมั่นคงขึ้นมาได้

 

 

พอมีกระแสแบบนี้เป็นตัวตั้งเป็นตัวนำ

ไปที่ไหนก็เจอพระอรหันต์ หันไปทางซ้าย หันไปทางขวา

เต็มไปด้วยอริยบุคคล

 

คืออริยบุคคล เก้าเดือนอาจมีเป็นหมื่นๆ คน

ทั้งฝ่ายบรรพชิต ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ ฆราวาส

อาจมีโสดาบันเกลื่อน เดินไปไหนก็เจอ

หรือได้ยินว่าที่นั่นที่นี่ บ้านนั้น ถิ่นโน้น ตำบลนี้

ได้บรรลุโสดาบันกันวันไหน และพระพุทธเจ้าได้รับรองแล้ว

 

ก็เกิดความรู้สึกถึงสภาพแวดล้อม พลังแวดล้อม

ที่กระตุ้นให้จิตได้อยู่ในทิศในทาง

ที่จะเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับพระนิพพานขึ้นมา

 

ก็เลยไม่ใช่เรื่องที่เป็นเรื่องลี้ลับ หรือเกินเอื้อม พ้นยุคสมัยอะไร

เหมือนอยู่ในยุคสมัยที่เหมาะที่คนจะบรรลุธรรมกัน

 

ทีนี้ ถ้าอย่างในห้องนี้ มีความเพียรกันจริงๆ มีฉันทะกันจริงๆ

แล้วก็มีความตรงทาง จริงๆ อาจไม่ใช่แค่หกก็ได้

แต่ผมก็ไม่รู้ แปรไปตามเหตุปัจจัย ของแต่ละคน

 

ก็เรียนให้ทราบตรงๆ ว่าบางคนโผล่มาจากไหนไม่รู้

ผมก็แอบนั่งอ้าปากค้างอยู่นะ .. เออ มาจากไหน

หลายคนก็บอกว่า ซุ่มอยู่นานแล้ว ดูอยู่หลายเดือน แล้วก็ทำมาตลอด

พอได้ฤกษ์ส่งขึ้นมาก็โอเค คือ ก็อยู่ในทางที่ใช่ อยู่ในทิศในทางที่ใช่

 

ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้หรอกว่าจะกี่คนกันแน่

อย่างเมื่อวานบอกไปอย่างน้อยที่สุดหกคน ที่ผมเห็นว่ามีแวว

แล้วด้วยสปีดแบบนี้ ความเพียรอย่างนี้ ฉันทะแบบนี้

แล้วก็ฉายรัศมีออกมาแล้ว มีประมาณหกคน

 

แต่อาจมากกว่านั้น ซึ่งขึ้นกับเหตุปัจจัย ตัวแปรในจิต

หรือว่าในชีวิตของแต่ละท่านเอง

อันนี้ผมไม่สามารถที่จะไประบุเป็นตัวเลขชัดๆ ให้แน่นอนได้

รู้แต่ว่าของแบบนี้ถ้าได้ขึ้นมาสักคน

ก็จะจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวตาม

 

คือพวกเรานี่ เห็นกันมา หน้าเดิมๆ นั่นแหละ

แต่ว่าจิตไม่เหมือนเดิม จะรับรู้ด้วยกันได้ มาด้วยกัน

 

และรู้สึกถึงภาวะของตัวเองก่อน แล้วไปเทียบเคียง

เห็นว่าของเขาแตกต่างไปอย่างไร ต่างไปจากของเดิมอย่างไร

ก็จะรู้สึกได้ ถ้าคนศึกษาธรรมะมาว่า จะเอาอะไรจากพุทธศาสนา

 

เอาจิตนี่แหละ จิตที่เบาลง

จิตที่มีความสว่างใสขึ้น จิตที่ละบาป บำเพ็ญบุญ

แล้วก็ใกล้เคียงกับความบริสุทธิ์เข้าไปทุกที

 

เมื่อเห็นจากหลายๆ คน และตัวเองก็อยู่ในทางแบบนี้

ที่เน้นเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ห้า ธาตุหก

 

แล้วก็ใช่ แบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ทุกอย่าง

เราสามารถที่จะกลับไปอ้างอิง สามารถที่จะกลับไปอ่าน

สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ

แล้วก็เข้าใจ กันมากขึ้นๆ

 

ตัวนี้ ที่ไม่ต้องให้ผมบอก ท่านสามารถทราบได้

ประจักษ์ใจท่านเองอยู่แล้วว่าที่ทำๆ กันมา จริงหรือไม่จริง ถูกหรือไม่ถูก

 

และแต่ละคน แต่ละท่านที่ปรากฏในไลฟ์

ใครทำใครได้ ก็เห็นจริงๆ

ใครอุทิศเวลาให้กับตรงนี้ ที่หมายถึงการเจริญสติกับตัวเอง

ถึงแม้จะเป็นฆราวาส แต่บางคน บางวัน

เดิน สามชั่วโมงบ้าง หกชั่วโมงบ้าง

แต่บางคน เดิน สิบนาทีบ้าง ยี่สิบนาทีบ้าง

ก็ขึ้นกับว่าฉันทะ หรือความยอมใจ ให้กับการเจริญสติของแต่ละท่าน

.. มาอิจฉากันไม่ได้ มาเทียบวัดกันว่า

ใครดวงดีกว่า ใครมีใคร backup มากกว่าอะไรแบบนี้ ไม่ได้เลยจริงๆ

 

ถ้าจะอิจฉากัน อิจฉากันที่ความเพียร

เวลาที่เราได้แนวทางแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แล้วนี่นะ

อิจฉากันที่ความเพียร อิจฉากันที่ฉันทะ

ที่แต่ละคน ไม่ได้ใช้ดวง ไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียกพรสวรรค์มาจากไหน

แต่มาจากแรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่ผลักดันจากข้างใน

แต่ละคนไม่เท่ากันจริงๆ

 

แล้วก็ที่จะได้หรือไม่ได้ อย่าวางใจไว้ที่คำพยากรณ์ของใคร

ให้อาศัยใจเรานี่แหละเป็นเครื่องตัดสิน

แล้วเวลาดูของคนอื่น เทียบวัดกับคนอื่น

 

ไม่ใช่เพื่อเทียบเขาเทียบเรา แต่เพื่อเทียบขันธ์ เทียบธาตุ

ว่า ขันธ์นี้ ขันธ์โน้น ธาตุนี้ ธาตุโน้น โน้มน้อมไปในทางที่จะสงบลง

สงบจากขันธ์ สงบจากธาตุ เข้าถึงพระนิพพานธาตุ

 

อันไหนมีความโน้มเอียงมากกว่ากัน เทียบอย่างนั้น

อย่าไปเทียบเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเรา เป็นมานะ เป็นอัตตา

 

ต้องชี้แจงเพราะเดี๋ยวเรื่องนี้อาจพูดให้เป็นเรื่องธรรมดาไปเลยก็ได้

เพราะไม่อย่างนั้นจะมีควันหลงเยอะ มีข้อสงสัยติดตามมาเยอะ

จะพูดให้เป็นเรื่องปกติไปเลย เพราะเราอยู่กันมานานพอ

ที่จะพูดเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องพื้นๆ เรื่องดาดๆ เรื่องธรรมดาๆ ได้บ้างแล้ว

 

ถ้าไปพูดที่อื่น หรือใครหลงเข้ามารับรู้ มาสังเกตการณ์

มาเป็น observer อะไร ก็ขออภัยด้วยนะ

คือต้องรับผิดชอบตัวท่านเอง

รับผิดชอบกรรมและวิบากของท่านเองนะครับ

 

แต่ถ้าหากเรามาอยู่ตรงนี้ ด้วยกัน

แล้วก็มีความสนใจไปในทิศทางเดียวกัน

เราคุยกันได้ในแบบที่ เราจะอิงอาศัยประสบการณ์ตรงของแต่ละท่าน

มาชี้ มาวัดว่าจริงหรือไม่จริงนะครับ

 

________________

ไลฟ์วิปัสสนานุบาล EP 81 : มาตรวัดความเฉียดมรรคผล

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=xBqRtP2uCRQ