วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ต้องเลิกกับคนรักที่อยู่ด้วยกันมานาน เพราะกรรมหรือไม่ ควรทำดีอย่างไร เพื่อจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีก


ถ้าเรายังรักยังผูกพันกับคนรักที่อยู่ด้วยกันมานาน แต่ต้องเลิกกัน นั่นเพราะยังมีกรรมต่อกันไหม หรือจะทำอย่างไรให้กลับมาอยู่ด้วยกันด้วยความดีได้?

ดังตฤณ : ผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจคำถามถูกหรือเปล่า เอาเป็นว่า สรุปแล้วยังรักกันอยู่ นี้คือข้อหนึ่ง แต่ว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ อันนี้น่าจะเป็นอีกข้อหนึ่งนะครับ แล้วทำยังไงถึงจะมาอยู่ด้วยกันอีกได้ดีๆ

คือแต่ละคนนี่ มีปัจจัยในชีวิตแตกต่างกัน ไม่มีคำตอบตายตัวที่ฟิกซ์ (Fix) ว่าจะต้องทำอย่างนี้ ตั้งจิตอย่างนี้ หรือว่าไปสวดมนต์ขออธิษฐานอย่างนั้น ไม่มีคำตอบตายตัว ถ้าใครให้คำตอบตายตัวมาด้วยคำถามสั้นๆ แค่นี้ อาจพูดง่ายๆ ว่าเป็นทิศทาง ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่จะได้ผลเสมอไปนะครับ

ทิศทางก็คือ เราต้องรักษาความรู้สึกดีๆ ต่อกันไว้ แล้วก็พยายามใส่เหตุปัจจัยใหม่ๆ ที่จะทำให้อยู่ด้วยกัน จะเป็นแนวโน้มให้ได้กลับมาเป็นสมบัติของกันและกันอีก ถ้าหากว่าเราเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย แล้วก็ผลลัพธ์ของเหตุปัจจัยนั้น เราก็จะมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีเหตุ มีเหตุผลอยู่เป็นตัวนำหน้ามาเสมอ ไม่มีผลลัพธ์ที่ลอยขึ้นมาเอง ต้องมีเหตุ

แล้วถ้าเราสร้างเหตุในแบบที่จะทำให้ได้กลับมาใกล้กัน ได้กลับมาดีกัน แล้วต้องไม่ทึกทักเองอยู่ข้างเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายด้วย อันนี้แหละที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เราต้องการนะ

คู่ชีวิต คู่ครอง ขอให้จำไว้ว่า ไม่ได้เกิดจากการตบมือข้างเดียว ไม่ได้เกิดจากการใส่เหตุปัจจัยอยู่ข้างเดียว เกิดจากการใส่เหตุปัจจัยทั้งสองข้างพร้อมกัน ถ้าหากว่าทั้งสองข้างนั้น ใส่เหตุปัจจัยด้านดี ด้านที่เป็นกุศลมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดสาย ในที่สุด แรงผลักที่ทำให้คู่ของเราต้องแยกออกห่าง ก็จะค่อยๆ ลดกำลังผลักลง แล้วเกิดแรงดึงดูดใหม่กลับมาหากันอีกได้ในที่สุดนะครับ
!

----------------------
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สติในการรู้โลกตามจริง

9.2.2019

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

คู่เวรจะพัฒนาเป็นคู่บุญได้อย่างไร ถ้าฝ่ายนึงสนใจธรรมะมาก ส่วนอีกฝ่าย ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้สนใจ


ดังตฤณ: อย่าเพิ่งไปคิดถึงคำว่า คู่บุญ อะไรเลยนะ เอาเป็นว่า ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต เราเคยสนใจธรรมะได้อย่างไร ทบทวนดู เริ่มจากไม่รู้อะไรเลย เราเกิดความรู้สึกเลื่อมใสมาได้ยังไง
ทบทวนดู มีประโยชน์ตรงที่ว่า เราจะได้เกิดความเข้าใจ คนที่เขายังไม่เลื่อมใส คนที่เขายังไม่เข้าใจ บางทีต้องรอเวลา บางทีต้องรอเหตุการณ์นะ... คือเหตุการณ์นั้น ไม่ใช่ความอยากของคุณ

ความอยากของคุณเกิดขึ้นในวันที่คุณอยาก แล้วเขาอาจยังไม่พร้อมก็ได้ ถ้าเขาไม่พร้อมแต่คุณอยาก เหมือนเอาหลาวทองไปเสียบอกเขาน่ะ มันเป็นทองคำ แต่มันเสียบอกเขา เขาปวดแสบปวดร้อน เขาไม่ได้ดิบได้ดี หัวใจก็ไม่ได้ฟ่องฟูขึ้นมานะ

แต่ถ้าหากว่า คุณรอจังหวะ จังหวะที่เขามีความทุกข์แบบโลกๆ จังหวะที่เขามีความฟุ้งซ่าน จังหวะที่เขามีความเครียด แล้วคุณเอาเสียงเย็นๆของคุณเข้าไปพูด ไม่ต้องพูดธรรมะขึ้นมาแบบ เขาเรียกแหวกหญ้าให้งูตื่น
เอาแบบที่ว่า พูดธรรมดา พูดปกติ พูดให้กำลังใจ แล้วถ้ากำลังของคุณ สามารถทำให้ใจเขาดีขึ้นได้ มีความสุขขึ้นได้ ตรงนี้แหละ หลักฐานธรรมะของคุณ

เวลาถ่ายทอดธรรมะให้มือใหม่ อย่าเอาเป็นคำพูด ให้เอาเป็นกำลังใจ ให้ดูกำลังใจของตัวเองว่าสามารถเย็นได้ไหม สามารถที่จะสว่างได้ไหม สามารถให้ความอบอุ่นกับคนใกล้ตัวได้ไหม ถ้าคุณมั่นใจว่า ธรรมะอยู่ในตัวคุณจริง มีความอบอุ่นมีความสว่างจริง ตรงนั้นแหละ จุดเริ่มต้น

คุณจะเห็นช่องขึ้นมาเอง ในวันเวลาที่อยู่กับเขา ต้องมีแน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเป็นคู่กัน คู่ครอง ต้องมีออกอาการ ขมวดคิ้วนิ่วหน้าให้เห็น เกิดอาการที่ขัดอกขัดใจ อะไรต่างๆ แล้วถ้าสามารถที่จะเอาความสว่าง ความอบอุ่นของคุณที่เป็นธรรมะของจริง ไปมอบให้กับเขาได้ ไปแทนที่หน้านิ่วคิ้วขมวดของเขาได้ ตรงนั้นแหละ คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ที่เขาจะเริ่มต้นหันมาทางธรรมะ

เวลาที่ใจเรานี่เปิด จะมีความสุขมากขึ้น ที่มีความสุขมากขึ้นจากการที่เป็นทุกข์น้อยลง หรือว่าดับทุกข์ของตัวเองได้ ตอนนั้นใจจะเริ่มเปิด แล้วเวลาพูดอะไรไป จะฟังหมด

เวลาเริ่มต้นอะไรเกี่ยวกับธรรมะนี่ ขอให้เริ่มสั้นๆ อย่ายาวมาก เพราะจะจำไม่ได้ เอาแค่อะไรที่สั้นๆ แล้วสามารถจำได้ แน่ใจว่าจำได้ในประโยคเดียว ตัวนี้แหละคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง อย่าเพิ่งไปคิดถึงคู่บาปคู่บุญนะ คิดถึงว่าเราจะทำให้ตัวเองย้อนกลับไปเป็นคนที่ไม่เข้าใจธรรมะ เพื่อให้นึกออก จำได้ว่าคนที่เป็นคู่เรา เขาจะเริ่มมีธรรมะขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของเราได้อย่างไรนะครับ!


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อานิสงส์ของการสร้างพระ 23.2.2019

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วิหารธรรมช่วงขาลงของการปฏิบัติ



รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน บุญกรรมใดช่วยให้บรรลุมรรคผลในชาตินี้
วันที่ 21 เมษายน 2561
.. .. .. .. .. ..


ดังตฤณ : สำหรับ “วิหารธรรม” หรือว่า “เครื่องอยู่” ที่พระพุทธเจ้าคะยั้นคะยอให้คนได้ยึดเป็นที่พึ่งกันจริงๆ คือ “ลมหายใจ”
แต่ว่า คน ... พอพูดถึงลมหายใจปุ๊บ จะเบือนหน้าหนี เพราะว่าพอดูลมหายใจเข้าไปทีไร อึดอัดทุกทีนะครับ
.
ผมเคยให้คำแนะนำไว้ว่า เราตั้งความคาดหวังไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนขาลงนะ ที่ถามกันมากที่สุด ... ทำยังไงถึงจะ 
กู้ จิตคืนกลับสู่สภาพดีๆ แบบเดิมๆ ได้ เพราะมันลงแล้ว มักจะลงยาว
.
เสร็จแล้วพอได้รับคำแนะนำ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคยแนะนำ บอกให้อาศัย 
“อานาปานสติ” หรือว่าลมหายใจเป็นเครื่องช่วยพยุง คนส่วนใหญ่จะเบือนหน้าหนีกัน เพราะว่า หลับตาลงดูลมหายใจทีไร เกิดความอึดอัด เกิดความทุกข์ เกิดความรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ทุกที ยิ่งทรมานใจหนักขึ้นไปอีก
.
ผมเคยให้คำแนะนำไปว่า แทนที่เราจะตั้งความคาดหวังไว้ว่า หลับตาดูลมหายใจแล้วเราจะมีความสุข เราจะมีสมาธิ ความฟุ้งซ่านจะหายไป ให้เปลี่ยนใหม่ ... เปลี่ยนเป็นว่า ตั้งความคาดหวังไว้ เริ่มต้นขึ้นมานี่ จะมีความอึดอัด จะมีความทรมาน จะมีความ ไม่เห็นอะไรเลย มันจะมีแต่ความรู้สึกมืด
.
พอเราตั้งความคาดหวังไว้อย่างถูกต้องนะ ว่าจะได้เจอสิ่งที่ไม่ดี แล้วเจอสิ่งที่ไม่ดีจริงๆ จะสมหวังขึ้นมานิดๆ ... เออ เริ่มต้นขึ้นมาเป็นอย่างที่คิดเลย มันอึดอัด มันดูลมหายใจไม่ออกนะ แต่ให้มีความเข้าใจในขั้นต่อไปว่า พอดูไปสักสองสามครั้ง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการมืด อาการอึดอัด อาการรู้สึกทรมานใจ จะดีขึ้นนิดหนึ่ง ณ ลมหายใจที่สอง สาม หรือสี่
.
พอตั้งความคาดหวังไว้อย่างนี้ แล้วไปเจอภาวะนั้นจริงๆด้วย คือ หลับตาขึ้นมา (หายใจ) ครั้งแรกอึดอัด ครั้งที่สองก็อึดอัดอีก เพราะมันเร่งลมหายใจนะ ไปจับ ไปยึดว่า อยากจะหายฟุ้งซ่าน อยากจะสงบ ลมหายใจที่สาม เอาอีก อึดอัดอีก สี่ ห้า หก เอ้า คราวนี้พอหายใจเป็นปกติ ชักสบายขึ้น นี่มันสมคาดอีกแล้ว สมหวังอีกแล้ว ได้เห็นความรู้สึกว่า ยิ่งหายใจ ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลง ยิ่งเห็นความไม่เที่ยง ตัวนี้แหละ ความยึดติดว่าจะต้องสงบ ความยึดติดว่าจะต้องหายฟุ้งซ่าน จะเริ่มคลายตัวไป
.
กลายเป็นความรู้สึกว่า มีสติได้ สติเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คือภาวะฟุ้งซ่าน ค่อยๆ แสดงความไม่เที่ยงให้ดู เห็นความอึดอัด เห็นความรู้สึกไม่ชอบลมหายใจ ค่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ อาจมีลมหายใจหนึ่ง ที่คลายหมดแล้ว คลายเนื้อคลายตัว เท้าก็คลาย มือก็คลาย หน้าก็คลาย กลายเป็นความรู้สึกว่า ลมหายใจนี้ ดูได้ ดูว่ากำลังหายใจเข้า หรือว่าหายใจออกอยู่ ดูว่าที่หายใจ หายใจด้วยความทุกข์นี่ หายใจสั้นๆ หรือบางที หายใจยาวเกินไป ยาวจนกระทั่งอึดอัด เห็นเหตุ เห็นผลของลมหายใจที่ไม่สบาย
.
ในที่สุด สตินั่นแหละ ทำให้มันคลาย มันสบายไปทั้งตัว แล้วก็กลายเป็นความรู้สึกว่า หายใจได้ยาวขึ้น หายใจยาว แบบที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง มาเค้น มาคั้น นี่แหละ วิหารธรรมของการปฏิบัติช่วงลงที่ดี
.
พูดง่ายๆนะ อย่าเอาแต่ลมหายใจ ... เอาความคาดหวังที่ถูกต้องด้วย ... คาดหวังว่าขึ้นต้นมา เราจะเห็นความอึดอัด เราจะเห็นความอึดอัดไปช่วงหนึ่ง กว่าที่จะเริ่มเห็นลมหายใจแห่งความสบาย เห็นร่างกายที่ผ่อนคลาย แตกต่างไปจากเดิม นี่คือการเห็น “ความไม่เที่ยง” ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนะครับ!