วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วิหารธรรมช่วงขาลงของการปฏิบัติ



รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน บุญกรรมใดช่วยให้บรรลุมรรคผลในชาตินี้
วันที่ 21 เมษายน 2561
.. .. .. .. .. ..


ดังตฤณ : สำหรับ “วิหารธรรม” หรือว่า “เครื่องอยู่” ที่พระพุทธเจ้าคะยั้นคะยอให้คนได้ยึดเป็นที่พึ่งกันจริงๆ คือ “ลมหายใจ”
แต่ว่า คน ... พอพูดถึงลมหายใจปุ๊บ จะเบือนหน้าหนี เพราะว่าพอดูลมหายใจเข้าไปทีไร อึดอัดทุกทีนะครับ
.
ผมเคยให้คำแนะนำไว้ว่า เราตั้งความคาดหวังไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนขาลงนะ ที่ถามกันมากที่สุด ... ทำยังไงถึงจะ 
กู้ จิตคืนกลับสู่สภาพดีๆ แบบเดิมๆ ได้ เพราะมันลงแล้ว มักจะลงยาว
.
เสร็จแล้วพอได้รับคำแนะนำ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคยแนะนำ บอกให้อาศัย 
“อานาปานสติ” หรือว่าลมหายใจเป็นเครื่องช่วยพยุง คนส่วนใหญ่จะเบือนหน้าหนีกัน เพราะว่า หลับตาลงดูลมหายใจทีไร เกิดความอึดอัด เกิดความทุกข์ เกิดความรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ทุกที ยิ่งทรมานใจหนักขึ้นไปอีก
.
ผมเคยให้คำแนะนำไปว่า แทนที่เราจะตั้งความคาดหวังไว้ว่า หลับตาดูลมหายใจแล้วเราจะมีความสุข เราจะมีสมาธิ ความฟุ้งซ่านจะหายไป ให้เปลี่ยนใหม่ ... เปลี่ยนเป็นว่า ตั้งความคาดหวังไว้ เริ่มต้นขึ้นมานี่ จะมีความอึดอัด จะมีความทรมาน จะมีความ ไม่เห็นอะไรเลย มันจะมีแต่ความรู้สึกมืด
.
พอเราตั้งความคาดหวังไว้อย่างถูกต้องนะ ว่าจะได้เจอสิ่งที่ไม่ดี แล้วเจอสิ่งที่ไม่ดีจริงๆ จะสมหวังขึ้นมานิดๆ ... เออ เริ่มต้นขึ้นมาเป็นอย่างที่คิดเลย มันอึดอัด มันดูลมหายใจไม่ออกนะ แต่ให้มีความเข้าใจในขั้นต่อไปว่า พอดูไปสักสองสามครั้ง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการมืด อาการอึดอัด อาการรู้สึกทรมานใจ จะดีขึ้นนิดหนึ่ง ณ ลมหายใจที่สอง สาม หรือสี่
.
พอตั้งความคาดหวังไว้อย่างนี้ แล้วไปเจอภาวะนั้นจริงๆด้วย คือ หลับตาขึ้นมา (หายใจ) ครั้งแรกอึดอัด ครั้งที่สองก็อึดอัดอีก เพราะมันเร่งลมหายใจนะ ไปจับ ไปยึดว่า อยากจะหายฟุ้งซ่าน อยากจะสงบ ลมหายใจที่สาม เอาอีก อึดอัดอีก สี่ ห้า หก เอ้า คราวนี้พอหายใจเป็นปกติ ชักสบายขึ้น นี่มันสมคาดอีกแล้ว สมหวังอีกแล้ว ได้เห็นความรู้สึกว่า ยิ่งหายใจ ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลง ยิ่งเห็นความไม่เที่ยง ตัวนี้แหละ ความยึดติดว่าจะต้องสงบ ความยึดติดว่าจะต้องหายฟุ้งซ่าน จะเริ่มคลายตัวไป
.
กลายเป็นความรู้สึกว่า มีสติได้ สติเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คือภาวะฟุ้งซ่าน ค่อยๆ แสดงความไม่เที่ยงให้ดู เห็นความอึดอัด เห็นความรู้สึกไม่ชอบลมหายใจ ค่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ อาจมีลมหายใจหนึ่ง ที่คลายหมดแล้ว คลายเนื้อคลายตัว เท้าก็คลาย มือก็คลาย หน้าก็คลาย กลายเป็นความรู้สึกว่า ลมหายใจนี้ ดูได้ ดูว่ากำลังหายใจเข้า หรือว่าหายใจออกอยู่ ดูว่าที่หายใจ หายใจด้วยความทุกข์นี่ หายใจสั้นๆ หรือบางที หายใจยาวเกินไป ยาวจนกระทั่งอึดอัด เห็นเหตุ เห็นผลของลมหายใจที่ไม่สบาย
.
ในที่สุด สตินั่นแหละ ทำให้มันคลาย มันสบายไปทั้งตัว แล้วก็กลายเป็นความรู้สึกว่า หายใจได้ยาวขึ้น หายใจยาว แบบที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง มาเค้น มาคั้น นี่แหละ วิหารธรรมของการปฏิบัติช่วงลงที่ดี
.
พูดง่ายๆนะ อย่าเอาแต่ลมหายใจ ... เอาความคาดหวังที่ถูกต้องด้วย ... คาดหวังว่าขึ้นต้นมา เราจะเห็นความอึดอัด เราจะเห็นความอึดอัดไปช่วงหนึ่ง กว่าที่จะเริ่มเห็นลมหายใจแห่งความสบาย เห็นร่างกายที่ผ่อนคลาย แตกต่างไปจากเดิม นี่คือการเห็น “ความไม่เที่ยง” ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนะครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น