วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

ดังตฤณ :  สำหรับคืนนี้มาปิดท้ายรายการด้วยการสวดมนต์กันอย่างเคยนะครับ เราจะมีเทคโนโลยีทางเสียงมาช่วยให้สวดมนต์ได้แบบไม่วอกแวก ต้องใช้หูฟังนะครับ แอล(L)เข้าซ้าย อาร์(R)เข้าขวา ต้องแม่นเรื่องข้างของหูฟังด้วยนะครับ เรามาเริ่มกันเลย

                                               คุณดังตฤณนำสวดมนต์
                             โดยอัญเชิญ พระบูรณพุทธ เป็นพระประธาน
                                        และใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์ 




ก็ผ่านไปนะครับสำหรับค่ำคืนของการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ว่าด้วยเรื่องของความล้มเหลวทางสมาธิว่ามันมีเหตุมาจากอะไร แล้วถ้าหากว่าทำสมาธิได้ ทำสมาธิเป็นด้วยเหตุผลที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นหลักเป็นพื้น เป็นความเชื่อมั่นว่าเรามาถูกทางแล้วได้ อันนี้ก็จะพัฒนาต่อยอดไปให้คุ้มกับชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตได้

สำหรับคืนนี้ผมขอร่ำลาไปก่อน ถ้าสัปดาห์หน้าว่างพร้อมกันว่างตรงกัน เรามาพบกันในรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืนวันเสาร์ ๓ ทุ่ม สำหรับคืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ

--------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

ช่วง     : สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

ระยะเวลาคลิป    ๓.๕๔ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=IrPMOT9AVDs&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=11&t=9s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เวลาทำงานบ้านจะสวดมนต์ในใจ บางครั้งก็หลุด พอนึกขึ้นมาได้ก็สวดมนต์ในใจใหม่ อย่างนี้เรียกว่าทำสมาธิภาวนาหรือไม่?

 ดังตฤณ :  เป็นการกำกับสติไม่ให้หลุดไปกับความฟุ้งซ่าน มันก็ดีนะครับ แต่ทีนี้จะนับเป็นสมาธิมั้ย จะเป็นสมถะหรือยัง ก็ขึ้นอยู่กับว่า ความสงบใจของเรามีอยู่แค่ไหน

บางคนไม่ได้บริกรรมไม่ได้นึกอะไรทั้งสิ้น แต่รู้สึกถึงจิตที่มันสงบ แล้วก็วาง ว่าง ไม่เอาอะไร แล้วก็ไม่มีความยุกยิก เห็นอยู่แค่นั้นก็เรียกว่า เป็นสมถะชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพราะอะไร?

เพราะพอเราเห็นจิตที่สงบว่างๆไปเรื่อยๆโดยมีสติรู้ตามจริง ตอนที่มันเริ่มเคลื่อนออกมาจากความว่าง เริ่มไม่สงบ เริ่มมีความจะเอาโน่นเอานี่ สามารถเห็นข้อแตกต่างได้ว่า จิตที่สงบมันเคลื่อนไปแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว มันต่างไปแล้วนะครับ ตรงนี้แหละที่เรียกว่าสมถะของจริง

สมถะนะ จำไว้นะ สมถะไม่ใช่ความสงบอย่างเดียวนะครับ และต้องเป็นสงบพร้อมที่จะรู้แบบวิปัสสนาด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในพุทธศาสนา

จริงๆที่พระพุทธเจ้าสอนโดยความหมายโดยนัยยะ สมถะของพระพุทธเจ้ามีความหมายว่า เป็นความสงบแห่งใจ สงบจากกิเลสจรแบบที่พร้อมจะยกขึ้นเป็นวิปัสสนา แบบที่พร้อมจะรู้อะไรตามจริงว่าสิ่งที่กำลังอยู่ในขอบเขตของกายของใจนี้ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงที่ตอนไหน หรือว่ามันต่อยอดไป รู้ รู้ รู้ ไปจนกระทั่งถึงจุดสรุปหรือเปล่าว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ถ้าหากว่าต่อยอดไปถึงจุดนั้นได้ อันนั้นถึงจะเรียกว่าเป็นสมถะแบบพร้อมรู้นะครับ แต่ถ้าต่อยอดไปทางนั้นไม่ได้ ยังไม่ใช่สมถะนะ ไม่ใช่สมถะแบบพุทธนะครับ

--------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : เวลาทำงานบ้านจะสวดมนต์ในใจ บางครั้งก็หลุด พอนึกขึ้นมาได้ก็สวดมนต์ในใจใหม่ อย่างนี้เรียกว่าทำสมาธิภาวนาหรือไม่?

ระยะเวลาคลิป    ๒.๑๒  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=i-O0fTwn-9c&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=7&t=1s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

สติมาจากไหน?

ดังตฤณ :  สติมาจากไหน? มาจากการตั้งจิตไว้ ถ้าคนเราไม่ตั้งจิตไว้ สติไม่มีทางมานะครับ ถ้าปล่อยจิตปล่อยใจ สติไม่มีทางเกิดขึ้นเอง

ถ้าใครจะบอกว่าสติเกิดขึ้นเอง ด้วยสำนวนโวหาร หรือวิธีไหนก็แล้วแต่ ผมไม่เห็นด้วยนะครับ แล้วก็ที่สำคัญเลย วิธีการเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนอย่างมีขั้นมีตอนชัดเจน เอาบรรทัดฐานเป็นการรู้ลมหายใจ ถ้ารู้ลมหายใจได้ถูกต้องว่าขณะนี้หายใจเข้า ขณะนี้หายใจออกอยู่ พระองค์ถือว่าขณะนั้นมีสติ เพราะอะไร?

คุณไปเปิดดูในอานาปานสตินะครับ อานาปานสติสูตร พระพุทธองค์สอนว่า มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า นี่คือก้าวแรกของวิธีเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับ

สติไม่เกิดเอง ต้องเกิดจาการกำหนดไว้ว่า เราจะรู้อะไร แล้วต้องรู้ตรงตามจริงด้วยนะครับ

มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการรู้ลมหายใจ เพราะมันชัดเจนว่าคุณรู้ถูกอยู่หรือเปล่า ถ้าไปรู้ว่าตัวเองกำลังสุข หรือว่ากำลังทุกข์ บางทีนะ คนเนี่ยสงสัยว่า ตอนนี้กำลังรู้สึกยังไงกันแน่ มันครึ่งสุขครึ่งทุกข์ยังไงบอกไม่ถูก หรือบอกว่าจิตสงบหรือฟุ้งซ่าน บางทีตอบไม่ถูก มันแบบครือๆครึ่งๆกลางๆยังไงชอบกล

แต่อย่างลมหายใจมันไม่ต้องสงสัยนะครับ ถ้าคุณรู้ไม่ตรงตามจริงว่า ขณะนั้นคุณกำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก เนี่ยผิดแน่นอนเลยนะ ไม่มีสติแน่นอนเลยนะครับ 

---------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : สติมาจากไหน?

ระยะเวลาคลิป    ๒.๐๒  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=Br0XW61ds80&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=8&t=4s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

นั่งสมาธิเห็นร่างกายยุบพอง เห็นจิตที่เกิดและดับ เห็นทั้งรูปและนามเป็นส่วนๆ ควรพิจารณาอะไรต่อ หรือจะพิจารณาความไม่เที่ยงต่อไป?

 ดังตฤณ :  ถ้ามาถึงตรงนั้นจริง คือเห็นกายเดี๋ยวพองเดี๋ยวยุบตามจังหวะลมหายใจเข้า-ออก แล้วก็จิตมีความสงบบ้าง มีความฟุ้งบ้าง หรือว่าคิดไปเรื่องหนึ่ง แล้วมันก็ดับกลายเป็นเงียบจากความคิด เห็นอยู่แค่นี้ ไม่ต้องไปเห็นอะไรอย่างอื่น

จำไว้คำเดียวเลยให้เป็นคีย์เวิร์ดนะครับ ก็คือ ภาวะใดกำลังปรากฏเด่นอยู่ ให้ดูภาวะนั้นก่อน อย่าไปดูภาวะอื่น อย่างเช่น เห็นลมหายใจ ก็ดูลมหายใจ เห็นท้องพองยุบ ก็ดูท้องพองยุบ เห็นจิตเกิดดับ เห็นความคิดเปลี่ยนจากฟุ้งแล้วกลายเป็นสงบเงียบหายไป ก็ดู ดูเฉพาะตรงที่มันกำลังแสดงให้ดู ถือว่าร่างกายกับจิตใจมันกำลังอยากจะให้เราดูอะไร เราก็ดูอันนั้นอย่าไปดูอย่างอื่น เพราะอะไร?  

เพราะเมื่อเราดูในสิ่งที่มันกำลังแสดงอยู่อย่างชัดเจน เราจะมีสติรู้ตามจริงว่า สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ดับไป สิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป ถ้าเรามัวสงสัย หรือว่าอยากจะให้มันมีความก้าวหน้า อยากจะทำอะไรขึ้นมาให้พิเศษไปกว่านั้น มันเป็นเรื่องของตัณหา เป็นภวตัณหานะครับ อยากได้ อยากมี อยากดี อยากเป็น ไม่ใช่การที่จะทำให้สติเจริญขึ้น ไม่ใช่จะทำให้จิตปล่อยวาง

จิตจะปล่อยวาง หรือเข้าสู่การตรัสรู้ธรรม มีทางเดียวคือ ทำให้มันมีสติเห็นตามจริง จนกระทั่งเกิดอุเบกขาธรรม

อุเบกขาขั้นสูง คือ จิตมีความ รู้ ตื่น แล้วก็วางเฉย กับสิ่งที่ กำลังเห็น สิ่งที่กำลังรู้

ถ้าหากว่ารู้ตื่นเสร็จแล้วไม่อุเบกขา ยังอยากที่จะก้าวหน้าต่อ ความอยากนั้นจะไปแสวงหาสิ่งที่มันไม่อยู่จริงมาดูมารู้ นี่! ตรงนี้คลาดเคลื่อนแล้ว ตรงนี้ผิดแล้ว ตรงนี้แหละที่มันเป็นเรื่องของการหลงกลับเข้ามาในกระแสโลก 

ที่จะเจริญขึ้นเข้าสู่กระแสโลกุตรธรรม อันนั้นจิตจะวางอย่างรู้ ไม่ใช่วางเฉยแบบดูดาย หรือว่าไม่รู้ไม่ชี้นะครับ วางอย่างรู้ว่ากำลังมีสิ่งใดปรากฏชัดอยู่ให้เรารู้ได้ แล้วสิ่งนั้นตั้งอยู่นานเพียงใด ก่อนที่มันจะเสื่อมสลายหายไป 

ด้วยอาการรู้ ด้วยอาการที่ใจไม่เอาอะไรเลย คือด้วยความรู้สึกว่างภายในที่มันไม่อยากเอา ตัวตั้งของการรับรู้มันตั้งออกมาจากความรู้สึกไม่อยากเอาอะไรมาเป็นตัว ไม่อยากเอาอะไรมาเป็นอุปาทาน ตัวนั้นแหละ ที่มันจะเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง สมาธิแบบโลกุตระ ไม่ใช่สมาธิแบบโลกียะ

---------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : นั่งสมาธิเห็นร่างกายยุบพอง เห็นจิตที่เกิดและดับ เห็นทั้งรูปและนามเป็นส่วนๆ ควรพิจารณาอะไรต่อ หรือจะพิจารณาความไม่เที่ยงต่อไป?

ระยะเวลาคลิป    ๓.๓๗  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=fK71Rh9vFOA&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=1

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

จัดการกับความคิดเรายังไงดีคะ มันฟุ้งมาก

 ดังตฤณ :  มันจะไม่ฟุ้งได้ยังไง คนสมัยนี้โดนแม่เหล็กขนาดยักษ์ที่ตัวเล็กนิดเดียว คือโทรศัพท์มือถือที่เราพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ คุณดูมันอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีทางที่ใจมันจะอยู่กับร่องกับรอยได้ มันจะต้องถูกปรุงแต่งไปตามความไหลของข้อมูลในมือถือตลอด เพราะพอสมองเราถูกเทรน (train)ให้เคยชินกับการยกโทรศัพท์มือถือดู หรือถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ดูคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่น่าตื่นเต้นทำให้จิตมีความตื่นตัวในแบบกิเลส กิเลส มันจะปรุงแต่งจิตของเราให้มันฟุ้งยุ่งอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนยุคเรานะครับ

ถ้าอยากจะจัดการกับความคิดให้ได้ ก็หมั่นสำรวจนะครับว่า มีอะไรบ้างในระหว่างวัน เอาชีวิตจริงๆของคุณ เอาเฉพาะตัวคุณเลยก็ได้ว่า มีเหตุกระตุ้นใดบ้าง ที่คุณมีความฟุ้งยุ่งไปกับมันได้ง่าย แล้วก็ติดใจที่จะฟุ้งยุ่งแบบนั้นอยู่เรื่อยๆ ถ้าคุณสำรวจพบความติดใจของตัวเองว่ามาจากเหตุใดได้ อันนั้นก็คือพบต้นตอของความยุ่งทางความคิดที่จัดการได้ยากนี่แหละ พอพบแล้วคุณจะเอายังไงกับมัน แน่นอนถ้าบอกว่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า ตัดมันออกจากชีวิตทิ้งไปเลย คนกรุงเทพ คนในเมืองไทย หรือคนในโลก คนในเมืองใหญ่ทั้งหลายทำกันไม่ได้หรอก

เพราะฉะนั้นเราค่อยๆปรับ เราค่อยๆทำให้มันชะลอตัวลง หรือว่าเบาบางลง ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะเข้าแต่เวบ(website)ที่มันมีความร้อนแรง ก็รู้จักเข้าเวบที่มันเย็นๆบ้าง อ่านธรรมะ มาสนใจเรื่องอุบายทำสมาธิ อุบายเจริญสติอะไรต่างๆ แล้วถูกจริตกับแง่ไหนมุมใด ก็เอาแง่นั้นมุมนั้นไปปฏิบัติเดี๋ยวนั้นเลย คืออย่ารอเวลา เนี่ย!อันนี้แค่ยกตัวอย่างนะ คือเปลี่ยนจากร้อนแรงสุดๆ เป็นเยือกเย็นลงบ้าง ก็ทำให้มอเตอร์ที่มันจะหมุนปั่นไปในทางที่ฟุ้งยุ่งเตลิด มันชะลอตัวลงบ้าง มันลดระดับ ลดสปีด(speed)ลดความแรงลงบ้าง พูดง่ายๆใช้สิ่งที่คุณติดมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่มันจะทำให้ใจของคุณสงบเย็นลง คิดน้อยลงนะครับ

---------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : จัดการกับความคิดเรายังไงดีคะ มันฟุ้งมาก

ระยะเวลาคลิป    ๓.๒๒  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=_0ZuCDAZ9KI&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=3&t=13s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

เวลาหลับฝัน ไม่สามารถรับรู้จิตได้เลย ต้องปล่อยใจไปกับความฝัน จิตตั้งมั่นไม่ได้เลย

 ดังตฤณ :  เป็นธรรมดาครับเป็นมนุษย์ปุถุชน ที่จะหลับฝันเอาสติไปเจริญไม่ได้หรอก ยกเว้นมีความรู้วิธีว่าจะตื่นขึ้นมาในฝันได้อย่างไร อย่างเช่นที่เมืองนอกเขาทำกัน ก็ซ้อมยกมือขึ้นมาดูลายมือบ่อยๆว่าตอนนี้เราหลับอยู่ หรือตื่นอยู่

ถ้าหากว่าตื่นอยู่เส้นลายมือมันจะชัด แต่ถ้าฝันอยู่เส้นลายมือมันจะโยกโย้ มันจะโย้เย้ไป โย้เย้มา ไม่สามารถคงรูปได้ เนี่ยตัวนี้เหมือนกับถ้าหลับไปด้วยความใส่ใจ ถามตัวเองอยู่อย่างนี้ มันจะมีอยู่ฝันหนึ่งที่คุณยกมือขึ้นมาแล้ว อ้าว! ตอนนี้เรากำลังฝันอยู่ หรือว่าพอเห็นว่าลายมือมันโย้เย้ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้นิ่งๆ ก็รู้ตัวแล้วว่ากำลังฝันอยู่

แล้วพอฝันอยู่ แล้วจะทำอะไรต่อ ทำแบบโลกๆ หรือว่าเอามาปฏิบัติธรรมทำสมาธิในฝัน มันก็เป็นทางเลือก แล้วคนส่วนใหญ่เลือกเอาแบบโลกๆ พอรู้ตัวว่าฝัน ก็บินบ้าง หรือว่าไปจู๋จี๋กับเพศตรงข้างบ้างอะไรต่างๆ มันก็จะออกมาแบบว่ามีสติในฝันแบบตามใจกิเลส

แต่ถ้าคนที่ฝึกเอาจริงเอาจัง บอกว่าอยากจะฝึกสมาธิแม้แต่ในขณะหลับ ก็อาจจะมานั่งดูลมหายใจ ซึ่งในฝันมันก็มีลมหายใจได้ แล้วก็มีลมหายในที่พิเศษกว่าปกติกว่าธรรมดาด้วย เช่น ยืดยาวกว่าธรรมดา หรือว่าเนื้อตัวดูโป่งดูพองได้เหมือนลูกโป่งขนาดยักษ์อะไรแบบนี้ หรือหายใจยาวได้ไม่มีที่สิ้นสุด ก็แล้วแต่จะเลือกกันในขณะที่มีสติรู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่

แต่จริงๆแล้ว ก็เอาง่ายๆนะครับ คือถ้าพูดไปแล้วเนี่ย หากว่าไม่รู้ตัวไม่รู้จิตในขณะฝัน ไม่ต้องไปเดือดร้อนนะครับ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เขาปฏิบัติเจริญสติกันเอาเฉพาะตอนตื่น หลวงปู่มั่นท่านยังบอกเลยว่า ณ เวลาที่ท่านยังปฏิบัติธรรมอยู่ คือในช่วงที่ท่านยังเป็นพระที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติอยู่ในป่าที่จะเอาชนะกิเลส ท่านก็บอกว่าท่านมีสติอยู่ตลอด ยกเว้นในเวลาหลับ หรือว่าในเวลาที่ฝันนะครับ นี่ก็แสดงว่า ต่อให้เป็นพระป่าครูบาอาจารย์ ตอนที่ท่านกำลังเอาชนะรบกิเลสอยู่ ท่านก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมในขณะหลับนะครับ

--------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : เวลาหลับฝัน ไม่สามารถรับรู้จิตได้เลย ต้องปล่อยใจไปกับความฝัน จิตตั้งมั่นไม่ได้เลย

ระยะเวลาคลิป    ๓.๐๗  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=opzqG1fg3yI&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=4&t=32s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

เวลาเราสวดมนต์ตั้งจิตให้มั่น สามารถเข้าถึงสมาธิด้วยได้หรือไม่คะ?

 ดังตฤณ :  จริงๆแล้วถ้าสวดมนต์อย่างถูกต้อง ไม่ใช่แค่ว่าจะมีส่วนช่วยให้เข้าถึงสมาธิ แต่จะกลายเป็นสมาธิดีๆขึ้นมาได้เองเลยนะครับ

ถ้าเราจะสวดมนต์ไปด้วย แล้วก็ได้สมาธิไปด้วยก็อุปจารสมาธิ คือ มีความรู้สึกเบาเย็นซ่านมีความปีติแบบที่รู้สึกว่าเย็น ไม่ใช่ปีติแบบขนลุกขนพองตื่นเต้นอะไรแบบนั้นนะ ต้องเป็นปีติในแบบที่เย็นซ่าน แล้วปรุงแต่งให้จิตมันแผ่กว้างว่างเบานะครับ เกิดความตื่นรู้ มีความกระจ่างออกมาจากใจว่า เรากำลังรู้อะไร เรากำลังเห็นอะไร รู้ว่าเรากำลังสวดมนต์ถึงคำไหนแล้ว และเพื่อที่จะสวดมนต์ให้ได้แบบนั้น ไม่ใช่บังคับใจตัวเองให้มีความมั่นคง ห้ามวอกแวกแม้แต่นิดเดียว แบบนั้นมันไปไม่ถึงนะครับ เพราะอะไร เพราะว่าการบังคับจิตตัวเองให้ต้องตั้งมั่นไม่วอกแวกเลย ไม่สวดผิดเลย เป็นการบังคับจิต

ทุกครั้งที่คุณบังคับจิตมากเกินพอดี จะทำให้จิตมีอาการบีบอัดคับแคบ มันจะไม่ปล่อยสบาย มันจะไม่รู้สึกดี มันจะไม่รู้สึกว่าใจเปิดกว้าง

ตอนที่จิตเริ่มต้นจะตั้งมั่นเป็นสมาธิ ขอให้จำไว้ว่า ไม่ใช่ด้วยอาการบีบเข้ามา แต่ต้องเป็นอาการขยายแผ่ผายออกไป แผ่ออกด้วยความรู้สึกสงบสุข มีความรู้สึกพร้อมที่จะยิ้ม ไม่ใช่มีความพร้อมที่จะหน้านิ่วคิ้วขมวด หรือว่าเคร่งเครียดเคร่งครัดอะไร

การสวดมนต์ที่ถูกต้อง เป็นการตั้งใจถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพราะว่าต้องการแค่สรรเสริญพระพุทธเจ้า สรรเสริญพระธรรมของพระองค์ แล้วก็สรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระองค์ ด้วยใจที่อยากจะชื่นชมคนดี แต่นี่เป็นการชื่นชมสิ่งวิเศษสิ่งศักดิ์สิทธิ์บุคคลที่คู่ควรกับการนพไหว้บูชาจากมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

อย่างที่เราสวดอิติปิโสไป ก็ด้วยใจอ่อนน้อม ด้วยใจที่คิดสดุดี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปในแนวทางนี้แหละ ถ้าคุณมีการขึ้นต้นมาโดยตั้งใจว่า จะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ไม่หวังสิ่งใดทั้งสิ้น นอกจากได้เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำถวายแก้วเสียงของตัวเองแทนดอกบัว แค่นั้นจิตก็พร้อมจะมีความมั่นคงอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วโดยไม่ต้องบีบบังคับ

แล้วใจที่มีปีติกับการถวายแก้วเสียง มันจะค่อยๆมีความโน้มเอียงที่จะสงบลง แล้วก็แผ่ออกด้วยทิศทางเดียวกับแผ่เมตตา คือมีความสุขอยู่เริ่มต้นจุดชนวนขึ้นกลางใจ แล้วความสุขนั้นก็แผ่ผายออกไป กว้างขึ้น กว้างขึ้น

ยิ่งใจของคุณมีความกว้างขยายออกไป มีความว่างมากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความรู้สึกว่า ไม่เห็นจะต้องไปวอกแวกถึงสิ่งอื่น แค่มีความแน่วแน่อยู่กับความว่างความเบาในการถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชานั้น มันก็น่าพอใจที่สุดอยู่แล้ว นี่ตรงนี้มันถึงจะเกิดสมาธิขึ้นมาในระหว่างสวดมนต์

แต่ถ้าคุณบอก ตั้งใจ ถ้าสวดผิดแม้แต่คำเดียวมันบาป จิตมันก็บีบอัดอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดความเบิกบานเป็นสมาธิขึ้นมาได้นะครับ อันนี้ก็เป็นวิถีทางที่ถูกต้อง หรือวิถีทางที่ผิดพลาดในการสวดมนต์เพื่อเอาสมาธินะครับ

-------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : เวลาเราสวดมนต์ตั้งจิตให้มั่น สามารถเข้าถึงสมาธิด้วยได้หรือไม่คะ?

ระยะเวลาคลิป    ๔.๔๗  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=O71PytkzMkU&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5&t=18s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

เคยคุยกับเพื่อนที่ไปปฏิบัติธรรม เพื่อนทำบุญมาก แต่จิตยังเศร้า หงอยเหงา เหมือนใจยังว่างเปล่า ทั้งๆที่ยินดีในการทำคุณงามความดี ขอเรียนถามวิธีแก้ไข

 ดังตฤณ :  ความดีไม่ได้ช่วยให้หายเหงานะครับ จำไว้เป็นหลักข้อแรกเลย ความดีอยู่ส่วนความดี คนทำความดีด้วยอาการทางใจที่ต่างๆกันไป บางคนทำดีไปแล้วก็น้อยใจชะตาตัวเองไป บางคนทำดีไปทำบุญไปก็น้อยใจเทวดาฟ้าดินไปด้วย

บางคนสวดมนต์แท้ๆ แทนที่จะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา กลับกลายเป็นสวดมนต์ไปก็น้อยใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปว่ากระผมหรือว่าดิฉันหรือว่าหนูอุตส่าห์ศรัทธานับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาขนาดนี้ ทำไมยังไม่ได้ดิบได้ดีอะไรกับเขา คำว่าได้ดิบได้ดีของแต่ละคนมันก็ต่างกันไปนะครับ

บางคนบอกว่า ทำไมไม่เห็นเจอแฟนที่ดีๆสักคน มีแต่เข้ามาแล้วก็ทะเลาะเบาะแว้ง หรือว่าเลิกรากันไปแบบจบไม่สวย หรือบางคนก็บอกว่า เออเนี่ยอุตส่าห์เลี้ยงดูพ่อแม่มาอย่างดี แต่ไม่ได้รวยไม่ได้ทำให้ฐานะลืมตาอ้าปาก หรือว่ามีความมั่นคงอะไรกับใครเขาเลย

หรือว่า เออเนี่ยอุตส่าห์ดีกับคนอื่นมาตลอด แต่ไม่มีใครดีตอบเลยสักคน มีแต่เห็นเราเป็นหมู เห็นเราเป็นลูกแกะที่ขย้ำง่ายอะไรแบบนั้น คือมันมีความน้อยในต่างๆนาๆในชีวิตคนนะครับ

แล้วความน้อยใจนั้น ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นประกอบกับจิตที่คิดทำบุญเนี่ยนะ โชคร้ายเลยนะบอกจริงๆนะ คือมันจะกลายเป็นคนที่ทำบุญเอาความเศร้าไปเป็นฐานของจิตฐานของใจ มันไม่ใช่ว่าทำบุญเพื่อที่จะเอาความสดใสความผ่องใสติดตัวไป

หลายคนเลยนะ ทำบุญด้วยอาการเศร้าหมองทางใจไปแบบนี้ไปเรื่อยๆตลอดชีวิต เกิดใหม่นะสวยจริง หล่อจริง แต่เป็นความสวยความหล่อที่เจืออยู่ด้วยความไม่มีสง่าราศี ไม่มีความน่าพิศวาส มีแต่ความน่าหลอก

คุณเคยเห็นมั้ย เคยเจอมั้ย บางคนนะหน้าตาดีหล่อสวยแต่ดูจ๋องๆ ดูแบบน่าแกล้ง น่ารังแก ไม่น่าที่จะเอามาเป็นความอุ่นใจ หรือว่าฝากใจได้ ไม่ใช่ความหน้าตาดี ไม่ใช่ความงดงามที่จะฝากใจ แต่จะเป็นความงดงาม หรือว่าเป็นความหล่อความสวยที่ดูไม่น่าพิศวาส แต่ดูน่าสมเพช ใช้คำนี้นะ บางคนทำหน้าทำตาจ๋องๆอยู่ตลอด คือมันไปกระตุ้นให้เกิดความสมเพช มันขัดแย้งนะ บางคนหน้าตาดี แต่จิตใจอ่อนแอเหมือนตัวเล็กตัวลีบเป็นลูกหนูอยู่ตลอดเวลา เนี่ยแบบนี้มันทำให้ความรู้สึกมันไม่เต็ม มันขาดๆเกินๆ มันแหว่งๆวิ่นๆ แล้วทำให้เราพลอยรู้สึกไม่ดี

คนถ้าจะหน้าตาดี มันเป็นที่คาดหมายว่าควรจะเป็นที่ฝากใจได้ ควรจะเป็นที่น่าชื่นชมน่าบูชา น่าเลื่อมใสอะไรแบบนั้นใช่มั้ย แต่ถ้าความสวยความหล่อมันไปอยู่กับความจ๋อง หรือความรู้สึกว่าเรียกร้องความสงสารอะไรแบบนี้ รู้สึกเห็นชัดๆเลยว่า เขาสงสารตัวเอง ขี้สงสารตัวเอง มันจะไม่ครบ มันจะมาแบบว่า เราจะสุขอยู่แล้วอีกนิดนึง มันไปไม่ถึงความสุข มันกลายเป็นครึ่งๆกลางๆที่ความรู้สึกของเรา มันเลยพลอยทำให้รู้สึกไม่ดีกับความสวยความหล่อนั้น เคยรู้สึกแบบนี้มั้ย ถ้าเคยรู้สึก นี่แหละ! อันนี้แหละ! คือผลของการที่เราทำบุญในแบบที่เจืออยู่ด้วยความสงสารตัวเอง หรือว่าความน้อยเนื้อต่ำใจชะตากรรม หรือว่าน้อยใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ

เพราะฉะนั้นคือ ต้องคิดใหม่เลยว่า การทำบุญที่แท้จริง ไม่ใช่การบุญเพื่อที่จะเอาอะไรให้ได้เดี๋ยวนี้ในแบบที่จะเป็นผลตอบแทนภายนอก แต่หวังว่าทำบุญเอาอะไรให้ได้เดี๋ยวนี้จากข้างใน คือความรู้สึกเป็นสุข

ถ้าทำบุญแล้วยังเป็นสุขไม่เป็น อันนั้นแสดงว่า ยังทำบุญแบบคนน่าสงสาร หรือว่าอาจจะเกิดใหม่เป็นคนน่าสมเพชเลยก็ได้ โอเคนะเรียกร้องดึงดูดความช่วยเหลือ ความอยากจะช่วยจากใครต่อใคร แต่จะไม่ได้ความอุ่นใจกับตัวเอง จะไม่ได้ความรู้สึกเลื่อมใสจากคนอื่น

สำหรับตรงนี้เนี่ย เริ่มต้นขึ้นมาเลย ลองถามเขาดูว่า เวลาสวดมนต์ สวดมนต์ด้วยอาการยังไง สวดมนต์ด้วยอาการหงอย หรือว่าสวดอย่างมีพลัง สวดแบบที่เราจะมีความสุขกับการถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา หรือว่าไปทำบุญที่วัด ไปทำบุญด้วยอาการยังไง ทำบุญด้วยความรู้สึกว่า เออทำไปอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวเผื่อชาติหน้าจะได้มีความสุขกับเขาบ้าง แทนที่จะไปทำบุญด้วยความรู้สึกว่าอยากอนุเคราะห์ อยากจะให้พระสงฆ์องค์เจ้าได้มีกำลังในการปฏิบัติธรรม เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง แล้วก็มีความสุขกับการทำเดี๋ยวนั้น

ถ้าสำรวจใจแล้วว่า ที่ทำบุญไปเนี่ย ทำเพื่อให้ได้ความสุขได้ผลตอบแทนทางใจเดี๋ยวนั้น นี่เริ่มถูกขึ้นมาแล้วนะ เริ่มมีปัจจัยทางความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการอนุเคราะห์คนอื่น แล้วมันก็จะมีแก่ใจที่จะช่วยเหลือ หรือว่าทำบุญในแบบครบวงจร ให้อาหารสัตว์ตามทางตามโอกาส หรือว่าตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการทำให้พวกท่านมีความสุข หรือมีความเข้าใจในธรรมะที่ถูกต้อง แล้วไม่มีความเคลือบแฝงอยู่ด้วยอาการเศร้า ณ ขณะทำบุญ เนี่ยแนะนำให้เขาสำรวจใจตัวเองว่า ทำบุญแบบไหนระหว่าง ทำไปเศร้าไปกับทำไปสุขไปนะครับ

-----------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : เคยคุยกับเพื่อนที่ไปปฏิบัติธรรม เพื่อนทำบุญมาก แต่จิตยังเศร้า หงอยเหงา เหมือนใจยังว่างเปล่า ทั้งๆที่ยินดีในการทำคุณงามความดี ขอเรียนถามวิธีแก้ไข

ระยะเวลาคลิป    ๗.๒๗  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=KDJ7GXpgwa4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=2

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

พ่อแม่ด่าลูกด้วยความโกรธ แต่ใจนั้นรักลูก แบบนี้จะถือเป็นผรุสวาจาหรือไม่?

 ดังตฤณ :  เราต้องมองว่าการกระทำมันก็ตรงตามบัญญัตินั่นแหละ อย่างด่าทอด้วยจิตที่มีความคาดหมายว่าฝ่ายฟังฝ่ายได้ยินจะรู้สึกเจ็บใจ มันก็เป็นผรุสวาทหมดนั่นแหละ คือตั้งเอาที่จิต ถ้าจิตรู้อยู่ว่าพูดคำนี้ไปแล้ว มันจะทำให้เกิดความเจ็บ มันจะทำให้เกิดความปวด มันจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี อันนี้เรียกว่าทำด้วยอาการประทุษร้าย ภาษาชาวบ้านก็เรียกด่าทอ หรือว่าคำผรุสวาทก็เหมือนกับกล่าวคำเผ็ดร้อน ให้เกิดความเจ็บแสบอะไรแบบนี้นะครับ ตั้งต้นกันที่จิต ไม่ต้องไปทำความเข้าใจแบบเป๊ะๆตายตัวตามอักษรนะ

แต่ถ้าหากว่าเราเล็งเห็นว่า จิตของเราตั้งใจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างไร อันนั้นเป็นเจตนาเป็นกรรม ส่วนที่ว่าเราทำไปด้วยความหวังดี มันก็ซ่อนอยู่อีกชั้นหนึ่งคนละเลเยอร์ (layer)กัน เปรียบเหมือนกับที่ชอบคิดสงสัยกันว่า การฆ่าด้วยความปรารถนาดี อยากจะส่งให้ไปสู่สุขคติ มันคือการฆ่าหรือเปล่า ก็คือการฆ่านั่นแหละปลิดชีวิต แต่ด้วยเจตนาอะไร ด้วยเจตนาอนุเคราะห์ หรือว่าด้วยเจตนากลั่นแกล้งจะตัดชีวิตเขาไม่ให้ได้อยู่ต่อในโลกนี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน มันแยกส่วนกัน ผลก็ต้องรับทั้งสองส่วน ไม่ใช่รับแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น คำถามนี้ บอกว่า ใจนั้นรักปรารถนาดี คุณก็มีกรรม คือใจเล็งอยู่ด้วยความรักความปรารถนาดี อยากให้ได้ดี ก็จะได้รับผลเป็นการที่มีใครบางคนที่มีความสลักสำคัญในชีวิตคุณ ได้ตั้งความปราถนาดีเช่นเดียวกันนั้นกับคุณในอนาคตเช่นกัน แต่ด้วยอาการเราเลือกวิธีที่จะใช้คำด่าทอ ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเจ็บแสบเจ็บปวด โดยความคาดหมายไว้ว่า จะให้ลูกคิดได้ จะให้มีความสำนึกตัวฉุกคิดได้ มันก็ได้รับผลแบบเดียวกันคือ จะมีใครสักคนที่หวังดีกับคุณ ที่หวังดีด้วยวิธีที่มันร้ายๆหน่อย

อันนี้คือพูดไปแล้วเนี่ย เอากันจริงๆเลยนะ เลี้ยงลูกเนี่ย คุณเลี้ยงแบบพ่อพระแม่พระใจดีอย่างเดียวบางทีมันยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสมัยนี้ คือเขาฟังอะไรได้ยาก เพราะฉะนั้น มันอาจจะต้องมีบ้างที่คุณใช้อุบาย ซึ่งทำให้ไปกระตุกความคิด ไปกระตุกความรู้สึกอะไร มันขึ้นอยู่กับว่าคุณไปเรียนรู้หรือว่าไปได้แนวคิดในการกระตุกใจลูกมาจากไหน คนส่วนใหญ่มาจากสัญชาตญาณ คือนึกว่าใช้คำนี้ ใช้วิธีหวดแส้เข้าไปขวับให้ม้ามันได้หายพยศ ก็เป็นการเลือกแบบที่ออกมาจากสัญชาตญาณ

แต่ถ้ามีแนวคิดที่ตกผลึกนิดหนึ่งว่า สังเกตดูว่าลูกหยุดมั้ย แล้วคุณมีคำอธิบายต่อมา ที่ทำให้ลูกมีความเข้าใจจริงๆมั้ยว่า ทำไมคุณต้องทำแบบนั้น ทำไมคุณต้องลงโทษแบบนั้น เนี่ย!ตรงนี้สำคัญกว่า สำคัญกว่าคุณเลือกวิธีไหนในการลงโทษลูก นี่ใช้คำว่าลงโทษลูก เพราะว่าด้วยเจตนารู้อยู่ใช่มั้ยว่าลูกจะต้องเกิดความเจ็บ คืออาจจะไม่ได้เจ็บกาย แต่เจ็บเข้าไปที่จิต เจ็บเข้าไปที่หัวใจ มันก็คือการลงโทษชนิดหนึ่ง มันเลี่ยงไปไม่ได้หรอก มันก็คือการที่เราทำร้ายจิตใจ

ทีนี้ถ้าเราเลือกวิธีไหนไปแล้ว มันมีคำอธิบายแล้วมีจุดลงเอยตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ตั้งแต่ลูกจิตยังอ่อนๆอยู่ ทำให้ลูกเห็นตัวเราได้มั้ย เห็นหัวใจที่แท้จริงของเราได้มั้ย ถ้าหากทำให้เห็นได้ คุณจะใช้วิธีไหน ไม่มีปัญหาเลย ต่อให้ใช้วิธีลงโทษลูกด้วยการตีก็เถอะ

อย่างบางคนตีลูกเนี่ย ตามหลักจิตวิทยาเลยนะ ตีด้วยมือ สมมติตีก้นลูกตั้งแต่ตัวยังน้อยๆ แล้วทำให้ลูกเห็นว่าที่ลูกก้นแดง มือเราก็แดง แล้วก็ที่ลูกเจ็บ เราเจ็บยิ่งกว่า เจ็บทั้งมือเท่ากับเนื้อตัวของเขา แล้วก็เจ็บที่หัวใจเราด้วยที่ต้องทำร้ายลูก อันนี้ยกตัวอย่างนะ แค่ยกตัวอย่างเฉยๆ ไม่ได้แนะนำให้ตีนะครับ คือยกตัวอย่างว่าคนที่ตีเนี่ย ถ้าหากให้คำอธิบายลูกได้ กอดลูกปลอบประโลมลูกแล้วให้เห็นจริงๆว่า ทำไมถึงลงโทษด้วยวิธีนี้สำคัญยังไง มันใช้วิธีอื่นมาหมดแล้ว เหลือวิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย

แล้วก็ทำให้ลูกเข้าใจจริงๆว่า ที่ทำไปเพราะมันไม่มีวิธีอื่นที่จะหยุดเขา ถ้าลูกเข้าใจได้ตั้งเขายังตัวเล็กๆ ตั้งแต่เขายังเหมือนกับรับรู้อะไรด้วยความรู้สึกดิบๆ ด้วยสัญชาตญาณ ถ้าลูกรู้สึกได้ว่านั่นเป็นการกระทำด้วยความรักได้ ลูกจะไม่เกลียดคุณ แล้วก็จะไม่เอานิสัยก้าวร้าวติดจิตติดใจเขาไปด้วย เพราะว่าสามารถมอง สามารถอ่านออกว่า ตัวเขามันเหมือนม้าพยศที่ต้องลงแส้แล้ว ถ้าไม่ลงแส้มันเตลิดเข้าป่า หรือไปเข้าเมืองทำลายข้าวของอะไรแบบนี้นะครับ

เพราะฉะนั้นจุดสรุปก็คือ คุณทำกรรมอันเปื้อนด้วยมลทินกับลูกด้วยวิธีไหนมันไม่สำคัญเท่ากับที่ว่า คุณมีน้ำสะอาดน้ำดีไว้ชะล้างสิ่งสกปรกออกจากใจลูกมั้ย อันนี้สำคัญสูงสุดนะครับ มันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า คุณทำบาปอะไรไป แต่ลงท้ายคุณทำให้ลูกมีใจเป็นบุญขึ้นมาได้ท่าไหนอย่างไรนะครับ

---------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

คำถาม : พ่อแม่ด่าลูกด้วยความโกรธ แต่ใจนั้นรักลูก แบบนี้จะถือเป็นผรุสวาจาหรือไม่?

ระยะเวลาคลิป    ๘.๐๑  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=BzGy2MJbTdA&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=9&t=1s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์สามทุ่มนะครับ

 

คืนนี้ เราจะมาพูดหัวข้อที่หลายท่านก็คงจะมีความรู้สึกท้อแท้อยู่ เพราะทำสมาธิมา บางคนทำกันมาสามสิบปี ไม่เคยที่จะรู้สึกภาคภูมิเลย ว่าตัวเองประสบความสำเร็จกับการทำสมาธิ นั่งสมาธิกับเขาได้ เพราะว่ารู้สึกว่าตัวเองจิตอ่อน

 

แล้วก็ คนมักจะเข้าใจว่า การทำสมาธิต้องอาศัยพรสวรรค์ ต้องอาศัยพลังติดตัว ต้องอาศัยจิตที่เข้มแข็งอะไรมากๆ แต่จริงๆ แล้วนี่ ที่จะมีจิตเข้มแข็งขึ้นมา พ้นจากความจิตอ่อนได้ ก่อนอื่นใดเลยต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ถ้าตราบใดยังมีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่ ตราบนั้น การทำสมาธิอย่าว่าแต่ชาตินี้นะ เกิดอีกกี่ชาติก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวในการทำสมาธิเสมอ

 

เรามาดูกันนะว่า ความเข้าใจผิดที่นำไปสู่การทำสมาธิล้มเหลว มีอะไรอยู่บ้าง

 

วันนี้ ลิสต์มาแค่ 5 ข้อ แต่จริงๆ อาจมีมากกว่านี้นะ แต่ความเข้าใจผิดทั้ง 5 ข้อนี้ เกิดจากประสบการณ์ตรงของผมเอง แล้วก็การสังเกตผู้คนมาเป็นจำนวนมากๆ นี่นะ พบว่า 5 ข้อนี้แหละที่สำคัญที่สุด แล้วก็ทำให้คนเริ่มต้นขึ้นมาก็ผิดเลยนะ ก้าวแรกก็พลาดเลยในการทำสมาธิ

 

ก้าวแรก ที่คนส่วนใหญ่นึกกันไม่ถึงคือ ความเข้าใจผิดว่าสมาธิคือของวิเศษนอกจิต

 

อันนี้คือบางทีไม่ได้เป็นภาษาพูด หรือว่าจะนึกคิดตามกันง่ายๆ นะ คนจะรู้สึกว่าสมาธิเป็นของสูงส่ง เป็นของนอกตัว เป็นของนอกจิต เป็นของอะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่พิเศษผิดธรรมดา ที่เหมือนกับเป็นสวรรค์ประทาน เหมือนกับแสงสว่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรแบบนั้น

 

ไม่เข้าใจว่า สมาธิ จริงๆ แล้ว คือจิตชนิดหนึ่ง เป็นดวงจิตดวงหนึ่ง

 

ตราบเท่าที่เรายังเข้าใจไม่ถูกนะ ตราบนั้น ความเข้าใจผิดข้อนี้จะลากความเข้าใจผิดข้ออื่น ตามมาแบบไม่มีที่สิ้นสุดเลย

 

ที่จะพูดถึงความเข้าใจผิดข้ออื่นๆ ต่อจากนี้ไป ก็ตามหลังความเข้าใจผิดข้อแรกมาทั้งนั้นเลย

 

หลายคนคงนึกไม่ถึงนะ แต่ถ้าสำรวจดูดีๆ คุณจะไม่รู้สึกว่า สมาธินี่เป็นจิตของคุณ จะนึกว่า สมาธิคืออะไรอย่างหนึ่ง ที่ทั้งชีวิตเอื้อมไม่ถึง ไม่มองว่า สมาธินี่ เกิดอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าคุณมีโฟกัสที่ดีพอ แล้วก็ใจเย็นพอ ทำให้มีโฟกัสให้ต่อเนื่องนานพอ จะเกิดสมาธิขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว

 

พอเราไปนึกถึงว่า คำว่าสมาธิ จะต้องเป็นการนั่งหลับตา เอามือซ้อนมือ แล้วก็มีสภาพนิ่งๆ เหมือนหุ่นปั้น เหมือนก้อนหิน แล้วข้างในจะเป็นปรากฎการณ์อะไรไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่ใช่จิต ไม่ใช่ของปกติธรรมดาที่ใครๆ เขาก็มีกัน

 

เสร็จแล้วจะตามมาด้วยการที่ว่า ถ้าหากเราไม่ได้นั่งทำท่าเคร่งขรึมสักครึ่งชั่วโมง หรือว่าไม่ได้กักตัวที่จะให้สภาพร่างกายอยู่นิ่งๆ ถือว่าไม่ใช่สมาธิ อย่างอื่นนี่ เป็นแค่การที่เรามีใจจดจ่อ อยู่กับงาน หรือว่าเรามีความสนุกที่จะอยู่กับการเล่น

 

คำว่ามีสมาธิอยู่กับการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี หรือการทำงานนี่ จะไม่เหมือนกับความเข้าใจเรื่องการมีสมาธิแบบหลับตา มันต่างกันนะ ก็เลยทำให้คนคนหนึ่ง ไม่ใส่ใจที่จะเคยชินอยู่กับการโฟกัสเวลาทำงาน

 

เวลาทำงานนี่ ทำเล่นๆ ทำเหมือนกับ อยากทำก็ทำ ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ทำเต็มที่ ไม่ใส่ใจที่จะโฟกัส หรือเวลาเล่น เล่นเกม หรือดูหนังฟังเพลง ก็ปล่อยอารมณ์เรื่อยเปื่อย เลยจะมีความเข้าใจที่ผิดว่า การทำสมาธิ เริ่มต้นตอนนั่งอยู่หน้าหิ้งพระเท่านั้น

 

แล้วอันนี้นี่ สำคัญเลยนะ พอเข้าใจผิดอย่างนี้ ก็จะนึกว่าไม่ต้องอาศัยทุนจากที่อื่นมาก็ได้ คือมานั่งหลับตาทำสมาธิเอาหน้าหิ้งพระ ถือว่าเป็นภารกิจในการนั่งสมาธิแล้ว

จริงๆ แล้วนี่นะ ถ้าคุณเข้าใจถูกต้องว่า สมาธิจิต คือจิตธรรมดาๆ ของเราๆ ท่านๆ คุณจะใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ดูว่าตัวเองนี่ ทำงานมีโฟกัสไหม ใส่ใจตั้งแต่ตรงนั้น หรือเวลาเล่น ดูว่าเราปล่อยใจเรื่อยเปื่อย ถือว่าไม่ใช่ภารกิจหลัก ถือว่าเป็นเวลาปล่อยใจปล่อยจิตปล่อยใจ ตรงนี้นี่นะ ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสมาธิจิตทั้งหมดเลย

 

เห็นไหม คือถ้าคุณมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สมาธิคือจิตชนิดหนึ่ง คุณจะใส่ใจกับจิตในทุกขณะระหว่างวัน ว่าเป็นจิตที่มีโฟกัส หรือเป็นจิตที่หลุดจากโฟกัสในขณะหนึ่งๆ

 

แล้วจิตที่มีโฟกัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องงาน หรือเรื่องเล่น เวลาที่มานั่งสมาธิหน้าหิ้งพระ อันนั้นแหละ คุณจะเห็นเลยนะ ความต่าง โครงสร้างพื้นฐานที่ก่อร่างมาทั้งวัน จะมีความหนาแน่น จะเหมือนมีต้นทุน จะเหมือนคุณรู้ตัวเองเลยว่า มีความสามารถในการเริ่มก้าวแรก นั่งสมาธิแบบหลับตา ด้วยการที่โฟกัสถูกจุด โฟกัสได้ดีพอ มีกำลัง

 

ไม่อย่างนั้น จิตไม่มีกำลังโฟกัส จะทำตัวเหมือนกับตอนที่เล่นเกม ปล่อยใจฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย เห็นเป็นเวลาพักผ่อน เห็นเป็นเวลาที่ไม่ต้องสอบทำคะแนน ไม่ต้องทำงานเอาเป้า ไม่ต้องทำภารกิจอะไรที่จะได้เงินได้ทองมา

 

คนนะ ต้นทุนในการโฟกัสมักจะไปผูกอยู่กับสิ่งล่อใจ มักจะไปผูกอยู่กับรางวัลอะไรบางอย่างเช่นเงินทอง ความเคยชินแบบนี้ เลยทำให้คุณรู้สึกว่าเวลาในการนั่งสมาธิ ไม่มีความสามารถที่จะโฟกัส เพราะไม่ใช่เงินไง ไม่ได้สิ่งที่จะทำให้คุณมีหน้ามีตาในสังคมขึ้นมา หรือว่าไม่ได้ทำให้คุณมีฐานะ ตำแหน่ง ชื่อเสียงอะไรขึ้นมา เหมือนกับที่เราเคยชินกับการโฟกัส เพื่อที่จะเอาเงินเอาทอง หรือว่าเอาตำแหน่งชื่อเสียงการงานนะ

 

ความเข้าใจผิดข้อต่อไป ก็คือว่า เข้าใจผิดที่นึกว่า สมาธิ .. ตอนนี้เราพูดถึงสมาธิหลับตาแล้วนะ .. สำคัญผิดคิดว่า เราเริ่มนับหนึ่งกันที่ความกระเสือกกระสนอยากจะสงบ

 

คือถ้า ใจอยากสงบ นึกว่าอันนั้นคือก้าวแรกที่ถูกต้อง

 

อันนี้ เขาไม่พูดกันนะ คืออาการทางใจ ไม่เอามาแฉกัน ไม่เอามาเปิดโปงกัน ไม่เอามาคุยกัน ก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วนี่ คนส่วนใหญ่ตั้งความรู้สึกไว้อย่างนี้จริงๆ ก้าวแรกนี่อยากจะเอาความสงบ แล้วความอยากนี่ คือสวนทางกับสมาธิ ความอยากเป็นต้นเหตุของความปั่นป่วนทางจิต

 

จริงๆ แล้ว สมาธิเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่สติ

 

พูดคำนี้นี่ ดูเหมือนง่ายนะ ดูเหมือน เอ้า ก็ตั้งใจมีสติ  ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ง่ายๆ แบบนั้น สติจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากว่า เรายังมีจิตใจอยากเอานั่นเอานี่อยู่ ยกตัวอย่างเช่น อยากจะสงบ ทั้งๆที่ยังไม่พร้อมจะสงบ ความอยากนี้แหละที่ทำให้ไปไม่ถึงไหน

 

ถ้าหากว่าคุณเริ่มต้นที่ใจ สำรวจเข้ามา นับหนึ่งกันที่ตรงนี้ ดูว่าตอนนั้น กำลังมีสติอยู่ หรือว่ามีความอยากอยู่ คุณจะพบความจริงว่า นี่กำลังตั้งต้นผิดแล้ว หรือว่านี่ตั้งต้นได้ถูกต้องแล้ว

 

ถ้าตั้งต้นที่ถูกต้องแล้วเป็นอย่างไร กลับมาจากทำงาน หรือว่าตื่นขึ้นมา เพิ่งผ่านพ้นความฝันที่ยุ่งเหยิงมา สำรวจใจตัวเองเข้าไป ยังปั่นป่วน ยังฟุ้งซ่าน แล้วมีสติ ยอมรับความจริงอย่างใจเย็น วางใจเป็นกลางว่า นี่ที่การหายใจตอนนี้ ในใจยุ่งเหยิงปั่นป่วน แล้วก็ไม่มีความอยากที่จะเอาชนะความฟุ้งซ่าน ไม่มีความอยากที่จะเอาให้จิตให้ใจตัวเองสงบได้เดี๋ยวนี้

 

พอไม่มีความอยาก จะมีแต่ความรู้ตรงตามจริง ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในจิต

 

พอเกิดสติเห็นอะไรตามจริง ใจจะเย็น ไม่ร้อน ไม่ปั่นป่วน ไม่มองว่าความฟุ้งซ่านนี่คือศัตรูร้าย แต่มองว่าความฟุ้งซ่าน ก็เป็นเครื่องตั้งของสติได้เหมือนกัน

 

ตรงนี้แหละ ที่คุณจะเริ่มเข้าทางสมาธิแบบพุทธได้ คือเห็นว่า ลมหายใจต่าง ระดับความฟุ้งซ่านก็ต่างได้ ลมหายใจนี้กำลังฟุ้งจัด อีกลมหายใจต่อมา ฟุ้งน้อยลง อีกลมหายใจต่อมา ความฟุ้งสงบลง เหลือแต่จิต เหลือแต่ใจที่มีความรู้นิ่งๆ อยู่ แล้วก็อีกลมหายใจต่อมากลับฟุ้งขึ้นมาอีก

 

ตรงนี้จะไม่มีความตื่นเต้น ไม่มีความยินดี แล้วก็ไม่มีความเสียใจ เวลาที่กลับฟุ้งซ่านขึ้นมา ไม่เสียใจแม้แต่นิดเดียว เวลาที่กลับสงบลง ก็ไม่มีความตื่นเต้นดีใจ มีแต่สติที่เห็นอยู่ รู้อยู่ว่า กำลังมีความฟุ้งซ่านที่ลมหายใจไหน กำลังมีความสงบที่ลมหายใจใด

 

ตัวสตินี่ สำคัญมาก มันจะเป็นชนวนของสมาธิ เป็นชนวนของสมาธิได้อย่างไร เป็นชนวนตรงที่ว่า สติ จะทำให้จิตไม่ว้าวุ่น

 

ตอนมีสติ มาปรุงแต่งให้จิตไม่ว้าวุ่น ตอนนั้น เป็นสมาธิอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว คือยังไม่ได้ตั้งมั่น เป็นสมาธิแบบมีวิตกวิจารณ์ ยังไม่ได้มีปีติ มีสุขนะ แต่จะมีพื้นฐานสำคัญที่สุด นั่นก็คือ ความไม่ว้าวุ่นของจิต อันนี้เป็นข้อที่ต้องจำนะ

 

ถ้าคุณยังเข้าใจผิดอยู่ นึกว่าเริ่มต้นนับหนึ่ง ด้วยอาการทางจิตที่อยากจะเอาความสงบตรงนั้น ไม่มีทางนะ ชาตินี้ ทั้งชาติเลย ไม่มีทางก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จอย่างใหญ่ในทางสมาธิได้เลย

 

ความเข้าใจผิดข้อที่สี่ ข้อต่อมานะ บอกว่า คนพอนั่งสมาธิไป ต้องมีเข้าสักครั้งที่ฟลุ้ค มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เอื้อให้จิตรวมลงเป็นสมาธิได้ ต้องมี ไม่ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักนั่งสมาธิที่กระจอกแค่ไหนก็ตาม ถ้านั่งไปเรื่อยๆ ทู่ซี้ไป เหมือนกับทำไม่หยุด วันหนึ่ง ต้องมีปัจจัยลงตัว ที่ทำให้เกิดสมาธิที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จิตรวมตัวได้ จิตเป็นกระแสอะไรอย่างหนึ่งที่ผนึกตัวเข้ามา แล้วก็เป็นความสงบ ความนิ่ง ความใส ความสว่าง

 

ตรงนี้ ด้วยความไม่รู้ของมนุษย์ ก็มักจะยึดว่า เราประสบความสำเร็จแล้ว พอประสบความสำเร็จทางสมาธิขั้นไหน ก็พยายามไปแปะป้าย แบบว่าเอาคำศัพท์ไปกำกับไว้ว่า เราประสบความสำเร็จสมาธิขั้นไหน แล้วคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าตัวเองได้ฌานกันทั้งนั้น ทั้งที่เป็นสมาธิแบบนิ่ง แช่แข็ง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ นึกว่าได้ฌาน หรือว่านึกว่าได้สมาธิขั้นสูงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เข้าใจเอาตามอัตโนมัติสัญชาติญาณดิบๆ แบบคนที่ยังเข้าใจไม่จริง ว่า ถึงสมาธิขั้นไหนแล้ว ก็แปลว่าเราได้สมบัติเป็นสมาธิขั้นนั้น ติดตัวไว้แล้ว

 

อันนี้ไม่เข้าใจว่าสมาธิจิตเป็นของไหลนะ เหมือนน้ำที่พร้อมจะไหลลงต่ำ  หรือไหลไปปนเปื้อนกับมลพิษในชีวิตประจำวัน เช่นหลงระเริงไปกับการพูดคุย ออกอ่าวเรื่อยเปื่อย ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกไว้เป็นอาการเพ้อเจ้อ คือพูดแบบไม่มีเป้าหมาย พูดแบบไม่รู้เลยว่า มีหลักฐาน ไม่มีหลักฐาน พิสูจน์ได้ หรือพิสูจน์ไม่ได้ เอามันเข้าว่า เอาเรื่องเสียๆ หายๆ ของคนอื่น มาโขกมาสับกัน ให้เป็นที่ครื้นเครงอะไรแบบนั้น โดยที่ไม่รู้ตัวว่า จิตแบบนั้น ทำให้เกิดความแส่ส่าย เกิดความเคยชินที่จะเข้าโหมดแส่ส่าย หาโฟกัสไม่เจอ

 

ถึงแม้ว่าเคยทำสมาธิได้ดีมาก่อน ก็เหมือนทำไม่เคยเป็น แต่นี่ เรานี่ มนุษย์นี่ หลงไป เข้าใจไปว่า เคยทำสมาธิได้ดีแล้ว ถือว่าฉันเคยทำได้ เอาไปคุยโม้โอ้อวด บอกว่าฉันเคยทำได้ขั้นนั้นขั้นนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นขั้นที่ตรงตามบัญญัติหรือเปล่าก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามีความภูมิใจไว้แล้ว ว่าตัวเองทำสมาธิได้ แล้วสมาธินั้น เป็นสมบัติของฉันแล้ว ปล่อยจิตปล่อยใจเลย ระหว่างวันไม่ระวังจิตไม่ระวังใจ

 

แต่ถ้าเราเข้าใจให้ถูกต้อง กลับไปข้อแรกเลย เข้าไปทำความเข้าใจว่า สมาธิคือ จิตดวงหนึ่ง คือจิตชนิดหนึ่ง นี่จะมองออกเลยนะ อ่านเกมออก ว่า จิตถ้าส่วนใหญ่ ไหลไปกับมลพิษในชีวิตประจำวัน ก็ยากที่จะกลับมาตั้งเป็นสมาธิขึ้นมาได้

 

ถ้ามีดวงจิตส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน เป็นจิตเพ้อเจ้อ เป็นจิตที่แส่ส่าย ซัดส่าย เป็นจิตที่ไม่คุมอะไรเลย ไม่มีเป้าหมายอะไรเลย อยากพูดอะไรพูด อยากทำอะไรทำ แบบนี้นี่ จิตก็อยู่โดยมากเป็นจิตฟุ้งซ่าน จิตเลอะเลือนนะ ที่จะหวนกลับมาพัฒนาเป็นสมาธิจิตนี่ ยากมาก

 

ข้อสุดท้าย คือจริงๆ ไม่ใช่ท้ายสุด ยังมีข้ออื่นๆ อีก สาเหตุปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่นั่งสมาธิกันล้มเหลวนะ

 

ข้อห้านี่ ก็คือ คน ต่อให้นั่งสมาธิถูกแล้ว นั่งสมาธิเป็นแล้ว ก็ยังไปหลงกับดัก ไปติดเข้าอีกกับดักหนึ่ง คือ ความนึกว่าสมาธิเป็นของวิเศษวิโส คือขนาดออกจากสมาธิมาแล้วนะ เคลื่อนออกจากสมาธิดีๆ มาแล้ว ก็สำคัญว่า ตัวเองมีศักดิ์ศรี วิเศษวิโสเหนือคนธรรมดา

 

คือไม่เข้าใจว่า สมาธิ เป็นของสูง ที่คู่ควรกับจิตที่อ่อนโยน นุ่มนวล มีความนอบน้อมถ่อมตน ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็มีความอ่อนโยน ไม่ทะนงตัวต่อคนธรรมดาทั่วไประดับเดียวกัน หรือแม้แต่ระดับที่ล่างกว่า

 

คือคนนี่ ถ้ายังเข้าใจอยู่ว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ทำให้ตัวเองเหนือกว่ามนุษย์มนาทั้งหลาย ตราบนั้นจิตก็จะกระด้าง แล้วจิตที่กระด้าง มันสูงได้ไม่ถึงที่สุด มันจะเตี้ยๆ เหมือนกับคนหลังค่อม ที่มีเพดานจำกัด ยืดตัวตรงขึ้น สูงสง่างามถึงที่สุดไม่ได้

 

แต่ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สมาธิเป็นของสูง แล้วก็คู่ควรกับความอ่อนโยน อ่อนน้อม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตัวนี้ก็จะคู่ควรกับการเข้าถึงสมาธิขั้นสูงแบบพุทธได้เช่นกัน

 

สมาธิขั้นสูงแบบพุทธ มีความสามารถที่จะรู้ความไม่เที่ยงของจิต มีความสามารถที่จะรู้ความไม่คงสภาพอยู่ของจิต แล้วก็มีความสามารถที่จะรู้ความไม่ใช่ตัวเดิมของจิต

 

คือถ้าตราบใดยังกระด้างอยู่ ยังยโสโอหังอยู่ ยังทะนงว่า ข้าทำสมาธิได้ดี ก็จะยึดมั่นถือมั่นอยู่กับจิตที่เที่ยง ที่ทน ที่เป็นตัวของตน วันยังค่ำ จะไม่มีความสามารถที่จะเขยิบขึ้นไป ก้าวล้ำขึ้นไปเห็นความไม่เที่ยงของจิต เพราะโดนเพดาน โดนกำแพงของอัตตามานะกักไว้

 

ทีนี้พอคน ถ้าได้มีจิตที่อ่อนโยน แล้วก็ไม่ถือตัวถือตน แล้วก็พิจารณาใส่ใจ เห็นความไม่เที่ยงของจิต ก็เห็นจิตแสดงความไม่เที่ยง นี่จิตกำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ที่ชั่วโมงนี้ แล้วก็เสื่อมถอยลงมา กลายเป็นความคิดๆ นึกๆ ก็ยอมรับความจริงได้ ไม่มีความทะนงใดๆ เห็นแต่ว่าสภาวะหรือธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมดา รู้สึกว่าไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีบุคคลอะไรที่เลิศลอยเพริดแพร้ว หรือว่าเหนือกว่ามนุษย์มนาที่ไหนเขา

 

ตรงนี้ถึงจะถึงจุดของความส่องสว่าง เยี่ยงสมาธิจิตที่มีความบริสุทธิ์แท้จริงได้ นี่แหละคือความสำเร็จที่จะทำสมาธิแบบพุทธขึ้นมา

 

สรุปคร่าวๆ ง่ายๆ นะ ว่า ที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิกันล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิแบบพุทธก็เพราะว่า เข้าใจผิด สำคัญผิด

 

ข้อแรกเลย นึกว่าสมาธิเป็นของนอกจิต ทั้งที่จริงๆ แล้วสมาธิเป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตดวงหนึ่ง

 

ข้อสอง เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิเกิดเฉพาะตอนที่นั่งหลับตา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจทำสมาธิ กักบริเวณตัวเองสักครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สามชั่วโมง

จริงๆ แล้วสมาธิเป็นจิตดวงหนึ่ง แล้วสมาธิเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่อยู่ระหว่างวัน ทำงานทำการ หรือเล่นสนุกอะไรต่างๆ

 

ความเข้าใจผิดข้อที่สาม คือ เริ่มนับหนึ่งทำสมาธิ ด้วยความกระเสือกกระสน อยากจะเอาความสงบ คือมีความรู้สึกไง ว่าสมาธิเป็นของวิเศษ เป็นของที่จะต้องเอามาเข้าตัว อันนี้ก็จะมีความอยาก เหมือนกับที่เราอยากได้ของเล่น อยากได้เงินทอง อยากได้ตำแหน่งหน้าที่การงาน

แต่จริงๆ แล้วนี่ คือจิต ขอแค่เรารักษาจิต ให้โฟกัสอยู่กับสิ่งที่ควรโฟกัสได้ แค่นั้นแหละ มีทุน มีโครงสร้างพื้นฐานที่หนาแน่น ที่จะเป็นสมาธิได้แล้ว

 

ความเข้าใจผิดข้อที่สี่ ก็คือนึกว่า ได้สมาธิขั้นไหนแล้ว ก็จะถือว่าเป็นสมบัติของเราแล้ว เป็นสมบัติตายตัว ทั้งๆ ที่สมาธิเป็นของไหลนะครับ ไหลลงต่ำด้วย พร้อมที่จะไหลลงต่ำ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะครับ จิตเป็นธรรมชาติที่เหมือนน้ำ พร้อมที่จะไหลลงต่ำ ถ้าเราไม่ระวัง ถ้าเราไม่สำเนียกเลย ไม่ใส่ใจเลยว่า ขณะนี้จิตลอยไปถึงไหนแล้ว จิตเหม่อไปถึงไหนแล้ว หรือว่าจิตแส่ส่ายเพ้อเจ้อไปถึงไหนแล้ว จิตจะพัง แล้วก็ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นมาได้

 

ความเข้าใจผิดข้อสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดนะ เป็นข้อสุดท้ายที่เอามาพูดกันในคืนนี้นะครับ ก็คือว่า เรานึกว่าการได้สมาธิ ปรุงแต่งความรู้สึกได้จริงๆ มีความรู้สึกเหมือน คอตั้งหลังตรง มีความสง่างาม ออกมาจากโลกภายใน ราวกับว่า มีปราสาท มีวิมานเพริดแพร้วอยู่ภายใน ทำให้หลงสำคัญไปว่าตัวเองเหนือกว่าชาวบ้านเขา

ตรงนี้นี่ พอรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าชาวบ้านเขา จะมีความกระด้างก่อตัวขึ้นมา แล้วก็จะทำให้ เราไม่สามารถเข้าถึงสมาธิขั้นสูงแบบพุทธได้

สมาธิขั้นสูงแบบพุทธคือการเห็นว่า แม้แต่จิตก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถทรงรูปอยู่ แล้วก็ไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ตัวเขา ไม่ใช่ตัวเรา ตรงนี้ ถ้าจะไปถึงสมาธิจิตขั้นสูงแบบพุทธได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีความกระด้างกระเดื่อง ไม่มีความสำคัญตัวว่า เพริดแพร้วพรรณราย เหนือกว่าใครเขา

 

วันนี้ ในหัวข้อ เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิแล้วล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จกันนะครับ

_____________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว

วันที่ 21 พ.ย. 2563

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0DbIiBPTiqA

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

 ดังตฤณ :  เรามาเข้าสู่ช่วงสุดท้ายด้วยการมาสวดมนต์ร่วมกันเลยนะครับ ใช้หูฟังนะครับ ถ้าหากว่าหูฟังไม่ได้หยิบได้ง่ายๆตอนนี้ ก็อาจจะมาเปิดฟังอีกรอบหลังจากจบรายการก็ได้ พอจบรายการแล้ว ทางเฟซบุ๊กจะให้เป็นคลิปที่สามารถย้อนกลับมาดูได้เสมอ เรามาเริ่มกันเลยนะครับ

 

คุณดังตฤณนำสวดมนต์
โดยอัญเชิญ พระบูรณพุทธ เป็นพระประธาน
และใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์



ก็จบไปนะครับ สำหรับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนนี้ก็เป็นการพูดเรื่องหนักให้กลายเป็นเรื่องเบา หลายท่านที่ฟังๆอยู่ก็ยังรู้สึกค้างๆคาๆใจว่าปีหน้าจะเอายังไง ก็ขอให้ทุกท่านได้พบทางออก แล้วก็ทางออกมาจากใจของตัวเองที่มันสว่างขึ้น ใจที่สว่างก็คือผ่าทางตัน ส่วนใจที่มืดนั่นแหละคือสิ่งที่มันเป็นทางตันที่แท้จริงของชีวิตนะครับ

เอาล่ะสำหรับคืนนี้ คงต้องร่ำลากันไป แล้วอาทิตย์หน้าสัปดาห์หน้าวันเสาร์ ๓ ทุ่ม ถ้าหากว่างตรงกันก็มาเจอกันอีกนะครับ

คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ

--------------------------------------------

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน?

ช่วง     : สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

ระยะเวลาคลิป    ๔.๐๙ นาที
รับชมทางยูทูบ     https://www.youtube.com/watch?v=KlG2XcvgtD4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=10&t=8s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

พยายามตั้งใจให้จดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ บังคับจิตได้ชั่วครู่ แล้วแว็บหายอีก จะทำอย่างไรดี?

 ดังตฤณ :  ก็ถึงเวลาพอดี เรามาสวดมนต์ร่วมกันนะครับ เดี๋ยวมีเทคโนโลยีทางเสียง ให้คุณใช้หูฟังนะครับ แอล(L)เข้าซ้าย อาร์(R)เข้าขวา พอฟังเทคโนโลยีทางเสียงตรงนี้ไปด้วย แล้วก็สวดมนต์ไปด้วย สวดด้วยจังหวะที่มีความเนิบช้าพอดี แล้วก็เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ คุณจะรู้สึกว่า การสวดมนต์ของคุณวอกแวกน้อยลงนะครับ

-----------------------------------------

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงงาน

คำถาม : พยายามตั้งใจให้จดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ บังคับจิตได้ชั่วครู่ แล้วแว็บหายอีก จะทำอย่างไรดี?

ระยะเวลาคลิป     ๐.๔๙ นาที
รับชมทางยูทูบ   https://www.youtube.com/watch?v=5pBSrkCoLYg&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=1

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

การกล่าวคำอธิษฐานที่ปรารถนาต่างๆ จำเป็นต้องออกเสียง(วจีกรรม)ทุกครั้งหรือไม่คะ?

 ดังตฤณ :  คือวจีกรรมเนี่ยนะครับ อะไรๆมันก็เป็นวจีกรรมหมดนั่นแหละถ้าเราตั้งความปรารถนาหรือว่าเล็งไว้ว่า เจตนาจะให้เกิดผลกับผู้ฟังอย่างไร

การออกเสียงเวลาอธิษฐานเนี่ยนะครับ จริงๆแล้วถ้าจิตใจมั่นคง อธิษฐานในใจมันก็มีค่าเท่ากัน แต่คนส่วนใหญ่ที่จะอธิษฐานแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้อธิษฐานจริงๆ ก็ต้องมีการออกเสียงเป็นธรรมดา เพราะว่าใจมันจะมีความตั้งมั่นมากขึ้นเวลาที่เราพูดออกเสียง

----------------------------------------

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงงาน

คำถาม : การกล่าวคำอธิษฐานที่ปรารถนาต่างๆ จำเป็นต้องออกเสียง(วจีกรรม)ทุกครั้งหรือไม่คะ?

ระยะเวลาคลิป     ๐.๕๗ นาที
รับชมทางยูทูบ   https://www.youtube.com/watch?v=ipBwgh03ABw&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=2

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส