ดังตฤณ : คำถามบอกว่า “การรู้กายในกายเป็นวิธีละขันธ์ ๕ ใช่มั้ย”
กายในกายก็คือ การดูส่วนใดส่วนหนึ่งของกายนั่นเอง ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะรู้กายทั้งหมดได้ในคราวเดียว เพราะฉะนั้น เราเลยต้องเลือกดูเป็นจุดๆก่อน เมื่อเลือกดูเป็นจุดๆ นั่น!ท่านถือว่าดูกายในกายแล้ว อย่างเช่น ลมหายใจก็ถือว่าเป็นกายในกายนะครับ กายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่ท่านเรียกเป็นกายในกาย สำนวนพุทธพจน์นะครับ
วิธีละขันธ์ ๕
ขันธ์
๕ เราต้องเข้าใจก่อนว่า จริงๆแล้วเป็นการแยกเอากายใจที่มันเป็นก้อนๆ
มันเป็นตัวความรู้สึกว่า นี่คือตัวเราทั้งตัวออกเป็นส่วนๆ เพื่อความเข้าใจว่า
เรากำลังเห็นอะไรอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นลมหายใจ เข้า-ออก
แสดงความไม่เที่ยงอยู่ อย่างนี้เรียกว่าเห็นรูปขันธ์
เราเห็นรูปขันธ์ไปเพื่ออะไร?
เพื่อที่จะได้รู้ว่า
รูปขันธ์กำลังแสดงความไม่เที่ยง เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เรารู้ขันธ์ไปเพื่อที่จะให้เกิดอนิจจสัญญา พูดง่ายๆว่า เราเห็นขันธ์เพื่อดูความไม่เที่ยงของมัน
ส่วนการเห็นอายตนะ การทำงานโต้ตอบ เวลาตาเห็นรูป เวลาเห็นคนที่น่าพึงพอใจสำหรับเราเขาเข้ามาแล้วตาเราไปเห็น เกิดความพึงพอใจ แล้วถ้าเราเห็นความพึงพอใจนั้นสักแต่เป็นอาการยึดที่มันสูญเปล่า เป็นอาการยึด เป็นภาวะหนึ่ง แล้วภาวะนั้นก็เสื่อมสลายไป มันไม่สามารถอยู่ในอาการยึด “ฉันจะเอา ฉันจะเอา” อยู่ได้ตลอดเวลา เพราะถ้าเอาได้มา มันก็เบื่อ มันก็เฉยๆ หรือว่าพอไม่ได้มา มันก็เกิดอาการดิ้นรนทุรนทุรายจะเอาให้ได้ นี่!พิจารณาอยู่อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นการพิจารณาอายตนะ ก็คือ อายตนบรรพ เพื่อที่จะให้เกิดอนัตตสัญญา นี่คือความต่างนะครับ
เราดูกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เพื่อให้เห็นอนิจจังเป็นส่วนๆ แต่เราดูการทำงานของจิต ดูว่ายังยึด หรือไม่ยึดอะไร เพื่อให้ใจมันถอนจากอาการยึด นี่อันนี้เรียกว่าเห็นโดยความเป็นอนัตตา
เพราะอะไร?
เพราะเวลาที่จิตเริ่มฉลาด เริ่มมีพุทธิปัญญา แล้วเห็นอาการยึด เห็นอาการที่ไปผูกมัด เห็นอาการทะยานแล่นออกไปฉวยจับมาเอาเข้าตัว เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างสูญเปล่า ใจมันจะว่าง แล้วก็รู้สึกว่าใจที่มันว่างจากอาการยึด สามารถที่จะเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างการรู้เห็นด้วยตา หรือว่าได้ยินด้วยหู แล้วเกิดความถือมั่นจะเอาเป็นของเราขึ้นมา มันสักแต่เป็นสภาวะสูญเปล่า จิตมันจะฉลาดแล้วก็รู้สึกขึ้นมาว่า เออ!ไอ้ภาวะเหล่านี้ ที่มันทำงาน เป็นตาประจวบรูป หูประจวบเสียง แล้วเกิดการยึดขึ้นมา มันเป็นของหลอก แล้วจิตมันก็จะเห็นกายทั้งกาย หรือว่าภาวะอารมณ์ทั้งหลาย หรืออาการยึดทั้งหลาย สักแต่เป็นอนัตตา มันจะรู้สึกชัดขึ้นมาเลยว่า คำว่าอนัตตามันปรากฏกับจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะอะไร?
เพราะว่ามันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว แต่ที่มันเป็นอัตตา ที่นึกว่ามีอัตตา มันเป็นอุปาทาน มันเป็นขณะที่จิตมันไปยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องทำอะไรเลย อนัตตาไม่ต้องสร้าง มันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว แต่จิตของเราจะมีความสามารถไปเห็นหรือเปล่า นี่!ตรงนี่แหละ ที่เรียกว่าเราเห็นความยึดมั่นถือมั่น เพื่อที่จะได้รับรู้ว่า ความยึดมั่นถือมั่นเป็นสภาวะสูญเปล่า แล้วก็พอเห็นได้อย่างนั้น จิตจะเป็นอิสระ แล้วก็รู้สึกถึงความเป็นอนัตตาขึ้นมา
ตัวคำถามบอกว่า (ทวนคำถาม) “หมายรวมถึงอานาปานสติด้วยมั้ย”
การเห็นลมหายใจก็คือการเห็นรูปขันธ์นะครับ
(ทวนคำถาม) “การพูดถึงอกกระเพื่อมหรือรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ในกาย”
เย็น
ร้อน อ่อน แข็ง ในกาย คือการรู้ความเป็นธาตุ อย่างความเป็นธาตุไฟก็คือไออุ่นในกาย
ถ้าหากว่าไออุ่นมีมากอย่างนั้น แสดงว่าธาตุไฟมันกำเริบมาก
แต่ถ้าหากว่าไออุ่นมีน้อย กระทั่งรู้สึกว่าเย็นชืดลง อันนั้นก็คือธาตุไฟอ่อนตัวลง อ่อนกำลังลง
จริงๆแล้วการเห็นกายโดยความเป็นธาตุ มันเป็นอีกขั้นหนึ่ง คุณควรจะมีสมาธิ แล้วก็มีจิตใหญ่พอจะเห็นกายโดยความเป็นท่อนอะไรท่อนหนึ่งได้พร้อมๆเสียก่อน คือคำว่าพร้อมไม่ได้เห็นทุกจุดในคราวเดียว แต่หมายถึงเห็นว่า อิริยาบถที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน มีองค์ประกอบอะไร ยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มีแขน มีขา มีหัว กำลังอยู่ในท่าคอตั้งหลังตรง หรือว่าหลังงออยู่ ถ้าเห็นได้ทั่วพร้อม อันนั้นมันถึงจะเริ่มมีความพร้อมที่จะพิจารณากายโดยความเป็นธาตุ
อันนี้มันต้องพูดละเอียด แต่ผมสรุปคร่าวๆอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เพื่อที่ไต่ขึ้นไปตามลำดับได้แบบไม่สับสน ให้พิจารณาลมหายใจก่อนว่า ขณะนี้เราจะนั่งอยู่ในอาการอะไรก็แล้วแต่ มันกำลังมีสภาพต้องการลมเข้า หรือว่าลมออก หรือว่าหยุดที่จะหายใจชั่วขณะ ภาวะทางกายที่มันปรากฏขึ้น ณ ขณะที่เรากำลังรู้ลมหายใจนี่แหละ มันจะเป็นตัวตั้ง มันจะเป็นจุดเริ่มต้น มันจะเป็นชนวนให้เกิดการพิจารณาในขั้นต่อๆไปได้
ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรับรู้ได้ อย่างเช่น พอมีความสามารถรู้ตัวว่ามีความสามารถเป็นปกติที่จะเห็นว่า หายใจเข้า เราก็ทรงอยู่ในอาการทางกายแบบนี้ หายใจออก เราก็มีสภาพทางกายอีกแบบหนึ่ง หายใจเข้าท้องป่องขึ้น หายใจออกท้องยุบลง แล้วก็เห็นปกติ ก็รู้สึกว่าจิตตั้งนิ่งอยู่ในความรู้สึกสบายๆได้เป็นปกติ ก็ค่อยเอาจิตที่มันมีความนิ่งความสบาย แล้วก็มีความพร้อมรู้นั้น ไปพิจารณาข้อธรรมที่มันสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เห็นลมหายใจเข้า-ออกได้เป็นปกติ ก็ดูว่าที่เราเห็นมันเป็นธาตุลม มีการพัดเข้า มีการพัดออก รู้จนกระทั่งจิตที่มันเป็นสมาธิ มีกำลังมากพอที่จะเห็นว่า ความพัดเข้าพัดออกนั้นไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขา เนี่ย!จากนี้พอมีความสามารถแบบนี้ คุณจะไปพิจารณากายโดยความเป็นธาตุ หรือโดยความเป็นขันธ์ หรือโดยความเป็นอายตนะเวลาลืมตาขึ้นมามันได้หมด
แต่ถ้ายังไม่พร้อม
จิตยังฟุ้งซ่าน จิตยังมีความสงสัย จิตยังไม่สามารถเห็นสภาพความเคลื่อนไหวขณะหายใจ
หรือว่าขณะที่กายนิ่ง หรือกายเคลื่อนไหวได้ แบบนี้เรียกว่า จิตอยู่ในโหมดฟุ้งซ่าน
จิตไม่พร้อมที่จะพิจารณาโดยความเป็นขันธ์ หรือว่าโดยความเป็นอายตนะ
หรือว่าโดยความเป็นธาตุใดๆนะครับ
----------------------------------------
๑๔
พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน ทำใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงงาน
คำถาม : การรู้กายในกายเป็นวิธีละขันธ์ ๕ ใช่ไหมคะ หมายรวมถึงอานาปานสติไหม บางท่านพูดถึงการที่อกกระเพื่อม หรือรู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ในกาย รู้ในรู้ ซึ่งหนูยังไม่ค่อยเข้าใจ หนูภาวนาอานาปานสติโดยนั่งวิปัสสนาครั้งละ 15 นาที เช้า-เย็น มาประมาณ ๒ สัปดาห์ ระหว่างวันและก่อนนอนยังหลุดฟุ้งซ่านตลอด รู้อีกทีก็หดหู่แล้ว มีข้อแนะนำในการปฏิบัติที่ทำให้พัฒนาสติไปได้ไกลกว่านี้ไหมคะ?
ระยะเวลาคลิป
๙.๐๕ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=HZpCg9w-3-4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=7
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น