วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผมเจริญภาวนาพุทโธโดยกำหนดที่ลมหายใจที่รูจมูก ได้แต่นิ่งไม่สว่างและไม่เกิดปัญญาควรแก้ไขอย่างไร?

 ดังตฤณ :  ถ้าเราตั้งเป้าไว้ในการนั่งสมาธิแล้วเราจะเอาแค่พุทโธ พอพุทโธไปจ่ออยู่ที่ลมหายใจ จิตจะแคบ

บางทีครูบาอาจารย์ที่ท่านสอน ท่านอาจจะจิตใหญ่ได้ จิตสว่างได้ แต่ว่าคนปฏิบัติที่ผมเจอมาจริงๆ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถไปถึงจุดที่จิตมันจะสว่างได้ เพราะมันจะจี้คับแคบเข้ามาที่จุดเฉพาะ อย่างที่คุณบอกว่ากำหนดไว้ที่ปลายจมูก

คุณลองนึกดู คุณได้ชุดคำสั่งมาว่า ให้กำหนดจิต ให้วางจิตไว้ที่ปลายจมูกแล้วก็ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วถามตัวเองว่า จิตของคุณมันลู่เข้า หรือว่าแผ่ออก

ลักษณะจิตที่ลู่เข้า จะเหมือนกับคุณเอาตามาเล็งอยู่แบบนี้ (เล็งสายตาไปที่ปลายนิ้วชี้จุดเดียว) มันแคบ หรือว่ามันกว้าง แล้วเปรียบเทียบดูตอนที่คุณทอดตาสบายๆไปมองขอบฟ้า ตอนนั้นจิตมันเปิด หรือว่าจิตมันแคบเท่ากับมองปลายนิ้ว เนี่ย!อาการมันแบบเดียวกัน

ถ้าคุณหลงไปจี้จิตอยู่กับปลายนิ้วอยู่อย่างนี้ มันก็แคบอยู่อย่างนี้แหละ มันไม่มีทางกว้างขึ้นมาได้ หรือกว้างแบบฟลุคๆขึ้นมามันก็กว้างได้แค่ครั้งสองครั้ง นิ่งได้แค่ครั้งสองครั้ง นอกนั้นอีกร้อยอีกพันอีกหมื่นครั้งมันก็จี้อยู่กับความคับแคบ แล้วไม่ได้ปัญญา เพราะอะไร?

เพราะว่าจิตที่มันคับแคบอยู่ มีความมืดไม่สว่าง มันเอาไปใช้พิจารณาอะไรไม่ได้ การที่เราจะเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง หรือของที่มันเป็นอนัตตาไม่ใช่บุคคลได้ จิตต้องใหญ่ จิตต้องกว้าง จิตต้องเปิด

ชุดคำสั่งของอานาปานสติจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านให้ระลึกแค่ว่า ขณะนี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ขณะนี้กำลังหายใจยาวหรือหายใจสั้น

ทิศทางของการเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ มันคือทิศทางของการรู้ รู้ตามจริงโดยไม่จี้ลงไปจำกัดเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แล้วการที่รู้ตามจริงถ้าหากว่ามีความสม่ำเสมอคงเส้นคงวามากพอ หายใจรู้ว่าท้องป่องขึ้นมานิดนึง หายใจออกรู้ว่าท้องแฟบลงมา มันก็รู้ทั่วทั้งองคาพยพได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปฝืน หรือว่าไปกำหนดดูอะไร จิตมันจะค่อยเปิดกว้างขึ้น

แล้วจิตที่เปิดกว้างขึ้นอย่างเป็นสมาธิ มันจะมีความสามารถรวมลง ผนึกเข้าเป็นการรวมกระแสของจิต ทำให้จิตใหญ่ขึ้นเป็นธรรมดา

พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนเลยนะว่า ให้จี้จิตไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง ให้ดูโดยคำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ ท่านไม่เคยสอนเลยนะครับ ท่านแค่ให้ระลึกว่า กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก หายใจยาว หรือหายใจสั้น จนกระทั่งจิตมันปฏิรูปตัวเองกลายมาเป็น ผู้รู้ ผู้ดู ผู้สังเกตการณ์

คุณจะลองไปอ่านสเตตัสที่ผมเพิ่งตั้งไปเมื่อวันก่อน ในสเตตัสจะบอกว่า การเอาแต่จ้องลมหายใจยังไม่ใช่อานาปานสติ อานาปานสติไม่ใช่แค่การจ้องลมหายใจ

ที่คุณทำมาทั้งหมดคือการจ้องลมหายใจ จ้องจะเอาความสงบอย่างเดียว แล้วคนที่ตั้งเป้าว่าเราจะทำสมาธิด้วยการจ้องลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบ วันไหนสงบก็บอกว่าวันนี้ทำอานาปานสติได้ดี วันไหนไม่สงบ วันนี้สงสัยไม่ถูกจริตกับอานาปานสติ เป็นอย่างนี้กันร้อยทั้งร้อยเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในไทย เมืองนอกเขาก็ไม่ได้สอนกับแบบนี้นะว่าให้มาเพ่งคำบริกรรม หรือว่ากำกับคำบริกรรมกับลมหายใจ หรือว่าจี้เข้าไปที่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ได้สอนกันแบบนี้นะครับ

เริ่มต้นขึ้นมา ถ้าเป็นเมืองนอกเขาเน้นให้ผ่อนคลายร่างกายก่อน ให้รู้ขึ้นมาทั่วร่างกายที่มันสบายให้ได้ก่อน แต่ของเขาก็จะออกแนวไปแบบกำหนดลมหายใจเพื่อให้เป็นสมาธิไปอีกแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ดูตามจริงรู้ตามจริงว่าลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่

แบบพุทธเนี่ย กว่าจะเข้าใจมันยากจริงๆนะ เท่าที่ผมอยู่ตรงนี้มา ๓๐ ปี (คุณดังตฤณยิ้ม) กว่าจะพูดให้เข้าใจว่าดูลมหายใจยังไงที่จะดูโดยความเป็นของไม่เที่ยงเนี่ย โอ้โหมัน .. กว่าคนๆหนึ่งจะได้ยินคำนี้ มันต้องใช้เวลา มันต้องผ่านด่านกันเยอะจริงๆ เพราะอะไร?

เพราะว่าตอนที่หลับตาลงแล้วเห็นลมหายใจ โดยธรรมชาติของจิตมันจะเพ่งเข้าไปยึดทันทีว่า ลมหายใจของเราจงมาดับจงมาระงับความฟุ้งซ่าน

ที่จิตจะทำตัวเป็นผู้เฝ้ารู้ผู้เฝ้าดูว่า นี่หายใจเข้า นี่หายใจออก นี่หายใจยาว นี่หายใจสั้น มันทำไม่ได้ เพราะว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีใครสอน ไม่ค่อยมีใครเป็นบรรทัดฐานให้เชื่อมั่นว่า นี่คือวิธีที่พระพุทธเจ้าสอน เสร็จแล้วพอไม่ย้ำไม่เน้นกันที่ตรงนี้เนี่ย มันก็เอาตามธรรมชาติดิบๆของจิตที่พยายามจะทำสมาธิ

คำว่า พยายามทำสมาธิ ในการรับรู้ของคนทั่วไปก็คือ การพยายามที่จะเอาความสงบ เอาลมหายใจเป็นที่ตั้งของความสงบ เพราะฉะนั้นพอหลับตาลงไป แล้วในหัวมันฟุ้งๆ ยุ่งๆ ก็พยายามสู้กับความฟุ้งยุ่ง บังคับตัวเองให้รู้ลมหายใจเข้าไป แล้วพอได้ยินคำสอนว่า ให้จี้ลมหายใจเข้าที่จุดกระทบจุดใดจุดหนึ่งของจมูก ยิ่งไปกันใหญ่เลยนะครับ มันอาศัยสัญชาตญาณ อาศัยความไม่รู้ทางที่แท้จริง ตั้งมุมมองไว้ว่าจะเอาเฉพาะตรงนี้จุดนี้ จุดที่เป็นโพรงจมูกปลายจมูก คือพอฟังว่าจะดูลมหายใจโดยความไม่เที่ยง ดูยังไง เนี่ย!มันไม่เข้ากัน มันก็เลยมีความรู้สึกขัดแย้งแล้วก็คัดง้างอยู่ว่า มันดูไม่ได้หรอกดูลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง มันดูได้แต่เฉพาะแค่ว่า จากจุดใดจุดหนึ่งของลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบเท่านั้น อันนี้พูดบ่อยมาก เดี๋ยวลองไปอ่านดูที่ผมเขียนไว้ในสเตตัสวันก่อนนะครับ


หมายเหตุผู้ถอดคำ : สเตตัสที่คุณดังตฤณแนะนำให้เจ้าของคำถามอ่านเพิ่มเติม

วันที่โพสต์ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

เบสิกของอานาปานสติ
คือ ให้มีสติรู้ว่า
กำลังหายใจเข้าหรือออก
กำลังหายใจยาวหรือสั้น
ตัวความเป็นอานาปานสติ
เริ่มนับกันที่สมาธิจิต
คือ เข้าโหมด ‘รู้มากกว่าคิด’
จิตเป็นผู้รู้ว่ากำลังเห็นลม
รู้สึกชัดว่า ลมไม่ใช่เรา
เราแค่เป็นผู้เห็นลมทั้งปวง
แก่นของอานาปานสติจริงๆ
อยู่ที่เห็นความไม่เที่ยง
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
คือ ให้ทำไว้ในใจว่า
เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
เริ่มเห็นความไม่เที่ยงกันอย่างไร
ก็เห็น ณ ขณะหายใจเข้าหายใจออกอยู่นั่นเอง
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
คือ ให้ทำไว้ในใจว่า
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ความสงบระงับทางกาย หายใจออก
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ความสงบระงับทางกาย หายใจเข้า
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ความปรุงแต่งของจิต หายใจออก
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ความปรุงแต่งของจิต หายใจเข้า
ฯลฯ
พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด
คือ คุณเริ่มทำอานาปานสติเป็นจริงๆ
ก็ตอนมีสมาธิ มีสติคมพอจะเห็นว่า
ปีติสุขแสดงตัวอยู่ ณ ขณะรู้ลมเข้าออก
เห็นความเบา ความเปิดแผ่ ความสว่าง
สักแต่เป็นความปรุงแต่งจิต
ที่เกิดขึ้นในแต่ละลมหายใจ
ซึ่งเมื่อเห็นเช่นนั้นได้
ก็สามารถเห็นอะไรอื่นได้หมด
ไม่ว่าจะเป็นความเกร็งของกาย
ความอึดอัดเป็นทุกข์
ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ
มันแสดงความไม่เท่าเดิมให้ดู
ในแต่ละขณะลมหายใจเหมือนๆกัน
คนส่วนใหญ่จ้องแต่ลมหายใจ
มุ่งหวังจะเอาความสงบอย่างเดียว
แล้วบอกว่าฝึกอานาปานสติ
พอสงบ ก็บอกว่าชอบอานาปานสติ
พอไม่สงบ ก็บอกว่าไม่ถูกจริตกับอานาปานสติ
ก่อนฝึกอานาปานสติ
จึงต้องมีสัมมาทิฏฐิ
คือ รู้ว่าจะฝึกอานาปานสติ
เพื่อเห็นความไม่เที่ยงในกายใจ
โดยมีสติรู้สึกถึงลมหายใจเป็นตัวกำกับ
ให้ลมหายใจเป็นพี่เลี้ยง
ไม่ใช่มุ่งเอาแต่ลมหายใจท่าเดียว

เมื่อสามารถมองเห็นว่า
ไม่มีอะไรเหมือนเดิมสักอย่าง
ในแต่ละลมหายใจ
แล้วคลายทุกข์
เพราะคลายอาการยึดได้
นั่นแหละ! มาถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้า
ทรงประสงค์จะให้รู้ ประสงค์จะให้ดู
โดยอาศัยอานาปานสติเป็นยานแล้ว!


-------------------------------------------

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงงาน

คำถาม : ผมเจริญภาวนาพุทโธโดยกำหนดที่ลมหายใจที่รูจมูก ได้แต่นิ่งไม่สว่างและไม่เกิดปัญญาควรแก้ไขอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป     ๘.๐๔ นาที
รับชมทางยูทูบ   https://www.youtube.com/watch?v=YTbn8xN26iY&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น