วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

 ดังตฤณ :  ต้องใช้หูฟังนะครับ เพราะจะมีเสียงสติช่วยทำให้สวดอิติปิโสได้อย่างมีสมาธินะครับ เรามาเริ่มกันนะครับ

                                         คุณดังตฤณนำสวดมนต์

                         โดยอัญเชิญ พระบูรณพุทธ เป็นพระประธาน

                                  และใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์



จบไปอีกคืนนะครับสำหรับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์ ๓ ทุ่มนะครับ บอกท้ายรายการอีกครั้ง พรุ่งนี้ถ้าใครสนใจอยากจะได้ขอรับหนังสือดังตฤณฟรีนะครับ ๗ โมงครึ่ง จะมีรายละเอียดจากแอดมินเบลล์มาแจ้งให้ทราบนะครับ ว่าจะต้องทำยังไง อันนี้ก็เป็นทางคุณฐานะเชษฐ์-คุณขวัญพัฒน์ สุวัฒนากุลวงศ์กับครอบครัวได้ร่วมกันทำมานะครับ ก็ขออนุโมทนาด้วย

สำหรับคืนนี้ต้องร่ำลาไปก่อนที่ตรงนี้ครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ

------------------------------------

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

ช่วง     : สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

ระยะเวลาคลิป    ๓.๓๖ นาที
รับชมทางยูทูบ   https://www.youtube.com/watch?v=YuSujIPclwI&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=23

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ในหัวชอบมีความคิดว่า จะต้องไปฆ่าแม่ บางทีก็ทำตามความคิดโดยไปหายใจใส่แม่ เดินใส่แม่ จะมีวิธีรับมือกับความคิดอย่างไร จะบาปไหม?

 ดังตฤณ : คนยุคเราเนี่ยผมเข้าใจนะ หลายคนดูแล้วอย่ามองเป็นเรื่องตลกนะครับ ตอนนี้มันเหมือนราวกับว่าโลกเราเต็มไปด้วยภูติผีปีศาจที่คอยยุยงให้จิตมนุษย์หมกมุ่นครุ่นคิดไปในทางแย่ ในทางร้าย

หลายคนก็บอกว่าราวกับมีปีศาจอยู่ในหัว คอยยุแหย่ให้คิดอกุศลไปต่างๆนาๆ หรือว่าคิดลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ จริงๆไม่ใช่ภูตผีปีศาจที่ไหนหรอก ภูตผีปีศาจที่มนุษย์สร้างกันขึ้นมานี่แหละเป็นหลัก

ภูตผีปีศาจภายนอกอาจมากระตุ้นจริง อันนี้ไม่ได้ปฏิเสธนะ เดี๋ยวบางคนดูอยู่จะบอกว่า “ไม่รู้จริงนี่ มีเปรตอยู่จริงๆ มีอสุรกายอยู่รอบตัวมนุษย์จริง” อันนั้นก็ส่วนหนึ่งนะครับ

แต่ว่าภูติผีปีศาจเหล่านั้นมาจากไหนล่ะ รู้มั้ยว่าจิตของคนเรามันทำตัวเป็นแม่เหล็กได้ บางทีมันมาจากวิบากกรรม แม่เหล็กมันมาจากวิบากกรรมไปดูดเขามา วิธีที่เราปล่อยใจนี่แหละ วิธีที่เราตามๆโลกไปนี่แหละ ดูหนังดูละครแล้วก็อิน อินไปกับเขานั่นแหละ นั่นแหละแม่เหล็กโดยที่ไม่รู้ตัวนะครับ แล้วเวลาที่มันดูดกระแสอกุศลอะไรเข้ามา ก็ปกป้องตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จะขับออกไปยังไง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีศาจในหัวนะครับ

ตัวคำถามบอกว่า

“ในหัวชอบมีความคิดว่าจะต้องไปฆ่าแม่ แล้วบางครั้งก็ปฏิบัติตามความคิดนั้นเลยกังวลเรื่องอนันตริยกรรมครับ แต่ไม่ใช่ไล่ฟันแม่นะครับ เป็นการกระทำปกติ เช่น หายใจใส่แม่ เดินใส่แม่ ถ้าแม่เกิดป่วยจากการกระทำของผมขึ้นมาจะบาปมั้ย มีวิธีรับมือกับความคิดอย่างไร”

อันดับแรกที่สุดคือ มนุษย์เราเนี่ยนะคุณต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง มันมีทั้งเทวดา และก็ปีศาจในตัวเอง อย่าไปงงว่าทำไมบางทีเราก็คิดดีกับเขานะ แต่ทำไมบางทีมันคิดอะไรชั่วร้ายได้ปานนั้น ราวกับว่าไม่ใช่ตัวของเราเลย ก็ไม่ใช่ตัวของเรานั่นแหละครับ ทั้งที่คิดดีแล้วก็คิดไม่ดีนั่นแหละ มันไม่มีตัวเราที่แท้จริงหรอก มันมีแต่จิตที่พร้อมจะพลิกระหว่างความเป็นกุศลกับอกุศล

ถ้าหากว่าเราเข้าใจตรงนี้จริงๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในแก่นสารของพุทธศาสนานะครับ ไม่มีตัวตนมีแต่จิตที่พร้อมจะพลิกไปพลิกมาระหว่างมืดกับสว่าง ระหว่างจิตที่เป็นกุศลกับอกุศลเนี่ย เราจะต้องรับกับความจริงที่ปรากฏในอกของเราในหัวของเราได้ โดยไม่ทุกข์ทรมานเกินไป แล้วก็ไม่ต้องกลัวบาปกลัวกรรมอะไรมากมายนะครับ

อย่างกรณีของคุณเนี่ย จะด้วยความป่วยไข้ หรืออะไรก็ตาม หรือจะมาคิดถึงเรื่องโควิด หรืออะไรก็ตามคุณไม่ได้แจกจาระไนไว้ แต่ตัวแก่นสารของคำถามคือ

“ทำอย่างไรใจถึงจะเลิกคิดอะไรชั่วร้าย ทำอย่างไรใจถึงจะไม่เป็นอกุศล ทำอย่างไรใจมันจะไม่เอาบาปเอากรรม”

เนี่ยตัวนี้คือแก่นสารของคำถาม ซึ่งถ้าหลายคนติดตามเพจดังตฤณมา อาจจะเบื่อว่าโอ้โหทำไมมีเรื่องแบบนี้มาให้พูดถึงกันบ่อยจัง ก็คนยุคเรามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วผมก็พยายามที่จะตอบให้มันหลากหลายนะครับ

แต่จุดใหญ่ใจความมันรวมลงอยู่ที่เดียวคือ คุณต้องเข้าใจว่าทั้งคิดดีและคิดร้ายไม่ใช่ตัวจริงๆของคุณ มันมาตามเหตุปัจจัย แล้วก็สิ่งที่จะทำให้คิดไม่ดีได้ มันก็มีอยู่แค่สามอย่าง คือ โลภะ โทสะ แล้วก็โมหะ เปรียบเหมือนกับกระบอกปืนใหญ่สามกระบอก สามชนิด สามยี่ห้อ ที่มันถึงรอบยิงขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็ยิง

ปืนสามกระบอกนี้ จำไว้เลยนะครับ มันจะไม่หยุดจนกว่าคุณจะเป็นพระอนาคามี แล้วถ้าหยุดจริงๆแบบหยุดสนิทแม้กระทั่งปืนใหญ่ที่สุดที่เรียกว่าโมหะเนี่ย ก็คือเป็นพระอรหันต์แล้ว นอกเหนือจากนั้น ต่อให้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ต่ำกว่าพระอนาคามีลงมา ปืนสามกระบอกนี้ยิงตลอด ขึ้นอยู่กับว่าเรามีพฤติกรรมในชีวิตยังไง มีเส้นทางกรรมยังไงที่จะทำให้มันยิงออกมาถี่บ่อยแค่ไหน

ถ้าเราอยู่บนเส้นทางของศีล แล้วก็มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมะ ที่เป็นกุศล ปืนสามกระบอกนี้จะยิงน้อย แต่ก็ยิงอยู่ดี คือพอได้รอบของมัน ได้เวลาของมันขึ้นมา มันจะยิงออกมาโดยที่คุณไม่ได้เป็นคนยิงเอง ไม่ได้เป็นคนเลือกนะครับ

พอเราเข้าใจได้ว่ากิเลสทั้งสามเนี่ย คุณไม่ได้เป็นเจ้าของ คุณไม่ได้เป็นคนที่ผลิตปืนที่จะยิง โลภะ หรือว่าโทสะ หรือว่าโมหะ แต่มันเป็นธรรมชาติที่ถูกติดตั้งมากับชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มันก็จะได้แบ่งเบาความรู้สึกรับผิดชอบกับกิเลสของตัวเอง ความคิดไม่ดีของตัวเองลงได้บ้าง ทรมานใจน้อยลง แล้วหันมามีแก่ใจที่จะสร้างเสริมให้จิตของเรามีกุศลมากขึ้น มากขึ้นเหมือนอย่างทอปปิค (topic) ของวันนี้คือ “ขับไล่ความมืดด้วยแสงสว่าง ไม่ใช่ขับไล่ความมืดด้วยความมืด” แม้แต่ความทรมานใจ แม้แต่ความไม่พอใจในตัวเอง ก็จัดเป็นความมืดชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น พอคิดไม่ดีแล้วทรมานใจ หรือว่าด่าตัวเองซ้ำ นี่คือการพยายามขับไล่ความมืดด้วยความมืด

แต่ถ้าหากว่า เรามีสติรู้ว่าสิ่งที่คิดขึ้นมานั้น มันเป็นสิ่งไม่ดี แล้วเราไม่เอามัน แล้วก็รู้ว่าพอเรามีสติยอมรับตามจริงว่า เออมันเกิดขึ้นในหัวเรา แล้วรู้สึกว่าไอ้นี่มันเกิดเอง เหมือนกับปืนใหญ่ที่ลั่นขึ้นเอง แล้วเราไม่รู้สึกว่าเราจะต้องไปรับผิดชอบอะไรกับมัน แป๊บนึงอีกลมหายใจต่อมา เราเกิดความรู้สึกว่ามันเริ่มเจือจาง มันเริ่มหายไปจากหัว แล้วนั่นก็คือหลักฐานว่ามันไม่ใช่ตัวเราจริงๆ

เพราะถ้ามันเป็นตัวเรา หรือว่ามันเป็นสิ่งครอบงำเราได้จริงๆ มันต้องอยู่เลย แต่นี่มันค่อยๆจางหายไป นั่นแสดงว่าไม่ใช่ตัวเราแน่ๆ ต่อไปพอมันเกิดความคิดอะไรไม่ดีขึ้นมา แล้วเราไม่ลงมือกระทำ ไม่ไปใกล้แม่ อยู่ห่างแม่ เพื่อให้แม่ปลอดภัยจากลมหายใจของเรา แบบนี้บอกตัวเองเลยว่า นี่คือใจจริงที่เรามีความตั้งใจ นี่คือกรรมของเรา ไอ้ที่เป็นความคิดแย่ๆในหัว หรือว่าที่เผลอทำตามความคิดแย่ๆนั่น มันเป็นแค่ภาคความมืดที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เราไม่เอานะครับ

ส่วนภาคความสว่าง พอเราคิดดี เราคิดไม่ฆ่าแม่ได้ แล้ววันหนึ่งมันกลับคิดไม่ดีขึ้นมาอีก เราก็จะได้เห็นด้วยว่า แม้แต่ความคิดดีๆมันก็ไม่ใช่ตัวเราเช่นกัน มันจะได้เห็นเป็นธรรมะ มันก็จะได้เห็นว่ากายนี้ใจนี้ที่กำลังปรากฏอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จริงๆแล้วมันไม่เคยมีตัวเราอยู่จริงๆ ตัวเราในแบบที่เราคิดมันไม่ได้มีอยู่หรอก มีแต่จิตที่สว่างเป็นกุศลบ้าง หรือว่าจิตที่มืดเป็นอกุศลบ้าง สลับไปสลับมาตามเหตุปัจจัยนะครับ

-------------------------------------------

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

คำถาม : ในหัวชอบมีความคิดที่ว่า "จะต้องไปฆ่าเเม่ " เเล้วบางครั้งก็ปฏิบัติตามความคิดนั้น เลยกังวลเรื่องอนันตริยกรรม เเต่ไม่ใช่ไล่ฟันเเม่ นะครับ เป็นการกระทำปกติ เช่น หายใจใส่เเม่ เดินใส่เเม่ เป็นต้น ถ้าเเม่เกิดป่วยจากการกระทำของผมขึ้นมาจะบาปใหม? จะมีวิธีรับมือกับความคิดอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป    ๙.๓๒  นาที

รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=iM0Q6e40agw&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=17

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ‘จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์ สามทุ่ม วันนี้ เรามาพูดหัวข้อที่หลายคน อาจเคยได้ยินกันมานะครับ คำว่า จิตว่าง

 

จิตว่างอย่างไร ก็เป็นไปตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้ประสบ หรือคุ้นเคย หรือว่าเคยผ่านๆ มาบ้าง อย่างเช่นบางทีบอกว่า ตื่นขึ้นมาหัวโล่ง รู้สึกว่าใจว่างเปล่าไปหมด นั่นก็เป็นจิตว่างชนิดหนึ่ง ตามประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมา

 

หรือบางคนบอกว่า ได้สวดมนต์ หรือเจริญวิปัสสนาเจริญปัญญา แล้วเกิดความรู้สึกว่าว่าง เป็นสมาธิอยู่ได้พักหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ใจว่าง แล้วก็เหมือนกับเป็นความว่างที่น่าสงสัย นี่ก็มีประสบการณ์ไปต่างๆ แล้วได้ข้อสรุปที่อาจจะตรงกันหรือไม่เหมือนกัน

 

ทีนี้ คืนนี้ที่เราจะมาพูดกัน เราไม่ได้จำเพาะเจาะจงนะ ว่าเป็นความว่างตามประสบการณ์แบบของใคร เรามาพูดกันแบบเนื้อๆ ตามความน่าจะเป็น แบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เกี่ยวกับแนวทางการเจริญสตินะ

 

ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันก็คือ คำว่า จิตว่างไม่ได้มีบัญญัติไว้ พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงเรียกแบบนี้นะ ไม่ได้เรียกว่าจิตว่าง แต่เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ร่วมสมัยเรา อาศัยเรียกประสบการณ์ทางความรู้สึกภายใน เหมือนอย่างที่ผมยกตัวอย่างเมื่อครู่ ว่ารู้สึกว่างจัง ตื่นขึ้นมาหัวโล่ง แล้วรู้สึกว่าใจไม่มีอะไร นี่ก็จิตว่าง ตามที่เกิดความรู้สึกกันแบบชาวบ้าน

 

หรือคนทำสมาธิ ทำไปแล้วเกิดข้อสงสัยว่า มาถึงจุดหนึ่งใจรู้สึกว่างโหวง ไม่มีอะไรเลย เหมือนกับไม่มีใคร ไม่มีบุคคล แบบนี้เรียกมรรคผลไหม แบบนี้เรียกว่านิพพานหรือเปล่า เราก็จะได้มาแจกแจง

 

เพราะถ้าเกิดประสบการณ์ทำนองเดียวกัน ว่าเกิดความว่าง เกิดความโล่ง เราไม่มานิยามกันชัดๆ หรือว่าจาระไนกัน ให้เป็นไปแบบที่พระพุทธเจ้าท่านเคยแจกแจงไว้นี่ ข้อสงสัย ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือทึกทักว่า เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเกิดความสำคัญไปว่า ตัวเองได้เป็นอะไรชั้นไหนแล้ว ไปถึงไหน บรรลุธรรมขั้นใด อันนี้เลยมีประโยชน์ ถ้าหากว่าเรามาทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นนะครับ

 

มาพูดถึงข้อสำคัญ ความสำคัญของจิตว่างก่อน คือเราพูดแบบที่ชาวโลกสามารถทำความเข้าใจได้ตรงกันก็คือ ถ้าจิตว่าง จะสงบง่าย

 

ถ้าจิตเรารู้สึกว่า ไม่มีอะไรในใจ เป็นคนไม่มีอะไรในใจ สิ่งที่คุณจะเห็นได้ชัดก็คือว่า อยู่ที่ไหน ท่ามกลางความวุ่นวาย หรืออยู่กับความสงบภายนอกก็ตาม จิตของคุณจะระงับง่าย จะระงับจากความวุ่นวายทั้งหลาย ที่เป็นของประจำโลกภายนอก

 

คุณจะเข้าใจคำว่าโลกภายใน คุณจะรู้ด้วยตัวเองว่า การมีจิตว่างทำให้หลับง่าย

 

ถ้าเราเอาโรคของคนเมืองยุคปัจจุบัน มาพูดกัน อันดับต้นๆ ก็คงไม่พ้นโรคหลับยาก โรคเครียด พอจะหลับทีไร ..โอ้โห เหมือนกับต้องต่อสู้กับอะไรที่ไม่ทราบข้างในตัวเอง อยู่ในหัวนี่แหละ แต่เราไปชนะมันไม่ได้ แล้วก็บางคนนี่ ถึงขั้นว่าไม่อยากให้ถึงเวลานอนเลย เพราะถึงเวลานอนทีไร ต้องมาทรมานกับภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น จะหลับก็ลงไม่สนิท จะว่าตื่นก็คิดอะไรไม่ออกนะ ทำงานอะไรไม่ได้ ไม่มีผลงาน ไม่มีความคืบหน้าอะไรในชีวิตขึ้นมา แล้วก็อยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ

 

ภาวะครึ่งๆ กลางๆ จะหลับก็ไม่ใช่ จะตื่นก็ไม่เชิงนี่แหละ ที่ทำให้คนบางทีถึงขั้นเกิดความผิดปกติ ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากจะฟาดงวงฟาดงา หรืออยากจะไม่ทำอะไรเลย งอมืองอเท้าดูสิว่าจะตายไหม อะไรแบบนี้

 

เพราะฉะนั้น พูดกันตามประสาชาวบ้านง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจิตไม่ว่าง จะหลับยาก แล้วก็ตื่นขึ้นมาไม่มีความสุข เป็นคนที่รู้สึกว่าจิตเต็มไปด้วยปัญหาทางใจที่แก้ไม่ตกนะ ตรงนี้แหละที่ว่า เรามาพูดเรื่องความสำคัญของจิตว่างกันก่อน เอาตามประสาชาวบ้านง่ายๆนะ

 

คนเรา ไม่รู้ตัวกันเท่าไหร่ว่า ต้องการสิ่งนี้ (จิตว่าง) มากที่สุดในชีวิต เพราะอะไร เพราะว่าชีวิตปกติของคนๆ หนึ่ง จะล่อใจให้วุ่น แล้วก็รู้สึกดี รู้สึกชอบ รู้สึกสนุกในช่วงต้นๆ นะ กับความวุ่น หรือความกังวลกับอะไรที่จะได้หรือไม่ได้ กังวลแบบลุ้นน่ะ

 

แล้วพอลุ้น ปรากฏว่าได้ ก็ดีใจ เนื้อเต้น ถ้าไม่ได้ ก็อาจเป็นแรงผลักดันให้พยายามเอาใหม่ เอาให้ได้อะไรแบบนี้

 

นี่! คนเราเริ่มรู้จักความไม่ว่าง คุ้นเคยกับมัน แล้วก็สนุกกับมัน ได้รางวัลจากมัน เพราะคนจะพูดกันเสมอ ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งเป้า ไม่อยากได้อะไรในชีวิต มันก็จะเฉื่อยชา ตรงนี้ เป็นสิ่งที่ชาวโลกเขาสื่อสารกันเข้าใจ และถ้าใช้ชีวิตไปแบบที่ มีจิตว้าวุ่น อยากนั่นอยากนี่ไปเรื่อยๆ

 

ถึงจุดหนึ่ง จะกลายเป็นว่า ทุกคนจะตั้งคำถามเหมือนกันหมด ราวกับถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน คือ ทำอย่างไร จะเลิกคิด ทำอย่างไรจะเลิกฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรจะเลิกว้าวุ่น

 

ผมเคยเห็นเป็นหนังสือ หรือบทความอะไรสักอย่าง ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจเลยนะ ตั้ง Topic ว่า .. เอ้อ เป็นหนังสือนะ เดินผ่านไปที่ร้านหนังสือแล้วเห็น .. ทำอย่างไรจะหยุดคิด

 

ความหมายก็คงจะ หยุดฟุ้งซ่าน เพราะคนเราหยุดคิดไม่ได้ ถ้าจิตไม่เป็นฌาน ไม่มีทางหยุดคิดนะ แต่ความหมายก็คือ เลิกคิดสิ่งที่ไร้สาระ ไร้ประโยชน์อะไรแบบนี้ ซึ่งคนยุคเราถวิลหากันมากเลย คำตอบนี้ ว่าทำอย่างไรจะหยุดคิด

 

พอมาพูดเรื่องจิตว่าง ก็คือตรงกันนั่นแหละ จิตว่างก็คือจิตที่เบรคจากความคิดไร้สาระที่รกหัว แล้วก็ทำให้เกิดความว้าวุ่นอย่างเปล่าประโยชน์นะ

 

มาพูดกันว่าที่เป็นประสบการณ์จิตว่าง รู้สึกกันอย่างไร

 

แยกออกเป็นความรู้สึกแบบคร่าวๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมาในทางเจริญสตินะครับว่า ที่รู้สึกว่าง ก็เพราะไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน ถ้ามีความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายบรรจุอยู่ จะไม่มีทางรู้สึกว่าว่าง

 

แต่เมื่อไหร่ความฟุ้งซ่านซัดส่ายน่ารำคาญใจ หายไป ก็จะเหมือนท้องฟ้าโล่ง ไร้พายุนะครับ ที่ไม่มีสิ่งแปลกปลอมมาป้วนเปี้ยนอยู่ในหัว

 

คุณลองนึกถึงตอนก่อนนอน และตอนตื่นนอน ที่รู้สึกว่า ใจสงบราบคาบ เหมือนน้ำนิ่ง ใจนี่ว่างจากความคิดซัดส่าย คือยังมีความคิดอยู่ในหัวอยู่ เป็นความคิดเหมือนสายหมอกบางๆ แต่ไม่ใช่ความคิดแบบซัดส่าย ซัดไปซัดมาเป็นพายุ ซึ่งเราเรียกกันว่า ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

 

นอกจากนั้น เวลาที่เราบางคนนะ สวดมนต์เป็น สวดแบบที่จะมีจิตเต็มๆ อยู่กับการสวด ด้วยความเคารพ ด้วยความอยากจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาอย่างเดียว ไมต้องการอะไรทั้งสิ้น แล้วมีสมาธิกับตรงนั้นทุกคืน หรือทุกเช้า จนกระทั่งสมองเข้าโหมดลงตัว นึกถึงการสวดมนต์ปุ๊บ เกิดความรู้สึกสงบ พร้อมที่จะมีความรู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบัน และอิริยาบถปัจจุบันนั้นว่างเปล่า ปราศจากความฟุ้งซ่าน พร้อมจะสวดมนต์ทันที นี่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งของจิตว่าง

 

พูดง่ายๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่าจิตว่าง จากการไม่มีความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายอยู่ในหัว นอกจากนั้นมีอีกคือ ลักษณะของจิตว่างนี่ ประสบการณ์จิตว่าง มาได้จากหลายแง่หลายมุม ที่รู้สึกว่างเพราะไม่มียางเหนียว ที่จะไปยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นบุคคลหรือสิ่งของก็ตาม

 

คือคุณต้องเข้าใจว่า ความอยากนั่นอยากนี่ เป็นยางเหนียว ทำให้รู้สึกเหนอะหนะ เหมือนกับมีอะไรที่เป็นโคลน เป็นยาง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด เกิดความรู้สึกไม่สบาย ไม่แห้งตัว

 

ทีนี้ ถ้าไม่ยึดติดกับอะไร คือไม่ยึดติดจริงๆ แบบที่คนทั่วไป เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ นี่ ก็มีจิตโยงไปถึงสิ่งโน้น หรือคนโน้นคนนี้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ใจแกะออกจากสายโยงสายใยตรงนั้นไม่ออก ก็จะเหมือนกับมีอะไรที่เหนียวๆ เป็นความรู้สึกเหนียวๆ เหนอะๆ หรือบางคนเหมือนเปียกๆ

 

เคยไหม ที่รู้สึกเหมือนกับใจเปียกน้ำ แล้วไม่ใช่แบบน้ำสะอาด แต่เป็นน้ำที่สกปรก เป็นน้ำที่เหนียวๆ เหมือนน้ำครำ แล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ มันรังเกียจสภาพจิตใจของตัวเอง คือไม่ถึงขั้นเกลียดตัวเองนะ พวกเกลียดตัวเองนี่คือเหนอะหนะอยู่ตลอดเวลา

 

ประเภทที่เหนอะหนะเป็นบางจังหวะ บางทีแค่รำคาญ หรืออึดอัด แต่ไม่ถึงขั้นเกลียดตัวเองนี่ .. ตัวนี้ ความอยาก อยากนั่นอยากนี่ อยากไม่เป็นเวล่ำเวลา แล้วก็อยากแบบยึดโยง แล้วไม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเองนี่ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ใจเราไม่ว่าง เต็มไปด้วยความยึดความโยง เปรียบเสมือนกับถูกโซ่หลายๆ เส้น โยงรัดอยู่ เหมือนกับมัดขื่อมัดคานอยู่

 

เราจะรู้สึกได้ถึงความมีจิตว่าง ก็เมื่อวันหนึ่ง เราตื่นขึ้นมาแล้วเกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้อยากได้อะไร ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่เป็นความไม่ได้อยากได้เพราะเบื่อโลก เบื่อนั่นเบื่อนี่ แต่เป็นความไม่อยากได้ เพราะใจมีอิสระ มีความโปร่ง มีความเบา ไม่เหนอะหนะ แล้วเกิดความรู้สึกแห้งสบาย นี่ตัวนี้ก็คือจิตว่าง จากการที่ใจเราไม่ยึดไม่โยง

 

นอกจากนั้น ยังมีความรู้สึกว่าง เพราะว่า ลักษณะของจิต เบาโหวง ยิ่งกว่าฟองสบู่ที่ไร้น้ำหนัก ฟองสบู่ที่ว่านี่มีความโปร่งใส เหมือนกับอากาศธาตุ ที่ไม่หวั่นไหวกับการกระทบ

 

การกระทบกระทั่ง ไม่ว่าจะมีแรงหนักเบาแค่ไหนก็ตาม มีแรงอัด หรือสะเทือนกี่ริกตอร์ก็ตาม จะไม่สามารถที่จะทำให้อากาศว่าง เกิดความปั่นป่วนขึ้นมาได้ ถ้าว่างจริงนะ ถ้าเป็นอากาศว่าง เป็นช่องว่างจริงๆ

 

นี้ก็เหมือนกัน จิตที่มีความรู้สึกว่าง อันเกิดจากลักษณะใสเบาของตัวเอง นี่ จะถึงขั้นที่ว่า ว่างขนาดที่ว่า แม้แต่ความคิดก็เข้ามากระทบ แล้วไม่มีเสียงดัง คือกระทบแบบผ่านไปเฉยๆ ทะลุอากาศไปเฉยๆ คล้ายกับหมอกควันบางๆ ที่ลอยผ่านอากาศไป แล้วไม่ติดอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งของอากาศ

 

เหมือนกัน จิตที่ว่าง ที่รู้สึกว่าง ก็เพราะว่า พอความคิดเข้ามากระทบแล้ว จะไม่วนต่อ ไม่มีลักษณะที่จะปั่นความคิดบางๆ ที่เข้ามา ให้กลายเป็นคลื่นพายุ เป็นความฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ ก็เลยเกิดความรู้สึก ความใส ความเบาของจิตแบบนั้น กลายเป็นความว่าง ให้อะไรๆ ผ่านหายไปเฉยๆ

 

แบบนี้นี่ จะไม่มีความรู้สึกทางตัวตน ที่เกิดจากความคิด แล้วจิตแบบนี้แหละ ที่พร้อมจะเห็นความคิดเป็นสิ่งที่ผ่านมา แล้วผ่านไปไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนนะ

 

นอกจากนั้น ที่จะรู้สึกว่างได้ ก็เพราะเห็นกายใจนี่ ไม่ใช่อะไรให้จิตแบก ไม่ใช่เป็นภาระ ไม่ใช่เป็นของเรา ไม่ใช่เป็นตัวเรา เหมือนกับถ้วยที่ว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีน้ำเข้ามาขังได้ ถึงแม้น้ำจะหกเข้ามา ก็กระฉอกออกหมด จนกระทั่งไม่เหลือน้ำอยู่เลย ลักษณะถ้วยว่างแบบนั้น ก็คล้ายๆ กับจิตว่าง ที่ไม่เอาการกระทบกระทั่งทางกายทางใจ มาใส่ไว้ในจิต

 

จะเกิดเรื่องอะไรก็ตาม เหมือนกับเรื่องนั้น ไม่เข้ามาอยู่ในใจ จะเกิดสิ่งที่น่าติดใจอะไร ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาบรรจุ อยู่ในความว่างของถ้วยนั้นได้ ตัวนี้ คือลักษณะที่เราจะพูดถึงจิตที่ว่าง ว่างขึ้นมาได้อย่างไร

 

ที่พูดมาทั้งหมดนี่ ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะไปกำหนด หรือกะเกณฑ์ว่า จิตจงไม่ยึดอะไร จิตจงมีความโปร่งใส จิตจงไม่เป็นที่รองรับ ไม่เป็นภาชนะที่จะบรรจุเอาน้ำหนักของกายใจนี่ ใส่ลงมา เป็นตัวตน

 

เราไปกะเกณฑ์ด้วยความคิด ความตั้งใจไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะทำแบบที่พระพุทธเจ้าสอน นั่นคือ ค่อยๆ เห็นไป ทีละจุด เอาที่ง่ายที่สุดอย่างเช่น ลมหายใจ

 

ไม่มีอะไรที่รู้ง่ายกว่าลมหายใจอีกแล้วนะ ว่ากำลังเข้าอยู่ หรือออกอยู่ แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจก็ตาม สุขทุกข์ที่มากับลมหายใจก็ตาม หรือจิตที่รู้ลมหายใจก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวง ต่างเป็นแค่ภาวะที่แสดงความไม่เที่ยง โดยตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา จิตจะรู้หรือไม่รู้ มันก็แสดงความไม่เที่ยงอยู่ จนกระทั่งจิตได้ข้อสรุปว่า ที่เห็นอยู่ว่าไม่เที่ยงนี่ เพราะว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน เป็นก้อนตัวก้อนตน ก้อนอัตตาเลยสักก้อนเดียว .. ตรงนี้แหละที่จิตจะว่างขึ้นมา

 

ทีนี้ ถ้าจะเอาเป็นข้อสรุปว่า จิตว่างสำคัญอย่างไร รู้สึกว่าง สำคัญขนาดไหน ก็ดูตอนที่คุณพยายามจะทำสมาธิ ถ้าหากว่าใจพร้อมทิ้งความคิดออกจากหัวได้ ราวกับว่าเป็นแค่เสลดที่ถ่มง่าย หรือว่าเป็นเหมือนกับขี้ฟันที่เราแคะออกมาแล้วก็ดีดทิ้งถังขยะ โดยไม่มีความอาลัยใยดี ตัวนี้ ถ้าเราสามารถมีได้ ก็คือมีสมาธิได้ง่าย จิตว่างนี่สำคัญตรงนี้

 

แล้วก็นอกจากนั้นนะครับ คือ ศาสนาพุทธเราไม่ได้จะเอาแค่สมาธิ แล้วก็ว่างอยู่เฉยๆ ว่างๆ อยู่เฉยๆ บางทีน่าสงสัยด้วย ว่าว่างแล้วจะทำอะไรต่อ

 

ถ้าว่าง ในแบบที่พร้อมจะเห็นกายใจไม่ใช่ตัวตน คือกายใจนี่ เข้ามาไม่ถึง ชั้นของการยึดของจิต จิตก็จะมีความรู้สึกโปร่งเบา พอรู้กาย ก็รู้สึกว่ากายโปร่ง พอรู้สึกเข้ามาถึงความรู้สึกนึกคิด สุขอยู่ ทุกข์อยู่ ก็รู้สึกว่า .. ไม่มีสาระที่จะให้ไปหวงไว้ ถ้าเป็นความสุข หรือ พยายามขับไสไล่ส่ง ถ้าเป็นความทุกข์ .. จะมีความรู้สึกแค่ว่า จะสุข หรือทุกข์ก็ตาม มันมากับลมหายใจที่ต่างกัน

 

ลมหายใจนี้ ถ้ายาว ก็สุข ลมหายใจหน้า ถ้าสั้นก็เป็นทุกข์ รู้อยู่แค่นี้ แล้วไม่เห็นสาระว่า จะต้องไปยึดทำไม จะต้องไปรังเกียจความทุกข์ ที่มากับลมหายใจสั้นทำไม ไม่รู้จะต้องไปหวงความสุข ที่มากับลมหายใจยาวทำไม

 

พอรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่เรามองออกข้างนอก เป็นสมบัติ เป็นบุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่า ที่รังเกียจอะไรต่างๆ เราจะเห็นไม่แตกต่างจากลมหายใจ นั่นแหละ จะถึงจุดหนึ่ง ที่จิตว่างอย่างรู้ ไม่ใช่ว่างแบบเฉื่อยชา หรือว่างอย่างโง่นะ เป็นการว่างอย่างรู้ว่า อะไรๆ ที่ผ่านเข้ามา กระทบให้เกิดปฏิกิริยา มันเลือกได้

 

เลือกได้ว่า จะมีปฏิกิริยาแบบยึดไว้ หรือว่าใจจะมีปฏิกิริยา ในแบบที่ไม่เอาอะไรไว้เลย แล้วรู้สึกดีกับความว่าง จากการไม่เอาอะไรไว้เลย

 

นี่แหละตัวนี้แหละ ที่เวลาเราพูดกันเรื่องจิตว่าง เรามาลงรายละเอียด แล้วเห็นความสำคัญของจิตว่างกันตรงนี้นะ

 

มันสำคัญทั้งในแง่ของการทำสมาธิ และทำวิปัสสนาด้วยนะครับ

__________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?

วันที่ 23 มกราคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=oEWaFmtSyw8

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

ฝันว่าเจอผีแล้วไม่รู้สึกกลัว แสดงว่าเราเริ่มคุ้นชินกับความตายไหม?

 ดังตฤณ : ไม่นะครับ ไม่เกี่ยวนะ ความกลัวผีก็ส่วนหนึ่ง ความกลัวตายก็อีกส่วนหนึ่ง

การที่จะคุ้นเคยกับความตายในแบบพุทธจริงๆ ไม่ใช่การนึกถึงความตายของคนอื่น ไม่ใช่นึกถึงการเห็นผีแล้วไม่กลัว แต่เป็นการเห็นกายนี้อย่างแจ่มชัด จะอยู่ในท่านั่งก็ดี ในท่านอนก็ดี

เคยมีคำสอนของครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า นั่งก็ตาย ยืนก็ตาย เดินก็ตาย นอนก็ตาย หมายความว่า เราเห็นสภาพกายนี้อยู่ในสถานะเดียวกับศพ คือรู้จริงๆไม่ใช่ไปสมมติเอานะว่านี่คือศพ

ในแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านจะสอนให้รู้ลมหายใจให้ได้ก่อนนะครับ เสร็จแล้วก็รู้ว่ากำลังหายใจอยู่ในท่านั่ง ท่านอน ท่าเดิน ท่ายืน พอมีความรู้กายอันเกิดจากการเหนี่ยวนำของลมหายใจแล้ว มันจะเหมือนกับทุกอิริยาบถมีความเบาใจ แล้วความเบาใจนี่แหละ จะทำให้เห็นกายปรากฏประดุจแก้วใสๆ เบาๆ ตอนแรกเนี่ยมันน่าดูนะ แต่พอส่งจิตเข้าไปรู้ว่าสภาพที่แท้จริงที่มันแออัดยัดทะนานอยู่ในร่างกายนี้มันเต็มไปด้วย ตับ ไต ไส้ พุง มันเต็มไปด้วยของโสโครก เต็มไปด้วยปฏิกูลไม่น่ารัก เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็น เต็มไปด้วยสภาพที่อุจาดตา ตัวนี้มันถึงจะเริ่มเข้าสู่ประตูแห่งการรู้ว่ากายนี้เป็นเพื่อนกับผี กายนี้เป็นเหมือนกับระเบิดเวลาในตัวเองที่จะแตกดับ ที่พร้อมจะระเบิด ที่สำนวนพระพุทธเจ้าคือ กายแตก

แล้วพอจิตมีความหยั่งรู้เข้ามาในธรรมชาติของกายว่า ในที่สุดมันต้อง .. มันเกิดขึ้นมาจากสภาพตัวอ่อน โตขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่หง่อมลงไป แล้วก็แตกกระจัดกระจายไป เห็นอย่างชัดเจน คือเห็นด้วยความรู้สึกแบบนี้เลยนะ เนี่ยนั่งอยู่ด้วยความรู้สึกแบบนี้ มันจะมีสติรู้ขึ้นมาแบบหนึ่งว่า กายนี้เดี๋ยวมันต้องหายไปในเวลาไม่นาน มันจะมีสภาพเสื่อมไปเป็นธรรมดา

แล้วถ้าอยู่ในสมาธิจริงๆก็จะเห็นเป็นนิมิตแสดงความเน่าเปื่อยผุพัง แบบที่ครูบาอาจารย์พระป่าชอบพูดกัน ตรงที่ท่านพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วรวมลงเป็นสภาพกายนี้ เป็นนิมิตกายที่เน่าเปื่อยผุพังให้ดู

แล้วจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้สักแต่เห็นนิมิต ก็ตรงที่เวลาเราหายใจอย่างรู้ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถไหนนะครับ นั่งหายใจอยู่ หรือว่ายืน เดิน หายใจอยู่ แล้วปรากฏว่าความรู้สึกเกี่ยวกับกายนี้เนี่ย มันรู้สึกเหมือนกับเป็นซากศพที่จะตั้งอยู่ได้อีกแป๊บเดียว คือคำว่าแป๊บเดียวเนี่ยนะ ในการรับรู้ของคนธรรมดาทั่วไปมันหมายถึง สองสามวินาที แต่แป๊บเดียวในจิตที่ใหญ่เป็นสมาธิ มันจะมีความรู้สึกครอบความปรากฏเป็นแบบนี้ของกายว่า ไม่เกินร้อยปีมันแป๊บเดียว มันเดี๋ยวเดียว มันรู้สึกด้วยจิตที่เป็นสมาธิ แล้วเห็นความจริงเกี่ยวกับกายว่า มันเกิดแล้วต้องดับเหมือนกับฟองน้ำที่พระพุทธเจ้าเคยอุปมาไว้บอกว่า ร่างกายไม่ต่างจากฟองน้ำที่ผุดฟองขึ้นมาแล้วมันก็ต้องแตกโพละไป เป็นอย่างนั้นจริงๆ เห็นอย่างนั้นจริงๆ

แล้วถ้าเห็นถึงขนาดนั้นได้ถึงจะเรียกว่า เป็นการรู้จักความตายอย่างแท้จริง คือมันเห็นเข้ามาที่สภาพอันเป็นธรรมชาติทางกายนี้เลย ไม่ใช่แค่นิมิตชั่วคราว หรือไม่ใช่ว่าอารมณ์ชั่ววูบว่ากลัวหรือไม่กลัวนะครับ

พอเราเห็นความตายของกายได้เป็นปกติ เห็นนิมิตเกิดดับได้เป็นปกติ มันจะไม่มีความอาลัยไยดีในสภาพร่างกาย เหมือนอย่างที่ผมมักจะบอกว่า เวลาที่เราไปบริจาคเลือด หรือว่าอุทิศอวัยวะให้เป็นครูใหญ่กับนักศึกษาต่อไป ลักษณะที่เป็นอวัยวะทานแบบนั้นเนี่ยมันเกื้อกูลนะ มันช่วยให้เวลามาพิจารณากายแล้วเนี่ย รู้สึกว่าสามารถให้จิตเนี่ยสลัดอุปาทาน หรือว่าความยึดมั่นถือมั่นในกายได้ง่ายๆนะครับ อันนั้นก็เป็นส่วนของเรื่องของการบริจาคทานที่จะมามีผลกับการเจริญปัญญานะครับ ไม่ใช่ว่าทานอยู่ส่วนทาน ปัญญาอยู่ส่วนปัญญา จริงๆแล้วมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันหมดนะครับ

----------------------------------------

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

คำถาม : ในฝันเรารู้ว่าเราเจอผีแต่เราไม่รู้สึกกลัว อาจจะมีตกใจในช่วงเเรกที่รู้แต่ก็ผ่านไป แสดงว่าเราเริ่มคุ้นชินกับการตายไหม?

ระยะเวลาคลิป   ๖.๐๒  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=Km-ThaX_p1I&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=18 

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

เวลาจะดูลมหายใจเหมือนเราไปบังคับลมหายใจเข้าออกเอง ต้องทำอย่างไร?

 ดังตฤณ : คุณลองไปที่ www.เสียงสติ.com นะครับ มันจะมีคลื่นศรัทธา คลื่นสมาธิ แล้วก็คลื่นปัญญา ให้คลิกดูคลื่นปัญญานะครับ เดี๋ยวผมจะให้ดู ไม่ได้ให้ดูมานาน เอาแบบที่ให้เห็นคร่าวๆนะครับ

 

คือเวลาที่เราหายใจ แทนที่เราจะจ้องที่ลมหายใจ เรามาดูที่สภาวะทางกาย เวลาที่หายใจยาวแบบสบายๆได้ท้องจะป่องออก เนี่ยในจังหวะแบบนี้เลย (เปิดคลิปคลื่นปัญญาฝึกหายใจ) ป่องออกนิดนึงเหมือนลูกโป่ง แล้วรอให้มันยุบลงไปเอง โดยที่เราไม่ได้บังคับไม่ได้ฝืน แล้วก็ไม่มีอาการเกร็งของร่างกาย

ถ้าร่างกายสามารถอยู่ในอาการนี้ได้ นั่นแหละคือใจของคุณไม่ได้ไปจดจ้อง ไม่ได้ไปบังคับลมหายใจแล้วนะครับ มันจะมีจังหวะตามธรรมชาติที่รู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ

อย่างถ้าคุณดูอยู่อย่างนี้นะ แค่สายตาดูเฉยๆแล้วท้องของคุณป่องเองได้ตามนี้เลย จังหวะนี้เลยเนี่ยนะครับ มันก็จะค่อยๆรู้สึกสบายขึ้น สบายขึ้น จนกระทั่งเกิดความเป็นไปเองที่จะหายใจอย่างเป็นสุข หายใจยาวๆด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ก็บอกไว้สั้นๆนะครับ ไปที่นี่นะครับ www.เสียงสติ.com  แล้วดูตัวแอนิเมชั่น (animation)ที่จะเป็นไกด์ไลน์นะ จะช่วยให้คุณได้หายใจอย่างถูกต้องตามกลไกทางธรรมชาติที่จะก่อให้เกิดสติรู้ลม แล้วก็รู้กายไปด้วยนะครับ

ถ้ารู้ลมอย่างเดียวมันก็เพ่งกันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ารู้ลมด้วยรู้สึกถึงท่านั่งที่มันมีท้องป่องออกมาแล้วก็ท้องยุบลงไป นี่แบบนี้จิตมันถึงจะเต็ม แล้วก็เกิดสติขึ้นมาจริงๆ แล้วก็ไม่มีอาการเพ่งลมมากเกินไปด้วย

-----------------------------------------

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

คำถาม : เวลาจะดูลมหายใจเหมือนเราไปบังคับลมหายใจเข้าออกเอง ต้องทำอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป  ๒.๒๔   นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=W7XCm6IRqdg&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=19 

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

เจริญสติก่อนนอน มีสติรับรู้ลมหายใจแล้วรู้สึกเหมือนหลับๆตื่นๆทั้งคืน คือ คอยแต่จะระลึกรู้ลมหายใจเป็นภาวะที่ถูกต้องไหม?

 ดังตฤณ : อันนี้เป็นปัญหาของคนปฏิบัติ ซึ่งถ้าพูดกันจริงมันอาจจะยาว แต่ผมจะขอสรุปสั้นๆ นะครับ

คำถามคือ “เมื่อเจริญสติก่อนนอนมีสติรับรู้ลมหายใจ แล้วรู้สึกว่าเหมือนหลับๆตื่นๆทั้งคืน คือตาแข็งแล้วก็ใจมันพะวงกับการปฏิบัติจนกระทั่งไม่พักสงบคอย แต่จะรู้ว่าลมหายใจเป็นภาวะที่ถูกต้องมั้ย”

มันไม่ถูกเท่าไหร่นะครับ แต่ช่วงเริ่มต้นฝึกมีอะไรแบบนี้บ้าง ต้องผ่านด่านแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติของคนที่ยังไปไม่ถึงจุดที่มันอิ่มตัวจริงๆ ที่มันเสถียรแล้ว

ถ้าเสถียรแล้วเป็นยังไง?

คือเรานึกถึงลมหายใจด้วยอีกอาการหนึ่งที่ไม่พะวง ไม่พะวงถึงลมหายใจ แต่จะเอาความรู้สึกสบายๆเป็นตัวตั้ง

พูดง่ายๆคือ คุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรากฏของลมหายใจในแบบจริงจัง แต่จะเอาจิตสบายๆเป็นตัวตั้งให้ความสำคัญกับจิตสบายๆที่มันไม่มีหน้าตา ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคลว่าใครเป็นผู้นอน

และที่สำคัญต้องไม่อยากนอนหลับให้ได้เร็ว ไม่อยากได้ความสงบ ไม่อยากรู้ลมหายใจให้ชัด ความอยากตัดไปให้หมด เหลือแต่จิตสบายๆที่ไม่มีความอยากเป็นตัวตั้ง เสร็จแล้วเอาความปรากฏของลมหายใจเป็นเสมือนกันแบคกราวน์ (background) ที่คอยช่วย คล้ายๆกับเป็นดนตรีคลอให้ฟัง รู้สึกสบายๆเหมือนกับเพลินๆ ตรงนี้แหละที่มันจะช่วยให้การเจริญสติในท่านอนของคุณเหมาะสมกับนิทรารมณ์นะครับ หรือว่าท่านอนที่มันกำลังจะต้องหลับใหลในชั่วคืนนั้น

----------------------------------------

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

คำถาม : เจริญสติก่อนนอน มีสติรับรู้ลมหายใจแล้วรู้สึกเหมือนหลับๆตื่นๆทั้งคืน คือ คอยแต่จะระลึกรู้ลมหายใจเป็นภาวะที่ถูกต้องไหม?

ระยะเวลาคลิป   ๒.๑๐  นาที

รับชมทางยูทูบ รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=4xbFKp7N0V0&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=20

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

นั่งสมาธิดูลมหายใจไปพร้อมกับฟังธรรมะไปด้วยจะกระทบต่อการภาวนาไหม?

 มันเป็นความพอใจส่วนตัวนะครับ อย่างผมเองช่วงที่ยังทำสมาธิไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน มันรู้สึกว่าดี อย่างที่ผมฟังประจำก็หลวงพ่อพุธ เสียงของท่านทำให้จิตของเราลงเป็นสมาธิได้เลยนะครับ คือฟังอย่างเดียว ตั้งใจฟังอย่างเดียว

ทีนี้วิธีตั้งใจฟังอย่างเดียวของแต่ละคนมันก็แตกต่างกัน อย่างบางคนก็นั่งอยู่ที่เก้าอี้สบายๆ แล้วก็หลับตาเพื่อที่จะไม่ให้สายตาเอาภาพอะไรมารบกวนจิตใจให้วอกแวก แล้วก็ฟังเสียงของท่านอย่างเดียว ทีนี้ก็ลงเป็นสมาธิกันเยอะแยะเลย เสียงหลวงพ่อพุธ ฐานิโย นะครับ

แต่ละคนก็จะคลิกกับเทศนาธรรมของท่านแตกต่างกันไป แต่ว่าจะมีสักบทหนึ่งแน่ๆที่โดนใจแล้วก็ทำให้ใจของเราลงเป็นสมาธิได้

นอกจากนั้นก็มีหลวงปู่เทสก์ แล้วก็อีกเยอะเลยที่ฟังแล้วรู้เลยว่าใจท่านเบา แล้วก็ทำให้ใจของเราเบาตาม อย่าไปเอาถูกเอาผิดเรื่องทฤษฎีนะครับ คือบางที่พระป่าท่านพูดไม่ตรงกับที่อยู่ในตำราบ้างอะไรบ้าง ก็เน้นปฏิกิริยาทางใจของเรา สำรวจดูว่าเราได้อะไรจากใจของท่านมา

แม้แต่ในพระไตรปิฎกท่านก็เคย มีอยู่ครั้งหนึ่งนะที่บอกว่า เจโตปริยญาณ หรือว่า ญาณดักใจคนได้ ข้อหนึ่งก็คือเป็นคนที่ฟังเก่ง เพราะเสียงมนุษย์มันมากับทั้งอารมณ์ความคิดแล้วก็เจตนาที่แท้จริง มันผสมรวมกันอยู่ ถ้าตั้งใจฟังดีๆมันรู้ได้ว่าจิตเขาเป็นยังไง ความคิดเขาเป็นยังไง อารมณ์เขาเป็นยังไง

อันนี้ก็เหมือนกัน เราเอามาใช้ในทางที่จะเอาประโยชน์เข้าหาจิตหาใจของตัวเอง ถ้าหากว่าฟังพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ท่านมีสมาธิจริง ที่ท่านมีธรรมะจริง ฟังแล้วด้วยความตั้งใจฟังเสียงท่าน ฟังให้เข้าใจว่าท่านพูดอะไร แค่นี้ใจของเราก็จะเกิดความสว่าง แล้วก็มีการก๊อปปี้ลักษณะกระแสจิตของท่าน กระแสจิตใจที่เป็นสมาธิของท่านเข้าสู่ตัวนะครับ ยิ่งเรามีสมาธิในการฟังมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีธรรมะ ส่วนธรรมะ เศษธรรมะ จากท่านมาเข้าตัวเท่านั้น

แต่ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจดีๆด้วยว่า นั่นไม่ใช่สมบัติของเรานะครับ เป็นสมบัติของท่าน เรายืมท่านมาชั่วคราว มันก็อยู่ชั่วคราวเหมือนกัน แต่ถ้าเราได้สมบัติของท่านมาเป็นตัวตั้ง เอามาเป็นทุนก่อน แล้วไปต่อยอด จะสังเกตก็ได้ว่า ฟังๆท่านไปแล้วเกิดความรู้สึกว่าใจสงบลง สงบลง แล้วเราก็ดูลมหายใจอย่างเดียวไปเลย แม้แต่หลวงพ่อพุธก็สอนนะครับ ไม่ผิดไม่บาปไม่อะไรทั้งสิ้น

ถ้าหากว่าฟังเทศฟังธรรมไปแล้วความรู้สึกสงบลงได้ด้วยเทศนาธรรมของท่าน แล้วเราเอามาต่อยอดเป็นความรู้ความเข้าใจที่มันลึกซึ้งขึ้นด้วยการสังเกตลมเข้า ลมออก ลมเข้า ลมออก อย่างหลวงปู่ท่อน ท่านก็เคยพูด “แค่เห็นลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก เดี๋ยวมันก็เป็นสมาธิไปเอง” เนี่ยถ้าฟังเฉยๆนะครับอาจจะไม่ได้อะไรที่มันเป็นสมาธิขึ้นมา แต่ถ้าฟังเสียงของท่านเองเนี่ย แล้วคือจิตของท่านผ่านตรงนั้นมาแล้ว พอพูดออกมาแล้วกระตุ้นให้เราเกิดความเข้าใจตาม เกิดความรู้สึกว่ามีประสบการณ์ตามท่านได้ง่ายๆ อันนั้นแหละ คือรับเอาสมบัติของท่านมา พอเรารู้สึกว่าฟังท่านที่พูดว่า ลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก แล้วเกิดสมาธิ มันก็ตั้งมั่นตามได้ง่ายๆ นี่เป็นตัวอย่างว่าฟังเทศน์ในขณะที่นั่งสมาธิเป็นประโยชน์ได้อย่างไรนะครับ

แต่ไม่ใช่ฟังอยู่ตลอดนะ เราก็ต้องหวังที่จะพึ่งพาตัวเอง ต่อยอดด้วยการทำสมบัติให้ตัวเองด้วย เป็นสมบัติของเราจริงๆนะครับ อย่าเป็นแต่ลูกน้อยที่คอยขอตังค์จากพ่อแม่ ให้เป็นคนที่ทำมาหากินเองได้ด้วยในทางธรรมนะครับ

-----------------------------------------

๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

คำถาม : ถ้าเรานั่งสมาธิดูลมหายใจ และฟังธรรมะไปด้วยจะกระทบต่อการภาวนาหรือทำให้ภาวนาช้าไหม? เพราะรู้สึกว่าเวลานั่งสมาธิแล้วไม่ได้ฟังธรรมครูบาอาจารย์ เหมือนจะขี้เกียจไม่ค่อยอยากนั่ง ถ้านั่งก็จะนั่งไม่ได้นาน

ระยะเวลาคลิป  ๔.๕๙   นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=YN75A57QrZg&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=21 

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์ สามทุ่มนะครับ

 

หัวข้อคืนนี้ คือ อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด ฟังดูเหมือนเป็นคอมมอนเซนส์ (Common Sense) เหมือนทุกคนจะรู้อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า คนในยุคเราขับไล่ความมืดกันด้วยความมืด แล้วก็ชักชวนให้ทำตามๆ กัน โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

 

จิตมืดเป็นอย่างไร? เวลาจิตมืดจะคิดไม่ออก มีความรู้สึกว่า ทางมันตัน โลกมันตัน

ส่วนตอนที่จิตสว่าง จิตดีๆ ..หัวจะแล่น ทางจะโล่ง เหมือนกับโลกนี้โล่งไปทั้งใบ ..นี่ คือ ความต่าง

 

พูดเรื่อง จิตมืด จิตสว่าง บางทีคนไปนึกถึงความสว่างแบบแสงไฟนีออน หรือแสงอาทิตย์  ซึ่งถ้าปฏิบัติไปจริงๆ ทำสมาธิได้ถึงระดับหนึ่ง ก็จะเป็นอย่างนั้น

แต่ประสบการณ์จิตสว่างของคนทั่วไปๆ ไม่ได้ขนาดนั้น เอาแค่ว่ารู้สึกใจเบา มีความสุข อยากยิ้ม รู้สึกถึงพลังใจที่จะทำอะไรดีๆ ให้แก่โลกใบนี้ อยากจะเผื่อแผ่ความสุขที่มีอยู่

 

คือ ถ้าคนเรามีความสุขมากๆ อยากจะเผื่อแผ่ให้คนอื่น เป็นความสุขชนิดไม่เห็นแก่ตัว ชนิดที่รู้สึกถึงความรักออกมาจากข้างใน ลักษณะธรรมชาติของจิต จะแผ่ออก

 

การที่จิตแผ่ออกนั่นเอง จะไม่คิดเรื่องเปรียบเทียบ ว่าจะได้เปรียบ เสียเปรียบอะไร จะมีแต่ความรู้สึกอยากเจือจาน มีความเป็นกุศลนั่นเอง ลักษณะของความสว่างเป็นแบบนั้น รู้สึกโล่ง รู้สึกแผ่ออกไป อาการที่จิตแผ่ออกไป ก็คือ ความรู้สึกโล่ง ..รสชาติของความปลอดโปร่งนั่นเอง

 

ความปลอดโปร่งไม่ได้มีแต่สภาพพื้นที่ ที่ว่างๆ บนโลกใบนี้ แต่มีสภาพของจิตใจที่มีพื้นที่กว้างขวาง ขยายขอบเขตออกไปแบบไม่มีประมาณได้ด้วย

ในขณะที่จิตแคบ จิตมืด จะเป็นลักษณะของจิตที่กระจุกตัว อัดเข้ามา รู้สึกอึดอัด รู้สึกว่ามุมมองของเรา สามารถเห็นอะไรได้ในช่วงแค่สั้นๆ เหมือนกับคนสายตาสั้น จิตจะเห็นสั้นๆ มีความรู้สึกว่าออกไปไหนไม่ได้ ถูกครอบไว้ ถูกปิดไว้

 

หลายคนบอกว่า เมื่อพูดถึงจิตมืด จิตสว่าง นึกไม่ออกว่า จิตมืดเป็นอย่างไร จิตสว่างเป็นอย่างไร

 

บางคน จิตสว่างตลอดเวลา แต่ก็ไม่รู้ตัวว่า นั่นเรียกว่าจิตสว่าง ขณะที่บางคน จิตมืดคับแคบตลอดเวลา ก็ไม่รู้ตัวเช่นกันว่า นั่นเรียกว่าจิตมืด

 

จนกว่าจะได้เปรียบเทียบอย่างชัดเจน ในเวลาไล่เลี่ยกันช่วง 2-3 ลมหายใจ หรือชั่วอึดใจเดียวว่า พลิกจากจิตที่กำลังโกรธแค้น กำลังคิดอยากฆ่าฟัน กำลังคิดอยากด่าทอ มีความอึดอัดคับแคบอยู่ แล้วมีอะไรสักอย่างหนึ่งมาไขก๊อก เปิดจุกออก ให้ลักษณะของจิตแผ่ออก สู่ความโล่ง ความกว้าง ความสว่าง ถึงจะเริ่มเข้าใจว่า จิตมืดหน้าตาเป็นอย่างนี้ จะตันๆ จุกๆ อยู่ ส่วนจิตสว่าง จะโล่งออกไป มีความสบาย มีความรู้สึกที่ดี มีความรู้สึกยิ้มออก และอยากแจกยิ้มให้กับคนทั้งโลก

 

ซึ่งหากต่อยอดความสว่าง ไปจนถึงจุดที่จิตเกิดสมาธิ มีความนิ่ง มีความตั้งมั่นเป็นฌานได้ มีความสว่างต่อเนื่องได้ นั่นก็น่าจะเห็นจิตอีกแบบหนึ่ง ออกมาจากภายในชัดๆ จะเห็นลักษณะจิตของตัวเองจากข้างในเลยว่า ความเต็มดวงมีความเต็ม และลักษณะแผ่กว้างไพศาลเหมือนพระอาทิตย์ได้จริงๆ

 

แต่จิตคนธรรมดาที่ยังฟุ้งๆ อยู่ จะมีอาการกระจัดกระจาย แส่ส่าย แม้จะมีความสว่าง มีความโล่งได้แป๊บเดียว ก็จะกลับเข้ามาสู่ความฟุ้งซ่าน มีอาการวกวน ไม่รู้จะคิดอะไรดี คิดส่งเดช สุ่มไปสุ่มมา ..แบบนี้ เวลาพูดเรื่องจิตสว่าง จึงยังไม่สามารถเห็นภาพได้อย่างแจ่มแจ้ง

 

และจะทำความเข้าใจเปรียบเทียบกับคำที่ว่า "ขับไล่ความมืด ด้วยความสว่าง" โดยเล็งเข้ามาที่จิตได้ยาก เพราะยังมีจิตที่ดีไม่พอ จะรู้สึกว่าควรหวงไว้ ควรรักษาไว้ ควรจะสร้างให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่รู้จะเอาจิตสว่างไว้กับตัวทำไม? ในเมื่อมันไม่สนุก

เพราะจิตมืดนี่แหละ ที่นำอะไรสนุกๆ มาเยอะ!

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนยุคเราที่มองออกข้างนอก มองเรื่องชีวิตที่สว่าง คือ ชีวิตที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน ทางหน้าตา ฐานะทางสังคม ไม่มีการสอนตั้งแต่อยู่ในชั้นเรียน ในโรงเรียน ว่าเวลาเรามองเรื่องความมืดความสว่าง ถ้าน้อมมาที่จิต เห็นว่าจิตแบบไหนที่มืด จิตแบบไหนที่สว่าง ก็จะมีความรับรู้ ตรงตามจริงทางธรรมชาติ เหมือนกับที่เราเห็นว่าพระอาทิตย์ขึ้นเมื่อไหร่ .. พอกลางคืนก็สลายตัวไปเมื่อนั้น

 

คนยุคเรา (หรือยุคไหนๆ ก็ตาม) พอจิตมืดแล้ว จะไม่คิดขับไล่ด้วยจิตที่สว่าง แต่จะระดมความคิดร้ายๆ หรือไปลากจูงเอาอกุศลธรรมเข้ามาใส่ตัว คือ สังเกตว่าเมื่อเรารู้สึกอับจนหนทาง มักจะมีอาการคิดโทษโลก บุคคล สถานการณ์ หรือโทษโน่นนี่ต่างๆ ที่ไปปรุงแต่ง หรือผลิตความคิดแย่ๆ คำด่าร้ายๆ ออกมา แล้วหมกจมอยู่อย่างนั้น

 

แล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่า สมควรแล้วที่ตัวเราจะนั่งเจ่าจุกอยู่ และคิดด่าโลก หรือคิดโทษโน่นโทษนี่ จะมีความรู้สึกจริงๆ ว่า ก็เป็นอย่างนั้น จะไม่ให้ด่าได้อย่างไร เป็นความผิดของคนอื่น เป็นความผิดของนู่นนี่นั่น

 

เรื่องความผิดของโลก เรื่องความร้ายกาจของโลก แม้มีอยู่จริง แต่ประเด็นคือ ทำไมเราต้องร้ายเพิ่ม ด้วยการทำจิตให้แย่แบบเดียวกับโลก

ทำไมไม่คิดว่า จิตของเราก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโลก ถ้าหากจิตสว่างขึ้นมาดวงหนึ่ง อะไรที่ร้ายๆ ในชีวิตเรา อย่างน้อยก็ยังเหลืออะไรดีๆ อยู่บ้าง!

 

พอคิดว่า (ปัญหา) เป็นอะไรที่เราแก้ไม่ได้ เป็นปัญหาที่อับจน และคนอื่นเป็นคนทำ หรือโลกนี้กำลังบีบให้มนุษย์ตาย ทั้งอากาศ โรคระบาด เศรษฐกิจ ดินฟ้าอากาศ ฯลฯ เลยกลายเป็นว่า โลกที่ร้ายอยู่แล้ว มันร้ายจริงๆ .. เพราะไม่เหลือแม้กระทั่งใจดีๆ ของเรา ที่จะมาเป็นแสงสว่างให้กับโลกบ้างเลย

 

คนทั่วไป พอจิตมืดและขนเอาความคิดอันเป็นอกุศล ความคิดแย่ๆ มามากๆ เข้า ที่สุดแล้ว จะรู้สึกว่าจิตถูกบีบ และจิตที่ถูกบีบนี่แหละ จะเป็นทางมาของความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ พอคนเรามีอาการน้อยเนื้อต่ำใจยืดเยื้อไปสักพักหนึ่ง จะมีอาการดิ่ง คือ เป็นฝั่งตรงข้ามกับการทำสมาธิที่มีคุณภาพ

 

ถ้าเราจับลมหายใจ บริกรรมพุทโธ หรือสวดมนต์อะไรต่างๆ พอนานๆ ไป จิตจะดิ่งลงสู่สภาพรวม ผนึกรวม มีความตั้งมั่น มั่นคงเป็นปึกแผ่น แผ่กว้างออกเป็นสมาธิ เรียกว่าเป็นด้านของจิตสว่าง

 

แต่จิตมืด ถ้าถึงขั้นน้อยใจ แล้วดิ่งลงเข้าจุดที่จิตรวมลงสู่หลุมดำ จะมีความรู้สึกว่า ไม่มีทางออกจริงๆ ติดตันอยู่ในหลุมดำ คิดอย่างเดียวว่าอยากตายๆ ไปให้พ้น หรือบางคน อาจอยากเผาโลกให้มอดไหม้เป็นจุล มีอยู่ 2 อย่าง คือ ไม่ทำร้ายตัวเอง ก็ทำร้ายคนอื่น ไม่เผาตัวเอง ก็เผาโลก

 

นี่คือ จุดตั้งต้นของจิตมืด ที่ลงเอยเป็นจิตมืด "เอาความมืดมาไล่ความมืด" คือ นึกว่าด่าโลกแล้ว โลกจะดีขึ้น สำคัญผิดอย่างนี้ เวลาที่(ถูก)โมหะครอบ เวลาที่จิตมืดจริงๆ จะเข้าใจว่า เวลานั่งซึมเศร้าเจ่าจุก จะมีคนมาเห็นใจ เทวดาจะสงสาร หรือถ้าตัวเองออกอาละวาด ฟาดงวงฟาดงา ด่าด้วยความคิดที่คิดว่าฉลาดที่สุด โดยเฉพาะคนในสมัยนี้ ที่คิดว่า ด่าให้แรงๆ ด่าให้ร้ายๆ เดี๋ยวโลกจะดีขึ้น

 

มีไอดอลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด บางคนด่าแล้วได้ดี ด่าแล้วรวย ฯลฯ อันที่จริง มีเบื้องหลังเบื้องลึกเกี่ยวกับเรื่องจิต คือ จิตเขาไม่ได้ด่าจริง หรือมีคาริสมาบางอย่างที่ตรึงใจคนได้ แล้วเวลาด่า ก็ไม่ได้มาจากจิตที่ประทุษร้าย ร้ายกาจ แต่มาจากจิตที่ด่าเอามัน แต่คนไปจำว่า ถ้าด่าแล้วจะได้ดี แล้วเลียนแบบด้วยการใช้โทสะ ด้วยจิตที่มืด ในหลุมดำของตัวเอง ไปด่าเลียนแบบเขาบ้าง ผลคือ มีแต่ความวิบัติทั้งทางจิตและทางชีวิต คือ ไม่ได้รวยแบบเขา แต่ยิ่งจนลงๆ

 

จิตมืด จริงๆ คือ วิธีคิด วิธีใช้อารมณ์ วิธีปล่อยให้อกุศลธรรมครอบงำเราอยู่ โดยไม่มีสติอยู่เลย ไม่มีความตั้งใจดีๆ จะให้อะไรกับใครเลย ไม่มีความตั้งใจดีๆ ที่จะเอาตัวเองออกจากหลุมดำเลย ไม่คิดว่าจะหาทางออกจากก้นถ้ำ ไม่อยากออกมาเจอแสงสว่างนอกถ้ำ

 

ส่วนคนที่เขาด่าแล้วได้ดี อย่างน้อย ก็ยังมีการให้สติคนอื่นบ้าง มีกลเม็ดลูกไม้ที่จะทำให้คนอื่นขำบ้าง แต่คนที่เอาตามอย่าง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจตรงจุดนี้ เข้าใจแต่ตรงที่ว่า ถ้าด่าแล้วจะได้ดี นั่นคือ การเอาความมืดไปเสริมความมืดเดิม ให้หนักเข้าไปอีก

 

===============

 

เรามาเอาแบบไม่เสี่ยงกันดีกว่า เพราะถึงแม้จะด่าไปแล้วจะดีไปด้วย แต่ก็ครึ่งดีครึ่งร้าย เวลารับผล ก็ครึ่งดีครึ่งร้ายอยู่เหมือนกัน

เรามาดูวิธี "ขับไล่ความมืดแบบพุทธ" เอาความสว่างมาขับไล่ความมืดแบบพุทธ

 

คนที่กำลังมีจิตมืดอยู่จริงๆ จะนึกอะไรไม่ออก จะฟังอะไรเยอะแยะ รายละเอียด ข้อปฏิบัติ 1 2 3 จะจำไม่ได้ ไม่สามารถทำได้จริง

แต่ถ้าง่ายๆ แบบที่สืบๆ กัน เห็นพระพุทธรูปองค์ไหน แล้วเกิดความเลื่อมใส ก็กราบพระพุทธรูปองค์นั้น ..จะเป็นพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่บ้าน หรือเห็นทางอินเตอร์เน็ต ถ้าพบว่าเป็นพระ ที่ยังใจของเราให้เกิดความใสสว่าง เลื่อมใส มีความรู้สึกสบายเบา รู้สึกเหมือนได้รับพลังอะไร เรียกว่าใจคุณคลิกกับตรงนั้น

 

อาจขยายรูปพิมพ์ออกมา ถ้ามีกำลังทรัพย์ ก็ไปเดินดูตามร้านสังฆภัณฑ์ หรือร้านที่ให้เช่าพระพุทธรูป มาประดิษฐานที่บ้าน คุณก็สามารถได้รับต้นแหล่งความสว่างแบบง่ายๆ คือ ตัวสว่างไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูปนะครับ แต่อยู่ที่ใจของคุณ ที่เอาตาไปมองพระพุทธรูป แล้วใจรู้สึกดีขึ้น

 

ถ้าใจรู้สึกดีขึ้นได้ง่ายๆ จากการมองพระพุทธรูป แล้วก็ยกมือไหว้ ด้วยอาการของใจที่อ่อนน้อม ..อาการของใจที่อ่อนน้อมนี้ จะเกิดความรู้สึกเปิดรับพลังความสว่างเข้ามาได้ แค่นี้ก็ถือว่า เป็นแม่บทของการขับไล่ความมืดด้วยความสว่างแล้ว ไม่ใช่ขับไล่ความมืดด้วยความมืด

 

ที่คนเรากราบพระ แล้วไม่รู้สึกว่าสว่าง ไม่รู้สึกดี ก็เพราะไม่ได้กราบด้วยจิต คือกราบด้วยมืออย่างเดียว ซึ่งไม่พอ!

คุณสังเกตเข้ามาที่ใจ เราต้องพูดกันตรงไปตรงมานะครับ ใจของเรา มีปฏิกิริยาต่อพระพุทธรูปแตกต่างกัน สำหรับบางคนเห็นพระพุทธรูปเก่าๆ แล้วเกิดความรู้สึกเลื่อมใส บอกไม่ถูก อธิบายไม่ได้ ก็ไม่ต้องอธิบาย เอาเป็นว่ารู้สึกดีสำหรับคุณ รู้สึกคลิกสำหรับคุณ ก็พอแล้ว

 

สำหรับบางคน ต้องเป็นพระพุทธรูปแบบโอ่อ่าอลังการ ต้องตกแต่งอย่างดี มีความงดงาม มีความอ่อนช้อย ส่องให้เห็นถึงจิตใจของปฏิมากรผู้ประดิษฐ์ ที่พยายามทำให้พระพุทธรูปเกิดความงดงาม อย่างนี้ถึงจะโดนใจใครบางคนได้ ก็ไม่ต้องว่ากัน ไม่ต้องบอกว่าใครถูกใครผิด

 

เอาเป็นว่าถ้าคุณคลิกได้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า สามารถพร้อมรับพลัง มีความเปิดใจได้ นั่นคือ ที่เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของใจ ที่คิด กราบด้วยใจ ไม่ใช่แค่กราบด้วยมือ

 

องค์พระที่กราบเป็นประจำ ผมว่าคนนับพันไม่เคยทดลอง ไม่เคยมีประสบการณ์ ที่จะได้รู้ว่า เราได้ประจุพลังแห่งความสว่างของเรา เข้าไปสู่องค์พระไว้มากมายเพียงไหน มีความหมายมากนะครับ ทดลองดูได้เลย

 

พระที่กราบเป็นประจำ จะมีพลังสว่าง ขณะที่เอามาวางเทิดไว้บนศีรษะ คุณจะเกิดความรู้สึกเหมือนเย็นวาบสว่าง เพราะอะไร? เพราะดึงเอาภาคความสว่างของคุณกลับมา โดยอาการแบบนั้น และองค์พระที่ประจุความสว่างของคุณไว้เอง ก็จะเตือนให้นึกได้ถึงกุศลธรรมเก่าๆ หรือ สภาพดีสภาพใจที่สว่างใสของคุณเอง

 

พูดง่ายๆ ว่าไปปลุกเอาภาคของความเป็นเทวดาในตัวเอง หรือขุดเอาหลุมขาว ที่ถูกหลุมดำทับอยู่ ให้โผล่พ้นหลุมดำขึ้นมา คุณจะเกิดความรู้สึกว่า ความสว่างนั้นปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดกำลังใจขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน!

 

แต่มีข้อแม้ว่า ตอนที่คุณกราบพระองค์นั้น คุณต้องกราบด้วยใจ และทำมานาน จนกระทั่งเป็นพระประจำใจโดยไม่รู้ตัว คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวหรอกว่า กราบพระองค์ไหนเป็นประจำ พระองค์นั้นจะปรากฏเป็นนิมิต เหมือนเกราะแก้วคุ้มภัยคุ้มครองตัวคุณอยู่

 

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน หากใจมีความนอบน้อมเคารพสักการะสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะเหมือนเข้ามาประดิษฐานในใจคุณ ราวกับว่าใจของคุณเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเสียเอง!

นี่เป็นเรื่องพลัง เป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ ธรรมดาสามัญ แต่ไม่มีใครสังเกต ไม่มีใครรู้จนกว่าจะได้ทดลอง

 

คุณทดลองดูนะครับ แล้วจะเข้าใจจริงๆ ..พระองค์ใดที่คุณกราบประจำ เอามาเทิดหัว ตอนสบายใจก็ได้ จะยิ่งสบายใจขึ้น ยิ่งมีความรู้สึกสว่าง ยิ่งมีความรู้สึกว่ามีพลังอะไรบางอย่าง ที่อยู่เหนือชีวิตคุณ เหมือนคุณเอาพลังนั้นไปฝากธนาคาร

 

คุณไม่ต้องเป็นเกจิ คุณไม่ต้องเป็นพระที่ทรงอภิญญา คุณก็สามารถประจุพลังเข้าองค์พระได้  พลังที่เป็นกุศล พลังที่มีความวิเศษ มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความยิ่งใหญ่ มีความสว่างพอ ที่จะยังจิตของคุณให้รู้สึกได้ สัมผัสได้

 

แต่มีเงื่อนไข คือ ที่พูดไปทั้งหมด เราพูดกันเรื่อง ความสว่างในองค์พระ ที่เกิดจากการกราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา

 

บางคนอาจตั้งคำถามว่า พระที่กราบอยู่เป็นประจำ อุตส่าห์รู้สึกศรัทธาแล้ว แต่เห็นทีไรกลับไม่เกิดความรู้สึกว่ามีกำลังใจเพิ่มขึ้น

 

เหตุผลง่ายๆ ให้ลองสำรวจดูว่า หากเป็นคนที่สวดมนต์ทีไร ก็ขอพร ขอนู่นนี่จากองค์พระ นึกว่าเป็นตัวแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา นึกว่า เราอุตส่าห์บูชา แล้วต้องได้ผลตอบแทนอะไรบ้าง

แล้วขอเท่าไหร่ๆ ขอ 10 ที ได้ทีเดียว บางคนขอ 100 ที ไม่เคยได้เลยสักที

 

เวลากราบไหว้ จะกราบไหว้ด้วยอารมณ์แบบแห้งๆ กราบไหว้แบบที่ไม่ได้เกิดความรู้สึกว่า นี่คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยอะไรเราได้

 

ด้วยอาการกราบพระแบบนี้ ด้วยอาการทางใจที่เราทุ่มใส่องค์พระแบบนี้ จึงทำให้รู้สึกว่า องค์พระไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา เป็นเหมือนกับพระอิฐพระปูน พระแก้ว ที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีค่างวดอะไร

 

สมัยนี้เขาตีราคากันด้วยความขลัง ที่บันดาลให้รวยได้ หรือกันกระสุน แต่ถ้าหากเข้าใจถึงความเป็นพุทธจริงๆ แล้ว เราจะเห็นจากที่เรากราบองค์พระ ถ้าหากเราเห็นองค์พระนั้นปุ๊บ เห็นแวบแรกแล้วเกิดความรู้สึกดี สบายใจขึ้นมา

 

นั่นแสดงว่า ทุกครั้งที่เรากราบไหว้ เรากราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา ไม่ได้ขออะไรจากท่าน นอกจากจะกราบ เพื่อเอาความรู้สึกศรัทธา ความรู้สึกเชื่อมั่นในศาสดา ให้เป็นที่ตั้งของความระลึกถึง ในคุณวิเศษของพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมที่พระองค์สอนมา .. เมื่อเห็นองค์พระ แล้วรู้สึกดีขึ้นทันที นี่ คือหลักฐาน ..

 

แต่ถ้าเห็นองค์พระ แล้วเกิดความรู้สึกว่า จะไหว้ไปทำไม เหมือนกับจะเดินเชิดใส่องค์พระ ด้วยจิตที่ต่ำแบบนี้ อย่างนี้แสดงว่า เวลากราบไหว้องค์พระ เรามีจิตที่คิดไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อันนี้เป็นร่องรอยที่เราสามารถสำรวจตรวจสอบ ที่มาที่ไปของพลังในชีวิตของเราได้ ว่าเป็นความสว่างอยู่แท้ๆ แต่ทำไมถึงไม่สว่างเต็ม

 

จุดเริ่มออกจากใจ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน อะไรๆ ใหลออกมาจากใจ ..ถ้าเห็นองค์พระที่เรากราบไหว้ แล้วรู้สึกว่า เกิดกุศลยิ่งใหญ่ นั่นแสดงว่า เรากราบไหว้มานี่ กราบไหว้ด้วยการถวายพร ไม่ได้กราบไหว้ด้วยการขอพร

 

แต่ถ้าเห็นองค์พระแล้ว รู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจ หรืออยากเดินเชิดใส่ อย่างนี้แสดงว่าเราสวดขอพร แล้วไม่ได้ตามพรที่ขอสักที

 

ให้หัดสวดแบบถวายพรดู แล้วจะรู้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง สร้างได้ด้วยใจ ..

ถ้าใจเราศักดิ์สิทธิ์ ถ้าใจเราใหญ่พอ พอในที่สุด องค์พระจะศักดิ์สิทธิ์ตาม ..ถึงแม้ว่าจะไม่ขออะไรดีๆ  อะไรดีๆ ก็จะ ใหลมา เทมาเอง โดยไม่รู้ตัวว่าจะเข้ามาวันไหน

 

=======

 

จากหัวข้อวันนี้ "การขับไล่ความมืดด้วยความสว่าง" ที่ยกตัวอย่างเป็นองค์พระ เพราะเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าหาและเห็นผลทันตา

 

แต่หากเรามาพูดกันแบบพุทธ ที่พึ่งทางใจ หรือกุศล ที่จะเป็นเงาตามตัวเราไป ไม่ใช่แค่การกราบไหว้องค์พระอย่างเดียวนะครับ เพราะการกราบไหว้องค์พระ เป็นเรื่องของศรัทธา มาง่ายไปง่าย

 

แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง เป็นความสว่าง พร้อมจะขับไล่ความมืดให้กับเราได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง .. พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนเอาเท่าไร่

 

ส่วนตัวของผม .. เวลานึกถึงที่พึ่งทางใจของตัวเอง ผมบอกตัวเองว่า หากุศลที่ติดตัวเจอแล้ว แล้วก็อยากให้ทุกท่านได้หาสิ่งที่เป็นกุศลติดตัว ให้เจอด้วยเช่นกัน

แต่ละคนก็จะอาจจะคลิกต่างกัน เพราะสิ่งที่เป็นกุศลใช้ได้จริงๆ เฉพาะตน

 

ส่วนตัวของผม ตอนแรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมผมถึงเอาจริงเอาจัง แน่วแน่กับการได้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ หายใจเป็น แบบพุทธ ทั้งที่แรกเริ่มเดิมที สุขภาพผมไม่ดีเท่าไหร่ และหายใจติดขัด

 

แต่มีความเชื่ออยู่ในส่วนลึก (ในตอนนี้ผมรู้คำตอบแล้วว่าทำไมจึงปักใจเชื่อ) คือ มันโยงใย มีที่มาที่ไป ที่อธิบายไม่ได้ในชีวิตเดียว

 

แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลาที่ผมเริ่มต้นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผมดิ่งไปตรงนี้แหละ ว่าถึงแม้จะไม่มีคนสอน แบบที่พระพุทธเจ้าสอน แต่ผมก็จะพยายาม ทำแบบที่พระพุทธเจ้าสอนให้ได้

 

คือ หายใจเข้า รู้ว่า หายใจเข้า

หายใจออก รู้ว่า หายใจออก

หายใจยาว รู้ว่า หายใจยาว

หายใจสั้น รู้ว่า หายใจสั้น

จนกระทั่ง จิตมีความแยกออกไป เป็นผู้ดูลมหายใจทั้งปวง ทั้งสั้น ทั้งยาว ทั้งเข้า ทั้งออก

 

ซึ่งเรียกว่าคุ้มค่า เพราะในช่วงแรกๆ มีความสับสน ฟังคนนู้นคนนี้ที แต่โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้ลมหายใจเป็นที่ตั้ง ที่ประดิษฐานของแสงสว่างประจำตัว แล้วก็มาได้เข้าใจจริงๆ อย่างหนึ่ง ด้วยการสังเกตเอาจากชีวิตจริงๆ ว่าถ้าดูลมหายใจอย่างเดียว จิตมันไม่เต็ม จิตมันไม่สว่างจริง มันคับแคบ

 

แต่ถ้าหากรู้ลมหายใจด้วย พร้อมกันก็ดูกายไปด้วย

คือ นั่งอยู่ รู้ว่านั่งอยู่

นั่งหายใจยาว หรือหายใจสั้น

นั่งหายใจเข้า หรือหายใจออกอยู่

รู้ตัวไปด้วยแบบนี้ ถึงจะมีความสุขความสบายเพียงพอ ที่จะเป็นความสว่างขับไล่ความมืดได้

 

นี่คือ การอธิบายแบบสั้นๆ ที่ผมอาศัยเป็นความสว่างติดตัว เป็นกุศลธรรม ที่ตามเราเป็นเงาไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ส่วนของคุณ ต้องสังเกตเอาเอง ว่ามีสิ่งที่เรียกว่ากุศลธรรมแบบไหน ที่พร้อมพอจะเป็นความสว่าง ขับไล่ความมืดของตัวเองได้ทุกเมื่อ

นี่จึงไม่ใช่แค่การให้กำลังใจกัน แต่เป็นการให้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นกำลังของจริง ติดตัวกันไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ทุกวันนี้ เห็นเด็กยุคนี้แล้ว รู้สึกเป็นห่วงนะครับ พอจิตมืดแล้ว หาทางออกด้วยการด่าโลก จิกกัดชาวบ้าน พยายามเผาโลก ชวนกันเผาโลก แม้กระทั่งบางคน รู้จักทฤษฎีทางพุทธศาสนาเป็นอย่างดี แต่ไม่รู้ตัว ว่าจิตไม่มีธรรมะเลย จิตชอบไปอาละวาด อวดศักดา ไล่กัดชาวบ้านเขา หรือเบ่งทับคนอื่นเขา อยากให้ใครต่อใครรู้ว่า ตัวเองรู้ดีที่สุด และวิธีก็คือ ไปด่าคนที่คนเขานับถือกันว่ารู้

 

ตรงนี้เหมือนกับเทรนด์ของยุคไอที ที่ทำกันได้ง่าย ถ้าเป็นยุคก่อน หากอยากจะอวดศักดา หรือข่มขี่กันด้วยความรู้ จะต้องเจอคนที่อยากจะคุยด้วยเสียก่อน เพราะอยู่ๆ จะไปด่าชาวบ้านเขานี่ จะไม่มีใครมาคุยด้วย

 

แต่ยุคนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่อยากฟัง ไม่อยากเสวนาด้วย ก็ยังสามารถไประรานเขา ไปตามป่วนเขาในกระทู้ก็ดี ในสเตตัสของส่วนตัวของใครก็ดี เหมือนโลกเปิดช่อง ให้สร้างความมืดมาทับถมความมืดของตัวเองได้มากกว่ายุคไหนๆ

 

อย่างเวลาที่ผมสอนลูกให้รู้จักพุทธศาสนา ผมรอให้ลูกเป็นทุกข์เสียก่อน แล้วชี้ให้เขาเห็นต้นเหตุทางใจของเขา วิธีคิดของเขา ว่าคิดอย่างไร ถึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา ให้เขาเห็นความทุกข์เป็นภาพ จากนั้นจึงสอนให้เห็นว่าจิตแบบไหนเป็นกุศล จิตแบบไหนเป็นอกุศล

 

 

ซึ่งไม่ใช่มาพูดกันด้วยศัพท์แสงทางวิชาการ แต่อธิบายให้เขาเห็นความรู้สึก ณ ขณะนั้นของเขา ว่าตอนที่คิดดี ตอนที่รู้สึกดี ตอนที่เขาบอกว่าแฮปปี้ (happy) อย่างนั้น เป็นเพราะจิตเขาเป็นกุศล แต่ตอนที่เขาคับแค้น จิตเขาเต็มไปด้วยความทุรนทุราย อยากจะเอาแต่ใจอะไรต่างๆ ให้เขารู้ว่า นี่คืออกุศลจิต

 

ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเราปูพื้นฐานให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้รู้จักเรื่องจิต แบ่งได้ว่า จิตสว่างเป็นอย่างไร จิตมืดเป็นอย่างไร เขาจะโตขึ้น แบบคนที่เข้าใจตัวเองว่ากำลังอยู่ในอารมณ์ไหน

 

ไม่เหมือนคนทั่วไป ที่ถูกสอนให้รู้ว่าจะเอาอะไรให้ได้!.. สิ่งที่ดี คือ ได้หน้าได้ตา ..สิ่งที่ไม่ดี คือ ด้อยกว่าคนอื่นเขา ..ผลสอบออกมานี่ด้อยกว่าชาวบ้านเขา อย่างนี้ไม่ดี .. แต่เรื่องจิตเรื่องใจไปถึงไหนแล้ว ไม่มีใครสอนกัน!

 

ถ้าจะสอนพุทธศาสนา อย่าเริ่มสอนด้วยทฤษฎี สอนด้วยการให้เขารู้จักของจริงก่อน ยิ่งเด็กสมัยนี้ พอเขาไม่รู้จักเรื่องจิตเรื่องใจตัวเอง โตขึ้นมาจะเหมือนกันหมดเลย คือ แยกไม่ออกระหว่างกุศลและอกุศล

 

รู้อย่างเดียวว่า อะไรถูก อะไรผิด อยู่ข้างนอก พอจนแต้มขึ้นมา จะคิดอย่างเดียวเลย คือ อาการซึมเศร้า มันเป็นสิ่งที่เป็นผลผลิตของสมอง เป็นเคมีของสมองที่ไม่สมดุล คือ พูดเป็นอยู่คำเดียวเลย โทษสมองอยู่อย่างเดียวเลย แต่ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ถ้าจิตมืดอยู่นี่ จะสามารถขับไล่ได้ด้วยจิตที่สว่าง

 

ผมก็เคยพยายามเสนอแนวทาง ทำนิทานจอมเทพขึ้นมา มีทั้งภาพสว่างและภาพมืด คือ โดยปกติ นักจิตวิทยาเด็ก เขาจะไม่ส่งเสริมให้เอาภาพดาร์ก (dark) มาใส่ในนิทาน แต่ผมเห็นตรงกันข้ามเลยนะครับ ว่าเด็กควรจะรู้จักจริงๆ ว่า ภาคสว่างกับภาคมืดจากภายนอก ที่จะสะท้อนให้เขาเห็นจิตภายใน ทั้งภาคสว่างและภาคมืด นี่สำคัญขนาดไหน

 

เพราะถ้ารู้ตั้งแต่เด็กๆ เข้าใจจริงๆ ที่จะอ่านตัวเอง เห็นจิตใจของตัวเอง ว่ากำลังมืดอยู่หรือสว่างอยู่ แล้วเห็นอย่างแจ่มชัด เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ว่าจิตสว่างมาเมื่อไหร่ จิตมืดหายไปเมื่อนั้น ก็จบเลยนะครับ ปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวกับจิตใจอารมณ์ของคน

 

ผมเองก็โตมาด้วยการสอนให้มองข้างนอก เหมือนกับคนอื่น แต่พอเริ่มต้นจะทำความรู้จักกับศาสนา ก็ได้รับคำสอนที่ยากเหมือนยาขม กลืนยากเคี้ยวยาก ให้ท่องจำโน่นนั่น ก็เลยไม่เห็นค่าศาสนาตั้งแต่แรก ยังเสียดายอยู่ทุกวันนี้ มาเห็นค่าของศาสนาเมื่ออายุ 16-17 ปี เริ่มมีความทุกข์สาหัส ทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ที่ใกล้แตกพัง

 

ถึงตรงนั้นจึงได้หาคำตอบจากข้างใน จึงรู้ว่า ถ้าเริ่มต้นจากการทำความรู้จัก ว่าจิตมืด จิตสว่าง หน้าตาเป็นอย่างไร ทางออกทั้งหมดของชีวิตอยู่ตรงนั้นเลย

 

จิตสว่างนี่ ถ้าคุณทำให้เกิดขึ้นได้เป็นปกตินะครับ จะแทบจะไม่เหลือความมืดในชีวิต ให้ต้องทนขมขื่นกันอีกต่อไป ต่อให้คุณมีสุขภาพกายย่ำแย่ยังไง ก็จะมีจิตที่สว่าง มาช่วยแบ่งเบาให้เกิดความรู้สึกดีกับชีวิตที่เหลือได้บ้าง

 

เราอยู่ในยุคที่จำเป็นจริงๆ ที่ต้องเข้าใจเรื่อง "การไล่ความมืดด้วยความสว่าง" และเท่าที่เห็น หลายคนยอมให้โลกที่มืด ทำชีวิตตัวเองให้มืดตาม แบบที่ไม่มีกำลังใจจะออกไปจากความมืดอีกแล้ว!

___________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อย่าขับไล่ความมืดด้วยความมืด

วันที่ 16 มกราคม 2564

 

ถอดคำ : นกไดโนสคูล