วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ‘จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์ สามทุ่ม วันนี้ เรามาพูดหัวข้อที่หลายคน อาจเคยได้ยินกันมานะครับ คำว่า จิตว่าง

 

จิตว่างอย่างไร ก็เป็นไปตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้ประสบ หรือคุ้นเคย หรือว่าเคยผ่านๆ มาบ้าง อย่างเช่นบางทีบอกว่า ตื่นขึ้นมาหัวโล่ง รู้สึกว่าใจว่างเปล่าไปหมด นั่นก็เป็นจิตว่างชนิดหนึ่ง ตามประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมา

 

หรือบางคนบอกว่า ได้สวดมนต์ หรือเจริญวิปัสสนาเจริญปัญญา แล้วเกิดความรู้สึกว่าว่าง เป็นสมาธิอยู่ได้พักหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ใจว่าง แล้วก็เหมือนกับเป็นความว่างที่น่าสงสัย นี่ก็มีประสบการณ์ไปต่างๆ แล้วได้ข้อสรุปที่อาจจะตรงกันหรือไม่เหมือนกัน

 

ทีนี้ คืนนี้ที่เราจะมาพูดกัน เราไม่ได้จำเพาะเจาะจงนะ ว่าเป็นความว่างตามประสบการณ์แบบของใคร เรามาพูดกันแบบเนื้อๆ ตามความน่าจะเป็น แบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เกี่ยวกับแนวทางการเจริญสตินะ

 

ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันก็คือ คำว่า จิตว่างไม่ได้มีบัญญัติไว้ พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงเรียกแบบนี้นะ ไม่ได้เรียกว่าจิตว่าง แต่เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ร่วมสมัยเรา อาศัยเรียกประสบการณ์ทางความรู้สึกภายใน เหมือนอย่างที่ผมยกตัวอย่างเมื่อครู่ ว่ารู้สึกว่างจัง ตื่นขึ้นมาหัวโล่ง แล้วรู้สึกว่าใจไม่มีอะไร นี่ก็จิตว่าง ตามที่เกิดความรู้สึกกันแบบชาวบ้าน

 

หรือคนทำสมาธิ ทำไปแล้วเกิดข้อสงสัยว่า มาถึงจุดหนึ่งใจรู้สึกว่างโหวง ไม่มีอะไรเลย เหมือนกับไม่มีใคร ไม่มีบุคคล แบบนี้เรียกมรรคผลไหม แบบนี้เรียกว่านิพพานหรือเปล่า เราก็จะได้มาแจกแจง

 

เพราะถ้าเกิดประสบการณ์ทำนองเดียวกัน ว่าเกิดความว่าง เกิดความโล่ง เราไม่มานิยามกันชัดๆ หรือว่าจาระไนกัน ให้เป็นไปแบบที่พระพุทธเจ้าท่านเคยแจกแจงไว้นี่ ข้อสงสัย ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือทึกทักว่า เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเกิดความสำคัญไปว่า ตัวเองได้เป็นอะไรชั้นไหนแล้ว ไปถึงไหน บรรลุธรรมขั้นใด อันนี้เลยมีประโยชน์ ถ้าหากว่าเรามาทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นนะครับ

 

มาพูดถึงข้อสำคัญ ความสำคัญของจิตว่างก่อน คือเราพูดแบบที่ชาวโลกสามารถทำความเข้าใจได้ตรงกันก็คือ ถ้าจิตว่าง จะสงบง่าย

 

ถ้าจิตเรารู้สึกว่า ไม่มีอะไรในใจ เป็นคนไม่มีอะไรในใจ สิ่งที่คุณจะเห็นได้ชัดก็คือว่า อยู่ที่ไหน ท่ามกลางความวุ่นวาย หรืออยู่กับความสงบภายนอกก็ตาม จิตของคุณจะระงับง่าย จะระงับจากความวุ่นวายทั้งหลาย ที่เป็นของประจำโลกภายนอก

 

คุณจะเข้าใจคำว่าโลกภายใน คุณจะรู้ด้วยตัวเองว่า การมีจิตว่างทำให้หลับง่าย

 

ถ้าเราเอาโรคของคนเมืองยุคปัจจุบัน มาพูดกัน อันดับต้นๆ ก็คงไม่พ้นโรคหลับยาก โรคเครียด พอจะหลับทีไร ..โอ้โห เหมือนกับต้องต่อสู้กับอะไรที่ไม่ทราบข้างในตัวเอง อยู่ในหัวนี่แหละ แต่เราไปชนะมันไม่ได้ แล้วก็บางคนนี่ ถึงขั้นว่าไม่อยากให้ถึงเวลานอนเลย เพราะถึงเวลานอนทีไร ต้องมาทรมานกับภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น จะหลับก็ลงไม่สนิท จะว่าตื่นก็คิดอะไรไม่ออกนะ ทำงานอะไรไม่ได้ ไม่มีผลงาน ไม่มีความคืบหน้าอะไรในชีวิตขึ้นมา แล้วก็อยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ

 

ภาวะครึ่งๆ กลางๆ จะหลับก็ไม่ใช่ จะตื่นก็ไม่เชิงนี่แหละ ที่ทำให้คนบางทีถึงขั้นเกิดความผิดปกติ ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากจะฟาดงวงฟาดงา หรืออยากจะไม่ทำอะไรเลย งอมืองอเท้าดูสิว่าจะตายไหม อะไรแบบนี้

 

เพราะฉะนั้น พูดกันตามประสาชาวบ้านง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจิตไม่ว่าง จะหลับยาก แล้วก็ตื่นขึ้นมาไม่มีความสุข เป็นคนที่รู้สึกว่าจิตเต็มไปด้วยปัญหาทางใจที่แก้ไม่ตกนะ ตรงนี้แหละที่ว่า เรามาพูดเรื่องความสำคัญของจิตว่างกันก่อน เอาตามประสาชาวบ้านง่ายๆนะ

 

คนเรา ไม่รู้ตัวกันเท่าไหร่ว่า ต้องการสิ่งนี้ (จิตว่าง) มากที่สุดในชีวิต เพราะอะไร เพราะว่าชีวิตปกติของคนๆ หนึ่ง จะล่อใจให้วุ่น แล้วก็รู้สึกดี รู้สึกชอบ รู้สึกสนุกในช่วงต้นๆ นะ กับความวุ่น หรือความกังวลกับอะไรที่จะได้หรือไม่ได้ กังวลแบบลุ้นน่ะ

 

แล้วพอลุ้น ปรากฏว่าได้ ก็ดีใจ เนื้อเต้น ถ้าไม่ได้ ก็อาจเป็นแรงผลักดันให้พยายามเอาใหม่ เอาให้ได้อะไรแบบนี้

 

นี่! คนเราเริ่มรู้จักความไม่ว่าง คุ้นเคยกับมัน แล้วก็สนุกกับมัน ได้รางวัลจากมัน เพราะคนจะพูดกันเสมอ ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งเป้า ไม่อยากได้อะไรในชีวิต มันก็จะเฉื่อยชา ตรงนี้ เป็นสิ่งที่ชาวโลกเขาสื่อสารกันเข้าใจ และถ้าใช้ชีวิตไปแบบที่ มีจิตว้าวุ่น อยากนั่นอยากนี่ไปเรื่อยๆ

 

ถึงจุดหนึ่ง จะกลายเป็นว่า ทุกคนจะตั้งคำถามเหมือนกันหมด ราวกับถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน คือ ทำอย่างไร จะเลิกคิด ทำอย่างไรจะเลิกฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรจะเลิกว้าวุ่น

 

ผมเคยเห็นเป็นหนังสือ หรือบทความอะไรสักอย่าง ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจเลยนะ ตั้ง Topic ว่า .. เอ้อ เป็นหนังสือนะ เดินผ่านไปที่ร้านหนังสือแล้วเห็น .. ทำอย่างไรจะหยุดคิด

 

ความหมายก็คงจะ หยุดฟุ้งซ่าน เพราะคนเราหยุดคิดไม่ได้ ถ้าจิตไม่เป็นฌาน ไม่มีทางหยุดคิดนะ แต่ความหมายก็คือ เลิกคิดสิ่งที่ไร้สาระ ไร้ประโยชน์อะไรแบบนี้ ซึ่งคนยุคเราถวิลหากันมากเลย คำตอบนี้ ว่าทำอย่างไรจะหยุดคิด

 

พอมาพูดเรื่องจิตว่าง ก็คือตรงกันนั่นแหละ จิตว่างก็คือจิตที่เบรคจากความคิดไร้สาระที่รกหัว แล้วก็ทำให้เกิดความว้าวุ่นอย่างเปล่าประโยชน์นะ

 

มาพูดกันว่าที่เป็นประสบการณ์จิตว่าง รู้สึกกันอย่างไร

 

แยกออกเป็นความรู้สึกแบบคร่าวๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมาในทางเจริญสตินะครับว่า ที่รู้สึกว่าง ก็เพราะไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน ถ้ามีความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายบรรจุอยู่ จะไม่มีทางรู้สึกว่าว่าง

 

แต่เมื่อไหร่ความฟุ้งซ่านซัดส่ายน่ารำคาญใจ หายไป ก็จะเหมือนท้องฟ้าโล่ง ไร้พายุนะครับ ที่ไม่มีสิ่งแปลกปลอมมาป้วนเปี้ยนอยู่ในหัว

 

คุณลองนึกถึงตอนก่อนนอน และตอนตื่นนอน ที่รู้สึกว่า ใจสงบราบคาบ เหมือนน้ำนิ่ง ใจนี่ว่างจากความคิดซัดส่าย คือยังมีความคิดอยู่ในหัวอยู่ เป็นความคิดเหมือนสายหมอกบางๆ แต่ไม่ใช่ความคิดแบบซัดส่าย ซัดไปซัดมาเป็นพายุ ซึ่งเราเรียกกันว่า ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

 

นอกจากนั้น เวลาที่เราบางคนนะ สวดมนต์เป็น สวดแบบที่จะมีจิตเต็มๆ อยู่กับการสวด ด้วยความเคารพ ด้วยความอยากจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาอย่างเดียว ไมต้องการอะไรทั้งสิ้น แล้วมีสมาธิกับตรงนั้นทุกคืน หรือทุกเช้า จนกระทั่งสมองเข้าโหมดลงตัว นึกถึงการสวดมนต์ปุ๊บ เกิดความรู้สึกสงบ พร้อมที่จะมีความรู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบัน และอิริยาบถปัจจุบันนั้นว่างเปล่า ปราศจากความฟุ้งซ่าน พร้อมจะสวดมนต์ทันที นี่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งของจิตว่าง

 

พูดง่ายๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่าจิตว่าง จากการไม่มีความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายอยู่ในหัว นอกจากนั้นมีอีกคือ ลักษณะของจิตว่างนี่ ประสบการณ์จิตว่าง มาได้จากหลายแง่หลายมุม ที่รู้สึกว่างเพราะไม่มียางเหนียว ที่จะไปยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นบุคคลหรือสิ่งของก็ตาม

 

คือคุณต้องเข้าใจว่า ความอยากนั่นอยากนี่ เป็นยางเหนียว ทำให้รู้สึกเหนอะหนะ เหมือนกับมีอะไรที่เป็นโคลน เป็นยาง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด เกิดความรู้สึกไม่สบาย ไม่แห้งตัว

 

ทีนี้ ถ้าไม่ยึดติดกับอะไร คือไม่ยึดติดจริงๆ แบบที่คนทั่วไป เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ นี่ ก็มีจิตโยงไปถึงสิ่งโน้น หรือคนโน้นคนนี้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ใจแกะออกจากสายโยงสายใยตรงนั้นไม่ออก ก็จะเหมือนกับมีอะไรที่เหนียวๆ เป็นความรู้สึกเหนียวๆ เหนอะๆ หรือบางคนเหมือนเปียกๆ

 

เคยไหม ที่รู้สึกเหมือนกับใจเปียกน้ำ แล้วไม่ใช่แบบน้ำสะอาด แต่เป็นน้ำที่สกปรก เป็นน้ำที่เหนียวๆ เหมือนน้ำครำ แล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ มันรังเกียจสภาพจิตใจของตัวเอง คือไม่ถึงขั้นเกลียดตัวเองนะ พวกเกลียดตัวเองนี่คือเหนอะหนะอยู่ตลอดเวลา

 

ประเภทที่เหนอะหนะเป็นบางจังหวะ บางทีแค่รำคาญ หรืออึดอัด แต่ไม่ถึงขั้นเกลียดตัวเองนี่ .. ตัวนี้ ความอยาก อยากนั่นอยากนี่ อยากไม่เป็นเวล่ำเวลา แล้วก็อยากแบบยึดโยง แล้วไม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเองนี่ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ใจเราไม่ว่าง เต็มไปด้วยความยึดความโยง เปรียบเสมือนกับถูกโซ่หลายๆ เส้น โยงรัดอยู่ เหมือนกับมัดขื่อมัดคานอยู่

 

เราจะรู้สึกได้ถึงความมีจิตว่าง ก็เมื่อวันหนึ่ง เราตื่นขึ้นมาแล้วเกิดความรู้สึกว่า ไม่ได้อยากได้อะไร ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่เป็นความไม่ได้อยากได้เพราะเบื่อโลก เบื่อนั่นเบื่อนี่ แต่เป็นความไม่อยากได้ เพราะใจมีอิสระ มีความโปร่ง มีความเบา ไม่เหนอะหนะ แล้วเกิดความรู้สึกแห้งสบาย นี่ตัวนี้ก็คือจิตว่าง จากการที่ใจเราไม่ยึดไม่โยง

 

นอกจากนั้น ยังมีความรู้สึกว่าง เพราะว่า ลักษณะของจิต เบาโหวง ยิ่งกว่าฟองสบู่ที่ไร้น้ำหนัก ฟองสบู่ที่ว่านี่มีความโปร่งใส เหมือนกับอากาศธาตุ ที่ไม่หวั่นไหวกับการกระทบ

 

การกระทบกระทั่ง ไม่ว่าจะมีแรงหนักเบาแค่ไหนก็ตาม มีแรงอัด หรือสะเทือนกี่ริกตอร์ก็ตาม จะไม่สามารถที่จะทำให้อากาศว่าง เกิดความปั่นป่วนขึ้นมาได้ ถ้าว่างจริงนะ ถ้าเป็นอากาศว่าง เป็นช่องว่างจริงๆ

 

นี้ก็เหมือนกัน จิตที่มีความรู้สึกว่าง อันเกิดจากลักษณะใสเบาของตัวเอง นี่ จะถึงขั้นที่ว่า ว่างขนาดที่ว่า แม้แต่ความคิดก็เข้ามากระทบ แล้วไม่มีเสียงดัง คือกระทบแบบผ่านไปเฉยๆ ทะลุอากาศไปเฉยๆ คล้ายกับหมอกควันบางๆ ที่ลอยผ่านอากาศไป แล้วไม่ติดอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งของอากาศ

 

เหมือนกัน จิตที่ว่าง ที่รู้สึกว่าง ก็เพราะว่า พอความคิดเข้ามากระทบแล้ว จะไม่วนต่อ ไม่มีลักษณะที่จะปั่นความคิดบางๆ ที่เข้ามา ให้กลายเป็นคลื่นพายุ เป็นความฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ ก็เลยเกิดความรู้สึก ความใส ความเบาของจิตแบบนั้น กลายเป็นความว่าง ให้อะไรๆ ผ่านหายไปเฉยๆ

 

แบบนี้นี่ จะไม่มีความรู้สึกทางตัวตน ที่เกิดจากความคิด แล้วจิตแบบนี้แหละ ที่พร้อมจะเห็นความคิดเป็นสิ่งที่ผ่านมา แล้วผ่านไปไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนนะ

 

นอกจากนั้น ที่จะรู้สึกว่างได้ ก็เพราะเห็นกายใจนี่ ไม่ใช่อะไรให้จิตแบก ไม่ใช่เป็นภาระ ไม่ใช่เป็นของเรา ไม่ใช่เป็นตัวเรา เหมือนกับถ้วยที่ว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีน้ำเข้ามาขังได้ ถึงแม้น้ำจะหกเข้ามา ก็กระฉอกออกหมด จนกระทั่งไม่เหลือน้ำอยู่เลย ลักษณะถ้วยว่างแบบนั้น ก็คล้ายๆ กับจิตว่าง ที่ไม่เอาการกระทบกระทั่งทางกายทางใจ มาใส่ไว้ในจิต

 

จะเกิดเรื่องอะไรก็ตาม เหมือนกับเรื่องนั้น ไม่เข้ามาอยู่ในใจ จะเกิดสิ่งที่น่าติดใจอะไร ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาบรรจุ อยู่ในความว่างของถ้วยนั้นได้ ตัวนี้ คือลักษณะที่เราจะพูดถึงจิตที่ว่าง ว่างขึ้นมาได้อย่างไร

 

ที่พูดมาทั้งหมดนี่ ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะไปกำหนด หรือกะเกณฑ์ว่า จิตจงไม่ยึดอะไร จิตจงมีความโปร่งใส จิตจงไม่เป็นที่รองรับ ไม่เป็นภาชนะที่จะบรรจุเอาน้ำหนักของกายใจนี่ ใส่ลงมา เป็นตัวตน

 

เราไปกะเกณฑ์ด้วยความคิด ความตั้งใจไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะทำแบบที่พระพุทธเจ้าสอน นั่นคือ ค่อยๆ เห็นไป ทีละจุด เอาที่ง่ายที่สุดอย่างเช่น ลมหายใจ

 

ไม่มีอะไรที่รู้ง่ายกว่าลมหายใจอีกแล้วนะ ว่ากำลังเข้าอยู่ หรือออกอยู่ แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจก็ตาม สุขทุกข์ที่มากับลมหายใจก็ตาม หรือจิตที่รู้ลมหายใจก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวง ต่างเป็นแค่ภาวะที่แสดงความไม่เที่ยง โดยตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา จิตจะรู้หรือไม่รู้ มันก็แสดงความไม่เที่ยงอยู่ จนกระทั่งจิตได้ข้อสรุปว่า ที่เห็นอยู่ว่าไม่เที่ยงนี่ เพราะว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน เป็นก้อนตัวก้อนตน ก้อนอัตตาเลยสักก้อนเดียว .. ตรงนี้แหละที่จิตจะว่างขึ้นมา

 

ทีนี้ ถ้าจะเอาเป็นข้อสรุปว่า จิตว่างสำคัญอย่างไร รู้สึกว่าง สำคัญขนาดไหน ก็ดูตอนที่คุณพยายามจะทำสมาธิ ถ้าหากว่าใจพร้อมทิ้งความคิดออกจากหัวได้ ราวกับว่าเป็นแค่เสลดที่ถ่มง่าย หรือว่าเป็นเหมือนกับขี้ฟันที่เราแคะออกมาแล้วก็ดีดทิ้งถังขยะ โดยไม่มีความอาลัยใยดี ตัวนี้ ถ้าเราสามารถมีได้ ก็คือมีสมาธิได้ง่าย จิตว่างนี่สำคัญตรงนี้

 

แล้วก็นอกจากนั้นนะครับ คือ ศาสนาพุทธเราไม่ได้จะเอาแค่สมาธิ แล้วก็ว่างอยู่เฉยๆ ว่างๆ อยู่เฉยๆ บางทีน่าสงสัยด้วย ว่าว่างแล้วจะทำอะไรต่อ

 

ถ้าว่าง ในแบบที่พร้อมจะเห็นกายใจไม่ใช่ตัวตน คือกายใจนี่ เข้ามาไม่ถึง ชั้นของการยึดของจิต จิตก็จะมีความรู้สึกโปร่งเบา พอรู้กาย ก็รู้สึกว่ากายโปร่ง พอรู้สึกเข้ามาถึงความรู้สึกนึกคิด สุขอยู่ ทุกข์อยู่ ก็รู้สึกว่า .. ไม่มีสาระที่จะให้ไปหวงไว้ ถ้าเป็นความสุข หรือ พยายามขับไสไล่ส่ง ถ้าเป็นความทุกข์ .. จะมีความรู้สึกแค่ว่า จะสุข หรือทุกข์ก็ตาม มันมากับลมหายใจที่ต่างกัน

 

ลมหายใจนี้ ถ้ายาว ก็สุข ลมหายใจหน้า ถ้าสั้นก็เป็นทุกข์ รู้อยู่แค่นี้ แล้วไม่เห็นสาระว่า จะต้องไปยึดทำไม จะต้องไปรังเกียจความทุกข์ ที่มากับลมหายใจสั้นทำไม ไม่รู้จะต้องไปหวงความสุข ที่มากับลมหายใจยาวทำไม

 

พอรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่เรามองออกข้างนอก เป็นสมบัติ เป็นบุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่า ที่รังเกียจอะไรต่างๆ เราจะเห็นไม่แตกต่างจากลมหายใจ นั่นแหละ จะถึงจุดหนึ่ง ที่จิตว่างอย่างรู้ ไม่ใช่ว่างแบบเฉื่อยชา หรือว่างอย่างโง่นะ เป็นการว่างอย่างรู้ว่า อะไรๆ ที่ผ่านเข้ามา กระทบให้เกิดปฏิกิริยา มันเลือกได้

 

เลือกได้ว่า จะมีปฏิกิริยาแบบยึดไว้ หรือว่าใจจะมีปฏิกิริยา ในแบบที่ไม่เอาอะไรไว้เลย แล้วรู้สึกดีกับความว่าง จากการไม่เอาอะไรไว้เลย

 

นี่แหละตัวนี้แหละ ที่เวลาเราพูดกันเรื่องจิตว่าง เรามาลงรายละเอียด แล้วเห็นความสำคัญของจิตว่างกันตรงนี้นะ

 

มันสำคัญทั้งในแง่ของการทำสมาธิ และทำวิปัสสนาด้วยนะครับ

__________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?

วันที่ 23 มกราคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=oEWaFmtSyw8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น