ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน เป็นปีใหม่นะ ที่เราได้มาทักทายด้วยคำว่า สวัสดีกัน สำหรับคืนนี้นะครับ ก็จะเป็นหัวข้อแบบที่หลายคนอยากรู้
หลายคนไม่กล้าถาม กลัวว่าจะเป็นการ ... หลายๆ
คนคิดว่าผยองตัวเกินไปหรือเปล่า คาดหวังอะไรเกินตัวหรือเปล่า
ตัวคำถามจริงๆ ก็คือว่า
ถ้าอยากได้มรรคอยากได้ผล อยากเป็นคนที่อยู่บนเส้นทางพ้นทุกข์กับท่าน
ตามรอยพระอรหันต์ไป
ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ยังอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็นทางโลกอยู่
ก็เลยเป็นความขัดแย้งทางใจว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าหากจะมีความโลภแบบโลกๆ อยู่
อยากที่จะมีชื่อเสียง อยากที่จะร่ำรวยเงินทอง อยากที่จะมีคู่ครองหล่อๆ สวยๆ
อะไรแบบนี้นี่นะครับ
คือพูดง่ายๆ ว่า ไม่เสียสิ่งที่คนทางโลกมีหัวใจเรียกร้อง
เขาอยากได้กัน แล้วก็ขณะเดียวกัน ก็ศึกษามาจนกระทั่งเข้าใจแล้วล่ะว่าพุทธศาสนา
ก็มีเป้าหมายที่จะให้มีการพ้นทุกข์ มีการได้มรรคผลนิพพานอะไรแบบนี้นะครับ
ก็อยากทราบว่า ถ้าทั้งสองอย่างนี้ ทำควบคู่กัน
เป็นไปได้หรือเปล่า คืนนี้เรามาฟังคำตอบกัน
จริงๆ เคยพูดไปแล้ว เรื่องนี้ แต่ก็ยัง
..คือบางทีมีคนที่ใหม่ๆ นะ เพิ่งได้ติดตามกัน เพิ่งได้เข้าใจกัน วันนี้จะพูดในแง่ที่ยังไม่ได้พูดนะ
ก็เป็นการเล็งว่าจะตอบคำถาม ไขข้อข้องใจว่า ผิดไหม
เป็นการจับปลาสองมือหรือเปล่า จะขวางกันและกันไหม หรือว่าเอาที่จังๆ
เลยก็คือว่าเป็นไปได้จริงหรือเปล่า เรามาเอาคำตอบในคืนนี้
อันดับแรกเลย ถึงแม้ว่าเราตั้งใจว่าจะเป็นฆราวาสตลอดชีวิต
เราไม่ได้คิดจะไปบวช ไม่ได้คิดจะสละเรือน ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมา ก็มีการยืนยันว่า เราควร
นะครับ ชาวพุทธทุกคน ควรที่จะหวังให้เกิดขึ้นกับชีวิตเรานะ ในเรื่องของการบรรลุมรรคผล
ในเรื่องของการทำจิตให้มีสัมมาทิฏฐิบริบูรณ์นะครับ
คือสามารถเป็นอย่างน้อย พระโสดาบัน แล้วก็รู้จริงๆ
ว่า นอกจากความสุขแบบโลกๆ ยังมีความสุขในแบบที่เราขยับเข้าใกล้
หรือว่าเอาตัวพุ่งตรงเข้าไปให้ถึงมรรคผลนิพพานนะ
คำว่า ‘มรรคผลนิพพาน’ นี่
ไม่ใช่แค่คำลอยๆ แต่หมายถึงการเอาจิตของเราไปพบกับธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง ที่พ้นจากสภาวะแบบกายแบบใจ
ที่เราคุ้นเคยกันแต่อ้อนแต่ออกนี้ เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติที่ไม่เกลือกกลั้ว
เจือปนด้วยความปรุงแต่ง ความแตกพัง ความเกิด ความตาย เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ อยู่โดยตัวเอง
ไม่มีการมา ไม่มีการไป คือไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการอุบัติ
แล้วก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเสื่อมสลายไป
ธรรมชาตินั้นอยู่ตรงหน้าพวกเรานี่แหละ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถเห็นได้
เพราะมีกายนี้ใจนี้เป็นกำแพงบัง
ถ้าฆราวาสคนไหน มีความมุ่งหวังอยากจะได้เห็นนิพพานกับท่านบ้าง
ไม่ใช่ว่าเราจะอาจเอื้อมไปเอาของสูงนะ แต่คิดในทางที่เป็นความปลอดภัย ในการเดินทางในสังสารวัฏก็คือ
ถ้าได้โสดาปัตติผล คือการปิดอบายอย่างถาวร
คุณจะยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายเกิดตายอีก
อย่างมากที่สุดเจ็ดชาติ และในเจ็ดชาตินั้น จะไม่มีทางที่จะลงไปเป็นหมาแมว
หมูหมากาไก่อะไรแบบนี้ หรือว่าจะไปเป็นเปรต จะไปเป็นสัตว์นรกอะไรนี่ ไม่มีแล้ว
หลังตายนี่อุ่นใจได้เลย คืออุ่นใจได้ก่อนตาย จะเห็นเลย
เห็นออกมาจากข้างในว่าจิตแบบที่คุณได้มานี่ จิตแบบที่คุณเข้าถึงนี่
จะไม่ไปสู่ความตกต่ำแน่นอน เพราะรู้ว่าเป็นความสว่างเป็นความอบอุ่น
เป็นความปลอดภัยตั้งแต่มีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์
ที่จะไปได้อย่างเดียวก็คือ สุคติภูมิ
มีมนุษยภูมิเป็นต้น หรือไม่ก็ส่วนใหญ่พระโสดาบัน ก็ในตำราท่านก็บอกไว้ในพระคัมภีร์
ท่านก็ว่าไปสู่ความเป็นสหายแห่งเทวดา ไปเป็นนางฟ้า หน้าตาสวยๆ
ไปเป็นเทวดาหน้าตาหล่อๆ ที่ไม่ต้องมีกลิ่นเหงื่อกลิ่นไคล ไม่ต้องมีกลิ่นปาก
ไม่ต้องมีน้ำเลือดน้ำหนอง มีสภาพอันเป็นทิพย์ หรือจะไปเป็นพระพรหม
ที่จะได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์ มีอาหารเป็นสภาพทิพย์
ไม่ต้องมาเกลือกกลั้วกับสภาพที่เป็นโลกียะ อันมีการแบ่งเพศชายหญิง
อันนี้ก็พูดง่ายๆ เป็นพระโสดาบันได้นี่
พระพุทธเจ้าเลยตรัสว่า ดีกว่าการเป็นแม้จักรพรรดิ
จักรพรรดิของโลกมีสิทธิ์พุ่งหลาวลงนรกได้
แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ต้องกังวลอีกเลย ว่าจะได้ตกต่ำ ไปเป็นสิ่งที่มีชีวิตต่ำกว่าความเป็นมนุษย์
นี่ก็คือถ้าพูดง่ายๆ
ก็คือว่าเป้าหมายของศาสนาพุทธนี่ มีไว้ให้ทั้งพระ และฆราวาส สำหรับฆราวาสนี่
มุ่งเอาโสดาปัตติผลได้ สกทาคามิผลได้ หรือว่าอนาคามิผลก็ยังได้เลยนะ
เพราะว่าอย่างพระอนาคามีก็ยังมีตัวตนอยู่ ยังมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน
ยังมีความรู้สึกเทียบเขาเทียบเราได้
ส่วนพระโสดาบัน จริงๆ แล้วก็คือ
คนปกติที่ยังมีราคะได้ ยังมีโทสะได้ ยังมีโมหะได้ แม้แต่นางวิสาขา
หรือท่านอนาถบิณฑิก (อนาถบิณฑิกเศรษฐี) ในสมัยพุทธกาล ก็เป็นอริยะกันไว
เป็นพวกที่มีธรรมะแก่กล้า บารมีของเก่ามาดี แค่ฟังธรรมไม่เท่าไหร่
ก็บรรลุกลายเป็นอริยเจ้ากัน พวกนี้ก็ยังอยู่ในเพศฆราวาส
อย่างนางวิสาขานี่ มีลูกเยอะด้วยนะ
คือหลายคนถาม ผู้หญิงเป็นอริยเจ้าได้ไหม บรรลุธรรมได้ไหม มีกรรมอะไรหรือเปล่า
มีบาปมีเวรอะไร ถึงทำให้อยู่ในสภาพที่ปิดกั้นมรรคผลหรือเปล่า อะไรต่างๆ ดูนางวิสาขาเลย
เป็นผู้หญิงนะ แล้วก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบเท่านั้น แต่นี่ก็เป็นกรณียกเว้น
เพราะว่ามีบุญมาโดยเฉพาะนะ คือตั้งใจอุปถัมภ์พุทธศาสนา
ฉะนั้น คนที่จะเป็นอุปถัมภกใหญ่
คนที่จะเป็นตัวใหญ่ของศาสนา ต้องมีบุญเก่ามาพอสมควร ที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสพระศาสนา
ถึงขั้นอยากจะเอาชีวิตทั้งชีวิต ลงไปเป็นเหมือนกับ .. ไปเป็นผ้าเช็ดเท้าให้พระศาสดาก็ได้
หรือจะเป็นบันได เป็นสะพานให้พุทธศาสนาสืบทอดต่อ อะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำ ต้องมีแรงบันดาลใจ
คือถ้าไม่ได้ดีทางศาสนา โอกาสที่จะคิดอยากจะอุทิศชีวิตให้กับศาสนานี่
เป็นไปได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางฆราวาส ในทางที่ไม่ได้เป็นพระนี่นะ
นางวิสาขานี่ เป็นตัวอย่างที่ดีเลยว่า คนเรา
คนธรรมดาชาวบ้าน สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ แล้วก็มีชีวิตที่เหลือ อย่างนางวิสาขา
ตั้งแต่เจ็ดขวบจนกระทั่งตาย ไม่ไปไหน ไม่มีการกลับกลอก ไม่มีการเปลี่ยนใจ
ไม่มีการว่า วันนี้ดิฉันขอลาไปนับถือศาสนาอื่นอะไรแบบนี้ ไม่มี
มีศรัทธา มั่นคงในพระพุทธเจ้าตลอดชีวิตแน่นอน
เพราะว่าได้พบแล้วว่า ธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นต่างหาก จากสภาพทางกายทางใจนี้
มีอยู่จริง ไม่ต้องไปฟังใคร ไม่ต้องไปอ้างอิงศาสดาองค์ไหนอีกแล้ว
มีพระพุทธเจ้านี่แหละที่ชี้ทาง แล้วก็พอเราไปถูกทางนี่ ก็ถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เห็นจริงๆ
แล้วก็เกิดความมั่นคงออกมาจากข้างในว่า ชีวิตแบบที่เห็นนิพพานนี่แหละ
คือชีวิตที่เราปักหลักมั่นคงอยู่
เพราะฉะนั้น สุรปว่า
เอาตรงคำถามที่สำคัญที่คาใจหลายๆ คนอยู่ตรงนี้ก่อนว่า ผิดไหม
ที่เราควรจะคาดหวังว่า ชาตินี้จะได้บรรลุมรรคผลกับท่านเขา ยังไม่ได้อยากจะทิ้งอะไร
ยังอยากได้ดี ได้ดิบได้ดีทางโลกอยู่ ยังอยากจะมีชื่อเสียง ยังอยากจะโด่งดัง
แล้วเราควรคาดหวังไหม
ควรนะครับ ไม่ใช่เรื่องผิด
เป็นเรื่องที่ถูกต้องแบบพุทธ
ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่ามีอีกคำถามหนึ่งก็คือ
เป็นไปได้จริงหรือเปล่า
อันนี้ ก็ขึ้นกับว่าเรามีความเข้าใจ พูดง่ายๆ
ว่า มีสัมมาทิฏฐิ ติดตั้งอยู่ในจิตในใจ มากน้อยเพียงใด
เพราะว่า บางคนนี่พยายามจริงๆนะ ผมเคยเห็นนะ
คนฉลาดมากด้วย ไอคิวสูงมากด้วย พยายามทำความเข้าใจพุทธศาสนา พยายามอ่านพระไตรปิฎก
พยายามดูว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสอะไรไว้ แต่คือช่องความจำผิดปกติอย่างไรไม่ทราบ
ชอบจำผิดจำถูก แล้วก็เหมือนกับเข้าข้างตัวเองเป็นปกติ เป็นคนที่มีความเข้าข้างตัวเองสูง
แล้วก็จะมีความอยากมีหน้ามีตาสูงมาก อยากจะเป็นคนสำคัญ อยากจะเป็นอะไรที่ถูกยอมรับระดับโลก
ก็เลยเหมือนกับพยายามทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ตัวเองได้มีชื่อเสียง
ได้มีเงินทอง มากกว่าที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่าพุทธศาสนาสอนอะไร
คือถ้าขึ้นต้นมา ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยการที่อยากพ้นทุกข์นี่นะ
โอกาสที่เราจะฟังธรรมะแบบพุทธเข้าใจนี่ จะค่อนข้างต่ำ
อันนี้พูดกันตรงไปตรงมาที่ต้นทาง
ถ้าคุณไม่ได้มีความทุกข์ แล้วไม่ได้อยากออกจากความทุกข์ทางใจ
โอกาสที่คุณจะทำความเข้าใจ หรือว่าคลิก (click) กับคำสอนในพุทธศาสนา
ค่อนข้างยาก
ถ้าคุณมีปกติชีวิตที่อยู่ดีมีสุขทุกประการ
ไม่ได้ต้องดิ้นรน ไม่ได้ต้องเดือดร้อน แล้วก็สภาพทางจิตทางใจดีอยู่เป็นปกติทุกอย่าง
จะมองว่า พุทธศาสนาเป็นหลักแหล่ง เพิ่มความสุข เห็นวัดเป็นสถานที่ๆ
ไปแล้วจิตใจชื่นบาน ไปทำบุญแล้วมีความรู้สึกเป็นสุขดี ไปเพิ่มความสุข
ไม่ใช่ไปกำจัดทุกข์ หรือริดรอนความเดือดเนื้อร้อนใจ
ตรงนี้นี่ เวลาฟังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ากายใจเป็นทุกข์
คือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งของอุปาทาน คือกายใจนี้ ต้องเกิดต้องตาย แล้วต้องเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ
ตามกรรม ก็เลยได้ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ที่ตัวใดตัวหนึ่งได้
ต้องต่างไป แล้วเราก็ต้องดิ้นรนนะ เหมือนเล่นเกม ต้องพยายามชนะให้ได้ตลอดเวลา
แพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้ก็ลงนรกอะไรแบบนี้
มันไร้แก่นสาร
ที่จะต้องเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แล้วเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่งเรื่อยๆ
ไม่มีที่สิ้นสุด
ตรงนี้นี่ ถ้าเราทำความเข้าใจได้
คือถึงแม้ว่าจะไม่มีความทุกข์อะไรแบบชาวบ้านเขา เราก็จะพอมองเห็นว่า
ความจำเป็นที่จะบรรลุมรรคผล แล้วก็ปิดอบายภูมิเสีย สำคัญขนาดไหน
แต่ว่าก็ว่าเถอะ คนที่มีความสุขในชีวิตมากๆ
ไม่ได้มีความทุกข์อะไรเลย โอกาสที่จะอยากทิ้งกายทิ้งใจ
อยากทิ้งภาวะที่เป็นสมบัติข้าวของหรือบุคคลอันเป็นที่รัก
ที่เกี่ยวของกับกายใจนี้ไป ก็เป็นไปได้ยาก นี่คือข้อจำกัดหนึ่ง
พูดง่ายๆ ที่ต้นทางนี่ อย่างน้อยที่สุด
คุณต้องเข้าใจความทุกข์แบบมนุษย์ ถ้าคนมีบุญมากๆ บอกว่า
เกิดมาไม่เคยเจอความทุกข์เลยจนแก่นี่ อันนั้นคือ ก็ยังเรียกว่ามีบุญแบบที่ไม่มีโอกาส
มีบุญ แต่ไม่มีโอกาสได้ช่อง ที่จะเข้าใจพุทธศาสนา
อย่างลึกซึ้งถึงแก่นจริงๆ นะ
ทีนี้ ถ้ามองแบบชาวบ้านที่อย่างไรๆ
ก็จะต้องมีความทุกข์บ้าง ต้องมีความอยากออกจากความทุกข์บ้าง หรือถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายยิ่งดีเลยนะ
คือถ้าคนมีความทุกข์ขนาด ไม่เอา ไม่อยากจะมีชีวิตอย่างนี้แล้ว
อยากจะหนีๆ อยากจะจบๆ ไป ให้ชีวิตสิ้นๆ ไป ลักษณะของคนที่มีความทุกข์แบบนี้
เหมาะเลย ที่จะทำความเข้าใจพุทธศาสนา
เพราะพุทธศาสนาสอนว่า กายใจนี้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง
และไม่เป็นไปตามใจอยาก แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่จะต้องบีบให้เป็นไป
แล้วถ้าหากว่าเราสามารถเอาใจ ทิ้งความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ใจนี้ได้
แค่นี้ก็จะสามารถเข้าถึงความปลอดภัยได้ เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้
นี่ ถ้าหากมองโดยความเป็นอย่างนี้
คนที่อยากฆ่าตัวตาย หรืออยากจะจบชีวิต อยากจะไม่มีชีวิตแบบนี้
คือคนโชคดีทางศาสนาพุทธ ต้องเกิดมาในเขตแดนที่มีพุทธศาสนาด้วยนะ
แล้วก็ต้องมีความเข้าใจด้วยว่า จะมองอย่างไร ตั้งมุมมองอย่างไร หรือว่าเจริญสติ
เจริญสมาธิ ฝึกจิตอย่างไร เพื่อที่จะแทนการฆ่าตัวตาย เปลี่ยนมาเป็น ฆ่าตัวตนแทน
ถ้าเข้าใจได้ว่า ไม่ควรฆ่าตัวตาย
แต่ควรฆ่าตัวตน แล้วมีความขยันหมั่นเพียรมากพอ อันนี้แหละที่ถือว่าเป็นผู้มีบุญสูงสุดทางพุทธศาสนา
คือคนที่เกิดมาไม่มีความทุกข์เลย
อันนั้นมีบุญแต่ขาดโอกาส แต่ถ้าหากว่า เป็นมนุษย์ด้วย มีความทุกข์ด้วย
อยากจะพ้นจากชีวิตด้วย ชีวิตความเป็นแบบนี้ไป แล้วก็พบพุทธศาสนา พบวิธีปฏิบัติ
วิธีฝึกจิตที่ถูกต้องด้วย อันนี้แหละที่ทางพุทธ ถือว่ามีบุญสูงสุด
อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เลย ถ้าหากใครที่สามารถมองกายใจได้ทะลุ
ไปเห็นนิพพานได้ จะดีกว่าที่ไปเป็นเศรษฐี จะไปเป็นนายก จะไปเป็นศาสดาในลัทธิอื่น
หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระพุทธเจ้าบอกว่า เหล่านั้นสู้ไม่ได้เลย กับการได้บรรลุโสดาปัตติผลนะครับ
เพื่อที่จะเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่ ผมอยากเป็นครับ
หนูอยากเป็นค่ะ ไม่ใช่แบบนั้นนะ คือต้องเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่บนเส้นทาง ที่เขาเรียกว่า
เป็นมรรคมีองค์แปด ซึ่งคำว่ามรรคมีองค์แปดนี่
ถ้าเอาเป็นความเข้าใจที่ง่ายที่สุด โดยย่นย่อก็คือว่า เป็นความรู้สึกว่างจากการยึดเอากายใจเป็นตัวตน
ใจนี่ ใจที่กำลังมีความเป็นมนุษย์อยู่อย่างนี้
ถ้าหากคุณทำอย่างไร มันว่างจากความรู้สึก อยากยึดเอากายนี้ ใจนี้เป็นตัวเป็นตนได้
นี่แหละ ใจแบบนั้นแหละที่เป็นมรรคมีองค์แปด อันนี้โดยย่นย่อที่สุด
ทีนี้ มาจาระไนกันเป็นข้อๆ นะ
มรรคมีองค์แปดนี่ คือพอเรามองว่าเป็นจิตนั่นแหละ
เป็นจิตเป็นใจที่ถูกปรุงแต่ง ให้ว่างจากความรู้สึกอยากยึด เอากายใจเป็นตัวตน จะขึ้นต้นจากไหน
.
จะขึ้นต้นจากคำว่า สัมมาทิฏฐิ
ก็คือว่า ตั้งความเห็นไว้ถูกต้อง ว่ากายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน คือคิดๆ เอาได้
มันเห็นตั้งแต่ตอนนี้เลย สิ่งที่ติดตัว .. ลมหายใจมีลมหายใจสักเส้นหนึ่งไหม
สายหนึ่งไหม ที่เข้าแล้วไม่ต้องออก ออกแล้วไม่ต้องเข้า หรือมีสักลมหายใจไหม
ที่คงสภาพอยู่เป็นตัวเดิม
มีแต่ว่าเปลี่ยนชุดไป ไม่ซ้ำลมเลย
แม้แต่ลมเดียว ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่มีลมไหนแม้แต่ลมเดียว ถ้าหากว่า
เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ดูอยู่ ตั้งมุมมองอยู่ว่า เออ
สิ่งที่ปรากฏโดยความเป็นภาวะของกายของใจนี้ ไม่แตกต่างจากลมหายใจ
ที่เข้าออกอยู่นี่ ไม่เคยซ้ำตัวเดิม ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แปรไปเรื่อยๆ นี่ตัวนี้ เรียกว่าสัมมาทิฏฐินะครับ
ถ้าหากว่าเรามองอย่างนี้ได้ ว่าอะไรๆ
ไม่เที่ยง เราจะมองว่า ทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าหากว่ายึดอยู่
ว่าเป็นตัวเป็นตน ก็คือยังทุกข์อยู่ร่ำไป มีเหตุปัจจัย
ให้จะต้องเกิดกายเกิดใจนี้ไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของการยึดนั่นแหละ ยึดแล้วไม่ปล่อย
ก็ลากไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าหากว่าเราปล่อย ถ้าใจ
ไม่เอาความเป็นกายเป็นใจนี้ ว่าฉันอยากได้ ฉันอยากมีกายใจแบบนี้นี่ ถึงจุดหนึ่ง
จิตจะมีความสามารถทิ้ง หรือผละออก ละไปจากการอยู่กับกายใจนี้
ไปเห็นธรรมชาติอีกแบบหนึ่งที่พ้นไป นี่คือสัมมาทิฏฐิ
พูดง่ายๆ ว่า เข้าใจอริยสัจจ์ 4
ที่เป็นความจริง ซึ่งเหล่าอริยเจ้า ท่านค้นพบตามพระพุทธเจ้านะ
.
ทีนี้ นอกจากจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ถ้าจะเอามรรคเอาผลกัน ต้องมีสัมมาสังกัปปะ จำง่ายที่สุดเลยก็คือ ไม่เอากาม
ไม่เอาพยาบาท
คือถ้ายังเอากาม เอาพยาบาทอยู่
โอกาสที่จะไม่ยึดกาย ไม่ยึดใจ เป็นศูนย์เลยนะ เพราะว่า กามกับพยาบาท คือเครื่องผูกที่ชัดเจนที่สุด
ทีนี้ข่าวดีคือ ตัวความดำริชอบที่จะละกาม
หรือละพยาบาท เพื่อเอามรรคเอาผลนี่นะ ไม่ต้องทำกันตลอดไป
พระพุทธเจ้าตรัสนะ พระโสดาบัน คือแค่มีศีลบริบูรณ์
แต่ว่าสมาธิกับปัญญาพอประมาณ ก็บรรลุกันได้
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลข้อ
3 มีความบริสุทธิ์ สมมติว่า เดือนหนึ่ง อาจเสพกามสัก 20 วัน แต่ขอมี 10 วันที่จิตใจปลอดโปร่งจากกาม
แล้วก็ได้เพียรเจริญสติจนกระทั่งใจเบา ใจบริสุทธิ์ ใจผ่องแผ้ว พร้อมพอที่จะมีสติ
พร้อมพอที่จะมีสมาธิรวม เป็นสมาธิแบบที่เห็นกายใจไม่ใช่ตัวตนได้
แค่นี้เพียงพอที่จะเป็นพระโสดาบัน
คืออย่าเอาเป็นเกณฑ์นะ ผมพูดแค่ว่าเดือนหนึ่ง
20 วัน ไม่ใช่หมายความว่าต้องเกณฑ์นี้เป๊ะๆ ไม่ใช่นะ ผมพูดเป็นสัดส่วนว่า
อย่างน้อยต้องมีช่วงที่เว้นวรรค
อย่างที่สมัยพุทธกาลมีการถือศีลอุโบสถกัน
ก็เอาแค่อาทิตย์ละวันเท่านั้นเอง ที่ไปอยู่วัด แล้วทำตัวให้วิเวก ปราศจากกาม
ปราศจากการมักมากทางการกิน การนอน การเสพความบันเทิงต่างๆ
ท่านขอแค่อาทิตย์ละวันเท่านั้นเอง ศีลอุโบสถนี่ แล้วจากนั้น นอกเหนือจากนั้นนี่
อยู่บ้านได้ อยู่บ้านอยากทำอะไรทำไป ที่ไม่ผิดศีลผิดธรรมนี่ แบบนี้นี่สมัยพุทธกาลก็บรรลุโสดาบัน
เป็นพระโสดาบันกันโครมคราม
.
นอกจากนั้น
องค์ประกอบของจิตที่ว่างจากการยึดกายใจเป็นตัวตน ต้องมี วาจาชอบ สัมมาวาจา
คือที่เห็นๆ เลย ต้องไม่เพี้ยน ต้องไม่มีจิตคิดเพี้ยน จะไปเปลี่ยนความจริงให้เป็นความลวง
อะไรที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นความจริง ไม่ใช่ทำให้กลายเป็นเท็จขึ้นมา หรือไปพูดเพ้อเจ้อเรื่อยเปี่อย
ไปใส่ใคล้คนอื่น พูดจาหยาบคาย
ถ้าหากว่าเรามีสัมมาวาจา คือมีวาจาชอบได้
ใจจะมีความรู้สึกสะอาด ใจจะรู้สึกว่าไม่ผลิตสิ่งสกปรกออกมาใส่โลก ถ่มถุยใส่โลก
ใจแบบนั้น ที่มีความสะอาดพอ ที่จะก้าวไปสู่สติในขั้นสูงขึ้นได้นะครับ
.
นอกจากนั้น อย่างสัมมากัมมันตะ ก็หมายถึงมีศีลชอบนั่นเอง
ความคิดจะไปเบียดเบียนชาวบ้านเขา หรือจะลงมือกระทำ เพื่อที่จะให้คนเจ็บช้ำน้ำใจ
ก็จะไม่มีอยู่ในใจ เอาง่ายๆ
.
ส่วนสัมมาอาชีวะ
อันนี้แหละตัวนี้ ที่เรามาขยี้กันนิดหนึ่ง เพราะว่าหลายท่านบอกว่า อยากได้ อยากดี
อยากมีหน้ามีตา อยากร่ำรวย ตรงนี้นี่ต้องถามว่า ที่คุณอยากได้อยากมี
อยากมีเงินเยอะๆ อยากมีหน้าตาใหญ่ๆ อยู่บนเส้นทางทำมาหากินแบบไหน
อย่างถ้าเอาง่ายๆ เลยนะ เป็นการทำมาหากินในแบบที่ตัวเอง
ต้องมีสติเสื่อมลง หรือชักชวนให้คนอื่นมัวเมา แล้วก็หลงผิด
เกลือกกลั้วอยู่กับอบายมุข อย่างนี้ไม่ใช่เลี้ยงชีพชอบแน่นอน
เพราะว่าทำให้สติเสื่อม ทำให้เราไม่สามารถที่จะเห็นกายใจตามจริงได้แน่ๆ
คนที่มีจิตคิดเพี้ยนไปในทางมืด ไปในทางบอด
ไปในทางที่เป็นอกุศลโดยมาก โอกาสแค่จะไปสวรรค์ ยังริบหรี่เลย
อย่าไปพูดถึงไปให้ถึงนิพพาน
ไปให้ถึงนิพพานนี่
ต้องอาศัยกายนี้ใจนี้นี่แหละ ถามดูง่ายๆว่า จิตแบบที่ทำมาหากิน
แบบที่คุณกำลังทำอยู่นี่ มันสามารถมีความผ่องแผ้ว แล้วก็เป็นสมาธิ พอที่จะเห็นกายนี้ใจนี้ตั้งอยู่ในขณะนี้ได้หรือเปล่า
หรือว่ามีแต่ความรู้สึกว่า นี่กูๆ
ไม่มีอย่างอื่นนอกจากกู ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการเอาเพื่อกู การได้มาเพื่อกู การทำอะไรก็แล้วแต่
ขอให้ได้มาเพื่อกูนี่ พอแล้ว
จิตแบบนั้น ไม่ใช่สัมมาอาชีวะแน่นอน
แต่ถ้าคุณอยากได้อยากดี อยากมีเงินทองเยอะๆ
อยากมีหน้าตาในสังคมอะไรต่างๆ แล้วเลี้ยงชีพใช้ชีวิต แบบที่จะทำให้เกิดความร่ำรวยอะไรขึ้นมาอย่างถูกต้องนี่
นั่นก็คือความร่ำรวยสีขาว หรือเป็นหน้าตาที่ไม่เป็นปิศาจ เป็นหน้าตาของเทวดา
ตัวการเลี้ยงชีพชอบนี่ พูดง่ายๆ
ว่าถ้าเป็นอะไรที่ไม่บั่นทอนสติ ไม่บั่นทอนกำลังปัญญา
สามารถที่จะเป็นเปลือกห่อหุ้มชีวิต ให้เข้าถึงมรรคผลนิพพานกับท่านได้
บางคน เคยเห็นเลยนะ เคยเห็นมาจริงๆ ว่า
ถึงแม้จะร่ำรวยระดับประเทศ ก็ร่ำรวยในแบบที่ถูกต้อง และมีจิตที่อยู่บนเส้นทางการเจริญสติได้
อย่างที่พระพุทธเจ้ารับรอง ท่านอนาถบิณฑิก หรือนางวิสาขา พวกนี้ก็ร่ำรวยแบบสุดๆ
เหมือนกันในสมัยพุทธกาล เป็นเศรษฐี มีเงินมีทองขนาดสร้างปราสาทได้
สมัยนี้ก็คือสร้างคฤหาสน์ใหญ่ๆ โตๆ ได้นั่นเอง
พวกท่านก็สามารถที่จะเอาดีทางธรรมได้
เป็นพระอริยเจ้ากันได้ ฉะนั้นความร่ำรวยหรือเส้นทางทำมาหากิน
ไม่ได้เป็นตัวที่จะทำให้มรรคผลนิพพาน ถูกปิดกั้น
พอเราเข้าใจเกี่ยวกับมรรคมีองค์แปด
ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างของจิตที่สามารถเป็นอริยเจ้าได้ เราก็จะสบายใจว่า
สิ่งที่เราทำอยู่ สิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ได้ปิดกั้น ยังไม่ได้ขวางทางนะครับ
.
นอกจากนั้นก็มีเรื่องสัมมาวายามะ ความเพียร
เพียรอะไรที่เป็นกุศลก็แล้วแต่ เพียรอะไรที่เป็นเส้นทางไปสู่การพร้อม ที่จะมีสติรู้กายใจนี้
นี่เรียกว่าเป็นความเพียรชอบทั้งสิ้น
ความเพียรในทางพุทธนี่ ก็พูดง่ายๆ เลยโดยย่นย่อนะครับ
ละบาป เพิ่มบุญ และทำจิตให้ผ่องใส
คำว่าทำจิตให้ผ่องใส ไม่ใช่แกล้งทำให้ผ่องใส
ไม่มีใครทำได้นะ แต่ขัดเกลาตัวเอง เอาตัวตนหนักๆ ออกไป เอาสิ่งชั่วร้ายต่างๆ
ออกไปจากหัว แล้วก็ทำตัวให้มีความสอดคล้อง ให้สภาพทางกายทางใจนี่
เป็นที่ตั้งของการเห็นว่าอะไรๆ ในขอบเขตนี้ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนได้
นี่ถือว่าเป็นสัมมาวายามะ หรือความเพียรชอบ
.
ทีนี้ สติชอบ (สัมมาสติ) กับสมาธิชอบ
(สัมมาสมาธิ) สติ นี่ก็พูดง่ายๆ ว่า เข้ามาดูกายใจ สมาธิ
ก็คือจิตที่มีความตั้งมั่นเป็นปกติ เห็นกายใจไม่เที่ยง
แล้วก็เห็นกายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน
อันนี้ก็พูดง่ายๆ ว่า พอมาถึงจุดของความมีสติ
มีสมาธิ ซึ่งเป็นยอดของมรรคมีองค์แปด ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ว่างจากอาการสำคัญมั่นหมายผิดๆ
คือไม่อยากเอาตัวตน เวลาเกิดความคิดขึ้นมา จิตที่ว่างนั้นไม่อยากเอาความคิดมาเป็นตัวเรา
มันอยากอยู่ในหมวดรู้ ไม่อยากอยู่ในหมวดคิด ว่ามีตัวมีตนเป็นผู้คิด
ซึ่งกว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องละมาเป็นขั้นๆ นะ
ถ้ายังอยากอยู่ในรสชาติแห่งกามคุณนี่
ช่วงเวลานี่จะ 10 วัน 20 วันของเดือนนั้นก็แล้วแต่ เป็นช่วงที่ไม่สามารถที่จะละ ความรู้สึกในตัวตนได้หรอกนะ
มันต้องมีตัวตนอยู่แน่ๆ มันต้องมีความคิดมุ่งจะเสพสุขแบบโลกๆ
แต่ถ้าหากว่า เริ่มต้นมาจากการมีสัมมาทิฏฐิ
แล้วก็มีดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท ไม่เอาตัวเข้าไปผูกอยู่กับใจกลางโลกนี่
โอกาสที่จะลอยพ้นโลกก็มี แล้วถ้าหากว่าเรามีวิธี ที่จะรู้กายรู้ใจอย่างถูกต้องด้วย
แล้วก็มีความเพียรมากพอ จนเกิดสมาธิ จิตรวมได้ ถึงขั้นฌาน เป็นฌานที่เกิดขึ้น ด้วยการเห็นว่ากายนี้ใจนี้
ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา นั่นแหละที่จะเข้าถึงจุดบรรลุธรรมขึ้นมานะครับ
สรุปง่ายๆ ว่า การที่คุณจะอยากได้อยากมีในทางโลกนี่
เป็นฆราวาสอยู่นี่ ไม่ได้ขวาง แต่ต้องมีช่วงเว้นวรรค
อย่างน้อยมีให้รู้สึกว่าช่วงนี้เราไม่อยากเอาเรื่องทางกามคุณนะครับ
กามคุณนี่เหมารวมหมดเลยนะ คือกามคุณห้า
ไม่ได้มีแต่เรื่องทางเพศอย่างเดียวนะ แต่หมายความว่า อะไรก็แล้วแต่ที่ล่อลวง
ยั่วยวนให้ยึดติดอยู่กับโลกนี่
คุณไม่อยากเอา อยากมาเอารสของความว่าง ของความวิเวกทางจิต
แล้วก็มีความเพียร ในการตั้งมุมมองจากภายใน ที่เห็นกายใจนี้ไม่เที่ยง
ไม่ใช่ตัวตนได้ อันนี้แหละคุณมีสิทธิ์แล้ว
ไม่ใช่ว่าเป็นฆราวาสไม่มีสิทธิ์นะ มีสิทธิ์
แต่คุณแบ่งเวลาอย่างไร คุณจะมีใจที่มีฉันทะ
มีความอยากที่จะเอาดีทางธรรมแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะ
ประเภทที่บอกว่า ขอเสพกามเดือนละ 30 วัน
แล้วเดือนหนึ่งมีได้ 35 วัน ก็เอา 35 วันเลย เสร็จแล้วจะบอกว่า อยากได้มรรคผล
อันนี้เข้าใจผิด ยังไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ยังไม่มีสัมมาทิฏฐินะ
ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ จะตามมาด้วยสัมมาสังกัปปะ
แล้วก็จะค่อยๆ ขึ้นบันไดมาทีละขั้นจนกระทั่งเกิด สติ เกิดสมาธิในที่สุดนะครับ!
__________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อยากได้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม
วันที่ 9 มกราคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=H4oeclmqj-M
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น