วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

ขณะนั่งสมาธิ ถ้าเรานับลมหายใจไปด้วย ทำได้ไหม จะเข้าถึงสมาธิได้อย่างไร ?

 ดังตฤณ : อันนี้ตอนที่ผมเริ่มๆ ผมก็สงสัยเหมือนกันว่า แต่ละคนสอนไม่เหมือนเลย แล้วยิ่งสงสัยอย่างที่สุดก็ตอนที่ได้มีโอกาสมาอ่านพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนตรงๆเลยที่อยู่ในพระไตรปิฎก ท่านไม่ได้ให้นับนะ แล้วก็ไม่ได้ให้คำบริกรรมอะไรเลยด้วย แต่ให้ดูตามจริงว่าเรากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออกอยู่ แล้วสังเกตว่าหายใจสั้น หรือหายใจยาว

คุณจะปฏิบัติแบบบริกรรม จะนับ จะอะไรก็แล้วแต่ไม่ว่านะครับ ผมไม่ได้แอนตี้ ไม่ได้พยายามพูดให้เลิกทำนะครับ แต่ประเด็นคือ เรามีจังหวะ เรามีช่วงตั้งมุมมองใหม่บ้างมั้ยว่า ลมหายใจนี้ที่มันเข้า ที่มันออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น ไม่เที่ยงเนี่ย มันไม่ใช่ตัวมันไม่ใช่ตน สักแต่เป็นธาตุลมพัดเข้าพัดออก เนี่ยมีอาการอย่างนี้อยู่บ้างหรือเปล่า

ถ้าหากว่ามีอาการอย่างนี้อยู่บ้าง ก็สบายใจได้อุ่นใจได้ว่า ทำตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน

แต่ถ้าเอาแต่นับอย่างเดียว หรือว่ามีคำบริกรรมกำกับอย่างเดียว ไม่สนใจดูความจริงเกี่ยวกับอนิจจังของลมหายใจเลย ไม่สนว่าลมหายใจกำลังแสดงความเป็นอนัตตาธรรมอย่างไร อันนี้ถึงได้สมาธิไป ก็ไม่ได้สมาธิแบบพุทธนะครับ เป็นสมาธิแบบนิ่งๆ เป็นสมาธิแบบยึดอยู่ว่าเราถึงสมาธิ เป็นสมาธิแบบมีความรู้สึกว่า เรามีตัวมีตนแบบใหม่ที่มันเหนือๆ มันเจ๋งๆ มันเป็นอะไรที่เลิศลอยเหนือกว่าชาวบ้านเขามนุษย์คนอื่นเขา นี่เรียกว่าเป็นสมาธิแบบที่เข้าถึงความยึดติดแบบใหม่ เข้าถึงสมาธิแบบที่อุปาทานว่าสมาธิเนี่ย สมาธิเป็นของดี สมาธิเป็นของเรา สมาธิเป็นของที่เราเข้าถึง อันนี้ไม่ใช่สมาธิแบบพุทธ

แต่ถ้าหากว่าการสังเกตลมหายใจของคุณมีบ้างที่จะนับ มีบ้างที่จะบริกรรม จะพุทโธ หรือสัมมาอะระหัง อะไรก็แล้วแต่เพื่อที่จะกำจัดความฟุ้งซ่านในหัว แต่ในที่สุดแล้วเข้าใจแก่น เข้าใจหลักว่า เรามีสมาธิดูลมหายใจไปเพื่อเห็นว่าลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราดูอยู่ ตรงนี้แหละ ที่มันจะเป็นแก่นสารจริงๆนะครับ

คำว่า ผิด ว่า ถูก เนี่ย มันต้องถามด้วยว่า คุณจะเอาอะไร ถ้าหากว่าคุณจะเอาแค่สมาธิมายึดว่าเราเข้าถึงสมาธิ มันก็ถูก จะนับหรือว่าจะบริกรรมอะไรเนี่ยถูกหมดแหละ มันได้สมาธิเหมือนกันหมด

แต่ถ้าบอกว่า จะดูลมหายใจไปเพื่อบรรลุมรรคผล เสร็จแล้วไม่ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจเลย ไม่ดูอนัตตาของลมหายใจเลย อันนี้ผิดทางมรรคผลแล้วนะครับ

อันนี้นะครับ จะผิดจะถูก คำว่า ผิด คำว่า ถูก มันต้องมีมาตรฐานอะไรบางอย่างให้วัด แล้วมาตรฐานที่ดีที่สุดก็คือ เป้าหมายของเราทำสมาธิไปเพื่ออะไร

ถ้าหากเราเข้าใจ ถ้าหากเราแม่นยำ แล้วก็รู้ทางแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนจริงๆ เราจะเริ่มต้นทำสมาธิด้วยทิศทางที่ถูกต้อง

แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าแก่นสารของการทำสมาธิคืออะไร จะดูลมหายใจไปทำไมนะครับ อย่างนี้ก็ได้แค่ตรงนั้นแหละ คือสิ่งที่เราต้องการคือสมาธิ บอกว่ามันเป็นของดี เป็นของสูงแล้วเราได้มา เสร็จแล้วก็เสียไป คืนไหนทำสมาธิได้ก็ดีใจ นี่ของฉัน สมาธิของฉัน คืนไหนทำไม่ได้ก็เสียใจ นี่วันนี้เราประสบความล้มเหลวในการทำสมาธิ มานั่งตีอกชกหัวว่าวันก่อนทำได้ ทำไมวันนี้ทำไม่ได้ วันก่อนนิ่งมาก วันนี้มันฟุ้งซ่านเตลิดโลก อันนี้ก็จะเป็นวิสัยแบบที่เรียกว่าคนงมทางแล้วยังไม่เจอว่าทิศที่ถูกต้อง หรือว่าเข็มทิศที่มันใช่ของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหนนะครับ

------------------------------------------------------

๙ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อยากได้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม

คำถาม : การนั่งสมาธิแต่ละครั้ง เราสามารถนับลมหายใจเข้าออก นับหนึ่ง นั่งนับไปเรื่อยๆ เราสามารถทำได้ไหม แล้วเราจะเข้าถึงสมาธิได้อย่างไร หากเรามัวแต่นั่งนับ?

ระยะเวลาคลิป    ๕.๐๐  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=LTDI4SVDNZo&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=3

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น