วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เริ่มจากความสว่าง แล้วสติจะค่อยๆพัฒนาขึ้นเอง

ถาม : ครั้งที่แล้วที่แนะนำ ปฏิบัติไปก็เห็นความเปลี่ยนแปลง มีความสุขในการทำ ก็ทำไปเรื่อยๆ

รับฟังทางยูทูบ  https://youtu.be/iRUmQO1MkcI  
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
ใช่ๆมันเข้มแข็งขึ้น เหมือนกับว่าไม่ได้เก็บกด ไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไรกับการห้ามใจ คือแต่ก่อนน้องเหมือนจะขัดแย้งว่าเราจะเอาอย่างไร ระหว่างความสว่างกับความบันเทิงอะไรอย่างนี้ แต่ตอนนี้มันอยู่ที่จุดประนีประนอม ไม่ได้อ่อนแอนะ แต่ขณะเดียวกันคือไม่ได้แข็งกระด้าง ตรงนี้ใช้ได้

พูดถึงเฉพาะตรงนี้นะ ตรงจุดนี้ เรื่องความสว่างกับเรื่องการบันเทิงที่มันประนีประนอมที่มันใช้ได้ สติที่จะเกิดขึ้นต่อไปควรจะให้ออกมาจากจิตที่สว่าง มีความพร้อมรู้ อย่างเช่นตอนเมื่อกี้นี้ ใช้ได้เลยนะ ตอนที่นั่งสมาธิไปมันมีความสว่างออกมา

ถ้าเราอาศัยความสว่างแบบนั้นเป็นตัวตั้งต้นในการรับรู้ในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกว่าเราเต็มใจ คือมีความเต็มใจที่จะเจริญสติจริงๆ ไม่ใช่เหมือนกับยื้อ แต่ไม่ใช่จะต้องทิ้งการบันเทิงอะไรไปเสียเลยนะ

คือแค่เรามีความสว่างตัวนี้เป็นหลักชัย เป็นชัยภูมิ เป็นที่ตั้งของการเจริญสติ แล้วทุกอย่างก็จะค่อยๆพัฒนาขึ้นไปเอง ของเราเนี่ยเรารู้ตัวอยู่แล้ว อะไรจะพัฒนาได้มันต้องมาจากความพอใจ รู้สึกพอใจ รู้สึกจริงใจ รู้สึกเต็มใจอยู่ข้างใน แล้วทุกอย่างจะค่อยๆเดินหน้าไปเรื่อย ๆ

อันนี้คือเห็นเลยนะ พอจิตเราสว่างเนี่ย จิตใหญ่นะ ใช้ได้  ถ้าเราไปเพลินไปหลงอยู่กับอะไร จิตมันจะเล็ก เราจะรู้สึกเลย มันเป็นคนละคนเลยนะ

แม้ปฏิบัติถูกทางแล้ว ก็ยังรู้สึกขาดๆเกินๆได้

รับฟังทางยูทูบ  https://youtu.be/J3KBkC1JJ0k
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
จริงๆแล้วคนมักจะนึกว่าปฏิบัติไป ถ้าถูกต้องเนี่ย ทุกอย่างจะดีหมด ทุกอย่างต้องไม่มีความรู้สึกขาดๆเกินๆ เลย แต่แท้ที่จริงมันขึ้นอยู่กับวิธีใช้ชีวิตของเราเป็นมาอย่างไร วิธีทำงานของเราเป็นมาอย่างไร วิธีคิดเกี่ยวกับคนของเราเป็นมาอย่างไร เหล่านี้มันนับหมด มันเอามารวมหมดนะ เพราะว่าสิ่งที่เราสะสมมาเนี่ย มันมากกว่าการปฏิบัติหลายเท่าตัวนัก

ภาวะความเคยชินทางธรรมชาติ ที่เราจะทำงานหรือว่าที่เราจะดีล (deal) กับผู้คน ตัวเนี้ยที่จะมาปรากฏบ่อย และถ้าเราสังเกตอยู่ว่ามันปรากฏโดยความเป็นอย่างนี้ ไม่ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน เราก็จะค่อยๆเห็นไปทีละภาวะๆ ว่าภาวะตอนนี้กำลังปรากฏอยู่ และมันต่างกับอีกภาวะอย่างไร

วิธีง่ายๆที่จะแบ่งว่า ภาวะไหนเป็นภาวะไหน ก็ดูเอา เหมือนถามตัวเองว่าในลมหายใจนี้กำลังเกิดความรู้สึกอึดอัดหรือว่าสบาย อีกลมหายใจนึงอึดอัดขึ้นหรือว่าสบายลง สบายผ่อนคลายลงกว่าเมื่อครู่ ฝึกถามตัวเองไปอย่างนี้ มันก็จะได้หายสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป

ถ้าไปพยายามที่จะทำอย่างไรต่อไปอยู่เรื่อย ๆ มันจะเหมือนกับเราหาอุบายเพิ่ม ว่าต้องแก้อย่างนั้นต้องแก้อย่างนี้ ตรงนี้ติด ติดขัดรู้สึกอึดอัดขึ้นมาควรจะต้องทำอย่างไร มันกลายเป็นพยายามที่จะทำอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าหากว่าเราคอยเปรียบเทียบภาวะนี้ลมหายใจนี้กำลังเป็นแบบนี้  อีกลมหายใจนึงกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้ไม่ได้พยายามอะไรเลย มันแค่ปล่อยให้ทุกอย่างปรากฏตามจริง แล้วเราสังเกตเอาในแต่ละลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเอง

เวลาที่พระพุทธเจ้าสอนอานาปานสติ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้แหละ หายใจเข้าหายใจออก รู้สึกอย่างไรอยู่ กำลังมีอาการปรุงแต่งอย่างไรอยู่ รู้ตามจริง นี่แหละอันนี้คือ อานาปานสติ แล้วมันจะค่อย ๆ เห็นความไม่เที่ยงของแต่ละภาวะไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นั่งสมาธิ เดินจงกรม ควรตั้งเวลาไหม

ถาม : แล้วตอนที่เรานั่งสมาธิหรือเดินจงกรมนี่เราต้องตั้งเวลาหรือเปล่า หรือทำไปเรื่อย ๆ ถ้าเรามีเวลาก็นั่งไปเรื่อย ๆ หรือว่าเดินไปเรื่อย ๆ
รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/0eCMG_k3jYE
เสวนาดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๗ คำถามที่ ๙.๒
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส 
๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖

ดังตฤณ: 
ช่วงแรกที่ยังไม่รู้กำลังของตัวเอง นั่งไปเรื่อย ๆ ก่อน ต่อมาเมื่อเริ่มมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ก็ควรจะตั้งเวลาไว้เหมือนกัน คือจะได้รู้ว่าเรานั่งนานแค่ไหน พี่ก็เคยทั้งตั้งเวลา ทั้งไม่ตั้งเวลา ทั้งปล่อยไปเรื่อยๆ ตอนปล่อยไปเรื่อยๆเนี่ย  มันมีแง่ดีตรงที่เราไม่ต้องพะวง แต่มีแง่เสียตรงที่ว่ามันจะไม่มีจุดหมาย มันเหมือนทำไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงต้นๆ ก็ดูว่า ตั้งเวลาหรือไม่ตั้งเวลาแล้วใจมันพะวงหรือเปล่า พะวงมากเกินไปหรือเปล่า สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในขณะนั่งสมาธิก็คือ ไม่ควรเกิดความพะวง ถ้าเกิดความพะวงแล้ว ไม่ดี รู้เป็นหลักการคร่าวๆ

ผู้ถาม : พะวงกับกังวล คล้ายๆกันไหมคะ

ดังตฤณ: 
เหมือนกัน คือจิตใจมันไปข้อง มันไปติดอยู่กับเงื่อนของเวลา แทนที่จะมาโฟกัส (Focus) กับสิ่งที่เป็นลมหายใจเต็มที่ หรือภาวะที่มันเกิดขึ้นเต็มที่



โรคเข้าข้างตัวเองลดลง เมื่อดูลมหายใจไม่เที่ยงเป็น

ถาม :อยากทราบว่า จริงๆแล้วสังหรณ์ในการตัดสินใจในแต่ละเรื่องของเรา เวลาที่เรามีความคิด เราจะมองเห็นว่าสภาวะจิตใจเกิดอกุศลหรือกุศล เบาหรือหนักใช่ไหมคะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/3OrjeE1eJEI  
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๐
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ:
เอางี้พูดตรงๆ นะ คือของน้อง บางครั้งมันจะรู้สึกว่า อะไรยังไงเนี่ย มันก็ใช่แหละ แต่ส่วนใหญ่เราจะเข้าข้างตัวเอง เราเป็นคนเข้าข้างตัวเองเข้าใจไหม คนเข้าข้างตัวเองนะต่อให้เดิมมันมีเซ้นส์ (sense) อยู่ มันก็เพี้ยน น้องตั้งโจทย์อย่างนี้ไม่ได้ ว่าทำยังไงจะให้เป็นกลาง เพราะมันจะฝืนขึ้นมาทันที มันฝืนกับตัวเอง ใจเราจริงๆ อยากจะเข้าข้างตัวเองเต็มที่เลย พอเราตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าทำยังไงจะให้เป็นกลาง มันฝืนกับตัวตนเดิมแล้ว มันต้องไปสู้ เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง มันเป็นไปไม่ได้ 

แต่เอาอย่างนี้ดีกว่า ณ เวลาที่เราเกิดความรู้สึกหนักๆ ขึ้นมาในหัว เหมือนกับอยากจะเอาอะไรให้ได้อ่ะ  เราเข้าใจใช่ไหม ว่าหน้าตามันเป็นยังไง นั่นแหละตัวนั้นแหละ เข้าข้างตัวเอง คือเริ่มไปมองเห็นไง ว่าอาการเข้าข้างตัวเองหน้าตามันเป็นยังไง

ตอนที่เราบอกว่า เอาให้ได้ไม่ยอม แล้วมันรู้สึกหนักๆ อึ้งๆ ขึ้นมาในหัว รู้สึกเหมือนจะนอนไม่หลับ รู้สึกเหมือนกับว่า เอ๊ย ทุกข์ทรมานเหลือเกิน รู้สึกเหมือนกับว่าจะเรียกใครต่อใครทั้งโลกเลยมาเข้าข้างเรา
นี่แหละเข้าข้างตัวเอง เมื่อกี้พอน้องเห็น เห็นไหมมันรู้สึกเบา มันรู้สึกเหมือนกับว่าอาการเข้าข้างตัวเองเป็นอะไรที่เราเห็นมาตลอด แต่เราไม่รู้สึกถึงมัน ไม่รู้สึกว่ายอมรับมัน เพราะมันเป็นของติดตัว เราไปมัวแต่ตั้งโจทย์ว่าจะเอาชนะมันยังไง

แล้วมีอะไร ที่จะเป็นเกณฑ์ว่าไม่เข้าข้างตัวเองแล้ว? คือขืนเราไปเอาหลักเกณฑ์เป็นคำพูด ว่าทำแบบนี้ถึงจะไม่เข้าข้างตัวเอง ทำอย่างนี้ถึงจะมีเหตุผล สรุปแล้วเอาเข้าจริงมันลืม ลืมเหตุผลเหล่านั้นหมด เพราะคนเราจะไม่จำคำพูดนะ จำไว้นะ มันจะจำเป็นอารมณ์ คือจะจำว่า อย่างเนี้ย หนักๆ เนี่ย คือเราจะต้องเอาให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราจำมาตลอด แต่เมื่อกี้พี่พูดใหม่ บอกว่าถ้ารู้สึกหนักๆ ขึ้นมา ให้แปะป้ายบอกเลยว่า นี่เค้าเรียกว่าเข้าข้างตัวเองแล้ว เห็นไหมคราวนี้มันไม่มีอะไรต้องจำ มันมีแต่ความเข้าใจ แล้วมุมมองที่ถูกจูน (tune) ให้ตรงตามกับที่มันเป็น ถ้าเรารู้สึกหนักๆ ในหัวขึ้นมาเมื่อไหร่ จำไว้เลยว่านั่นแหละเริ่มคิดเข้าข้างตัวเอง

พอเห็นไปเรื่อยๆ มันจะรู้สึกขึ้นมาว่า อาการหนักๆ เนี่ย มันเป็นของสูญเปล่า ไม่ต้องหนักก็ได้ พอเห็นปุ๊บจะเบาลงทุกครั้ง ตอนที่พี่บอกว่ามีอะไรหนักๆ ในหัว แล้วเรารู้สึกนึกออก ว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วมันเบาโล่งลงทันที นั่นแหละอาการแบบนั้นแหละ ที่พี่บอกว่าควรจะเห็นและให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ไปบังคับให้มันเกิดขึ้นนะ เพราะตอนนี้เรากำลังคุยกันอย่างเป็นธรรม มันจะมีกุศลจิตมาช่วยทำให้มันง่าย 

แต่พอออกไปข้างนอก ความรู้สึกอยากเข้าข้างตัวเองจะกลับมารุนแรง แล้วตอนที่มันกลับมารุนแรงเนี่ย บางทีเรายอมรับว่ามันหนักก็จริง แต่มันจะไม่เบาให้ดูเหมือนอย่างนี้ ตอนนี้มันพร้อมที่จะยอมรับ เพราะอยู่กับธรรมะ แต่ถ้าออกไปเราแค่สังเกตเป็นลมหายใจ ว่าลมหายใจนี่มันหนัก อีกลมหายใจต่อมาเท่าเดิมไหม อีกลมหายใจต่อมามันโล่งไปหรือกลับมาใหม่ อย่าคาดหวังว่ามันจะไปแล้วไปลับ แต่คาดหวังว่ามันจะกลับมาให้ดูใหม่เรื่อยๆ เราแค่มีหน้าที่เทียบว่าแต่ละลมหายใจ มันหนักมากหรือหนักน้อยในหัว 

พอดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แทนที่มันจะมีอาการทางความคิดว่าอยากจะตามใจตัวเอง มันจะเปลี่ยนเป็นว่าอยากจะดูความไม่เที่ยงของอาการหนัก แล้วความอยากจะตามใจตัวเองมันหายไปเอง ตรงนั้นแหละเหลืออะไรอยู่ในใจ ตรงนั้นแหละคือความไม่เข้าข้างตัวเอง

ทุกข์น้อยลงได้ แม้ยังสับสนว่าจะยื้อไว้หรือปล่อยไปดี

ถาม :เป็นความขัดแย้งอยู่ภายใน ระหว่างสภาวะจิตใจกับระบบความคิด เหมือนจิตผูกอยู่กับใครสักคน ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องปล่อย แต่ปล่อยไม่ได้ ก็เลยไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้ว ควรต้องทำแบบไหน

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/wwqB8OlGrl0
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๐
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ:
เป็นเรื่องธรรมดานะ เป็นเรื่องธรรมดาของทุกคน ใจเราลึกๆอยากได้ ใจจริงแท้ๆ อยากได้ไว้ แต่อีกใจหนึ่งก็ โอ๊ย เคยสะสมมาเยอะปัญหาสารพัด แล้วก็เกิดความรู้สึกว้าวุ่น วุ่นวายใจ เคยคิดไม่เอาดีกว่า เคยคิดว่าเดี๋ยวไปหาอะไรข้างหน้าเอา อะไรทำนองนี้มันเคยคิดมาหมดแล้ว แล้วเห็นไหมว่าความคิดพวกนั้น มันยังปะปนอยู่กับความคิดในปัจจุบัน ตอนที่ยังดีๆกันอยู่เนี่ย ความคิดอยากจะไม่เอาแล้วต่างๆมันมีมาตั้งนานแล้ว สั่งสมตัวมาตั้งนานแล้ว แต่พอถึงเวลาที่จะไม่เอาจริงๆ มันก็มีแรงยื้อ เหมือนกับใจจริงๆอยากจะเอา แต่ใจที่ไม่จริงมันไม่อยากเอา แต่ใจที่ไม่จริงมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี

ทีนี้ถ้าเราตั้งมุมมองใหม่ว่า โอเค มันเป็นอนัตตา ทั้งอยากเอาทั้งไม่อยากเอา บางทีอยากเอาไว้เพราะกลัวเสียหน้าก็มี บางทีเสียความรู้สึกก็มี เสียความรู้สึกของเราเอง แต่ตอนเสียหน้ามันเสียกับคนอื่น มันมีความรู้สึกว่าตัวเองน่าจะแน่กว่านี้ บางทีความอยากจะเอาไว้เพราะว่าเรารู้สึกดีจริงๆก็มี มันมีประสบการณ์มาทุกอย่าง ตอนที่รู้สึกดี ตอนที่รู้สึกว่ามันน่าจะใช่ มันน่าจะก่อร่างสร้างฐาน ทุกอย่างที่มันมารวมลงที่ปัจจุบัน บางทีมันซับซ้อนแต่จะซับซ้อนแค่ไหน มันก็มีอยู่แค่นี้แหละ ระหว่างเคยคิดว่าจะเอาไว้ กับ เคยคิดมาแล้วว่าจะไม่เอาไว้ มันปะปนกันมั่ว

เราบอกว่าเราสับสนว่าตกลงมันยังไงกันแน่ นี่ถ้าเอาประสบการณ์ของเรามาวางแบ มันจะเห็นมีทั้งดีทั้งร้าย มันจะเห็นว่า เออ เคยผ่านมาหมดแล้ว ความรู้สึกที่เป็นลบ ความรู้สึกที่เป็นบวก แต่ตอนนี้มันไม่รู้ว่าบวกหรือลบมากกว่ากัน รู้สึกแต่ว่าอยากเอาไว้ ใจจริงๆอยากเอาไว้ แต่ใจที่ไม่จริงมันก็ตามมาด้วย เรื่องเหตุผลไม่สำคัญ เหตุผลโน่นเหตุผลนี่ ที่เอามาพูดกันคุยกัน ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ ไม่มีความหมายเลย มันไม่ได้ทำให้ใจของเราสามารถมาจำแนกได้ว่า ตกลงใช่หรือไม่ใช่ จะเอายังไงดี

ทีนี้ถ้าเราเริ่มถอยกลับไป มองกลับมาใหม่ คือเห็นอย่างที่พี่พูดไว้ทั้งหมด ว่ามันมีทั้งดีมีทั้งร้าย เราผ่านมาหมดแล้ว ความคิดว่าก่อนหน้านี้ อยากจะเลิก ไปไหนก็ไปไป๊อะไรอย่างเนี้ย แต่ตอนนี้ที่ว่ามันกระวนกระวายอยากยื้อไว้ มันเหมือนมองออกมาจากอีกมุมหนึ่ง เห็นป่ะ เดิมทีเราปักแน่นอยู่ในใจ ว่าใจของเรากำลังเป็นทุกข์เหลือเกิน แต่พอพี่พูดไป มันเริ่มเห็นเหมือนกับ เออ มองไปอีกคนหนึ่ง ที่ว่าเคยผ่านดีเคยผ่านร้ายมา แล้วเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมาผสมกัน แล้วเกิดความรู้สึกขัดแย้ง มันชั่งน้ำหนักไม่ถูก รู้แต่ว่าใจจริงๆ อยากยื้อไว้ ก็เห็นทั้งหมดนี่แหละนะ ราวกับว่าเป็นอีกคนหนึ่ง แล้วมองว่าอาการอยากยื้อไว้ มันก็เป็นแค่อีกประสบการณ์หนึ่ง คือประสบการณ์ที่ผ่านมามีทั้งบวกทั้งลบ ประสบการณ์อยากยื้อไว้แบบไม่เต็มใจนะ ยื้อไว้เนี่ย ไม่เต็มใจด้วยนะ มันก็เป็นแค่อีกประสบการณ์หนึ่งของการไม่รู้ว่าบวกหรือลบมันมากกว่ากัน มันหนักกว่ากัน

พอเห็นอย่างนี้ รู้สึกไหมเหมือนว่าใจเราเริ่มที่จะยอมรับสภาพได้ อย่างน้อยยอมรับสภาพความสับสนของตัวเอง โดยความเป็นภาวะอะไรอย่างหนึ่งที่ถูกมองอยู่ คือไม่ใช่ไปปักใจอยู่กับภาวะเศร้าหมอง แล้วก็จมอยู่กับตรงนั้นโงหัวไม่ขึ้น ที่ผ่านมาจะมีอะไรที่สับสนซับซ้อนพิสดารแค่ไหนก็ตาม มันกลายเป็นของเรียบง่ายได้หมดเลยในนาทีนี้ ที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา แต่เมื่อไหร่มันกลับมายึดมั่นถือมั่นว่า เฮ้ย ต้องเอาไว้ แต่ตอบตัวเองไม่ได้ ว่าเอาไว้ทำอะไร ใจจริงๆ ก็ไม่ได้เต็มใจ รู้แต่ว่ามันอยากได้ อยากยื้อไว้ ก็จะได้เกิดสติขึ้นมาว่า ตอนนี้เราเกิดอุปาทานอีกแล้ว เกิดอุปาทานเต็มๆ อีกแล้ว พอกลับมาเกิดอุปาทานเต็มๆ อีก ก็มองอย่างที่พี่พูดไป

เห็นไหมมันมีดีมีร้ายผ่านมา ประสบการณ์ของเรา เรานึกออกเลยเป็นฉากๆ ไม่ต้องให้พี่จาระไน พอนึกไปมันจะได้เข้าใจตัวเองว่าทำไมมันถึงมีอาการยื้อไปยื้อมา แล้วมันก็กลับมาสู่สภาพจิตใจของผู้สังเกตการณ์ใหม่ ผู้รู้ ผู้ดู ว่าทั้งหลายทั้งปวง จะขัดแย้งแค่ไหนก็ตาม 

สรุปแล้วก็คือว่า ถ้าไม่ยึดนะ มันจะกลายเป็นผู้ดู ผู้เข้าใจ และก็ผู้เป็นอิสระ เนี่ย ที่ใจมันเหมือนกับคลายออกมา คลายไม่จริง พี่เข้าใจนะ แต่อย่างน้อยมันคลายออกมา มันจะยังเศร้าอยู่ มันจะอมเศร้าอยู่ แต่รู้สึกเหมือนกับว่าไม่ต้องอะไรนักหนา ในขณะที่จะต้องเอาให้ได้เนี่ย มันรู้สึกว่ามันนักหนาเลย มันเป็นจริงเป็นจังมากปล่อยไม่ได้

ทีนี้เวลาเจริญสติ เราก็อาศัยลมหายใจ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เหมือนกับเห็นตัวเองว่าหายใจเข้าหายใจออกอย่างนี้เศร้าแค่ไหน ตัวเศร้าแค่ไหนคืออันเดียวกันเลยกับตัวยึดแค่ไหน เศร้ามากแปลว่ายึดมาก ถ้ารู้สึกเหมือนความเศร้าอยู่ห่างๆ นั่นแปลว่ายึดน้อย ถ้ารู้สึกเหมือนกับว่าเหตุการณ์ในความทรงจำ เป็นแค่อะไรที่คล้ายๆ กับสมุดภาพ เปิดๆ ไปก็มีอยู่แค่นั้น เปิดแล้วก็ปิด เปิดแล้วก็ปิด ต้องผ่านไปทีละภาพ ทีละภาพ ไม่เห็นจะมีอะไร ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันจะกลับมาอยู่กับสติ พี่ไม่รู้นะว่าตกลงลงเอยยังไง แต่รู้อย่างเดียวว่า ตกลงใจของเราจะไม่เป็นทุกข์เหมือนอย่างที่เป็น




คิดมากกับเรื่องหยุมหยิม

ถาม : บางเรื่องถ้าไม่สนใจ เวลาอะไรมากระทบจะตัดและวางได้เร็ว แต่บางเรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เรายึดติดและรู้สึกผิดกับความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นแบบนั้น เป็นเรื่องเดียวที่วางไม่ได้ สลัดไม่ออก

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/GJ8IGmPUMyE 
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๐
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ:
ก็ให้มองไปว่าเส้นทางในแบบของเรา มันมากับอาการคิดมากด้วยเรื่องหยุมหยิม เรื่องใหญ่บางทีทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่พอเรื่องหยุมหยิมมันง่ายที่จะยึดมั่นถือมั่น มันง่ายที่เราจะเอาตัวเข้าไปแล้วบอกว่า ฉันจะยึดเรื่องนี้แหละ ที่แท้มันก็คือธาตุแท้ของเรา ที่อยากจะเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้ทำงาน โดยธาตุนิสัยของเราเนี่ย มันเหมือนกับอยากจะให้คนอื่นเค้าเห็นว่าเราเอาจริงเอาจัง อยากจะให้คนอื่นเค้ารู้สึกว่าเราเวิร์คนะไม่ใช่ไม่เวิร์ค ใจจริงของเราไม่อยากจะไปวุ่นวายกับอะไรที่มันยืดเยื้อจริงๆ แต่พอเป็นอะไรที่มันหยุมหยิมมันแป๊บเดียวไง แล้วเราแสดงออกถึงอาการจริงจัง มันเหมือนกับมีภาพที่ว่าเราเวิร์ค

คือบางทีมันแฝงอยู่ในใจลึกๆนะ ว่าไม่ใช่ว่าเราไม่มีความรับผิดชอบหรืออะไรแบบนั้น แต่ว่าบางทีมันผลักดันออกมาจากความรู้สึกว่าอยากจะเวิร์ค อยากจะเป็นคนที่เวิร์ค พอเรื่องใหญ่จริงๆที่เราบอกว่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เนี่ย อันนั้นเป็นใจอีกแบบหนึ่ง เอาที่พี่เห็นนะ คือว่าในใจเราลึกๆ มีความต้องการที่จะอยู่ในสายตาคนอื่นว่าเราเวิร์ค เอาตรงนี้ก่อน จูน (tune) ให้ตรงกันก่อน อย่างที่น้องเล่ามาก็แปลได้ว่า พออยู่ในสภาพกดดันจริง เราจะควบคุมตัวเองได้ดีเป็นพิเศษ เพราะว่าเราอยากจะเป็นอย่างนั้นตั้งแต่แรกอยู่แล้วไง คือมันมีภาพนั้นอยู่ในใจของเรา เป็นความเต็มใจที่เราจะมีสภาพแบบนั้น

แต่ว่าตัวของเราจริงๆ พอเจอเรื่องหยุมหยิม มันคล้ายๆว่าไม่ต้องอยู่ในสายตาของคนอื่น ว่าเนี่ยมันไม่สามารถแฮนเดิ้ล (handle - รับมือ) ได้ ก็ปล่อยเลยตามเลย คือไม่ต้องมีภาพเวิร์คก็ได้ ณ เวลานั้นคือมันกลับกัน กับที่พี่พูดตอนแรก แต่สิ่งที่พี่เห็น คือในใจของเราจริงๆ เรารู้สึกว่า ถ้าเราเป็นคนที่สามารถจะรับมือกับอะไรได้เป็นคนที่เวิร์ค มันจะมีความรู้สึกดีกับตัวเอง มีความภูมิใจนะ มันจะสวิทซ์ (switch) กันนิดนึงกับที่พี่พูด งานใหญ่เราจะแฮนเดิ้ล (handle) ได้ แต่งานเล็ก ๆ เราจะรู้สึกว่าไม่ต้องไปเอาอะไรกับมันมากก็ได้ เพราะว่าตรงนี้คงไม่มีใครมาสนใจ

ที่นี้ถ้าเรามองเป็นภาพทางใจแล้วเราเห็นอย่างนั้น มันจะมีความรู้สึกว่าใส่สติเข้าไปกับเรื่องเล็กๆบ้างก็ดี คนอื่นจะมองเราอยู่หรือไม่มองเราอยู่ก็ตาม เราสามารถที่จะเห็นว่าเรื่องเล็กๆน้อยๆ มีอาการทางใจกระสับกระส่ายอย่างไร คือเห็นอยู่ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นเห็นภาพเข้ามา คือเปลี่ยนมุมมองนิดหนึ่งตรงที่ว่าเราไม่แคร์สายตาใคร กลายมาเป็นว่าเราแคร์กับการเห็นของจิตและตัวเราเอง ส่วนตอนรับมือกับงานใหญ่ๆก็ดีแล้ว มันเป็นอีโก้ (ego) ชนิดหนึ่ง แต่เป็นอีโก้ (ego) ที่ทำให้ชีวิตเราดี

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เสียงตีกันในหัวค่อยๆหายไปเมื่อสวดมนต์ถูกวิธี

ถาม : จากที่เมื่อกี้ฝึกสมาธิช่วงแรกน่ะครับ ก็รู้สึก สบาย เบา แต่พอนั่งสักพักก็รู้สึก ...

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/YBzMWoXsjbc
เสวนาดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๗ | คำถามที่ ๑๐.๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖

ดังตฤณ: 
ช่วงแรก ๆ ก็เกร็งๆ อยู่นะ

ผู้ถาม : ใช่ครับ เกร็ง

ดังตฤณ: 
เราจะรู้สึกเกร็งๆ เหมือนกับไม่ถูกที่ถูกทางอะไรแบบนั้น

ผู้ถาม : แล้วก็เริ่มปล่อย แล้วก็สัมผัสได้ เริ่มมีความเบาขึ้น สักพักหนึ่งก็รู้สึกง่วงนอน แต่ว่าก็ยังได้ยินสิ่งที่อาจารย์พูดอยู่ แต่ว่าก็เลยไม่แน่ใจ ความรู้สึกเหมือนอยู่ในภวังค์

ดังตฤณ: 
ตอนแรกๆนี่ ที่เกร็งเพราะว่ามันเหมือนกับตื่นเต้นนิดหนึ่ง คือมันมาพร้อมกับความตั้งใจ แต่ทีนี้พอทำๆไปมันรู้สึก เออ ก็ไม่มีอะไรนี่ มันก็ดูไปเรื่อยๆ  ฟังไปเรื่อยๆ ใจมันก็ค่อยๆ คลายความเกร็ง คือเราเริ่มสังเกตว่ามันเกร็งมือ เกร็งเท้า แล้วก็ปล่อยไปตามลำดับ มันก็เลยเริ่มมีสติขึ้นมา ทีนี้พอมาดูลมหายใจ ตอนนี้เริ่มสบายแล้ว คือเหมือนกับพอเห็นลมหายใจเข้าออกโดยที่ไม่คาดหวัง โดยที่ไม่อยาก คือเราเข้าใจพอยท์นี้ ซึ่งเป็นพอยท์ที่พี่ต้องการให้เข้าใจจริงๆ  ถ้าใครสามารถเห็นลมหายใจเข้าออกได้โดยไม่มีความคาดหวัง จิตมันจะอยู่ในฐานะผู้ดู ผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่ผู้อยาก

ที่นั่งสมาธิกันมาแล้วไม่ได้ผลนี่นะ
ร้อยทั้งร้อยมันเป็นเพราะว่า
นั่งสมาธิด้วยความคาดหวัง ด้วยความอยาก 
อยากจะดูลมหายใจให้ชัด
อยากจะสงบให้ได้

พอเราเริ่มเรียนรู้แล้วก็จำตรงนี้แหละ จุดตรงนี้แหละ ที่ทำให้เราเกิดความตื่น เกิดความสบายแบบตื่นขึ้นมา มันจะสว่างขึ้นมาในชั่วขณะหนึ่ง  ทีนี้เนื่องจากกำลังมันยังไม่มากพอ พอทำๆ ไปมันมีความรู้สึกสบาย แล้วใจเราไปจับอยู่กับอารมณ์สบายมันก็เลยเคลิ้มไป อันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าเราฝึกทุกวันเช้าเย็น สวดมนต์ก่อนก็ดี ของน้องควรจะสวดมนต์ก่อนนะ คือความคิดภายในเนี่ย ศรัทธามันยังสับสนอยู่ บางทีมันยังตีกันเอง เหมือนกับจะก้าวมาก็ไม่ก้าว มันยังแค่ครึ่งๆขา การสวดมนต์จะช่วยให้ตัวศรัทธามันเต็มขึ้น 

บางทีอย่างอกุศลจิตหรือว่าความคิดไม่ดีที่มันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆนะ เราใช้ไปศึกษาตอนที่สวดมนต์ก็ได้ สมมุติว่าสวดมนต์แล้วคิดอะไรไม่ดีขึ้นมานี่ เราก็ดูว่าตรงที่คิดไม่ดี ไม่ใช่ความตั้งใจของเรา ความตั้งใจของเราคือสวดมนต์ต่างหาก มันก็จะได้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ว่าความตั้งใจจริงอยู่ที่การสวดมนต์ อยู่ที่ความเป็นกุศล ส่วนอกุศลธรรมที่มันเข้ามาในรูปความคิดแว่บขึ้นมาในหัว หรือว่าบางทีมันก็วิ่งวุ่นอยู่ในหัว มันเป็นแค่อนัตตาที่ควบคุมไม่ได้ 

บางวันมันรู้สึกใช่ไหม? มันเหมือนมีอะไรรบกันอยู่ข้างใน ระหว่างอกุศลธรรมกับกุศลธรรม ใจหนึ่งก็อยากจะเอาดี  ใจหนึ่งมันก็คิดอะไรเละเทะ  คือคนสมัยใหม่มาเจออย่างนี้ น่าสงสาร เจอข่าวเจออะไรเยอะไปหมด มันก็เลยเวียนหัว มีความคิดอะไรไม่ดีสะสมอยู่เยอะ ตามบอร์ดตามอะไรในอินเตอร์เน็ตก็มีแต่ถ้อยคำด่ากันบ้าง อะไรบ้าง คล้าย ๆกับเราโตมาท่ามกลางอะไรเหล่านี้ มันก็เลยมีอะไรวิ่งวุ่นอยู่ในหัวค่อนข้างเยอะ

ทีนี้ถ้าสวดมนต์ด้วยความตั้งใจ ก็จะเปล่งเสียงอย่างมีความสุขเต็มที่ แล้วก็การสวดมนต์นั้น เราไม่คาดหวังอะไรทั้งสิ้น นอกจากสรรเสริญพระรัตนตรัย สวดอิติปิโสนี่นะ มีแต่สรรเสริญ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่มีเอาอะไรเข้าตัวเลย  พอเรารู้ได้ว่าเราสวดเพื่อสรรเสริญอย่างเดียว ใจมันก็จะเกิดการรินเมตตา 

ลักษณะของการแผ่เมตตาออกมา ใจมันจะเปิด แล้วมันจะช่วยได้ คือพอเกิดความอะไรไม่ดีขึ้นมานี่ ยอมรับตามจริงว่ามันเกิดขึ้นมาในหัวเรา ไม่ต้องไปปฏิเสธ ไม่ต้องไปรบกัน ในหัวนี่ ถ้ามันจะตีกันยุ่งระหว่างสวดมนต์ ให้มันตีไป แต่เรายอมรับว่า รอบแรกมันมีอาการตีกันยุ่ง รอบสองมันตีกันน้อยลง แล้วเรามั่นใจอยู่กับตัวเองว่าเรายืนอยู่ข้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราตั้งใจที่จะสวดมนต์ด้วยใจจริง แล้วในที่สุด ผ่านไปเป็นวัน เป็นเดือนเป็นปี การรบกันในหัวมันจะหายไป




รู้ทันอาการเคลิ้มได้สองสามหน จะไม่หลับง่ายอีกเวลานั่งสมาธิ

ถาม : เคยปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้เข้มข้นนะคะ แต่ว่าหายไปนานมาก แล้วก็กลับมาอีกทีนี่มันฟุ้งซ่านมาก คือฟุ้งซ่านแบบว่านั่งไปปุ๊บมันมีเรื่องราวเข้ามา แบบลืมทำโน่นลืมทำนี่ มันไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ อย่างวันนี้มา พอผ่อนคลายนิ่งตามที่พี่บอก ก็หลับเลยค่ะ เลยอยากให้พี่แนะนำว่าเราควรจะเริ่มนั่งหรือว่าจะเดินจงกรมดี

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/JqMxv3u6NIg
เสวนาดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๗ | คำถามที่ ๙.๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖

ดังตฤณ : 
ทั้งนั่งทั้งเดิน อย่างเมื่อกี้ตอนก่อนจะหลับ มันมีความรู้สึกเหมือนกับสบายมาก ก็เป็นอาการสบายแบบเคลิ้ม ทีนี้ อาการสบายแบบเคลิ้มเนี่ย จริงๆแล้วเราสามารถตั้งข้อสังเกตกับมันได้ว่า มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกครั้งที่มันมีความเคลิ้มมากมันจะมีอาการเหมือนมันดื่มด่ำ จิตมันจะเหมือนกับยืดออกไป เหมือนน้ำลายไหลยืดน่ะ แต่อันนี้เป็น อาการทางจิตที่กระแสมันยืดออกไปก่อนที่มันจะดับเข้าสู่ความหลับ 

ถ้าเราสังเกต เออเนี่ย อาการของจิต มันมีอาการยืดออกไปแบบนี้สัก ๒ – ๓ ครั้ง พอเกิดอาการยืดออกไปแบบนี้มันจะเกิดสติขึ้นมา ตอนแรกๆมันเป็นแค่การสังเกตว่าหน้าตาอาการยืดมันเป็นอย่างไร แต่พอเห็นไป ๒ – ๓ ครั้ง พอมันเกิดขึ้นอีกมันจะเหมือนตัวกระตุ้นให้สติมันทำงาน ว่านี่เริ่มแล้วนะ เริ่มที่จะเข้าสู่การหลับ เสร็จแล้วพอสติเกิดปุ๊บอาการยืดจะหายไปเลย  เหมือนกับเข้ามาทรงอยู่ในสภาวะของสมาธิ ที่มันมีความปลอดโปร่ง ที่มันมีความสบาย ที่มันมีความสว่าง คือสว่าง สบาย ในแบบที่จะไม่หลับ พอมันยืดแล้วมันคุ้นเคยที่จะไหลไปตามอาการที่พร้อมจะหลับ มันเป็นความเคยชินของคนทั่วไป แต่คนที่มันเจริญสติ แล้วสังเกตเห็นว่านี่เป็นแค่ภาวะหนึ่งที่มันมาให้ดู มาให้ศึกษา เห็นบ่อยๆเข้ามันจะกลายเป็นความรู้ว่า อย่างนี้ ตัวนี้ หน้าตามันเป็นอย่างนี้ แล้วจะนำไปสู่ภาวะแบบไหน พอสติเกิดขึ้น เห็น ๒ - ๓ ครั้งมันตัดเลย ดูตัวนี้นะ

ผู้ถาม : แต่ว่าอย่างนี้คือจิตต้องนิ่งก่อนถึงจะดูได้ ใช่ไหมคะ แต่ว่าตอนแรกๆ....

ดังตฤณ: 
อย่าไปตั้งเงื่อนไข พอตั้งเงื่อนไขปุ๊บ เราจะรอเงื่อนไขนั้น แล้วพอรอเงื่อนไขนั้น มันจะไม่ดูอย่างเป็นธรรมชาติ มันจะมีอาการจดจ้อง เข้าใจพอยท์นะ คืออะไรจะเกิดให้มันเกิดไป แล้วเราค่อยดู ไม่ใช่ว่าพอเราพูดอย่างนี้ว่า เอ๊ะ มันต้องมีความนิ่งเสียก่อนแล้วถึงจะเห็นได้ อย่างนี้มันจะไม่ดูอะไรทั้งสิ้น นอกจากหวังรอว่าจะต้องนิ่งเสียก่อน

ผู้ถาม : ก็คือว่าให้ดูไปเรื่อยๆ ฟุ้งซ่านก็ดูไปเรื่อยๆใช่ไหมค่ะ คือไม่ต้องกำหนดว่าให้นิ่งก่อนแล้วค่อยมาดู

ดังตฤณ: 
อย่างเมื่อกี้นี้พอมันเริ่มสบาย จากช่วงแรกๆเลย ดูมือ ดูเท้า เสร็จแล้วเห็นลมหายใจของเรา เห็นลมหายใจนี่เออ มันสบาย เป็นลมหายใจที่สบาย ของบางคนไม่นะ พอเริ่มดูลมหายใจปุ๊บนี่ อึดอัดทันที แต่ของเรา พอดูมันเห็นลมหายใจยาวๆ สบายๆ เหมือนกับไม่มีอะไรต้องทำ เหมือนกับพักผ่อน เหมือนกับวันว่าง เหมือนกับเรากำลังอยู่ในสวนหลังบ้านสวยๆ ตามลำพังอะไรแบบนี้ คือมันมีความรู้สึกที่สวยงาม เข้าใจความรู้สึกที่สวยงามไหม? มันเหมือนกับเราอยู่ในที่ที่ดี ที่ที่น่าพอใจ แล้วถัดจากความน่าพอใจตรงนั้นแค่ไม่นาน มันกลายเป็นอาการยืด แบบที่พี่ว่ามันเคลิบเคลิ้ม 

ตัวความเคลิบเคลิ้มนั้น ในมนุษย์ทั่วไปเมื่อเกิดขึ้น มันตามไปทันทีเพราะมันหวังรออยู่แล้ว ทุกคนหวังรออาการเคลิบเคลิ้มอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะสัมผัสได้ พอเกิดอาการแบบนี้มันก็คือการหลับ แต่ถ้าเราจะเจริญสติ เราเอาตัวนี้มาเป็นตัวตั้ง ว่าเมื่อไหร่เกิดขึ้นเราจะเห็นความเคลิบเคลิ้มว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร อย่างที่พี่บรรยายว่ามันยืดออก ถ้าเห็นอาการยืดอย่างนี้สัก ๒ – ๓ ครั้งมันจะตัดได้เอง เพราะมันรู้แล้ว เข้าใจแล้วว่ามันจะต่อมาด้วยอาการหลับ


คนเราหนีแรงดึงดูดไม่ได้ แต่เลือกตัดไฟแต่ต้นลมได้

ถาม : ชาย-หญิงที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  พอมาเจอกันครั้งสองครั้ง ก็มีความสัมพันธ์กัน  แล้วก็มีเหตุให้ต้องเลิกรากันไป  ถ้าเจออย่างนี้อีกจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรครับ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/KhU0LiqpKok 
เสวนาดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๗ | คำถามที่ ๔.๒
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖


ดังตฤณ: 
ในแต่ละวันมันก็มีแรงเหวี่ยงให้เราไปเจอโน่นเจอนี่  ที่นี้ตามหลักของพุทธ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่าถ้าเราถูกเหวี่ยงไปกระทบอะไร  ท่าทีของเราควรจะเป็นอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร  ถ้าพิจารณาว่ายึดแล้วหรือว่าพยายามที่จะรักษาไว้แล้วมีอกุศลธรรมเจริญขึ้น ก็ให้รู้ตัว เร่งรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ตัดไฟแต่ต้นลม แต่ถ้าหากว่าไปกระทบแล้ว ไปคบหาแล้วมันมีกุศลธรรมเจริญขึ้น อย่างนั้นก็ไม่เป็นไร  ถ้าหากว่าคิดจะต่ออายุความสัมพันธ์ พูดง่ายๆ ดูว่ากุศลหรืออกุศลธรรมที่มันเจริญมากกว่ากัน

ผู้ถาม : ส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็นทุกข์น่ะครับ

ดังตฤณ: 

ถ้าเราเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นทุกข์  สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือเราเลือกทางที่มันจะทำให้รู้สึกสบายขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น  เพราะว่าการเลือกมันขึ้นอยู่กับตอนที่เรารู้สึกถึงความทุกข์หรือความสุขนั่นแหละ  ถ้ารู้สึกขึ้นมาได้เร็ว มันก็ปล่อยได้เร็วและยังไม่มีพันธะ  แต่ถ้ารู้สึกได้ช้า ตรงนั้นบางทีมันสายเกินไป  บางคนนั้นใจอ่อนบอกว่า เอ๊ย! ไม่เป็นไร คือมันเหมือนกับไม่มีอะไรวันต่อวัน  แต่มันค่อยๆลงลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพอถึงเวลาก็อยากถอนตัวมันถอนไม่ได้

อย่าล็อคอยู่กับความไม่ยินดียินร้าย ให้สังเกตความไม่เที่ยง

ถาม : เวลาที่อารมณ์ของเราเป็นแบบ ไม่มีความรู้สึกว่าทุกข์หรือสุข เวลาได้ยินหรือว่าเห็นก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ทราบว่าอารมณ์แบบนี้มันเป็นอารมณ์อย่างไรครับ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/XlWUPYj9E90
เสวนาดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๗ | คำถามที่ ๔.๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖

ดังตฤณ: 
พระพุทธเจ้าจำแนกความรู้สึกไว้เป็น ๓ พวกใหญ่ ๆ  คือ
มีความรู้สึกยินดี 
เป็นสุข
มีความรู้สึกยินร้าย 
เป็นทุกข์ มีความอึดอัด
และก็มีความรู้สึกคือไม่ยินดียินร้าย เรียกว่าเป็น
อทุกขมสุขเวทนา 


ตัวอทุกขมสุขเวทนานี้ เราดูว่ามันไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง จะชื่นใจก็ไม่ใช่ สบายก็ไม่ใช่ จะอึดอัดหรือว่าเกิดความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์มันก็ไม่เชิง มันมีแต่ความรู้สึกเหมือนกับอยู่เฉยๆ ยืนอยู่นิ่งๆ ไม่หือไม่อือ ไม่มองซ้าย ไม่มองขวา ตัวความรู้สึกไม่ยินดียินร้าย รู้สึกเฉยๆก็ยังมีแยกย่อยออกไป บางทีมันมาจากจิตที่มีคุณภาพดีระดับหนึ่งแล้ว มันมีความเฉยในแบบที่เป็นปัญญา กับจิตอีกแบบหนึ่งคือจิตธรรมดาๆ ที่บางครั้งมันรู้สึกไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากซ้ายไม่อยากขวา ไม่อยากโน่นไม่อยากนี่

อย่างของคุณเนี่ย บางครั้งที่รู้สึกเฉยๆ มันเป็นความรู้สึกเฉยๆที่ออกมาจากความไม่สนใจ ไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว มันคล้ายๆว่าลอยอยู่ในอากาศ เหมือนเห็นตัวเองอยู่คนละโลกกับคนที่มีอยู่ทั่วไป และบางครั้งเรารู้สึกว่า เราแยกตัวออกไปเป็นต่างหากนานพอสมควรด้วยนะ คือมันจะมีความนิ่งแบบหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่านี่มันเป็นอีกภาวะหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร 

ทีนี้เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดูนี่ ท่านให้ดูว่า แม้กระทั่งความรู้สึกว่าหลุดออกจากโลก พ้นไปจากโลก มันก็เป็นแค่ภาวะของจิต เป็นความปรุงแต่งทางจิตชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแป๊บหนึ่ง คำว่าแป๊บหนึ่งของพระองค์ บางทีมันอาจจะเป็นชั่วโมงๆ ก็ได้นะ อาจจะนานแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ขอให้สังเกตว่าเดี๋ยวมันก็กลับมา กลับมาคิดอะไรแบบโลกๆใหม่ นี่ก็เป็นเครื่องยืนยัน เป็นหลักฐานว่าความรู้สึกที่พ้นออกไปจากโลกตรงนั้นเนี่ย มันเป็นแค่ของชั่วคราว ตราบใดมันยังตกกลับมาสู่ภาวะแบบโลกๆได้ ภาวะแบบนั้นไม่เที่ยง ต้องนับว่าไม่เที่ยงแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่ามันอยู่นานแค่ไหน

เรื่องของเรื่องเนี่ย มันเหมือนกับคุณไปมีความยินดีในภาวะนั้นอยู่พอสมควร แล้วมันเหมือนสะสมกำลังที่จะรักษาความนิ่งแบบนั้นมานานพอสมควร มันก็เลยมีความรู้สึกเหมือนกับเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่ตรงนั้น เข้าไปอยู่กับความพอใจตรงนั้น ทีนี้เรายังมาสร้างความพอใจใหม่ได้ คือทำความเข้าใจว่าภาวะนิ่งแบบนั้น จะตั้งอยู่นานแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดแล้ว มันก็จะตกกลับมาคิดอะไรแบบโลกๆ 

ลองสังเกตนะ บางทีมันเหมือนกับว่างๆ ไม่มีความคิดอะไรเลยอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่พอมันตกกลับมาคิดอยากโน่นอยากนี่แบบโลกๆ มันกลายเป็นฟุ้งซ่าน เหมือนมีอะไรยุ่งเหยิงอยู่ในหัวเต็มไปหมด  คล้ายๆว่าตอนแรกมุงหลังคาไว้ดี ฝนตกลงมาเข้ามาไม่ได้ แต่พอหลังคาเปิดปุ๊บมันรั่วเข้ามา อะไรก็ไม่รู้ นี่แสดงให้เห็นว่าภาวะตรงนั้นยังไม่ใช่ภาวะของสมาธิที่มีคุณภาพจริง พอเราพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ ภาวะแบบนี้หมดไปเมื่อไหร่ หายไปเมื่อไหร่ มันกลายเป็นภาวะฟุ้งซ่านกระเจิดกระเจิง มันก็จะได้มีแก่ใจสังเกต แล้วก็ปลูกฝังความพอใจใหม่ คือมาดูความไม่เที่ยงดีกว่า

ที่ผ่านมามันมีความพอใจที่จะล็อคอยู่ในสภาวะแบบนั้น แล้วพอภาวะแบบนั้นพัง มันก็เหมือนกับทำนบแตก เขื่อนพังน้ำก็เข้ามา  ช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มา ๒ – ๓ ครั้งมันก็ต่างไปแล้วนะ มันก็เริ่มต่าง คือเวลาที่ความฟุ้งซ่านมันกลับมา มันกลับมาไม่มากเท่าเดิม แต่ก่อนพอความฟุ้งซ่านมันกลับมา สังเกตเห็นไหม คือบางทีมันไม่ใช่ความคิดของเรา มันเหมือนมีความคิดอะไรปะปนมั่วเข้ามาหมด แล้วมันไม่ใช่ตัวเราเป็นคนคิดน่ะ แต่นี่พอมีความฟุ้งซ่านแล้วเรายังเป็นตัวของตัวเอง ก็เริ่มเห็นว่ามันมีกลุ่มก้อนความคิด ความฟุ้งซ่าน แล้วก็ค่อยๆเบาบางลง คือมันไม่ใช่รบกวนเราอยู่ตลอดเวลา 

แต่ก่อนของคุณมันเป็นสภาพปรุงแต่งจิตชนิดแปลกแยก มันแปลกแยกออกจากโลก มันจะมีความรู้สึกด้วยว่าคล้ายๆกับมีการเชื่อมกับอีกมิติหนึ่งที่มันแตกต่างไป มันก็เลยมีความพอใจ เอาง่าย ๆ เลย ถามตัวเองง่ายๆเลยว่า ความพอใจตรงนี้มันเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน หรือเป็นไปเพื่อความสงบ มันบอกตัวเองได้เลยนะ ว่ามันฟุ้งซ่านไป กระเจิดกระเจิงไป เปรียบเทียบกับตอนนี้ที่เราค่อยๆเข้ามาดู ค่อยๆเข้ามาเห็น ค่อยๆเข้ามาศึกษาเรื่องความไม่เที่ยงเนี่ย มันมีความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความพอใจที่มันเป็นของจริง 

เนี่ย อย่างความรู้สึกตรงนี้ มันเป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เป็นคนธรรมดาที่มันมีความพร้อมที่จะทุกข์น้อยกว่าคนทั่วไป คือมันมีเหตุของความเป็นอิสระจากอุปาทาน เหตุนั้นก็คือเราเห็นความจริง เห็นความจริงธรรมดาๆ แต่เดิมมันไขว่คว้าอะไรที่มันพิเศษ วิเศษ มันลงเอยตรงความฟุ้งซ่าน บางทีอย่างตอนก่อนจะนอน บางทีคุณจะรู้สึกเหมือนมีกำลังอะไรไม่รู้ กำลังขับดันออกมาจากข้างใน มีกำลังมาก แต่เป็นกำลังมากในแบบที่ทำให้นอนไม่หลับใช่ไหม? มันเหมือนกับจะต้องทำอะไรแล้วยังทำไม่เสร็จ ทำอะไรก็ไม่รู้ เหมือนมีภาระ เหมือนมีอะไรที่เรายังต้องจัดการ

ผู้ถาม : เป็นบ่อยมากเลยครับ

ดังตฤณ: 
นั่นแหละ แสดงให้เห็นว่าการพยายามที่จะอยู่กับมิติอื่น มันเป็นไปเพื่อความทุกข์ คนที่มีความสุขต้องนอนสบาย นี่นอนแล้วมันมีความดิ้นไปดิ้นมา คือร่างกายไม่ได้ดิ้นนะ แต่เราจะรู้สึกเหมือนข้างในมีกำลังใหญ่ๆอะไรอย่างหนึ่ง ที่มันต่างจากมนุษย์ มันผิดจากธรรมดา

ผู้ถาม : แล้วการแก้ไขคือต้องทำอย่างไรครับ

ดังตฤณ: 
นี่ไง ก็คือมาปลูกฝังความพอใจใหม่ ที่จะเห็นความไม่เที่ยงของจิต ที่จะเห็นความไม่เที่ยงของอาการฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่ไปอยากล็อค ล็อคไว้อยู่ในสภาพที่มันเฉยเมยกับโลกธรรมดา เลิกที่จะล็อคตัวเองเข้ากับอะไรอีกมิติหนึ่งที่มันพิเศษหรือวิเศษวิโส กลับมาเป็นคนธรรมดาที่มันเป็นอิสระจากทุกข์ดีกว่า 

ที่คุณฟังมาและก็ที่มาเจริญอาปานสติด้วยกัน มันละลายไปได้เยอะแล้วนะ แต่ลองสังเกต ตอนแรกๆ ที่ทำอานาปานสติ มันจะมีใจต่อต้าน คือหมายความว่า ความที่จะยอมรับสภาพว่าตรงนี้มันฟุ้งซ่าน ตรงนี้มันสงบ ตรงนี้ไม่สงบ อะไรต่างๆ นี่มันจะมีใจฝืนอยู่ เพราะเราต้องการที่จะล็อค ล็อคอยู่กับภาวะที่มันดูวิเศษกว่านั้น

แต่ตอนหลังๆ มันเริ่มเข้าถึงภาวะที่จะยอมรับ ความสามารถที่จะยอมรับสภาพที่มันกำลังปรากฏที่มันเกิดขึ้นอยู่จริงๆ บางทีมันฟุ้งซ่านอยู่ก็จริง แต่เรามีความสามารถที่จะยอมรับตรงนั้นได้ แต่ก่อนมันยอมรับไม่ได้ มันมีความรู้สึกเหมือนกับต้องสู้กับมัน เดี๋ยวมันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เจริญอานาปานสติไป แล้วก็ดูไปในระหว่างวัน เวลาที่มันเกิดอะไรขึ้น เกิดแรงอัด มันจะกลับมาอีกพวกแรงอัดอะไรอย่างนี้ แต่ว่าก็มองไปว่าตอนนี้อัดมาก ลมหายใจนี้อัดมาก ลมหายใจต่อมาอาจจะยังอัดมากอยู่ แต่สิบลมหายใจต่อมามันจะเริ่มแสดงความไม่เที่ยง จะเข้มข้นขึ้นหรือเบาบางลงก็แล้วแต่ เราเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง พอเห็นว่าอะไรๆ ไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ จิตจะเป็นอิสระ


วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พูดอย่างไม่หลง ต้องตั้งต้นที่รู้อิริยาบถใหญ่ก่อน

ถาม : สนทนาอย่างไร ให้จิตเป็นกุศล

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/eh50KCyeV3s
ดังตฤณวิสัชนา Live #๘ ทางเฟสบุ๊ก
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙


ดังตฤณ: 
การเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในสติปัฏฐานสูตรนะครับ มันมีข้อหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยผ่านตา แต่ไม่ได้เอาไปทำจริง แล้วก็จะไม่เข้าใจว่าเราจะเจริญสติส่วนนั้นไปเพื่อได้บุญอย่างไร ส่วนนั้นก็คือ ส่วนของ สัมปชัญญะบรรพ การเจริญสติทางกายนี่แหละ

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ตอนอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน ให้รู้ เพื่อที่จะเอาสติของเราเข้ามาที่กายในขณะที่กำลังปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้ก่อน และพอข้ามไป สัมปชัญญะบรรพ เนี่ย พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ว่าจะมีอาการเคลื่อนไหว จะงอแขน จะหมุนหัว หันหน้าไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือว่าจะมีการเจรจาพูดคุยอย่างไรอยู่ ให้มีสติรู้ไปตามนั้น คือให้เอาอาการทางกายเป็นตัวตั้ง เป็นจุดสังเกตเพื่อให้เกิดสติ

ถ้าเราเริ่มฝึกที่จะเจริญสติในขณะที่กำลังพูด กำลังขยับเคลื่อนไหวต่างๆอยู่คนเดียวก็ตาม หรือว่าอยู่กับคนอื่นก็ตาม อยู่กับคนใกล้ชิดก็ตาม หรืออยู่กับคนแปลกหน้าก็ตาม กำลังคุยกันเรื่องส่วนตัวก็ตาม หรือว่าคุยกันเรื่องการงานก็ตาม แล้วเราสามารถรู้อยู่ รู้อยู่อย่างนี้นะ นั่งอยู่แล้วก็มีอาการขยับปากพูดไป คือไม่ใช่ว่าเราจะไปจดจ้องอยู่ที่ริมฝีปากนะ แต่เรามีความรู้สึก ที่ตัวนั่งนี้ขึ้นมาก่อน จากนั้นเนี่ย ค่อยรู้ว่าตัวนั่งเนี่ยมันอยู่ในอาการพูดนะ คือไม่ใช่ไปจดจ้องที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ให้รู้ว่าในอาการนั่งเนี่ย ร่างกายมันขยับพูดอยู่ ขยับอยู่ในอาการพูด

ตัวที่มันมีความรู้อยู่ว่ากำลังพูดเนี่ย ไม่ใช่ว่าจิตเราจะคับแคบลงมาอยู่ที่จุดใจจุดหนึ่งของร่างกาย มันมีสติคิดพูดไปตามปกตินี่แหละ แต่ในอาการมีสติคิดพูดไปตามเรื่องตามราวนะ มันมีความรู้สึกถึงร่างกายอยู่ด้วย มันมีความรู้สึกว่า เออนี่กำลังขยับ ขยับปาก แต่ร่างกายส่วนอื่นๆ อวัยวะส่วนอื่นๆมันอยู่นิ่ง  หรือบางทีมีอาการขยับท่าทาง ก็รู้ไปตามนั้น

พอรู้ไปตามนั้น เกิดอะไรขึ้น เกิดความมีที่ตั้งของสติ สมมุติว่ากำลังคุยๆ เจรจาเรื่องการงานไปแล้วเนี่ยนะ นึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร อย่างน้อยที่สุดเรากลับมามีสติอยู่เงียบๆ แล้วอาการมีสติอยู่เงียบๆ นะ มันจะทำให้จิตมีความต่อเนื่อง มีความไหลลื่น มีความรู้ว่า ณ จุดนั้น ควรจะพูดถึงอะไร หรือถ้าหากว่า ณ จุดนั้น ควรจะเงียบ จิตก็จะฉลาดพอที่จะเงียบ ไม่งั้น บางทีเนี่ย ตอนไม่มีสติ ตอนขาดสติเนี่ย ทั้งๆที่ไม่มีเรื่องควรพูด มันก็หาเรื่องพูดไป นี่เรียกว่าโมหะมันทำงานแล้วนะ มีแรงขับดันอยู่ตลอดเวลา นึกว่าจะต้องพูดตลอดเวลา

การพูดตลอดเวลา ไม่ได้แสดงความฉลาดเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความฉลาดทางจิตนะ ความฉลาดทางจิตที่แท้จริงเนี่ย มันจะรู้ว่าจังหวะไหนควรพูดอะไร แล้วจังหวะไหนควรเงียบ ความเงียบที่ถูกจังหวะ เป็น ความฉลาดทางจิต ชนิดหนึ่ง

ถ้าหากว่าเราทดลองตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนะ  คือ นั่งอยู่รู้ว่านั่งอยู่ แล้วขยับปากพูดรู้ว่าท่านั่งนี้มันขยับปากพูดอยู่ ไม่ใช่เพ่งไปที่ริมฝีปาก อันนี้ย้ำนะ หลายคนเลยที่พยายามจะมีสติรู้ อาการพูดเนี่ย ไปพยายามเพ่งที่ริมฝีปาก เสร็จแล้วมันก็ไปบล็อคความคิดหมด ว่าจะพูดอะไรดี การที่มีจิตใจคับแคบ เพ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนะ มันไม่ใช่การเจริญสติ แต่มันเป็นการทำให้จิตคับแคบอย่างสูญเปล่า

แต่ถ้าเรารู้ว่ามีอาการนั่ง แล้วรู้ว่าอาการนั่งนี้ขยับปากพูดอยู่ สติมันจะเกิดขึ้น สติที่เกิดขึ้นจะทำให้จิตเบา สติที่เกิดขึ้นจะทำให้ความคิดไหลอย่างต่อเนื่อง อย่างมีเป้าหมายนะ แล้วเป็นระเบียบ แล้วก็มีความฉลาดทางจิต รู้ว่าควรจะพูดอะไร ใช้คำว่าอะไร สิ้นสุดประโยคที่ตรงไหน และที่สำคัญ คือฉลาด ที่จะรู้ว่าควรเงียบเมื่อไหร่ ไม่ใช่พูดอยู่ตลอดเวลา นี่แหละมันถึงจะคงความเป็นกุศลไว้ได้ ตอนที่เราว้าวุ่นใจ คิดว่าจะต้องพูดๆๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง นั่นแหละโมหะทำงาน ไม่ใช่สติทำงาน