วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565

EP281 (ถวายขันธ์ ๕ เป็นพุทธบูชา)

 EP281 (ถวายขันธ์ ๕ เป็นพุทธบูชา)

จันทร์ 12 ธันวาคม 2565

 

ดังตฤณ : อรุณสวัสดิ์เช้าวันจันทร์นะครับ

วันก่อนคุยเกี่ยวกับเรื่องว่า มีสิทธิ์ หรือไม่มีสิทธิ์ เอาอะไรมาวัด

หลายคนก็อยากให้ขยายความ

 

จริงๆ พูดมาหลายรอบ แต่ว่าช่วงนี้ถ้าพูดซ้ำอีกครั้งก็ดีเหมือนกัน

เนื่องจากหลายคน เริ่มที่จะฟังแล้วเข้าใจ

บอกว่ามีสิทธิ์นี่นะ เอาง่ายๆ ถ้า ตามทฤษฎี ก็บอกว่า

สามารถรู้เห็นตามจริง แยกรูปแยกนาม

สามารถเบื่อหน่ายความเป็นตัวกายใจนี้

แล้วก็มีจิตที่ข้ามพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นไป

 

ทีนี้ เอาในภาคปฏิบัติ ในความเป็นจริง

จะไม่ได้ง่ายเหมือนในทฤษฎีหรือปริยัติ

จะไม่ใช่แค่ว่า

บอกเห็นแยกรูปแยกนาม .. เห็นอย่างไรล่ะ?

แล้วบอกว่า มีความรู้ทันว่าจะสละทิ้งอย่างไร .. รู้อย่างไรล่ะ?

 

ถ้าอ่านแต่ในหนังสือ ก็จะมีความสงสัยไปจนตาย

ตายแล้วเกิดใหม่อีกนับภพไม่ถ้วน

ก็ไม่สามารถที่จะเกิดความเข้าใจตรงนี้ได้

เพราะเกิดใหม่ ก็ลืมหมด แล้วก็เกิดอุปาทานยึดมั่นเหนียวแน่น

ว่า ตัวเองคืออัตภาพนั้นๆ มีความรู้สึกว่าต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น

ไม่เป็นอื่น มีตัวเราอยู่ในอัตภาพแบบนั้นแน่ๆ

 

หรือไม่ บางคนไม่พอใจอัตภาพหนึ่งๆ ของตัวเอง

ก็ไปเกิดความหวังที่ยื่นข้ามภพข้ามชาติไป

บอกว่าต้องมีชาติหน้า หรือว่ามีตัวตนอะไรอยู่เบื้องบน สูงส่ง

เป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง อะไรแบบนี้นี่นะ ยากตรงนี้

ยากตรงที่ว่า ใจไม่ยอมแยกออกจริง

 

ต่อให้ศึกษาทฤษฎีมากี่สิบปี ศึกษาปริยัติมาจนกระจ่างแจ้ง

คำว่าแยกรูปแยกนาม เห็นเป็นเหมือนกับศัพท์เป็นคำๆ นี่

จำได้หมด ว่า นามธรรมอย่างนั้นเรียกอะไร

รูปธรรมอย่างนี้ มีความเป็นกุศล มีความเป็นอกุศลอะไรอย่างไร

เกิดจากวิบากประมาณไหน รู้หมด แต่ว่าไม่เชื่อ

 

ใจลึกๆ ไม่สามารถออกจากกรอบ ที่ห่อหุ้มอยู่

ตัวสักกายทิฏฐิ หรือกรอบที่หุ้มอยู่ตัวนี้แหละ ที่ยาก

ที่ทำอย่างไรเราจะถอดออกไปได้

 

ทีนี้ อย่างบอกว่า ในห้องนี้ มีสิทธิ์เยอะ 

หลายคน เอาเป็นว่าหลายสิบ เอาอะไรมาตัดสิน คิดเอาเองหรือเปล่า

ถ้าหากจะมีใครสงสัยนะ ถ้าหากไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกัน

 

ก็ขอบอกว่า คำว่าแยกรูปแยกนามมีอยู่จริง

นามรูปริเฉทญาณ เป็นของจริง

ถึงแม้ว่าคำนี้ จะไม่ได้เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้กันประจำในสมัยพุทธกาล

แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านแจกแจงไว้

ท่านแจกแจงไว้ละเอียดกว่าคำว่าแยกรูปแยกนาม

และท่านก็แจกแจงละเอียดในระดับของ

แยกออกเป็นห้ากอง คือ ขันธ์ 5

แยกออกเป็นหกคู่ คือ อายตนะ 6

ท่านแจกแจงไว้เป๊ะๆ ไม่ใช่แค่พูดว่าแยกรูปแยกนามได้

แต่สามารถแยกกายใจนี่เป็นขันธ์ 5 ได้เลย

 

ทีนี้ เอาตัวประสบการณ์ตรง

อย่างถ้าหากว่า อยู่ในเวิร์กช็อป อยู่ในห้องทดลอง

อยู่ในสถานที่ฟิตเนส ทำจิต มาบ่มเพาะความแข็งแรงทางจิตนี่

มีความหมายอย่างไร

 

ตอนที่เราสามารถที่จะรู้ได้เป็นปกติว่า จิตเป็นดวง กายเป็นแท่งนี้

ก็เป็นขั้นอ่อนๆ เป็นขั้นต้นๆ ที่เราจะรู้ว่า นามมีอยู่จริง รูปมีอยู่จริง

 

คุณคิดดูสิ ขนาดนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดในโลก

ยังไม่เชื่อเลยว่า มีจิต มีนาม

(คิดว่า) ทุกอย่างคือการทำงานของสมอง

สตีเฟน ฮอว์คิง ก่อนตายประกาศบอกว่า

สมองดับ สมองหยุดทำงาน ทุกอย่างจบ ประกาศไว้ชัดเจนนะ

นี่คือนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดในโลกคนหนึ่ง

ก็เอาความรู้ความเข้าใจทางรูปธรรมนี่

มาตัดสินว่าไม่มีหรอกที่เป็นนามธรรม

ร่องรอยหลักฐานที่ชี้บ่งทั้งหมดของสมอง

คือทุกอย่างอยู่ที่สมอง การทำงานของสมอง

 

แต่ถ้าหากว่า เราเอาความรู้สึกตามสัญชาตญาณ ที่บอกออกมาจากจิต อย่างบอกว่า โชคดีจังเกิดเป็นลูกคุณพ่อคุณแม่

หรือว่า ฉันไม่น่ามาเกิดเป็นลูกพ่อลูกแม่เลย

เกิดชาติไหนอย่าได้มาเจอกันอีก

 

สัญชาตญาณอะไรพวกนี้นี่ ออกมาจากจิตใช่ไหม

เสร็จแล้วถ้าเรามาเดินจงกรม

จนกระทั่งสามารถแยกความรู้สึก จากจิต จากกายได้

อย่างน้อย จะตั้งต้น มีความเชื่อออกมาจากประสบการณ์ตรงว่า

จิตกับกาย ไม่ใช่อันเดียวกัน

จิตไม่ใช่สมอง สมองไม่ใช่จิต

 

เสร็จแล้ว ถ้าไปถึงขั้นที่จิตมีสมาธิเป็นปกติ

สามารถแยกได้ว่า จิตกับกายเป็นคนละภาวะกันจริง

คือก้าวข้ามความสงสัยไปด้วยความตั้งมั่นของจิต

เห็นว่ามีความสว่าง เห็นว่ามีความว่าง เห็นว่าเป็นดวงรู้

แล้วก็กายนี่เป็นแท่ง แยกเป็นต่างหากจากกัน

 

จากนั้น สามารถแยกได้ แม้กระทั่งตัวของภาวะจิต แล้วก็ตัวของความคิด

เห็นเลยว่า ความคิด ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจคิดขึ้นมา

ไม่ใช่จิตมีความคิดนี้อยู่ก่อน แต่ว่าสมองผลิตอะไรส่งออกมา

เหมือนยิงกระสุนหลอก แล้วก็ให้เข้ามากระทบจิต

 

ถ้าจิตไม่ทำตัวเป็นที่ตั้งของความคิดได้เสถียรมากพอ

ก็จะก้าวข้ามความสงสัย ก้าวข้ามเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ

ในลำดับต่อไป ก็จะรู้สึกขึ้นมา

ออกมาจากฐานความรู้สึกที่ตั้งมั่นนั้นว่า

ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด

นี่ อันนี้แยกรูปแยกนาม

แล้วตีแตกออกไปเป็นละเอียด ได้เป็นขันธ์ 5 นะ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 

หลายคนบอกว่าฟังแล้วไม่เข้าใจ ขันธ์ 5 นี่

แต่เอาง่ายๆ นะถ้าแยกจิตแยกคิดได้

ถ้าเข้าใจตรงนี้ออกมาจากประสบการณ์ตรงนั่นแหละ

แยกกายแยกจิต แยกจิตแยกคิดได้ นี่ก็คือเห็นขันธ์ 5 นั่นเองนะ

 

พอเราเห็นขันธ์ 5 ได้ในเวิร์กช็อปแล้วอย่างไร

ตัดสินไหมว่า มีสิทธิ์แล้ว

 

อย่างเพราะว่า ตัวที่จะบอกว่าเรามีสิทธิ์นี่นะ

จะไม่ใช่แค่ประสบการณ์ผิวเผิน

พยายามเพียงนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จะได้กัน

มรรคผลไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

 

ถ้าง่ายอย่างนั้น ไม่ต้องรอพระพุทธเจ้ามาตรัสนะ

 

ที่จะวัดว่ามีสิทธิ์จริงนี่คือ ทำได้เรื่อยๆ ในเวิร์กช็อป

แล้วก็ลามเลยไปถึงในชีวิตระหว่างวัน

 

ตอนแรกนี่จะเห็นแบบลุ่มๆ ดอนๆ เห็นแบบอยากเชื่อบ้างไม่อยากเชื่อบ้าง

แต่พอมีความเสถียรมากพอ จิตต้นแบบในเวิร์กชอปไปอยู่ในระหว่างวันจริง 

จนกระทั่งเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เออ ไม่มีตัวเราในความคิดจริงๆด้วย

ความคิดนี่อยู่ๆ โผล่ขึ้นมาแล้วก็หายไป จิตไม่ทำตัวเป็นที่ตั้งของความคิด

บ่อยๆ เข้านานๆไป จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ระหว่างวัน

 

เห็นคนเขาวุ่นวาย

เห็นคนเขาติดกับดักทางความคิด และอารมณ์กันทั้งชีวิต หลุดไปไหนไม่ได้ น่าอนาถนะ

แต่ตัวเราหลุดได้เป็นคราวๆ ก็เหมือนออกมายืนดูจากภายนอก  

คล้ายๆ ไปอยู่ในเซฟโซน แล้วก็มาดูคนที่เขายังมะงุมมะงาหรา

แบบว่าเสี่ยงอันตรายจากความคิด และอารมณ์กันอยู่

มีความจมทุกข์ มีความรู้สึกเหมือนกับว่า

โอย! ชีวิตฉันแย่เสียเต็มประดา ทั้งๆที่ตัวเอง บางทีนั่งอยู่บนกองเงินกองทอง

สุขภาพก็ดี ญาติมิตรก็ดี ดีอะไรทุกอย่าง

แต่จมอยู่กับความคิดตัวเอง ติดกับดักอยู่กับความคิดตัวเอง

แล้วเห็นว่าชีวิตของตัวเองบัดซบ อย่างนี้มีเยอะมาก

 

ไม่นับ คนที่มีความทุกข์จริงๆ ในสภาพแวดล้อม ในอะไรที่บีบคั้นชีวิตอยู่นะ

 

นี่ก็เกิดความเบื่อหน่าย

เกิดความรู้สึกว่า เราติดกับดักแบบเดียวกันกับเขานั่นแหละ

แล้วก็หลุดออกมาได้เป็นคราวๆ เพราะว่ามีกำลังอยู่แค่นี้

 

ความรู้สึกทำนองนี้ พอเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่ใช่แค่ชั่วข้ามคืน แต่ต่อเนื่องเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี

จนกระทั่งเห็นเป็นปกติว่า กายใจนี่เป็นของหลอก

หลอกให้หลงยึด หลอกให้เป็นทุกข์เปล่าๆ

ทั้งๆที่ เป็นทุกข์ไปแล้วนี่จนสุดทาง จนตาย

ก็ไม่ใช่อะไรเลยนะ ต้องเสียทุกอย่างไป

 

พอรับรู้ แบบที่พระพุทธเจ้า ให้รู้เข้ามาที่กายใจเป็นหลัก

แล้วเกิดความเบื่อหน่ายกายใจนี้

เกิดความรู้สึกว่า ที่บอกว่าเป็นทุกข์ๆ หรือ ทุกขสัจ เกิดขึ้นที่ตรงนี้

 

นี่เอาแค่ในระดับที่พูดง่ายๆ ว่าไปรู้สึกถึงกายใจในระหว่างวันได้

แล้วก็ค่อยๆ เซาะ ค่อยๆนะกะเทาะ ฐานที่มั่นของอุปาทาน

เปลือกที่เป็นหยาบๆ ออกวันละนิดวันละหน่อยได้ นี่แหละมีสิทธิ์แล้ว

แต่จะมีสิทธิ์เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคน

สะสมเหตุปัจจัยที่จะชะล้างความเห็นผิด

ความหลงผิดไปได้เฉพาะตนแค่ไหน

 

เพราะบางคน อยู่ในเวิร์กช็อปนี่ดีนะ จิตนี่อย่างกับพระอริยะ

แต่ว่าออกไปสู่โลกภายนอก

พกความหลงตัวติดออกไปจากในเวิร์กช็อป

มีความรู้สึกว่า ตัวเองเจ๋งกว่าชาวโลกเขา

แบบนี้ก็ ...เสร็จ

คืออยู่กันระหว่างวัน 16 ชั่วโมง 20 ชั่วโมง ด้วยความหลงตัว

แต่มาอยู่ในเวิร์กช็อป ชั่วโมงเดียว ด้วยความเห็นว่ากายใจไม่เที่ยง

แบบนี้ก็สู้กำลังกันไม่ไหว งัดข้อกันไม่ไหว

 

ต้องมาถึงจุดหนึ่งที่มีความรู้สึก เรื่อยๆ

อย่างน้อยนะ ครึ่งต่อครึ่งในระหว่างวัน

เห็นเข้ามาในกายใจ แล้วรู้สึกขึ้นมาเรื่อยๆ ว่าไม่น่าเอา

แล้วก็ไม่ได้มีใครนะ ที่เป็นตัวเป็นตนน่ายึดมั่นอยู่ในนี้

อยู่ในรูป อยู่ในจิต อยู่ในความคิด

 

ตัวนี้แหละ ที่เรียกว่ามีสิทธิ์ ณ ตอนนี้เท่าที่เห็นหลายสิบคน

เอาล่ะครับ ที่มาที่ไปแจกแจงรายละเอียดชัดนะ

ว่าวันก่อนที่คุยไป ความหมายคืออย่างนี้นะ

 

(ตั้ง นะโม 3 จบ สวดบท อิติปิโสฯ ร่วมกัน)

 

จุดเริ่มต้นคือสติ ถ้าหากว่ารู้ตามจริงได้

ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาวะทางกายภาวะทางใจในขณะนี้

นั่นแหละนะ คือจุดรวมพลของเรา

เป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ที่จะได้มีความเจริญก้าวหน้า

 

คือถ้าหากว่ามีสติเเค่ครั้งเดียว วันเดียว

ก็อาจจะไม่ได้เห็นความแตกต่างเท่าไหร่

 

แต่ถ้าหากว่ามีสติทุกวัน แล้วก็เริ่มต้นนับ 1 2 3 ใหม่ทุกวัน

ไม่จำของเก่า ไม่เอาสิ่งที่ทำได้แล้วดีแล้ว มาก๊อปปี้

ตัวนี้แหละ ที่จะสะสมข้ามวัน ข้ามเดือน ข้ามปี

แล้วเกิดความมีสติ เป็นปกติขึ้นมา

 

ความมีสติ แปลว่าระลึกรู้ได้

ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นที่เป็นความจริง ตรงกับความจริง

ซึ่งจะสวนทางกับความเคยชินของมนุษย์ทั้งหลาย

ที่จะอยากรู้ อยากเอา ตามใจอยาก

 

ถ้าหากว่า เรามาอยู่ที่จุดรวมพล แล้วตั้งต้นกันด้วยสติ

เห็นว่าสติ เห็นว่าจิตกำลังมีความพร้อม หรือไม่พร้อม ที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ

 

ถ้าพร้อมก็รู้ว่าพร้อม ไม่พร้อมก็ยอมรับว่าไม่พร้อม นี่แหละ สติเกิดขึ้นแล้ว

และเมื่อสติเกิดขึ้น เราพนมมือขึ้นมา

เห็นว่าใจของเรามีความรับรู้ว่า ที่เราพนมมือขึ้นมา

ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกว่าใจเรามีความอ่อนโยน

พร้อมที่จะระลึกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขันธ์ 5 นี้ มีความกลมกลืน

มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับขันธ์ 5 อื่นๆ ที่อยู่ในทีม

เพราะว่าทุกคนทั้งหลาย นับเริ่มแต่ตัวเรา ขันธ์ 5 นี้เป็นตนแรกนี่

จะมีสติ แค่รับรู้ว่าใจไม่พร้อมนี้ ก็เรียกว่าเป็นสติแล้ว

 

แล้วถ้าหากว่าสติแบบเดียวกันนี้ สอดคล้องกัน

อยู่ในทิศทางเดียวกันกับสติ ที่รับรู้ความจริงเกี่ยวกับจิตของตนเอง ในหมู่สหธรรมมิกทั้งหลาย

บางคนรู้สึกว่าจิตของตัวเองพร้อม บางคนรู้สึกว่าจิตของตัวเองไม่พร้อม นั่นเป็นทิศทางเดียวกัน คือระลึกได้ว่าสติตนเองกำลังเป็นอย่างไรอยู่

 

เราทำความเคารพทีม จากนั้นลดฝ่ามือลง

เอามือซ้าย มือขวามาประกบกันที่หน้าท้อง

รับรู้ว่าไออุ่นจากฝ่ามือที่ประกบกัน ให้ความรู้สึกดีอย่างไร

ถ้าแผ่ออกไปด้วยจิตที่มีความกลวง มีความโปร่งว่าง ตีวงกว้างออกไป

เเล้วไปประสานกัน เป็นสนามพลังสติ พลังความสว่าง อย่างที่เราเคยคุ้นกันทุกเช้าทุกค่ำ

 

นี่ก็เป็นการแผ่เมตตา โดยอาศัยเพื่อนร่วมทีม มาเป็นตัวขยายผล

 

พอเรารับรู้ถึงความสุข ความอ่อนอุ่น อันไม่เป็นที่ตั้งของความเป็นใครหรือว่า ให้เกิดความมาดหมายว่านี่ของเรานั้นของเขา มีแต่ความกลมกลืนกัน

 

ตรงนี้ ก็กลายเป็นกระแสพลังเมตตาในแบบที่เรารู้สึกได้ว่า

เกิดขึ้นจริงและกำลังเกิดขึ้น

 

ณ บัดนี้ให้กำหนดว่า เมื่อหายใจออกตัวจะเบาตามธรรมชาติ

ครั้งต่อไป พอหายใจออกแล้วตัวเบาถอยเลยนะครับ

 

เมื่อถอยมา แล้วรู้สึกทั้งตัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาคือ รู้สึกถึงกายจุดเริ่มต้นนี่ พอรู้สึกถึงกายได้ ก็จะต่อไปถึงใจได้ไม่ยาก

ในรอบนี้ขอให้กำหนดว่า เราจะรู้เพียงเท้ากระทบอย่างเดียว ก้าวเดินเลยครับ

 

รอบนี้กำหนดว่า เราจะรู้เพียงแผ่นหลังที่โล่งว่างอย่างเดียว ถอยเลยครับ รอบนี้กำหนดว่า เราจะรู้ทั้งเท้ากระทบและปลายคางที่เชิดขึ้นพร้อมกัน ก้าวเดินเลยครับ

 

พอมาถึงตรงนี้ จะรู้สึกถึงความว่างโล่งไว้ได้

ก็ค่อยคงค้างความว่างโล่งที่ออกมาจากกลางอกกลางใจนั้น

แล้วถอยเลยครับ จากนั้นก็เดินกันตามอัธยาศัย ไม่ต้องฟังอาณัติสัญญาณ

 

พอเรารับรู้ ความโล่ง ความว่างออกมาจากตรงกลาง

แล้วมีความรู้เท้ากระทบเป็นเครื่องกำกับสติไปด้วย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็อย่างที่เคยคุ้นกันดีแล้วว่า

ใจจะมีความโปร่ง แล้วก็เป็นความโปร่งแบบมีสติ ไม่ใช่โปร่งและว่างหาย

 

พอตั้งหลักตรงนี้ได้ จะขึ้นอยู่กับใครมีความเชี่ยวชาญ

มีความชำนาญในการเอาจิต อยู่ในที่ในทาง อยู่ในร่องในรอย

ถ้าหากว่าอยู่ในร่องในรอยจริง เราจะรู้สึกว่าจิตทรงตัวมากขึ้นๆ

 

แต่ถ้าไม่อยู่ในร่องในรอย จะมีความรู้สึกเหมือนจิตพลิกไปพลิกมา

วอบๆ แวบๆ บางทีโปร่ง บางทีทึบ

แต่หากว่า สามารถรู้สึกถึงความเต็มขึ้นๆ ได้ทุกวัน

อันนั้น ก็ให้แสดงความยินดีกับตัวเอง ที่มีกำลังของจิต

มีฐานกำลังของความว่าง ความสว่างมากพอ ที่จะตั้งฐานได้อย่างรวดเร็วนะ

 

แต่ถ้าใครยังตั้งไม่ได้ ก็ดูอาการวอบแวบไป วอบแวบมานั่นแหละ

แล้วพอวอบแวบไป วอบแวบมา จนกระทั่งล้ม

เราก็อาจจะใช้วิธีรีเซ็ตใหม่ รีเซ็ตไปเรื่อยๆ

 

คำว่า รีเซ็ตคืออะไร? คือไปนับหนึ่งใหม่เลยที่หัวเสื่อ

ดูว่าหายใจออกแล้วตัวเบา แล้วก็ถอยเลย

พอมีความรับรู้ว่าตัวเบาแล้วถอย

รู้เท้ากระทบอย่างเดียว รู้หลังอย่างเดียว รู้ทั้งเท้า รู้ทั้งคาง เดี๋ยวก็เข้าที่เอง

 

พอหากว่าเข้าใจดีแล้วนี่ การเดินกลับไปกลับมา

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ในสติปัฎฐานสูตรนี่

จะช่วยให้สมองปลดล็อคได้เร็วกว่าวิธีอื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใครรู้สึกว่า นั่งแล้วไม่สงบสักที

พอมาเดินกลับไปกลับมา เราจะรู้สึกว่าลงได้เร็ว

แล้วถ้าหากว่าปลดล็อคสมองส่วนหน้า ไม่ผลิตความฟุ้งซ่านออกมา

ก็มีความรู้สึกทางใจที่ว่างๆ ที่กลวงๆ

หรือกระทั่งมีความสว่างแผ่ออกมาได้เอง

 

ถ้าใครยังมีความรู้สึกว่าจิตบี้แบนอุดอู้ อัดอั้น

ก็อาจจะใช้สายตาทอดตรงเป็นการประกอบ

พอมีความรู้สึกว่างโล่งแล้ว ก็ทอดตาตรง

ก็จะสัมผัสพื้นที่โล่งว่างเบื้องหน้าได้

 

ถ้าหากว่า ใจสามารถสัมผัสพื้นที่ว่างข้างหน้าได้ อันนั้นก็คือการแผ่ออก

 

แผ่ออกนี่สังเกตง่ายๆ จะไม่พุ่งไป

แต่ใจจะตั้งออกมาจากตรงกลาง ความเบา ความกลวง ความว่าง

แล้วสามารถที่จะได้รับสัมผัสถึงพื้นที่โล่งว่างเบื้องหน้าได้

 

พอแผ่ออกไปทางทิศเบื้องหน้าได้ ก็จะมีสัญชาตญาณรู้เองว่า

ตอนก่อนจะก้าวถอยไปข้างหลัง มีอาการแผ่ออกไปข้างหลังอย่างไร

พอแผ่ออกไปได้ ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง

อันนั้นแหละ จิตก็จะได้ฐานที่ตั้งอยู่ตรงกลาง

ออกมาจากความกลวง ความว่างกลางอก

 

แรกๆ อาจจะเหมือนกับกระพร่องกระแพร่ง

แต่ถ้าเดินมาเป็นวันเป็นเดือน ตรงนี้จะอยู่ตัว

ตอนที่ฝึกใหม่ๆ แบบนี้นี่นะ 10 นาทีแรกก็ทำได้กัน ไม่ยากหรอก

แต่ที่จะตั้งฐาน แล้วก็ทรงตัว อันนี้แหละที่เป็นปัญหา

เพราะว่าฐานของจิตนี่ ไม่ค่อยจะมีความตั้งมั่นมากนักในคนทั่วไป

เพราะไปอยู่ที่ฐานความคิดในหัวเสียหมด

 

เราอยู่กับฐานความคิดในหัวมา 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง

บางคน 50 60 70 80 ปี

เสร็จแล้ววันดีคืนดีเราบอกว่า เอาล่ะจะมาเดินจงกรม

แล้วก็ย้ายฐานจากความคิดในหัวมาเป็นความรู้กลางอก

ความรู้ความว่างความกลวงกลางอก มันไม่ใช่วิสัย

 

แต่ถ้าทำไป ผ่านวันผ่านสัปดาห์ผ่านเดือน

แล้วมีความรู้สึกทรงตัวตั้งมั่นได้มากขึ้นๆ เหมือนกับเด็กขี่จักรยาน

ตอนแรกๆ ซวนเซไปซวนเซมา ซ้ายบ้างขวาบ้าง

แต่พอจับจุดถูก ว่าจะเอาน้ำหนักตัวของตน ไปเลี้ยงให้จักรยานทรงตัวได้อย่างไร

ทำไปๆ เกิดสัญชาตญาณรู้ขึ้นมาเองว่า จะทรงร่างทรงตัวให้จักรยานนี่แล่นไปได้อย่างไร

 

นั่นแหละ ก็เปรียบเหมือนกับที่เรา

สามารถรับรู้ถึงความกลวงความว่างออกมาจากกลางอก

ตอนแรกๆ จะเซไปเซมา แต่ทำไปทำมา กลายเป็นตั้งมั่น

แบบที่ไม่ได้ใช้ความพยายาม ไม่ได้ออกแรงอะไร

 

ตรงข้าม หลายๆ คนตอนนี้พบว่าเหนื่อยมาจากข้างนอก เหนื่อยมาจากงาน

กลับมาเดิน 5 นาที 10 นาที ฟื้นคืน มีความสดชื่น มีความตื่นเต็ม

มีความรู้สึกว่างกลวงออกมาจากตรงกลางแล้วชื่นบาน เป็นสุข

 

ความสุข ความชื่นบานที่ออกมาแบบทะลักทะลาย นั่นแหละ ที่จะทำให้กำลังฟื้นคืน

เราจะมีความรู้สึกว่า โอ้โห แต่ก่อนทำงานเสร็จไม่พอนะ

กลับมาที่บ้าน มาไถมือถือมาดูซีรี่ส์ต่อ

แล้วก็พอทบทวนดู เปรียบเทียบนี่ มันเสียแรงทั้งนั้นเลยนะ

 

ดูเหมือนเป็นการพักผ่อน แต่จริงๆ พอเรามีอารมณ์สวิง

ตามเกมในมือถือ หรือว่าตามซีรีส์ในจอ

อารมณ์ที่สวิงเหล่านั้นจะกินแรง ทำให้ใจเหนื่อย

สมองเหมือนกับครึ่งพัก ที่บอกว่าเบาหัว

แล้วก็ครึ่งหนักที่แล่นไปตามอารมณ์ ไม่ได้พักจริง

 

แต่พอมาเปรียบเทียบกับตอนที่เราใจเบา กลวงว่างอย่างนี้

จนกระทั่งเกิดความเคยชินใหม่ เหมือนกับเทรนสมอง

ให้ติดใจกับรสชาติหรือว่า สภาวะที่ได้สมดุลฟื้นคืนพลัง

ก็จะกลายเป็นความรู้สึกติดใจว่า อย่างนี้ดีกว่า

 

นี่เป็นสิ่งที่พุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันต์

ท่านกล่าวกันไว้แล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมาว่า

อย่าไปกลัวความสุขอันเกิดแต่วิเวก อย่าไปมัวกลัวว่าเดี๋ยวจะติดสุข

เดี๋ยวจะไม่สามารถได้มรรคผลนิพพาน เพราะมัวแต่ติดสุข

ไม่ใช่อย่างนั้นนะ

 

ติดให้ได้ก่อน ติดวิเวกให้ได้ก่อน

จะได้แยกจิตออกมาจากความบันเทิง

 

ไม่ใช่บอกว่า ไม่ทำสมาธิเพราะกลัวติดสุข แต่ว่าไปเล่นเกม ดูซีรีส์

เสพติดเหมือนเมายาทั้งวันทั้งคืน แล้วบอกว่าอย่างนั้นได้ไปนิพพาน

อันนี้คือหลงหนักเข้าไปใหญ่นะ

 

แต่ถ้าเรามารู้จักกับจิตที่มีความวิเวก

เสพกับความวิเวกจนกระทั่งเคยคุ้น

แล้วค่อยถอดถอนความติดใจในรสวิเวก

และมารู้ภาวะความเป็นกายภาวะความเป็นใจตามจริง ยังไม่สาย

ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเต็มใจมารึเปล่า

แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามีพื้นความเข้าใจที่ถูกต้องแค่ไหน

 

พอมาถึงตรงนี้ เรารับรู้แล้วว่าจิตที่มีความวิเวกนี่ เอาง่ายๆเลยจะมีความสามารถแยกตัวเองแยกแยะออกว่าตัวเองนี่มีความเบา

รสชาติคือ มีความเป็นอิสระ

รสชาติคือ ความรู้สึกว่าไม่มีอะไรหนักๆ

มาถ่วงมาหน่วง มาทำให้ชีวิตเกรอะกรัง

จะเเต่ความเเห้งมีแต่ความสะอาดสบาย ปราศจากมลทินทางความคิด

 

ลักษณะอย่างนี้นะ พอรู้อย่างนี้ว่ามันไม่มาเกาะเกี่ยวกับร่างกาย

แล้วก็ไม่มามีพันธะทางใจ สังเกตง่ายๆ ตอนที่แยกจิตแยกคิดนี่

สมองจะผลิตความคิด ยิงเป็นกระสุนหลอกออกมา

แล้วจิตนี่ไม่ไปเอามาตรึกนึกต่อ

จิตมีความตั้งมั่นอยู่กับฐานที่มั่นของตัวเอง

ซึ่งบางคน จะรู้สึกเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นที่กลางอก

บางคนรู้สึกเหมือน กลวงว่างปราศจากที่ตั้ง

และแผ่กว้างออกไปไม่มีขอบเขต

ตัวนี้ ก็เรียกว่าเข้าถึงจุดที่ จิตมีความแยกจากกาย แยกจากอาการคิด

 

เสร็จแล้ว ถ้าเราจะดูว่าที่แยกจิตแยกคิดได้นี่ แยกได้จริงหรือเปล่า

เราก็ดูว่า จิตนี้สามารถเห็นฝอยความคิด ละอองความคิด

ที่หัวเสื่อท้ายเสื่อแตก ต่างกันไหม

ถ้าหากเห็นว่าแตกต่างกัน ก็เป็นร่องรอยเป็นหลักฐานชนิดหนึ่ง

ว่าจิตมีความทรงตัว สามารถเป็นผู้รู้ เป็นผู้ดู เป็นผู้สังเกตการณ์

ว่าความคิดแสดงความไม่เที่ยง

 

และถ้าหากความคิดหายไป ใจยังอยู่กับตัวเอง

จะมีความรู้สึกเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นจากกลางอกก็ตาม

หรือว่าจะมีความรู้สึกว่า แผ่ออกไม่มีประมาณ

แผ่ออกกว้างคับห้อง หรือว่าคับฟ้า

ออกมาจากความกลวง ว่าง เบาแล้วก็ไม่มีที่ตั้ง

 

ตัวนี้ ถ้าหากว่าจิตเห็นตัวเอง ตอนแรกกลวงว่างอยู่ในอก

เสร็จแล้วแผ่ออก ทอดตาตรง แล้วรู้สึกว่าแผ่ออกไปคับห้อง

หรือว่า บางรอบคับฟ้า แผ่ออกไม่มีประมาณ

 

ตรงนี้ ก็เรียกว่าไม่ได้เห็นแค่อนิจจังทางความคิด

แต่เห็นความไม่เที่ยง แสดงตัวอยู่ในจิต โดยตัวของมันเองด้วย

 

ไม่ว่าจิตจะสว่างขึ้น หรือว่าดรอปลง

ไม่ว่าจิตจะขยายออก หรือว่าหดแคบเข้า

เราตั้งความพอใจไว้ว่าได้เห็น

 

เพราะการได้เห็นความไม่เที่ยงของจิต ตอนที่ความคิดหายไปนี่แหละ

จิตได้รู้ตัวเองเต็มๆ ว่า แม้แต่ ความเป็นจิต

ก็หาที่ตั้ง หาความเป็นใครอยู่ในจิตไม่ได้

 

ตรงนี้แหละ หลายคนมาถึงจุดนี้ แล้วจะเอาใบรับประกันอะไรว่า

เราจะเอาจุดนี้ เอาต้นแบบของจิตอย่างนี้ ไปใช้ต่อในระหว่างวัน

อันนี้ก็ต้องฝึกกัน

 

เมื่อมีความรู้สึกเบา เมื่อมีความรู้สึกว่า จิตเป็นอิสระแผ่ออก

เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่เบื้องหลังของกาย

ก็ค่อยๆ ลืมตาขึ้นมา ออกมาจากความรู้สึกเบา ออกมาจากความรู้สึกว่าง

ดูว่า เมื่อลืมตาแล้ว ยังสามารถรู้สึกถึงความเบาออกมาจากตรงกลางได้เต็มๆไหม

 

ถ้าลืมตาแล้ว ใจกลางยังกลวง ยังเบา ยังว่าง

จะรู้สึกขึ้นมาเองว่า ร่างนี้ เป็นเหมือนแผ่นกระดาน

หรือว่าแผ่นไม้อะไรสักแผ่นหนึ่ง ที่ไร้หน้าไร้ตา

เคลื่อนไปเคลื่อนมา ก้าวไปข้างหน้า แล้วก็ถอยไปข้างหลัง

 

ส่วนใจ มีแต่ความเบาที่แผ่ออก

บางคนรู้สึก ทั้งๆ ที่ลืมตา รู้สึกถึงความสว่าง

รู้สึกถึงความเบา ออกมาจากตรงกลาง

หรือบางคน ก็ไปไกลแบบที่จิต แผ่ออกแบบไม่มีประมาณ

ทั้งๆ ที่ลืมตา... เห็นว่าร่างกายนี้เล็กนิดเดียว

 

ตอนที่เราลืมตา แล้วรู้สึกถึงจิต

เหมือนกับว่าจิตเป็นผู้รู้ภาพทางตา

ไม่ใช่ว่ามีเรา เป็นผู้คิด จ้องโลกด้วยการลืมตาขึ้นมา

แบบนี้แหละที่ เราทำได้ทุกวันแล้ว จะเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเองว่า

เออ! เอาไปใช้ลิงก์กับชีวิตระหว่างวันได้จริงๆ

 

กล่าวคือ เราจะมีความรู้สึกชัดขึ้นๆ ว่าข้างในนี่สะอาด

ปราศจากมลทินทางความคิดได้เป็นปกติ

แล้วพอมีความสะอาด มีความเบา

มีความผ่องใส ออกมาจากภายในได้เรื่อยๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวิร์กชอปนี่ จิตก็จะใหญ่ใช่ไหม

แล้วจิตที่ใหญ่ที่สุดนั่นแหละ จะครอบงำจิตทั้งปวง ที่ย่อยๆ อยู่

ในระหว่าง กล่าวคือ เดินไปเดินมา หรือจะนั่งอยู่เฉยๆ

บางทีรู้สึกว่างขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องพยายาม

 

เสร็จแล้ว พอมีอะไรมากระทบหูกระทบตา

จะเกิดความรู้สึกว่า ใจนี่เป็นผู้รับกระทบ แล้วก็เริ่มสังเกตตัวเอง

ตอนรับกระทบเข้ามา มีความสะเทือนไหว มีความกระเพื่อม

ส่งผลกระเพื่อมออกไปยืดยาวเพียงใด

 

ถ้าหากว่า กระเพื่อมยาวมีความยืดเยื้อ นั่นเรียกว่ายังยึด

แต่ถ้าหากกระเพื่อม เสร็จแล้วแผ่วหายเอง

นั่นแหละ จิตระหว่างวันได้มีความทรงตัว มีความตั้งมั่นแล้วว่า

อะไรที่กระทบ เดี๋ยวต้องหายไปเป็นธรรมดา

 

จะไม่ใช่ออกมาจากความคิด แต่ออกมาจากประสิทธิภาพของจิต

ออกมาจากตัวเนื้อของจิตเลย ไม่ใช่ออกมาจากวิธีคิดบอกตัวเอง สอนตัวเอง

 

ตอนนี้เรามีจิตตั้งมั่นมากพอที่จะรับกระทบระหว่างวัน

เห็นมันทำให้เกิดความกระเพื่อม ..เห็นนะ เห็นจริงๆ เห็นเข้ามาที่จิตนี่

เห็นออกมาจากกลางจิตกลางใจว่า กระเพื่อมแล้วอย่างไรต่อ

กระเพื่อมแล้ว ถ้ายังกระเพื่อมๆๆ ไม่หยุด นั่นแหละยึด

แต่ถ้ากระเพื่อมแล้วแผ่ว แล้วหาย นี่แหละตัวนี้ ไม่ยึด

 

พอเห็นได้เรื่อยๆ สิ่งที่จะตามมาเป็นธรรมดา

วันทั้งวันนี่ จิตจะรู้ตัวเอง แล้วเกิดสติเป็นปกติ

 

เห็นไหม ที่เราเข้าไปสำรวจดูนะ กางตำราเทียบ เอาปริยัติมาเทียบ

ปริยัติ แปลว่าคำพูดของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการปฏิบัตินะ

จะลงกันได้เป๊ะเลย

 

ถ้าหากว่า เรารู้กระทบ รู้คู่กระทบนะว่า ตาประจวบรูป หูประจวบเสียง

แล้วก็ใจประจวบกับความนึกคิด ประจวบกับธรรมารมณ์ทั้งหลาย

เวทนา สัญญา สังขาร หรือว่าอะไรที่เป็นนามธรรมภายนอก

พลังภายนอกนี่ก็เรียกว่าธรรมารมณ์นะ

 

ถ้าเราสามารถสัมผัสรับกระทบภายนอกได้

แล้วก็เห็นความกระเพื่อมทางใจได้บ่อยๆ เป็นยึด หรือไม่ยึด

ในที่สุดจะเป็นการตบจิตตบใจ ตะล่อมให้สติ เข้าที่แบบหนึ่ง

เรียกว่าเกิด สติเป็นอัตโนมัติ

 

ตัวนี้เป็นเหตุว่า ทำไมพอจบอายตนะปัพพะ

ถึงขึ้นต่อด้วยปัพพะ คือโพชฌงค์

โพชฌงคปัพพะ เป็นตัวชี้นะว่า คุณมีสิทธิ์แล้ว

 

เอาง่ายๆเลยนะ โพชฌงค์นี่ ความหมายก็คือ คุณมีสิทธิ์แล้ว

ถ้าเกิดสติเป็นอัตโนมัติ

รู้เข้ามาที่จิต รู้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น

กระเพื่อม แบบยืดเยื้อเป็นยึด

หรือว่ากระเพื่อมแล้วแผ่วหาย เป็นวาง

นี่ตัวนี้ สติอัตโนมัติเกิดขึ้น

 

อย่างตอนนี้ เราอยู่ในช่วงของการสะสมกำลัง

อยู่ในช่วงของการบิลด์ (build) กำลัง ทั้งลืมตา และหลับตา

ถ้าหากว่าภาพทางตาปรากฏเต็มหน่วยสายตา เต็มพื้นทีjลานสายตา

แล้วรู้ว่า ภาวะที่มารบกวน ที่ส่งที่ยิงออกมาจากสมอง แบบมั่วๆ นะ

เหมือนอะไรโฉบมาโฉบไป ให้ภาพนี่ล้มลุก

หรือว่าทำให้ภาวะทางกายนี่ปรากฏคมชัด แล้วก็พร่าเลือน

 

ตัวที่เราค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ รับรู้ วันละนิดวันละหน่อยว่า

ภาพล้มได้ เพราะว่าจิตเสื่อมลง หรือมีคลื่นรบกวนยิงมาจากสมองนะ

ทำให้เกิดสภาพที่ พร่าเลือน หรือว่ามีความคิด ความจำ

หรือกระทั่งมีภาพซ้อน และเห็นภาพทางตาไม่พอ มีภาพซ้อนทางใจปรากฏขึ้นมาอีก

 

ยิ่งเห็นชัดขึ้นเท่าไหร่ ว่ารายละเอียดของคลื่นรบกวนเป็นอย่างไร

ตัวนี้แหละ ให้แสดงความยินดีกับตัวเองได้เลยว่า

เดี๋ยวจะไปต่อยอดในระหว่างวันเองได้แน่นอน

 

เพราะพอเราลืมตาอย่างมีความรู้ใจได้ รู้ใจตัวเองได้นี่นะ

ผลลัพธ์นี่จะค่อยๆ ออกแนวว่า

รูป และ นาม แยกห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ ทุกที

 

จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง พอมีสติ มีสมาธิตั้งมั่น

เรารู้สึกมันแยกขาดแยกไปเอง ไม่ใช่ว่าตั้งใจแยก

หรือว่ามีความกำหนดไว้ก่อน จงใจไว้ก่อนว่าเดี๋ยวจงแยกนะ

มันแยกเองเมื่อจิตมีคุณภาพสูงพอ

 

ทีนี้เรื่องของเรื่อง พอเราทำมาจนเกิดความคุ้น เกิดความชำนาญ

จิตจะบอกตัวเองอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เราเป็นผู้บอกนะ

บอกว่าที่ กระเพื่อมแล้วหายๆ หายนี่

ตกลงแล้ว เราหลงติดอยู่กับ กระเพื่อมแล้วหายๆ มา

แล้วไปทึกทักว่า นี่เป็นเรื่องราวของเรา นี่เป็นตัวตนของเรา

มันใช่หรือ!

 

บางคนจะมีการปรุงแต่ง จะมีรายละเอียดอะไรอย่างไรก็แล้วแต่

แต่ว่าประมาณอย่างนี้แหละ

จะเกิดความเอะใจ ฉุกใจ เฉลียวใจ

หรือกระทั่งเกิดความโพล่งขึ้นมาอ่อนๆ ว่า

ตัวเรานี่เป็นแค่ความฝัน

 

ความฝันของอะไรไม่รู้

ความฝันของโลก ความฝันของจักรวาล

รู้แต่ว่ามีคลื่นกระเพื่อม ลวงตาลวงใจ แล้วก็ทำให้เกิดความยึด

พอมีความยึด ก็ก่อกรรม

 

บางคนก่อกรรมทำเข็ญ แล้วก็หัวเราะเยาะเย้ยโลก

บอกว่าไม่มีใครรู้ทันตัวเอง แต่ตัวเองไม่รู้ทันกิเลส

ไม่รู้ทันความกระเพื่อมที่หลอกอยู่โต้งๆ ตรงหน้า

อันนี้น่าอนาถกว่า

 

พอเรารู้เราเห็น ก็จะถือโทษโกรธคนอื่นน้อยลงๆ นะ

แล้วก็มีความสงสารเขาด้วยความรู้สึกจริงใจ มากขึ้นๆ

เพราะพอมองออกมาจากภายในนี่ เห็นแต่ คลื่นวกวน

หรือว่าอารมณ์รบกวน แบบที่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย

 

ทั้งหลายทั้งปวงนี่ ขันธ์ 5 มารวมร่างกัน

ห้ากอง ห้าชนิด ห้าจำพวกสภาวะ

เสร็จแล้วก็มีการหลงเชื่อ มีอาการหลงยึดติด

 

อาการหลงเชื่อนี้ เกิดขึ้นที่ไหน? เกิดขึ้นที่จิต

ถามว่าจิตน่าสงสารไหม ถ้าเห็นชัดจริงนะ

เราจะรู้ว่า แม้แต่จิตก็ไม่ได้น่าสงสารนะ จิตเป็นแค่สภาวะรู้

มันเพิ่งเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ แล้วถ้าจะดับ ก็ดับลงเดี๋ยวนี้แหละ

ไม่ได้มีความน่าสงสารอยู่ที่จิต

 

มันมีความน่าสงสาร อยู่กับขันธ์ 5 ทั้งขันธ์ 5 นี้เลย

ที่รวมร่าง แล้วหลอกตัวเองสำเร็จ

 

ทีนี้ ถ้าเราทำจิตให้อยู่ในสภาวะ ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5

อันนั้นแหละ ที่ความน่าสงสารทั้งหลายจะหายไป

กลายเป็นว่า ธรรมชาติภาวะที่เกิดดับๆ นี่

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

อยู่อย่างนี้ ไม่มีความน่าสงสาร

 

และตรงนี้แหละที่ลำบาก

คือถ้าไปถึงจุดที่เอาแค่เห็นรูป เห็นนามชัด ว่าไม่มีบุคคลไม่มีใคร

ก็จะมีความขวนขวายที่จะอยากสงเคราะห์คนอื่นน้อยลงแล้ว

เพราะเห็นว่า เออ ก็ภาวะเกิดดับนะ

ยิ่งเป็นพระอรหันต์นี้ ยิ่งขี้เกียจพูดนะ

เพราะพูดไปแล้วไม่มีใครฟัง หรือว่าฟังแล้วไม่รู้เรื่องนี่เหนื่อยเปล่าๆ

 

อย่างตอนพระพุทธเจ้าท่านสำเร็จในวาระแรกนี่

ท่านบอกไม่เอาแล้ว ไม่รู้จะเผยแผ่พระสัทธรรมไปทำไม ถ้าไม่มีใครฟัง

เพราะชาวโลกนี่ติดหลงกันอยู่นะ

 

แต่พอท่านพิจารณา เออ ยังมีคนฟังได้ ท่านก็เลยยอมยอมเหนื่อย

อันนี้ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของสังสารวัฏนะ

พระพุทธเจ้าบางองค์ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

สะสมบารมีมาเป็นพระพุทธเจ้าเต็มๆ

แต่ว่าพอบรรลุธรรมขึ้นมาจริงๆ ตรัสรู้อนุตระสัมมาสัมโพธิญาณขึ้นมาจริงๆ

บอกว่าขอสอนเฉพาะเหล่าสาวก สานุศิษย์ที่อยู่ในป่าประมาณพันนะครับ

ท่านก็ไม่เผยแผ่ ไม่สถาปนาศาสนาขึ้นมา

ศาสนาของพระองค์นี้ไปได้แค่พันคน อย่างนี้ก็มีนะ

 

แต่อย่างพระโคดม ท่านมีความขวนขวายมากพอ

ซึ่งทุกๆ พระองค์นี่ ก็คงได้ผ่านความรู้สึกท้อพระทัยในวาระแรกกันหมดแหละ

เห็นแต่ว่ามีภาวะนะ จะเอาภาวะของขันธ์ 5 ที่หลุดแล้วไปบอกขันธ์ 5 อื่นๆ

มีความรู้สึกว่ายาก ต้องตั้งต้นตั้งหลักกัน

กว่าจะสถาปนาศาสนาขึ้นมาได้ กินเวลาหลัก 10 ปี

 

ของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้ ใช้เวลา 9 เดือน

โปรดให้เกิดพระอรหันต์ขึ้นมาในโลก 1,250 รูปแบบชนิดที่มีอภิญญา 6

ไม่นับพระอรหันต์ที่ไม่มีอภิญญา 6 นะ

แล้วก็พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน มีอีกเยอะ

 

แต่ว่า 9 เดือน ท่านสามารถจะทำให้เกิดพระอรหันต์อภิญญา 6

โดยกำลังของพระองค์ท่านเอง 1250 รูป

มากพอที่จะประกาศความตั้งมั่น เสถียรของ พระศาสนา

 

ก็เลยเป็นที่มาของวันมาฆบูชานะ

ไม่ใช่วันแห่งความรักอย่างที่ชาวพุทธบางคนไม่เข้าใจ

นึกว่าไปแสดงความรักพระพุทธเจ้า

จริงๆ ไปประกาศความตั้งมั่น มั่นคง ความมีพาวเวอร์มากพอของศาสนา

ที่จะประกาศนโยบายว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไปจะถืออะไรเป็นหลักการ

ให้พระอรหันต์ 1250 รูปนี่ช่วยกันออกไปกระจายพระสัทธรรม

อาศัยหลักการแบบไหน

 

ขึ้นต้นไปบอก ไม่ไปว่าร้ายคนอื่นนะ

เอาดีของตัวเองไปแสดง แต่ว่าไม่ใช่เอาร้ายของคนอื่นนี่เหมือนกับเป็นบันไดเหยียบ

 

นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าหากว่า เราเห็นอยู่ตรงนี้

ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันต์ ท่านประกาศกันตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้วนี่ยังอยู่

 

ตอนนี้ถ้าใจของเราว่างพอนะ และเราสามารถรับรู้ได้ว่า

นี่คือเศษนี้คือส่วนธรรม นี่คือส่วนของสัทธรรม

ที่ยังแผ่รัศมีจากเมื่อ 2,600 ปีที่แล้วมาจนกระทั่งวันนี้นะ

ธรรมะเป็นอกาลิโกจริง แล้วเราจะรู้สึกเป็นจริงเป็นจัง

เสมือนกับว่า พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่

 

แล้วถ้าหากว่าใจของเราตอนนี้ แค่มีความตั้งมั่น

แล้วระลึกถึงความเบา ความสว่าง

ความที่สามารถแยกจิต แยกกาย แยกจิต แยกคิดได้

ณ บัดนี้นี่ น้อมระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าท่านสำเร็จมาแล้ว

เหล่าพระอรหันต์ท่านเป็นพยาน เป็นหลักฐานให้พระพุทธเจ้ากันมาแล้ว

 

แล้วเรากำลังอาศัยขันธ์ 5 นี้ เป็นที่ตั้งของหลักฐาน

หลังจากกาลเวลาล่วงมาแล้ว 2,600 ปี

ก็จะเกิดความสถิตเสถียร เกิดความตั้งมั่นขึ้นมาแบบหนึ่งนะ

ว่าขันธ์ 5 นี้เอาไว้สืบทอดความจริงที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ

 

แล้วถ้าหากว่าอธิษฐานเอาขันธ์ 5 นี้ เป็นเครื่องสืบสานพระศาสนา

บอกว่า เราจะถวายขันธ์ 5 นี้เป็นพุทธบูชา

เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า

มีกำลัง มีความตั้งมั่นอีกแบบหนึ่งก่อตัวขึ้นมา ในชีวิตของเรา

 

พอเราเข้าเขตที่จะอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระพุทธเจ้านะ

สิ่งหนึ่งที่จะรู้สึกได้ง่ายๆ เลยคือว่า ขันธ์ 5 นี่มีความเบา

มีความรู้สึกเหมือนกับว่า มันปลดพันธะ

ปลดเปลื้องอะไรที่หนักๆออกไปได้ง่ายๆ

ที่พระองค์ตรัสไว้นะ ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมนะ

ถ้าหากว่ามีความตั้งมั่นอยู่กับการพิจารณาว่า

ขันธ์ 5 นี้ ขอถวายไว้สืบสาน เป็นหลักฐาน เป็นพยานให้กับพระพุทธเจ้า

ก็จะรู้สึกว่าเส้นทางของขันธ์ 5 นี้ ราบรื่น โปร่งโล่ง

ต่างจากเดิม ต่างจากปกติมากมาย

 

ความสว่าง บางทีนี่ผุดโพลงขึ้นมาจากไหนก็ไม่รู้

ผุดโพลงขึ้นมาจากความไม่มีอะไร จากความว่าง จากธรรมะอันว่างเปล่า แล้วก็รู้สึกว่าอะไรๆ ตรงหน้าสว่างตาม

หยิบจับอะไรนี่นะ ถ้าหยิบจับโดยความเป็นขันธ์ 5

ที่ผ่านการตั้งมั่น พิจารณาอธิษฐานว่า

จะอาศัยขันธ์ 5 นี้เป็นที่ตั้งของการสืบสานพระศาสนานะ

ขันธ์ 5 นี้หยิบจับอะไรนี่ ศักดิ์สิทธิ์ไปหมด

ขันธ์ 5 นี้จะผ่านอะไรนี่ พ้นได้ไปหมด

และขันธ์ 5 นี้ ถ้าหากว่ายังคงอยู่ในลู่ในทาง

ยังคง เอาแค่ง่ายๆ นะทำเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่ต้องไปฝืนใจตัวเอง

หรือว่าออกมาจากวิถีแบบโลกๆ ที่ต้องทำมาหากิน

แต่เอาแค่ขันธ์ 5 นี้

ด้วยความตั้งใจที่จะสืบสาน เป็นพยานให้พระพุทธเจ้านี้

มาเดินจงกรม มาเจริญสติระหว่างวัน เป็นวันๆ ไป

เท่าที่เวลาจะอำนวยนะ ว่างเมื่อไรก็ทำ

 

จะรู้สึกตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลยว่า ขันธ์ 5 นี้นี่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทุกข์แสนทุกข์ หรือว่าที่หนักแสนหนัก

จะเกิดความรู้สึกว่า มีพลัง มีพลังความว่าง ออกมาจากฐานของชีวิต

ของขันธ์ 5 นี้ มาปลดเปลื้อง มาปลดล็อกให้

_______________

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=613B7H2Ljh4

ถอดคำ : เอ้