วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565

EP 277 วันพ่อ 2565

EP 277 | จันทร์ 5 ธันวาคม 2565

 

พี่ตุลย์ : เริ่มกันที่หัวเสื่อนะครับ จุดรวมพลของพวกเรา

ณ จุดนี้ เรามีสติรู้ว่า ขณะปัจจุบัน จิตของเราเป็นอย่างไรอยู่

มีความพร้อม หรือไม่พร้อม ที่จะตั้งเป็นสมาธิ

เมื่อ มีสติ รู้ตามจริง ไม่ใช่รู้ตามอยาก

ก็จะกลายเป็นสติ ที่สามารถรู้กายใจตามจริงในขั้นต่อๆ ไป

 

เริ่มขั้นแรกถูก ขั้นต่อๆ ไป ที่จะไหลตามมา ก็ถูกตาม

 

จากนั้น เราระลึกว่า สติที่เกิดขึ้นในตัวเรา อยู่ในทิศทางที่จะเจริญขึ้น

เป็นการเห็นกายใจตามจริงโดยความเป็นรูปนาม

สติของคนอื่นที่เป็นสหธรรมิก ร่วมทีม สร้างสนามพลังสติอยู่นี้

ก็มีความสว่างประมาณเดียวกัน

คืออยู่ในทิศทางที่จะเห็นกายใจโดยความเป็นรูปนามตามจริง

 

ความสว่าง อันเกิดจากสนามพลังของสติที่รู้ตามจริงอย่างนี้แหละ

ที่จะมีความส่งเสริมกัน ทำให้ใจของเราสามารถที่จะก้าวหน้า

พัฒนาไปในทางที่จะตรงสู่เป้าหมาย แบบที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้

 

นั่นคือ จบทุกข์จบโศก

ใช้อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้าย ในการทำทุกข์ให้สิ้นสุด

ทำลายทุกข์ ทำลายปฏิกิริยาลูกโซ่ทางชาติภพ

ที่ไม่มีต้น ไม่มีปลายในสังสารวัฏนี้

 

เมื่อรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของเรา ที่เข้าร่วมกับสหธรรมิก

และรู้สึกถึงทิศทางเดียวกันไปด้วยกัน

รู้สึกถึงความร่มรื่นของจิตวิญญาณ ของจิตของใจที่มีความสะอาด

พร้อมที่จะปราศจากทุกข์ตรงกัน

 

เราจะสามารถพนมมือขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่เป็นไปเอง

ไม่ใช่ฝืน หรือไม่ได้มีความฝืด ไม่ใช่ตั้งใจนบไหว้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

แต่เราแค่อาศัยอิริยาทางกาย คือมือพนมนี้

ในการแสดงออกถึงจิตที่มีความนิ่มนวล อ่อนควร โปร่งใส

และสว่างอย่างที่เรียกว่า เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

เมื่อรับรู้ถึงไออุ่น ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติธรรมดาของฝ่ามือ

ที่ประกบกันแบบแผ่วๆ ไม่ใช่บี้เข้ามาแบบกดๆ

เอาแค่สัมผัสแผ่วๆ นี่ ไออุ่นจะปรากฏอยู่แล้ว

 

จากนั้น ให้หงายมือซ้ายวางบนหน้าท้อง

แล้วเอามือขวาตามมาประกบ

เราจะรู้สึกถึงไออุ่นที่มีความหนาแน่น

ก่อตัวหนาแน่น แล้วตีวงกว้างขึ้น

เราจะรู้สึกได้ถึงการประสานกัน

 

เวลาที่จิตแผ่ออกไปด้วยความรู้สึกว่า

มีความอบอุ่น มีความอ่อนโยนเป็นพื้นฐาน

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือ

เมื่อไปประสานกันกับความรู้สึกเดียวกันนี้ในทีมของเรา

ในสนามพลังของสติ ที่มีความสว่าง

เราจะรู้สึกถึงความกระจ่างใจ รู้สึกถึงความรู้สึกเป็นสุข

รู้สึกยินดี มีความประสานกัน มีความสอดคล้องกัน

 

ตัวนี้แหละ ที่ใจจะแผ่ออกไป เป็นเมตตา

นี่คือการยืนแผ่เมตตาโดยการอาศัยกลุ่ม อาศัยทีมเป็นตัวตั้ง

เป็นตัวเหนี่ยวนำทำให้ใจของเราทุกคนเปิดกว้าง

โดยมีความไร้หน้าไร้ตา ไม่มีหน้าเรา ไม่มีหน้าเขา มาเป็นตัวแบ่งคั่น

มีแต่ความกลมกลืนกันของสติ ความรู้สึกดีๆ

ความสุขที่แผ่ออกไปจากกลางอกกลางใจนี้ ราวกับแสงแดดอ่อนๆ

ที่แผ่ออกมาจากดาวฤกษ์ดวงน้อยดวงใหญ่

 

จากนั้นให้กำหนดว่า เราจะหายใจออก

ซึ่งธรรมชาติของการหายใจออกนี้ จะทำให้ตัวเบา

เมื่อตัวเบาตามธรรมชาติของการหายใจออก ให้รู้สึกได้แล้ว

ก็(เดิน)ถอย(หลัง)เลยครับ

 

เมื่อตั้งต้นด้วยการถอยร่วมกัน

โฟกัส จะอยู่ที่กายเบา ที่อยู่ในอิริยาบถเดิน เป็นการเดินถอย

เมื่อถอยไปจนสุด ก็ให้ตั้งไว้ในใจว่า

รอบนี้เราจะรู้เพียงเท้ากระทบอย่างเดียว เดินเลยครับ

 

จากนั้นที่หัวเสื่อ ให้ตั้งใจว่า

เราจะรู้เพียงแผ่นหลังที่โล่งว่างอย่างเดียว ถอยเลยครับ

 

ที่ท้ายเสื่อ ให้ตั้งใจว่า

เราจะรู้ทั้งเท้ากระทบ พร้อมกันกับปลายคางที่เชิดขึ้น

ก้าวเดินเลยครับ

 

ที่หัวเสื่อให้ตั้งใจว่ารอบนี้

เราจะทำความรู้สึกถึงความว่างโล่งที่คงค้างอยู่ ถอยเลยครับ

 

คราวนี้ก็เดินโดยไม่ต้องฟังอาณัติสัญญาณนะ

ถ้าเอาความรับรู้ ตัวความว่างโล่ง

ที่ออกมาจากกลางอกกลางใจพร้อมกันเท้ากระทบ

สิ่งที่จะปรากฏเป็นธรรมดา ตามธรรมชาติ

เมื่อจิตมีสติ รับรู้ถึงความว่างความเบาของตัวเอง

ก็จะค่อยๆ มีการขยายออก

 

ซึ่งการขยายออกนี้ ถ้าเอาความแน่นอนว่า จะมีอาการแผ่ออกไป

เราเอาแบบที่ง่ายที่สุดก่อน คือทิศเบื้องหน้า

ซึ่งจะสอดคล้องกับสายตาที่ทอดตรงออกไปได้

 

แค่เราทำความรู้สึกถึงความโล่งว่างที่ยังคงค้างอยู่

แล้วก็ทอดตาตรงออกไป จะมีความรู้สึก

สัมผัสถึงพื้นที่ว่าง โล่งๆ เบื้องหน้าได้

และนั่นเองจะทำให้จิตอยู่ในธรรมชาติวิสัยดั้งเดิมของมัน

คือแผ่ออก ไม่ใช่หมกมุ่นเข้ามาในหัว

 

เมื่อจิตแผ่ออกไปเบื้องหน้าได้ สัญชาติญาณทางใจจะรู้

เวลาก่อนที่จะถอยหลังไป จะมีอาการแผ่ออกไปเบื้องหลังด้วยเช่นกัน

 

การที่จิตสามารถแผ่ออกไปเบื้องหน้าและเบื้องหลังได้

เอาแค่นิดๆ หน่อยๆ เพียงเท่านั้น

เราจะรู้สึกถึงความว่างโล่งออกมาจากตรงกลาง

เป็นคนละส่วน เป็นคนละจำพวกสภาวะกับธรรมชาติของกาย

 

กายจะถูกรับรู้โดยความเป็นแท่งอะไรแท่งหนึ่ง

มีหัวตัวแขนขา กินพื้นที่ว่างเคลื่อนไปเคลื่อนมา

ส่วนใจจะหยุดนิ่ง ทรงตัวแผ่ออกมาเบาๆ จากกลางอกกลางใจ

นั่นแหละที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ในความรับรู้

ในสติที่มีความบริสุทธิ์อยู่ เห็นว่าจิตอยู่ส่วนจิต กายอยู่ส่วนกาย

 

และเมื่อจิตอยู่ส่วนจิต กายอยู่ส่วนกายได้

สิ่งที่จะตามมาเป็นธรรมดาก็คือ

เราจะเห็นว่า จิตไม่ทำตัวเป็นที่ตั้งของความคิด

ไม่เป็นศูนย์กลางของการผลิตความคิด

 

จริงๆ แล้วจะเริ่มระแคะระคาย รับรู้ว่า

สมองในหัวต่างหาก ที่เป็นผู้ผลิตความคิดสุ่มๆ ขึ้นมา

แต่ใจของเราจะนำเอามาตรึกนึกต่อหรือเปล่า ขึ้นกับความสมัครใจ

 

ถ้าหากว่าไม่สมัครใจจะเอามาตรึกนึกต่อ

อันนั้นแหละที่เรียกว่า จิตกับความคิดแยกจากกัน

คือจิตไม่ทำตัวเป็นที่ตั้งของความคิด

 

นี่นะ เรื่องของนิยามหรือการใช้คำ บางทีเป็นที่เข้าใจ หรือไม่เป็นที่เข้าใจ

ก็ขึ้นอยู่กับว่านิสัยที่เราจะรู้สึกออกมาจากภายในตรงกันหรือเปล่า

 

อันนี้น่าจะชัดเจนนะ

ถ้าหากว่าความคิดที่ถูกผลิตออกมาจากสมอง

ผลิตปุ้งๆ ออกมาลอยๆ

แล้วใจของเราไม่ไปเอาด้วย ไม่เอามาตรึกนึกต่อ

อันนั้นแหละ จิตไม่ทำตัวเป็นที่ตั้งของความคิด

 

เมื่อจิตไม่ทำตัวเป็นที่ตั้งของความคิด

ที่เรารู้สึกถึงความโปร่ง ความว่าง ความโล่ง

แยกเป็นคนละส่วนคนละชั้นกันกับความคิดในหัว

สิ่งที่จะเป็นความสามารถในขั้นต่อมาก็คือ

เราสามารถสังเกตเห็นได้ว่า หัวเสื่อกับท้ายเสื่อ

ความคิด มีความปรวนแปรไปอย่างไร

 

แต่เดิม เราไม่สามารถสังเกตได้

ไม่สามารถเอาความคิดไปสังเกตความคิด

แต่พอจิตแยกชั้นออกมาเป็นต่างหาก

แล้วทำตัวเป็นผู้รู้ ทำตัวเป็นผู้สังเกต

คราวนี้แหละที่จะเริ่มมองออก อ่านออกบอกถูกว่า

ที่หัวเสื่อท้ายเสื่อ ความคิดในหัว มีความปรวนแปรไป

หรือแตกต่างไป มากหรือน้อยเพียงใด

 

ในขั้นที่เราจะรู้สึกถึงความคิดที่แยกออกจากจิต

อันนี้ต้องจำไว้ดีๆ อย่าเร่งรีบ

ขึ้นต้นมาไม่ใช่ไปจ้องจิต ไม่ใช่ไปจ้องความคิดเลย

ต้องรู้ฝีก้าวของตัวเอง ว่ามาถึงจุดที่มีความพร้อม

ที่จะเห็นภาวะทางใจจริงๆ หรือเปล่า

 

ถ้ายังไม่พร้อมจะเห็นภาวะทางใจ พูดง่ายๆ ยังไม่รู้สึกเบา

ยังไม่รู้สึกแผ่ออกมา เราก็ reset ใหม่ไปเรื่อยๆ

 

เริ่มต้นขึ้นมา ก็ถอยด้วยตัวเบา แล้วก็รู้เท้ากระทบอย่างเดียว

แล้วพอทำไปๆ จนคุ้น แค่ไม่กี่วัน ชีวิตที่เหลือนี่สบายเลย

เพราะว่า แค่เราจำทางเข้าได้ จะใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที

และเป็นไม่กี่นาที ที่เราพาจิตพาใจมาถึงความรู้ตัวเองว่า

มีความว่าง มีความกลวง ออกมาจากตรงกลาง

แยกเป็นคนละชั้นกันกับกาย

 

กายปรากฏเป็นแท่ง มีหัวตัวแขนขา

ใจรู้สึกเป็นดวงๆ หยุดนิ่งอยู่ตรงกลาง

 

จากนั้น พลิกอีกนิดเดียว สังเกตนิดเดียวว่า

จิตแบบนั้น จะพร้อมปล่อยให้ความคิดผ่านเลยไป

ความคิดลอยมาแต่จิตไม่เอามาตรึกนึกต่อ

ก็จะมีความทรงตัวอยู่ในอาการผ่องแผ้ว นิ่งว่าง เบิกบาน

อย่างเป็นไปเอง ไม่มีการบังคับ ไม่มีการไปฝืน

 

ถ้าทำๆ ไป ไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิด หรือเวทนา

จะเข้าล็อคความเคยชิน

ถึงแม้ว่าจะเคยทำได้ แต่พอทำๆ ไป ก็จะค่อยๆ ลืม

 

ตัวนี้ต้องไม่ประมาท สังเกตอยู่ทุกครั้งทุกวัน

เรื่องของสมาธิไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตา อย่าว่าแต่เป็นวันเลย

แค่ไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่นาที ถ้าหากว่าภาวะของจิตเปลี่ยน

จะลืมว่าความเป็นสมาธิหน้าตาเป็นอย่างไร

 

ทีนี้จะพูดถึงคนส่วนใหญ่นะ ที่ใจเริ่มรู้สึกถึงความไม่เที่ยงของความคิด หรือหลายๆ คนที่ความคิดหายไปจากหัว สร่างซาไปจากหัว

รู้สึกถึงความนิ่ง เงียบ ว่าง สว่างที่ค่อยๆ ผุดขึ้นออกมาตามธรรมชาติ

จากกลางอกกลางใจ รู้สึกเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นที่กลางอกแล้ว

 

สิ่งที่เราจะทำกันเป็นลำดับต่อไป เอาแบบที่ตัดตรง

เข้าสู่ภาวะที่มีความพร้อมแล้วของเรานี่ ก็ง่ายๆ เลย

รู้ออกมาจากจิตที่มีความกลวงว่าง

ที่มีความผ่องแผ้วเหมือนพระอาทิตย์ขึ้น

แล้วค่อยๆ ลืมตา ดูว่า ความผ่องแผ้วนั้น

ยังมีความคงเส้นคงวาได้เท่ากับหลับตาหรือไม่

 

ถ้าหากว่ามีความคงเส้นคงวาเท่าเดิม

นั่นแปลว่าใจของเรามีความเสถียร แล้วก็มีความตื่น ..

นี่ วัดกันง่ายๆ แบบนี้แหละ

 

ถ้าลืมตาตื่น แล้วมีความเสถียร

มีความรู้สึกเหมือนกับใจของเราเห็นตัวเองว่า

มีความเบา มีความว่าง มีความสว่าง

ตัวนี้ ที่วัดได้ว่าจิตของเรา ไม่เคลิ้มหลับอยู่

แต่มีความพร้อมตื่น พร้อมรู้

 

พร้อมรู้อะไร?

อันดับแรก พร้อมรู้ภาวะของตัวเอง

 

ยิ่งทำไป ยิ่งโอเคนะ หลายๆ คน

เอาเป็นว่าส่วนใหญ่เท่าที่เห็นด้วยตาเปล่า

ใจอยู่กับความเบาของตัวเองได้ ถึงแม้ว่าลืมตาขึ้นมา

 

ลองลืมตาในแบบที่ เราจะรู้สึกถึงความว่าง แล้วสังเกต

ถามตัวเองว่า วันต่อวันนี่ จิตมีศักยภาพ

มีความสามารถเห็นคลื่นรบกวนที่แทรกเข้ามาได้ชัดขึ้นๆ ไหม

 

อันนี้เหมือนกับตั้งโจทย์ไว้ในใจเงียบๆ นะ

ไม่ใช่ว่าต้องไปเพ่ง หรือไปพยายามเอาให้ได้ แค่สังเกตเฉยๆ ว่า

วันต่อวัน ที่เราสามารถลืมตาขึ้นมาได้ทั้งใจที่ยังใส ยังเบาอยู่นี่

เป็นเหตุให้เกิดความเสถียร ในแบบที่เรารู้สึกว่า

คลื่นรบกวนในหัวที่โผล่ขึ้นมา

เหมือนตัวอะไรโฉบขึ้นมาแวบหนึ่ง แล้วหายไป อย่างแจ่มชัดไหม

 

ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงอาการโฉบมาโฉบไปของคลื่นรบกวนในหัว

ทำให้ภาพล้มลุก หรือทำให้ภาพไม่ชัดไปชั่วครู่

แล้วกลับมาคมชัดเหมือนเดิม

รู้สึกถึงกายที่เป็นแท่ง แท่งกายที่กลับไปกลับมาอย่างแจ่มชัด

แยกเป็นต่างหากจากความรู้สึก กลวง ว่าง เบา ที่ออกมาจากตรงกลาง

แล้วแผ่กว้างออกไป เห็นภาพทางตาเต็มหน่วยตา

เต็มแบบที่มีความคมชัดอย่างเป็นไปเอง

 

แล้วรู้สึกว่าความเป็นไปเองนั้น

บางทีมีคลื่นรบกวนมาทำให้เกิดอาการล้มลุก

เสร็จแล้วทรงตั้งกลับมาได้ใหม่

 

ตัวนี้แหละ ที่วันต่อวันจะเห็นชัดขึ้นๆ ทุกที

เหมือนคลื่นรบกวน มันแทรกเข้ามา คล้ายๆ เราดูทีวีรุ่นเก่า

จะคมบ้าง แล้วก็มีสัญญาณรบกวนซ่าๆ บ้าง

 

เวลาที่เรารู้สึกถึงบางทีเหมือนกับ

มีความเสถียรอยู่ตรงกลาง เบา ทรงตัวอยู่ได้

บางทีก็มีอาการเว้นวรรคไป

ตัวนั้นที่เราเรียกว่าคลื่นรบกวน

จะเป็นสภาวะแบบหนึ่ง ที่ความคิดเข้ามาแทรก

หรือไม่ก็สภาพของจิต ทรงตัวอยู่ไม่ได้แบบที่มั่นคง

 

จะคล้ายๆ กับ ถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับ เราขี่จักรยาน

ถ้าหากว่าทรงตัวได้เป็นปกติแล้ว ก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

จะมีความรู้สึกว่าอาศัยน้ำหนักตัวในการกดให้จักรยานทรงตัวอยู่

จะรู้ออกมาจากสัญชาติญาณของความเคยชินว่า

จะทรงตัวอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร

 

แต่ถ้าหากว่าเริ่มๆ หัดขี่ใหม่ ก็จะรู้สึกเป๋ไปเป๋มา

เพราะว่ายังไม่มีความรับรู้ว่าจะทรงให้จักรยานอยู่นิ่งได้อย่างไร

 

ทีนี้ พอมาเปรียบเทียบกับการทรงตัวทางจิต

ก็จะยากขึ้นกว่าขี่จักรยานหลายเท่าตัว

เพราะจักรยานนี่ วันสองวันก็เป็น

แต่ว่า เรื่องของสมาธิจิตนี่ ต้องผ่านวัน ผ่านเดือน

ถึงจะค่อยๆ เห็นอาการเคลื่อนของจิตตอนที่จะไม่สามารถทรงอยู่

 

ทีนี้ ถ้าหากว่า ทั้งหลับตา ทั้งลืมตา

เรามีความเข้าใจออกมาจากประสบการณ์ตรงว่า

ตอนที่ทรงตัวอยู่ด้วยความนิ่มนวล

ด้วยความเบา ด้วยความไม่เกร็ง ด้วยความไม่แข็ง

มันตั้งต้นรับรู้ออกมาจากตรงกลาง

 

ตอนทรงตัวอยู่ได้เป็นปกติ จะรู้สึกเบา รู้สึกว่าไม่ได้ต้องออกแรง

แต่ให้น้ำหนักตัว เป็นตัวกด แล้วก็ทรงจักรยานให้เสถียรอยู่

แล้วพอเราเริ่มรับรู้ว่า ความเสถียรมาจากการที่

เราสามารถทรงอยู่ในสภาพที่รู้สึกเบาๆ สบายๆ

เหมือนตอนขี่จักรยานนี่จะเบาตัวนะ

แต่สามารถทำให้จักรยาน เลี้ยงจักรยานให้ไปได้นี่

ตัวนี้แหละที่จะค่อยๆ อยู่ตัว แล้วก็ทรงตัวมากขึ้นๆ วันต่อวัน

 

(จงกรม) ทั้งลืมตาและหลับตา จุดประสงค์คือ

เพื่อให้อาการของใจมีความเสถียร ตั้งมั่น

มีความรับรู้ถึงความเป็นกายใจ แยกจากกัน

 

ถ้าจิตไม่เต็ม บางทีเราบอกว่ารู้กาย .. รู้ตรงไหน?

เราก็จะจี้เข้าไปตรงซี่โครงมั้ง หรือตรงกะโหลกศีรษะมั้ง ตรงนิ้วมั้ง

แล้วก็สงสัยร่ำไป เพราะจิตจะกระโดด

 

แต่ถ้าเรามีอุบาย ... ทำให้จิตมีความเสถียร

มีความตั้งรู้ครอบทั้งกาย ออกมาจากความกลวงว่างกลางอก

แล้วมีความแผ่ขยายออกมากพอ

ที่จะรับรู้ถึงความเป็นอิริยาบถเดิน ทั้งร่าง ทั้งตัว แบบนี้

จะไม่ต้องถามว่าเราจะรู้ที่ตรงไหน ก็จะรู้ไปที่ทั้งตัวนั่นแหละ

ตั้งแต่หัวจรดเท้าพร้อมกัน ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ

 

เพื่ออะไร?

เพื่อที่จะรู้ว่า ส่วนของความเป็นร่างนี่ เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง

เป็นธรรมชาติฝ่ายรูป

ส่วนจิตหรือใจ เป็นธรรมชาติอีกแบบหนึ่งที่ซ้อนกันอยู่

 

เราจะรู้สึกถึงความเป็นดวงว่างของจิตที่แผ่วเบา

บางเบา แล้วก็มีความผ่องแผ้ว

ส่วนกาย เป็นแท่งอะไรแท่งหนึ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติเดียวกัน

ซึ่งตรงนั้นแหละ

พอจิตมาถึงจุดที่สามารถแยกกายแยกจิตได้อย่างชัดเจน

จิตก็จะมีความสามารถแยกจิต แยกความคิดออกได้เช่นกัน

คือพอความคิดผ่านเข้ามา เราจะไม่มีความรู้สึกอยากเอามาตรึกนึกต่อ

 

พอถึงตรงนี้ได้ เห็นไหม เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกวัน

ถ้าวันละหลายๆ รอบ อย่างที่หลายๆ คนมีฉันทะ ว่างเมื่อไหร่ก็ทำนี่

ชีวิตก็จะเข้าสู่ความเคยชินอีกแบบหนึ่ง

 

จากเดิม ที่ต้องเริ่มต้น ด้วยความคิด

วันนี้จะทำอะไรดี หรือว่า อยู่ว่างๆ ตรงหน้า จะเอาอะไรมาสนองกิเลส

ธรรมชาติของการคิดนี่ จะพาเรา ...

ไม่ใช่ไปไหนต่อไหนในชีวิตนี้ชีวิตเดียว

แต่พาเราไปไหนต่อไหน ในภพภูมิต่างๆ ของสังสารวัฏ ทั้งต่ำและสูง

ทั้งเคยเป็น มีอัตภาพที่น่ากลัว น่าสยดสยอง หรือว่าน่ารังเกียจ

แล้วก็ทั้งเคยมีอัตภาพที่งดงาม ดูแล้วเจริญตาเจริญใจ เหล่านั้น

 

บางทีเรานึกไม่ออกว่าชาติภพนี่ เราเคยไปเป็นอะไรมาบ้าง

แต่นึกออกในชาตินี้ชาติเดียว

ว่าข้างในของเราเคยน่ารังเกียจ แล้วก็เคยน่าชื่นชม ...จะล้อกันอยู่นะ

 

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

ในสังสารวัฏนี่ ถ้าหากว่าใจน่าเกลียด

แล้วรู้สึกรังเกียจตัวเอง รู้สึกอึดอัดกับความเป็นตัวเองภายใน

นั่นแหละ ที่พร้อมก่อภพก่อชาติ ที่ไม่น่าดู ไม่เจริญหูเจริญตา

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ใจมีความรู้สึกผ่องแผ้ว ใส สว่าง

แล้วก็ดูรู้สึกว่า แฮปปี้ น่าชื่นชม

นั่นแหละ รากของการมีภพชาติที่จะเจริญหูเจริญตา

 

แล้วสภาพทางใจต่างๆ เหล่านั้น มาจากไหน ... ก็มาจากความคิด

 

ทีนี้ พอเรารู้ว่าความคิดนี่ มันสุ่ม

มันถูกผลิตออกมาแบบส่งเดช เอาแน่เอานอนไม่ได้ จากสมองในหัว

เราก็จะเริ่มเข้าใจว่า ภาวะที่กำลังเป็นอยู่อย่างนี้

ที่สามารถจะแยกจิต แยกความคิดออกจากกันได้นี่

เท่ากับการมีจิตมีใจอยู่เหนือการครอบงำของความคิด

พูดง่ายๆ ว่า เริ่มพร้อมที่จะถอนออกจากภพภูมิ หรือภาวะทั้งหลาย

ที่ยังติดใจอาลัยอาวรณ์อยู่กับภพดีๆ ภาวะดีๆ แม้ในชาตินี้

 

จริงๆ แล้วเราก็จะเริ่มเห็นออกมาจากอีกคลาสหนึ่งของจิต

ตอนที่มันพ้นออกมาจากการครอบงำของความคิดนี่

จะมีความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

จิตที่ใส ใจที่สะอาด แล้วปราศจากมลทินทางความคิดนี่

อันนี้ ดีกว่า ... ดีกว่าจิตที่หมกมุ่นครุ่นคิด แม้กระทั่งเรื่องดีๆ

 

อะไรที่มีความติดใจยินดี อยู่กับความดี อยู่กับความสว่าง

นั่นแหละ ยังอยู่ข้างล่างนะ

 

จิตที่สะอาดปราศจากความคิด

ถ้าจิตของเราสะอาดปราศจากมลทินทางความคิด

อันดับแรก จะใกล้เคียงกับพรหมภูมิก่อน

นิดเดียวนะ ถ้าตายทั้งจิตที่มีความสว่าง

ราวกับว่าพระอาทิตย์ผุดขึ้นจากกลางอกกลางใจ

นั่นแหละ วิถีก่อนตายจะมีความหนักแน่น

และรวมดวงลงอย่างใหญ่ เป็นมหาคตะ แล้วเข้าถึงพรหมภูมิได้

ซึ่งเราจะไปอยู่บนนั้นนาน

นานจนกระทั่งรู้สึกว่าเป็นอมตะเหมือนไม่มีวันตาย

 

แต่พอสิ้นกัปสิ้นกัลป์ มีการล้างจักรวาล

แบบนั้น ก็ต้องสิ้นพรหมภูมิไปอยู่ดี ตามอำนาจของสังสารวัฏ

ไม่มีอะไรสามารถที่จะอยู่คงทน เที่ยง

 

แต่ถ้าหากว่า เราอาศัยจิตที่มีความสว่าง

มีความตื่น ใกล้เคียงกับพรหม หรือเสมอกันกับพรหมนั้น

มาพิจารณา ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้า

นั่นคือภาวะเดิน หรือภาวะของใจที่แยกจากกัน กับกาย

 

เราก็จะรู้สึกว่า กายเป็นของหลอก กายเป็นแค่รูปหลอก

 

ถ้าหากว่า ใจมีความผ่องแผ้ว ใกล้เคียงกับพระพรหม

อันนี้ก็จะได้เปรียบ จะรู้สึกเลยว่า กายนี้เป็นของหยาบ

เป็นอะไรที่ไม่ได้น่าดูน่าชม หรือน่าอาลัยอาวรณ์เอาเสียเลย

 

แต่จิตต้องถึงนะ ไม่ใช่คิดๆ เอา

แล้วจะไปสามารถหลอกตัวเองว่ากายนี้ไม่น่าเอา

ต้องมีจิตที่อยู่เหนือรูปหยาบขึ้นไป

แล้วก็มีความผ่องแผ้ว

มีความสะอาดปราศจากมลทินทางความคิด

ถึงจะรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่ากายเป็นของหยาบ

แต่จิตเป็นของประณีต เป็นธรรมชาติที่มีความละเอียดกว่ากัน

 

จากนั้น พอเราสามารถแยกจิตออกมาจากความคิด

สามารถที่จะกรองให้เกิดสติเห็นว่าจิตอยู่ชั้นหนึ่ง ความคิดอยู่อีกชั้นหนึ่ง

ตรงนั้นแหละที่เราจะรู้สึกว่า แม้แต่ความคิดดีๆ ก็ยังหยาบไป

ไม่เหมือนกับใจ ที่มีความละเอียดประณีต และผุดผ่องอยู่

คงทน มีความเที่ยงตรงได้มากกว่า

 

เสร็จแล้ว พอเรามีความสามารถที่จะเห็นว่า จิตกับความคิดแยกจากกัน

หัวเสื่อท้ายเสื่อนี่ จะสังเกตรู้ได้เลยว่า ความคิดปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา

รู้จริงๆ ออกมาจากความตั้งมั่นของจิตที่มีความตื่นรู้

ในที่สุดความคิดก็จะดับ ลับหายไป เหมือนกับมีการเว้นวรรค

สมองไม่ผลิตความคิดออกมาเป็นเวลานาน

 

ซึ่งถ้าตรงนั้น เรามีความเข้าใจว่าจะดูอะไรต่อ

ก็จะเกิดความเห็นว่า แม้จิตที่ว่าประณีตแล้ว

จริงๆ ยังมีสิ่งที่ประณีตกว่า ยังมีสิ่งที่จริงกว่าสภาวะของจิต

 

จิตที่ว่าแน่นอนแล้ว ตั้งมั่น เสถียรแล้ว

ด้วยความสามารถในการเข้าสมาธิของเรา

แท้จริงแล้ว ก็แปรปรวนไปอยู่เรื่อยๆ

 

ดูเถอะ หัวเสื่อท้ายเสื่อ อาจยังไม่ปรากฏแสดงความไม่เที่ยง

แต่พอไปหลายๆ รอบ เป็นสิบๆ รอบ จะเกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า

แม้จิตที่มีสภาวะคงทน เป็นสมาธิ

จริงๆ แล้วก็สว่างเรืองขึ้น เบากริบลงกว่าเดิม

หรือบางทีดรอปลง หม่นหมองลง

เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังที่สนับสนุนอยู่ที่พื้น

 

ถ้าพื้นจิตพื้นใจมีความทรงตั้งมั่นคงมาก ก็อยู่นาน

แต่ถ้าหากว่าพื้นฐานยังมีความอ่อนอยู่ ยังมีความยวบยาบอยู่

แป๊บหนึ่ง ก็โคลงเคลง

 

การที่เราเห็น

ไม่ว่าจะเป็นความไม่เที่ยงขาขึ้น หรือขาลงของจิต

จะทำให้เกิดการรับรู้ขึ้นมารำไรว่า

จริงๆ แล้วน่าจะมีอะไรอีกอย่างหนึ่งหรือเปล่า ที่พ้นไปจากความไม่เที่ยง

 

แต่ที่เราจะรู้ เราจะเห็น เราจะพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง

ก็คือต้องเห็นจิตเป็นเหมือนวัตถุชนิดหนึ่ง

เป็นเหมือน object อะไรอย่างหนึ่ง

ที่เป็นของหลอก เป็นของล่อให้หลงติด

ถ้าเราไม่ติด ถ้าสติของเรามีความบริสุทธิ์มากพอ

ที่จะเป็นอิสระออกมาจากอุปาทาน ที่ครอบงำเราอยู่

ว่าจิตเป็นเรา เราเป็นจิต ...รู้ชัดผ่านความไม่เที่ยงของจิต

เห็นเป็นรอบๆ หรือหลายๆ รอบผ่านไป เป็นสิบๆ รอบ

 

เรารู้ว่าจิตที่มีความเสถียรนี้ เสถียรไม่จริง

ในที่สุด ต้องคลี่คลายกลายเป็นอื่น

ไม่เบาลงก็หนักขึ้น ไม่สว่างขึ้นก็มืดลง

 

การที่เห็นจิตไม่เที่ยงนั่นแหละ

ที่จะทำให้เกิดความตระหนักรู้ในที่สุดว่า

จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต

 

แล้วพอรู้แจ้งว่า เราไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เรา

ตรงนั้นแหละ ที่พอผ่านความยึดมั่นถือมั่นได้

สติที่บริสุทธิ์ จะปรุงแต่งให้จิตทำตัวเป็นเหมือนกับลูกไฟ

ล้างตัวเอง ชำระล้างความหลงผิด ที่เคลือบอยู่

ประหารสักกายทิฏฐิได้ขาด

 

แล้วก็จะรู้ว่าพ้นจากจิตไป จิตจะไปรู้อะไรอีกอย่างหนึ่งที่พ้นไปจากตัวเอง

ไม่ใช่อากาศว่างอย่างท้องฟ้า

แล้วก็ไม่ใช่สภาพที่มีขันธ์อื่น มีขันธ์ห้าอื่นชนิดอื่น

แต่เป็นสภาพที่พ้นไปจากความมีขันธ์ห้าตั้งอยู่

พ้นไปจากการที่มีจิตตั้งอยู่ แต่จิตไปรู้ภาวะนั้นได้

นั่นแหละภาวะไม่เกิดไม่ดับนะ

 

ถ้าเห็นครั้งแรก ก็คือได้ถือว่า

ได้ข้ามเส้นบรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน

เรียกว่า โสดาปัตติผล

 

ทีนี้ ที่เราทำๆ กันอยู่นี่

ถามตัวเองง่ายๆ ว่า มันเคลื่อนไปสู่ความเป็นเช่นนั้นไหม

ก็จากการที่เราดู เรารู้ ว่าสภาพของจิตตอนที่แยกออกจากความคิดได้

เหลือแต่จิตเพียวๆ เราเห็นไหมว่า

สภาพจิตเพียวๆ นั้น มีความแตกต่างไปเรื่อยๆ

 

ถ้าเห็นจิตมีความแตกต่าง

แม้ว่าจะเงียบ ว่าง สว่าง นิ่งอยู่นานเป็นชั่วโมง

แต่ในที่สุด ต้องเคลื่อน

ชั่วโมงแรก ไม่เคลื่อนเลย นาทีแรกของชั่วโมงที่สองอาจเคลื่อน

 

ถ้าเราเห็นความไม่เหมือนเดิม ไม่มีหน้าตาเดิมๆ ของจิตได้บ่อยมากขึ้นเท่าไหร่

ก็สังเกตเข้าไปตรงๆ ได้ว่า อาการยึดมั่นถือมั่น

อาการอาลัยอาวรณ์ว่าต้องมีจิต ต้องหวงจิตเอาไว้

หรือว่าต้องมีเราอยู่ในจิตให้ได้

จะค่อยๆ เสื่อมสภาพ จะค่อยๆ เสื่อมมนต์ขลัง

กลายเป็นความรู้สึกว่า จิตเหมือนกับพยับแดดอะไรอย่างหนึ่ง

หรือเหมือนมายากล ที่นักมายากลเข้าปรุงไว้

ให้หลงไป ว่ามันมี แต่จริงๆ มันไม่เคยมี

ขึ้นอยู่กับว่าจะมีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งให้เกิดจิตหนึ่งๆ ขึ้นมาหรือเปล่า

 

ถ้าหากว่า เราเห็นไป

จนกระทั่งรู้สึกจริงๆ ว่า จิตนี้เป็นของหลอกตั้งแต่แรกเลย

ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นของหลอกตอนที่มันเสื่อม หรือสิ้นไป

มันหลอกมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ตอนที่มันเกิดพร้อมกับเหตุปัจจัย

อย่างเช่น ที่มีสมาธิจิต มีความตั้งมั่นอยู่ได้อย่างนี้

ก็เพราะว่ามีกาย เคลื่อนกลับไปกลับมา ในท่าจงกรม

 

ถ้าหากว่า เราเต้นแร้งเต้นกามั่วๆ

นึกท่าอะไรขึ้นมาได้ ก็อยู่ในท่านั้นแบบสุ่มๆ

จิต ไม่มีทางที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้นมาได้เลย

แต่ต้องมีอาการที่อยู่ในความเคลื่อนไหว ซ้ำไปซ้ำมา

ให้จิตสามารถที่จะไปยึดเป็นหลักที่ตั้ง

 

นั่นแหละ ถึงจะมีสิทธิ์ค่อยๆ เกิดความมั่นคง เกิดความตั้งมั่น

ทรงตัวอยู่เป็นสมาธิจิตขึ้นมาได้

และความเป็นสมาธิจิตนี่ ถ้าดูออกมาจากประสบการณ์ตรงได้ง่ายที่สุด

ที่จะรับรู้ว่ามันเป็นนามธรรมก็คือ เห็นพร้อมกันกับภาวะเคลื่อนไป

 

เมื่อกายเคลื่อน เมื่อจิตนิ่ง มีความส่องสว่างอยู่

ก็จะรู้สึกชัดขึ้นๆ นะว่า เพราะมีกายเดินอยู่อย่างนี้

จิตจึงสว่าง จิตจึงมีความตั้งมั่น

 

ถ้าไม่มีกายเดิน จิตก็ไม่มีความสว่าง

ไม่มีความสามารถที่จะทรงตัวตั้งอยู่ได้

 

ส่วนใหญ่นะ พอเข้าใกล้หนึ่งชั่วโมง

สภาวะถือว่าเข้าใกล้ความเสถียรกันเป็นหลัก โดยมาก

 

ถ้าหากว่ามาถึงจุดที่เรารู้สึกว่า ใจมีความตั้งมั่น

มีความเสถียร ออกมาจากความเบา ความโล่ง ความว่างได้

เราถามตัวเองง่ายๆ พอใกล้ครบชั่วโมงว่า ตอนนั้น

ใจของเรากำลังรับรู้อะไรเป็นหลัก

 

ถ้าหากว่า ใจที่ทรงตัวเป็นสมาธิ

ให้ความรู้สึกว่าเวลารู้กาย

กายปรากฏโดยความเป็นของหลอก ไม่ใช่ของจริง

มันตั้งอยู่ เพื่อจะลวงให้จิตเกิดความหลงไปยึดว่าเป็นกายเรา

อันนี้ถือว่าเช็ค (check) .. ขีดถูกได้ว่า เรามาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง

 

แล้วถ้าหากว่า เช็คข้อต่อไป

มีความรู้สึกว่าใจที่แยกออกเป็นต่างหากจากกายนี้

มีความเบา มีความกลวง มีความว่าง

และมีความรู้สึกไม่ยึด ไม่ถือ มีความรู้สึกเป็นอิสระ

นั่นก็ให้เช็คไปอีกข้อหนึ่ง

 

เพราะจิตที่เป็นอิสระ จิตที่เป็นสมาธิ

ถือว่าเป็นจิตที่มีความพร้อมจะรู้ พร้อมจะดูว่ากายใจเป็นรูปนาม

 

เช็คข้อที่สามก็คือว่า

เมื่อจิตมีความรู้ตัวเองว่า มีความเบา ใส ตั้งมั่น

แยกเป็นต่างหากจากกายได้

เห็นกายเป็นของหลอกได้

เวลาที่ความคิดจรกลับเข้ามา

มีความรู้สึกไหมว่า จิตอยู่ตรงกลาง ที่แก่น เป็นของกลาง

แล้วมีความคิดมาห่อหุ้มเป็นของหลอก

 

ถ้าหากว่าเห็นได้ครบถ้วนทุกข้อดังนี้ สามข้อ

กายปรากฏโดยความเป็นของหลอก

จิตมีความเบา มีความโปร่ง

และความคิด พอจรกลับมา

รู้สึกว่าความคิดมีความปรวนแปรเป็นของอื่น เป็นของนอกจากจิต

หัวเสื่อท้ายเสื่อ ไม่เท่าเดิม ปรวนแปรตลอดเวลา

 

เราจะรู้สึกได้เลยว่า แม้แต่จิตเองก็จะเริ่มเห็นตัวเอง

เริ่มตระหนัก รู้ตัวเองว่า มันเป็นแค่ภาวะหนึ่ง

เห็นตัวเอง รู้ตัวเอง ตระหนักความเป็นตัวเองว่า

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครอย่างที่เคยคิด

 

ถ้าเช็คแค่สามข้อนี้ พอใกล้ชั่วโมง

จะรู้เลยว่า วันต่อวัน จิตจะเหมือนกับทำตัวเป็นทาง

 

ตอนแรก จิตตกอยู่ในฐานะผู้ต้องขัง ที่ต้องยอมจำนน

หนีไปไหนไม่รอด ไม่รู้จะออกไปอย่างไรจากคุกที่จิตถูกขังอยู่

ด้วยกาย ด้วยใจ ด้วยความคิดแบบนี้

 

แต่ยิ่งวัน ถ้าเราเช็คสามข้อนี้แล้ว

เห็นกายเป็นของหลอก

เห็นจิตเป็นสภาพที่เบาๆ มีความตื่นรู้

และเห็นความคิดเป็นของนอกจิต

เข้ามาแล้วยึดครองพื้นที่ของจิตไม่ได้เหมือนแต่ก่อน

 

ถ้าครบสามข้อนี้ใกล้ๆ ชั่วโมง

จะรู้สึกวันต่อวันว่า มีความเคยชินอีกแบบหนึ่ง

รู้สึกขึ้นมา ออกมาจากใจกลางว่า

ทั้งหมดที่กำลังปรากฏนี้ เป็นเรื่องต้มตุ๋น เรื่องหลอกลวง

 

ยิ่งวัน เราจะยิ่งมีความอาลัยอาวรณ์อยู่กับสิ่งหลอกลวงนี้ น้อยลงทุกที

แล้วก็รู้สึกว่า กายนี้ใจนี้ เหมือนแก้วน้ำที่บรรจุน้ำอยู่

ถ้าหากว่าไม่มีก้นแก้ว แก้วทะลุไป

เหมือนที่อุปาทานในจิตหายไป

ไม่รู้สึกว่า แม้แต่จิต เป็นตัวเป็นตนของใคร

 

นั่นแหละ พอแก้วทะลุ

แก้วน้ำก็จะไม่เป็นแก้วน้ำ

น้ำที่ถูกขัง หรืออุปาทานที่ถูกเลี้ยงไว้

จะรั่วออกมาหายไปจนหมด

_____

 

(ปิดท้าย)

 

วันนี้ วันพ่อ

วันนี้ ก็เป็นวันที่เราระลึกถึงหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง

แล้วแต่ใครจะระลึกนะครับ

 

ถ้าหากว่าเรามองว่า ...อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

ท่านไม่ได้ตรัสเข้าพระองค์เองนะ แต่ตรัสตามความเป็นจริงว่า

พรหมจรรย์มรรค มีอะไรเป็นปฐม มีอะไรเป็นจุดสุดท้าย

ก็คือ ความสิ้นทุกข์ ความสิ้นโศก ความสิ้นไป

 

ขึ้นต้นมา ถามว่า มีอะไรเป็นสำคัญที่สุด

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า กัลยาณมิตร เช่นพระศาสดา

คือ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

 

พูดง่ายๆ ถ้าไม่ตั้งต้นจากพระพุทธเจ้า

ไม่มีธรรมะที่คนทั่วไปจะสามารถตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง

 

นี่คิดดูนะ..ขนาดพวกเรา มีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นแล้ว ว่านิพพานมีอยู่

และความสิ้นทุกข์ สิ้นกิเลส สิ้นอุปาทานมีอยู่

เพียรมานี่ ก็ยังต้องใช้เวลา แล้วยังมีความลังเลสงสัย

ยังเกิดความรู้สึกว่า เป๋ไปเป๋มา ต้องตั้งหลักกันใหม่ หลายรอบ หลายครั้ง

 

แล้วถ้าไม่มีพระศาสดามาให้ความเชื่อมั่นเรา

ว่า ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ไปแล้ว จะมีอะไรรออยู่ข้างหน้า

จะไม่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง

 

ต่อให้พระองค์มาตรัสแล้ว แล้วเราฟังแล้ว

บางที ก็ยังมีความก้ำกึ่งลังเลสงสัย

หรือผ่านพ้นความก้ำกึ่งลังเลสงสัยมาได้

เพียรตั้งหน้าตั้งตามาแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลา

 

ไม่ใช่อยู่ๆ พอรู้ความจริงเกี่ยวกับนิพพานแล้ว

เกี่ยวกับนิโรธ ความดับทุกข์แล้วนี่ จะกระโดดข้ามกันไปได้ง่ายๆ

 

เพราะฉะนั้นตัวนี้ ถ้าหากว่าเราระลึกถึงความจริงว่า

พระศาสดา พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์

คือทั้งหมดของพรหมจรรย์

คือการเกิดใหม่ เกิดใหม่ในแดนดับทุกข์

เกิดใหม่ในแดนที่ไม่ต้องทุกข์อีก

ไม่ต้องมาวนมาเวียน เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้อีก

 

นั่นแหละ ที่เราจะรู้สึกขึ้นมาจริงจังว่า

พ่อทางธรรม หรือว่าผู้ที่มีอุปการคุณสูงสุด

ในเส้นทางของการพ้นทุกข์ ในการออกจากทุกข์

ก็คือ พระพุทธเจ้า

 

เวลาที่เราระลึกถึงพระองค์ แล้วเราสวดอิติปิโสฯ

ใจ จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่สวดแบบนกแก้วนกขุนทอง

 

แต่สวดในความรู้สึกที่ว่า

ถ้าไม่มีพระองค์ท่าน เราไม่มีวันนี้แน่นนอน

ไม่มีพระองค์ท่าน เราไม่มีพรหมจรรย์มรรคให้เดินแน่นอนนะ

 

ก็ขออนุโมทนากับทุกท่าน ที่ตอนนี้

เดินตามรอยบาทพระศาสดากันมาได้ครึ่งทางแล้ว

ครึ่งทางเป็นอย่างต่ำ แล้วก็เริ่มเห็นปลายทางขึ้นมารำไร

 

ตรงที่เราจะพบปลายทางจริงๆ นั่นแหละ

คือจุดที่เราจะพบพระพุทธเจ้า รู้จักพระพุทธเจ้า

เห็นพระตถาคตตัวจริง ว่าเป็นอย่างไร

 

ก็อนุโมทนากับทุกท่านนะครับในวันพ่อ

มีความสุขถ้วนหน้ากันครับ สวัสดีครับ

_______________

ถอดคำ/เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=xLH1o74-dk4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น