วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิธีก้าวหน้าต่อ...แม้ยังคงเสพติดบันเทิง

ผู้ถาม: หากดูความบันเทิงจะฟุ้งมาก ถ้าไม่ดู จิตก็ใสดี

เลยรู้สึกว่าหากดูจะทำให้พัฒนาของเราช้าไปไหม

 

พี่ตุลย์ : ขึ้นกับความสมัครใจ

 

ถ้าไปดูมรรคมีองค์แปด จะมีองค์ประกอบอยู่ข้อหนึ่ง

คือเลือกที่จะไม่ดำริที่จะเสพความบันเทิง

แล้วก็เลือกที่จะไม่เอาความพยาบาทเข้ามาอยู่ในจิตใจ

 

เพราะกามคุณห้า ความบันเทิงอะไรทั้งหลาย

หรือตัวพยาบาทวิตกกับกามฉันทะ เป็นเครื่องทำจิตให้เปียก

จิตจะไม่แห้ง ไม่สบาย ไม่สะอาด

 

เมื่อกี้ที่พูดมาทั้งหมด ก็คือบรรยายภาวะของจิต

ที่แห้งสะอาด สบายจากน้ำ คือกามฉันทะและพยาบาท

 

การบันเทิงสมัยนี้ ไม่ได้มีกามฉันทะอย่างเดียว

แต่มีพยาบาทแถมพกมาให้ด้วย

เพราะอะไรที่เป็นดรามา ทำให้คนโกรธได้ แค้นได้

แทนดารา แทนตัวละคร หรือแทนบุคคลในข่าว

เขาก็ไม่มีทางเลือก .. ผู้ผลิตนี่นะ

ก็ต้องใส่ความเป็นบ้าเข้ามาให้หนักๆ

 

ยิ่งหนักขึ้นเท่าไหร่ เรตติ้งสูงขึ้นเท่านั้น

 

ตัวนี้ พอเรารู้ทันว่า จิตแห้งสบายเป็นสิ่งที่ดีกว่า

เป็นตัวเลือกที่เกื้อกูลกับเส้นทางสุดท้ายกับที่เราต้องการ

ก็จะค่อยๆ ฉลาดขึ้น

 

แต่ทีนี้ ถ้าเผลอไป หรือว่าอด(ที่จะ) อยากไม่ได้

ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจิต

 

เราก็ดูไปว่า เกิดโทษแค่ไหน เปรียบเทียบเป็นครั้งๆ

ว่า ทำให้จิตขุ่น ทำให้จิตมีฝ้าหมอก ทำให้จิตมีสติรู้ได้ยากอะไรต่างๆ

ค่อยๆ เห็นโทษของมัน

 

ผู้ถาม : ระหว่างที่ดู จะขุ่น เรารู้สึกได้เลยว่าขุ่นตลอด แต่ก็สนุกจัง

 

พี่ตุลย์ : นั่นแหละ คือในสังสารวัฏนี่นะ

ถ้าเขาให้ความขุ่นมาพร้อมกับความทุกข์

คนก็คงหลุดออกจากสังสารวัฏกันหมด เพราะจะไม่อยากขุ่นกันเลย

 

แต่เพราะสังสารวัฏ มีธรรมชาติที่เหมือนคนฉลาด

เขาให้ความขุ่นของจิตมาพร้อมกับความสนุก

ให้ความขุ่นมาพร้อมกับความอยากจะกลับไปขุ่นอีก

อยากกลับไปสู่ความเป็นเช่นนั้นอีกเรื่อยๆ

ตัวนี้แหละ ที่ทำให้สังสารสัตว์ทั้งหลายติดอยู่

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ถ้าในสังสารวัฏนี้ไม่มีสุขอยู่บ้าง

สัตว์ทั้งหลายก็คงไม่ติดอยู่ อยากออกจากสังสารวัฏกันหมด

 

และถ้าหากไม่มีความทุกข์อยู่บ้าง

สัตว์ในสังสารวัฏทั้งหลายก็คงขออยู่อย่างนี้แหละ

จะมีใครอยากออก แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง

ท่านก็บอกว่า ท่านคงไม่ออกไป ถ้าหากมีแต่ความสุข

 

ตัวนี้เราก็พิจารณาเห็น อย่างที่เราเห็นนั่นแหละ

เมื่อกี้ คีย์เวิร์ดคือ เรารู้สึกว่าใจสบาย ใจรู้สึกแห้ง ตอนไม่ได้เสพ

 

แต่เมื่อเสพแล้ว ใจมีความกระวนกระวาย

แต่ในที่สุด เดี๋ยวกิเลสก็จะลากให้เราไปเสพอีกนั่นแหละ

 

คือเป็นธรรมดาของฆราวาสที่ไม่มีข้อห้าม

แล้วเราก็เคยชินกับการตามใจตัวเอง

 

ทีนี้ วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ

เราดูโทษที่เกิดจากการเสพในแต่ละครั้งว่า

มีผลยับยั้งให้การเจริญสติของเรา ช้าลง ถูกถ่วงให้ช้าลงแค่ไหน

หรือกระทั่งถูกผลักให้ถอยไปข้างหลัง กี่ก้าว

 

เราดูอย่างนี้ซ้ำๆ ไม่ต้องไปห้ามใจ

 

ผู้ถาม : จริงๆ แล้ว มัน (การเสพความบันเทิง) ถ่วงใช่มั้ยคะ

มีผลใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : เอาเป็นว่า มันเป็นองค์มรรคเลย มีผลหรือไม่มีผลล่ะ

สำคัญขนาดนั้นว่า มรรคมีองค์แปด .. องค์ข้อสองเลยคือ

เรายังมีกามฉันทะ มีความพยาบาท อยู่หนาแน่นแค่ไหน

 

ถ้ามีกามฉันทะ มีพยาบาทอยู่หนาแน่น

โอกาสที่จะบรรลุมรรคผล เป็นศูนย์เลยนะ

 

แต่ถ้าหากช่วงไหน เอาสักแค่ 7 วัน 15 วัน

จิตเราใสใจปลอดโปร่งจากกามฉันทะ และพยาบาทวิตกได้

แบบที่เรารู้สึกได้ว่า เหมือนที่เราพูดว่าจิตใสใจแห้ง สะอาด สบาย

ไม่มีอะไรมาทำให้รู้สึกเปียก ตรงนี้แหละ ช่วงนั้นแหละ

จังหวะนั้นแหละที่มีสิทธิ์

 

ผู้ถาม : คือตอนแรกเข้าใจว่า ถึงเวลาเดี๋ยวก็จะพัฒนา เลิกไปเองเมื่อถึงขั้น

แต่จริงๆ คือถ้าเรางดเว้นไปเองก็จะก้าวหน้าได้ไวขึ้น แบบนี้เข้าใจถูกไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ถูกต้อง และพี่จะขยายความให้ว่า

นี่แหละเป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบ

ระหว่าง บรรพชิต กับคฤหัสถ์ หรือฆราวาส

 

บรรพชิต มีข้อห้ามชัดเจนว่าห้ามเสพ

ถ้าหากว่าเป็นบรรพชิตที่ดี มีความเข้าใจอย่างนี้เป็นตัวตั้งต้น

ท่านก็จะเว้นขาด ไม่เสพความบันเทิง

ไม่มีมาตามใจตัวเองในเชิงกามฉันทะหรือพยาบาทวิตก

นี่เป็นข้อได้เปรียบอย่างใหญ่หลวง

แล้วของท่านเท่ากับเป็น full time ที่จะอยู่กับสิทธิ

ที่จะอยู่กับพื้นที่ ที่จะได้มรรคได้ผล

 

แต่ของเราฆราวาสต้องยอมรับตามจริงว่า

โดยความเป็นคฤหัสถ์ โดยความเป็นผู้ที่ยังหาเช้ากินค่ำ

ยังทำงานไปเพื่อที่จะมาอยู่กับครอบครัว มีความสุขแบบโลกๆ ตรงนี้

ย้อมใจ ให้มีความโน้มเอียงไปทาง อยากจะมีการเสพบันเทิง

 

ซึ่งเราก็จะพบความจริงแล้วๆ เล่าๆ ว่า

สมาธิ ทำไปแล้วคืบหน้าแล้วก็ถอยลง

เจริญสติ มองเห็นความจริงว่ากายใจเป็นรูปนาม เสร็จแล้วก็เสื่อมลง

กลายมาเป็นยึดว่า ตัวนี้กายเรา ใจนี้ของเรา

ความคิดนี้เราคิด มีความติดใจ

 

ความติดใจนี่แหละ ทำให้เราไม่สามารถ ..

จิตไม่สามารถพิพากษาตัวเองให้หลุดออกไปได้

จิตไม่มีกำลังมากพอ

 

เอาเป็นสรุปง่ายๆ ว่า ที่เราเข้าใจนี่คือถูกต้องแล้ว

_____________

วิธีก้าวหน้าต่อ...แม้ยังคงเสพติดบันเทิง

วันที่ 15 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=hSIiM0qYHY8

 

เห็นฟ้าทั้งฟ้า คือเห็นยังไง?

 พี่ตุลย์ : ถ้าเรายิ่งรู้ชัดเหมือนกับว่า ไปยืนอยู่กลางแจ้งจริงๆ

ย้ายมิติ ย้ายตำแหน่ง

จากห้องที่เดิมเป็นกล่อง กลายเป็นไปยืนอยู่ในที่เปิดโล่ง

ก็ขอให้ทำความเข้าใจว่า คือจิตที่เปิดกว้าง คือจิตที่เปิดโล่ง

 

ถ้าหากเรามีความรู้สึกราวกับว่ากำลังเห็นฟ้าทั้งฟ้า

ก็ขอให้สังเกต ระยะสายตา ระยะโฟกัส เท่ากับตอนที่เรามองฟ้าจริงๆ

 

การที่เราเห็นฟ้าทั้งฟ้าด้วยตาเปล่า จะเป็นการโฟกัสด้วยสายตา

แต่การสัมผัสรู้สึกถึงฟ้าทั้งฟ้า ด้วยสัมผัสทางใจ จะบวกกัน

 

ตอนนี้ยังมีความสัมพันธ์กับแก้วตาอยู่

โฟกัสของสายตา จะเล็งขึ้นยอดฟ้า

ส่วนใจ สามารถแผ่ออกรับรู้ถึงระยะของยอดฟ้าได้ ทุกทิศทุกทาง

ไม่ว่าจะเป็นด้านบน ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง

 

แล้วถ้าใจแผ่กว้างเต็ม 360 องศา

ก็จะเหมือนเราอยู่บนที่ว่าง อยู่ที่ใจกลาง อยู่ที่ศูนย์กลางจักรวาล

 

อันนี้ก็แล้วแต่คน ถ้าบางคนรู้สึกเหมือนตัวลอย

เหมือนตัวไม่มีน้ำหนัก เหมือนตัวเป็นวัตถุที่โปร่งแสง

แล้วก็ตั้งอยู่แบบ ไม่มีซ้ายขวาหน้าหลัง

เป็นจุดศูนย์กลางความว่างมหาศาล ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด

 

ตัวนี้ก็จะเหมือนกับ .. จิตของเรา ปฏิรูปไป เป็นสิ่งที่ไร้รูป

แล้วพอกลับมารู้รูปอีกครั้ง ก็จะรู้ว่ารูปเป็นของหยาบ

เป็นของโปร่งแสง เป็นของที่ไม่มีอะไรให้จับต้อง

มีแต่ความรู้สึกว่า สักแต่เป็นภาวะ ให้รับรู้อยู่ตรงหน้า

ว่า มีรูปทรงอย่างนี้ มีรูปร่าง รูปพรรณสัณฐานแบบนี้

แต่ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้

 

เหมือนกับเป็นรูปหลอก ที่มาวัดว่า

ใจจะเอาหรือไม่เอา จะยึดหรือไม่ยึด

 

ถ้าหากไม่ยึด จิตจะมีลักษณะแผ่ออกเป็นต่างหาก แยกออกมา

ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีความเป็นตัวใคร ไม่มีความรู้สึกในตัวเรา

ความไม่มีน้ำหนักนี่ก็คือ ไม่รู้สึกมีน้ำหนักของตัวตนนั่นแหละ

ไม่มีน้ำหนักของความรู้สึกว่า มีตัวเรา มีตัวใคร

 

ตัวที่เห็นเหมือนรูปหลอก ที่ตั้งอยู่อย่างนั้นเอง สักแต่ให้รู้

ทีนี้ใจจะเผลอไปยึดหรือเปล่า

ถ้าเผลอไปยึดจะมีอาการพุ่งออกไป

แต่ถ้าหากมีสติ ที่จะรู้ว่าสักแต่เป็นรูปหลอกอย่างนั้นเอง

ตัวนี้ จิตก็จะแผ่ขยาย แล้วก็ตั้งรู้อยู่เบื้องหลัง ไม่เคลื่อนมาข้างหน้า

 

จิตคนเคลื่อนที่มาข้างหน้าตลอดเวลา

เพราะความคิดตั้งต้นที่สมองส่วนหน้า

 

สมองส่วนหน้า จะทำหน้าที่ผลิตความคิด ผลิตความนึกคิด

ที่เป็นเรื่องเป็นราวที่ให้รับรู้ว่าเราจะโฟกัสอยู่กับอะไร

เรียกว่าเป็นสิ่งที่ล่อให้จิตพุ่งมาข้างหน้า

พุ่งมาอยู่กับการทำงานของสมองส่วนหน้า

 

แต่ถ้าหากสมองส่วนหน้าถูก deactivate

ถูกทำให้เลิกทำงานแบบคิดๆ

สมองส่วนหลังก็จะถูก activate ขึ้นมาแทน

จะมีความรู้สึกเหมือนถอยไปอยู่ข้างหลัง

 

แต่ถ้าจิตรวมดวงจริงๆ จะไม่ใช่แค่รู้สึกเหมือนถอยไปอยู่ข้างหลัง

แต่จะรู้สึกราวกับ แยกไปอยู่ข้างหลังจริงๆ เป็นต่างหากจากภาวะทางกาย

 

หรือไม่ก็ สำหรับบางคน

บางครั้งก็อาจมีความตั้งเด่นดวงอยู่ตรงกลางนั่นแหละ

อยู่ใจกลาง แล้วก็รับรู้แยกออกมาว่า ที่ซ้อนกันอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน

จิตมีลักษณะสว่าง มีลักษณะตั้งมั่น เบา

 

ส่วนกาย มีลักษณะเป็นรูปหลอก

มีลักษณะคงรูปคงร่างอยู่ มีความเป็นธาตุดินอยู่

พอไม่มีความคิด รูปเดินก็สักแต่เป็นรูปหลอกไป

เหมือนเป็นอะไรที่เบาๆ ใสๆ

 

น้ำอบ : ช่วงทำท่าไกด์มือท่าที่สอง จะมีความรู้สึกเหมือน

มีร่างหนึ่งที่ลอยอยู่กลางอากาศ ถ้าใครเล่น The Sims

จะเหมือนมีตัวหนึ่งที่อยู่ใน Sims แล้วมีตัวที่อยู่ข้างบน

(หมายเหตุผู้ถอดความ : ลูกศรชี้ เวลาบังคับตัวละครในเกม)

สามารถหมุนให้มันหันซ้ายหันขวา ลอยอยู่

จะเคลื่อนไปข้างหน้า จะเคลื่อนไปข้างหลัง

โดยรอบข้าง เหมือนเป็นอากาศว่างๆ ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ตัวที่พี่ต้องการให้เกิดก็คือ กำลังของสมถะ

ซึ่งอันนี้ เหมาะกับน้ำอบอย่างยิ่ง เพราะถ้าจิตเราใสเบา ไร้ความคิดได้

ก็จะอยู่ในภาวะที่พร้อมรู้ ตัวที่เป็นสมถะ

 

ตัวนี้ ยิ่งเราพอกพูนทำให้มีกำลังมากขึ้นเท่าไหร่

จิตเราก็จะสามารถรับรู้ถึงความเป็นธาตุหก ได้ชัดขึ้นเท่านั้น

สัมผัสถึงความเป็นธาตุหก ได้ชัด

แล้วก็อยู่ระหว่างวันจะตามออกไปด้วย

____________

วิปัสสนานุบาล EP 94

วันที่ 15 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=l9KUtIbk8p4

 

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 94 (เกริ่นนำ) : เห็นธาตุโดยความเป็นสิ่งสัมพันธ์กัน

EP 94 | อังคาร 15 มีนาคม 2565

พี่ตุลย์ : เมื่อวานช่วงเช้า ที่ได้พูดเกริ่นกันไปเกี่ยวกับว่า

การปฏิบัติแบบที่พระพุทธเจ้าท่านให้เราดูกายใจกันนั้น

ไม่ได้มีอะไรเป็นเชิงเดี่ยว

 

ถ้าเราเห็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว จะทำให้เกิดการยึด

ว่ามีสิ่งนั้นสิ่งเดียวเป็นตัวตั้ง มีสิ่งนั้นสิ่งเดียว ที่เราจะต้องดำเนินจิตรู้ไป

เช่น ถ้าใครไปนั่งจ้องลมหายใจอย่างเดียว มีแต่ลมหายใจๆ

ไม่แม้แต่จะพิจารณาว่า เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า เป็นธรรมดา

 

อย่างนี้ก็จะมีอาการยึดว่า ลมหายใจนี้

เป็นลมหายใจของเรา มีความเป็นตัวเรา

จ้องดูลมหายใจของตัวเองอยู่ร่ำไป

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นลมหายใจ สักแต่เป็นธาตุลม

สักแต่เป็นภาวะแสดงความไม่เที่ยง

ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่แล้ว

 

และคนเรา เกิดมาพร้อมการยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ภาวะที่อยู่ตรงหน้า

ที่เป็นสิ่งนั้นที่ชัดที่สุดว่า เป็นตัวของเรา ของๆ เรา

ก่อให้เกิดความรู้สึกในตัวเราขึ้นมา

แต่ถ้าเราเข้าใจหลักการปฏิบัติ

แบบที่พระพุทธเจ้าท่านให้รู้ภาวะตรงๆ และเปรียบเทียบเป็นอย่างๆ

เราจะเริ่มมีความเข้าใจไปอีกแบบ

 

เช่น ที่เราทำๆ กันในห้องวิปัสสนานุบาล

เป็นการรู้เบสิกเกี่ยวกับกายใจโดยความเป็นธาตุหก

 

คำว่าธาตุ ไม่ได้มีแค่ธาตุหกอย่างเดียว แต่จำแนกออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น ธาตุสิบแปด

 

๑ จักขุธาตุ (ธาตุคือจักขุประสาท)

๒ รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์)

๓ จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือจักขุวิญญาณ)

๔ โสตธาตุ (ธาตุคือโสตประสาท)

๕ สัททธาตุ (ธาตุคือสัททารมณ์)

๖ โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือ โสตวิญญาณ)

๗ ฆานธาตุ (ธาตุคือฆานประสาท)

๘ คันธธาตุ (ธาตุคือคันธารมณ์)

๙ ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือมานวิญญาณ)

๑๐ ชิวหาธาตุ (ธาตุคือชิวหาประสาท)

๑๑ รสธาตุ (ธาตุคือรสารมณ์)

๑๒ ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือชิวหาวิญญาณ)

๑๓ กายธาตุ (ธาตุคือกายปสาท)

๑๔ โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์)

๑๕ กายวิญญาณธาตุ (ธาตุคือกายวิญญาณ)

๑๖ มโนธาตุ (ธาตุคือมโน)

๑๗ ธรรมธาตุ (ธาตุคือธรรมารมณ์)

๑๘ มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุคือมโนวิญญาณ)

 

รู้ว่ามีตาเป็นของภายใน รูปเป็นของภายนอก และมีการรู้รูป กลิ่นเสียงต่างๆ ก็จัดเป็นธาตุสิบแปด

 

ธาตุไม่ได้มีแค่ธาตุหก

 

อย่างต่อมาพระองค์ตรัสถึง ธาตุหก

ตรงนี้ ถึงได้พูดว่ามีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ช่องว่าง

และวิญญาณจิตที่รู้ธาตุทั้งปวงอยู่

 

อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง จะบอกว่า พระองค์ให้เซ็ตของธาตุต่างๆ มา

อย่างที่เรากำลังรู้ธาตุหก อยู่นี้

เป็นการรู้ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ระหว่างภาวะที่สามารถเห็นได้ว่า

นี่เป็นธาตุดิน ประกอบประชุมพร้อมกันกับ ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

 

 

 

ลมกับไฟ อาจต้องรอจังหวะ เช่น ถ้าใครภาวนา ทำสมาธิแล้วตัวอุ่นขึ้นมา

หรือเป็นคนมีโทสะจริต อาจรู้สึกเหมือน ร่างกายเร่งความร้อนขึ้นมา

 

เราก็สามารถเห็นได้เป็นเซ็ตความสัมพันธ์ ว่า

ตอนที่เรายืนเทียบกับผนัง สามารถรู้สึกขึ้นมาได้ว่า

กายนี้ ถ้าเทียบกับวัตถุอื่น เป็นธาตุดินดีๆ นี่เอง

 

อย่าง.. อยู่ในพระสูตรอื่นนะ

แต่จะอธิบายให้ฟังว่า เราเห็นธาตุหก

โดยความเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับธาตุหรือภาวะอื่นๆ เสมอ

ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะไปรู้ตัวใดตัวหนึ่ง

แล้วเกิดความเข้าใจ เกิดความฉลาดในธาตุขึ้นมาได้

 

แต่ต้องมีความเชื่อมโยงกัน

เช่น ถ้าเราเริ่มรู้สึกถึงกายนี้ โดยความเป็นวัตถุ

วัตถุ ตั้งอยู่ตรงไหน

ก็ตั้งอยู่ท่ามกลางวัตถุอื่นๆ ที่มีความเป็นวัตถุเสมอกัน

เป็นธาตุดินเสมอกัน รู้โดยความเป็นของเปรียบเทียบ

 

แล้วธาตุดินนี้ ที่ถูกแยกออกจากธาตุดินอื่นๆ

วัตถุนี้เสมอกับวัตถุอื่นๆ

อันไหนที่เป็นตัวบอกว่า นี่เป็นวัตถุนี้ นั่นคือวัตถุอื่น

ก็มีการแบ่งด้วยพื้นที่ ด้วยอาณาเขต

 

วัตถุ ต้องกินพื้นที่ว่างเสมอ นี่เป็นนิยามทางอภิธรรม

ต้องมีรูปมีร่าง มีความคงรูปร่าง และกินพื้นที่

แต่ละวัตถุ จะกินพื้นที่ว่างแตกต่างกัน

พูดง่ายๆ อยู่คนละตำแหน่ง อยู่คนละพื้นที่

 

ซึ่งถ้าหากจิตเรา สามารถรับรู้ถึงความต่าง ทั้งรูปร่างและตำแหน่งที่วางได้

อย่างนั้นถึงจะเรียกว่า รู้โดยความเป็นของสัมพันธ์กันว่า

วัตถุ เมื่อเทียบแล้ว วัตถุที่หนึ่ง กับวัตถุอื่นๆ อยู่ที่ไหน

อยู่ตรงไหน ถึงได้เรียกว่าเป็นวัตถุหมายเลข หนึ่ง สอง สาม สี่

แล้วเกิดการรับรู้ขึ้นมาว่า วัตถุนี้เสมอกันกับวัตถุอื่นๆ

 

นี่เรียกว่า เห็นธาตุโดยความเป็นสิ่งสัมพันธ์กัน

 

และถ้าเห็นธาตุทั้งปวง แล้วมารู้ว่า

จิตที่มีลักษณะเบิกบาน มีลักษณะตั้งมั่นเป็นสมาธิ

จิตที่มี่ลักษณะปลอดโปร่ง แตกต่างจากธาตุอื่นๆ ได้

อย่างนี้จึงเหมารวมเรียกว่าเป็นธาตุหก

 

นี่เป็นเหมือนสิ่งที่วันนี้จะมาตั้งเป็นประเด็นก็คือ เราจะรู้..

 

อย่างสมมติ เราไปรู้เวทนาโดยความเป็นธาตุ

ก็จะเห็นความเชื่อมโยงว่า มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ โสมนัส โทมนัส

รู้ว่ามีตัวอุเบกขา ตัวอวิชชา

 

หมายความว่า ถ้าเห็นเป็นอย่างๆ รู้ทั้งสุข รู้ทั้งทุกข์

จะภายในหรือภายนอกก็ตาม จะของตัวเองหรือของคนอื่นก็ตาม

รู้ว่ามีโสมนัส รู้ว่ามีโทมนัส

 

โสมนัส คือสุขที่มีดีกรีแรงขึ้น เหมือนดีใจ

โทมนัส คือทุกข์ที่มีดีกรีกดดัน มากขึ้น ใกล้เคียงกับน้ำตามากขึ้น

หรืออย่างอุเบกขา

 

ทำไมต้องเทียบกับอุเบกขา เพราะ อุเบกขากับอวิชชา ใกล้เคียงกัน

คือถ้าจิตมีความรู้ตั้งมั่นวางเฉย ก็จะใกล้ที่จะเห็นสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา

 

แต่ถ้าอุเบกขาตั้งอยู่เฉยๆ ก็จะรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ต้องทำ

ไม่มีอะไรที่ต้องรู้มากไปกว่านั้น

แต่ถ้ารู้อวิชชา ต้องรู้ปัจจยาการ

 

พูดให้ฟังเฉยๆนะ ว่า

ถ้าหากจะแทงอวิชชาให้ขาด

ต้องมีความรู้สึกถึงภาวะที่เป็นของอย่างนี้

ที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้เลย

จะภาวะของจิต จะภาวะของกายอย่างไรก็แล้วแต่

แล้วจิตมีความตั้งมั่น มีความเป็นอุเบกขามากพอที่จะเห็นว่า

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

 

เช่น ถ้าผัสสะกระทบ ให้เกิดความรู้สึกร้อนหนาว ชอบหรือชัง

จะมีจิตแบบนี้ จิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล

จะเห็นเข้ามา ณ จุดที่กำลังเกิดเหตุนี้เลยว่า

จิตจะเป็นกุศล หรืออกุศลขึ้นมาเองไม่ได้

ต้องมีเหตุ ต้องมีปัจจัยกระทบ

ให้เกิดภาวะสว่างหรือมืด ภาวะที่สดใสหรือหม่นหมอง

 

ตัวนี้ถ้าเห็นไปเรื่อยๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อุเบกขา ก็จะเกิดความรับรู้ขึ้นมาว่า ภาวะที่กำลังเป็นอยู่ ณ ขณะนี้

จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้

ถ้ามีก็เพราะมีเหตุ ถ้าจะไม่มีก็คือไม่มีเหตุ

 

นี่คือมีความเข้าใจ ประกอบพร้อมอยู่กับการเห็น การรู้

รู้ว่าสมาธิที่เดินปัญญาอยู่นั้น

อยู่ๆ รู้เฉยๆ อะไรอย่างหนึ่งอย่างเดียว แล้วจะเกิดปัญญาหลุดพ้น

หรือเห็นปัจจยาการ เห็นเหตุปัจจัย .. นี่ เป็นไปไม่ได้

 

จริงๆ แล้วที่มาพูดทั้งหมด

ไม่ใช่จะยกระดับขึ้นไปพูดเรื่องปัจจยาการ หรือ ปฏิจจสมุปบาท

แต่เป็นเรื่องยากนิดหนึ่ง ที่ต้องชี้กันให้เห็นภาวะตรงๆ

 

แต่ที่พูดคือจะบอกว่า ที่เราฝึกๆ กัน

เห็นกายใจ โดยความเป็นธาตุหก เป็นแค่เซ็ตหนึ่ง

 

คือถ้ารู้กายใจโดยความเป็นเซ็ต

ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และ วิญญาณ

เพียงพอแล้ว ที่จะข้ามเส้นแรกได้

แต่ให้มีความเข้าใจว่า ที่เราจะรู้ธาตุ

เซ็ตของธาตุหนึ่งๆ จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

ถ้าเราไปรู้เวทนา ก็จัดเป็นธาตุได้เหมือนกัน

แต่ต้องมีความเข้าใจว่า อย่างธาตุหกโดยความเป็นเวทนา

เห็นไปเพื่อที่จะรู้สึกถึงภาวะปัจจุบัน โดยความเป็นปัจจยาการ

 

ส่วนธาตุหก เรารู้ไป เพื่อจะให้เห็นด้วยจิตที่ใส เงียบ

ว่า กายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นรูปนาม

มีการประกอบประชุมกัน หลายๆ ส่วน หลายๆ อย่าง

 

ซึ่งเมื่อเราเห็นโดยความเป็นของสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกันแล้ว

ก็จะเกิดความรู้สึกว่าไม่มีก้อนอัตตา ไม่มีก้อนตัวก้อนตนก้อนเดียว

มีแต่ภาวะปรุงประกอบ ประชุมกันขึ้นมา

 

ซึ่งนั่นแหละจะนำไปสู่การเห็นอนัตตา

เกิดความรู้สึกว่า นี่ไม่มีตัวเรา นี่ไม่ใช่ตัวตน

เป็นแค่ของมาประชุมกันชั่วคราว

 

ตัวนี้แหละ ที่เรียกว่า อนัตตสัญญา

คือความรู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตน

มีสมาธิเห็นพร้อมแบบที่เป็นปัจจุบันเลยว่า มันกำลังรวมร่างกัน

กำลังพยายามต้มตุ๋นเรา ทำให้เกิดภาวะ เหมือนว่ามีตัวมีตนของเรา

เราคิดได้ ตั้งใจคิดอะไรก็ได้ หรือจะเคลื่อนซ้ายเคลื่อนขวาอย่างไรก็ได้

 

แต่พอเห็นเข้าไปเป็นอย่างๆ ว่า ตั้งต้นขึ้นมา

ที่บอกว่าเป็นธาตุดิน หรือเป็นร่างกาย เราก็ไม่ได้ออกแบบ

เห็นว่าเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ในท่ามกลางวัตถุอื่นๆ ที่รายรอบอยู่

หรือว่าอากาศว่าง ที่แบ่งพื้นที่วัตถุ ว่าวัตถุนี้อยู่ตำแหน่งนี้

อีกวัตถุหนึ่งอยู่ตำแหน่งที่ห่างไป เยื้องซ้ายเยื้องขวา

เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำ

 

ถ้าหากว่า พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า

สิ่งเหล่านี้ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้ เป็นของที่มาประชุมกัน

ไม่มีอะไรเลยที่เราสร้าง แค่มาร้องว่าเป็นของเราๆ

 

อย่างนี้ในที่สุด จิตก็เข้าสู่ภาวะสงบอย่างรู้ สงบจากความยึดมั่นถือมั่น

สงบจากความทุกข์ จากความยึดมั่นถือมั่น สงบจากการที่จะเอาอะไรๆ มาเข้าตัว เพราะมีความรู้เป็นพื้นฐานว่า ทั้งหลายทั้งปวงเป็นแค่ภาวะหลอกตาลวงใจชั่วขณะ

 

ถ้าเราเห็น ชั่วขณะของการเกิดขึ้น

ชั่วขณะของการตั้งอยู่

ชั่วขณะของการดับไป

ใจ ก็จะไปถึงจุดสรุป คืออยู่กับความว่างจากความรู้สึกในตัวตน

หรือมีอนัตตสัญญาพอกพูนขึ้นวันต่อวัน

 ก็พูดเพื่อความเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่

.. เรามาสวดมนต์กันครับ

 

(ตั้งนะโม สามจบ พร้อมสวดมนต์ บทอิติปิโสฯ ร่วมกัน)

อวิชชาธาตุ ที่เราจะเริ่มรู้ว่าเป็นอวิชชา

พระพุทธเจ้า ก็ตรัสเกี่ยวกับเรื่องของปัจจยาการ

คือถ้าเราเห็น ณ ขณะภาวะของปัจจุบัน เป็นแค่ตัวต่อ ไม่ใช่ตัวตน

เป็นแค่เศษจิ๊กซอว์อะไรชิ้นหนึ่ง ที่กำลังปรากฏหลอกใจ ให้เรายึด

 

แล้วสามารถเห็นได้ว่า

เพราะมีกระทบอะไร อย่างใดอย่างหนึ่ง

จึงเกิดความรู้สึกปรุงแต่งขึ้นมาแบบนี้

 

ถ้าเห็นได้อย่างนั้นว่า จะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ จะเริ่มเข้าใจว่า

เพราะไม่รู้ถึงเหตุปัจจัย เพราะมีภาวะล่ออย่างหนึ่งให้ยึดทันที

แล้วมองไม่เห็นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อวิชชาก็จะมีที่ตั้ง

 

แต่ถ้าเรารู้ปัจจยาการ รู้เหตุปัจจัย อวิชชาก็จะไม่มีที่ตั้ง

 

ต่อไป ถ้าเราได้ตัวอย่างที่มาสาธิตกัน

คือพวกเราคืบหน้ากันไปเรื่อยๆ และเจริญไปด้วยกันแบบนี้

ก็ต้องไปถึงจุดหนึ่งที่จะรู้ได้พร้อมๆ กันหลายๆ คน

ว่าปัจจยาการ เขารู้ เขาดูกันอย่างไร

เกิดประสบการณ์อย่างไร เห็นอวิชชาอย่างไร

หรือ รู้ว่าจะไม่มีอวิชชาได้อย่างไร

________________

วิปัสสนานุบาล EP 94 : เปิดรายการ

วันที่ 15 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=qeVaTrKbz9Q

 

กังวลว่าจะไม่ได้มรรคผล พาจิตกลับเข้าที่เข้าทางยังไง?

ถาม : รู้สึกสงสัยว่า ตัวเองดรอปลงไหม หรือถอยหลังไปไหม

บางทีมีภาวะทางโลกกระทบแรงก็ยึด ก็สงสัยว่า

ถ้ายึดขนาดนี้ จะปล่อยได้อย่างไร เกิดความกังวลเรื่องมรรคผล

 

พี่ตุลย์ : คราวก่อนที่พี่พูดไป ก็คือ

เราพะวงว่าจะได้ หรือไม่ได้ จะข้ามหรือไม่ข้าม

 

บางที อย่างคราวที่แล้ว เราอาจไม่รู้ตัวว่ามีความพะวงตรงนี้

ว่าจะได้ข้ามหรือไม่ได้ข้าม

 

ที่เป็นหลักฐานเป็นเครื่องบอกชัดๆ ก็คือ

มีความสงสัย ว่ายึดขนาดนี้ จะเกิดอะไรขึ้น จะต้องติดอยู่อีกกี่ชาติ

หรือจะพลาดไปไหม จะตกขบวนหรือเปล่า

มีการเทียบเคียงกับคนในห้อง มีอะไรสารพัด

 

ที่พี่บอกก็คือ อย่างเมื่อกี้

ตอนยืนทำมือไกด์ท่าที่สอง เหมาะกับน้ำอบมาก

เพราะพอไม่มีความคิดขมุกขมัว ไม่มีอะไรเคลือบ

จะสามารถกลับเข้าที่เข้าทาง

ตรงจุดที่เรารู้อย่างเดียว ไม่คิดฟุ้งซ่าน ได้ง่ายๆ

 

ซึ่งตรงนั้นแหละ จะเป็นคำตอบในตัวเองว่า

จิตของเรา ยังมีสิทธิ์ที่จะเจริญสติต่อไหม

 

หรือมีสิทธิ์ ที่จะเห็นการแยกรูปแยกนามได้ไหม

 

การที่เราตั้งต้นขึ้นมา บอกว่า เอ๊ะ เราจะข้ามเส้นได้ไหม

ตรงนั้นไกลเกิน ไม่รู้จะเอาอะไรมาวัด

ไม่สามารถจะเอาหลักฐานอะไรมาบอกให้จิตหายสงสัย

 

แต่ถ้าเราใช้วิธียืนไกด์ท่าสอง แล้วจิตใสใจเบา

มีความรับรู้ถึงกายใจ โดยความเป็นองค์ประกอบ

กายอยู่ส่วนกาย จิตอยู่ส่วนจิตได้

เกิดความรู้สึกถึง หลักฐานขึ้นมาทันที

แบบทำได้เดี๋ยวนี้ ประจักษ์ได้เดี๋ยวนี้เลยว่า

เออ นี่ยังสามารถ มีอนัตตสัญญาได้

 

มีความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเราได้

มีความรู้สึกว่า มันแยกกัน

มีองค์ประกอบมาประชุมกัน แล้วหลอกเราว่าเป็นตัวเรา

 

เมื่อเห็นอย่างนี้ได้ แล้วบอกตัวเอง ณ ขณะ ปัจจุบัน วินาทีนี้ได้เลยว่า

เรายังเห็นได้อยู่ เรายังมีสติ ที่เจริญขึ้น

ในทางที่จะเห็น ที่จะประจักษ์ความเป็นอนัตตาได้อยู่

 

ก็มีสิทธิ์ตรงนี้เลย

แล้วสามารถยืนยันกับตัวเองได้เดี๋ยวนี้เลย ว่าเรายังอยู่ในทาง

 

พี่ถึงบอกว่า การข้ามเส้น เราไม่หวังก็ไม่ได้

เพราะไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร

เจริญสติไปเรื่อยๆ แล้วไม่รู้จะไปลงเอยที่ตรงไหน

 

แต่ถ้ามีเรื่องการข้ามเส้นมา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส

ท่านตรัสไว้ชัดเจนเลยว่า ทำไปเพื่อบรรลุมรรคผล

 

เจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญอานาปานสติ

ท่านกำกับไว้หมดว่า เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผล

หรือเพื่อการพ้นทุกข์ อันวิเศษ เพื่อความพ้นทุกข์ได้จริง

ตรงนี้ท่านตรัสไว้ชัด

 

ทีนี้ ความเข้าใจจะพาเราไปได้ถึงไหน

ถ้าหากว่าเรายังเข้าใจว่า การบรรลุมรรคผล คือการเอาเข้าตัว

ส่วนลึก มีความรู้สึกห่วงตัวเอง กังวลว่าตัวจะไม่ได้มรรคไม่ได้ผล

 

ตรงนี้ ยังอยู่ในระดับของการมี ภวตัณหา

 

คือ พระพุทธเจ้า บอกว่า ให้ใช้ ตัณหา ดับ ตัณหา

 

คือไม่มีตัณหาตัวนี้ก็ไม่ได้

แต่เมื่อมีภวตัณหา แล้วมาเข้าทาง มาจับหลักการเจริญสติได้ถูกต้อง

มีความเข้าใจว่า แม้ขณะที่เราเจริญสติ ก็ไม่พึงคาดหวังเพื่อตัวตน

 

แต่พึงคาดหวังว่า จิตจะได้มีความสามารถ

แยกออกมารู้แยกออกมาดู ว่าอะไรๆ มาประกอบประชุมกัน

ไม่มีตัวเราอยู่ในนี้ ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้

 

ถ้าไปถึงตรงที่รู้สึกว่า ไม่มีตัวเราอยู่ในนี้จริงๆ

จะไม่คาดหวังมรรคผลเพื่อใคร

แต่จะแค่คิดที่จะทิ้งอุปาทาน

ทิ้งการเห็นผิด ออกจากการประชุมของธาตุขันธ์นี้

 

ตัวนี้แหละที่สำคัญมาก

 

ถ้ามีความเข้าใจอย่างแม่นยำว่า

เราไม่ได้เอามรรคผลให้ใคร

เราแค่ทิ้งอุปาทาน ว่ามีใครอยู่ในนี้

จะไปได้ตลอดสายถึงอรหัตผลเลยนะ

ถ้ามีความแม่นยำ มีความเข้าใจตรงนี้

 

ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ

แม้ตัวญาณหยั่งรู้ เห็นว่ากายใจนี้เป็นธาตุหก

ก็ไม่สำคัญเท่าความเข้าใจตั้งต้นว่า

เราจะรู้ไปเพื่อที่จะทิ้งความเห็นผิด ว่ามีตัวใครอยู่ในนี้

ไม่ใช่เพื่อเอามรรคผลมาให้ใคร ที่ตั้งอยู่ตรงไหน

 

ไม่มีใครตั้งอยู่ตรงไหน

ไม่เคยมีใครมาตั้งแต่แรก

มีแต่ความสำคัญผิด

 

อย่างเช่น ที่ท่านวชิราเถรี เคยพูดเอาไว้

และคนนึกว่าเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้า

แต่จริงๆ เป็นคำพูดของภิกษุณีท่านเคยว่าไว้ว่า

นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับไป

 

ตรงนี้ เวลาที่เราจะเริ่มเห็นขึ้นมา จะเห็นขึ้นมาก่อนว่า

ใจเราเป็นสมาธิ มีความตั้งมั่น ใช้ความคิด

แล้วจิต ครองร่าง คือกายนี้

สักว่าเป็นวัตถุ เสมอกับวัตถุอื่นๆ รอบด้าน

ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

 

แล้วจิตที่สว่าง จะรู้ตัวว่า แยกออกมาเป็นต่างหาก

จิตที่มีความตั้งมั่น สว่าง

เห็นกายโดยความเป็นวัตถุเสมอกับวัตถุอื่นๆ รอบด้าน

จะรู้สึกว่าไม่มีใครอยู่ในนี้เลย

 

การที่เรารู้เราเห็น จิตแยกกับกาย

จะเห็นรายละเอียดอื่นๆ ตามมา

มีทั้งพื้นที่ว่าง อากาศว่างระหว่างวัตถุต่างๆ

มีทั้งธาตุลม ที่ผ่านเข้าผ่านออก

 

เสร็จแล้วได้ข้อสรุป ยิ่งรู้เสถียรเท่าไหร่

ยิ่งได้ข้อสรุปชัดขึ้นเท่านั้น ว่า ไม่มีใครอยู่ในนี้จริงๆ

ฉะนั้นถ้าหากจับพลัดจับผลู จิตระเบิดโป้งป้างขึ้นมา

ได้มรรคได้ผลขึ้นมา .. ก็แค่จิตดวงหนึ่ง

 

มรรคจิต ก็แค่จิตดวงหนึ่ง

ผลจิต ก็แค่จิตดวงหนึ่ง

ที่พออุบัติแล้วก็หายไป

 

เหลืออยู่แต่ว่า ไม่มีใคร ที่อยู่ในความสำคัญมั่นหมายแบบเดิมๆ

 

ตัวการทิ้งความเห็นผิด

ไม่ใช่ ได้ อะไรเข้ามาให้ตัวใคร ไม่มีตัวใครตั้งแต่แรก

 

ตรงนี้ทำความเข้าใจให้แม่นๆ

เสร็จแล้ว จิตน้ำอบจะเดินไป ในแบบที่

พอเกิดความสงสัยขึ้นมาระหว่างวัน จะกลับเข้าที่

กลับเข้าสู่จุดที่มารู้มานิ่งว่า

ความคิดที่ผ่านเข้ามา ปรุงแต่ง เหมือนมาขยำหัวให้เกิดความยู่ยี่

เหมือนจิตเป็นแผ่นกระดาษ มาขยำให้ยู่ยี่

 

เสร็จแล้วสิ่งที่ทิ้งไว้ก็คือ จิตที่ติดข้อง จิตที่มีความพะวง

จิตที่มีความพัวพันกับความรู้สึกในตัวตน เป็นของหลอก

 

พออยู่ระหว่างวัน น้ำอบเห็นได้อย่างนี้ จิตจะแยกเลยนะ

ความสงสัยอยู่ส่วนความสงสัย จิตอยู่ส่วนจิต ไม่เกี่ยวข้องกัน

 

แล้วพอความสงสัยหายไป

จะเหลือแต่จิตที่ว่างจากความสงสัย

เหลือแต่จิตที่ว่างจากความรู้สึกในตัวตน       

______________

วิปัสสนานุบาล EP 94

วันที่ 15 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปhttps://www.youtube.com/watch?v=lGrXwjsBlWU