วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 88 (เกริ่นนำ) : รู้โดยอาการสักแต่ว่า

EP 88 | 7 มีนาคม สอง565

 

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน มาพบกันในห้องวิปัสสนาของพวกเราทุกคน

 

ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไป แล้วเกิดสงสัยว่าที่ทำอยู่

จะเข้าข่ายที่เราเปิดประตูบานแรกไหม มีสิทธิ์ข้ามเส้นไหม

 

จุดสังเกตหรือสัญญาณบอก เอาง่ายๆ

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกท่านพาหิยะ ในพาหิยสูตร

ที่พระพาหิยะท่านทูลถามว่า เอาแบบรวดรัดที่สุด

ปฏิบัติอย่างไรจะได้มรรคผล

 

ท่านบอกว่า ...

สักแต่ว่าเห็น แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เห็นเป็นตัวเป็นตน

สักแต่ว่าได้ยิน แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ได้ยินเป็นตัวเป็นตน

สักแต่ว่าคิด แต่อย่าไปยึดมั่นว่าความคิดมีเราเป็นผู้คิด

หรือความคิดเป็นตัวเรา

 

ให้จิตอยู่ใน อาการสักแต่ว่า...

 

ซึ่งถ้าคนที่พอเข้าใจเป็นพื้นฐานบ้างว่า การปฏิบัติ

หลักการเริ่มต้น มีอานาปานสติเป็นหลักตั้ง

รู้จักสังเกต เห็นภาวะภายในภายนอก หายใจออก

เห็นภาวะภายในภายนอก หายใจเข้า จนเกิดสติแบบหนึ่ง

จิต มีความพร้อมที่จะรู้อะไรๆ ในกายใจ

พร้อมทั้งหารครึ่งกับการรู้สึกถึงลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก

จะมีสมาธิแบบหนึ่ง รู้สึกว่าภาวะที่เกิด  จะด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม

เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ตัวนี้ขั้นพื้นฐานจากอานาปานสติ

 

เสร็จแล้วพอรู้ว่ากายนี้ใจนี้ ปรากฏอยู่ต่อจิตโดยความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป

จะเริ่มเห็นโดยความเป็นธาตุ หรือไม่ก็โดยความเป็นขันธ์ห้า

 

ซึ่งโดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นขันธ์ ต้องอาศัยความเข้าใจประกอบ

อยู่ๆ ให้ทำสมาธิอย่างเดียว

จะไม่รู้สึกตรงตามความเป็นธาตุหก หรือขันธ์ห้าได้อัตโนมัติ

 

เช่น พอเราฝึกเดินจงกรมแบบหลับตากัน เกิดการเทียบธาตุ

ธาตุหนึ่ง ธาตุสอง แล้วรู้สึกเสมอกัน เป็นวัตถุ อย่างนี้

ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไป ก็อาจบอกว่า เรามองอย่างไรก็ต้องรู้สึกอย่างนั้น

 

แต่หากว่าอาศัยความเข้าใจประกอบเข้าไป

เห็นว่าไม่ได้มีแต่ธาตุดิน ไม่ได้มีแต่ความเป็นวัตถุ

แต่มีข่องว่างอยู่ระหว่างนั้นด้วย มีลมหายใจเข้าออกด้วย

และที่สำคัญสุด มีธาตุรู้ หรือตัวรู้เป็นสิ่งสุดท้ายที่ประกอบประชุมในนั้น

 

ตัวนี้ ที่จะเกิดการตัดสินขึ้นมาว่า

ถ้าจะเอาความออกไป จากความเป็นอย่างนี้

ความรู้สึกโดยรวมที่เป็นปกติ จะต้องเห็นเป็นของอื่น

เห็นเป็นของแปลกปลอม เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

 

อาการที่เห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นของอื่น ของแปลกปลอม

คนธรรมดาถ้าไม่เข้าใจ ว่าพอยต์คืออะไร จะหาว่าบ้า

 

อย่างในคืนวันตรัสรู้ วาระแรกเลย พระพุทธเจ้าถึงท้อพระทัย

ว่าถ้าเอาความจริงไปพูด คนย่อมไม่ฟัง

เพราะสัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมตกอยู่ภายใต้ ความปรารถนาที่จะบันเทิง

อยู่ในโลกที่ชุ่มไปด้วยกิเลส ที่เป็นเครื่องล่อ เป็นกามสุข

เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจในแบบหูตาจะให้ได้

 

ถ้าไปเห็น สิ่งที่เห็น ได้ยิน เป็นเหมือนของหลอก

เหมือน matrix เหมือน hologram

ก็จะค้านกับความรู้สึกที่ยึดติด ยึดมั่นถือมั่นเป็นคนละขั้ว

แล้วจะไม่มีใครเอา

 

พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้วาระแรก ท่านถึงอยากจะขวนขวายน้อย

ดำรงพระองค์อยู่เป็นปกติ เสวยวิมุตติสุข ไปตลอดพระชนม์ชีพ

 

แต่ธรรมดาของการที่อุบัติเป็นพระพุทธเจ้า ต้องมีกระบวนการ

มีกองทัพของพระองค์ ที่ร่วมบารมีกับพระองค์มา

ก็มีพระพรหมมาทูล อาราธนาให้ตรัสสอนเถอะ

 

พระองค์ก็มาพิจารณาด้วยพระองค์เองว่า สัตว์โลกมีหลายหมู่เหล่า

ที่พร้อมจะรู้ก็มี เกิดมาเพื่อความเป็นเช่นนี้โดยเฉพาะก็มีจำนวนไม่น้อย

พระองค์เลยจำแนกธรรมแล้วยอมเหนื่อย

 

คือเสวยวิมุตติแล้ว ท่านอยู่ตามลำพัง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร

ท่านก็รอดเฉพาะองค์อยู่แล้ว

แต่ที่ท่านทำไป สถาปนาพุทธศาสนาจนตั้งมั่น

เป็นความเหนื่อยล้วนๆ นะ ไม่มีอะไรดีเพิ่มขึ้นกับองค์ท่านเลย

 

พอพระองค์แจกธรรม ท่านก็ทราบว่า

อยู่ๆ จะให้แค่บอกว่า สักแต่ว่าๆ

อย่ายึดมั่นเป็นตัวเป็นตน ในอาการสักแต่ว่า ทำไม่ได้

 

ยกเว้นอย่างท่านพาหิยะมีต้นทุนเยอะ

ท่านบำเพ็ญธรรม เจริญสติแบบเอาชีวิตเข้าแลกมา

และมาเกิดเพื่อบรรลุอรหัตผลโดยเฉพาะ

ฉะนั้นเส้นทางชีวิตท่าน จะมีหลายสิ่งหลายอย่างปูพื้นไว้ ให้เห็น

ให้เข้าใจว่าที่เราเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู หรือที่คิดๆ ไปเป็นของหลอก

จะมีเส้นทางที่ทำให้มาฟังธรรมครั้งแรกแล้วต่อติด

จิตอยู่ในอาการสักแต่ว่า

 

ตรงนี้สำคัญมาก ที่เราทำๆ กันอยู่

ถ้าหากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เดินจงกรมหลับตา

จะมีหลายคน ที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

 

ตอนนั่งสมาธิ เดินจงกรม อาจรู้สึกว่าเรากำลังหลับตา

กำลังตั้งใจดูโดยความเป็นธาตุเป็นขันธ์ ก็อาจไม่รู้สึกแปลกเท่าไหร่

แต่ถ้าหากความรู้สึกแบบเดียวกัน

ไปปรากฏเองขณะลืมตาใช้ชีวิตในโลก ระหว่างวัน

และเหมือนใจวาง เฉย มีความวาง มีความว่างเป็นพื้น  

เห็นอะไรมากระทบก็รู้สึกว่ากระทบแล้วหายไป

 

หรือคิดอะไร ฟุ้งซ่าน เกิดความรู้สึกเหมือนเศษภาวะอะไรบางอย่าง

ปรากฏขึ้นที่ส่วนบนสุดของธาตุดิน เกิดแล้วหายไป

ใจกลับมาอยู่กับความว่างภายใน

เหมือนที่เราเห็นว่า ภาวะกายนี้เป็นวัตถุเสมอกันกับวัตถุอื่นในโลก

 

ตรงนี้จะรู้สึกว่าตัวเองเข้าเริ่มจุด

คือไม่ได้ไปพยายามทำอะไร มากกว่าให้จิตตั้งอยู่

ในการรับรู้กายใจ อย่างมีอุเบกขา

 

ไม่ว่าด้วยวิธีใด ถ้าถูกต้อง

จะทำสมาธิอย่างไร เดินจงกรมอย่างไรก็ตาม

ถ้าเข้าจุดนี้ได้ ถือว่าโอเค มีสัญญาณบอก จากความรู้สึกว่า

ด้วยจิตที่เป็นกลาง ด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา ไม่มีเรามากขึ้นเรื่อยๆ

 

เราปฏิบัติไปแบบที่ ความรู้สึกเป็นตัวเราค่อยๆ เบาบาง

เห็นอะไรๆ ในภาวะทางกายทางใจนี้ เป็นของแปลกปลอม

เป็นของภายนอก นอกจิตที่มีสติรู้อยู่

 

และแม้แต่ตัวจิตเองก็มีความเกิดดับ

ไม่ได้มีความคงอยู่ในสภาพกุศลหรืออกุศล อย่างใดอย่างหนึ่งตลอด

จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

การเห็นว่าอะไรๆ เป็นของอื่น และเห็นแม้ภาวะจิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ไม่มีอะไรเป็นตัวเดิม ที่แน่นอน ตัวนี้แหละ

 

พอหลายคนมาถึงตรงนี้มีอยู่สองแพร่ง

แพร่งหนึ่งกระตือรือร้นไปเสาะหา

นึกว่าจะมีอุบายอะไรบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดการบรรลุ

หรือข้ามเส้นได้ในทันที

 

ใจร้อน มีอาการเร่งร้อน รีบด่วน จะเอาให้ได้

เปรียบเหมือนคนที่ขุด ทุบหน้าผา ด้วยความรับรู้ว่าถ้าทุบไปเรื่อย

เดี๋ยวจะไปถึงอีกฝั่ง ที่พอทะลุไปแล้ว จะเป็นที่ๆ ดี

 

พอเจาะไปๆ เกือบถึงอยู่แล้ว เหลืออีกนิ้วเดียว วกกลับมา

หวนกลับมาสู่ความวุ่นวายใหม่

 

เปรียบได้กับคนที่ไปถึงอุเบกขา สักแต่ว่า สักแต่ว่า

ไปเกือบจะถึงอยู่แล้ว วกกลับมาหาความวุ่นวายใหม่

 

ความอยากได้ อยากให้ทันใจ หาอุบายใหม่

หาใครสักคนที่จะมาบอกได้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ถึงจะบรรลุทันที

นี่เป็นความอยาก ไม่ใช่ความว่าง ไม่ได้เกื้อกูล

ต่อการที่จะสะสมกำลัง สักแต่รู้ ด้วยพื้นฐานความว่างจากตัวตน

มันมีตัวตนขึ้นมาในห้วงสุดท้าย

 

ในพุทธกาล เวลาได้ยินว่า ใครบรรลุมรรคผล

เป็นโสดาบ้าง สกทาคาบ้าง เป็นอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง

ก็จะมีความรู้สึกกระตือรือร้น เกิดความคึกคัก ฮึกเหิม

 

ความฮึกเหิมนั้น ถ้าพาไปถึงจุดที่พอดีได้

มีความเข้าใจประกอบพร้อมจริงว่า ต้องให้จิตอยู่ในอาการสักแต่ว่า

ไม่นานก็จะสำเร็จ

 

แต่ถ้าหากความฮึกเหิม พาใจไปสู่จุดที่ใจเร่งร้อน

จะเอามรรคผลเพื่อตัวตน เพื่อตัวเอง

ก็เปรียบเหมือนเจาะไปจะถึงอยู่แล้ว ก็วกกลับมาหาเขตเก่า

ที่เต็มไปด้วยพายุ ฝุ่นทราย ของสกปรกเน่าเหม็น

 

คงเข้าใจนะ จะนั่งสมาธิ เจริญอานาปานสติ ก็ตาม เดินจงกรมก็ตาม

แล้วเกิดความรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้เป็นของอื่น ไม่ใช่บุคคล

ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา และที่สำคัญ ไม่น่าเอา

ตรงนี้ อยู่กับตรงนั้นไป อยู่กับความเฉย

ที่จะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่น่าเอา สิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา ถูกที่สุดแล้ว

เป็นการบ่มกำลัง ให้จิตหลุดพ้น

จากความยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนแล้ว

อย่าไปทำอย่างอื่นเพิ่ม

 

ถ้าทำ คือวกกลับ ถ้าไปต่อ คือยังมีอาการสักแต่ว่าอยู่

นั่นคือเดินหน้าและในที่สุดก็ถึงจนได้ อย่าใจร้อน

 

มาสวดมนต์เพื่อที่จะขอบคุณพระพุทธเจ้าร่วมกันนะครับ

 

(ตั้งนะโมสามจบ สวดบทอิติปิโสฯ ร่วมกัน)

 

-------------------

(ส่งท้าย)

 

พี่ตุลย์ : เวลาที่เราจะดูว่าเราก้าวหน้าถึงไหน ต้องตั้งเป้าชัด

ถ้ามีเป้าชัด แล้วรู้สึกว่าเราขยับเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ

จะมีสัญญาณบอก เป็นความรู้สึกของตัวเองนั่นแหละ

ว่า เป้านั้นตรงกับใจเราหรือเปล่า

 

ถ้าใจเราเล็งตรงเป้า แล้วรู้สึกว่าขยับเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ

สัญญาณบอกจะชัดเจนนะ

 

เช่น เป้าหมายคือการพ้นทุกข์

แล้วใจเรามีความทุกข์ที่เบาบางลงหรือเปล่า

 

ถ้าเป้าคือการที่มีสติดีขึ้น

มีความสามารถ รู้ว่ากายใจ กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

แล้วใจเราเห็นเข้ามา ในภาวะอันเป็นปัจจุบันตามจริงหรือเปล่า

 

ถ้าเรารู้ เห็น เซ็ตเป้าไว้แน่นอน

และใจมีอาการสักแต่ว่าๆ ไปเรื่อยๆ

ในที่สุดจะรู้ว่าเป้าไม่ได้วิ่งมาหาเรา

แต่เราวิ่งไปหาเป้าใกล้ขึ้นๆ แล้วหรือยัง!

______________

วิปัสสนานุบาล EP88

วันที่ 7 มีนาคม สอง565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=je0D063affg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น