วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 90 (เกริ่นนำ + ปิดท้าย) : อนุโมทนาบุญแบบก้าวหน้าไปด้วยกัน และ ฉันทะ

EP 90 | พุธ 9 มีนาคม 2565

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน

 

คืนนี้เริ่มต้นขึ้นมา อยากกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุโมทนาบุญ

 

ความสามารถในการอนุโมทนา.. ต้องเรียกว่าเป็นความสามารถนะ

ไม่ใช่ว่าใจ อยู่ๆ พูดว่าอนุโมทนา

แล้วหมายความว่า จะได้บุญจากการอนุโมทนาเสมอไป

แต่วัดจากความปลื้ม ความยินดีจริงๆ ที่เกิดขึ้น

 

แล้วตรงนี้พอทำความเข้าใจกันชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาอยู่ร่วมกันในห้องนี้ ชีวิตเปลี่ยนเลยนะ

ถ้าหากอนุโมทนาออกมาจริงๆ จากใจ

 

เท้าความนิดหนึ่ง ที่มาที่ไป ทำไมต้องพูดเรื่องนี้

เพราะบางท่านอาจสับสน บอกว่า เดี๋ยวอนุโมทนา

หรือไปเอ่ยคำออกมาจากใจ ไปชมใครเข้า จะทำให้เขาหลงตัว

หรือไปทำให้เกิดอาการหยุดชะงัก

ไม่ก้าวหน้าไปบนเส้นทางของการเจริญสติ

เพื่อปล่อยวางความรู้สึกในตัวตน

ก็พะวงกัน เพราะผมทักบ่อย

 

ก็จะบอกให้เกิดความเคลียร์ ให้ชัดเจนในที่นี้ ว่า

อนุโมทนาอย่างไหนดี

อนุโมทนาอย่างไหนที่เป็นไป เพื่อความรู้สึก

ที่เป็นผลเสียกับผู้ได้รับการกล่าวถึง ได้แรงใจ ได้แรงเชียร์

หรือเป็นผลดี เป็นผลครึ่งๆ กลางๆ กับตัวผู้กล่าวอนุโมทนาเอง

 

เริ่มจากง่ายๆ ตรงที่เราจะเริ่มเข้าใจกันได้ตรงกันว่า ..

อย่างสมัยก่อน ก่อนอยู่ด้วยกันแบบนี้

ถ้าใครสักคนบอกว่า ฉันนั่งสมาธิได้ครึ่งชั่วโมงนะ

เราบอกว่า ยินดีด้วยนะ หรืออนุโมทนาด้วย

 

เสร็จแล้ววันต่อมา เขาบอกว่า วันนี้นั่งได้สามชั่วโมง

เราก็ .. โอ้โห นั่งได้สามชั่วโมง เก่งจัง

แล้วก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปกับเขา

พลอยให้เขารู้สึกว่า นั่งสามชั่วโมงได้

แปลว่าเก่ง แปลว่าดีขึ้น แปลว่ามีคนเห็นว่าฉันเจ๋ง

 

การอนุโมทนาแบบนี้ อย่างไรก็ดีกว่าจะไปบั่นทอนกำลังใจ

ประเภทว่า ฉันนั่งครึ่งชั่วโมงนะ แล้วบอกว่า นั่งไปทำไม

หรือบอก วันนี้นั่งได้สามชั่วโมงนะ

อ้าว.. นั่งได้โง่ขึ้น เพิ่มขึ้นจากวันก่อน

โง่ไปครึ่งชั่วโมงไม่พอ คราวนี้โง่ไปสามชั่วโมง

 

แบบนี้ เป็นการบั่นทอนกำลังใจ และเห็นชัดเลยว่าเป็นบาป เป็นอกุศล

ไปเบรก ให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวประหลาด

หรือทำเรื่องไม่ดี ทำเรื่องที่ผิด นี่ชัดเจนว่าเป็นฝ่ายบาป

 

ซึ่งจะมีผลให้ต่อไป นึกอยากทำสมาธิขึ้นมา

หรือถึงเวลาที่สมควรแก่การทำสมาธิบ้าง

ก็จะมีคนมาเบรก มาบั่นทอนกำลังใจ

แล้วเราก็มักจะลืมไปแล้วว่า เราก็เคยไปเบรกคนอื่นไว้

ไปบั่นทอนกำลังใจเขาไว้

 

พอถึงตาตัวเอง บางทีน้ำตาตกในเลย

เต็มไปด้วยคนรอบข้างที่ไม่เกื้อกูล ไม่เอื้อเฟื้อ

บางทีมาขวางแบบดื้อๆ เลย บอกว่าอย่าทำ ไม่ให้ทำ

หรือเปิดทีวีไล่ เปิดเสียงดังรบกวนเป็นต้น

 

การอนุโมทนา อย่างไรก็ดีทั้งนั้น ถ้าออกมาจากใจ

ถ้าทำให้อีกฝ่ายได้รับกำลังใจ มีเจตนาที่จะส่งเสริมเกื้อกูลกัน

เป็นบุญกุศลแน่นอน

 

ทีนี้ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า คนเราอนุโมทนาแบบ

ไม่รู้ว่าเราอนุโมทนาไปเรื่องอะไร

 

เหมือนอย่างบอกแสดงความยินดีด้วย แต่ใจจริงไม่ได้นึกยินดี

ไม่ได้นึกมีความสุข ปลื้มไปกับเขา

ไม่เข้าใจว่าชีวิตเขา ได้ดิบได้ดีอะไรมากขึ้นกว่าเดิม

ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร

 

พอไม่เข้าใจแล้ว การอนุโมทนาจะมีแต่คำ

มีแต่การสื่อความหมายว่าฉันยินดีด้วย

ก็ไม่มีผลอะไรกับผู้แสดงความยินดี

อาจมีความปลื้มกับผู้ได้รับฟัง

 

แต่ถ้าหากว่ามีใครมาบอกว่า

วันนี้ นั่งสมาธิแบบดูลมหายใจได้ครึ่งชั่วโมง

ดูได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ท้ายๆ รู้สึกสว่าง รู้สึกใจมีความโล่ง

 

แบบนี้ ถึงแม้จะทำสมาธิไม่เป็น

ก็เกิดความรู้สึกมานิดๆ แล้วว่า ที่เขาบอกว่านั่งสมาธิไป

พลอยทำให้เราเกิดความรู้สึกถึงความสุขที่เกิดในเขา

เกิดความรู้สึกถึงความสว่าง ที่มีอยู่ในเขาไปด้วย

 

แบบนี้จะปลื้มขึ้นมาแล้วบอกว่า ดีใจด้วยนะ

.. นี่คืออนุโมทนาบุญของจริง คือมีความปลื้มไปกับเขา

 

และยิ่งถ้าหากว่าตัวเราเอง เป็นคนที่เจริญอานาปานสติเป็น

แล้วเห็นว่าเขามาได้ แบบนี้ เกิดความรู้สึกยินดีร่วมด้วย

เป็นความรู้สึกที่ออกมาจากความเข้าใจจริงๆ

ว่า น่าดีใจที่เขาทำได้ น่าดีใจที่เขามาได้

 

แบบนี้ ยิ่งเป็นการอนุโมทนา โดยประกอบอยู่ด้วยความเข้าใจ

 

ความเข้าใจ ความเข้าถึงประสบการณ์ตรง

ทำให้บุญอันเกิดจากการมีใจอนุโมทนา

กลายเป็นของเต็ม กลายเป็นของจริงขึ้นมา

 

เหมือนกัน เราอยู่ในห้องนี้ ดูเผินๆ เหมือนกับว่า เรามาดูคนอื่น

ไม่ได้มีส่วนร่วม บางคนหลบฉากอยู่ ไม่เคยปรากฏตัว

แต่ว่ารู้สึกดี รู้สึกยินดีร่วมด้วยจริงๆ เนื่องจาก ก็ทำอยู่ด้วย

 

การที่ร่วมทำอยู่ด้วยแล้วเกิดความเข้าใจ

เกิดการเห็นว่าใครมีความคืบหน้าไปแค่ไหนอย่างไร

จะวัดกันด้วยใจที่เป็นมิเตอร์ของแต่ละคนที่นั่งดูอยู่

 

และพอมาบอกว่า ยินดีด้วย อนุโมทนาด้วย แบบนี้มีแรงส่ง

คือคุณจะรู้สึกได้เลยนะ เวลาที่เราอนุโมทนา จากความเข้าใจ

จากประสบการณ์ตรง จากอะไรที่เราเห็นจริงๆ

ว่าเขาคืบหน้ามาแค่ไหน จะมีแรงส่ง มีกำลังที่เกื้อกูลกัน

 

และตรงนั้นแหละ ที่ผู้รับเสียงอนุโมทนา

ก็รู้ว่าคนที่กล่าวอนุโมทนา กล่าวด้วยใจจริงๆ

กล่าวออกมาจากความรู้สึกเต็มๆ

กล่าวออกมาจากประสบการณ์ตรง แบบรู้กันว่ามีดีเกิดขึ้น

แล้วก็ได้รู้สึกดีร่วมกัน

 

ไม่ใช่แค่คำกล่าวอนุโมทนาลอยๆ เหมือนอย่างสมัยที่

เราอยู่ในเว็บบอร์ด หรือกระทู้ต่างๆ ที่มีคนมาโปรยบุญ

บอกไปทำนู่นทำนี่มา ขอให้อนุโมทนาร่วมด้วย

 

เราจะมีใจหรือไม่มีใจ เราก็พูดไป ด้วยใจแห้งๆ

แบบนั้น ก็เหมือนกับ คล้ายๆ เทรนให้สมองฝืนพูด

เสร็จแล้วคำว่าอนุโมทนาจะกลายเป็น negative ในระยะยาว

พอนึกถึงคำว่า อนุโมทนา เราจะนึกถึงจิตแห้งๆที่แกล้งพูด

 

แต่ถ้าอยู่ในห้องนี้ แล้วทำไปด้วย ไม่ใช่ดูอย่างเดียว

เกิดความเข้าใจว่าใครกำลังเห็นอะไร ใครกำลังรู้สึกอย่างไร

 

ตัวนี้ ไม่ใช่แค่รู้สึกแห้งๆ แล้วนะ

แต่มีความชุ่มชื่นเกิดในใจเรา ก่อนเป็นตัวตั้ง

แล้วกล่าวออกไปด้วยความรู้สึกชุ่มชื่นนั้น เป็นแรงผลักดันให้กล่าว

เวลาเรานึกถึงคำว่าอนุโมทนา จะนึกถึงความชุ่มชื่นที่เกิดขึ้น

 

ในห้องนี้ คือผมไม่ได้กระมิดกระเมี้ยนอะไรทั้งสิ้น

สอนให้ดูกันตรงๆ เลยว่าลมหายใจใครเป็นอย่างไร

ความรู้สึกหรือเวทนาของใครเป็นอย่างไร

เป็นสุข เป็นทุกข์ หรืออึดอัดอย่างไร

 

ถ้านั่งดูไปด้วย นั่งฟังไปด้วย แล้วเกิดความเข้าใจ

ตัวนี้ การอนุโมทนาจะเป็นการเปิดใจ

 

เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

ให้ดูกายในกายภายใน กายในกายภายนอก

เวทนาในเวทนาภายใน เวทนาในเวทนาภายนอก

 

ท่านสอนให้ดูตัวเอง ท่านสอนให้ดูคนอื่น

และถ้าหากว่าเรารู้กาย เวทนา จิต ธรรมของเรา

แล้วสามารถสัมผัสเปรียบเทียบกับกาย เวทนา จิต ธรรมของผู้อื่น

ด้วยใจอนุโมทนา

 

ตัวอนุโมทนานี่แหละ จะเป็นตัวเปิดประตูความรู้สึก

การรับรู้ออกไปสัมผัส ตรงตามจริง

 

ไม่ใช่เทียบเขาเทียบเรา

แต่เป็นการเทียบขันธ์กับขันธ์ เทียบธาตุกับธาตุ

ให้เกิดการรู้ว่าเป็นอนัตตาเสมอกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน

เกิดจากเหตุปัจจัยเหมือนกัน

 

แต่ถ้าหากขึ้นต้นมา เรามานั่งหัวเราะว่า นี่ทำอะไรกัน

ไม่เกิดความยินดีร่วมด้วย ไม่เกิดประสบการณ์ตรง

ก็จะอยากวิพากษ์วิจารณ์ หรือพูดตามที่คิดว่า

ไม่ได้หรอก นี่ทำผิดอยู่

เพราะไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนตัวเอง

ไม่ได้มีความเชื่อเหมือนตัวเอง

ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมด้วยเหมือนกับตัวเองแบบนี้

ก็กลายเป็นการที่จะเป็นชนวนของการมาปรามาสกัน

หรือมาลบหลู่ดูหมิ่นกัน ดูถูกกัน

 

นอกจากจะไม่รู้สึกในบุญร่วมด้วย

ก็อาจจะไปเกิดพฤติกรรมอะไรที่ตามมา เป็นบาปเป็นกรรม

ซึ่งก็ไม่สามารถห้ามกันได้ แต่ว่าเราจะสามารถรู้ได้ เข้าใจได้ว่า

นี่แหละ ชนวนของบุญ ชนวนของบาป

เกิดจากการที่เราเข้าใจหรือไม่เข้าใจ

 

ถ้ามีความเข้าใจแล้วมีใจอนุโมทนา เป็นตัวเบิกทาง

เป็นตัวที่เปิดใจให้เกิดการรับรู้ร่วมกัน ยินดีร่วมกัน

จะทำให้ผลการภาวนาของเรา สามารถคืบหน้าไปได้ด้วยกัน

เป็นเหมือนแรงฉุดกัน แรงผลักกัน หรือไม่ก็แรงพยุงกัน

 

พอเขาทำได้ เราก็..ใจที่มีการเปิดรับ ด้วยใจยินดีอนุโมทนา

ก็เกิดสัมผัสว่า ความสุขประมาณนี้เขาวางใจไว้แบบนี้

ความทุกข์ประมาณนี้เพราะเขาเล็งผิดไว้อย่างไร

 

เสร็จแล้วพอเราปฏิบัติเอง ดูใจเทียบใจ ดูเวทนาเทียบเวทนา

ดูอาการของท่าทางภายนอก อาการทางกายอะไรต่างๆ

เทียบกันแล้ว เกิดความสัมผัสรู้ขึ้นมาเองว่า

 

เพราะเขาวางใจแบบนี้ เขาถึงไม่มีความสุขแบบเรา

หรือเราจะวางใจแบบนี้ ถึงไม่มีอาการปล่อยวางเท่าเขา

หรือว่าด้วยอาการกล้าๆ กลัวๆ แบบนี้ ถึงได้ไม่จิตใสใจโล่งเหมือนเขา

 

อะไรต่างๆ ที่เริ่มต้น จากการเปิดใจอนุโมทนายินดี ด้วยความเข้าใจจริงๆ

จะเป็นทางมาของสัมผัส เป็นทางมาของการทำความเข้าใจ

ในระดับที่สูงขึ้นกว่าภาวนาคนเดียวตามลำพัง

 

เพราะสมัยนี้ เสียงบ่นมากที่สุดคือ ทำอยู่คนเดียว

แล้วไม่รู้เลยว่าตัวเองไปถึงไหน ผิดหรือถูก

อาจมีเสียงบอกว่า การภาวนาที่ถูกต้อง ต้องทำคนเดียว

ไม่ใช่ไปทำร่วมกันหลายๆ คน ให้กลายเป็นมากหมอมากความ

ตรงนั้นก็ใช่ ก็ถูก เมื่อผ่านเรื่องของด่านความท้อถอยไปแล้ว

 

คือคนธรรมดาปกติทั่วไป เริ่มต้นมา ต้องการกำลังใจกันทั้งนั้น

มีใครบ้างบอกเริ่มต้นมา ไม่ต้องใช้กำลังใจ

ไม่ต้องไปอาศัยสหธรรมิก หรือเพื่อนผู้ร่วมทางด้วยกัน มาให้กำลังใจ

เห็นตัวเองทำคนเดียวแล้วไปได้ไกล

ถ้าใครทำได้ อนุโมทนาด้วย

 

แต่ถ้าหากเรายอมรับตามจริงว่า

ขึ้นต้นมาเราต้องการหลักฐาน เราต้องการพยาน

ต้องการอะไรที่จับต้องได้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่

อยู่ตรงต้น ตรงกลาง ตรงปลาย แค่ไหนแล้ว

เรามาถึงไหน เราทำอยู่นี้ ถูกทิศทางหรือเปล่า

 

ตรงนี้ การมาได้เห็นเหล่าสหธรรมิกรวมอยู่ด้วยกัน

เห็นความคืบหน้าของเขาบ้าง เห็นความคืบหลังของเราบ้าง

หรือบางวันเห็นความคืบหน้าของเราบ้าง เห็นความคืบหลังของเขาบ้าง

แบบนี้จะเป็นไปด้วยกัน sync กัน

 

แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่มีใครเป็นเทวดามาตั้งแต่ต้น

เป็นมนุษย์ธรรมดา ลองผิดลองถูก เสี่ยงผิดเสี่ยงถูกกันมาด้วยกันทุกคน

 

ไม่มีใครที่ขึ้นต้นมา ทำถูกทำตรงเลยนะ

อ่านพุทธพจน์แล้วทำตรงได้เป๊ะๆ แบบนั้น ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา

ต้องเป็นอะไรยิ่งกว่าเทวดา เพราะแม้แต่เทวดา ยังทำผิดทำถูกเลยนะ

เกี่ยวกับการตั้งมุมมอง แบบพุทธไว้

 

ให้เห็นความสำคัญนะครับว่า

การอนุโมทนา ถ้าประกอบด้วยความเข้าใจ

จะเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน

 

แต่ถ้าเราเหมือนเชียร์ จนกระทั่งเป็นเหตุให้เขาหลงใหลได้ปลื้ม

ติดอยู่ ติดแหงก .. แบบนี้ก็ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่า

ของเราไม่เป็นไร เราได้บุญเพิ่ม

แต่ของเขาเหมือนกับเอาของหนักๆ ไปให้เขา

แบบโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

 

จะอนุโมทนาอะไร จริงๆ แล้ว

ถ้าหากว่าจะพิสูจน์ว่าประกอบอยู่ด้วยความเข้าใจ

ควรจะเสริมคำพูดอะไรสักอย่าง

หรือคำอธิบาย ที่ยากกว่าพิมพ์อนุโมทนาไปอย่างเดียว

 

ปกติ ถ้าเป็นผมเอง เวลาถ้าจะอนุโมทนากับใคร

ผมมักจะไม่ขึ้นต้นบอกว่า อนุโมทนาครับ หรือบอกว่ายินดีด้วยนะ

แต่มักจะไปต่อท้ายไว้ข้างหลัง หลังจากที่ใส่ความเห็นบางอย่าง

ที่เราเห็นจริงๆ ที่เรารู้สึกจริงๆ สัมผัสจริงๆ และรู้สึกดีขึ้นมาจริงๆ

 

หัดที่จะอนุโมทนา เป็นภาษาที่สื่อให้ทราบว่า

เราได้ประโยชน์อะไรจากเขา

เราได้ความสุขแบบไหนจากเขา

 

เวลาที่เป็นคำพูดชัดเจน เวลาที่มีการสื่อความว่าเรารู้สึกอย่างไร

เราเห็นอะไรบ้าง ทำให้เขาเกิดมุมมองย้อนเข้ามาหาตัวเองว่า

ที่เราทำๆ ไปนี้ ได้ประโยชน์อะไรกับคนอื่นบ้าง

 

และตรงนี้ จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาจริงๆ

ดีขึ้นมาอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ดีขึ้นมา เพราะว่ามีแค่เสียงชมเสียงเชียร์

 

เสียงชมเสียงเชียร์ บอกว่า ..ที่สุดเลย ... ราวกับเทพ ..

พวกนี้ทำให้เหลิง ทำให้ลอย แต่ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรเพิ่มเติม

 

แต่ถ้าบอกว่า ความรู้สึกแบบนี้ (ของเรา) เคยเกิดนะ แต่นานๆ ที

แต่ของคุณทำได้เกิดเป็นประจำ

ซึ่งแบบนี้เกิดแรงบันดาลใจ อยากทำให้ได้แบบนี้บ้าง

 

พูดด้วยความรู้สึกแบบนี้ เสียเวลาแค่นาที สองนาที

แต่ทำให้เขาเกิดความเข้าใจว่า

ที่นึกว่าเป็นวันธรรมดาของเขา นึกว่าเป็นการทำปกติของเขา

จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้

แต่มีบางคนที่ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

 

แล้วตัวเขาเองที่ได้มาทำให้ดู ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ

กลายเป็นสิ่งที่ ทุนต่อทุน ยอดต่อยอด แรงต่อแรง เสริมกัน

ไม่ใช่แค่ว่ามาทำๆ แล้วก็มาชมๆ ให้จบๆ

แต่มีอะไรติดค้าง มีอะไรที่ได้ติดไม้ติดมือ แต่ละคนกลับไป

แบบที่บางที นึกไม่ถึง

 

ก็ขอชี้แจงเพื่อความชัดเจน ว่าบรรยากาศของห้องนี้

ที่ผมอยากเห็น แล้วก็จริงๆ เห็นแล้ว เห็นมาตลอด

ว่าหลายๆ คนพยายามที่จะพูดสิ่งที่ตัวเองรู้สึก

พยายามสื่อ ที่จะบอกว่าตัวเองนึกคิดอย่างไร

 

อันนี้แหละที่ผมอนุโมทนา เพราะจะเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน

 

ถ้าเราได้คอมเมนท์ แล้วก็มารู้สึกกับตัวเองว่า

คอมเมนท์ไปแล้ว สร้างบรรยากาศ ที่จะช่วยให้ตัวเอง

ช่วยให้คนอื่นเกิดความเข้าใจร่วมกัน ว่ากำลังทำอะไรร่วมกันอยู่

แล้วก็มีผลอย่างไร ปฏิกิริยาอย่างไร เกิดขึ้นในแต่ละคนได้

ก็จะเป็นบรรยากาศที่ยอดเยี่ยมมาก

 

เป็นการอนุโมทนา ในแบบที่จะส่งเสริมแล้วก็ก่อประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป

แบบเห็นทันตาจริงๆ ไม่ต้องไปรอดูว่า ผลบุญของการอนุโมทนา

จะทำให้อะไรเกิดขึ้น อย่างนั้นอย่างนี้

 

จริงๆ ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าอนุโมทนาไป

ผลจะไปเกิดเมื่อไหร่ หรือลักษณะที่เกิดเป็นอย่างไร

แต่ผมบอก ณ ที่นี้เลยว่า ถ้าเป็นเรื่องการปฏิบัติธรรม

และมีเรื่องการอนุโมทนาอย่างถูกต้อง

ไม่ต้องรอชาติหน้านะ .. เกิดชาตินี้แหละ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามาปฏิบัติในบรรยากาศที่เกื้อกูลกันอย่างนี้

แบบพี่ๆ น้องๆ แล้วเกิดการเห็นว่า .. ที่บอก เจริญไปด้วยกัน

ไม่ใช่คำหรู ไม่ใช่แกล้งมาโปรยเป็นสโลแกนของห้อง

แต่เกิดจริงๆ กับหมู่เหล่าที่ลากจูงไปในทิศทางเดียวกัน

เหนี่ยวนำ ผลักดัน และพยุงประคอง ไปในทิศทางเดียวกัน

 

ดีกว่าความรู้สึก เพื่อนร่วมรบในสมรภูมิเดียวกัน

ดีกว่าความรู้สึกแบบจิตอาสาไปพัฒนาอะไรด้วยกัน

เพราะอันนี้ เป็นเส้นทางของการที่ออกจากการเบียดเบียนถาวร

ชั่วนิรันดร์

 

ไม่ใช่แค่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นแป๊บหนึ่ง แล้วก็กลับมาแย่ใหม่

แต่เป็นการที่เรา..ถ้าพยุง ประคอง เหนี่ยวนำ

หรือผลักดันไปจนสุดทางได้แล้ว

ไม่ต้องกลับมาเบียดเบียนกันอีก

ไม่ต้องกลับมาเบียดเบียนใครอีกตลอดไป!

----------------

 (ปิดท้าย)

 

พี่ตุลย์ : มาจบกันที่คำนี้แหละ ฉันทะ ไม่มีใครสร้างให้กันได้

และฉันทะ เราปลูกเอง บางทีก็ยากด้วย

 

ฉันทะ อยู่ๆ ไปสั่งตัวเอง บังคับใจตัวเองว่า จงเกิดฉันทะ

ไม่มีที่ไหนในโลก

 

แต่ถ้าหากเราทำอะไรสักอย่าง ด้วยความรู้สึกว่า

สิ่งนี้ มีความเข้าใจ เห็นภาพรวมว่าสิ่งนี้ต้องทำอย่างไร

เป้าหมายคืออะไร แล้วเราแฮปปี้

 

เหมือนอย่างเจริญอานาปานสติ

ถ้าไปอ่านที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ขึ้นต้นมา ท่านไม่ได้บอกว่า

จงมีความทุกข์แล้วรู้ว่าหายใจออก จงมีความทุกข์แล้วหายใจเข้า

ท่านไม่ใช้คำพวกนี้

 

ท่านให้ไปให้ถึง

รู้ลมหายใจออก รู้ลมหายใจเข้า

เมื่อกายสงบระงับ แล้วมีปีติเกิดขึ้น

ให้รู้ว่ามีปีติ หายใจออก รู้ว่ามีปีติหายใจเข้า

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก รู้ว่ามีความสุขหายใจเข้า

 

นี่เห็นไหม ตัวนี้ คนอ่านกันมาเป็นพันรอบ แต่ไม่สังเกต

แล้วก็ไม่พยายามทำความเข้าใจว่า นี่แหละที่จะเป็นต้นเหตุของฉันทะ

 

คน ถ้าทำสมาธิแล้วเกิดฉันทะได้

แล้วมีความเข้าใจว่าจะเอาจิตต้นแบบของอานาปานสติ

ไปประยุกต์ระหว่างวันได้อย่างไร

จะเกิดฉันทะตั้งแต่วันแรก

 

และยิ่งทำ มากวัน จะยิ่งมีฉันทะ แก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ เติบกล้าขึ้นเรื่อยๆ

 

แต่ถ้าไม่เข้าใจว่า ทำไม เราต้องเอาความสุขมานำ

หรือบางทีไปขู่เสียอีก

 

ยุคเรา แม้แต่ครูบาอาจารย์ดีๆ ก็ขู่ไว้มาก ว่าระวังอย่าติดสุข

ที่ถูก ต้องเอาแบบพระพุทธเจ้านะ

 

ไม่ได้ว่าครูบาอาจารย์ที่ไหน ไม่ได้ลบหลู่ท่านนะ

 

แต่ว่า ครูที่เป็นบรมครู ครูที่รู้ว่าจะสอนอะไร

มีความสามารถแจกแจงธรรม จำแนกธรรมให้ง่าย

เท่าที่ผมเห็นมาทั้งชีวิต เข้าใจจริงๆ ว่าทำไม พระพุทธเจ้าถึงเป็นบรมครูได้

 

ท่านจำแนกไว้ ขึ้นต้นมา

ท่านให้เอาสุขก่อน เพื่อที่จะให้เกิดฉันทะ

เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ในที่สุด ก็จะมีความเพียร

มีความพยายามตามมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ

 

แต่ถ้าเรามัวมาเถียงว่า

ระวังติดสุข ระวังทำอย่างนี้ไม่ดี เดี๋ยวไปได้แค่พรหม

ในที่สุดก็ไปไม่ถึงไหน จิตใจแห้งแล้ง

ไม่มีทางหรอก ที่จะมาเพียรพยายาม

นั่งสมาธิ เดินจงกรมกันวันหนึ่งเป็นเวลานานๆ

 

มีแต่ความแห้งแล้งที่ไปดูถูก เห็นคนนั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็..

มัวทำอะไร ไปได้แค่พรหม ถ้าจะนิพพานต้องเจริญแต่ปัญญา

 

ตรงนี้ ก็กลายเป็นความเข้าใจที่ผิด และไม่กลับไปดู

ต่อให้เอามากางให้ดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้

ก็ไม่เต็มใจที่จะเหลือบตามาแล

ไม่เต็มใจที่จะทรงจำไว้ ไม่เต็มใจที่จะทำให้เกิดขึ้น เจริญขึ้นกับตัวเอง

 

ผมเห็นมาทุกแบบ ฉะนั้นพูดด้วยความรู้สึกเป็นกลางจริงๆ ว่า

ถ้าเราไม่ได้มองพระพุทธเจ้าเป็นบรมครู

ไม่ได้มองว่าพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนพระศาสดา

เราจะเถียงกันไม่รู้จบ

 

แล้วก็วนเวียนอยู่กับวังวนของความสับสน ของคำแนะนำสารพัดทาง

แล้วบางทีก็บอกว่า ครูบาอาจารย์ดีๆ ท่านพูดไว้แบบนี้

 

แต่ไม่ได้มองว่า ครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุด

ที่เป็นพระศาสดา เป็นครูของครูบาอาจารย์อีกที ท่านตรัสไว้อย่างไร

 

ก็ฝากไว้ว่าเราย้อนกลับไปพิจารณา

ย้อนกลับไปอ่านกันดีๆ ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเกี่ยวกับการปฏิบัติไว้อย่างไร

 

อานาปานสติ คือศูนย์กลางกรรมฐานทั้งปวง

สติปัฏฐานสี่ คือทางตรง

การที่มีโพชฌงค์เจ็ดเป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้

องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้ เรามีแล้วหรือยัง ถ้าไม่มีพยายามทำให้มี

 

นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป๊ะๆ เลยนะครับ

 

ถึงวันนี้ เวลานี้ เรามาถึงตรงไหนกันแล้ว

แต่ละท่านอยู่ในห้องนี้เหมือนกัน

แต่ว่าอยู่ในจุด อยู่ในเส้นเวลา อยู่ในเส้นทางที่ต่างกัน

ซึ่งแน่นอนครับ ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ

แต่ด้วยฉันทะของพวกท่านเองแต่ละคน!

_______________

ไลฟ์วิปัสสนานุบาล EP 90

วันที่ 9 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=ax4rZGm_34c

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น