วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 88 : 7 มีนาคม 2565

** ในช่วงผู้ร่วมไลฟ์ จะเป็นการถอดเสียงขณะไลฟ์สด ฉะนั้นอาจเก็บไม่ครบทุกคำนะคะ **

EP 88 | จันทร์ 7 มีนาคม 2565

 

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน มาพบกันในห้องวิปัสสนาของพวกเราทุกคน

 

ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไป แล้วเกิดสงสัยว่าที่ทำอยู่

จะเข้าข่ายที่เราเปิดประตูบานแรกไหม มีสิทธิ์ข้ามเส้นไหม

 

จุดสังเกตหรือสัญญาณบอก เอาง่ายๆ

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกท่านพาหิยะ ในพาหิยสูตร

ที่พระพาหิยะท่านทูลถามว่า เอาแบบรวดรัดที่สุด

ปฏิบัติอย่างไรจะได้มรรคผล

 

ท่านบอกว่า ...

สักแต่ว่าเห็น แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เห็นเป็นตัวเป็นตน

สักแต่ว่าได้ยิน แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ได้ยินเป็นตัวเป็นตน

สักแต่ว่าคิด แต่อย่าไปยึดมั่นว่าความคิดมีเราเป็นผู้คิด

หรือความคิดเป็นตัวเรา

 

ให้จิตอยู่ใน อาการสักแต่ว่า...

 

ซึ่งถ้าคนที่พอเข้าใจเป็นพื้นฐานบ้างว่า การปฏิบัติ

หลักการเริ่มต้น มีอานาปานสติเป็นหลักตั้ง

รู้จักสังเกต เห็นภาวะภายในภายนอก หายใจออก

เห็นภาวะภายในภายนอก หายใจเข้า จนเกิดสติแบบหนึ่ง

จิต มีความพร้อมที่จะรู้อะไรๆ ในกายใจ

พร้อมทั้งหารครึ่งกับการรู้สึกถึงลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก

จะมีสมาธิแบบหนึ่ง รู้สึกว่าภาวะที่เกิด  จะด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม

เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ตัวนี้ขั้นพื้นฐานจากอานาปานสติ

 

เสร็จแล้วพอรู้ว่ากายนี้ใจนี้ ปรากฏอยู่ต่อจิตโดยความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป

จะเริ่มเห็นโดยความเป็นธาตุ หรือไม่ก็โดยความเป็นขันธ์ห้า

 

ซึ่งโดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นขันธ์ ต้องอาศัยความเข้าใจประกอบ

อยู่ๆ ให้ทำสมาธิอย่างเดียว

จะไม่รู้สึกตรงตามความเป็นธาตุหก หรือขันธ์ห้าได้อัตโนมัติ

 

เช่น พอเราฝึกเดินจงกรมแบบหลับตากัน เกิดการเทียบธาตุ

ธาตุหนึ่ง ธาตุสอง แล้วรู้สึกเสมอกัน เป็นวัตถุ อย่างนี้

ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไป ก็อาจบอกว่า เรามองอย่างไรก็ต้องรู้สึกอย่างนั้น

 

แต่หากว่าอาศัยความเข้าใจประกอบเข้าไป

เห็นว่าไม่ได้มีแต่ธาตุดิน ไม่ได้มีแต่ความเป็นวัตถุ

แต่มีข่องว่างอยู่ระหว่างนั้นด้วย มีลมหายใจเข้าออกด้วย

และที่สำคัญสุด มีธาตุรู้ หรือตัวรู้เป็นสิ่งสุดท้ายที่ประกอบประชุมในนั้น

 

ตัวนี้ ที่จะเกิดการตัดสินขึ้นมาว่า

ถ้าจะเอาความออกไป จากความเป็นอย่างนี้

ความรู้สึกโดยรวมที่เป็นปกติ จะต้องเห็นเป็นของอื่น

เห็นเป็นของแปลกปลอม เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

 

อาการที่เห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นของอื่น ของแปลกปลอม

คนธรรมดาถ้าไม่เข้าใจ ว่าพอยต์คืออะไร จะหาว่าบ้า

 

อย่างในคืนวันตรัสรู้ วาระแรกเลย พระพุทธเจ้าถึงท้อพระทัย

ว่าถ้าเอาความจริงไปพูด คนย่อมไม่ฟัง

เพราะสัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมตกอยู่ภายใต้ ความปรารถนาที่จะบันเทิง

อยู่ในโลกที่ชุ่มไปด้วยกิเลส ที่เป็นเครื่องล่อ เป็นกามสุข

เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจในแบบหูตาจะให้ได้

 

ถ้าไปเห็น สิ่งที่เห็น ได้ยิน เป็นเหมือนของหลอก

เหมือน matrix เหมือน hologram

ก็จะค้านกับความรู้สึกที่ยึดติด ยึดมั่นถือมั่นเป็นคนละขั้ว

แล้วจะไม่มีใครเอา

 

พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้วาระแรก ท่านถึงอยากจะขวนขวายน้อย

ดำรงพระองค์อยู่เป็นปกติ เสวยวิมุตติสุข ไปตลอดพระชนม์ชีพ

 

แต่ธรรมดาของการที่อุบัติเป็นพระพุทธเจ้า ต้องมีกระบวนการ

มีกองทัพของพระองค์ ที่ร่วมบารมีกับพระองค์มา

ก็มีพระพรหมมาทูล อาราธนาให้ตรัสสอนเถอะ

 

พระองค์ก็มาพิจารณาด้วยพระองค์เองว่า สัตว์โลกมีหลายหมู่เหล่า

ที่พร้อมจะรู้ก็มี เกิดมาเพื่อความเป็นเช่นนี้โดยเฉพาะก็มีจำนวนไม่น้อย

พระองค์เลยจำแนกธรรมแล้วยอมเหนื่อย

 

คือเสวยวิมุตติแล้ว ท่านอยู่ตามลำพัง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร

ท่านก็รอดเฉพาะองค์อยู่แล้ว

แต่ที่ท่านทำไป สถาปนาพุทธศาสนาจนตั้งมั่น

เป็นความเหนื่อยล้วนๆ นะ ไม่มีอะไรดีเพิ่มขึ้นกับองค์ท่านเลย

 

พอพระองค์แจกธรรม ท่านก็ทราบว่า

อยู่ๆ จะให้แค่บอกว่า สักแต่ว่าๆ

อย่ายึดมั่นเป็นตัวเป็นตน ในอาการสักแต่ว่า ทำไม่ได้

 

ยกเว้นอย่างท่านพาหิยะมีต้นทุนเยอะ

ท่านบำเพ็ญธรรม เจริญสติแบบเอาชีวิตเข้าแลกมา

และมาเกิดเพื่อบรรลุอรหัตผลโดยเฉพาะ

ฉะนั้นเส้นทางชีวิตท่าน จะมีหลายสิ่งหลายอย่างปูพื้นไว้ ให้เห็น

ให้เข้าใจว่าที่เราเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู หรือที่คิดๆ ไปเป็นของหลอก

จะมีเส้นทางที่ทำให้มาฟังธรรมครั้งแรกแล้วต่อติด

จิตอยู่ในอาการสักแต่ว่า

 

ตรงนี้สำคัญมาก ที่เราทำๆ กันอยู่

ถ้าหากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เดินจงกรมหลับตา

จะมีหลายคน ที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

 

ตอนนั่งสมาธิ เดินจงกรม อาจรู้สึกว่าเรากำลังหลับตา

กำลังตั้งใจดูโดยความเป็นธาตุเป็นขันธ์ ก็อาจไม่รู้สึกแปลกเท่าไหร่

แต่ถ้าหากความรู้สึกแบบเดียวกัน

ไปปรากฏเองขณะลืมตาใช้ชีวิตในโลก ระหว่างวัน

และเหมือนใจวาง เฉย มีความวาง มีความว่างเป็นพื้น  

เห็นอะไรมากระทบก็รู้สึกว่ากระทบแล้วหายไป

 

หรือคิดอะไร ฟุ้งซ่าน เกิดความรู้สึกเหมือนเศษภาวะอะไรบางอย่าง

ปรากฏขึ้นที่ส่วนบนสุดของธาตุดิน เกิดแล้วหายไป

ใจกลับมาอยู่กับความว่างภายใน

เหมือนที่เราเห็นว่า ภาวะกายนี้เป็นวัตถุเสมอกันกับวัตถุอื่นในโลก

 

ตรงนี้จะรู้สึกว่าตัวเองเข้าเริ่มจุด

คือไม่ได้ไปพยายามทำอะไร มากกว่าให้จิตตั้งอยู่

ในการรับรู้กายใจ อย่างมีอุเบกขา

 

ไม่ว่าด้วยวิธีใด ถ้าถูกต้อง

จะทำสมาธิอย่างไร เดินจงกรมอย่างไรก็ตาม

ถ้าเข้าจุดนี้ได้ ถือว่าโอเค มีสัญญาณบอก จากความรู้สึกว่า

ด้วยจิตที่เป็นกลาง ด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา ไม่มีเรามากขึ้นเรื่อยๆ

 

เราปฏิบัติไปแบบที่ ความรู้สึกเป็นตัวเราค่อยๆ เบาบาง

เห็นอะไรๆ ในภาวะทางกายทางใจนี้ เป็นของแปลกปลอม

เป็นของภายนอก นอกจิตที่มีสติรู้อยู่

 

และแม้แต่ตัวจิตเองก็มีความเกิดดับ

ไม่ได้มีความคงอยู่ในสภาพกุศลหรืออกุศล อย่างใดอย่างหนึ่งตลอด

จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

การเห็นว่าอะไรๆ เป็นของอื่น และเห็นแม้ภาวะจิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ไม่มีอะไรเป็นตัวเดิม ที่แน่นอน ตัวนี้แหละ

 

พอหลายคนมาถึงตรงนี้มีอยู่สองแพร่ง

แพร่งหนึ่งกระตือรือร้นไปเสาะหา

นึกว่าจะมีอุบายอะไรบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดการบรรลุ

หรือข้ามเส้นได้ในทันที

 

ใจร้อน มีอาการเร่งร้อน รีบด่วน จะเอาให้ได้

เปรียบเหมือนคนที่ขุด ทุบหน้าผา ด้วยความรับรู้ว่าถ้าทุบไปเรื่อย

เดี๋ยวจะไปถึงอีกฝั่ง ที่พอทะลุไปแล้ว จะเป็นที่ๆ ดี

 

พอเจาะไปๆ เกือบถึงอยู่แล้ว เหลืออีกนิ้วเดียว วกกลับมา

หวนกลับมาสู่ความวุ่นวายใหม่

 

เปรียบได้กับคนที่ไปถึงอุเบกขา สักแต่ว่า สักแต่ว่า

ไปเกือบจะถึงอยู่แล้ว วกกลับมาหาความวุ่นวายใหม่

 

ความอยากได้ อยากให้ทันใจ หาอุบายใหม่

หาใครสักคนที่จะมาบอกได้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ถึงจะบรรลุทันที

นี่เป็นความอยาก ไม่ใช่ความว่าง ไม่ได้เกื้อกูล

ต่อการที่จะสะสมกำลัง สักแต่รู้ ด้วยพื้นฐานความว่างจากตัวตน

มันมีตัวตนขึ้นมาในห้วงสุดท้าย

 

ในพุทธกาล เวลาได้ยินว่า ใครบรรลุมรรคผล

เป็นโสดาบ้าง สกทาคาบ้าง เป็นอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง

ก็จะมีความรู้สึกกระตือรือร้น เกิดความคึกคัก ฮึกเหิม

 

ความฮึกเหิมนั้น ถ้าพาไปถึงจุดที่พอดีได้

มีความเข้าใจประกอบพร้อมจริงว่า ต้องให้จิตอยู่ในอาการสักแต่ว่า

ไม่นานก็จะสำเร็จ

 

แต่ถ้าหากความฮึกเหิม พาใจไปสู่จุดที่ใจเร่งร้อน

จะเอามรรคผลเพื่อตัวตน เพื่อตัวเอง

ก็เปรียบเหมือนเจาะไปจะถึงอยู่แล้ว ก็วกกลับมาหาเขตเก่า

ที่เต็มไปด้วยพายุ ฝุ่นทราย ของสกปรกเน่าเหม็น

 

คงเข้าใจนะ จะนั่งสมาธิ เจริญอานาปานสติ ก็ตาม เดินจงกรมก็ตาม

แล้วเกิดความรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้เป็นของอื่น ไม่ใช่บุคคล

ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา และที่สำคัญ ไม่น่าเอา

ตรงนี้ อยู่กับตรงนั้นไป อยู่กับความเฉย

ที่จะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่น่าเอา สิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา ถูกที่สุดแล้ว

เป็นการบ่มกำลัง ให้จิตหลุดพ้น

จากความยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนแล้ว

อย่าไปทำอย่างอื่นเพิ่ม

 

ถ้าทำ คือวกกลับ ถ้าไปต่อ คือยังมีอาการสักแต่ว่าอยู่

นั่นคือเดินหน้าและในที่สุดก็ถึงจนได้ อย่าใจร้อน

 

มาสวดมนต์เพื่อที่จะขอบคุณพระพุทธเจ้าร่วมกันนะครับ

 

(ตั้งนะโมสามจบ สวดบทอิติปิโสฯ ร่วมกัน)

 

-------------------

น้านี

 

พี่ตุลย์ : แต่ละวันจะเห็นความผ่องใสที่ต่างไปในแต่ละครั้ง

เวลาทำสมาธิ หรือเดินจงกรม แต่ละวันจะไม่เหมือนเดิม

บางวันเบาใส บางวันขุ่น หรือหนักๆ

 

ถ้าเราสังเกตโดยความเป็นของไม่เที่ยงของจิต

เราจะได้ความคืบหน้าทุกครั้ง

 

แต่ถ้าเราสังเกตโดยการเล็งว่า จะเอาแต่สมาธิดีๆ

ก็จะมีความผิดหวังบ้าง ไม่ได้อย่างใจบ้าง ตัวเราทำสมาธิได้ดีบ้าง

สมาธิที่เป็นสมบัติเราเสื่อมไป หายไป

เรากระเสือกกระสนอยากเอากลับมาให้ดีดังเดิม

 

แต่ถ้าอย่างวันนี้ ทำได้ด้วยความรู้สึกว่า ใสเบา รู้สึกดี

และมองว่าเป็นจิตที่มีความเป็นกุศล จิตเปิดๆ กว้างๆ ใสๆ

แตกต่างไปจากระหว่างวัน ที่อาจมีความหรี่แคบกว่านี้ ผ่องใสน้อยกว่านี้

 

แต่ช่วงนี้ของพี่ จังหวะนี้ พอเรารู้สึกถึงความว่าง หายใจออก

รู้สึกถึงความว่าง หายใจเข้า

ไม่ลืม มีความรับรู้เหมือนเห็นฟ้าทั้งฟ้าได้ หายใจออก

 

ไม่อย่างนั้น พอเราผ่องใสไปเรื่อยๆ แล้วลืมมอง

ว่าความผ่องใสเป็นแค่อาการหนึ่งของจิต สภาวะหนึ่งของจิต

จะลืม และมีตัวเราเป็นผู้ผ่องใส

มีสมาธิของเรา ที่ดีหรือไม่ดี และจะประกอบความคิดโดยไม่รู้ตัว

 

มาถึงตรงนี้ ตัดสินง่ายๆ เลย ถ้ามีความคิดขึ้นมา

อย่างวินาทีนี้เลยมีกระแสความคิดขึ้นมา แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นผู้คิด

นี่คือจิตยังยึดถือว่าสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นความคิดเป็นตัวตน

 

แต่ถ้าหากมีความผ่องใส แล้วมีความคิดโผล่มา

กระแสความคิดรั่วรดหัว แล้วมองเห็นเหมือนสายน้ำ

มองเหมือนเศษสภาวะอะไรบางอย่าง ที่ปลิวมาจากข้างนอก

กระทบจิตที่เป็นภายใน จะเกิดความรู้สึกว่าความคิดไม่ใช่เรา

 

ถ้าสะสมไปมากแล้ว จิตจะปฏิเสธไม่เอาความคิดเข้ามาบ่อยๆ

ที่สำคัญ ยิ่งเจอความคิดมากระทบจิตมากเท่าไหร่

ยิ่งเกิดความรู้สึก เป็นปฏิกิริยา ว่าความคิดนั้น เป็นของอื่น

ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายในมาก่อน และจะไม่ได้ตั้งอยู่ภายในตลอดไป

 

มันมาเพื่อไป เพื่อหายไป เพื่อให้ดูว่ามันไม่ใช่ตัวเรา

ให้ดูว่า ไม่ใช่ของๆ เรา เพื่อให้ดูว่าไม่มีค่าอะไรเลย

เหมือนเศษฝุ่นทรายปลิวมากระทบ

ขออย่าเข้าตาแล้วกัน ขอให้มีกระจกกั้นตาไว้

เราจะเห็นตามจริงว่าฝุ่นมากระทบแล้วก็หาย

 

แต่ถ้าปล่อยให้เข้าตา ไม่มีอะไรมากั้นไว้ ไม่มีสติมากั้นไว้

ไม่มีกำลังสมาธิมาเป็นแก้วใสๆ พอเข้าตาก็จะรู้สึกเหมือนต้องดิ้นรน

ต้องมีอาการ พอผงเข้าตา จะมีอาการแสบคัน

เรียกว่าความคิดเข้ามากระทบจิตเต็มๆ

 

แต่ถ้ายังมาไม่ถึงจิต จิตเห็นก่อนว่าเป็นฝุ่นทรายที่ปลิวอยู่ข้างนอก

กระทบแค่ขอุเบกขาองจิตที่เป็นสมาธิ ที่เป็นสติ ใสๆ

รู้ว่ามันไม่ใช่อะไร ก่อตัวมาเหมือนพายุ และหายไปในความว่าง

 

ใจต้องมีความว่างเป็นฐานที่ตั้งก่อน

ถ้ารู้สึกถึงความผ่องใสหายใจออก เรียกว่า มีฐานของความว่างเป็นที่ตั้ง

พอความคิดผุดมาก็จะรู้สึกว่าพอหายไป

จิตก็กลับมาอยู่กับความว่างของตัวเอง

 

ตรงนี้สำคัญนะ ให้เทรนตัวเองให้มีความคุ้นชิน

ชำนาญกับการเห็นอย่างนี้

พอจิตผ่องใส หายใจออก

จนรู้สึกว่าความผ่องใสนี้ คือสภาพหนึ่งของจิต

 

ตัวนี้จะมีความว่างเป็นฐานรองรับสติ แบบที่เห็นว่า

ความคิดเกิดขึ้น แล้วหายไป

กลับมาอยู่กับความว่างผ่องใสของจิตเหมือนเดิม

 

เมื่อกี้ที่พูดไป รู้สึกตามไหม

ตอนแรกพอมีความคิด เป็นความคิดแบบที่เราคิด

แต่พอเริ่มเห็นว่าความคิดผุดมาเป็นส่วนเกิน กระทบจิตแล้วหายไป ความรู้สึกจะเป็นอีกแบบ ลองช่วยแชร์หน่อยครับ

 

น้านี : จิตบางครั้งก็เผลอ บางครั้งก็เกิดเวทนา

แต่เมื่อกี้ที่อาจารย์พูดนำ ก็เห็นตาม พยายามปฏิบัติ แล้วแต่จิตจะพาไป

 

พี่ตุลย์ : ต่อไปอย่ามองแค่เผลอไป

แต่มองว่ามีความคิดเข้ามา ความคิดเป็นตัวเรา

มีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้คิดอยู่

 

ถ้าจำได้ขึ้นใจว่าต่อไปนี้ อย่าไปมองว่า

เรากำลังเผลอไป หรือมีเวทนาอะไรต่างๆ

 

เอาแค่เห็น หรือไม่เห็น ว่ามีความคิดโผล่มา

มีความรู้สึกที่เป็นของอื่นโผล่มา แล้วเรารู้ว่าเป็นแค่ภาวะ

ที่ผุดมาท่ามกลางความว่าง แล้วหายไปจากความว่าง

เหลือแต่ความว่าง ของจิตที่ผ่องใสอยู่

 

ถ้ารู้อย่างนี้ได้เรื่อยๆ

จดจ่อกับความเที่ยงของความคิดไปเรื่อยๆ

จะไม่มีคำว่าเผลอ

 

มีแต่การที่ความคิดโผล่มาตอนแรก

แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ แล้วเราไม่รู้ตัว

 

พอเรารู้ทัน มีความชำนาญที่จะสังเกตเห็นตรงนี้

ต่อไปจะใช้ประโยชน์จากภาวะความคิดผุดขึ้นชั่วคราวได้มากขึ้น

ว่ามันมาเพื่อให้รู้ว่าของอื่นมากระทบ แล้วหายไป

 

น้านี : ไม่ได้เดินจงกรม เพราะร่ายกายไม่เอื้อ

 

พี่ตุลย์ : ไม่เป็นไร  ผมบอกไว้แล้ว

ความสะดวกทางสรีระแต่ละคน บางทีเอื้อบ้างไม่เอื้อบ้าง

แม้แต่คนที่อยู่วัยกลางคน มีปัญหาเรื่องคอ ผมก็บอกทำได้เท่าที่จะทำ

ถ้าพี่รู้สึกว่านั่งสมาธิยังสะดวกอยู่ ผมก็เห็นว่ายังคืบหน้าไป ที่

เราเสริมไปวันนี้ ขอให้จำให้ขึ้นใจว่ามีความคิด ความรู้สึก

ที่พี่บอกว่าเป็นเวทนา โผล่มา

 

ถ้าเราเป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ก็จะรำคาญทุกขเวทนานั้น

แต่ถ้าเราเป็นนักเจริญสติเต็มขั้น ก็เห็นว่า

ทุกขเวทนานั้น เกิดทางกายหรือทางใจก็ตาม เกิดจากเหตุปัจจัย

เช่นอวัยวะนั้น ชำรุดหรือก่อให้เกิดความเสียดแทง

เราเห็นว่านั่นเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนา

และรู้ได้ว่าเหตุปัจจัยนั้น ไม่คงที่

 

อย่างตอนที่พี่ชูมือขึ้นไปแล้วรู้สึกว่าง

รู้สึกมีความสุขหายใจออก หายใจเข้า

ตอนที่จิตอินไปกับความสุขนั้น จะเห็นว่าสภาพทางกายผ่อนคลายลง

ก็มองว่าสภาพทางจิตที่ดีๆ เป็นเหตุปัจจัยที่มาแทนทุกขเวทนาได้

เป็นสิ่งที่พอเราเห็นแล้วว่า อะไรๆ ที่เป็นความรู้สึก ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี

ล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ใช่เกิดเองลอยๆ

 

แค่นี้เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิด

ถ้าผุดขึ้นแล้วเห็นว่าเป็นเศษภาวะที่ลอยมาแล้วหายไป

ตรงนี้จะได้เป้าจากการเจริญอานาปานสตินะครับ

--------------------

 

นา

 

พี่ตุลย์ : ตอนเริ่มก้าวเดิน รู้เท้ากระทบอย่างเดียวดีแล้ว

แต่ขอให้สังเกตด้วยว่าถ้ารู้เท้ากระทบแบบที่ใจเบา เปิดๆ

จะคงค้าง รู้สึกผนังด้านที่จากมาโดยไม่ต้องไปกำหนด

 

แค่สังเกตว่าถ้าจิตเปิด จิตใสใจเบา

จะรู้สึกถึงตำแหน่งที่ตั้งของผนังด้านที่เราเดินจากมา

คงค้างเองที่เบื้องหลังโดยไม่ต้องไปกำหนด ไม่ต้องเพ่งอะไรเพิ่ม

 

จุดสำคัญที่เราได้จากตรงนี้ จะเห็นว่าจิตเคยชิน ที่จะรู้สึกถึงกายจริงๆ

ไม่อย่างนั้นต่อให้หลับตาเดินแค่ไหน ถ้าไม่มีสติ

อย่างไรก็ต้องเดินเป๋ ชน กะระยะไม่ถูก สติอยู่กับเราแน่ๆ

 

ทีนี้ สังเกตว่าสตินั้นปรุงแต่งให้จิต เกิดความใสเบา

เห็นชัดว่าวัตถุนี้ หมายเลข หนึ่ง ที่เป็นร่างกาย

วัตถุสอง หมายเลขสอง คือผนัง เป็นวัตถุเสมอกัน

อย่าเอาแค่ความเคยชินที่จะหลับตาเดินให้ดี

 

ตอนที่รู้สึกถึงเท้ากระทบ แค่สังเกตว่าจิตใสใจเบา

จิตมีความรู้สึก สัมผัสถึงสิ่งที่อยู่รอบด้านไปด้วยหรือเปล่า

ถ้าสัมผัสถึงสิ่งที่อยู่รอบด้านไปด้วย บอกตัวเองเลยว่า

นี่จิตเปิด จิตใส เพราะถ้าไม่ใส ไม่เปิดพอ

ไม่มีทางที่จะสัมผัสสิ่งที่อยู่รอบด้านได้

 

สังเกตเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นว่า มีความปรุงแต่งของจิต

แตกต่างไปเรื่อยๆ เห็นไหมแต่ละรอบไม่เหมือนกัน

รอบนี้จิตเปิดเสถียรกว่าแต่ยังมีความคิดที่ยุบยิบอยู่บ้าง

 

ตรงที่เราเห็นว่า จิตเปิดมากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังมีความคิดอยู่

จะมีประโยชน์มาก เพราะจิตที่เปิดใส เวลามีความคิด

จะเห็นความคิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในหัว แต่ใจเป็นอีกส่วน

เป็นความรู้สึกว่างๆ ที่อยู่ลงมากลางอกบ้าง

 อยู่ลงมาเป็นความรู้สึกเต็มตัวบ้าง

 

ถ้ารอบไหนลืม.. ตอนหยุด กลับมาสู่จุดเริ่มต้น

ฝ่าเท้ามาก่อนเลยเป็นอันดับแรก เดินรู้เท้ากระทบอย่างเดียวเลย

เสร็จแล้ว พอไปถึงจุดยืนเท้าเสมอกัน ก็ให้รู้สึกอยู่กับเท้า

 

เห็นไหมกลับมาเอง หัวตัวแขนขาครบเลย ด้วยจิตใสใจว่าง

เราเทียบว่าธาตุดิน หนึ่ง สอง มีความเป็นวัตถุเสมอกัน มีช่องว่าง

ถ้าเรารู้สึกถึงความคงที่ มีธาตุดิน หนึ่ง สอง

มีช่องว่างปรากฏให้จิตสัมผัสรู้สึก นั่นแหละตรงนั้นจิตเปิดแล้ว

 

ถ้ายังคงค้างเศษความคิดเหลืออยู่บ้าง

จะเห็นชัดว่าความคิดเป็นส่วนเกิน

จุดที่อยู่เป็นหลักคือธาตุดิน หนึ่ง สอง พร้อมอากาศว่าง

พร้อมระยะห่างเป็นที่ตั้ง

 

ถ้า ธาตุดิน หนึ่ง สอง ไม่มีอากาศว่างเป็นที่ตั้ง

ไม่มีระยะทาง ไม่มีระยะห่าง ธาตุดินทั้งหลายปรากฏไม่ได้เลย

จะผสมกันเป็นก้อน ไม่มีทางที่จะแยกเป็นวัตถุชิ้นที่ หนึ่ง สอง สาม สี่

แต่จะมีวัตถุชิ้นเดียวอยู่ทั้งจักรวาล ไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างให้ต่างกัน

 

แต่เพราะมีช่องว่าง ทำให้เกิดวัตถุชนิดต่างๆ ขึ้นมาได้

ต้องมาให้ถึงจุดที่จิตใสใจเบา สัมผัสได้ถึงความเป็นวัตถุธาตุทุกรอบ

และถ้ารอบไหน มีความฟุ้งซ่านโผล่มา ก็ดูเป็นสภาวะที่ผุดมา

 

ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ

สำคัญกว่าความสามารถในการเดินหลับตา

เพราะจะทำให้เกิดมุมมองภายใน

รู้ว่าเรากำลังเห็นกายใจโดยความเป็นธาตุ หรือความเป็นบุคคล

 

โจทย์มีง่ายๆ แค่นี้ ทำอย่างไรก็ได้ให้กายใจนี้ปรากฏโดยความเป็นธาตุหก หรือปรากฏโดยความเป็นขันธ์ห้า

 

ตอนเห็นเศษความคิดปลิวมาในหัว แล้วรู้ว่าความคิดนั้น

สักว่าเป็นอาการปรุงแต่งจิต ชนิดหนึ่ง

แค่นั้นเห็นเป็นขันธ์แล้ว

 

แต่ถ้ารู้สึกว่ากายนี้เป็นวัตถุ เสมอกับวัตถุอื่น

นี่คือเห็นเป็นธาตุ

 

พอจิตเปิด ไม่หมกมุ่น ก็เข้าข่ายว่า

จิตมีสภาวะใกล้เคียงกับการรู้การเห็นแบบ สักแต่ว่า

 

ถ้ามีความเสถียร ถ้ามีความรู้อย่างเดียวเห็นตามจริงอย่างเดียว

สักแต่ว่าๆ นี่ .. นั่นแหละคือพลัง ที่จะขับให้เราไปถึงเส้นชัย

 

ถ้ายังมีความคิด ถ้ายังมีความวอกแวก แล้วสติตามไม่ทัน

ปล่อยให้ใจตัวเองอยู่ในอำนาจคฟุ้งซ่าน เหม่อลอย หรือวอกแวก

อย่างนั้น พลังการรู้หรือ สติที่จะปรุงแต่งให้จิตว่างพอจะทิ้งก็ไม่เกิดขึ้น

 

ตัวที่จะทิ้งความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนได้

ต้องมีความว่าง ต้องมีความเข้าใจ ที่จะนำไปสู่อาการสักแต่ว่าๆ

 

คนทั่วไปถ้าได้ยินคำว่า สักแต่ว่า

ใช้ชีวิตแบบอะไรๆ มากระทบแล้วสักแต่ว่าๆ

ก็จะหาว่าดูเป็นคนไม่เต็มเต็ง

 

แต่ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยกำลังของจิตที่มีอาการเต็มดวง

จิตที่ผ่องใส มีอาการเบา จะรู้เลยว่าอาการสักแต่ว่า

คือความฉลาดขั้นสูงสุด เป็นความฉลาดอีกแบบ

ไม่ใช่การฉลาดทางความคิด แต่เป็นฉลาดทางจิต

ไม่ติดหล่ม ไม่ติดกับทำให้ไม่ทุกร้อน

ทำให้ไม่ติดกับ ทำให้เกิดใหม่แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

 

ตอนเจริญสติได้ถึงจุดหนึ่ง ตอนยักแย่ยักยัน ครึ่งๆ กลางๆ

บางทีจะรู้สึกเหมือนคนโง่ๆ เหมือนไม่คิดอะไรเลย

ไม่เอาอะไรเลย จิตปล่อยหมด

 

แต่พอไปถึงความตั้งมั่นอยู่กับความเป็นเช่นนี้แล้ว

จิตจะรู้เองว่าจิต แบบนี้แหละที่ฉลาดสูงสุด ที่จะเอาตัวรอดได้จริง

 

จิตแบบอื่น ที่คิดว่าฉลาดทางความคิด ฉลาดที่จะคิดค้น

คิดหาอะไรเข้าตัว แบบนั้นแหละ ที่ยังต้องอยู่ในกรงต่อ

อยู่ในเส้นทางทุรกันดารต่อ

 

เราเดิน เหมือนเดินกลับกลับไปมา แต่จิตไปไกลขึ้นเรื่อยๆ

คนมองว่าเดินทางไกลจะไปให้ถึงอะไรสักอย่าง

ต้องเดินเป็นเส้นทางตรง

แต่ถ้าเป็นการเดินเอามรรคผล คือเดินแบบให้สติเจริญได้

คือเดินกลับไปมา ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้จิตได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า

กายใจไม่ใช่ใคร เป็นขันธ์ห้า เป็นธาตุหก

 

นา : ตอนมีความคิดขึ้นมา พี่ตุลย์บอกให้หยุดรู้ที่เท้า

เหมือนความคิดหายไป มีสติกลับมารู้ตัวเอง

พออยู่ที่เท้า ไปรู้เท้ากระทบพื้น

ก็ทำให้จิตกลับมาอยู่กับการเดิน ไม่ได้ส่งจิตไปข้างนอก

ตอนพี่ตุลย์อธิบายให้รู้จักวัตถุหนึ่ง วัตถุสอง

เหมือนห้องมีอากาศว่าง

 

พี่ตุลย์ : จุดประสงค์หลักคือ

เราจะเห็นกายนี้เป็นวัตถุเสมอกับวัตถุอื่น นี่เป็นตัวแรก

 

จากนั้นก็จะเกิดการรับรู้เอง ถ้ารู้วัตถุแยกกันได้

ก็จะรู้ที่ตั้งวัตถุ และรู้ระยะห่าง ระหว่างวัตถุนี้กับวัตถุอื่น

 

ตรงที่เรารู้สึกถึงระยะทาง ระยะห่างได้ นั่นคือการสัมผัสอากาศว่าง

เป็นไปไม่ได้ที่อยู่ๆ จะรู้อากาศว่างทั้งห้อง นั่นเป็นของยาก

แต่จะเป็นไปได้ที่เราเริ่มต้นรู้ว่า

วัตถุหมายเลขหนึ่ง และหมายเลขสอง อยู่ห่างกันแค่ไหน

 

อย่างเช่น นาอาจลืมตาทุกรอบก็ได้

ไม่ใช่เพื่อบอกว่าเราไม่สามารถรู้ ไม่สามารถเก็งจากการหลับตา

แต่เป็นไปเพื่อที่จะ ทำความรู้สึก ถึงระยะห่างกายกับผนัง

 

ถ้าเรารู้สึกถึงระยะกาย กับผนั งราวกับว่าม่านหมอก หายไป

หลับตาลงมา แล้วยังจำได้ว่าระยะห่างแค่นี้

จะรู้สึกสัมผัสอากาศว่างได้ง่ายๆ

 

ที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่ดี เพราะการที่เราสามารถเดินหลับตาได้แม่น

หมายถึงสติขั้นพื้นฐานเราดีพอ ที่จะต่อยอดเป็นอะไรก็ได้

และถ้าหากการต่อยอดนั้นแม่นยำ ตรงทิศทาง

ว่าเราจะเอาการรับรู้ว่า กายนี้เป็นวัตถุ เสมอวัตถุอื่น มีช่องว่างคั่นอยู่

สมาธิ จะกระโดดขึ้นไป

 

จากเดิม ที่มีแค่ความสามารถในการเดินหลับตา

จะกลายเป็นว่า เราสามารถรู้สึกสัมผัสได้ว่า

วัตถุนี้กับวัตถุอื่น มีช่องว่างห่างกันแค่ไหน

และใจใสๆ จะทำให้อากาศว่างใสตาม

เหมือนกับเขี่ยเอาฝุ่นผง ม่านหมอกหายไป

กลายเป็นความใสกระจ่าง

 

ตรงที่เราเห็นได้ถึงวัตถุ และอากาศว่าง หายใจออก

เห็นได้ถึงวัตถุ อากาศว่าง หายใจเข้า

ก็จะกลายเป็นสมาธิอีกแบบ

เป็นสมาธิ ที่รู้สึกว่ากายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นธาตุจริงๆ

 

นา : มีประสบการณ์ ได้ยินสักแต่ได้ยิน ตอนดูนักเรียนเล่นคอนเสิร์ต

เหมือนได้ยินเสียง แล้วใจรู้สึกว่าสักแต่ได้ยิน

 

พี่ตุลย์ : ไม่ได้คิดเอง แต่ยังเป็นจิตแบบธรรมดา

เรามาปฏิบัติ เราพอกพูนกำลังสติสมาธิมากขึ้น

และไปต่อยอดเอาในระหว่างวัน

 

แต่อย่างที่นาว่า กรณีเราได้ยิน เหมือนสักแต่ได้ยิน

และรู้สึกเหมือนจิตเป็นกลาง ไม่มีความรู้สึกในเรา

เป็นภาวะอะไรอย่างหนึ่ง ที่เหมือนสักแต่รับรู้ ไม่มีปฏิกิริยา

มีแต่จิตเปล่าๆ เหมือนเข้าไปอยู่ในภาวะจิตเปล่าๆ

ที่ไม่ได้ตัดสินอะไรเลย จำอะไรไม่ได้เลย

 

ถูก และเห็นจริง

แต่ยังไม่ได้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เป็นแค่ภาวะชั่วคราวที่เกิดจากการสะสมมา

 

ทั้งเดินจงกรมหลับตา ทั้งสมาธิมือไกด์

ทั้งความเข้าใจที่เรามาคุยกัน เกี่ยวกับเรื่องการไม่ใช่ตัวตน

อาการสักแต่ว่า มันมาประชุมกัน ถึงจุดที่รับรู้ เรียกว่า ขณิกสมาธิ

 

ขณิก- แปลว่าชั่วคราว สมาธิ แปลว่าตั้งมั่น

มันตั้งมั่นชั่วคราว อยู่ในอาการรับรู้อย่างเป็นกลาง เป็นอุเบกขา

 

ทีนี้ ในแง่ที่เป็นขณิกสมาธิ มีประโยชน์อย่างไร

 

มีประโยชน์ตรงที่เราจะรู้ว่า เหมือนเห็นหนัง teaser

รู้ว่าอาการสักแต่รู้ หน้าตาเป็นแบบนี้

ถามว่า เอามาเจริญต่ออย่างไร

พอได้ความเข้าใจจากประสบการณ์ตรงแบบนี้แล้ว

 

เราก็ทำต่อ ทั้งในแง่นั่งสมาธิ เจริญอานาปานสติ

และในแง่ดูกายใจ เพื่อให้รู้ว่ากายนี้

มีความเป็นวัตถุธาตุเสมอกับวัตถุธาตุอื่นๆ

 จนเรารู้สึกถึงกำลัง รู้สึกถึงความเสถียร ที่จะรับรู้ว่า

วัตถุนี้ (กาย) และวัตถุอื่นเสมอกัน

 

ของนา ที่เสถียรเล็กๆ คือรู้สึกเท้ากระทบ และทางตรง

ไม่วอกแวกเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

 

สติแบบนี้ถ้าเจริญไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้บรรลุมรรคผลเอง

แต่อยู่ในทิศทาง มีการสะสมกำลัง มีพื้นฐาน มีกำลัง

อย่างที่เราได้ประสบการณ์ตรง ว่าอยู่ระหว่างวัน

แม้ไม่ได้พยายามเจริญสมาธิ เจริญสติอะไร

แต่เศษภาวะที่รวมตัวกันเข้าจุด ก็ทำให้เกิดภาวะสักแต่รู้สักแต่เห็น

แล้วก็ไม่มีใครเป็นตัวเราอยู่ในจิต

 

พอมีความเข้าใจทั้งหมด เป็นภาพรวม ก็เดินต่อ

แต่เดินแบบเข้าใจ มีสติ เตือนตัวเองมากขึ้นว่า

แต่ละรอบล้วนแล้วแต่เป็นโอกาส ในการสะสมประสบการณ์

ที่จะเกิดจิตสัมผัส ถึงความเป็นวัตถุนี้ และวัตถุอื่น

 

สัมผัสถึงความเป็นช่องว่าง ระหว่างวัตถุนี้

และพอมีความคิดอะไรก็รู้ทัน เห็นว่า

ความคิดเป็นเศษภาวะที่โผล่มาในธาตุดินนี้

โผล่มาแป็บหนึ่งแล้วหายๆ เรียกว่าเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ห้า

เห็นไปเรื่อยๆ จนเกิดความตั้งมั่นในการเห็นระหว่างเดินจงกรมได้

ก็จะรู้สึกว่าในระหว่างวัน ก็จะมีความตั้งมั่นแบบเดียวกัน เกิดขึ้นบ่อยขึ้นๆ

 

ถ้าเกิดครั้งหนึ่งก็จะเกิดอีกเรื่อยๆ

เพราะสิ่งที่เกิดเองโดยไม่ตั้งใจ เป็นสัญญาณบอก

เป็นหลักฐานยืนยันว่า ที่เราทำมาพร้อมจะเข้ารวมจุด

เกิดเป็นประสบการณ์ สักแต่ว่าขึ้นมาโดยไม่ต้องตั้งใจ

 

ถ้าตั้งใจจะไม่ใช่สักแต่ว่า แต่เป็นไปเพื่อตัวเรา

แต่ถ้าไม่ตั้งใจ เป็นไปเพื่อธรรมะ ที่จะไปต่อในทางวิปัสสนา

ไปต่อในทางรู้แจ้งเห็นจริง การรู้ตามจริง เป็นสิ่งที่เกิดได้ยากมาก

 

คนธรรมดา แค่ยอมรับว่าแพ้ ยอมรับว่าเสียไปแล้ว

แค่นี้ ดิ้นปัดๆ ทุรนทุรายจะเป็นจะตาย

ความสามารถในการยอมรับตามจริง แค่พื้นๆ ที่เห็นชัดๆ ยังทำไม่ได้

 

แต่ความสามารถในการยอมรับตามจริง ในแบบของนักเจริญสติ

ขึ้นต้นจากอะไรง่ายๆ กำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า

เห็นว่าสิ่งที่กำลังปรากฏตามจริงเป็นลมหายใจ เข้า หรือ ออก

 

พอตามทันได้บ่อยๆ ก็จะเป็นการปรับจิตให้ตรง

อยู่ในทิศทางที่จะเห็นตามจริง

และเมื่อไหร่ที่จิตรวมเป็นสมาธิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ต้องตั้งใจแล้ว แต่จะเห็นเอง

 

เห็นตามจริงขึ้นมาเอง รู้ตามจริงอย่างต่อเนื่องด้วยใจที่สงบราบคาบ

 

ตรงที่เราพูดกันว่าเห็นตามจริง รู้ตามจริง

ไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด

กำลังของสติต้องเติบกล้าขึ้นเรื่อยๆ

 

----------------

ภัทร

 

-     เท้ากระทบใช้ได้ แต่ยังกะระยะไม่ชำนาญ ยังคำนวณในใจ

-     ดูอาการของจิตหดเกร็ง วูบๆวาบๆ ใจไม่เสถียร พร้อมเท้ากระทบ

-     ช่วงแรกใจหด พะวง แต่พอไม่กลัว จะเกิดสติที่จับสังเกตดีขึ้น

-     ใจที่อยู่ในอาการหด คือใจที่ไม่พร้อมจะกะระยะ

 

----------------

เมย์

 

พี่ตุลย์ : การหลับตาเดินทำให้ฐานจิตดีขึ้น สติดีขึ้น

รับรู้ความเคลื่อนไหวตัวเองและสิ่งรอบด้านระหว่างวันได้ชัดขึ้น

พร้อมต่อยอดพิจารณากายใจโดยความเป็นขันธ์ห้า

จะเห็นชัดว่าความคิดผุดเมื่อไหร่หายไปเมื่อไหร่

 

เมื่อจิตใส จะเห็นชัดเจนว่าภาวะทางกาย ที่ไปยืนเผชิญกับหน้าต่าง

เป็นวัตถุเสมอกันอย่างไร มีระยะห่างจากกันแค่ไหน

ที่รับรู้ได้ชัดขึ้นจะบอกตัวเองได้ว่า เกิดความรู้สึกบ้างไหมว่า

นี่ไม่ใช่ตัวตน สักแต่เป็นวัตถุ สักแต่เป็นธาตุ

 

ก็จะตอบตัวเองได้ว่า รู้สึกชัดขึ้นๆ

สัมผัสถึงอากาศว่างชัดตอนจิตแผ่ออก แต่ก็อาจหรี่ลงบ้าง

แต่ข้อสรุปจะบอกตัวเองว่ายิ่งทำยิ่งเห็นชัดขึ้น

 

ความมีจิตใสใจเบา กายใจสงบระงับจะทำให้รู้สึกเต็ม อิ่ม

จิตเบิกบานมากขึ้น อาจไม่ใช่ถึงขนาดล้นฟ้า

แต่เบิกบานในแบบที่ไม่มาขมุกขมัวกับอารมณ์ ที่จมในระหว่างวัน

จะพร้อมที่จิตจะออกไปสู่ความสดใส สู่ภาวะเปิดกว้าง

 

ความรู้สึกจะเปิดรอบมากขึ้น ระหว่างวัน

เหมือนเข้าใจความนิ่งและความเคลื่อนไหว ของตัวเองและรอบตัว

พอพร้อมทะลุออกไปจากข้อจำกัดทางแก้วตานี้

การตัดสินใจจะดีขึ้นไปด้วย

 

เมย์ : ที่เด่นคือรู้สึกเข้ามาที่ตัวเอง ปีติเป็นช่วง แต่สั้น

เวลาไปยืนตรงหน้าต่าง จะรู้สึกกว้างๆ ไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่า

 

พี่ตุลย์ : ตัวที่จะเป็นความคืบหน้า ไม่ใช่กระโดดขึ้นมาเห็นชัดเป็นตาทิพย์

แต่จะรู้สึกถึงสัมผัส ระหว่างวัตถุนี้กับวัตถุอื่น มีช่องว่างคั่นอยู่

จะเริ่มเห็นจากรางๆ และตรงที่จิตเปิดเบิกบาน

จะมีปีติ มีความรู้สึกเอิบอาบ มาทีละนิดละหน่อย

และพอจิตเสถียรกว่านี้ ความเอิบอาบจะยิ่งเบ่งบาน สว่าง โล่ง

 

ตอนแรกความสว่างโล่ง จะทำให้เราเหมือน

ไม่สามารถสัมผัสถึงอะไรได้ นอกจากแผ่กว้างโล่งออกไป

แต่ถ้าเราแม่นยำ อย่างบางที พี่แนะนำให้ลืมตาแวบหนึ่ง

นิดเดียวตรงจุดหยุด จิตจะได้มีทิศทางชัดว่า

ตรงนี้เราไม่ได้เอาแค่ความว่าง หรือปีติ

แต่จะเอาความสามารถของจิตที่มีสัมผัส

 

เหมือน sixth sense แต่ไม่ใช่ sixth sense ที่เราจะไปรู้อนาคตหรือภาพอะไร

แต่ในแง่ที่เราจะสัมผัสว่า นี่คือวัตถุ นั่นคือวัตถุ

และความเป็นวัตถุ จะชัดขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังความสว่าง ความใสของจิต

 

เดินไปอย่างนี้ เรื่อยๆ สะสมความสว่าง ความใส

ซึ่งเรารู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ว่าจะดีขึ้นๆ ทุกวัน

 

ข้อดีของเดินจงกรมหลับตาคือ แต่ละวันที่เราเดินเพิ่ม

ไม่มีทางที่จะอยู่เท่าเดิมหรือถอยหลัง

เพราะอย่างน้อยสุดเราจะต้องเดินตรงทาง ไม่ชน เราต้องไม่ล้ม ไม่เป๋

 

แค่นี้ ต้องมีสติเป็นตัวประกันแล้ว อันดับหนึ่ง

และสติจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จิตมีความเบ่งบาน ใส กว้างออกไป

จนที่สุดแล้วมันจะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ใจกะเทาะ แหวกม่านหมอกที่หนาออกไป

กลายเป็นเห็นด้วยตาอีกตา ด้วยจิตทั้งดวง

 

จิตที่ใส เต็มทั้งดวง จะเหมือนเดินไปโดยที่ไม่มีใครเดิน

และเห็นโดยไม่ต้องเปิดตา จะชัดกระจ่างแบบว่า

เราไม่ต้องถามใคร รู้ได้ด้วยตัวเองว่าเห็นได้จริง

 

ของเมย์ ระหว่างวัน จะมีความเบิกบานมากขึ้นๆ

มีสัมผัสถึงอะไรรอบด้าน ตำแหน่งไหนจะรู้เป็นระยะ

มีผลทำให้เราไม่จมอยู่กับความคิดหมกมุ่น กับอารมณ์แบบใดแบบหนึ่ง

รู้สึกก้าวข้ามอารมณ์ง่ายขึ้น แม้มีอะไรตกค้างอยู่บ้าง

เราจะรับรู้อาการเหล่านั้นโดยความเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นขยะ ที่เราไม่หวง

 

จะมีความรู้สึกว่าจับต้องได้ด้วยใจว่า เป็นวุ้น เป็นสภาพที่ไม่น่าพิสมัย

และเราพร้อมถ่มทิ้ง เหมือนถ่มเสลดออกจากปาก

เป็นเครื่องยืนยันว่า สติที่เกิดในช่วงนี้ เกิดจากเหตุปัจจัย

เราทำสมาธิ เดินจงกรม และมีความเข้าใจว่า

เราจะทำไปเพื่อจะเห็นว่าสภาวะทั้งหลาย

ไม่ว่าภายนอกภายในแป๊บหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็หายไป

 

เมย์ : ใช้ใช้วัสดุมาวางเป็นจุดสังเกต

ทำให้เดินหลับตาสบายใจขึ้น เดินเร็วได้

 

พี่ตุลย์ : ก็เป็นสิ่งที่แชร์ให้เพื่อนๆ เข้าใจ

ตั้งแต่แรก พี่ก็แนะนำให้เอาอะไรมาวาง กั้นไว้ จะได้สัมผัสที่เท้า

แต่พื้นที่แต่ละคนก็แล้วแต่ ถ้าหากสะดวกที่จะเอาอะไรมาวาง

ก็เป็นวิธีหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะชนหรือไม่ชน

 

เมย์ : ไม่ค่อยเดินนาน แต่เดินบ่อย

 

พี่ตุลย์ : ดีกว่าเดินนาน เดินทีละน้อยๆ แต่เดินบ่อยๆ

ที่เราเกิดปีติ สำคัญมาก เพราะตัวปีติ ความเบิกบาน

จะก่อตัวน้อยหรือมากในแต่ละครั้ง ถ้าหากมากขึ้นๆ จะเกิดฉันทะ

 

ที่บอกเดินบ่อยๆ ตอนแรกๆ เดินแป๊บหนึ่ง

ขอให้มีอารมณ์ที่คุ้นชิน เสร็จแล้วพอเกิดปีติ จะลืม

ที่ตั้งใจจะเดินแป๊บเดียวจะกลายเป็นครึ่งชั่วโมงไม่รู้ตัว

 

พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าการได้สมาธิ แล้วมีความชุ่มชื่นเป็นตัวหล่อเลี้ยง

จะอยู่ตรงนี้ได้นาน ทำให้เราเสพปีติอันเกิดแต่วิเวก

 

วิเวก คือจิตที่ไม่ดิ้นรน จิตที่มีความพอ

ตรงนี้เริ่มต้นมาดีแล้ว เดินสั้นๆ อย่าเดินนาน แต่เดินบ่อย

ให้เกิดความรู้สึกคุ้นว่าการเดินเป็นปกติ

 

พอเกิดปีติ เบิกบานแล้ว คราวนี้ไม่ต้องขอ จิตจะเรียกร้องเอง

เป็นธรรมชาติของจิต ที่ต้องการความชุ่มชื่นเบิกบาน

แล้วเราจะรู้สึกว่ามีน้ำเลี้ยง มีตัวที่ทำให้ใจเราชุ่มชื่น

ไม่ใช่แค่ตอนเดินจงกรม แต่ตอนที่เราทำสมาธิด้วย

หรืออยู่ระหว่างวันด้วย มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้

 

เมย์ : เวลาไปเดินข้างนอก ที่กว้าง ไม่มีต้นไม้

อาศัยรับรู้รอบกว้างๆ นึกถึงพี่ตุลย์เคยสอนมะยมให้รับรู้พื้นดิน

 

พี่ตุลย์ : พี่ไม่ได้บอกอย่างนั้น พี่บอกว่า

ถ้ามีวัตถุอยู่ข้างหน้า เช่นต้นไม้ก็ใช้ต้นไม้

แต่ถ้าเป็นที่โล่ง ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นที่ตั้งของตัวเปรียบ ก็ใช้พื้นดิน

ใจเราถ้าเปิดแผ่ไป จะรู้สึกพื้นดินเป็นวัตถุ กว้างๆ ราบๆ

จะช่วยให้มีวัตถุเทียบเคียง

 

เพราะคนเราอยู่กับความรู้สึกในตัวเองมาทั้งชีวิต

รู้สึกว่าตัวตนเราแคบจำกัดอยู่แค่นี้

ต่อเมื่อไปเทียบเคียงกับภาวะอื่นที่เป็นวัตถุเสมอกัน จิตถึงเปิดออก

 

ที่บอกว่า หูตาจะสว่าง กว้างขวางขึ้น เป็นแบบนั้นจริงๆ

คือเราจะรู้สึกเหมือนมองรอบขึ้น เห็นรอบขึ้น

และเป็นการเห็นในชั่วขณะจิตเดียวว่า

กายนี้ตั้งอยู่มีความเสมอกันกับวัตถุโดยรอบ

 

ซึ่งถ้าเราเกิดประสบการณ์ตรงจนชำนาญ เราจะไม่เกี่ยงวัตถุ

 

ไปเจอต้นไม้ใหญ่ รู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า ใช้เป็นวัตถุเทียบเคียงได้

หรืออยู่ในที่โล่งจริงๆ ประเภทที่ต้องเดินจงกรมในที่โล่ง

ไม่สามารถอาศัยวัตถุเทียบเคียงได้ ก็อาศัยพื้นทั้งพื้นนั่นแหละ

เป็นวัตถุหมายเลขสอง

 

ห้องแคบจากเดิมที่เหมือนเสียเปรียบ กลายเป็นได้เปรียบไป

แคบนิดเดียวกลายเป็นตัวตั้ง เบสิกให้เรา

เห็นผนังและสิ่งรอบด้าน เป็นวัตถุล้อมรอบวัตถุ(กายนี้) ได้ง่ายเสียอีก

 

--------------------

นุช

 

พี่ตุลย์ : เดินจงกรมหลับตา พิสูจน์ความเอาจริงของแต่ละคนได้

ถ้าเอาจริง .. ไม่นาน เข้าจุด เกิดความรับรู้

พอใจใสเบา ไร้ความคิด สัมผัสได้ง่ายเลยว่า

กายนี้สักว่าเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง มีวัตถุอยู่รอบเรียงรายกระจายในห้อง

 

ระวังเรื่องการตั้งใจ เอาจิตใสใจเบา ที่ดีอยู่แล้วมาเป็นตัวตั้ง

ยิ่งมีความเบาใสต่อเนื่องเท่าไหร่ 

ความใสเบานี้มีแนวโน้มที่จะทำให้รวมดวงมากเท่านั้น

 

ตัวสำคัญสุดคือจิตใสใจเบา

 

ความตั้งใจสำคัญ และจำเป็นแค่ตอนเริ่ม

แต่พอเข้าฝักแล้ว ความตั้งใจเป็นส่วนเกิน

 

ความตั้งใจเป็นสิ่งที่ต้องมีในจุดเริ่มต้น แต่เป็นส่วนเกินเมื่อเข้าฝักแล้ว

 

พอจิตใสใจเบา แล้วรู้สึกถึงความเป็นศูนย์กลางของจิตที่สักแต่รู้

วัตถุหมายเลขหนึ่ง และวัตถุอื่นๆ มีความเสมอกัน .. แค่นั้น

ยิ่งเดินมากรอบเท่าไหร่ จิตยิ่งกระจ่าง ยิ่งเข้าใจ ได้ข้อสรุปมากขึ้นเท่านั้น

 

เดินจงกรมหลับตา ขอให้ตั้งเป้าไว้ทุกคนเลยว่า

ที่เราจะได้จุดหมายปลายทางคืออนัตตสัญญา ย้ำมากๆ เลย

 

ถ้าอนัตตสัญญาเกิดได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างท่วมท้น

ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นนานๆ

เกิดประจำโดยไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องพยายาม

นั่นแหละถือว่าเป็นเครื่องวัดว่ามาถูกทางแน่ๆ

 

ก่อนมาถูกทาง เหมือนมีขั้นตอนเยอะ

ต้องรู้เท้ากระทบจนเกิดวิตักกะให้ได้

และต้องมีจิตใสใจเบา พอ

ที่จะเทียบวัตถุหมายเลขหนึ่ง กับวัตถุหมายเลขสอง

รู้สึกถึงอากาศว่าง อาศัยลมหายใจ เป็นตัวกำกับบ้างตรงจุดหยุด

 

พอจิตเริ่มแยกเริ่มใส รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธาตุทั้งหก

ไม่ใช่เป็นส่วนเดียว ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน

จุดนั้นแค่เราปล่อยให้เกิดการรับรู้ ที่เป็นไปเอง autopilot ได้เลย

แล้วไม่ต้องตั้งใจ จิตจะเข้าทิศเข้าทาง

 

เวลาที่เริ่มเดินจะมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น

ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องตั้งใจมาก

 

ยิ่งความตั้งใจมีน้ำหนักมากเท่าไหร่

จิตยิ่งเสียความใสไปมากขึ้นเท่านั้น

 

นุช : ครั้งนี้รู้สึกเหมือนจิตบอกว่าควรหยุด ลืมตาก็พอดี

 

พี่ตุลย์ : เป็นธรรมดาของจิตที่มีสมาธิ ที่มีความใส รู้รอบ

 

นุช : ทำไมต้องเผลอไปตั้งใจ

 

พี่ตุลย์ : เป็นความเคยชิน

อย่างพอพี่ทักไป ก็เห็นว่าความตั้งใจน้ำหนักเบาลง

เป็นแค่ความเคยชิน เวลาจะตั้งใจทำสมาธิ

ถ้าไม่เริ่มต้นจากความตั้งใจจะทำได้อย่างไร

 

แต่พอเข้าฝักแล้ว จิตเป็นสมาธิแบบนี้แล้ว

ต้องมองเห็นว่าความตั้งใจที่เป็นน้ำหนักส่วนเกิน

ทำให้จิตขุ่นไม่ได้เกื้อกูลให้จิตใส เราเห็นเป็นส่วนเกินไป

แล้วใช้อำนาจความเคยชินใหม่

ที่จะสะสมจิตใสใจเบา มีแต่การสัมผัสรับรู้

 

พอเรามีประสบการณ์ จิตบอก

จะเห็นว่า ยิ่งจิตใสไร้ความคิดมากเท่าไหร่

จะยิ่งอยู่ในอาการจิตบอกมากเท่านั้น

 

อาการจิตบอก จะเหมารวมทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเรื่องระยะ

หรือความรู้สึกว่า ตัวร่างกายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง เสมอกับวัตถุชิ้นอื่นในห้อง

อากาศว่าง ที่คั่นอยู่ มีระยะห่างแค่ไหน

จิตจะบอกชัดขึ้นๆ มากขึ้นๆ แม้กระทั่งอยู่ระหว่างวัน

ก็จะรู้สึกว่าจิตบอกติดตามเป็นเงาไปด้วย

 

แล้วเราจะมีภาวะอัพเกรดของจิต

จิตที่อัพเกรดจากการฝึกอย่างนี้ดีแล้ว ทั้งสติ ทั้งสมาธิ

จะทำให้ระหว่างวันของเรา เห็นอะไรต่อมิอะไร

เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป เป็นเปลือกชีวิต

เป็นสิ่งที่มาล่อให้เราหลงไป ทำให้จิตขุ่น

มาล่อทำให้จิตเสียหายแตกพังหรือเปล่า

 

ถ้าเรามีสติอยู่แล้ว เห็นว่าภาวะจิตที่เหมือนแก้วล้ำค่านี้

คือ priority คือสิ่งที่เราจะอยู่กับมัน เป็นความสำคัญสูงสุด

ทั้งหลายทั้งปวง จะปรากฏเป็นเครื่องล่อหมดเลย

 

และเครื่องล่อเหล่านั้น ถ้าเราตั้งมุมมองว่า

สักแต่เป็นของหลอกตา เป็นมายาที่ผุดขึ้น เป็นความฝันที่จับต้องได้

แต่ในที่สุดความฝัน ก็คือความฝัน เดี๋ยวต้องสลายตัวไป

 

ตัวที่จิตพิจารณาออกมาจากสมาธิจริง

และสัมผัสถึงสิ่งที่ฟ้องตัวเองว่า เกิดขึ้นแป๊บหนึ่งๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะทางใจ จะสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ชอบก็ดี ชังก็ดี

ภาวะเหล่านั้นที่ปรุงแต่งใจไป

ล้วนแล้วแต่แสดงความเป็นตัวเองอย่างชัดมาก

ว่ามันหลอกแป๊บเดียว

 

วัตถุบางชิ้น อาจตั้งได้นาน เป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นล้านปี

แต่ภาวะภายใน ไม่มีทางตั้งได้เกินหลักนาที

มีอนิจจังขาขึ้น หรือขาลง

 

ในที่สุด เราจะรู้สึกว่า อะไรๆ ทั้งหลายในโลก

เป็นของปลอม เป็นของหลอก เป็นของอื่นนอกจิต

และจิตเท่านั้น ที่จะเป็นตัวตัดสินว่า ตัวเองยังหลงหรือเปล่า

 

ตรงที่เรามีสมาธิ อย่างตอนเดินจงกรมหลับตา

จะรู้สึกว่าจิตหลงน้อยลง

อย่างเช่น เกิดภาวะจิตบอก ว่าจะไปอยู่ตำแหน่งไหน

หรือบอกว่านี่เป็นวัตถุเสมอกัน

ก็จะค่อยๆ บอก ไปด้วยว่าแม้ความคิดจะผุดบ้าง

แต่ผุดแป๊บหนึ่งแล้วหายไป

 

ภาวะจิตบอกนี้ อยู่กับมันให้มากๆ

อย่าไปอยู่กับความตั้งใจ อย่าอยู่กับความคิดที่พล่านไป

แล้วคุณภาพจิตจะดีขึ้นวันต่อวัน เห็นผลได้ชัด

 

คนในห้องนี้ ส่วนใหญ่ที่เห็น มีทุนหนา

ขอแค่ตั้งใจจริง ใช้เวลาไม่นาน

 

คนในโลกโดยมากที่บอกว่าอยากปฏิบัติธรรม อยากพ้นทุกข์

ไม่ได้อยากจริง แค่อยากได้อะไรที่มาแทนที่

หรืออยากได้อะไรที่เหมือนคนอื่นที่เห็นว่าได้หน้าได้ตา

พอแป๊บหนึ่งยังไม่ได้ ก็เบื่อ เหมือนเป็นคนขี้เบื่อ

ไปแค่นี้ไม่ไหว ล้มกลางทาง ไม่ก็ย้อนกลับ

 

ซึ่งก็จะบ่นไปทั้งชีวิตว่ากี่สิบปีก็เหมือนเดิม ไปไม่ถึงไหน

 

แต่ถ้าเอาจริง และมาตรงทางจริง

ด้วยความเข้าใจนะ ไม่ใช่ด้วยอุบายวิธี

มือไกด์ หรือหลับตาเดิน ก็เป็นอุบายวิธีนะ

แต่ตัวความเข้าใจว่าเราจะเดินไปให้เห็นอะไร นั่งไปให้เห็นอะไร

 

ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องจริง จะมาถึงจุดหนึ่งที่

จิตอยู่ระหว่างวันรู้ตัวว่าก้าวหน้า

พิสูจน์ได้โดยไม่ต้องฟังคำยืนยันจากใคร

เพราะในชีวิตระหว่างวัน จะเห็นเองว่าอะไรๆ เป็นของหลอก

ของแป๊บหนึ่ง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

จิตที่ตั้งมั่นสว่างในตัวเอง จะเกิดจิตบอกเป็นขั้นๆ

ตอนแรกๆ จิตบอกว่าไปอยู่ตรงไหน

แล้วก็บอกว่าความคิดนี่แป๊บหนึ่งนะ ไม่ใช่ตัวตนนะ

จิตบอกว่าวัตถุเสมอกันนะ

 

ต่อไปจะบอกมากขึ้นๆ บอกตัวเองว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาทางธรรม จิตจะบอกว่า มาแบบนี้ตรงทางหรือเปล่า

 

ถ้าตรงทางจะยิ่งว่าง ยิ่งตรงทาง จะรู้สึกแค่สักแต่ว่าๆ

ไม่รีบร้อน จะมรรคผล หรืออะไรไม่รีบเอา

 

ตรงที่จิตบอกไปจนถึงขั้นสุดท้าย ว่าจะปล่อยอย่างไร วางอย่างไร

จะรู้เอง พูดเป็นคำพูดไม่ได้ แต่ออกมาจากจิตล้วนๆ

ที่สามารถเห็นอะไรตรงตามจริง

 

เริ่มมาจากเอาจริง ถ้าไม่เอาจริง จะไปไม่ถึงจิตบอก

จิตบอกเป็นขั้นๆ ไปถึงตรงที่คิดลังเล หรือเกิดอารมณ์สงสัย หรือท้อ

คนจะไปติดแค่ตรงนั้น แม้จะมีทุนเก่ามหาศาลปานใด มีบุญแค่ไหน

แต่ยังลังเลสงสัยก็หยุดอยู่แค่ต้นทาง

 

แต่ถ้าเอาจริง จะรู้ตัวว่าทุนเก่าเราหนาแค่ไหน

 

ไม่ต้องเอาอะไรเพิ่ม แต่ทำสิ่งที่ทำอยู่เพิ่ม

ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้าถ้ามาถูกทางแล้ว จะก้าวหน้าแน่นอน

 

----------------

พัชร

 

พี่ตุลย์ : พอมีความแน่วแน่ไม่สงสัย ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาคือ

ใจเราลงอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และจะมีความกระจ่างชัดมากขึ้นๆ

เห็นอะไร ใช่หมดแหละ ตอนที่เห็น

แต่ตอนที่ไม่เห็น หรือภาวะเปลี่ยนไปก็สงสัยได้เป็นธรรมดา

 

แต่ทีนี้ พอถึงจุดหนึ่งที่จะเริ่มเข้าฝัก

ตอนเข้าจุด กับเข้าฝัก ต่างกันอย่างไร

 

ตอนเข้าจุดจะเริ่มเห็นเป็นธาตุดิน

แต่เข้าฝัก รู้สึกเป็นปกติ รู้สึกว่าไม่ต้องออกแรง

ตรงที่รู้สึกว่าเป็นธาตุดิน ที่เป็นปกติมากขึ้น

หรือเราสามารถเห็นธาตุอื่นได้ชัดขึ้น

เช่นช่องว่าง ระยะห่างระหว่างธาตุดิน ก่อให้เกิดช่องว่างขึ้นมา

 

ถ้าจิตรับรู้ได้ แล้วไปตามนั้น เอาแค่นั้น

ในที่สุดก็รับรู้อีกว่า ตอนจุดหยุด

ธาตุดินหมายเลขหนึ่ง ธาตุดินหมายเลขสอง

พร้อมอากาศว่าง หายใจออก

ธาตุดิน หนึ่ง สอง พร้อมอากาศว่างหายใจเข้า

 

ตัวที่เรามีความรับรู้เป็นธรรมชาติมากขึ้น

จิตใหญ่ขึ้นแบบมีความใสเบา ไม่ใช่จิตใหญ่แบบหนัก

ไม่ใช่ใหญ่ขึ้นแบบทึบ แต่เป็นความรับรู้ที่สบายขึ้น

 กว้างขวางขึ้น เบาลง ออกแรงน้อยลง

 

จะทำให้ความสงสัยหายไปจนเกลี้ยง

จิตยิ่งใสใจยิ่งเบายิ่งไม่ต้องตั้งใจ จะสามารถรับรู้ได้เอง

 

ตอนที่รับรู้เอง ไม่คิดอะไรเลย

ตอนที่ไม่ใช้ความฉลาดทางความคิดเลย

จะเป็นช่อง เป็นโอกาส ให้เกิดความฉลาดทางจิตขึ้นมาแทน

 

เดิมเรา เอาแค่ฉลาดทางความคิดและพอใจอยู่แค่นั้น

คนส่วนใหญ่ ก็ตายไปพร้อมกับความพอใจที่จะฉลาดคิด

แต่ถ้าเป็นนักเจริญสติ

เข้ามาเห็นภาวะของจิต เปรียบเทียบจิตชนิดต่างๆ ได้แล้วจริงๆ

ว่าอย่างไรเป็นกุศล อย่างไร เป็นอกุศล

จะพบความจริงว่า จิตที่เป็นสมาธิ

จิตที่ไร้ความคิดและเป็นสมาธิด้วย

คือจิตที่มีความฉลาดจริง ในทางธรรม

มีความฉลาดขั้นสูงสุด ในการที่จะเอาตัวรอดจากความทุกข์

 

จิตที่คิดได้แต่ปลอบ และปลอบ

ก็เหมือนกับได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

แต่จิตที่ใสใจที่เบาไร้ความคิด จะได้ผลเสมอ

มีความสุขเสมอ มีปีติเป็นผลตามมาเสมอ

 

พอคิดขึ้นมาแวบๆ ดูว่าความคิดแวบๆ เป็นส่วนเกินเป็นของภายนอก

ถ้าเราไม่แคร์ ไม่อินกับมัน จะมีความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นของจร

เป็นของที่แปลกหน้า เข้ามาแล้วเดี๋ยวก็หายไป

 

ตรงที่มีจิตใสๆ เป็นตัวรองรับ มีจิตตั้งมั่นเป็นตัวรองรับอยู่

จะทำให้รู้ว่าหายไปไหน หายไปในความว่างของจิต

หายไปในความว่างของอากาศธาตุที่ปรากฏอยู่รอบๆ ธาตุดินทั้งหลาย

ที่เป็นธาตุดินคือกายนี้ คือห้องนี้ มีผนัง มีตู้มีเตียง

ความคิดหายไปตรงนั้นแหละ

 

โผล่มาในหัว และหายไปสู่ความว่างทั้งภายในและภายนอก

 

พัชร : เมื่อกี้ตกใจ จะเข้าไลฟ์ และมีคนโทรศัพท์มา เสียงหาย

รู้สึกกระวนกระวายอยู่พัก พอเข้ามาได้ พี่ตุลย์เรียก ก็กระวนกระวายอยู่

แต่ก็ปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ตรงที่ไม่แคร์ว่าพะวง ตรงที่ไม่แคร์ว่าฟุ้งซ่าน คือสติ

 

พัชร : เดินไปสักพัก ฟังพี่ตุลย์ ก็สงบลงค่ะ

ก่อนนี้ จากไลฟ์คราวก่อนกลับมาทำ จะมีสเปก

เวลาเดินออกห่างผนัง ให้เห็นว่าประตูอยู่ด้านหลัง ก็จะไปพะวง

 

พอพะวงปุ๊บ ก็ไม่รู้ว่าที่รู้เป็นการคิด หรือรู้จริง ก็จะติดตรงนี้หลายวัน

แต่เคยได้ยินพี่ตุลย์บอกว่า ไม่ต้องคิดอะไร ให้ปล่อย

พอใจยอมปล่อย ก็เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

เห็นว่าจิตกว้างขึ้น ในระหว่างวัน รู้สึกถึงใจสงบมากขึ้น

 

พี่ตุลย์ : อย่างเมื่อกี้ เท่าที่พี่เห็น จิตตั้งมั่นมากขึ้น

ขึ้นต้นมาพัชรบอกว่า มีความพะวงกระสับกระส่ายข้างใน

แต่จุดที่เป็นตัวตัดสินว่าเราพะวงจริงหรือเปล่า

คือตัว แคร์ หรือไม่แคร์

 

ที่พัชรบอกว่าปล่อย แล้วกัน คือเราแคร์ หรือไม่แคร์อาการพะวง

ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นสติ ที่จะรู้ความพะวงตามจริงได้

ว่าเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต

 

แล้วพอค่อยๆ เห็นว่า อาการพะวงสักว่าเป็นภาวะปรุงแต่ง

ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น หรือต้องเอาให้ดี เอาให้สงบ

ความพะวง ก็กลายเป็นภาวะหนึ่ง ที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาแทน

เพราะความพะวง จะทำให้จิตตั้งอยู่กับความจริงว่า

ภาวะความพะวง หน้าตาเป็นอย่างไร ตั้งอยู่หรือหายไปแล้ว

 

ตัวที่เกิดเป็นผลตามมา อย่างที่พัชรบอกว่าพอฟังพี่พูด จริงๆ ก่อนที่พูดก็เริ่มดีแล้ว แต่พอฟังพี่พูดยิ่งชัดขึ้น เข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่ก่อนหน้าใช้ได้หรือยัง ใช้ได้ ตรงที่ไม่แคร์ว่าจะพะวง

 

เมื่อกี้ มีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกขึ้นมาว่า

เราเป็นวัตถุที่อยู่รอบวัตถุอื่นที่มีความว่าง ..ใจสัมผัสได้อยู่ช่วงหนึ่ง

เหมือนห้องทั้งห้อง เป็นคล้ายสถานที่แสดงความจริง

ว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่ง เป็นแค่ส่วนประกอบของห้อง

และจิตมีความวางเฉย และแยกออกมา ว่าจิตเป็นผู้ดูอยู่เฉยๆ

ท่ามกลางสิ่งที่เรียงรายอยู่ หลอกใจ

 

เรารู้สึกจิตเป็นอิสระขึ้นมา ตรงนี้สำคัญ

ถ้าหากว่าจิตมีความตั้งมั่น อยู่กับการรับรู้แบบนั้นได้เรื่อยๆ

ไม่ใช่ไปพยายามเข้าถึงตรงนั้น

แต่เรา รู้สึกได้ ว่าเข้ามาตามลำดับ หนึ่ง สอง สาม

เริ่มจาก ไม่แคร์ ไม่พะวง เดินรู้เท้ากระทบไป

แล้วเทียบธาตุไป จนเข้าถึงจุดนั้นได้บ่อยๆ เอง

โดยที่มีความเคยชิน มีความชำนาญ

ไม่ใช่เพราะอยากจะกระโดดข้ามขั้น

 

พอไปถึงตรงนั้น จะพบว่า จิตมีความสามารถในการรู้

ขยายขอบเขต ในการรู้รายละเอียดห้องมากขึ้นๆ

ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งเสถียรเท่าไร จะเหมือนมีตัวรู้อยู่ตัวหนึ่ง

ที่ ไม่มีขอบเขต ไม่มีอะไรห่อหุ้ม มีแต่การรับรู้ล้วนๆ

ทั้งห้องเต็มไปด้วยวัตถุที่เสมอกัน

และจิตไม่มีความยึดว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเราหรือของเรา

 

เข้าใจใช่ไหมว่าเกิดขึ้นตอนไหน

 

พัชร : ไม่แน่ใจค่ะว่าช่วงไหน

 

พี่ตุลย์ : มีช่วงที่เรารู้สึกว่าว่างๆ กว้างๆ ไหม (มีค่ะ)

ตรงนั้นจะอยู่ไม่ได้ตลอด แต่จะมีช่วงหนึ่ง ที่รู้สึกแจ่มชัด

ว่าว่างๆ กว้างๆ เสร็จแล้วในความว่างกว้าง ไม่ใช่ว่างหายไปเฉยๆ

แต่รู้สึกถึงสัมผัส ที่ตัวนี้กำลังเคลื่อนไป อยู่ท่ามกลางอะไรบางอย่าง

พี่พูดถึงตรงนั้นแหละ แต่อาจเป็นจุดที่ยังไม่เคลียร์

เพราะยังไม่ได้ตั้งมั่น เสถียร

 

แต่พอเสถียร พี่บอกว่า

ตรงนี้แหละที่จะทำให้จิตเห็นรายละเอียดชัดขึ้นๆ

 

เหมือนเราเปิดตาออกมา แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นผู้วิเศษมีตาทิพย์

แต่เพื่อที่จะเห็นว่า การที่วัตถุต่างๆ มีรายละเอียดที่ผิดแผกจากกัน

ทำให้เรารับรู้จิต อยู่ตรงกลางที่กว้างใหญ่

ว่าสิ่งเหล่านั้นเสมอกันจริงๆ โดยความเป็นของหลอก

โดยความเป็นธาตุดิน โดยความเป็นของแข็งคงรูปคงร่าง

 

จิตที่เห็นว่าอะไรๆ ตั้งเรียงเฉยๆ ล่อใจ ให้เข้าไปยึด

จะมีความรู้ทันชัดขึ้นๆ เป็นอิสระแยกออกมาเป็นผู้รู้มากขึ้นๆ

 

ถ้าพัชรเกิดความเข้าใจตรงนี้และจับจุดได้

จะรู้เองว่ายิ่งจิตมีคุณภาพเท่าไร

ภาวะเห็นชัดเจนจะกระจ่างมากเท่านั้น

 

พัชร : เมื่อวันก่อนที่พี่ตุลย์แนะนำพี่เพ็ญ ให้ไปถึงประตูหรือกำแพง

ลืมตา แล้วมองทะลุเป็นขอบฟ้า

ลองทำก็เห็นว่ากว้าง แผ่ขยายมากๆ

 

พี่ตุลย์ : ที่พี่บอกพี่เพ็ญ เพราะเห็นจิตแกกระจุกไปนิดหนึ่ง

เลยอยากให้แผ่ออก ให้จิตขยายออก

ถ้าพัชรทำได้และรู้สึกจิตใหญ่ขึ้นก็เอาเลย

จิตยิ่งแผ่ใหญ่ออกไป

ยิ่งมีความสามารถ ที่จะสัมผัสถึงวัตถุตามจริงมากเท่านั้น

 

ของพี่เพ็ญสองครั้งก่อน จิตแยกดีมาก จิตใหญ่ สว่าง

แล้วก็เป็นต่างหากจากวัตถุ

แต่พอพี่ทักให้พิจารณาความไม่เที่ยงด้วย

แกมาพิจารณาตลอด กลายเป็นจิตแคบลงมา

เลยบอกเพื่อให้จิตขยาย ไม่ใช่อุบายพิเศษ

 

แต่ตอนหลังก็ทำความเข้าใจกันว่า เ

อาแบบสองครั้งก่อนที่เหมือนจิตเปิดดีอยู่แล้ว

ไม่ต้องมาพิจารณาอะไรมาก

 

เรื่องทางจิต บางทีละเอียดยิบย่อย แค่ผิดองศาไปนิดหนึ่ง

แทนที่จะไปเรื่อยๆ และผ่านได้เอง กลายเป็นติดอยู่

 

ต้องเข้าใจว่า สมาธิแต่ละคน

มีคาแรคเตอร์ทางจิตไม่เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือน

คือข้ามเส้นได้เหมือนกันแหละ ถ้าเห็นว่าอะไรๆ ไม่ใช่ตัวตน

 

ความเข้าใจถึงสำคัญกว่าสมาธิตรงนี้

ขอแค่ว่ามีอนัตตสัญญา เพิ่มขึ้นพอกพูนมากขึ้น

ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเห็นรายละเอียดแตกต่างกันแค่ไหน

บางคนมีตาทิพย์ บางคนไม่มีตาทิพย์ แต่บรรลุได้เหมือนกัน

 

ขอให้อนัตตสัญญาเป็นเป้าหมายสูงสุด

ความรู้สึกว่าไม่ใช่เรา บางคนเห็นไม่ชัด

แต่ใจเกิดอธิโมก คือความแน่วเข้าไปว่าไม่ใช่ตัวตน ก็บรรลุง่ายๆ เลย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยพุทธกาล มีพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประกัน

ท่านตรัสอะไร แค่ใจแน่วไปตามที่ท่านตรัสก็บรรลุได้แล้ว

 

แต่สมัยเรา ไม่มีพระพุทธเจ้า

บางทีก็ยากที่จะฟังใครแล้วเกิดความรู้สึกมั่นใจขึ้นมา

 

อย่างอยู่ในห้อง การเทียบขันธ์ เทียบธาตุมีประโยชน์

ถ้าเราจับได้ว่า จิตแบบนั้นขยายกว้าง

เกิดมุมมองว่า ถ้าจิตคับแคบอยู่ยังใช้ไม่ได้ แบบนี้ดี

 

แต่ไม่ใช่ว่า เราจะต้องก๊อปปี้ ให้ได้จิตแบบนั้นในการเดิน

เพราะพี่เพ็ญเดินไม่เหมือนใคร

 

ประเด็นคือ ถ้าของพัชร มีจิตใหญ่ขึ้นมา

ให้สังเกตว่าพอรู้สึกถึงความว่าง ให้บอกตัวเองว่า

ความว่างกว้างๆ นั้น

ไม่ใช่ความว่าง ที่เกิดจากการที่ห้องเรามีขนาดแค่ไหน

แต่เกิดจากการที่ จิตเราแผ่ออกไปประมาณใด

 

ตั้งต้นที่จิต และรู้สึกอยู่ที่จิต

ที่พี่ให้ตั้งข้อสังเกตของพัชร

 

และของพัชร จะออกแนว พอสัมผัสถึงวัตถุที่อยู่รอบด้านได้

 แล้วเรารู้สึกว่า ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าวัตถุที่อยู่เรียงรอบ

และวัตถุนี้ก็เคลื่อนไป เอาแค่นั้น

จิตจะอยู่ในภาวะแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้อยู่ตรงไหน

 

บางทีอาจมีความรู้สึกราวกับว่า จิตแยกออกมาอยู่ตรงกลางห้อง

คือไม่ได้ตามร่างกายนี้ไป แต่จะอยู่ มีที่ของมันที่หนึ่ง

ที่ไม่เกี่ยวกับร่างกาย ไม่รู้พอจะเข้าใจไหม

 

พัชร : ยังไม่มีค่ะ ยังไม่แน่ใจ

 

พี่ตุลย์ : พูดง่ายๆ จิตเวลาที่พี่ดู ที่เราจูนตรงกันว่า

พัชรรู้สึกถึงความแผ่ขยายไป ถ้าถี่ขึ้น บ่อยขึ้น ชำนาญมากขึ้น

จิตแบบนั้นจะรู้สึกว่าอยู่กลางห้อง

 

ตอนนี้เรายังรู้สึกว่าจิตตามกายไป

แต่ถึงจุดหนึ่งจะรู้สึกเหมือนจิตอยู่กลางห้อง

แต่ไม่ใช่ไปพยายามทำตามที่พี่พูดนะ

 

เพราะจิตแบบนี้ เห็นแบบนี้ ที่เกิดกับพัชรแบบเมื่อกี้ เป็นไปได้

เพราะจิตมีแนวโน้มตั้งอยู่ ราวกับว่าอยู่กลางห้อง

แล้วเห็นอะไรเดินไปเดินกลับ

โดยที่มีความรู้สึกว่าไม่ได้อยู่กับตัวเดินตัวนั้น

 

ไม่ต้องพยายามทำ เดินไปเรื่อยๆ

ถ้าเกิดขึ้นก็แค่ไม่ต้องแปลกใจ ว่า

ทำไมจิตเหมือนไม่ได้อยู่ตรงไหน

แต่อยู่ตรงกลางการรับรู้ทั้งหมด ก็เป็นคาแรคเตอร์หนึ่งที่เกิดได้

 

พัชร : ขอคำแนะนำระหว่างวัน

 

พี่ตุลย์ : ที่เห็นคือตอนนี้จิตเปิดใช้ได้

ระหว่างวันเคลียร์อารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น

เหมือนมีความตั้งใจเอาจริงสูงกว่าเดิม

ซึ่งเป็นข้อดีของการที่ได้มาอยู่ด้วยกันและเห็นคนอื่นเจริญ

 

การที่เราเอาจริงและมีความมุ่งมั่นจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เป็นสิ่งที่ลึกๆ จะมีสัญชาติญาณบอกตัวเองว่า

เรากำลังพุ่งเข้าเป้าจริงหรือเปล่า

----------------

เอ๋

 

พี่ตุลย์ : กลับหลังหันขวา ให้ใช้เท้าขวาเป็นตัวหมุน

จิตจะสม่ำเสมอ ความรู้สึกจะตรงกว่า

การรู้เท้ากระทบดี ทิศทางใช้ได้ มีความรู้ออกมาจากภายในที่ชัดขึ้น

 

พอได้เบสิกที่ดีแล้ว สำรวจบ่อยๆ ว่าจิตใสใจเงียบ

รู้ธาตุดินหมายเลขหนึ่ง หมายเลขสอง ชัดขึ้นแล้วหรือยัง

 

ตอนนี้เท้ากระทบใช้ได้ ทิศทางใช้ได้

แต่ตอนหยุดยืน สำรวจใจมีความใสเบาขึ้นไหม

ลืมตาขึ้นมาแวบหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อกำหนดทิศทาง

แต่เพื่อให้รู้สึกถึงความว่าง ระหว่างร่างยืนกับผนังว่าห่างเพียงใด

 

อย่าให้จิตเข้ามาอยู่ในอาการพิจารณา แต่ใสๆ เฉยๆ

รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย ตัวนี้ที่จะเหมาะกับการเห็นความเป็นธาตุ

 

แล้วพอรู้สึกว่าร่างกายยืน คือธาตุดินหมายเลขหนึ่ง

ผนังคือธาตุดินหมายเลขสอง จำความว่างที่รู้สึกใสๆ

คือจิตที่ใสขึ้น กำหนดธาตุดิน พร้อมอากาศว่างหายใจออก

ธาตุดินพร้อมอากาศว่างหายใจเข้า

 

เห็นไหม ใจตอนนี้จะสัมผัสได้ เปิดได้

แต่ถ้าเดินตามความเคยชิน เดินเอาทิศอย่างเดียว

 

ต้องมี check point ตอนหยุด ต้องแน่ใจว่าเราเดินไป

เพื่อที่จะสัมผัส ความเป็นธาตุดิน

เทียบเคียงกับการที่เราจะรู้สึกถึงลมหายใจประกอบพร้อมไปด้วย

การที่เราจะรู้สึกจิตใสใจเบา ที่มีความพร้อมรู้ ไม่ใช่พร้อมคิด

จะเป็นจุดที่ต่างอย่างสิ้นเชิง กับการเจริญสติแบบคิดๆ

 

เอ๋ : ตอนพี่ตุลย์ไกด์ เห็นชัดว่ามีความต่าง

เข้าใจแล้วว่าต้องให้พี่ตุลย์ไกด์ ไม่เช่นนั้นจะไม่เข้าใจ

 

พี่ตุลย์ : การเดินจงกรมหลับตา จริงๆ แล้วยากมากนะ

แต่เราทำกันได้ ห้องนี้ทำกันได้

แล้วที่พี่บอก พี่แค่ต่อยอดให้ว่าอย่าให้ลืมเป้าหมาย

แต่เราจับทิศทางถูก สติภายในดีขึ้นมหาศาล ไม่ได้เพี้ยนไม่ได้ผิดอะไรนะ

 

เอ๋ : ที่รู้สึกชัดคือตอนเดินมีความคิด แต่ความคิดอยู่ข้างบน

แล้วตัวที่เดินก็เหมือนเราอยู่ข้างในหุ่นอะไรสักอย่าง

 

พี่ตุลย์ : นั่นแหละ แล้วก็มีความคิดเป็นส่วนเกินขึ้นมา

มีความคิดผุดมาแล้วเราไม่แคร์ความคิด

 

เอ๋ : ตอนที่ไปยืนเทียบที่เห็นชัดคือตอนมีความฟุ้ง

ก็เพิ่งเห็นประโยชน์ตอนฟุ้งจะเทียบเคียงว่า

ตัวเราข้างหน้าไม่มีขันธ์ห้า ใช่ไหมคะ

ไม่กล้าใช้ภาษาธรรม เพราะไม่ค่อยรู้ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ไม่ต้องรู้มากหรอก รู้แค่พอที่เอามาทำ ก็ใช้ได้แล้ว

 

เอ๋ : ผนังก็อยู่แข็งๆ ทื่อๆ แต่เรามีทั้งความคิด ทั้งความอยาก

อยากจะพัก แล้วร่างกายก็ไม่ใช่แสดงว่าเดินไม่ไหว

แต่มีสมองที่บอกว่าเดินไม่ไหว

 

พี่ตุลย์ : จะเห็นชัดขึ้นๆ และพอเราเข้าจุดได้ จะมีปีติมากกว่านี้

ตอนนี้มีแค่ความอิ่มใจ มีแค่ความรู้สึกว่าการมีสติชัดนี่ดีนะ

แต่ยังไม่มีตัวปีติ ที่แผ่ออกมาจากความชุ่มชื่นเบิกบาน

 

ซึ่งเดี๋ยวถ้ามีขึ้นมา จะรู้สึกว่าเราเดินไปได้เรื่อยๆ

ยิ่งเดินยิ่งมีความสุข ยิ่งมีปีติมากขึ้นๆ

แล้วการเห็นประสบการณ์ภายในรู้สึกว่า เราเป็นหุ่น

และหุ่นนั้นมีความคิดผุดขึ้น แต่ไม่มีตัวเรา

 

ให้มันเกิดเรื่อยๆ เลย จะทำให้เกิดอาการรู้แบบ สักแต่ว่า

สักแต่ว่าเห็นเป็นธาตุดิน

สักแต่ว่าเห็นว่า มีภาวะปรุงแต่งเกิดชั่วคราว แต่ไม่มีใครอยู่ในนี้

เข้าใจธรรมะแค่นี้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับเส้นแรก

 

อยากให้สังเกตด้วยว่า ระหว่างวันจิตอาจยังหดตัวมาได้

แต่จะไม่เกาะนาน ไม่หดนาน

พูดง่ายๆ โมโหอะไรจะรู้ตัวได้ดีขึ้นกว่าก่อน

เมื่อก่อนต้องตั้งใจ แต่ตอนนี้ไม่ต้องตั้งใจมาก

ของเรากระทบแล้วยัง sensitive อยู่ ยังไปตามแรงกระทบ

แต่ประเด็นคือเราจะคาอยู่กับอาการที่มีปฏิกิริยาทางใจน้อยลง

อาการอยากยึด จะค่อยๆ เบาลง

 

ยังมีความยึด หวงโทสะที่เกิด แต่ไม่ร้อนเหมือนก่อน

 

ตอนนี้ถ้าเทียบเมื่อก่อนร้อนด้วย ทรมานด้วย

แต่ตอนนี้เหลือแต่ความทรมานระดับปานกลาง

แต่ความร้อนไม่มี เหลือแต่ไอๆ กรุ่นๆ เฉยๆ

 

สังเกตความแตกต่างร้อนมากร้อนน้อย ทรมานมากทรมานน้อย

อาการดิ้นข้างใน ปั่นแรงหรือน้อยลง

เห็นระหว่างวันก็คือการเจริญสติ

เห็นภาวะโดยความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เป็นไปตามเหตุปัจจัยมากขึ้นเรื่อยๆ นะ

----------------

เก่ง

 

ถาม : ต้องฝึกอะไรเพิ่มไหมครับช่วงนี้

 

พี่ตุลย์ : ในแง่การเดิน นั่ง เราก็ไปเรื่อยๆ

แต่ในแง่ของการทำความเข้าใจ ก็ขอให้เก่งมอง

ทุกครั้งที่เราเดินจงกรม ถามว่าเราได้อะไรจากตรงนี้

เรานั่งสมาธิ เราได้อะไร

 

การตั้งโจทย์บ่อย

จะทำให้เราไม่ปฏิบัติแบบ auto pilot หรือด้วยความเคยชิน

แต่จะมีปัญญาเพิ่มพูนมากขึ้นๆ

 

บางทีเหมือนเก่งอาจทำ เสร็จแล้ว .. อย่างเดินจงกรม

พอเดินไลฟ์ เราจะตั้งสติได้โอเค

แต่ถ้าเดินเอง บางทีไปตามความเคยชิน ไม่ได้ไปตามความเข้าใจ

ไม่ได้ทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถึงจุดหยุด บางทีก็ปล่อยใจเบลอๆ

บางทีก็เทียบธาตุดิน หนึ่ง สอง

 

ต้องเตือนตัวเองให้ได้เหมือนตอนไลฟ์

ถ้าเดินเองจะเหมือนหยุดยืนเฉยๆ ทื่อๆ

ลองเช็คตัวเองง่ายๆ ลืมตาแป๊บหนึ่ง ถามตัวเองว่า

รู้สึกถึงร่างยืนไหม รู้สึกถึงผนังเทียบกันไหม

เอาทุกรอบ อย่าให้เป็นแค่การไปหยุดยืนเฉยๆ

 

แต่ตอนรู้เท้ากระทบ ตอนเดินเองก็รู้ได้

เพียงแต่ถ้าหากเป็นความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

เราต้องรู้เท้ากระทบไปเพื่อให้เกิดวิตักกะ จิตใสใจเงียบ

เวลาความคิด โผล่มา เรารู้ว่าโผล่มาจากความเงียบ

และหายไปในความเงียบ

 

แต่นี่บางทีเหมือนเราเดินรู้เท้ากระทบ รู้จริง

แต่ปล่อยให้ใจคิดแบบที่เป็นตัวเป็นตน

 

พอไม่ไลฟ์ เราจะไม่ค่อยแคร์ว่าจะพิจารณาหรือไม่พิจารณา

เราปล่อยให้คิดไปและมีตัวตนในการเดิน

 

บางทีคิดเรื่องงาน เรื่องคน

เหมือนเราเดินบนฟุตปาธธรรมดา ที่เราเดินคิดไปเรื่อย

แต่พิเศษหน่อยตรงที่เราสามารถรู้สึกถึงเท้ากระทบ รู้สึกถึงทิศทางได้

แต่จะไม่ค่อยเกิดฉันทะ ที่จะมองว่า

ความคิดที่แปลกปลอมเข้ามาเป็นสิ่งอื่น

 

มีความรู้สึกตัวตนในการคิด ยินดีที่จะคิด

ไม่ได้มองเห็นว่าการคิดเป็นของอื่นแปลกปลอมมากระทบ

 

ที่พี่บอกเน้นๆ คือ ความเข้าใจสำคัญสุดเป็นอันดับหนึ่ง

เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรคมีองค์แปด

หัวหน้าที่สำคัญที่สุดคือสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ถ้าหากเราเข้าใจไม่ถูก และตั้งมุมมอง

แบบตามอำนาจความเคยชินไปเรื่อย

ก็จะเดินไปเรื่อยๆ

แม้ว่าจะเดินหลับตาได้ตรงขึ้น หรือสามารถกะระยะได้แม่นขึ้น

แต่ในที่สุดก็จะยังมีตัวเราที่เป็นผู้เดินหลับตา

เป็นผู้มีความสามารถเดินหลับตา

 

ไม่ใช่เดินเพื่อเห็นว่ากายนี้สักแต่เป็นธาตุดิน

ความคิดสักว่าเป็นเศษภาวะที่โผล่มาที่จุดสูงสุดของธาตุดิน

 

จะมีความรู้สึกแค่ว่า เรามีสติดีขึ้น แต่ตัวตนไม่ได้หายไป

 

เก่ง : พี่ตุลย์เคยบอกว่าเก่งนั่งสมาธิแล้วเห็นได้ว่าไม่มีตัวตน

นั่นคือจริงใช่ไหม

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่พี่บอก คือเอาเฉพาะตรงนั้น

และความรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่ใช่จะเกิดไม่ได้ในคนธรรมดาทั่วไปนะ

ที่เคยยกตัวอย่างว่า คนไปบล็อกหลัง

เหมือนความรู้สึกในตัวตนต่างไป หรือความคิดเหมือนชาๆ หายไป

ก็รู้สึกไม่มีตัวตนเช่นกัน ไม่ต้องเจริญปัญญาก่อน

 

แต่ประเด็นเราคือ ถ้าเราจะไปถึงจุดที่มีสติด้วย มีสมาธิด้วย

ในการเห็นอยู่เรื่อยๆ ซ้ำๆ ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวใคร

เป็นแค่ภาวะไม่ใช่ตัวตน..  ตัวนี้ ต่างมโหฬารเลยนะ

เพราะการที่มีทั้งสติ ทั้งสมาธิ ประกอบอยู่ด้วยกับความเข้าใจ

ทำให้เกิดมรรคผลได้ ทำให้จิตรวมลง

รู้ว่ากายใจไม่ใช่ตัวตนอย่างสิ้นเชิงได้

ตรงนี้ที่จะต่างกับคนบล็อคหลังเฉยๆ

 

เอาง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก

พอความคิดเข้ามา ก็รู้ว่ามันเกิดขึ้นวูบหนึ่งแล้วหายไป

เอาเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องถึงขนาดไปพิจารณา

แล้วทำให้เราเพิ่มภาระ เพิ่มงานให้จิต

 

เอาแค่ พอเดินเท้ากระทบ แล้วความคิดผุด

เรามองเหมือนตอนที่อยู่ในไลฟ์ เห็นความคิดผุดขึ้นแล้วหายไป

ผุดในหัว หายไปจากหัว ผุดจากใจ หายไปจากใจ

ใจว่าง หัวว่าง แค่นี้พอแล้ว

 

แค่ไม่เดินตามความเคยชินก็พอใจแล้ว

 

เก่ง : ที่พี่ตุลย์ สอนให้เทียบ สมมติได้ยินเสียง

แล้วรู้สึกว่าเขากำลังมีความสุข แล้วมาเทียบว่าใจเราสุขหรือเฉยๆ

แต่ปกติพอเทียบเสร็จปุ๊บ ก็จะรู้สึกว่าเราเฉยๆ

ไม่ค่อยสุข ไม่ค่อยทุกข์อะไรแบบนี้

 

พี่ตุลย์ : เพื่อให้ชัดขึ้น เทียบไปเลยว่า

เราทุกข์มากกว่าเขา หรือสุขมากกว่าเขา

 

พอเขาทุกข์อยู่ แล้วเรารู้สึกเฉยๆ

แปลว่าเราสุขมากกว่าเขา

 ถ้าหากเราเทียบอย่างนั้นได้ทุกครั้ง

สิ่งที่เราต้องการจากตรงนี้คือจะเห็นว่า

นี่ก็เวทนา นั่นก็เวทนา ไม่ได้มีเวทนาของใครอยู่ยั่งยืน

 

ที่เราเฉย เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นสุข

ที่เขาทุกข์เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเฉยได้

 

ตรงที่เราเห็นเวทนาเดี๋ยวก็เปลี่ยนในแต่ละครั้ง  แล้วเทียบกัน

จะทำให้เกิดความเข้าใจ จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า

เวทนาสักแต่เป็นผลที่เกิดจากเหตุ

 

เกิดจากเหตุแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวเวทนาก็เปลี่ยนไปหรือหายไป

ตัวนี้ที่เราต้องการเป็นเป้าหมาย

 

แล้วเวทนาทั้งภายในและภายนอก

จะมีความเสมอกันคือจะต้องเปลี่ยนไป ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา

 

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้พิจารณาเวทนาในเวทนาภายใน

และเวทนาในเวทนาภายนอก โดยความเป็นของไม่เที่ยง

ทั้งของเราของเขา พระองค์ตรัสไว้ชัดมากว่าให้แยกพิจารณาก็ได้

 

เวทนาในเวทนาภายในก็คือของเราคนเดียว

เวทนาในเวทนาภายนอกคือของเขาแค่คนเดียว

และทั้งเวทนาของเราภายใน เวทนาของเขาภายนอกเทียบเคียงกัน พร้อมกัน

 

ซึ่งถ้าใครทำครั้งแรกๆ แล้วเกิดประสบการณ์เห็น

จะไม่ลืมตลอดชีวิต ว่าเวทนาเป็นแค่สภาวธรรมอย่างหนึ่ง

ทั้งภายในภายนอกมีความเสมอกัน

โดยความเป็นภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

เสียงของเขา ส่อถึงความทุกข์

อยู่ๆ ทุกข์เกิดเองไม่ได้ เขาต้องมีความทุกข์จากอะไรสักอย่างหนึ่ง

 

ความรู้สึกเฉยๆ ของเราก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เฉยได้

แต่ต้องอยู่ในที่ๆ เคยชิน อยู่ในห้องแอร์

อยู่ในสถานที่ๆ เรารู้สึกว่าไม่พลุกพล่านเกินเหตุ

ไม่รู้สึกว่ามีอันตราย ถึงเกิดความรู้สึกเฉยขึ้นมา

 

ไม่ใช่ว่าความรู้สึกเฉยจะเกิดได้

ตอนเราไปอยู่กลางดงระเบิด หรือตอนเราทะเลาะเบาะแว้งกับใคร

 

จะชัดว่า เมื่อเทียบเวทนาของเรากับของเขาแล้ว

 เห็นสักว่าเป็นภาวะ .. จะค่อยๆ เกิดความคลายจากความยึด

 

เดิม เวลาทุกข์

ดั้งเดิมคนจะรู้สึกว่าคงทุกข์ไปอย่างนี้แหละ

ไม่รู้จะทำอย่างไร

 

แต่พอเราเห็นว่าทุกข์นี้เป็นเวทนา ไม่ใช่ตัวเรา

มุมมองจะคนละเรื่องเลย ใจจะปล่อยต้นเหตุ

แล้วมาล็อคโฟกัสอยู่กับเวทนานี้

ว่าแสดงความเที่ยง หรือความไม่เที่ยง

พอเห็นว่ามันแสดงความไม่เที่ยง ก็จะคลายหมด ปลดล็อคหมด

ปล่อยด้วยใจที่มีสติ ด้วยใจที่ประกอบด้วยปัญญา สัมมาทิฏฐิ

ว่าเวทนาไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ของใคร

 

----------------

น้ำอบ

 

ถาม : อยากเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ตื่นเช้า นอนเร็ว พอนอนดึกมากๆ รู้สึกข้างในไม่โอเค

 

พี่ตุลย์ : พอสติดีขึ้น จะเริ่มหาจุดสมดุลให้กับจิตว่า

ด้วยพฤติกรรมอย่างไร ด้วยเวลาแบบไหน ช่วงเวลาใด

ที่ทำให้มีความปรุงแต่งส่งเสริมให้จิตมีคุณภาพมากขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา

 

น้ำอบ : พอเปลี่ยนเวลา นอนเร็วขึ้นแต่ไม่ค่อยหลับค่ะ

 

พี่ตุลย์ : นอนไม่หลับก็บอกตัวเองว่า มีสิ่งที่ดีกว่าการหลับ

คือนอนสมาธิไป จะใช้มือไกด์

ถ้าตาค้างแน่ใจว่าจะไม่หลับจริงก็ชูสุดก็ได้

นอนเอาตัวร่นลงมาปลายเตียงนิดหนึ่ง

 

หรือถ้าจะนอนเอาหลับก็ยกแค่นี้ (งอข้อศอกยกขึ้น ในท่านอน) ก็ได้

 

ตรงที่เราจะรู้สึกถึงความเป็นสมาธิ และจิตไม่วอกแวกกับอะไรเลย

หัวโล่งใสมีแต่ลมหายใจ ปรากฏผ่านเข้าผ่านออกอย่างเดียว

จะทำให้พบว่า ตื่นเช้ามาหัวโล่ง ตัวเบายิ่งกว่าได้นอนหลับเต็มอิ่มทั้งคืน

 

ช่วงนี้ พอนั่งสมาธิ

แล้วมีอะไรที่ทำให้คิด ทำให้ไม่ตั้งอยู่กับใจใสๆ สักแต่รู้

โดยความเป็นธาตุ เป็นขันธ์ ก็พิจารณาว่าสิ่งนั้นเป็นตัวขวาง

 

แต่ถ้าด้วยเหตุปัจจัยอะไรแล้วแต่ ทำให้จิตใสใจเบาไร้ความคิด

ทำให้เห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นธาตุเป็นขันธ์

ก็ควรที่จะส่งเสริมเหตุนั้นให้มาก

จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสัมผัสชัดขึ้นว่า กายนี้เป็นธาตุเป็นขันธ์

 

เหตุอะไรที่ทำให้คิดเยอะ อย่าไปใส่ใจมาก

เหตุอะไรก็ตาม ถ้าทำให้ใจใส จิตเบา

พร้อมรู้พร้อมสัมผัสถึงความเป็นธาตุ

ทำให้มาก ใส่เหตุนั้นให้มาก

 

----------------

เกตุ

ถาม : สอบถามการปฏิบัติ เดินจงกรมอย่างเดียว พยายามรู้ระหว่างวัน ใช้ได้ไหม

 

พี่ตุลย์ : ตอนเดิน ไม่เกิดวิตักกะชัดนัก

วิตักกะคือใจยังไม่เอาเป้าอะไรชัด

ถ้าอยู่ในห้องนี้ เราจะคุยกันเรื่องมีเท้ากระทบในใจ

 

แล้วเท้ากระทบ ไม่ใช่ ย่ำไปคิด ย่ำไปคิด

แต่ต้องรู้สึกถึงจังหวะเท้า กระทบต๊อกๆ ไป

จนใจรู้สึกถึงเครื่องอยู่ คือเท้ากระทบชัดเจน

 

พอมีเท้ากระทบชัด ถ้าหากจิตใสใจเบา

ตรงนั้นเรียกว่ามีวิจาระ จิตใสใจเบารู้เท้ากระทบอย่างเดียว

จิตมีความแนบไป มีความเป็นหนึ่งกับเท้ากระทบ

ตรงนั้นถึงจะมีเป้าหมายชัดว่าเราเดินจงกรมไป เอาอะไร

 

ถ้าหลายแนวมาก หรือไม่มีเป้าหมายที่ชัดอยู่ในใจ

ใจจะวอกแวกไปทางอื่น และไม่เอาจริงกับเป้าหมายอะไรสักอย่าง

สมาธิก็เกิดไม่ได้

 

จงกรม ต้องทำความเข้าใจอันดับแรก

ไม่ว่าจะแนวไหน เราทำไปเพื่อให้เกิดสมาธิในอิริยาบถแบบเดิน

การเคลื่อนไหวแบบเดิน จะเป็นตัวตั้งของงสมาธิ

 

ส่วนการนั่งสมาธิหลับตา คือการที่เราจะมีสติในท่านั่ง

ในความนิ่ง ในอิริยาบถที่มั่นคง ตั้งตรงกับที่

ก็เป็นความต่างกัน

 

ถ้าเราเข้าใจว่าจะนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมไปเพื่อเอาอะไร

เพื่อเอาจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

 

ตั้งมั่นแล้วเป็นสมาธิ เพื่ออะไร

เพื่อให้เห็นกายใจตามจริงที่มันเป็น

ไม่ใช่ที่เราจินตนาการขึ้นมา

 

นี่แหละที่จะกายเป็นจุดสรุปให้จิตมีที่ตั้งชัดเจน

มีทิศทางเดินไปชัดเจนว่า ไม่ใช่เดินไปถึงภูเขา

แต่เดินกลับไปมาเพื่อเอาจิตที่ตั้งมั่น

 

ความเข้าใจตอนนี้

เหมือนยังตกลงกับตัวเองไม่ได้ว่าเดินไปเพื่อเอาอะไร

 

ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ

สมาธิเราเคยได้แล้ว แต่ก็เสื่อมไป

แต่ถ้าเราเข้าใจจะไม่เสื่อมไปตลอดชีวิต

 

------------------

 

(ส่งท้าย)

 

พี่ตุลย์ : เวลาที่เราจะดูว่าเราก้าวหน้าถึงไหน ต้องตั้งเป้าชัด

ถ้ามีเป้าชัด แล้วรู้สึกว่าเราขยับเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ

จะมีสัญญาณบอก เป็นความรู้สึกของตัวเองนั่นแหละ

ว่า เป้านั้นตรงกับใจเราหรือเปล่า

 

ถ้าใจเราเล็งตรงเป้า แล้วรู้สึกว่าขยับเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ

สัญญาณบอกจะชัดเจนนะ

 

เช่น เป้าหมายคือการพ้นทุกข์

แล้วใจเรามีความทุกข์ที่เบาบางลงหรือเปล่า

 

ถ้าเป้าคือการที่มีสติดีขึ้น

มีความสามารถ รู้ว่ากายใจ กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

แล้วใจเราเห็นเข้ามา ในภาวะอันเป็นปัจจุบันตามจริงหรือเปล่า

 

ถ้าเรารู้ เห็น เซ็ตเป้าไว้แน่นอน

และใจมีอาการสักแต่ว่าๆ ไปเรื่อยๆ

ในที่สุดจะรู้ว่าเป้าไม่ได้วิ่งมาหาเรา

แต่เราวิ่งไปหาเป้าใกล้ขึ้นๆ แล้วหรือยัง!

______________

วิปัสสนานุบาล EP88

วันที่ 7 มีนาคม สอง565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=je0D063affg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น