วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

สุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ สุข ในที่นี้ หมายถึง กามสุขด้วยหรือไม่


ดังตฤณ : ไม่ใช่นะครับ กามสุขเป็นคนละประเภทกัน 
กามสุข มีความหนืด มีความเหนียว มีความหยาดเยิ้ม
มีความสกปรก เจืออยู่ด้วยความเป็นอกุศลธรรม
อกุศลธรรมในที่นี้ไม่ใช่บาป ถ้าหากอยู่ถูกฝาถูกตัว คู่ผัวตัวเมีย

แต่ที่ท่านว่า กามอยู่ใกล้กับอกุศล เพราะอะไร
คิดง่ายๆ ถ้าหากเราไปเอาลูกเขาเมียใคร
ลูกที่อยู่ในความดูแลอารักขาของพ่อแม่
พ่อแม่ยังเลี้ยงดู ยังมีกรรมสิทธิ์ในตัวลูกอยู่
หรือ ไปเอาเมียของคนที่มีสามีแล้วมาเสพกาม
ก็กลายเป็นประตูนรกเลย
นี่ก็เป็นสาเหตุที่ท่านว่า กามสุข อยู่ใกล้
เฉียดกันนิดเดียวกับอกุศลธรรมนะครับ

แล้วจิตที่หมกมุ่นอยู่ในกามสุขมากเกินไป
จนกระทั่งเกิดความมัวมน เกิดความฟุ้งซ่าน
เกิดความรู้สึกหัวยุ่ง เกิดความรู้สึกแน่นในอก อึดอัด
รู้สึกว่าสุขภาพร่างกายอ่อนแอลง
ตรงนี้ เรียกว่าหมกมุ่นมากเกินไป
นี่ก็ฟ้องถึงความเป็นอกุศลธรรมของกามสุขนะครับ

แต่ถ้ากามสุขที่แค่ ทำให้อ่อนเพลีย หรือแค่เกิดความเคลิ้มไป
(เช่น) ฟังเพลงเพราะๆ แล้วทำให้เกิดความเคลิ้มฝัน จินตนาการไป
ก็ไม่ได้เป็นอกุศลมากนัก ไม่ได้ใกล้กับบาปมากนัก
แต่ว่าไม่เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ
เพราะว่าเหตุให้เกิดสมาธิ เป็นสุขอันเกิดแต่วิเวก

หมายความว่า สภาพทางกายต้องเบา แล้วก็ห่างออกมาจากกาม
สภาพทางใจต้องไม่มีอาการตรึกนึกถึงกามนะครับ

ตรงนี้แหละที่เป็นจุดแบ่งแยกเลยนะ
สุข ระหว่างกามสุข กับ วิเวกสุข หรือ เนกขัมมสุข แบ่งแยกกันตรงนี้
คือตัดกันตรงที่พระสารีบุตรท่านเคยกล่าวไว้ บอกว่า
กาม ยิ่งเสพ ยิ่งอ่อนแอ
ส่วนสมาธิหรือว่า การมีสติ
ยิ่งเสพยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งมีกำลัง
จิตยิ่งมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมที่จะสละ
หรือปลดเปลื้องต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงออกไปนะครับ

++ ++ ++ ++ ++


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ของขวัญจากสมาธิ
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
วันที่ 25 พ.ค. 2562


วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

วิธีไหนช่วยให้มีสติที่สุดก่อนตาย?


ถาม : ก่อนตาย การดูลมหายใจเข้าออก สวดมนต์ และฟังธรรม วิธีไหนจะทำให้เรามีสติดีที่สุด

ดังตฤณ
: ตัวคำถามนี่ เหมือนกับคุณสมมติขึ้นมาว่า ตอนตายคุณจะเลือกได้ว่า จะสวดมนต์ตาย หรือว่าจะเปิดซีดีฟังธรรม หรือว่าจะดูลมหายใจเข้าออก แต่ในความเป็นจริง จะไม่ใช่แบบนั้นนะ เราเลือกไม่ได้ว่าจะตายแบบไหน อันนี้เป็นอันดับแรก

อันดับสองคือว่า ณ เวลาที่เรากำลังเจียนอยู่เจียนไปจริงๆ การรู้ลมหายใจ การสวดมนต์ หรือการฟังธรรมก็ตามที่มีมาทั้งชีวิต จะต่างไปอย่างสิ้นเชิง

สมมติว่า นาทีสุดท้ายคุณสามารถเลือกได้ว่า นาทีนี้กำลังจะตาย นาทีนี้แล้ว นาทีที่หนึ่งของ 11โมงปุ๊บ ให้เอาซีดีมาเปิดเดี๋ยวนี้เลย นาทีนั้นจะไม่เหมือนกับทุกนาทีที่ผ่านมาในชีวิตนะ เพราะว่าสภาพทางกายกำลังจะหยุดทำงาน แล้วก็สภาพทางจิต เริ่มที่จะถอนออกมาจากอาการรับรู้ทางประสาทหู ประสาทตา จะไม่เหมือนกับการนอนฟังเสียงเทศน์ หรือว่ามาตั้งใจสวดมนต์แบบที่มีสติตื่นอยู่ ไม่เหมือนกันนะ

เราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ณ ขณะนั้นจิตจะทำงาน ไปงัดเอาความจำแบบไหนขึ้นมา หรือว่าจะผลิตอารมณ์ชนิดไหนขึ้นมานะครับ

ตัวที่จะทำให้เรามีสติดีที่สุด นี่คือ คีย์เวิร์ดเลยนะ ตัวที่จะทำให้เรามีสติดีที่สุดก่อนตายคือ อารมณ์ที่เราเคยชิน ที่จะอยู่กับอารมณ์นั้นแล้วเกิดความสว่าง เกิดความรู้สึกเป็นกุศล

ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติทั้งชีวิตที่ผ่านมา เรานั่งสมาธิไม่เป็น เราเดินจงกรมไม่ได้ ฝึกยังไงก็ยังฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อไหร่ลงนั่งสวดมนต์ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความซาบซึ้งในบุญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วมีความสุข รู้สึกใจเยือกเย็น สบาย เหมือนมีแสงสว่างนวลๆ แผ่ออกมากลางใจ แบบนี้เรียกว่า เรามีการสวดมนต์เป็นที่ตั้งของบุญ เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อกำเนิดของสติที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผ่านมา

ฉะนั้น ถ้าเรากำลังจะตาย ต่อให้เราไม่มีแรงสวดมนต์แล้ว แต่จิตก็จะนึกถึงการสวดมนต์ขึ้นมาเอง ตัวนี้ที่ปลุกให้เกิดสติขึ้นมาได้ ขออย่างเดียวคือ เราชินอยู่กับการสวดมนต์แล้วใจรู้สึกสบาย เป็นกุศลจริงๆนะ ไม่ใช่แกล้งทำท่าแบบหล่อๆ สวยๆ แล้วก็มีแต่อาการภายนอกที่ดูดี แต่ข้างในยังปั่นป่วนวกวนอยู่

ถ้าข้างในของเรามีความสุข มีความสงบ มีความเย็น และมีสติอยู่กับการสวดมนต์จริงๆ ก่อนตายถึงแม้ว่าเราจะไม่มีแรงสวดแล้ว มันก็จะกลับมาสวดใหม่เอง เป็นเรื่องของบันทึกที่อยู่ในความเคยชินทางใจกับทางสมอง ร่วมมือกันนะครับ

แล้วดูลมหายใจเข้าออกล่ะ จะช่วยไหม ... ถ้าระหว่างมีชีวิต อยู่ดีๆตามปกติ ยังดูลมหายใจไม่เป็น ก็จะไม่มีความเคยชิน จะไม่มีความเป็นอัตโนมัติทางกายหรือทางใจ ที่จะไปผสมผสานกัน ให้เกิดภาวะรู้ลมหายใจขึ้นมาได้ ฉะนั้นคำถามนี้ โจทย์ข้อนี้ต้องตอบว่า แล้วแต่ความเคยชินของแต่ละคนนะครับ

สิ่งที่จะทำให้เรามีความใกล้ชิด หรือว่ามีความเฉียดใกล้กับนิพพาน ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของการดูลมหายใจเข้าออกแบบรู้ แบบมีสติ ว่าเห็นความไม่เที่ยง ถ้าระหว่างมีชีวิตเราซ้อมมา แค่ครั้งเดียวต่อคืน ก่อนนอน หายใจเข้า หายใจออก นึกว่ามันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่นะ เข้าแล้วก็ต้องออก ออกแล้วก็ต้องเข้า แล้วเดี๋ยวก็หยุดลม แต่ละครั้งที่เข้าออก จะนำความรู้สึกดี หรือไม่ดีมาก็ตาม ความรู้สึกดีนั้น ก็จะต้องสลายหายไป ตามลมหายใจด้วยเช่นกัน

ฝึกสังเกตอยู่อย่างนี้ เห็นความไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ แค่คืนละครั้งเดียว ขอแค่ครั้งเดียวต่อหนึ่งคืน ถ้าต่อเนื่องเป็นสิบปี ก่อนตาย จะพิจารณาครั้งสุดท้ายว่า ลมหายใจเข้า แล้วก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา จะรู้สึกสุข จะรู้สึกทุกข์ จะรู้สึกดีกับทั้งชีวิตที่ผ่านมา หรือรู้สึกแย่ก็ตาม เดี๋ยวก็ต้องหายไป ความรู้สึกแบบนั้นพร้อมกับลมหายใจที่ดับไป แบบไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก นั่นแหละจะเกิดความรุ่งเรืองทางสติ จะเกิดการตื่น เกิดการรู้ขึ้นมาในนาทีสุดท้าย

ถ้าหากว่าไม่มีบาปมาขัดขวาง แล้วก็มีบุญอื่นส่งเสริมด้วย จิตที่เข้าภวังค์สุดท้ายก่อนที่จะเกิดจุติจิต จุติจิตก็เป็นภวังค์ชนิดหนึ่งนะ เป็นความไม่รู้เนื้อรู้ตัวชนิดหนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะเกิดภวังค์สุดท้าย ถ้าหากมีแต่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวเลยว่า จิต หรือลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ร่างกายสังขารนี้กำลังจะต้องทิ้งไปแน่ๆ ตัวนี้รวมลงถึงฌานเลยนะ ที่รวมลงถึงฌานด้วยอาการที่พิจารณาว่า กายใจไม่เที่ยง ตรงนั้นแหละที่จะได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นอย่างต่ำ

พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสย้ำนักย้ำหนาว่า ก่อนตายนี่สำคัญ อย่างพระสารีบุตรไปส่งคนตาย ลูกศิษย์ของท่าน บอกส่งให้ไปถึงพรหมภูมิ บอกว่า ให้พิจารณาว่าสหายแห่งพรหมล้วนแล้วแต่มีเมตตา กรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา แล้วลูกศิษย์ของท่านก็ได้ไปพรหมภูมิจริงๆ พอพระพุทธเจ้าท่านทราบด้วยพระญาณ ก็เรียกพระสารีบุตรมาบอกว่า จริงๆแล้วส่งไปได้ไกลกว่านั้น พระสารีบุตรบอกว่า ข้าพระองค์เห็นว่าเขาอยากไปแค่นั้น อยากไปเป็นสหายแห่งพรหม ก็เลยส่งไปแค่พรหม พระพุทธเจ้าก็ตินิดหนึ่ง บอกว่าจริงๆแล้วประโยชน์สูงสุด เราก็รู้อยู่ว่าคืออะไร ถ้าสามารถส่งเขาไปได้ ทำให้เขาถอดถอนจากอุปาทานได้ จะไปดีกว่าพรหมเยอะ พรหมนี่ยังไงก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ แต่ถ้าเลยพรหมไป เข้าถึงนิพพานได้ จะไม่ต้องกลับมาเป็นทุกข์อีก

พระสูตรตรงนี้บอกได้เลยว่า ขณะจิตก่อนตายสำคัญขนาดไหน พระพุทธเจ้าถึงขั้นบอกว่า แม้คนนอกศาสนา อย่างลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เป็นคนนอกศาสนา เป็นพราหมณ์ ไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้า แต่นับถือพระสารีบุตรเป็นส่วนตัว แต่แม้จะไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้นับถือศาสนามา แต่ว่าอาการสุดท้ายก่อนตาย ได้พิจารณาธรรม จนเห็นว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน มีสิทธิ์ไปนิพพานได้ พระพุทธเจ้าท่านยืนยันด้วยการตรัสติพระสารีบุตรว่า ส่งไปได้ไกลกว่านั้น ถ้าจะส่งกันจริงๆ

ฉะนั้น สรุปว่า ถ้าเราคิดว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ปฏิบัติธรรม หรือว่าเจริญสติไม่ได้แอดวานซ์ (
advance) เหมือนที่ฟังคนอื่นเล่ามา แต่ให้มีกำลังใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราซ้อมที่จะตายทุกคืนทุกวัน แล้วเอาไปใช้จริงในช่วงกำลังจะอยู่กำลังจะไป มีสิทธิ์ได้ไปดี และมีสิทธิ์ไปถึงขั้นที่จะเกิดมรรคเกิดผล จะเกิดการรู้ทะลุกายใจนี้ไป เห็นความว่างอีกชนิดหนึ่ง เป็นมหาสมุทรแห่งความว่างที่เรียกว่านิพพาน

ลมหายใจก็เป็นสิ่งที่ใกล้ที่สุดที่จะทำให้เรามีสติเข้ามาเห็นกายใจนี้ไม่เที่ยงนะครับ อย่างอื่น ได้แค่เกิดจินตนาการถึงสิ่งที่ดีงามนะ
!

https://www.youtube.com/watch?v=jo0ki-hDxDc
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน พลิกสติก่อนตายทันไหม
?
17.3.2019

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หายใจยาวขึ้น ชีวิตดีขึ้น


ดังตฤณ : ช่วงที่ผ่านมา ก็ดีใจนะครับที่ได้ทราบว่าหลายๆ ท่าน มีลมหายใจยาวขึ้น แล้วก็ถ้ามองว่าเราจะพูดถึงชีวิตที่ดี ชีวิตที่มีความสุข จะจาระไนคุณสมบัติของชีวิต หรือว่าสมบัติที่มีกี่ชิ้นกี่อันก็แล้วแต่ มันสรุปลงได้ที่ความรู้สึกเดียวคือ มีความสุข แล้วคนที่มีความสุขนะ จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ โดยภาพรวมถ้าสังเกตมาที่ร่างกายและจิตใจ เราจะพบว่า มีลมหายใจที่ราบรื่น ไม่ติดขัด 

ผมเคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพช่วงเด็ก ช่วงวัยรุ่น อันนี้จะรู้ดี ต่อให้มีอะไรแค่ไหนนะ แต่หายใจไม่ค่อยออก ชีวิตนี่เป็นชีวิตที่ไม่น่าจะอยู่ต่อเอาเสียเลย แค่หายใจไม่สะดวก หรือว่าเป็นภูมิแพ้ติดขัดอะไรอย่างนี้

หลายท่านที่มีปัญหานี้ก็คงจะเข้าใจดีว่าผมพูดถึงความทุกข์แบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทั้งจมูกตัน ถ้าทั้งภาวะร่างกายมีอาการราวกับจะต่อต้าน ไม่ให้เราหายใจเข้า คล้ายๆ มีอะไรที่แกล้ง จะไม่ให้เรามีชีวิตอยู่ต่อ ถึงจะมีความสุข ประสบความสำเร็จ ได้ชัยชนะ หรือว่ายิ้มแย้มแจ่มใสกับผู้คนแค่ไหน แต่ถ้าหายใจไม่สะดวก แล้วก็มีความทุกข์กับการหายใจ หรือหายใจสั้นด้วยภาวะกดดัน ภาวะความเครียดอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่มีทั้งหมดในชีวิต ดูเหมือนกับเป็นแค่ภาพลวงตาที่บอกว่า มี แต่จริงๆ แล้วจะรู้สึกว่า ไม่ได้มีอะไรดีเลย ข้าวของหรือว่าผู้คนที่เหมือนกับบอกว่าเรามีอะไรดี เหมือนผีหลอกน่ะ เหมือนกับอะไรที่ไม่จริง เหมือนกับอะไรที่เรารู้อยู่กับตัวเองว่าสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา คือความรู้สึกเป็นสุขอยู่กับตัวเองนะ ไม่ใช่ความสุขอยู่กับอะไรอย่างอื่นรอบนอก

แล้วศูนย์กลางของชีวิตที่นับตั้งแต่หลายพันปีมา คนโบราณก็พูดไว้ตรงกันว่า ลมหายใจเป็นศูนย์กลางของชีวิต ถ้าหากว่าลมหายใจดี ชีวิตก็ดี ลมหายใจไม่ดี ชีวิตก็ไม่ดีนะครับ อันนี้เป็นสิ่งที่
common sense (สามัญสำนึก) ที่ทุกคนจะทราบได้ตรงกัน เพราะทุกคนอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องประทังชีวิต มาตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดมา จนกระทั่งจะตายดับไป ก็มีสิ่งที่เรียกว่าลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ลมหายใจเฮือกสุดท้าย บอกเลยนะว่า เป็นลมหายใจที่รู้สึกอยู่กับตัวเองว่า ลมหายใจที่จะหมดไป เป็นลมหายใจที่มีสติหรือเปล่า ถ้าหากว่าเป็นลมหายใจที่มีสติ ก่อนที่จะเข้าสู่วิถีของการเคลื่อนจากภพปัจจุบันไป ก็จะมีแต่นิมิตหมายอะไรดีๆ ที่มาปรากฏให้เกิดการรับรู้นะ ... ลมหายใจยาว ชีวิตดี ลมหายใจยาวขึ้น ชีวิตดีขึ้น ... แล้วข้อสรุปอันเป็นที่สุดของความเป็นพุทธก็คือ ถ้าลมหายใจประกอบอยู่ด้วยสติ รู้ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นตัวของลมหายใจเอง หรือว่า ความสุขความทุกข์ที่มาพร้อมกับลมหายใจนี่นะ สติ แบบนั้น เป็นสติที่จะทำให้ถึงที่สุดทุกข์

พูดง่ายๆ สั้นๆ ลมหายใจยาวขึ้น ชีวิตดีขึ้น ลมหายใจมีสติประกอบ ชีวิตจะสามารถพ้นทุกข์ได้นะครับ

หลายท่านก็คงเห็นว่า หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพูดถึง )) เสียงสติ (( จริงๆ แล้วผมไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิตอยากจะทำ )) เสียงสติ (( นะ แต่มีเป้าหมายตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาว่า อยากให้คนร่วมสมัยได้รู้จักพระพุทธเจ้า และสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ วิธีที่จะพ้นทุกข์

วิธีที่จะพ้นทุกข์ก็คือเจริญสติปัฏฐาน และศูนย์กลางของสติปัฏฐาน ก็คือ อานาปานสติ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสย้ำนักย้ำหนานะครับ

แต่คนปัจจุบันก็ไม่มีกำลังใจที่จะเจริญอานาปานสติกัน สาเหตุก็น่าเห็นใจ แล้วผมก็เข้าใจดี เพราะตัวเองก็เคยลำบากลำบนมาก่อน กับการที่จะดั้นด้นเจริญอานาปานสติให้เป็น และสิ่งที่ผมก็ทราบกับตัวเองก็คือว่า คนยุคเรามีความฟุ้งซ่านจัด หรือมีสุขภาพที่ไม่ดี พอมาพบ )) เสียงสติ (( ก็เกิดความรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความก้าวหน้าหรือความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับ อานาปานสติ ของพระพุทธเจ้าได้

ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่นหลายๆ คนบอกว่า รู้สึกหัวโล่ง หายใจยาวขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ถ้าดูเป็นเรื่องของพลังงาน หรือว่า เป็นเรื่องของสมดุลในร่างกาย โดยอาศัยแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นสมอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียงจักระอะไรต่างๆ จะมีสิ่งที่ยืนยันว่า เราไม่ได้อุปาทานไปเอง

ทีนี้
Point (ประเด็นสำคัญ) คือ เรามีชีวิตดีขึ้นเพื่ออะไร เรามีลมหายใจที่ยาวขึ้นไปเพื่ออะไร ตรงนี้อยากย้ำว่า อย่าลืมนะครับว่า เราตั้งใจที่จะนำไปเจริญสติให้ถึงที่สุดทุกข์ นะครับ นี่ถือว่าเป็นโอกาส ถ้าหากว่าใครเกิดมาบอกว่ายังไม่เคยทำสมาธิกับใครเขาได้ หรือว่าดูกายใจแล้วไม่เคยเห็นเป็นอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากมีความฟุ้งซ่านหนาแน่น หรือว่ามีความอยากนู่นอยากนี่เต็มหัวไปหมด ล้นอกไปหมด อย่างนี้ก็ถือเป็นโอกาส

)) เสียงสติ (( จะช่วยเคลียร์พื้นที่ ทำให้ความฟุ้งซ่านลดลง แต่ว่าเรื่องของทิฏฐิ เรื่องของมุมมองเราต้องตั้งเอาเอง ถ้าหากว่ามีความรู้แบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ประกอบอยู่ด้วยในใจของคุณ หลังจากที่ความฟุ้งซ่านหายไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือคุณมีความพร้อมที่จะอาศัยความรู้ความเข้าใจ ในการตั้งมุมมองกายใจของคุณให้เกิดประโยชน์ถึงที่สุดนะครับ

ผมเข้าใจดี ถ้าเราไม่มีสติยาวพอที่จะรู้ลมหายใจได้หลายๆ ครั้ง ไม่มีทางที่จะมองว่าลมหายใจเป็นของไม่เที่ยง ลมหายใจไม่ใช่ตัวเดิม ลมหายใจไม่ใช่ตัวตนนะ จะมีแต่ความรู้สึกอั้นๆ อึ้งๆ แล้วก็อยากจะหลบไปให้พ้นจากการฝึกสมาธินะ

แต่ถ้าเรามีเครื่องมืออยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยีช่วยตรงนี้ได้ ให้ความฟุ้งซ่านถูกปัดเป่า เบาบางหรือหายไป สิ่งที่เหลือก็คือความสามารถที่จะได้เข้าใจว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจ ท่านให้ดูอย่างไรนะ

ลมหายใจที่ปรากฏยาวขึ้นอย่างชัดเจน ลมหายใจที่ปรากฏแม้กระทั่งตอนที่มันอ่อนกำลังลง หรือว่ามีความสั้นลง นำความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ อึดอัดหรือสบายแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละขณะ เราก็จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน คำว่าชัดเจนในที่นี้ หลายๆ ท่านก็คงเกิดความเข้าใจแล้วนะว่าหมายถึงการมีสติ ออกไปเป็น
background เป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้เป็นผู้แสดง ไม่ได้เป็นผู้เล่น ไม่ได้เป็นผู้ที่ร่วมกระทำไปกับกายใจ สภาวะของกายใจ แสดงอยู่ให้ดู เรามีแค่หน้าที่เป็นผู้ดู

การพูดอย่างนี้ เรามีหน้าที่เป็นแค่ผู้ดู ถ้าฟังในขณะกำลังฟุ้งซ่านอยู่ก็เหมือนกับเป็นคำเท่ๆ เอาไว้พูดกันเล่นๆ แล้วก็ไม่เข้าใจว่า คือยังไง แต่ถ้าหากว่าเรามีสมาธิมากพอที่จะเห็น ลมหายใจปรากฏอยู่ข้างหน้า เป็น
foreground แล้วก็ตัวสติรู้ เป็นผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ข้างหลัง อยู่เฉยๆ โดยไม่ไปกระทำอะไรกับมัน ไม่ไปอยากให้ยาวขึ้น ไม่อยากให้มันหายไป ไม่ได้เสียใจเมื่อมันสั้นลง รู้แต่ว่า ขณะนี้มันยาวขึ้น ขณะนี้มันสั้นลง เป็นสายลมปรากฏราวกับเป็นสิ่งที่แยกออกไปเป็นต่างหากจากชีวิตของเรา ไม่มีความเป็นตัวเราอยู่ในลมหายใจ

ตัวนี้ ถ้าเกิดความรู้ความเห็นได้ จะคุยกันรู้เรื่องในขั้นต่อๆ ไป เช่น พอเห็นลมหายใจได้ เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น แสดงความไม่เที่ยงอยู่ ก็เห็นว่ากายนี้ เป็นท่อนๆ พับไปพับมาอยู่อย่างนี้ ไม่สามารถทนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนิ่งๆ ได้ ก็จะรู้ต่อไปอีก ความรู้สึกในกายที่ต้องพับไปพับมา เดินไปเดินมา หรือว่าเข้าที่นอน เข้าท่านิ่ง ก็พราะว่ามีกล้ามเนื้อคอยจะเบียดเบียน เดี๋ยวผ่อนคลาย เดี๋ยวรัดตัวเข้ามาอึดอัด

ความอึดอัดหรือความสบายที่กำลังปรากฏอยู่ตลอดเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง เราไม่เคยรู้ ไม่เคยดูโดยความเป็นของอื่น ของแปลกปลอม ไม่ใช่ตัวตนนะ มีแต่ความรู้สึกอยู่ตลอดขึ้นมาตลอดว่า นี่เรากำลังอึดอัดอยู่ นี่เรากำลังสบายอยู่ นี่เรากำลังหายใจยาว นี่เรากำลังหายใจสั้น ความรู้สึกแบบนี้มาขวางไม่ให้เห็นความจริงที่เหล่าอริยเจ้าท่านอยากให้เห็นกัน หรือเหล่าอริยเจ้าท่านมีความสนใจ ที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ถ้าเรายังยึด ยังหลงอยู่ว่ามันเป็นเรา กายใจเป็นเรา ก็ต้องเวียนว่ายอยู่อย่างนี้แหละ เกิดอย่างไม่รู้ แล้วก็ตายอย่างไม่รู้ว่า กรรมจะซัดไปไหน

แต่เมื่อไหร่
ชาติใดชาติหนึ่งที่เรารู้แจ้ง มีความรู้ชัดว่า นับแต่ลมหายใจเข้าออกเป็นต้นไป มาจนกระทั่งถึงความสุข ความทุกข์หรือว่าจิตใจที่สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง เหล่านี้ ไม่มีอะไรเลยนะ ที่เป็นตัวเดิม มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คลี่คลายไปเรื่อยๆ มาชั่วกัปชั่วกัลป์ แล้วเราก็หลงยึดแบบเดิม เป็นขณะๆ ว่า มันคือตัวเรา พวกมันเนี่ย เป็นอัตตาของเราแน่ๆ อันนี้เรียกว่า อุปาทานในอัตตา ซึ่งถ้าหากว่าชาติใดชาติหนึ่งถูกทำลายลงได้ก็สบาย ตลอดไป
!

11.5.2019


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน พลิกสติก่อนตายทันไหม?


ดังตฤณ : สำหรับหัวข้อในวันนี้ ก็เป็นเรื่องมรณศาสตร์ คือ เป็นวิชาที่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่คนพูดถึงกันน้อยที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะธรรมเนียมคนเราไม่ชอบพูดอะไรที่เป็นอัปมงคล ไม่ชอบเอ่ยถึงสิ่งที่ไม่อยากให้มาถึง

อย่างคนไทย ถ้าบอกว่า เดี๋ยวจะได้ไปสวรรค์ แบบนี้โอเค ยินดีที่จะพูด พร้อมที่จะพูด แต่ทำอย่างไรถึงจะได้ไปสวรรค์นี่ ไม่ค่อยเต็มใจจะฟังนะ เพราะพอฟังปุ๊บ มีแต่เรื่องยุ่งยาก มีแต่เรื่องต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องฝึก ต้องทำโน่นนี่นั่น ตรงนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า คนส่วนใหญ่ไปไม่ค่อยดีเท่าไหร่

สำรวจเอาความคิดของตัวเองนี่แหละ ง่ายๆ เลยว่าวันๆ คิดเรื่องดี หรือไม่ดีมากกว่ากัน น้ำหนักของอะไรที่เป็นอกุศล ชั่งดูแล้ว หนักหรือเบากว่าข้างที่เป็นกุศล ฝ่ายที่เป็นความสว่าง ก็จะเริ่มเข้ามารู้ทันตัวเองว่าสมควร ... เอาแบบมีเหตุมีผลนะ ไม่ใช่เอาตามอารมณ์นะ ไม่ใช่ฉันจะต้องได้ดีเท่านั้น แต่เอาตามเหตุตามผล ตามหลักฐานที่มีอยู่จริงๆ ... ว่าคุณจะได้ไปไหน

หลายคนสำรวจดูแล้วก็ตกใจว่า เอ๊ย ยังไม่ดีจริงๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้จริงๆ ว่าคนส่วนใหญ่ถ้าปล่อยจิตปล่อยใจไปเรื่อยๆ ธรรมชาติของจิตก็จะไหลลงต่ำ เหมือนกับสายน้ำ ถ้าเราดู น้ำไม่มีทางที่จะทวนกระแสขึ้นสู่ที่สูงได้ ยกเว้นแต่มีแรงผลัก หรือว่ามีเหตุปัจจัยอะไรที่ดันมันให้ย้อนคืนกลับขึ้นไป ขึ้นที่สูง แต่ธรรมดาจะโดนแรงดึงดูด ให้ไหลลงต่ำเสมอ

จิตก็เหมือนกัน ในโลกเรามีอะไรบ้าง แรงดึงดูด ไม่ใช่แรงดึงดูดโลกอย่างเดียว แต่มีแรงดึงดูดจากกิเลส จากสัญชาติญาณดิบ ให้คิดอะไรที่ไม่ดีไม่งาม หรือว่าเป็นไปในทางที่จะเอา จะเอาเข้าตัว หรือไม่ก็จะมีโทสะ มีความเคียดแค้น ยอมไม่ได้ บอกว่าแบบนี้ต้องทวงความเป็นธรรม เวลาเขาทำมาหนึ่ง เราเอาคืนสิบ เราบอกว่า อย่างนี้เป็นธรรม เป็นความเป็นธรรมของกิเลสนะ ไม่ใชความเป็นธรรมทางธรรมชาติ

ทีนี้หลายคนพอเจริญสติแล้วก็เริ่มเชื่อว่านี่ของจริง คำว่าธรรมะ ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ของที่เอาไว้หลอกเด็ก ไม่ใช่นะ แต่เป็นของจริงที่เราน้อมเข้ามารู้ในตัวแล้ว ก็สามารถเห็นได้ว่าจริงหรือเปล่า ของจริงหรือของหลอก

เมื่อพบว่าเป็นของจริง หลายคนก็เกิดอาการวิตกบอกว่า ถ้าอย่างนี้เราตายไปในขณะที่ไม่ทันเตรียมตัว คือไม่ใช่ทุกคนที่นอนตายในโรงพยาบาล มีเวลาเตรียมตัวบนเตียง สี่ห้าเดือน หรือเดือนสองเดือนอะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่ตายแบบกำหนดไม่ได้ ขอไม่ได้นะว่า ขึ้นเครื่องบิน เครื่องบินอย่าตกนะ อย่าตายแบบตกเครื่องบินตายนะ หรือว่านั่งรถไป ขอว่าอย่ามีใครมาวิ่งชน อย่ามีสิบล้อมาเบียดตกถนน จงอย่าตายในรถ หรือว่าจะขอวิธีตายยังไงก็ตาม อย่าหัวใจวายตาย อย่าเป็นมะเร็งตาย อย่าเป็นโน่นนี่นั่น โรคปัจจุบันทั้งหลาย ขอกันไม่ได้นะ

ทีนี้ขอกันไม่ได้แล้วบางคนไปเจอ ไปเห็น ไปพบกับตาว่าคุยกันอยู่ดีๆ เมื่อชั่วโมงที่แล้วนี่เองยังมีชีวิต ชั่วโมงนี้ไม่มีชีวิตแล้ว หรืออย่างบางคน มีอยู่ ผมยังจำได้อยู่เลยนะ มีอยู่กระทู้หนึ่งตอนสมัยก่อนอยู่ลานธรรม เขียนอะไรดิบดี เลยว่าตอนกลางคืนฝนจะมา รู้สึกหนาว รู้สึกอะไร เช้าขึ้นมา ไปแล้ว ก็มีคนไปแสดงความเสียอกเสียใจ แสดงความอาลัยกันมากมาย

นี่คือเป็นสิ่งที่เราพบ เราเห็นหลักฐานกันอยู่ทุกวัน ถ้าค้นหาไป จะพบการตายทุกวันแหละ แล้วก็จะพบว่าคนที่ตาย ร้อยละ 99.99 ไม่รู้ว่าจะตายในวันนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าจะตายด้วยวิธีนั้น ทีนี้ก็เลยกลายเป็นข้อสงสัยสำหรับหลายๆ ท่านที่ถามๆ กันมาว่าจะพลิกสติให้ทันได้ก่อนตาย เป็นไปได้ไหม

ผู้ถามนี่ก็เจริญสติมานะ เจริญสติมาบ้าง แล้วก็รู้ตัวว่าตัวเองอาจยังไม่ได้ถึงขนาดไว้เนื้อเชื่อใจสมรรถนะทางจิตของตัวเอง แล้วก็เหมือนกับคิดไว้ล่วงหน้า ถ้าบังเอิญจะต้องตายแบบไม่รู้เนื้อ รู้ตัว ไม่ทันได้เตรียมตัว จะพลิกสติ อาศัยความสามารถที่เคยเจริญสติมาบ้าง จะสวดมนต์มาบ้าง แต่ก็ไม่ไว้ใจตัวเอง

ขอให้สำรวจเข้าไปในจิตใจตัวเองนะ คนที่ไม่ไว้ใจตัวเองว่าจะตายดีหรือไม่ดี จะเตรียมใจก่อนตายได้หรือเปล่า จะเป็นคนที่เอาแน่เอานอนกับจิตตัวเองไม่ได้ จะเป็นคนที่ ถึงจะรู้ธรรมะ ศึกษาอะไรมากี่สิบปีก็แล้วแต่ แต่พอจวนอยู่จวนไปขึ้นมา มันรู้ตัวนะ ว่ามีอาการตระหนกตกตื่นอยู่ มีอาการที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อยู่ มีอาการที่ไม่สามารถพยากรณ์ว่าวันนี้ ไปเจอคนทำหน้าแบบนี้จะอารมณ์เสีย หรือทำหน้าแบบเดียวกัน แล้วจะไม่ถือสา เฉยๆ ได้

การที่เราไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจ หรือเอาแน่เอานอนปฏิกิริยาของใจ ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าถึงเวลาขึ้นมาจริงๆ เราจะพลิกสติกันท่าไหน เราจะใช้ประโยชน์จากทุนเก่าที่สั่งสมมาบ้างในชีวิตกันท่าไหน

คนส่วนใหญ่ก็จะออกแนวสำรวจตัวเองว่า กำลังลืมตาตื่นอยู่ กำลังอารมณ์เสีย บอกว่าถ้าจะตายตอนนี้ ดับอารมณ์ทันไหม หายใจเฮือกหนึ่ง เอ้า ก็ทำได้นี่ ไม่มีปัญหา ก็เลยนิ่งนอนใจ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ถ้าจะต้องตาย ไม่มีอะไรมาก ก็แค่เปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้น ทำอารมณ์ทำใจให้เบาๆ ให้สบายๆ แล้วทุกอย่างก็คงจะเรียบร้อย ได้ไปสวรรค์ ได้มีวิมาน ได้สิ่งที่ไม่น่ากังวลหลังความตาย แต่ใจลึกๆ ก็ยังแอบคิดอยู่ไม่เลิกว่าจะจริงหรือเปล่า จะทำได้แบบที่นึกหรือเปล่า

ผมให้ข้อสังเกตอย่างนี้ แล้วก็จะได้เป็นแบบฝึกหัดที่จะเอาไปใช้ได้จริงนะ ก่อนที่จะถึงวาระจิตจะดับ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ในสภาพร่างกายมือไม้ขยับได้แบบนี้ตามปกติ แล้วจิตก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราจะไปสั่งมันให้คิดแบบนั้นแบบนี้ คิดถึงพระอรหันต์ คิดถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คิดถึงการสวดมนต์ที่ผ่านมา คิดถึงการใส่บาตร หรือว่าทำจิตให้สดชื่นอะไรแบบนั้น ไม่ใช่ของง่ายนะ

ผมยกตัวอย่างสองภาวะ ที่คุณจะรู้ได้ว่าไม่ใช่พลิกกันง่ายๆ เช่น ตอนที่กำลังฟุ้งซ่านจัด ฟุ้งซ่านถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบวกวน แล้วก็ตัดสินใจไม่ถูก เอาเป้าหมายไม่ได้ว่าจะลงเอยแบบไหน ก็จะปั่นป่วนวกวน คุณลองห้ามใจตัวเองดู ถ้าห้ามได้ก็โอเค ถือว่าเก่ง และมีสติมากพอที่จะเอาไว้ใช้งานได้ก่อนตาย

หรืออีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดคือก่อนนอน เวลาที่คุณครึ่งหลับครึ่งตื่น ล้มตัวลงนอนแล้ว ปิดตาแล้ว แต่ว่ายังมีสภาพอยากจะพลิกไปพลิกมา คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ แบบที่หยุดไม่ได้ หรือแม้กระทั่งช่วงที่อยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น ที่เหมือนกับจะสั่งให้ตัวเองคิดก็ได้ แต่ก็ริบหรี่ ความสามารถที่เหลืออยู่ ที่จะบังคับควบคุมตัวเอง เหลืออยู่แค่นิดเดียว พอปล่อยอีกหน่อยหนึ่ง จะแล่นไปตามอาการที่เป็นภวังค์หลับ คือไม่รู้สึกตัว ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ภาวะแบบนั้น ถ้าคิดง่ายๆ เลยนะ เอาแบบเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าสมมติตอนนั้น เป็นภาวะเดียวที่ใกล้เคียงกันกับภาวะก่อนตาย คุณทำอะไรได้บ้างกับตรงนั้น

อย่างถ้ากำลังฟุ้งซ่านวกวน สูดหายใจทีหนึ่งให้สงบได้ไหม หรือว่า ก่อนนอน กำลังจะหลับมิหลับแหล่ แต่คิดถึงคนที่เราแค้นเคือง คนที่เราอยากจะด่ากลับ อยากจะออกหมัดสวน หรือทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขาเจ็บใจ แต่ทำไม่ได้ กำลังนอนอยู่ อยู่บนเตียง อยู่ห่างจากเขาเป็นเมือง อยู่ห่างจากเขาเป็นโยชน์ ณ เวลานั้น เราทำให้ใจตัวเอง ให้มีความสงบ มีความระงับ แล้วก็คิดเมตตา คิดในทางที่ เออ อยากให้เขาเป็นสุขในทางไม่ต้องเบียดเบียนกัน เหมือนกับเราที่อยากจะนอนหลับให้สบายๆ ให้สบายใจ ทำได้ไหม

ถ้าทำได้ โอเค ถือว่ามีสติ ถือว่ามีกำลังของกุศลหนุนอยู่แน่นหนา ใช้ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็น่าเป็นห่วงช่วงก่อนตายเหมือนกัน ช่วงตายแบบไม่ทันได้เตรียมตัว ไม่ทันได้มาระมัดระวัง หรือว่าฟังเทศน์ ฟังธรรมครูบาอาจารย์กันเป็นเดือนๆ นอนติดเตียงอะไรแบบนี้นะ

ถ้าเรามีความเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นลู่ทางที่จะซ้อมก่อนที่จะหลับ ลองสำรวจจิตใจตัวเอง ว่าฟุ้งซ่าน กระเจิง กระจาย ควบคุมไม่ได้อยู่ทุกคืนไหม แล้วเราทำยังไงกับมัน มีแนวโน้มยังไง ปล่อยแบบเลยตามเลย อยากจะฟุ้งยังไงก็ช่าง หรือว่า เราค่อยๆ ทำอะไรบางอย่างกับมัน

หลายคนก็บอกจะสวดมนต์ก่อนนอนไปด้วย คืออาจสวดในห้องพระ หรือสวดบนเตียงนั่นแหละ ท่านอน หรือบางคนบอกว่าไม่อยากยุ่งยากไม่อยากบริกรรม เอาแค่ดูลมหายใจได้ไหม หายใจยาวๆ ที แล้วก็ดูว่าใจสงบลงได้บ้างไหม ถ้าใจกลับมาฟุ้งใหม่ก็เออ ลมหายใจนี้ยังไม่หายฟุ้งนะ ยังฟุ้งกระเจิงอยู่ อีกลมหายใจ ถึงค่อยลดระดับความฟุ้งซ่านลงมา สังเกตไปเรื่อยๆ เห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ซ้อมไปซ้อมมาเป็นเดือน เป็นปีเข้า กลายเป็นความชำนาญ พอเอนลงปุ๊บ เข้าสู่ความเคยชิน

คือสมองนี่นะ จะสั่งสมความเคยชินมากขึ้นๆ ถ้าหากว่าลงนอนปุ๊บแล้วสมองรู้ว่านี่อยู่ในท่าเอนแล้ว แล้วก็มีความเคยชินที่จะหายใจเพื่อเอาความรู้สึกสำรวจว่า ลมหายใจนี้ยังฟุ้งอยู่แค่ไหน มากหรือว่าน้อย นี่ มันจะทำงานเองอัตโนมัติ

คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้นะ ถ้าก่อนนอน ก่อนที่จะเข้าสู่ภวังค์หลับ มีความเคยชิน มีความชำนวญที่จะรู้สึกถึงลมหายใจ แล้วสังเกตความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน จะไม่ต้องออกแรง จะเป็นอัตโนมัติ จะเป็นไปเอง โดยไม่ฝืนใจ แล้วมีความรู้สึกว่า นี่เป็นสิ่งที่เราทำได้ง่ายๆ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องฝืนใจที่จะทำ

ความชำนาญ ความเคยชินอย่างนั้นแหละ จะมีคุณค่ามหาศาล คุณจะเห็นเลยว่า ด้วยการที่เราตั้งใจเตรียมใจ ไว้นานๆ เป็นเดือน เป็นปี พอถึงเวลาต้องใช้จริงๆ ต้องงัดขึ้นมาใช้ปัจจุบันทันด่วน โอ้โห มีค่ามหาศาล มีค่ามากกว่าขุมทรัพย์ที่คุณพบมาทั้งโลก สะสมมาทั้งชีวิต ต่อให้ได้พบช่องทางลับลงไปใต้ปิรามิด ไปโกยสมบัติตุตันคาเมนมาไว้ที่บ้านเป็นลังๆ ก็ยังไม่มีความหมายเลย เวลาที่คุณกำลังจะต้องจากโลกนี้ไป

แต่ถ้าหากว่าสะสมทีละเล็กทีละน้อย เหมือนหยอดกระปุก เหมือนหยอดวันละ 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท 10 บาทก็ยังดี หยอดกระปุกใส่จิตใส่วิญญาณไว้ แล้วก่อนตายได้เอาออกมาใช้ โอ้โห จะรู้เลยนะ จะรู้จริงๆเลยว่าที่สะสมมาทั้งชีวิตไม่มีอะไร เทียบตรงนี้ได้เลยนะครับ ขอแค่คืนละนาที สองนาที จะมีค่ายิ่งกว่าเพชรนิลจินดา ทรัพย์สินศฤงคาร ลูกเมีย หรือลาภยศสรรเสริญอะไรต่างๆ ทั้งหมดเลย ทั้งหมดที่สะสมมาทั้งชีวิตนะครับ เทียบค่ากันไม่ได้เลยกับความเคยชินที่จะนอนหลับแบบไม่ต้องฟุ้งซ่านนะ แล้วก็ตั้งใจไว้ด้วยว่าความสามารถตรงนี้ ก่อนหลับสามารถดับความฟุ้งซ่านได้ จะเอาไปใช้ในช่วงก่อนตาย จะเอาไปพลิกจิตพลิกใจ ให้กลายเป็นกุศลขึ้นมาแทน
!


วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

จิตที่ออกจากร่าง(ตาย) ต่างจากนิมิตและความฝันอย่างไร


ดังตฤณ : ผมว่า 50:50 ของคนที่ทำสมาธิ จะเกิดประสบการณ์แบบนี้ คือ จิตออกจากร่างกาย ซึ่งอย่างคนนี้ก็อยากจะรู้ว่า จิตที่ออกจากร่าง หมายความว่า กายนี่ แตกดับไปแล้ว จะมีความคล้าย หรือ ... ไม่รู้ผมเข้าใจคำถามถูกหรือเปล่านะ เอาตามที่ผมได้รับคำถามมาบ่อยๆ ก่อน ... 

หลายคนรู้สึกว่าจิตเหมือนยกออกจากร่าง แล้วเห็นเป็นสายใย ยืดออกไป เดี๋ยวก็จะกลับเข้าร่างอะไรแบบนี้ ดีดกลับ ดีดออกไปแล้วก็ดีดกลับเข้าร่าง นี่ไม่ใช่ลักษณะของจิตที่แตกดับนะ ไม่ใช่ลักษณะของจุติจิต ไม่ใช่ลักษณะของวิญญาณออกจากร่าง เป็นเรื่องของกายทิพย์ที่ออกจากฐานที่ตั้งชั่วคราว จะรู้สึกได้เลยว่ามีสายใยงอยู่ คล้ายๆ เป็นหนังสติ๊กที่ยืดออกไป แต่เป็นอะไรที่สบายกว่ามาก หนังสติ๊กนี่ยืดออกไปได้นิดเดียว แต่ถ้าเป็นกายทิพย์จะรู้สึกยืดออกไปไม่จำกัด แล้วก็ไม่มีการขาด ถ้าขาดนี่หมายความว่าหลุดออกจากร่างจริง แล้วก็บางทีก็จะมีเหตุผลของการหลุดออกจากร่างในหลายๆ แบบนะ บางคนก็บอกว่าเป็นประสบการณ์ตายแล้วฟื้น ซึ่งมันพิสดารได้แตกต่างกัน

แต่ จะบอกว่าจิตที่จะเคลื่อนออกจากร่างตอนตายแล้วจริงๆ จะไม่ใช่เคลื่อนแบบนั้น จะไม่ใช่ยืดออกเป็นหนังสติ๊กแล้วกลับมาได้แบบนั้น แต่จะรับรู้อยู่อย่างนี้ ที่กำลังนั่งอยู่นอนอยู่ อย่างพวกที่กำลังจะตายส่วนใหญ่ ก็ตายในท่านอน ตายในท่าที่ทรงตัวไม่ได้ ต้องนอนราบ ต้องวางร่างลงกับพื้น

พอวางร่างลงกับพื้น รู้สึกถึงความเป็นกายแบบที่กำลังนอนอยู่ แล้วก็มีนิมิตกรรม ปรากฏให้รับรู้ว่าชีวิตทั้งชีวิตในชาตินี้ ทำอะไรมาบ้าง ที่เป็นของหลักๆ ที่จะทำให้ทบทวนแล้วนึกออกว่า ชีวิตนี้เป็นบุญโดยมาก หรือเป็นบาปเสียส่วนใหญ่ เสร็จแล้วธรรมชาติของจิตก็จะประมวลตัวเองครั้งสุดท้ายว่า กองบุญอันสว่าง กับกองบาปอันมืดดำ อันไหนหนักกว่ากัน อันไหนที่ใหญ่โตกว่ากัน อันไหนที่เป็นชีวิตนี้มากกว่ากัน ชีวิตจริงๆ ชีวิตนี้เป็นบุญหรือเป็นบาปมากกว่ากัน

ถ้าหากว่าเป็นบาปมากกว่า จิตจะเข้าสู่ความมืด ถูกปรุงแต่งให้เกิดความมืด แล้วก็จะมีนิมิตสติข้างหน้ามาปรากฏ ว่าความมืดนี้เหมาะสมกับสภาพภพภูมิข้างหน้าเป็นแบบไหน ความมืด บางทีถ้าประกอบอยู่ด้วยความร้อน แนวโน้มก็จะลงไปสู่ที่ร้อน แล้วก็มืด อย่างเช่นนรก หรือว่าอย่างเช่น สถานที่ๆ น่าทรมานทั้งกายและใจ

แต่ถ้าหากแค่เทาๆ คือไม่มีความร้อนระอุ ส่วนใหญ่ก็ไปเป็นสัตว์ ... คนนี่ไปเป็นสัตว์กันเยอะ ถ้าตายไปแล้วด้วยความตายสีเทา พาไปสู่ความเป็นสัตว์ซะมาก หรือถ้าหากว่ามีความทรงจำแบบมนุษย์อยู่มาก แต่ว่าเหมือนกับมีตุ้มถ่วงให้ตกต่ำลง ก็ไปเป็นเปรต ...เป็นเปรตนี่ก็เยอะมากนะ

คือส่วนใหญ่ที่ตายไป มากที่สุดเลยมักจะไปเป็นสัตว์ แต่ก่อนจะไปเป็นสัตว์มักจะเป็นเปรตก่อน เปรตแบบชั่วคราว แบบที่ยังจำตัวเองได้ ว่าชื่ออะไร นามสกุลอะไร ยังมีความรู้สึกนึกคิดคล้ายกับมนุษย์ แต่ตัวเบา ไม่เหมือนมนุษย์แล้ว เหมือนฝันอยู่ แต่เป็นฝันที่รู้สึกได้ จำได้ราวกับว่าจะคิดอ่านได้เหมือนเดิม แต่ว่าจะเหลือความสามารถที่จะคิดไม่เท่าเดิม เพราะอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรรองรับแบบเดิมๆ งานการแบบเดิมก็ไม่มี บุคคลที่จะให้มาพูดคุยด้วยก็หาไม่ได้แบบเก่า จะใช้มือถืออะไรก็ไม่มีแล้ว จะไปทำบุญ จะไปให้ทานอะไรที่ไหน สงเคราะห์ใคร ก็จับต้องไมได้แล้ว คือยังสามารถไปในที่แบบนั้นได้อยู่ แต่ที่จะมาใช้กำลังใจ เดินทางไปทำบุญที่วัดหรือว่าจะทำกับข้าวไปใส่บาตรพระ จะไม่มีปัจจัยแบบนั้นอยู่อีกแล้ว ได้แต่อนุโมทนากับเขา

ส่วนใหญ่ที่เป็นเปรต จะเป็นแบบที่ท่านเรียกกันว่า สัมภเวสีก็จะล่องลอย อยู่กับภาวะที่จำตัวเองได้ แต่ไม่สามารถเป็นตัวเดิมของตัวเองได้อีกต่อไป ก่อนที่บาปบุญจะตัดสินให้ไปเป็นนั่นเป็นนี่ อาจเป็นเทวดา หรือว่า ลงไปเป็นสุนัข เป็นแมวอะไรต่างๆ สุดแท้แต่ว่ากรรมของแต่ละคนจะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ว่ามีความอยากของใครที่จะพาไปได้

อย่างตอนอยู่ในโลก ความอยากพาเราไปเที่ยวได้ ความอยาก พาเราไปวัดได้ ความอยากพาเราไปขึ้นหน้าผาที่ไหนก็ได้ จะโดดลงมาก็ได้ แต่พอตายไปแล้ว ไม่ใช่อาศัยความอยากนะ มีแต่บาปบุญที่เป็นตัวกักขังเราให้อยู่กับสิ่งที่เราทำไว้โดยมาก

ลักษณะเกิดดับของจิต ไม่ใช่การที่กายทิพย์ออกจากร่าง ที่พูดมาทั้งหมดก็จะให้เห็นว่าจิตที่ดับจากความเป็นมนุษย์แล้วไปเกิดขึ้นใหม่ ไปอุบัติใหม่ในอีกสภาพหนึ่ง ในอีกภพภูมิหนึ่ง ไม่ใช่ความฝันแล้ว อย่างสภาพนิมิต สภาพแวดล้อมของเปรตอย่างนี้ จะแตกต่างจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เรากำลังยืนอยู่ อาศัยอยู่อย่างนี้อย่างสิ้นเชิงเลย

ถึงแม้ว่า ภพภูมิจะซ้อนกันอยู่ เหลื่อมกันอยู่กับมิติ อย่างสมมติในบ้านเราอย่างนี้ บอกว่าญาติของเราที่เสียชีวิตไปยังวนเวียนอยู่ ถึงแม้ว่าสภาพของบ้านจะยังปรากฏเป็นบ้านแบบที่เขาเคยรับรู้ แต่สภาพความกว้าง ยาว ลึก จะไม่เหมือนเดิม เหมือนกับเวลาคุณฝัน ฉากที่เราเห็นในความฝัน จะเหมือนกับมีกว้างยาวลึก แต่จริงๆ แค่เราคิดถึงฉากอีกฉาก ก็จะแวบไปทันที มันหายไปจากของเดิมทันที นั่นคือลักษณะของความเป็นมิติของโลกวิญญาณ คือไม่อิงกับกว้างยาวลึก แต่อิงกับว่า ใจอยู่ที่ไหน ปรุงแต่งขึ้นมาให้เห็นสภาพแวดล้อมอย่างไร ตรงนี้ก็บอกได้คร่าวๆ แค่ว่าเป็นไปตามมิติของจิตอย่างที่ถูกกองบุญกองบาปปรุงแต่งนะ

ถ้าหากว่าเรามองว่าโลก (
Earth) ที่เป็นกว้างยาวลึก แบบที่เราอยู่ เป็นที่อาศัยของเหล่าวิญญาณ เราก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เหล่าวิญญาณเหล่านั้นคือไม่ใช่ว่าเขาอาศัยพื้นที่กว้างยาวลึกแบบที่เรากำลังอาศัยอยู่ แต่เขาอาศัยความกว้างยาวลึก ทางบุญทางบาป ที่เขาสะสมมา เป็นตัวปรุงแต่งให้เกิดความกว้าง หรือความแคบในการรับรู้ของเขา

เอาง่ายๆ สมมติว่าบ้านเรา เรารู้สึกว่าทาสีขาวจะสว่าง กว้าง แต่บาปของเขาปรุงแต่งให้เห็นบ้านหลังเดิม ทั้งแคบทั้งมืด ไม่น่าอยู่ ไม่น่าสบาย นี่คือลักษณะการที่เขาจะเกิดการรับรู้ เกิดการเห็นขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากตอนที่เห็นด้วยแก้วตา เห็นด้วยหูนะ

ย้อนกลับไปที่ตัวคำถาม ถ้าจิตออกจากร่างแล้วเห็นนิมิตอะไร จะไม่เหมือนกับตอนที่ตายไปแล้วถูกบุญถูกบาปปรุงแต่งให้เห็นนะ ลักษณะสิ่งแวดล้อมหรือว่าอะไรต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบในภพภูมิต่อไป จะตั้งต้นมาจากบุญและบาปของจิต ที่จิตสั่งสมไว้ บุญและบาปที่เป็นเงาตามไป ตกแต่งสถานที่ใหม่ ให้เราเห็นไปต่างๆ
!

………………………….
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีรู้ว่านิมิตจริงหรือเท็จ
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
9.3.2019

https://www.youtube.com/watch?v=qSAGRNt4z_4

ระลึกชาติได้ ของจริงหรือจิตปรุงแต่งไปเอง


ถาม: เคยได้ยินว่า เมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นจะสามารถอธิษฐานขอระลึกชาติได้ จะเชื่อได้อย่างไรว่านิมิตที่ฝันเห็นเป็นของจริง หรือจิตปรุงแต่งไปเอง?

ดังตฤณ
: ไม่ใช่การอธิษฐานนะ ถ้าไปฟังใครพูดมาแบบนี้ จะออกแนวเหมือนกับปรุงแต่งภาพขึ้นมาหลอกตัวเองโดยไม่รู้ตัวนะครับ

วิชาระลึกชาติที่พระพุทธเจ้าสอนจริง ซึ่งไม่ใช่พระพุทธเจ้าทำได้เป็นองค์แรก มีฤาษีชีไพรที่ทำได้มาก่อน หลักการก็คือว่าต้องทำสมาธิให้ถึงจุดที่จิตมีความบริสุทธิ์จากความคิดนั่นคิดนี่ หรือว่าอยากจะให้ตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่

จิตของทุกคนเริ่มต้นขึ้นมาตอนที่ยังไม่มีสมาธิบริสุทธิ์ มีความอยากให้ตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่กันทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะที่บอกว่าตนเองเคยเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นราชามหากษัตริย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง จะมีปมฝังแน่นแบบนี้กันอยู่ด้วยกันทุกคน

ถ้าบอกว่าชาติก่อนเคยเป็นหมามาก่อน ... โอ๊ย ไม่เอา ไม่เคย ไม่ได้เป็นแน่ ไม่ใช่ฉันแน่ ... ความตั้งสเปคไว้ก่อนว่าตัวเองต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้ ตัวนี้แหละที่เรียกว่าอคติ ความลำเอียง เป็นตัวที่จะทำให้จิตเพี้ยน ไม่สามารถที่จะรู้ตามจริงได้ โดยเฉพาะประเภทอธิษฐานขอให้รู้ว่าเคยเป็นอะไรมาก่อน โดยมีปมแบบนี้เป็นพื้นอยู่ จะพาไปเห็นว่าตัวเองเคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นอะไรดีๆ ไม่เคยเป็นอะไรเสียหายมาก่อน ไม่เคยเป็นอะไรต่ำๆ มาก่อน

แต่ถ้าเอาแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอน คือมีสมาธิอันปราศจากมลทิน ปราศจากอคติ แล้วก็ไม่มีการตั้งไว้ในใจแล้วว่าฉันต้องเคยเป็นนั่นเป็นนี่ ต้องไม่เคยเป็นนั่นไม่เคยเป็นนี่ มีแต่ความบริสุทธิ์พร้อมจะรู้ตามจริง แล้วสามารถเห็นได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเป็นสมาธิอยู่ อยู่ในท่านั่ง เหมือนเห็นท่านั่งชัดว่ามีอยู่แค่นี้แหละชีวิต ร่างกายถูกยกตั้งด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ มีลมหายใจเข้าออก มีจิตครองกายอยู่ จิตสว่างบ้าง จิตมืดบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สงบบ้าง

เสร็จแล้วก็ถอยกลับไปดู เมื่อนาทีก่อนที่จะเข้าสมาธิ เข้ามาอย่างไร มีอาการอย่างไร จิตเป็นอย่างไรถึงได้เข้ามาสู่ความเป็นอย่างนี้ได้ นี่ จะมีความทรงจำที่อยู่ในระยะใกล้ ยืนยันได้ว่ามีนิมิตแบบนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อไม่กี่นาทีก่อนที่ผ่านมา เสร็จแล้วก็ทบทวนไปเป็นช็อตๆ เมื่อชั่วโมงที่แล้วก่อนนั่งสมาธิ ทำอะไรมา ไปเข้าห้องน้ำ ไปแปรงฟัน ใส่เสื้อผ้าอย่างไร มีนิมิตความจริงที่อิงได้อยู่ เสร็จแล้วก็ย้อนกลับไปเมื่อชั่วโมงก่อนหน้า เมื่อวันก่อน เมื่อาทิตย์ที่แล้ว เมื่อเดือนก่อน ไล่ไปตามลำดับ แต่ละจุดของภาพบนเส้นเวลาจะโยงกันให้ดึงความจำที่อ้างอิงได้ ที่รู้ได้ว่าเคยเกิดขึ้นจริง ทยอยมาสู่จิตมากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ถอยไปได้แม้กระทั่งความรู้สึกนึกคิดในวัยเด็ก จำได้หมดเลย นึกว่าลืมไปหมดแล้ว ความรู้สึกนึกคิดในวัยเด็ก ย้อนกลับมาชัดเจนกระจ่างราวกับเกิดขึ้นอีกครั้ง

แบบนี้ จะยืนยันได้ว่าเป็นของจริงแน่ๆ เพราะอยู่ในความจำได้ ระลึกได้ ว่าเคยเกิดขึ้น เสร็จแล้วถ้าตรงนั้นไม่มีอะไรเป็นเครื่องรบกวน ไม่มีกำแพงขวางของสิ่งที่จะมากั้นขวางความจำ ก็จะลงลึกลงไปว่าตอนอยู่ในท้อง ความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร

ทุกคนมีความรู้สึกนึกคิดขณะอยู่ในครรภ์มารดากันหมด แต่จำไม่ได้ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แล้วว่า เด็กที่อยู่ในท้องรับรู้ สามารถได้ยินเสียง สามารถเห็นภาพ ฉายแสงไปนี่รู้ได้ว่า มีแสง พิสูจน์ได้นะครับ แต่ถ้าหากว่าให้เรามานึกตอนนี้ จะไม่อยู่ในความจำ เพราะว่าตอนนั้นไม่ได้เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการเห็นด้วยตา เห็นโลกแบบนี้ หรือว่าแก้วหูได้ยินเสียงในโลกแบบนี้นะ จะอยู่ในอีกโหมดหนึ่ง อยู่ในอีกสภาวะหนึ่งที่อยู่ในครรภ์มารดา ที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ ถ้ามีสมาธิที่ย้อนลงไปได้ลึกพอ (ความทรงจำ) จะกลับมาอีก ความทรงจำขณะอยู่ในครรภ์มารดา จะไม่ใช่ของหลอก จะไม่ใช่ของที่ เอ๊ะ ไม่เคยมั้ง ทำไมจำไม่ได้เลย จะกลับมาราวกับเราเข้าไปอยู่ในครรภ์มารดาอีกครั้ง แต่ไม่ได้มีความอึดอัด หรือไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนกับจะหายใจไม่ออกอะไรนะ จะมาเป็นช็อต เป็นช็อตที่เด่น แล้วก็กระจ่างชัดเพื่อให้เป็นสะพานเชื่อมต่อไปว่าเรามีความสามารถที่จะย้อนกลับไปไกลกว่านั้นไหม คนที่ทำได้ คืออาจจะมีบุญเก่า หรือว่าจะมีกำลังสมาธิ ฐานกำลังของสมาธิ ที่เหลือเฟือมากพอที่จะพาไปช่วงก่อนที่จะเข้าท้องแม่

คือจะเหมือนกำแพง เหมือนกับอะไรที่ปีนยาก เพราะการระลึกชาติได้ พระพุทธเจ้าท่านให้นับเป็น วิชชาแรก

อวิชชา ไม่ได้มีแค่อวิชชาในการไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนะ แต่ยังมีอวิชชา อันเกิดจากการไม่รู้ว่าชีวิตนี้ได้มาอย่างไร ชีวิตก่อนหน้าตาเป็นอย่างไร เรียกว่าอวิชชาที่ไม่รู้ว่ามีชาติก่อน พระพุทธเจ้าเรียกว่า อวิชชา

แต่ถ้าเราสามารถที่จะถอยกลับไปก่อนที่จะเข้าท้องแม่ได้ นี่เรียกว่า วิชชาแรก วิชชาที่เราสามารถรู้ได้ว่าก่อนเกิดมาเป็นแบบนี้ มีอะไรนำหน้ามาก่อนหน้านั้นอยู่จริงๆ ซึ่งสัตว์ทั่วไปจะไม่รู้ และเพราะไม่รู้นั่นแหละ ถึงหลงวน ทำบุญทำบาปแบบไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า นึกว่าตายหนเดียว แล้วก็เกิดหนเดียว แต่พอเกิดวิชชาแรกขึ้นมา รู้ว่าก่อนเกิดมาเป็นแบบนี้มีอะไรนำหน้ามาก่อน แล้วอะไรที่เคยเกิดขึ้นก่อนนั้นแหละ ที่ให้ผลมาเป็นสภาพความเป็นเช่นนี้ คราวนี้จะไม่ทำบุญทำบาปแบบมั่วๆ แล้ว จะทำบุญทำบาปแบบรู้จริงๆ ว่า ที่กำลังทำๆ อยู่ไม่ใช่ไม่มีผลนะ เดี๋ยวจะมีผล

เมื่อกี้พูดถึงวิชชาข้อแรกแล้ว ก็เลยจะพูดถึง วิชชาข้อที่สอง คือคนเรามีอวิชชา ไม่รู้ว่าก่อนหน้าชีวิตนี้ มีชีวิตก่อน แล้วก็มีอวิชชาที่ปิดบังให้ไม่รู้ว่าที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่นี่ เป็นไปตามกรรม
ถ้าเห็นว่าสัตว์จุติ คือเคลื่อน แล้วปฏิสนธิ คืออุบัติในภพภูมิใหม่ตามเหตุปัจจัย สมควรแก่กองบุญกองบาป นี่เรียกว่าเป็นการชำแรกอวิชชาที่สอง

มีวิชชาที่สอง คือรู้ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตรงนี้ถึงจะเป็นของจริง คือรู้ของตัวเองก่อน ถึงจะไปรู้ของคนอื่นด้วย

อวิชชาที่สาม คือไม่รู้ว่า กายใจนี้ ทุกภพทุกชาติเลย เป็นเหยื่อล่อให้หลงยึด นึกว่าเป็นตัวเรา นึกว่าเป็นของๆ เรา นึกว่าเป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่งที่เรียกว่าอัตตาแน่ๆ มีอัตตาอยู่จริงๆ ไม่ที่นี่ ก็ที่อื่น ภพภูมิอื่น ตัวนี้นี่ ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นความไม่เที่ยงของกายใจในชาติใดชาติหนึ่ง ได้แจ้ง ได้ขาด ก็จะไม่มีเศษ ไม่มีสภาพที่คงค้างให้ต้องไปชดใช้ความไม่รู้กันต่อไปในชาติหน้านะ

กลายเป็นการทำลายอวิชชาที่สาม อวิชชาขั้นสุดท้าย ที่เป็นสุดยอดจริงๆ เป็นที่สุดของความเป็นพุทธจริงๆ

สรุปคือ ไม่ใช่ว่าเราทำสมาธิแล้วอธิษฐานว่า ขอให้เห็นนั่นเห็นนี่ แต่ต้องมีนิมิตที่อิงความจริงประกอบอยู่ด้วย แล้วนิมิตที่อิงความจริงประกอบอยู่ ทางพุทธศาสนา (คือการเห็นลม) หายใจก่อนเลย หายใจเข้าหรือหายใจออก นั่งอยู่หรือนอนอยู่ เห็นนิมิตทางกาย เห็นนิมิตของลมได้ จากนั้นถึงค่อยเขยิบขึ้นไป ดูว่าที่ผ่านมานาทีนี้ นาทีก่อน มีนิมิตแบบไหนเกิดขึ้น

อย่างคนปกติ เวลาคิดทบทวนนี่จะเกิดภาพแค่แวบเดียว พูดถึงเมื่อวาน จะมีเหตุการณ์ที่ขึ้นใจแค่เรื่อง หรือสองเรื่องปรากฎแวบขึ้นมา แต่ถ้าหากเป็นสมาธิขั้นสูง สมาธิที่เกิดจากการอิงความจริง เช่นหายใจเข้า หายใจออก กำลังนั่งอยู่ หรือกำลังยืนอยู่ จะมีสมาธิที่ตั้งมั่นคงเส้นคงวา มากพอที่จะเห็นเป็นช็อตๆ เลยนะว่า ที่เราคิดอ่านทำการ หรือว่าเคลื่อนไหวในอิริยาบถหนึ่งๆ ในเหตุการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นอย่างไร ให้ความรู้สึกอย่างไร สัมผัสอย่างไรราวกับว่าเหตุการณ์นั้นย้อนกลับมาอีกครั้ง นี่จะแน่ชัดว่า เราไม่ได้เห็นของเก๊ มีความจริงปรากฎอยู่ เคยปรากฎอยู่แน่ๆ แล้วเราแค่มีสติ ระลึก เห็นชัดด้วยสมาธิที่ตั้งมั่นคงเส้นคงวา
!

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีรู้ว่านิมิตจริงหรือเท็จ
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
9.3.2019

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อยากรักษาศีลเพื่อให้คู่ที่ศีลไม่เสมอกันหลุดออกไป ทำครอบครัวแตกแยก หรือเป็นบาปต่อลูกหรือไม่

ดังตฤณ : ผมบอกไว้ตั้งแต่สมัยเขียนหนังสือ #รักแท้มีจริง
ซึ่งหลายคนทดลองแล้วก็เห็นผลตามนั้น
คือ ถ้าอยากเลิกจากคู่เวร อยากจะอยู่บนเส้นทางคนละวงโคจรกัน
เขาทำชั่วอย่างไร เราทำดีแบบที่ตรงกันข้าม ให้ครบทุกข้อ
แล้วจะเห็นผลในเวลาไม่นาน ใจจะแยกห่างออกจากกัน
เพราะว่าคนที่ศีลไม่เสมอกันขนาดที่ ดำกับขาว จะอยู่ด้วยกันไม่ได้
ขั้วตรงข้ามทางธรรมชาติ มีแรงผลัก มีแรงดึงดูดอยู่จริง
สามารถพิสูจน์ได้ถ้าไม่ได้มีเหตุปัจจัยอื่น นอกเหนือการควบคุม
เช่น เขายังอยากจะอยู่ตรงนี้เพื่อเอาผลประโยชน์
สำหรับคู่ส่วนใหญ่ก็เวิร์ค (
Work – ได้ผล)
ที่ฟังเขาเล่ามา ก็เห็นผลตรงกันหมด
บางคนใช้เวลาสั้น บางคนใช้เวลายาวหลายปีหน่อย
แต่ในที่สุดก็มีเหตุปัจจัย ผลักดัน
ให้เกิดความเอือมระอา ที่จะมาทนอยู่กับเราไปเอง
ใครที่กำลังเอือมระอาสุดขีด
แต่เจ้ากรรมนายเวรที่มีตัวตนอยู่ตรงหน้า
ไม่ยอมเลิกราเสียที ไปลองทำดูก็ได้
เขาทำอะไรที่เป็นลบ ชอบพูดจาโว้กว้าก ชอบโกหก
เราทำให้ตรงข้ามให้หมด จนกระทั่งเกิดขั้วภายในที่ดูดกันไม่ติด
ในที่สุดเขาจะจากไปเอง
แต่ไม่รับประกัน
เพราะแต่ละคน ใช้ความพยายามก็ไม่เท่ากันแล้ว
อดทนใช้ระยะเวลาแค่ไหน ก็ไม่เท่ากัน
แล้วก็ทำจริงหรือเปล่า
หลายๆ คนไม่ได้ทำให้เป็นตรงข้าม ยังกลมกลืนไปกับเขาอยู่
ยังมีโทสะ ยังมีการอาละวาดกลับอะไรแบบนี้
ทีนี้มาตอบตัวคำถาม
คนเรา บางทีถ้ายังอยู่ตัวคนเดียวจะไม่สงสัย
แต่พอมีลูก จะเกิดคำถามขึ้นมาในใจทันที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รักลูก เห็นแก่ลูกมากๆ
จะเกิดความรู้สึกแคร์ และความแคร์นี่ ทำให้สงสัยว่า
สิ่งที่เราตัดสินใจไป หรือว่าเลือกที่จะเอาเส้นทางแบบนี้ ผิดหรือถูก
เป็นบาปหรือเป็นบุญ แล้วบาปจะไปตกกับลูกไหม
ผมขอให้แง่คิดง่ายๆอย่างนี้
คนเราทุกคน ทั้งตัวเราและตัวลูก
มีวิบากกรรมที่ถูกวางแผนไว้ค่อนข้างจะแน่นอน

อย่างถ้าดูตามโหราศาสตร์บอกไว้
ถ้าเกิดฤกษ์นี้ พ่อแม่ต้องหย่ากัน
ถ้าเกิดฤกษ์นี้ พ่อแม่อยู่ด้วยกันไปนานๆ
ไม่จำเป็นต้องไปเชื่อโหราศาสตร์นะ
แต่ผมยกตัวอย่างว่า ศาสตร์แห่งโหร หรือศาสตร์แห่งดวงดาว .
เขาอธิบายเรื่องกรรมได้จริง

แปลว่าวิบาก ออกแบบไว้แล้วตั้งแต่แรกว่า
เกิดมาแล้วจะได้อยู่กับพ่อแม่นานแค่ไหน
หรือไม่อยู่กับพ่อแม่เลยตั้งแต่ต้น
หรืออยู่กับพ่อแม่ไปจนกว่าจะตายจากกัน
ถ้าหากว่ามีเหตุ คือ ของเก่าของลูก
จะต้องมาอยู่กับพ่อแม่ที่แตกแยกอยู่แล้ว
เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ก็คือเราจะต้องแยกกับสามี หรือภรรยา
หรือถ้าดวงของลูกบอกว่า ได้อยู่กับพ่อแม่จนโต
ก็จะมีความรู้สึกเห็นแก่ลูก ทนทุกอย่าง ทนอยู่จนลูกโต
แล้วถึงค่อยให้รู้ว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน
หรือว่าไม่สามารถอยู่ด้วยกันตั้งนานแล้ว แต่ว่าเห็นแก่ลูก
ใจของเราเป็นอย่างไร ก็สะท้อนสิ่งที่เป็นวิบากของลูกนั่นแหละ
ถ้าเราใช้วิธีแบบที่ผมว่า คือ ทำความเข้าใจว่า ชายหญิง หรือคู่ที่มาประกบกัน
ต่างฝ่ายต่างเป็นขั้ว แล้วก็ดูดติดกันด้วยแรงกรรมบางอย่างในอดีต
แล้วก็รวมทั้งความจงใจ เจตนา ความอยากในปัจจุบัน
ขั้วนี้ ไม่จำเป็นต้องดูดติดกันเสมอไป สามารถมีแรงผลักได้
ซึ่งแรงผลักนี่มีทั้งแรงผลักแบบดี กับแรงผลักแบบร้าย
แรงผลักแบบร้าย คือทะเลาะกัน ตีกันจนตาย แล้วแยกจากกัน
อาจแยกจากกันด้วยความบาดเจ็บทางใจ ทางกาย
หรือตายจากกัน ด้วยการทำร้ายกัน
หรือแยกจากกันในทางดี
ด้วยการที่ฝ่ายหนึ่งเข้าใจธรรมะของแรงดึงดูดสองขั้ว
พยายามที่จะทำตัวเป็นตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหนึ่ง
ด้วยเจตนาว่า ขอให้เลิกแล้วต่อกัน ขอให้ออกห่างจากกัน
ขอให้ไม่ต้องอยู่ด้วยกันอีก
ด้วยแรงบุญที่ปฏิบัติเป็นตรงกันข้ามกับบาปกรรม ที่เขาก่อขึ้นมา
เขานอกใจ เรามีใจอยู่ใจเดียวเลย
เขาโกหกเป็นประจำ เราพูดความจริง
แม้แต่คำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีเลยที่เราจะพูดไม่จริง
เป็นตรงข้ามให้หมด จนกระทั่งในที่สุด
ด้วยแรงใจที่เจตนาจะแยกออกจากกันอยู่แล้ว
และการกระทำลงทุนลงแรงด้วยบุญใหม่จริงๆ
ในที่สุดก็เกิดแรงผลักแบบดี แยกออกจากกันไปอีกได้
ตรงนี้ก็เป็นอีกชั้นหนึ่ง เป็นสิทธิ์ของเรา แล้วก็เป็นวิบากกรรมของลูก
คือเราพิจารณาแล้วว่าถ้าอยู่ด้วยกัน
เผลอๆ ลูกจะบาดเจ็บเยอะกว่าที่จะแยกกัน
เห็นจริงๆนะ ไม่ใช่แกล้งเห็น ไม่ใช่แกล้งเข้าข้างตัวเอง
ถ้าเห็นจริงๆ แล้วทำไปก็ไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในชีวิตลูกอยู่แล้ว
เส้นทางเขาได้ออกแบบมาอยู่แล้วถึงได้มาอยู่กับพ่อแม่คู่นี้
ให้มองแบบนี้ไปก็แล้วกัน! ______________
คำถามเต็ม : การรักษาศีลให้มั่นคง เพื่อให้คู่ที่ศีลไม่เสมอกันหลุดออกไป เป็นการแก้ปัญหาชีวิตคู่ไหม
หรือ ควรอดทนและวางเฉยต่อการกระทบของคู่ที่ไม่ดี
การที่เราอยากเลิกเพราะเขานอกใจ และทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ
เป็นการทำครอบครัวแตกแยก หรือเป็นบาปต่อลูกหรือไม่
?
-------------------
ปฏิบัติธรรมที่บ้านตอน สติในการรู้โลกตามจริง
9.2.2019


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำบุญอย่างไรให้ชาติหน้าบรรลุธรรมง่าย


ดังตฤณ : หลายท่านสนใจการเจริญสติ จริงๆพูดอย่างนี้ดีกว่า หลายท่านสนใจการบรรลุธรรม แต่ไม่ค่อยจะสนใจ หรือ ถนัดในการเจริญสติเท่าไหร่ ก็เลยอยากทราบว่า มีบุญแบบไหนมั้ย ไปทำบุญกับพระที่ไหน หรือว่า จะต้องอธิษฐานอย่างไร ชาติหน้าถึงจะได้เป็นผู้ที่มีสิทธิบรรลุธรรมเร็ว เป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีความสามารถที่จะถึงมรรค ถึงผล ได้ฌานอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่ได้พบได้เจอในพระไตรปิฎก หรือคำบอกเล่า เสียงเล่าเสียงลือว่า มีบางท่านได้บรรลุธรรมเร็ว อย่างพวกอาจารย์เซน อะไรแบบนั้น

หลายท่านมีคำถามมาว่า ทำอย่างไรถ้าต้องเกิดไปเรื่อยๆ แล้วจะได้มีสัมมาทิฏฐิ ไปทุกชาติทุกภพ หรือทำอย่างไรจะได้พบพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ หรือถ้าไม่มีวาสนาขนาดนั้น ทำอย่างไรถึงจะได้รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วบรรลุธรรมเร็วๆ หน่อย เพราะชาตินี้ สารภาพกันแบบแมนๆ สารภาพกันแบบลูกผู้หญิงว่า ท่าทางตัวเองอาจไม่ค่อยสันทัดกรณีเดินทางไปนิพพาน ยังรู้สึกอยากจะทำโน่น อยากจะทำนี่ แล้วก็มีกิเลสที่ทำให้รู้ตัวว่า ทำท่าจะไปไม่ถึงไหน ก็เลยเกิดความอยากจะหวังพึ่งพาตัวเองในอนาคต อัตตาตัวตนในอนาคตว่า จะได้มีความสบาย คือช่วยให้ตัวเองเอาตัวรอดได้แบบลัดๆ สั้นๆ ง่ายๆ

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เอาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “เวไนยสัตว์ หรือผู้ที่มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ มีหลายพวก หลายเหล่า” บางพวก มีธุลีในดวงตามาก อันนั้นท่านก็จะไม่พยายาม ไม่ขวนขวายที่จะไปโปรด แต่บางพวกมีธุลีในดวงตาน้อย คือพูดไม่เท่าไหร่ เขี่ยผงไม่เท่าไหร่ ก็จะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ อย่างที่ยกเป็นตัวอย่างกันมากเลยก็เช่นท่านพาหิยะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสแค่บอกว่าอย่ายึดมั่นอะไรๆ เป็นตัวเป็นตน เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน คิดสักแต่ว่าคิด สุขสักแต่ว่าสุข ทุกข์สักแต่ว่าทุกข์

ฟังแค่นี้ จิตของท่านซึ่งมีธุลีในดวงตาน้อยมากก็สามารถที่จะสว่างโพล่ง คือรู้ว่า สิ่งที่เป็นเปลือกห่อหุ้ม หรือเป็นเหยื่อล่อที่เป็นกายเป็นใจอย่างนี้ นึกว่าเป็นตัวนึกว่าเป็นตน จริงๆ แล้วเป็นแค่ของหลอก แล้วจิตก็ทะลุออกไป และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าในนาทีแรกๆ ที่ได้พบพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

ตรงนี้ที่ผมจะเอามาเป็นตัวตั้งว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกเวไนยสัตว์ที่บรรลุธรรมได้ง่ายๆว่าเป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย

ผู้มีธุลีในดวงตาน้อยหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า มีอุปาทานอยู่น้อย มีความยึดมั่นสำคัญผิดน้อย ความยึดมั่นสำคัญผิดของจิต อาการยึดมั่น ถือมั่น ตัวนี้แหละ ที่เราจะเอามาเป็นประเด็นคำตอบ

ถ้าตราบใดจิตยังมีความยึดมั่นถือมั่นสูง ยังมีอัตตาตัวตน อยากได้โน่น อยากได้นี่ ไม่คิดแบ่งใคร โกรธใครแล้วคุมแค้นอยู่เป็นชาติๆ แบบนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นมาก เป็นผู้มีธุลีในดวงตามาก หนาเตอะเป็นโคลนป้ายตาเลยทีเดียว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า กลุ่มนี้ท่านปล่อยไป

แต่พวกที่มีธุลีในดวงตาน้อย ท่านจะเข้าหา คือไม่ต้องมาเข้าเฝ้า ไม่ต้องพยายามเข้าเฝ้า บางทีพระองค์เสด็จไปโปรดเองเลย คือตอนตีสี่ของทุกเช้า พระพุทธเจ้าท่านจะแผ่พระญาณไปว่าวันนี้ควรโปรดใคร ถ้าพบผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ท่านก็จะไปโปรดคนนั้นก่อน นี้เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ คือไม่ได้ขอ แต่ว่าไปโปรดเองเลย ด้วยความเป็นเส้นทางแบบที่ท่านปรารถนาไว้ คือ อยากจะช่วยขนสัตว์ออกจากสังสารวัฏให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วก็พวกที่เหมาะจะให้ท่านช่วย ก็คือพวกที่มีธุลีในดวงตาน้อยนั่นเอง

ถามว่า ทำบุญแบบไหน ถึงจะให้เป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ... เอ้า ตั้งโจทย์ใหม่ ประพฤติตนอย่างไร ทำกรรมแบบใด จึงจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่ำๆ ไม่ใช่ผู้มีความยึดมั่นถือมั่นสูง ไม่ใช่ผู้มีอัตตามาก

ถามตัวเองง่ายๆ เลยว่า ใจของเรา ถึงวันนี้เดี๋ยวนี้ มีความยึดมั่นถือมั่นสูงแค่ไหน มีอัตตาแรงเพียงใด ถ้าหากว่าได้คำตอบว่า อัตตาลดลงเรื่อยๆ มีความรู้สึกขึ้นมาเป็นวูบๆว่า กายนี้ ใจนี้ เหมือนกับไม่ใช่ตัวของเรา เหมือนกับอะไรอย่างหนึ่งที่กำลังแสดงความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนอยู่ เห็นแวบๆ นานๆทีเห็นที แต่ว่าความรู้สึกโดยรวมถึงขณะปัจจุบัน ดูเหมือนกับว่า อัตตาเบาบางลง ไม่แรงเหมือนแต่ก่อน ไม่ใช่คนที่มีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ เหมือนช่วงที่ก่อนจะสนใจปฏิบัติธรรม ก่อนที่จะสนใจธรรมะ

เอาความรู้สึกโดยรวมตรงนี้ เป็นเครื่องวัด เป็นมิเตอร์ แล้วตอบตัวเองได้แบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปบอกคนอื่น ไม่ต้องอวดคนอื่น ตอบตัวเองนี่แหละ บอกตัวเองเงียบๆ อยู่ข้างในนี่แหละว่า เออ อัตตาของเราเบาบางลงจริงๆ ข้างในเหมือนใสๆ ข้างในเหมือนเบาๆ โล่งๆ ตัวเหมือนกับไม่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้จมลงมากเกินไป ใจสบายขึ้น มีความทุกข์น้อยลง

ความรู้สึกตรงนี้แหละ ความรู้สึกเบาหัวอก ความรู้สึกว่า อัตตามันมีน้ำหนักน้อยลงนี่แหละ ตัวนี้คือมิเตอร์วัดว่า กรรมของเรา บุญของเราที่ผ่านมา สะสมมาในทางสละออกได้มากพอที่จะยึดมั่นถือมั่นน้อยลง และมีสิทธิที่จะไปเกิดใหม่ แล้วบรรลุธรรมได้ง่าย

จริงๆ แล้ว คำที่เป็นคีย์เวิร์ด (
Keyword) ในการบรรลุมรรคผล พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้หมดแล้ว อย่างเช่นคำว่า ยึดมั่นถือมั่นสูง จะเป็นตรงกันข้ามกับ ยึดมั่นถือมั่นน้อย แล้วที่จะยึดมั่นถือมั่นน้อย พระพุทธองค์ท่านมีคีย์เวิร์ดของท่านคำหนึ่งคือคำว่า “สละออก

“สละออก” เป็นแนวทางของการให้ทาน ถือศีล แล้วก็เจริญสติ ในแบบพุทธ สละออกคำเดียวเลยนะ นึกถึงคำว่าสละออก ใจจะเบา ถ้าใจเบาเป็น ถ้ารู้ทาง ได้ยินคำว่า สละออกแล้ว เออ เข้าใจ คือการยก เอาของหนักๆ ออกจากอก อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีความเป็นพุทธที่อยู่บนเส้นทางการให้ทาน รักษาศีล แล้วก็เจริญสติ

แต่ถ้าวันๆ แม้แต่กระทั่งว่า เราจะมีความปรารถนา มีความอยากเหลือเกินที่จะบรรลุมรรคผล มีความอยากได้ใคร่ดี เหมือนกับคนที่ท่านบรรลุมรรคผลกัน มีแต่อยากๆๆ แบบนี้ ใจไม่มีทางเบา เราจะพบว่า ใจที่มีความอยาก คือใจที่มีอัตตาตัวตน มีความยึดมั่นถือมั่นสูงเสมอ ยิ่งอยากมากเท่าไหร่ ยิ่งอยากแรงเท่าไหร่ อัตตายิ่งมาก อัตตายิ่งแรง เป็นเงาตามตัวไปเท่านั้น

ถ้าอยากจะทำบุญในแบบที่จะบรรลุธรรมง่ายในชาติต่อไป หรืออาจในชาตินี้ก็ได้ ตอนท้ายๆ ใครจะรู้ ถ้าหากว่าทำบุญตรงจุด ทำบุญในแบบที่สำรวจใจตัวเองไปด้วยว่า บุญที่เราทำ เป็นบุญแบบสละออกหรือเปล่า ถ้าใจเบา ถ้าใจโล่งขึ้นทุกที อย่างนี้ถือว่าเป็นบุญในแบบสละออก แต่ถ้ายิ่งทำบุญ อัตตายิ่งแรง ยิ่งอยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้มรรค อยากได้ผล อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ ตามอำนาจบันดาลของกิเลส อย่างนี้บุญแบบนั้นที่ทำมา จะทำมามากขนาดไหนก็ตาม อย่างมากก็เป็นเงาให้ทอด เป็นต้นของเงาที่ทอดสู่สวรรค์เท่านั้น ยังไปไม่ถึงนิพพาน

มาจาระไนกันสั้นๆ แบบกระทัดรัด รวบรัด การให้ทานแบบไหน ที่เป็นการสละออก
การให้ทานแบบที่ท่านตรัสว่า นึกอยากช่วย แล้วลงมือช่วยทันที อย่างนี้เป็นการสละออก นึกอยากให้เปล่าโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังว่าจะให้เขามาตอบแทนอะไรเรา หรือกระทั่งใจใหญ่ขนาดรู้ทั้งรู้ เดี๋ยวอาจมีสิทธิโดนเนรคุณแต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าอยากช่วยเสียอย่าง นี่เรียกว่าสละออก

ทาน ถ้าไม่หวังว่า ลงทุนไปร้อยจะได้มาล้าน ถ้าไม่หวังว่า ลงทุนกับวัดนั้นวัดนี้ที่โฆษณาว่าจะได้ไปนิพพานเร็ว หรือว่าจะได้สวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน อะไรต่างๆ ถ้าเราไม่ไปอยากได้ใคร่ดี ในแบบที่เขาโฆษณาหลอกลวง อย่างนี้เรียกว่า การรู้ทันการให้ทานแบบผิดๆ

การให้ทานแบบถูกเป็นอย่างไร ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าบอก เป็นการให้ทานโดยมีจุดประสงค์เดียวคือ ทำลายความตระหนี่ การทำลายความตระหนี่ทิ้ง ก็คือการสละออกนั่นแหละ พอให้ทานจนใจเบาเป็น แม้กระทั่งใครทำให้โกรธเคืองก็ ไม่เป็นไร ให้อภัยได้ง่ายๆ นี่สละออกได้ง่ายๆ ความโกรธแค้น คุมแค้น หรือว่าพยาบาท พอรู้สึกว่าใจเบา ใจโล่ง อยากจะให้สะอาดมากกว่านั้น ก็สละออกซึ่งความอยากดิบๆ ประเภทที่อยากจะไปฆ่าแกง อยากจะไปทำร้ายร่างกายหรือจิตใจใครเขา หรือความอยากที่จะไปหลอกลวงชาวบ้าน ไปคดโกง ไปขโมย หรือว่า ผิดลูกเขาเมียใคร หรือว่าอยากจะโกหก เอาประโยชน์เข้าตัว อยากจะนินทาว่าร้ายใครให้เขาเสียหาย พูดจาหยาบคาย หรือพูดจาเพ้อเจ้อ ถ้าสละความอยากจะพูดแบบที่จิตเศร้าหมองแบบนั้นได้ ก็เป็นการรักษาศีลเพื่อที่จะทำให้ใจเบาลง สะอาดขึ้น แล้วก็มีเรื่องของการเสพสุรา เมายาอะไรต่างๆ ถ้าหากว่าสละสิ่งสกปรกเหล่านี้ สิ่งที่รุงรัง สิ่งที่รกจิตรกใจเหล่านี้ออกไปได้ ถือว่าเป็นการทำบุญในแบบที่จะทำให้บรรลุมรรคผลเร็วเช่นกัน

แต่การที่ใจเราจะสละออกในแบบที่จะได้มรรคได้ผลจริงๆ ไม่ใช่แค่การให้ทาน ไม่ใช่แค่การถือศีล เพราะการสละออกในระดับของการให้ทาน กับระดับของการถือศีล เป็นการสละออกแบบหยาบๆ เป็นตัวตนแบบหยาบๆ เป็นตัวตนแบบที่ร้ายๆ เราสละตัวตนร้ายๆ ออกไปเท่านั้น แต่ยังไม่ได้สละ อุปาทาน ว่ามีตัวตนออกไปเลย

การที่จะให้ใจของเรามีอาการแผ่ผาย และสละออกอย่างแท้จริง สละอุปาทานในตัวตนได้ จะต้องเจริญสติ ซึ่งไม่ต้องตกใจไป เราอาจไม่ขยัน หรือว่ารู้สึกว่าจิตใจไม่พร้อมจะมานั่งสมาธิ ไม่พร้อมจะไปเดินจงกรมอะไรต่างๆ เอาเป็นแค่ว่ามีสติขึ้นมาแวบๆ เห็นว่าที่กำลังรู้สึกอยู่เป็นตัวของเราชัดๆ ร่างกายของเราชัดๆ ถ้าสำรวจเข้าไป บางทีอาจวันละครั้ง อาจจะวันละหน ทีละนิดทีละหน่อย เออ ... ลมหายใจมีเข้ามีออก แล้วถ้าตอนตาย เราเห็นว่าลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก พอออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีก ก็แปลว่ามันแสดงความไม่ใช่ตัวเราออกมาเป็นที่บริบูรณ์แล้ว

แค่คิดแบบนี้ง่ายๆ พูดง่ายๆ มีมรณสติ นิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการสละออกซึ่งอุปาทาน ว่ากายนี้ใจนี้ เป็นตัวเป็นตนของเรา กายนั้นใจนั้น เป็นตัวเป็นตนของเขา พูดง่ายๆ ว่า เจริญสติทีละนิดทีละหน่อย วันละนิดวันละหน่อย จนกระทั่งรวมๆ แล้วหลายเดือนผ่านไป หลายปีผ่านไป ใกล้ๆ จะตาย รู้สึกไม่ใช่กายของเราจริงๆ ด้วย นี่กำลังจะตายดับอยู่เดี๋ยวนี้ ตัวนี้แหละ ตัวใกล้ๆ ตาย มีความหมายมาก เพราะจิตขณะใกล้ตาย จะมีความหนักแน่น เป็นตัวตัดสิน เป็น
direction เป็นตัวกำหนดทิศทางใหม่ว่าเกิดครั้งต่อไปจิตที่มาสืบต่อ ที่มาเกิดสืบต่อจากจิตสุดท้าย จะเป็นจิตแบบไหน

พูดง่ายๆ แค่เจริญสติแบบนึกถึงความตาย วันละนิดวันละหน่อย หรือ เดือนละครั้งก็ได้ เดือนละครั้งนี่กว่าคุณจะตายก็ได้หลายสิบครั้งนะ ก็เริ่มทำใจได้ ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ยอมไม่ลง ที่จะตาย กลัวตาย กลัวไปเจออะไรข้างหน้าก็ไม่ทราบ

คนที่เจริญสติแล้ว รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออก เดี๋ยวก็ต้องหยุด กายนี้ เดี๋ยวก็ต้องพัง จะค่อยๆ เกิดความรู้สึกสละออกในแบบที่เป็นการสละอุปาทาน ไม่ใช่แค่สละตัวตนร้ายๆ ออกไป แต่เป็นสละอุปาทานว่า กายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตนของเรา ความสามารถที่จะรู้ได้เห็นได้ แล้วก็สละอุปาทานได้ ตัวนี้แหละที่จะทำให้เกิดปัญญาข้ามภพข้ามชาติต่อไปนะ

วันนี้ หัวข้อประเด็นที่เอามาพูดถึงคนที่บอกว่าตัวเองฝ่อ ท้อ ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองจะขยันเจริญสติอะไรได้ในชาตินี้ ก็เอามาพูดพอสังเขปให้เกิดความเข้าใจ อย่างน้อยเห็นภาพนิดหนึ่งว่า การบรรลุธรรมไม่ใช่การได้มา ตรงกันข้าม เป็นการเสียไป  ... เสียสละออก ซึ่งต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของความยึดมั่นถือมั่น ว่าอะไรๆ เป็นของๆ เรา เป็นตัวของเรา

จำไว้ว่า บุญที่จะทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้ ไม่ใช่บุญที่ได้ไปทำกับพระอรหันต์องค์นั้นองค์นี้ ไม่ใช่บุญที่เกิดจากการไปวัดนั้นวัดนี้ ไม่ใช่บุญที่เกิดจากการทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แบบใดแบบหนึ่งอย่างเดียว แต่ต้องทำหลายๆ อย่าง หลายอย่างคือให้ทานด้วย รักษาศีลด้วย แล้วก็เจริญสติด้วยในแบบที่ใจจะเปิดออก สละ แล้วก็แผ่ออกไป
!

1 กันยายน 2561
https://www.youtube.com/watch?v=hOkKLBWII54

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สติในการรู้โลกตามจริง


ดังตฤณ : สติในการรับรู้โลกตามจริง เป็นเรื่องที่ ... ถ้าเข้าใจก็เหมือนกับเราสามารถที่จะเห็นภาพรวมเลยว่า พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แต่ถ้าไม่เห็น บางทีเราอาจหลงไปคุยกันเรื่องโน้น เรื่องนี้ ถูกหลอก ถูกลวง หรือว่าถูกอัตโนมัติของตัวเอง ชักจูงให้มองพุทธศาสนาไปต่างๆ นานา 

แต่ถ้าเข้าใจว่า สติในพุทธศาสนาคืออะไร สมาธิในพุทธศาสนาคืออะไร แทบจะไม่ต้องเถียงกันเลย แทบจะไม่ต้องมามีการขัดแย้งภายในว่าเราควรจะทำอะไรดีกับชีวิตแบบพุทธ

ตอนเด็กๆ เมื่อเริ่มที่จะสนใจพุทธศาสนานี่นะ ผมได้ยินบ่อยมาก มีคนพูดนะว่า ... ฉันจับจุดได้ว่าพุทธศาสนา หลักการฝึกง่ายๆ เลยคือ ให้มีสติ ... ผมฟังแบบนี้ ผมเกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่า มีสติแบบไหน เพราะคำว่ามีสตินี่กินความกว้างเหลือเกิน

คือบอกว่า มีสติ ... (รู้ว่า) นี่กำลังคุยเรื่องอะไร นี่ก็สตินะ มีสติในการปีนบ้านคน จะไปลักขโมยเขา นี่ก็เรียกว่ามีสติ ใครจะไปแย้งตามทฤษฎีสมัยใหม่บอกว่า สติ สงวนไว้ใช้สำหรับอะไรดีๆ เท่านั้น นี่ไม่จริงนะครับ ในพระไตรปิฎก มีชัดเจนคำว่า
มิจฉาสติ การมีสติในการทำอะไรผิดๆ มีอยู่นะ

มีสติเหมือนกัน แต่ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร นี่คือข้อแตกต่างที่ บางทีพอไม่ทำความเข้าใจดีๆ เกิดข้อสงสัย เกิดการเห็นเป้าหมายของพุทธศาสนาที่เบี่ยงเบนไปแบบไม่รู้จบ

ตัดคำว่า ศาสนาทิ้งไปก่อน เอาสิ่งที่เราสามารถที่จะคุยกันได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องอิงทฤษฎี คำว่า สติ คือการรู้ตามจริง ถ้าอยากได้อะไรแบบไหน แล้วเล็งเป้าว่าฉันจะเอาให้ได้อย่างใจแบบนั้น อย่างนี้ไม่ใช่สติ เพราะบางทีความอยากได้ของคน อย่างเช่น ความอยากเลือกสี ความอยากเลือกของที่ได้อย่างใจอะไรต่างๆ บางทีทำให้การรับรู้ของเราแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

ยกตัวอย่าง บางคนบอกว่า ชอบรถสีแดง ในขณะที่คนส่วนใหญ่บอกว่า สีแดงนี่ร้อนแรงเกินไป ชอบสีขาวมากกว่า การรับรู้ในการมองแวบแรกจะแตกต่างทันทีนะ เห็นรถขาวบอกว่า อืม นี่ใช้ได้ เห็นรถแดงมาบอกว่า นี่แปร๊ดเกินไป
ในขณะที่คนชอบสีแดง เห็นรถแดงปุ๊บบอกว่าสวย คือความรู้สึกออกมาจากใจจริงๆว่า นี่สวย ในขณะที่เห็นรถสีขาวบอกว่า จืดเกินไป เป็นแบบนี้นะ คือถ้าเราเอาความชอบใจมาตัดสิน หรือมาเอาเป็นตัวเหนี่ยวนำตั้งแต่แรก จะเกิดความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบขึ้นมาทันที แล้วก็จะไม่สามารถเห็นอะไรได้ตามจริงทันที

ฉะนั้น เรามามองว่าจะนึกถึงอะไรตามจริงได้บ้าง ... ง่ายๆ ตอนนี้ หายใจเข้าหรือหายใจออก ... นี่แหละ ของจริง คือไม่มีอะไรจริงยิ่งกว่านี้นะ สำหรับคนๆ หนึ่ง ในโลกของคนๆหนึ่ง ในมุมมองของคนๆ หนึ่ง ถ้าหายใจเข้าอยู่ แล้วมาแกล้งโกหกว่า หายใจออก นี่เพี้ยนแล้วนะ

ตรงนี้ มาจูน (
tune) กับคอนเซ็ปต์ (concept) ของพุทธศาสนาได้ว่า ถ้าจะให้แน่ใจว่า เราสามารถระลึกรู้อะไรได้ตามจริงบ้าง สามารถเห็นอะไรได้ตรงตามจริงบ้าง ให้เอาเข้ามาในกายของเราก่อน อย่าเพิ่งไปเอาโลกข้างนอกนะ
ทีนี้ไม่ได้จบแค่นั้น ไม่ใช่มีสติแค่รู้ว่า หายใจเข้าหายใจออก แล้วถึงเป้าหมายของพุทธศาสนา หรือว่าได้บทฝึกที่แท้จริงของพุทธศาสนาแล้วนะ แต่ยังต้องคำนึงด้วยว่า รู้เรื่องจริงอันไหนแล้ว จะไม่ต้องเป็นทุกข์บ้าง

คือถ้ารู้ความจริงอย่างรู้เรื่องภายนอก ... รู้ว่าใครโกหก รู้ว่าใครมาโกงเรา หรือ รู้ว่าใครมาชอบแฟนเรา อะไรต่างๆ ... จะเกิดความทุรนทุราย นี่รู้ความจริงนะว่าเกิดขึ้นจริงๆ แต่ว่ารู้แล้วเป็นทุกข์ อย่างนี้ทางพุทธศาสนาบอกว่า รู้ว่าอะไรแล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่น รู้ว่าอะไรแล้วเกิดความรู้สึกดิ้นรน กระวนกระวาย รู้อย่างนั้นยังไม่ใช่
รู้ แบบที่เราจะเอามา เจริญสติ

รู้แบบที่จะไม่เป็นทุกข์ รู้ความจริงอะไรที่จะทำให้จิตใจสงบสุข อย่างเช่น บอกว่า รู้ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนรู้ลมหายใจแล้วจะเกิดความสงบสุข เพราะว่าบางคน พอพยายามที่จะรู้ลมหายใจปุ๊บ จะอึดอัดขึ้นมาทันที แน่นอกขึ้นมาทันที ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่ายังไม่เป็นประกันว่า รู้อะไรเหมือนๆ กัน แล้วจะเกิดความสงบสุขเท่ากันเสมอไป

ทีนี้ มีอยู่จุดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แต่บอกยังไงๆ ก็จะไม่เข้าหัว ก็จะไม่จดจำ เพราะว่า เป็นความรู้ที่พูดง่ายๆว่า คนที่เหมาะ คนที่ควรที่จะเป็นอริยบุคคลเท่านั้น ที่จะรู้ความจริงนี้แล้ว เก็ท (
get) หรือว่าจดจำขึ้นใจ เอาไปใช้ต่อเนื่อง ความจริงนี้ก็คือ อะไรๆ ไม่เที่ยง

คือถ้าบอก
อะไรๆ ไม่เที่ยง พูดไปแบบชาวบ้าน ทุกคนรู้หมด รู้ เหมือนรู้ๆ อยู่แล้ว รู้อยู่แก่ใจ แต่พอเอามาประยุกต์กับสิ่งที่ควรรู้ อย่างเช่น ลมหายใจ บอกว่า ลมหายใจนี้ไม่เที่ยง แค่นี้ เกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วว่า เออ เข้าใจได้ หายใจเข้า แล้วก็หายใจออก เดี๋ยวบางทีก็ยาว เดี๋ยวบางทีก็สั้น

แต่พอหลับตาลงไปปุ๊บ มันหลงทางทันที
ที่จะให้ดูว่าไม่เที่ยงนี่ มันไม่เที่ยงยังไง ก็จะรู้สึกว่า นี่มันลมหายใจ ตัวความรู้สึกว่า นี่มันลมหายใจ จะนำขึ้นมาก่อนเลย จะไม่สามารถดูได้ว่า เออนี่ ลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่

ฉะนั้น มีจุดที่เราจะต้องคำนึงอยู่สองจุดหลักๆ ก่อนว่า
: นึกถึงอะไรตามจริงได้บ้าง
: รู้อะไรตามจริงแล้ว ไม่เป็นทุกข์บ้าง
ถ้าหากว่าเราจับจุดข้อนี้ได้ คือ ประเด็นของพุทธศาสนา หรือว่าคอนเซ็ปต์ของพุทธศาสนา อยู่แค่ตรงนี้เลย “รู้อะไร รู้อย่างไร”

ยกตัวอย่างง่ายๆ บอกว่า คนพอหลับตาปุ๊บ ให้ดูลมหายใจ จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะ หนึ่งคือ ไม่ชอบอยู่เป็นทุนเดิม ที่จะต้องมาดูอะไรซ้ำไปซ้ำมา หรือ เคยมีประสบการณ์ยิ่งดูยิ่งอึดอัด ยิ่งดูยิ่งเกิดความรู้สึกทรมานใจ ยิ่งดูยิ่งอยากลืมตาขึ้นมา ไปทำอะไรอย่างอื่น พอมี
Bad feeling ประทับอยู่ในความทรงจำแล้ว ก็เหมือนกับชอบหรือไม่ชอบสีรถนั่นแหละ บอกว่าสีขาวจืดเกินไป พอเห็นสีขาวปุ๊บ ก็จะปฏิเสธทันที ไปชอบสีออกที่จัดๆ หน่อย จะเป็นสีม่วง สีเขียว สีแดง ที่เกิดความรู้สึกว่าโดนตา โดนใจ อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าสวย อย่างนั้นถึงจะมีความสุข

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใครเคยฝึกหายใจแบบที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ก็แน่นอน พอพูดถึงสมาธิลมหายใจ ก็บอกว่าไม่ชอบ ไม่ใช่ ฉะนั้น ลมหายใจก็ยังไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เกิดสติ สำหรับคนๆ นั้น

แต่ถ้าหากว่า ดูเป็น ... ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง ... ดูว่า ที่มันเข้า ที่มันออก ไม่ใช่มีแต่ลมหายใจที่เข้าออกอย่างเดียว มันมีความไม่เที่ยงของความรู้สึกอึดอัด มีความรู้สึกไม่เที่ยงของความสบายประกอบไปอยู่ด้วย ถ้าเห็นไปอย่างนี้ เห็นเป็นนะ เห็นว่า ลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยง ทั้งตัวของลมเอง และตัวความรู้สึกอึดอัดบ้าง สบายบ้าง อย่างนี้ จะเกิดความรู้สึกว่า ไม่เป็นทุกข์ในระยะยาวแน่นอน เพราะถึงเป็นทุกข์ขึ้นมา ก็เห็นความทุกข์นั้น แสดงความไม่เที่ยงอยู่ในแต่ละลมหายใจ นี่ยกมาเป็นตัวตั้งก่อนนะ

สรุปแล้ว ถ้ามีสติแบบพุทธ รู้อะไรตามจริงได้ แล้วก็ความจริงนั้นไม่ทำให้เป็นทุกข์ มีอยู่นะ

ทีนี้เวลาที่เราจะพูดโดยย่นย่อ บอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ดูลมหายใจอย่างเดียว ท่านให้ดูโลก โลกทั้งใบ โลกคือ กาย ยาววาหนาคืบนี้ นี่ ยาววาหนาคืบนี่ ท่านให้ดูเข้าไป บางคนอาจแย้ง บอกว่าแค่ร่างกายจะเป็นโลกได้อย่างไร

ตอนที่ผมศึกษาพุทธศาสนาใหม่ๆ ก็คิดนะ โลกมีแค่ความเป็นกายยาววาหนาคืบนี่เหรอ แต่จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสถึงจิตวิญญาณภายในด้วยนะ ไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว โลกในความหมายของความเป็นโลกที่เราควรจะรับรู้ มีทั้งส่วนของร่างกาย แล้วก็มีทั้งส่วนของจิตใจจิตวิญญาณ

ซึ่งถ้าเรามองอย่างนี้ เราปฏิเสธความเชื่อแบบที่ยึดๆ กันมาว่า โลกคือ
Earth ที่กลมๆ แบบนี้ ที่ลอยเท้งเต้งอยู่กลางจักรวาลใหญ่ๆ แบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ พุทธศาสนา พูดแคบเกินไปหรือเปล่า แต่ถ้าใครศึกษา อย่างพวกควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum physics) ที่แอดวานซ์ (Advance) มากๆ เขารู้กันหลายสิบปีแล้วว่า เวลาเราดูเข้าไปในองค์ประกอบมูลฐานของความมีชีวิต ของความเป็นคน ของความเป็นโลก ของความเป็นจักรวาลทั้งหมด บอกว่า มูลฐานของมันคืออะตอม (Atom) เล็กที่สุด ย่อยที่สุด ที่แบ่งแยกไปไม่ได้มากกว่านั้นแล้ว คืออะตอม คือการเคลื่อนไหวของอิเลคตรอน (Electron) คือการที่อะตอมมีพันธะต่อกัน ปรากฏว่ามีคนที่พยายามมองให้เห็นว่าอะตอมคืออะไร โดยรวบรัดเลย เขาพบว่า อะตอมไม่มีที่อยู่ที่แน่นอนนะ ถ้าปราศจากเรา ซึ่งเป็นคนดู ซึ่งเป็นผู้ดู อะตอมอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น

พูดง่ายๆ ว่า มันอาจไม่มีอยู่เลยก็ได้ ถ้าไม่มี ผู้ดู ไม่มีผู้มอง พูดง่ายๆ ไม่มีอายตนะทางตา เข้าไปพยายามส่องดู หรือว่า ไม่มีจิตเข้าไปพยายามที่จะรับรู้ อะตอมอาจไม่ได้ปรากฏอยู่ในที่ไหนเลยก็ได้ มันมีที่อยู่ที่ไม่แน่นอน เรื่องนี้จะไม่ลงรายละเอียด แต่ว่าใครเรียนวิทยาศาสตร์มาเบื้องต้น เกี่ยวกับฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี คงจะเข้าใจความจริงตรงนี้

แล้วหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า จริงๆ แล้วถ้าไม่มีร่างกาย และจิตใจนี้ขึ้นมา จะไม่มีโลกแบบที่เรากำลังเห็นอยู่นี้นะ ส่วนจะเข้าไปอยู่ในมิติไหน ในแบบ Sci-fi fantasy อันนี้เป็นเรื่องที่พูดไปแล้วฟั่นเฝือ แต่สิ่งที่เป็นแก่นสาร สิ่งที่ได้ข้อสรุปตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือว่า ถ้าไม่มีกาย ยาววาหนาคืบนี้ ไม่มีจิตวิญญาณที่ครองกาย ยาววาหนาคืบนี้อยู่ จักรวาลทั้งจักรวาล จะหายไปเลยนะ ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ แต่มีได้ ถ้าประกอบด้วยเงื่อนไขที่แมทช์ (
match) กัน

สิ่งที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เป็น
cause-effect หรือว่า เหตุของการมีอยู่ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นปฏิจจสมุปบาทบ้าง อตัมมยตา บ้าง ซึ่งจะบอกชัดๆ เลยว่า ด้วยอวิชชามี กองบุญกองบาปจึงมีได้ และกองบุญกองบาปมีได้ จึงเนรมิตวิญญาณในภพภูมิต่างๆ ขึ้นมา วิญญาณ ที่สามารถเข้าท้องแม่ได้อะไรต่างๆ นี้มีอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้กับพระอานนท์ อย่าหาว่ามั่วนะ คือหลายคนไม่เคยเจอตรงนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนในปฏิจจสมุปบาท ว่าวิญญาณจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีกองบุญกองบาป แล้วจะเข้าท้องแม่ไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่มีบุญบางอย่าง ที่จะลงมาเกิดเป็นมนุษย์

นี่ก็เป็นเรื่องที่จะมาบอกว่า โลกคือ กายยาววาหนาคืบ ถ้าหากว่าเราศึกษา เราสามารถรับรู้ได้ตามจริงแล้วนี่ จะจบอยู่ที่ตรงนี้ จบอยู่ตรงที่อะไร ตรงที่ เราสามารถได้ข้อสรุปว่า จะสิ้นทุกข์ได้อย่างไร สิ้นทุกข์ได้ด้วยการดับโลกนี้ คือไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่หมายถึง ดับอุปาทาน ดับความยึดมั่น สำคัญผิดว่าโลกนี้ กายยาววาหนาคืบนี้ แล้วก็จิตวิญญาณที่ครองร่างอยู่ คือตัวคือตน

แต่ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องว่า เออ มันแสดงความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ โลกที่ปรากฏอยู่ต่อ หู ตา เราก็รับรู้ไปตามจริง แต่ว่าเอาตัวนี้เป็นเซนเตอร์ (
Center) เอาตัวความไม่เที่ยง เอาตัวความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของกายใจนี้ เป็นเซ็นเตอร์ เป็นศูนย์กลางการรับรู้ พอเรารู้ว่า ตัวนี้ไม่เที่ยง เราก็จะสามารถเห็นความไม่เที่ยงของโลกภายนอกได้ แล้วก็สามารถยอมรับได้ง่ายๆ ด้วย

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ตอนนี้อาจจะเป็นเหตุการณ์ใกล้ตัว บอกว่าถ้าเรารู้ว่า เราถูกหลอก ถูกหลอกมาตลอดว่า กายใจนี้เป็นตัวเป็นตนของเรา คือเราจะไม่มีความแปลกใจ หรือว่ารู้สึกรู้สา เวลาเจอข่าวลวง หรือว่า เจออะไรที่ผิดความคาดหมาย อย่างบางทีเราจะมอง เราจะยึดว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญๆกับโลกขึ้นมา จะต้องมีใครสักคนที่บงการอยู่เบื้องหลัง หรือว่า ที่สร้างแผนอะไรต่างๆ ขึ้นมา จริงๆ ไม่มีคนใดคนหนึ่ง เราจะมองว่าทั้งหมดนี่เป็นระบบ ระบบที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง สามารถบังคับบัญชา ควบคุมได้ แล้วก็จะเห็นความไม่เที่ยง คือคนมักจะยึดเอาข่าวในวันใดวันหนึ่ง เป็นตัวเป็นตน แล้วก็เป็นสิ่งที่จะอยู่ตรงนั้นถาวร จะอยู่ตรงนั้นจริงๆ ยึดเป็นความจริง

ทีนี้ถ้าเราเห็นเหตุปัจจัย แล้วก็เห็นว่า อะไรๆ กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับที่ความไม่เที่ยงกำลังแสดงออกมาจากายจากใจของเรา เราจะไม่เป็นทุกข์กับสิ่งที่ไม่ได้อย่างใจ แบบที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้

การใช้ชีวิตในโลก ยังไงต้องมีชอบ ต้องมีชัง ต้องมียึด ต้องมีเอาอย่างนั้น เอาอย่างนี้ อันนี้ห้ามกันไม่ได้ แต่อย่าไปถึงขนาดที่ว่าจะต้องเอาเป็นเอาตาย ถ้าไม่ได้อย่างใจฉันแล้วโลกจะถล่ม โลกจะทลาย

คำว่าโลกถล่มโลกทลาย เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของจิต จริงๆ นะ โลกนี่ยังเป็นปกติอยู่ ปกติอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่ที่ถล่มทลาย คือความรู้สึก คือสิ่งที่เป็นโลกทัศน์ภายในของเรา คือสิ่งที่มันเป็นความชอบ ความชังในแบบของเรา ซึ่งถ้าเราเริ่มหัดมองจากความจริงง่ายๆ เช่น ลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ แล้วความทุกข์ความสุขที่มากับลมหายใจแต่ละลม แต่ละระลอก ไม่เท่ากัน ไม่เท่าเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่ของๆ เรามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จะมองเห็นทุกสิ่งที่กำลังแสดงความไม่เที่ยงในโลก เป็นเหมือนกันได้หมด มีคะแนนเสมอกันหมด มีความไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ได้เท่าเทียมกันหมด นี่แหละคือสิ่งที่เป็น
Point ของพุทธศาสนาจริงๆ เรามีสติ รู้อะไรตามจริงได้บ้าง แล้วรู้อะไรแล้วใจไม่ต้องเป็นทุกข์นะครับ นี่แหละคือสติรู้โลกในแบบของพุทธศาสนานะ!

_________________________________

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สติในการรู้โลกตามจริง

9.2.2019