วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

นั่งสมาธิดูลมหายใจ แต่กลายเป็นบังคับจนอึดอัด


ถาม : ทำอย่างไรจึงจะดูลมหายใจได้โดยที่ไม่ต้องไปบังคับลมหายใจครับ? เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่นั่งสมาธิจนรู้สึกอึดอึด ต้องเปลี่ยนไปดูความรู้สึกที่กายแทน

รับฟังทางยูทูบ https://youtu.be/_7kQpUvkHf8

ดังตฤณ :
ลมหายใจเนี่ยนะ ถ้าเราบอกตัวเองง่ายๆเลยว่า ตอนที่ไม่ได้ตั้งใจดู ตอนที่ไม่ได้อยากจะเห็นให้มันเกิดอะไรขึ้นมานะ ไม่ได้คิดจะให้มันเป็นสมาธิ ไม่ได้คิดจะดับความฟุ้งซ่าน ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเอ่อ...ฉันจะทำสมาธิ ฉันจะทำวิปัสสนาอะไรต่างๆ ลมหายใจที่เกิดขึ้นตามปกติก็ไม่ได้รบกวนให้เราเกิดความรู้สึกอึดอัดอะไร แต่เมื่อไหร่ที่เราตั้งใจว่าฉันจะทำสมาธิ ฉันจะดูลมหายใจ ฉันจะใช้ลมหายใจปราบความฟุ้งซ่านขึ้นมา มันเกิดความอึดอัด นี่แสดงว่าตัวลมหายใจเนี่ย ไม่ได้สร้างความอึดอัดนะ แต่ตัวความตั้งใจที่จะทำสมาธิต่างหากที่มันเป็นตัวก่อเรื่อง เป็นตัวก่อเหตุขึ้นมาว่า จะให้มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ตัวนี้ต่างหากที่ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความอึดอัด

พอเราทำความเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็เล็งเห็นไว้อย่างนี้เนี่ย มันมีความหมายละ เราจะเริ่มสังเกตการตั้งใจทำสมาธิมากขึ้นว่า อาการของมันหน้าตาเป็นยังไง หน้าตาความตั้งใจให้เป็นสมาธินะ ประกอบด้วยความอยากได้สมาธิแค่ไหน แล้วความอยากนั้นมันผิดปกติไปจากใจที่หายใจอยู่เรื่อยๆตลอดทั้งวันอย่างไร

คนเราเวลาหายใจโดยไม่อยากนะ มันจะหายใจแบบไม่รู้ตัว มันจะหายใจพอดีกับที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้
..แต่ไม่ได้บอกนะว่า ที่พอดีกับที่จะมีชีวิตเนี่ย มันดีพอแล้วหรือยัง แต่อย่างน้อยมันไม่อึดอัด ......นานๆทีถึงจะหายใจลึกๆ พอร่างกายมันขาดลมหายใจ มันรู้สึกว่ามีออกซิเจนไม่พอ มันก็จะพยายามลากลมหายใจลึกขึ้น แล้วก็ปล่อยทอดหุ่ยตามสบายต่อ ใจตระเวนไปโน่นไปนี่ แล้วก็ไม่ได้มากังวลว่าจะต้องมารู้ลม จะต้องมาปราบความฟุ้งซ่าน มันก็เลยไม่เป็นทุกข์ มันก็เลยไม่เกิดความอึดอัด เพราะทุกอย่างเป็นไปตามอัตโนมัติที่พอดีจะให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อได้ ไม่ใช่พอดีกับที่มันจะปราบความฟุ้งซ่าน หรือว่ากำจัดกิเลสส่วนเกินอะไรต่างๆที่เราคาดหวังขึ้นมา

เนี่ยพิจารณาแบบนี้นะ มันมีความสำคัญมากที่เราจะหายใจได้โดยไม่อึดอัด หายใจได้อย่างมีสติโดยไม่อึดอัด พอเห็นว่าตัวแปรที่ทำให้เกิดความอึดอัดจริงๆ อยู่ที่ใจที่ผิด ไม่ใช่การหายใจที่ผิด เราเริ่มต้นขึ้นมาเลย พอตั้งใจว่าจะเจริญสติเนี่ยนะ เราจะเห็นสิ่งแปลกปลอมขึ้นมาตัวนึง คือความอยากจะสงบ อยากจะหายฟุ้งซ่าน หรืออยากจะเป็นสมาธิ อาการที่ลมหายใจเข้ามาแบบผิดปกติ และอาการที่ลมหายใจออกไปอย่างผิดปกติ มันเริ่มต้นขึ้นมาตอนที่เราตั้งใจให้เกิดสมาธิ ตัวเนี้ยถ้าสังเกตเห็นตั้งแต่เริ่มต้น มันจะผิดแค่ช่วงเริ่ม แล้วไม่ผิดต่อ มันจะผิดแค่ครั้งเดียว แล้วครั้งต่อมามันจะเริ่มถูกต้อง

สิ่งที่เราเห็นคืออะไร? สิ่งที่เราเห็นคือความรู้สึกว่ามันมืด เพราะตอนที่อยาก ตอนที่มีความคาดหวังอย่างแรงว่าฉันจะเอาสมาธิให้ได้ มันมีอาการเร่ง มันมีแรงเร่ง มันมีแรงกดดันทางความรู้สึก นี้พอเราเห็นเนี่ยว่ามันมีแรงบีบคั้น มันมีแรงเร่งอยู่ มันมีความเกร็งเนื้อเกร็งตัวตามมาเป็นผล มันก็ได้เห็นตั้งแต่เริ่มแรกเลยที่ก้าวแรกเนี่ยว่าผิดแล้ว ผิดที่ความอยาก พอความอยากความคาดหวังที่รุนแรงเนี่ยมันถูกจับได้ไล่ทัน หายใจครั้งต่อไปความอยากมันจะลดระดับลงเอง โดยที่ไม่ต้องไปตั้งเสปกอ่ะว่า เอ๊ะ แล้วแค่ไหนมันถึงจะไม่อยาก เอ๊ะ แล้วแค่ไหนจิตมันถึงจะไม่มืด เอ๊ะ แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเนี่ยตั้งใจไว้ถูก ตั้งใจไว้ชอบ

คือพอเราจับได้ไล่ทันถึงตัวความอยากอันเป็นกิเลส ความอยากนั้นมันจะลดระดับลงเองในการเห็นลมหายใจครั้งต่อไป มันจะรู้สึกว่า เออ ลมหายใจที่เข้ามาครั้งต่อไปจะยาวหรือจะสั้น..เราไม่สน มันจะทำให้สมาธิเกิดขึ้นหรือเปล่า..เราไม่แคร์ ความฟุ้งซ่านในหัวมันหายไปหรือยัง..เราก็ไม่ได้ไปใส่ใจ เราใส่ใจแค่ว่าเราสามารถที่จะรู้สึก อันนี้นะคีย์เวิร์ด

เราสามารถที่จะรู้สึกว่าลมหายใจมันกำลังผ่านเข้ามา ลมหายใจมันกำลังผ่านออกไป ตัวความรู้สึกที่มันเพียว ที่มันบริสุทธิ์ ที่มันไม่มีความอยากมาเกาะกุมจิตใจ ทำให้ใจมีความปลอดโปร่ง มีความสบาย มีความรู้สึกว่าเราไม่เกร็งเนื้อเกร็งตัว ถ้าเห็นตั้งแต่เริ่มแรกเลย มันจะมีก้าวที่สอง ก้าวที่สาม ในลำดับต่อมา คือไม่ใช่ว่าสบายอยู่ตลอดเวลานะ ก้าวที่สองก้าวที่สามต่อมา เราจะสังเกตได้อีกว่า ลมหายใจไหนมันประกอบอยู่ด้วยความอยาก อยากสงบ อยากเพ่งเล็ง หรือว่าลมหายใจใดมันมีความปลอดโปร่ง มันมีความสบายทางใจ มันมีความไม่เกร็งเนื้อเกร็งตัว มันมีความผ่อนคลาย เห็นเปรียบเทียบได้อย่างนั้นเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นสมาธิที่เกิดจากการเห็นตามจริงขึ้นมาเองนะ

เห็นตามจริงว่าอะไร
? บางทีเนี่ยมันก็เกร็งเนื้อเกร็งตัว บางทีมันก็อยากมาก บางทีมันก็อยากน้อย บางทีไม่อยากเลย เห็นเฉยๆ เห็นแบบสบายๆ ราวกับไม่มีตัวตนผู้เห็นนะ ตัวความสบาย ตัวความผ่อนคลายแล้วรู้สึกอยู่เรื่อยๆว่าลมหายใจไม่เที่ยงแหละ ตัวนี้แหละที่ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่ามันไม่มีผู้ดู มันไม่มีผู้คาดหวัง มันไม่มีผู้ตั้งใจจะเอาอะไรอย่างหนึ่งให้ได้ มันมีแต่ผู้รู้ ผู้ดู ผู้สังเกตการณ์อยู่ว่า นี่ลมหายใจเข้าอยู่หรือว่าออกอยู่ แล้วที่มันออกที่มันเข้านะ มันสั้นหรือว่ามันยาว ถ้ามันยาวมันจะรู้สึกหายใจสุดปอด แล้วไม่มีผู้หายใจ หรือถ้ามันสั้นเรารู้สึกมันไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ มันมีความอึดอัด มันมีความรู้สึกไม่สบาย ความไม่สบายนั่นแหละ เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่สบาย เราฟุ้งซ่าน เราอึดอัดอยู่ เราเป็นทุกข์อยู่

พอเห็นแม้ ณ ขณะที่กำลังเป็นทุกข์ ที่กำลังอึดอัด มันก็เกิดความพอใจที่ได้เห็น ตัวความพอใจที่ได้เห็นเนี่ยสำคัญมากนะ คนเนี่ยถ้าฟุ้งซ่านแล้วเป็นทุกข์ มันเพราะว่าไม่พอใจที่ได้เห็นกลุ่มก้อนความฟุ้งซ่านเนี่ย มันยังแผ่ลามอยู่ราวกับเป็นมะเร็ง มันยังมีความมืด มันยังมีความอับทึบ มันยังไม่เป็นสมาธิ เนี่ยคนที่เกิดอาการเห็นว่าไม่เป็นสมาธิสักทีเนี่ย ส่วนใหญ่มันจะเดือดร้อน มันจะเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ความเดือนเนื้อร้อนใจนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน

จำไว้ว่าถ้าจิตยังดิ้นรนอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายใน แม้แต่เพียงความรู้สึกว่าเครียดๆ หรือแม้แต่ความรู้สึกว่าฟุ้งๆนะ ตัวนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของความมีตัวตน แต่เมื่อไหร่มันมีความพอใจที่แม้กระทั่งว่าได้เห็นนะ ความรู้สึกทึบๆ ความรู้สึกแปรปรวน ว่าอย่างน้อยเราได้เห็นความทึบ ความมืด ความฟุ้งซ่าน กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่เนี่ย ตัวที่มันพอใจเนี่ยนะมันจะค่อยๆคลี่คลาย มันจะค่อยๆผ่อนคลายลงสู่ความรู้สึกไม่มีตัวตนของผู้ดู มีแต่จิตผู้รู้ผู้เห็นว่า แม้ทุกข์ก็ไม่เที่ยง แม้สุขก็ไม่เที่ยงนะ

คีย์เวิร์ด คือ อย่าพยายามทำให้มันหายทุกข์ แต่ให้เห็นทุกข์มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงนะครับ

เตรียมใจอย่างไรให้นั่งสมาธิง่ายขึ้น?


รับฟังทางยูทูบ https://youtu.be/oF55GKhFAFM

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ว่า ถ้าหากเราไม่เตรียมใจให้ถูก เรามักจะคาดหวังผิดๆ อันนี้เป็นกันทุกเรื่องเลยนะ ไม่ว่าจะเรื่องแบบโลกๆทั่วไป หรือว่าเรื่องการทำสมาธิปฏิบัติธรรมนะครับ เพราะคนเราถ้าหากว่ากำลังตั้งใจจะทำอะไรแล้วเนี่ย มันมักจะมีความคาดหวังโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้คุณจะพูดว่าไม่ไม่ได้คาดหวัง แต่ลึกๆน่ะนะมันคาดหวังไปเรียบร้อยแล้ว
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำสมาธิเป็นวันแรก คุณจะคาดหวังว่าตัวเองเนี่ยจะสามารถทำสมาธิกับเขาได้ ใจสงบ หายฟุ้งซ่าน หรือว่ามีความสามารถที่จะรู้เห็นโน่นนี่นั่นตามแบบที่เขาเล่าๆกันมานะ ถ้าหากว่าเอ่อ..ไม่ได้คาดหวังจริงเนี่ย คุณจะไม่รู้สึกอะไรเลยตอนล้มเหลว แล้วก็จะไม่เกิดความรู้สึกยินดียินร้ายนะตอนที่มันได้ผลหรือไม่ได้ผล

แต่บางคนเนี่ยคาดหวังแล้วยังไม่รู้ตัวเป็นปีๆนะ ทำสมาธิแต่ละครั้งมีความรู้สึกว่าตัวเองเนี่ยไปไม่ถึงไหน แล้วก็บางทีเนี่ยนะบอกว่า เออ พยายามที่จะไม่คาดหวัง และพยายามที่จะอยู่กับปัจจุบันแล้ว แต่พอนั่งสมาธิปุ๊บ หลับตาปุ๊บเนี่ยนะ มันเหมือนหลงทางเข้าป่า มันเหมือนท้อ มันเหมือนเกิดความรู้สึกอึดอัด มันเกิดความรู้สึกว่าเราจะทำไม่ได้อีกแล้ว เกิดความรู้สึกแย่ๆขึ้นมาเนี่ยนะ ตัวความรู้สึกแย่ๆที่มันผ่านไปไม่ได้นั่นแหละ ตัวนี้แหละที่ฟ้องว่าคุณคาดหวัง คือคาดหวังว่าอะไรๆมันจะดีขึ้นนะ แล้วก็รู้สึกท้อใจว่ามันคงไม่ได้ดีสักทีหรอก ทำมากี่เดือนกี่ปีก็ตามนะ ผลมันเหมือนเดิมคือ ผ่านด่านความท้อใจไปไม่ได้ ความท้อใจนั่นแหละ มันเริ่มต้นจากความคาดหวัง ถ้าเราเข้าใจกลไกธรรมชาติของจิตแบบนี้นะ เราจะพลิกมุมมองใหม่ เปลี่ยนจากความคาดหวังผิดๆ ให้กลายเป็นการเตรียมใจอย่างถูกต้อง
การเตรียมใจอย่างถูกต้องเป็นอย่างไร?
การเตรียมใจอย่างถูกต้องเนี่ยนะ มันไม่คาดหวังผลว่าจะมีอะไรดีทันทีหรือมีอะไรดีขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ เนี่ย คือ จุดเริ่มต้นมันแค่นี้เองนะ ผิดกันแค่นี้เอง!

ถ้าหากคุณเตรียมใจอย่างถูกต้อง ทำใจไว้นะว่าเดี๋ยวมันคงจะมีความอึดอัด เดี๋ยวมันคงจะมีความท้อ เดี๋ยวมันคงจะมีความรู้สึกฟุ้งซ่าน จับอะไรไม่ติดนะ แล้วก็เตรียมไว้ในใจว่าเราจะยอมรับว่ามันจะเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์อ่อนๆขึ้นในช่วงแรกของการนั่งสมาธิ นี่เรียกว่าเป็นการพลิกมุมมองแล้ว เป็นการเปลี่ยนความคาดหวังให้กลายเป็นการเตรียมใจแล้ว

สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดนะในช่วงแรกๆก็คือว่า ใจคุณเนี่ยจะไม่ดิ้นรน ไม่กระวนกระวายว่า เมื่อไหร่มันจะดีขึ้นสักที เมื่อไหร่มันจะสงบลงสักที เมื่อไหร่มันจะหายฟุ้งซ่านสักที เริ่มต้นขึ้นมานะของการเตรียมใจอย่างถูกต้องเนี่ย พอหลับตาลง มันเจอสิ่งที่มันเตรียมใจไว้ว่าจะเจอนั่นแหละ คือความรู้สึกเหมือนกับยักแย่ยักยัน ใจนึงอยากทำสมาธิ ใจนึงอยากลุกขึ้น อยากลืมตาขึ้นมา ไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้ว พอเตรียมใจไว้ถูกต้องว่าจะเจอภาวะแบบนี้แล้วเจอจริงๆ มันจะไม่เป็นทุกข์มากกว่าที่ควร มันจะเป็นทุกข์แค่มีความรู้สึกอึดอัด แต่ไม่มีความทุกข์แบบว่ากระวนกระวายว่า เมื่อไหร่มันจะดีขึ้น เมื่อไหร่มันจะดีขึ้นนะ
เข้าใจความหมายนะ ความแตกต่างระหว่างความคาดหวัง กับการเตรียมใจไว้อย่างถูกต้อง การคาดหวังว่าอะไรๆมันจะดีขึ้น มันจะทำให้คุณท้อ พอเจอภาวะอึดอัด ภาวะเป็นทุกข์ ภาวะไม่ยอมสงบจากความฟุ้งซ่านเนี่ย มันจะท้อลงทันที เพราะมันไม่เป็นอย่างที่หวัง คนเราเมื่อผิดหวัง จิตใจมันจะระส่ำระสาย มันจะหวั่นไหว มันจะวอกแวก มันจะรวมไม่ติด มันจะไม่มีกำลังใจ เนี่ยความผิดหวังหน้าตามันเป็นแบบนี้นะ หมดกำลังใจ รู้สึกว่าชาตินี้เอาดีกับเขาไม่ได้

แต่ถ้าทำใจไว้ว่าจะเจอความทุกข์ ความอึดอัด อ้าวแล้วได้เจอจริงๆนะ ทีนี้มันมีความแตกต่าง มันมีการตั้งธงไว้ว่า ถ้าเจอความทุกข์ ถ้าเจอความอึดอัด เริ่มต้นขึ้นมาจะทำสมาธิ มันทำไม่ได้ มันจับไม่ติด มันไม่หายฟุ้งซ่าน เออ แล้วมันก็ไม่หายฟุ้งซ่านจริงๆ แต่มีการเตรียมใจในขั้นต่อไปไว้ด้วยว่า ความอึดอัด ความรู้สึกฟุ้งซ่าน ความรู้สึกระส่ำระสายนั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็น

เปลี่ยนแปลงอย่างไร? ตอนแรกๆนะหายใจเข้ามา..โอ๊ย อึดอัด มันไม่อยากหายใจแบบนี้เลย มันไม่อยากที่จะมานั่งสมาธิแบบนี้เลย มันรู้สึกว่าอยากจะลุกขึ้นไปดูบุพเพสันนิวาสมากกว่านะ มันรู้สึกว่า เอ่อ..อยากจะเปิดตาออกไปฟุ้งซ่านตามสบายได้เป็นปกติ ไม่ต้องมานั่งบังคับตัวเอง ไม่ต้องมานั่งฝืนนะว่าจะอย่างงั้นว่าจะอย่างงี้ เนี่ย ตัวนี้นะคือจุดเริ่มต้น คือนาทีแรกที่มันจะเกิดขึ้น

ทีนี้พอเราทำไว้ในใจ เตรียมไว้ในใจว่า เดี๋ยวภาวะอย่างนี้จะเปลี่ยนแปลงให้เห็น มันจะค่อยๆสังเกต มันจะไม่ใจร้อน มันจะไม่สิ้นหวัง ตัวนี้สำคัญที่สุดนะ มันจะไม่สิ้นหวัง มันจะไม่ท้อแท้ มันจะมีความรู้สึกว่าเออ อยากดูซิ มันจะต่างไปในลมหายใจไหน ถ้าหากว่าลมหายใจแรก ลมหายใจที่สองมีความปั่นป่วน มีความระส่ำระสาย มีความฟุ้งซ่าน ลมหายใจที่สองปั่นป่วนเหมือนเดิม มันมีความอึดอัดด้วย รู้สึกว่าคับอกคับใจนะ ไม่อยากทำสมาธิ แต่พอลมหายใจที่สาม ลมหายใจที่สี่ ที่เราเตรียมใจไว้อย่างดีเนี่ยนะว่าจะดูความเปลี่ยนแปลงมัน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ว่าเราไปสั่งให้มันเปลี่ยนนะ มันจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ทางกายทางใจ ที่มันสอดคล้องกับที่เราเรียนรู้มาว่า อะไรๆมันไม่เที่ยง มันจะมีความผ่อนคลายกล้ามเนื้อนะ มันจะมีความรู้สึก เออ มีแก่ใจดูว่าฝ่าเท้าฝ่ามือเราเนี่ยมันคลายออกไหม ใบหน้าของเราเนี่ยนะมันคลายจากอาการขมวดมุ่นไหม

เนี่ย ตัวที่มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็น ตัวเนี้ยมันจะรู้สึกเกิดความสมใจ เกิดความรู้สึกว่า เอ๊ะ ไม่ผิดหวัง ตอนแรกไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วว่า อะไรๆมันจะดีตั้งแต่นาทีแรก ตอนแรกเตรียมใจไว้เลย ทำไว้ในใจเลยว่าเดี๋ยวมันจะไม่ดีให้ดู แล้วมันก็ไม่ดีจริงๆ เสร็จแล้วมันก็เปลี่ยนแปลงให้ดูเช่นกันนะ

คีย์เวิร์ดสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้แหละ
คุณไม่คาดหวัง มันก็ไม่ผิดหวัง
คุณเตรียมใจไว้ว่าจะดูว่าอะไรๆแย่ๆมันเปลี่ยนแปลงไป
คุณก็ได้เห็นนะ
ตัวนี้แหละที่มันจะเป็นจุดสตาร์ทออกตัวได้จริงๆ

เมื่อเราเริ่มเห็นความแตกต่าง
จากนาทีแรกที่มันฟุ้งซ่าน มันอึดอัด มันท้อแท้นะ
มันกลายเป็นความรู้สึกว่า
มีกำลังใจขึ้นที่ได้เห็นความแตกต่าง
ตัวนี้นะมันจะเข้าสู่การเจริญสติ
เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างพุทธ

ปกตินะเวลาที่คนเรานั่งทำสมาธิเนี่ย ดูลมหายใจอย่างเดียวเนี่ยนะ ไม่ได้เรียกว่าทำสมาธิแบบพุทธนะ แต่เป็นการนั่งจ้องลมหายใจ จ้องเหมือนกับจะสู้รบปรบมือกับความฟุ้งซ่านในหัว นี่ไม่ใช่สมาธิแบบพุทธ

สมาธิแบบพุทธ คือ สังเกตเห็นความแตกต่าง
เดี๋ยวมันก็เข้า เดี๋ยวมันก็ออก
เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น
แล้วบางครั้งลมหายใจ
มาพร้อมกับความฟุ้งซ่านปั่นป่วน
บางครั้งลมหายใจ
มาพร้อมกับความสงบสุข
เห็นความแตกต่างอยู่เรื่อยๆ
อย่างนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติดูลมหายใจ
ดูปฏิกิริยาทางใจแบบพุทธแล้วนะ

คีย์เวิร์ดนะเราทำไว้ในใจว่า จะเห็นอะไรๆไม่ดีในช่วงแรก แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่มันเป็นภาวะไม่ดีนั้นในนาทีต่อๆมา ในลมหายใจต่อๆมานะ ทั้งตัวลมหายใจเอง ภาวะที่มันเข้ามันออกมันยาวมันสั้น แล้วก็ปฏิกิริยาทางใจบางครั้งอึดอัด บางครั้งสบายเป็นสุข ผ่อนคลาย รู้สึกว่ารีแลกซ์นะ

เอาล่ะตัวนี้แหละที่มันจะเป็นการทำไว้ในใจ ที่จะมีผลช่วยให้คุณนึกอยากนั่งสมาธิขึ้นมาภายในสองวันสามวัน  เพราะอะไร เพราะทุกครั้งที่คุณนั่งลงคุณจะได้เห็นสิ่งที่เตรียมใจไว้ว่าจะเห็นเสมอ เมื่อเตรียมใจไว้ว่าจะเห็นแล้วได้เห็น มันจะมีกำลังใจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าอยากนั่งสมาธิ อยากกลับมาเห็น อยากกลับมามีความก้าวหน้าในการเห็นความไม่เที่ยงอีกเรื่อยๆ เนี่ยเรียกว่าเป็นการประสบความสำเร็จในการเตรียมใจแล้วนะ ขอให้ลองดูเถอะ ผมรับประกันว่าทุกท่านจะได้พบกับความก้าวหน้าในการนั่งสมาธิอย่างรวดเร็วนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ดังตฤณแนะนำวิธีอธิษฐานในวันเข้าพรรษา


รายการตาสว่าง
ธรรมะรับเข้าพรรษากับดังตฤณ
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/s5G2QyimvN4

พิธีกร :
กลับมาชมตาสว่างในช่วงนี้ครับ เป็นเรื่องดีๆที่จะเอามาฝากท่านผู้ชมนะครับ ถ้าหากท่านผู้ชมจำได้ รายการตาสว่างเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักเขียนท่านหนึ่งนะครับ ผู้ที่เป็นเจ้าของบทประพันธ์หนังสือที่ชื่อว่าเสียดายคนตายไม่ได้อ่านและก็อีกหลายๆเล่มเลย ที่เป็นหนังสือขายดิบขายดีอย่างยิ่ง นักเขียนท่านนั้นตอนนี้เป็นแขกรับเชิญอยู่ในรายการครับ คุณศรันย์ ไมตรีเวชครับ สวัสดีครับ

ดังตฤณ :
สวัสดีครับคุณดู๋, สวัสดีครับอาจารย์ (ยกมือสวัสดีพิธีกรทั้งคู่)

พิธีกร :
หรือนามปากกาว่าดังตฤณเป็นดั่งหญ้า ตฤณแปลว่าหญ้า”

ดังตฤณ :
ครับ

พิธีกร :
ตอนนั้นเรามีโอกาสได้พูดคุยเยอะๆ มีเวลาเยอะ ก็หวังว่าผู้ชมคงจะได้รู้จักทั้งแนวคิด ทั้งสิ่งที่คุณดังตฤณค้นคว้ามาจากความสงสัยว่าเราเกิดมาทำไม? เรามีชีวิตไว้ทำอะไร? ก็คงได้คำตอบไปบ้างแล้ว ช่วงนี้มาถามคุณดังตฤณเพราะว่ามันเป็นวันเข้าพรรษา เพิ่งผ่านวันดีๆ เมื่อวานเป็นวันอาสาฬหบูชานะครับ วันที่ธรรมจักรได้มีการขับเคลื่อนเกิดพระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ วันนี้ก็เป็นวันเข้าพรรษา คำถามคือ ผมผ่านวันเข้าพรรษามาประมาณ ๔๐ กว่าครั้งแล้วเนี่ย ผมไม่แน่ใจว่าผมได้ประโยชน์อะไร นอกจากแก่ขึ้นและก็รู้ว่าเป็นชาวพุทธ ก็เลยจะเชิญคุณดังตฤณมา เผื่อท่านผู้ชมรู้สึกแบบเดียวกับผมว่า คุณผ่านวันสำคัญๆ วันพระใหญ่ของพุทธศาสนามาไม่รู้กี่ครั้ง บางคน ๓๐ ครั้ง, ๔๐ ครั้ง เคยได้ประโยชน์อะไร? เคยมีชีวิตดีขึ้นรึเปล่า? คุณดังตฤณอยากจะฝากอะไรในมุมมองแบบนี้บ้างครับ?

ดังตฤณ :
ครับ...ก็ เราต้องมองนะว่าคนไทยเราเชื่อว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันศักดิ์สิทธิ์และก็ถ้าหากว่าอธิษฐาน หรือว่าทำอะไรในช่วงเข้าพรรษาเนี่ย จะได้บุญเป็นพิเศษ อันนี้คือความเชื่อแบบไทย

พิธีกร :
อ่า..มี เคยมี

ดังตฤณ :
คร้บ ทีนี้ถ้าเราอยากจะได้ประโยชน์หรือว่าอยากได้บุญจากความศักดิ์สิทธิ์ วันศักดิ์สิทธิ์นี้จริงๆเนี่ย
เราก็ต้องทำความเข้าใจย้อนลงไปนะว่า..รากหรือที่มาของการเข้าพรรษามาจากอะไร ในสมัยพุทธกาลเนี่ย ถ้าหากว่าภิกษุได้ตระเวนเที่ยวไปในระหว่างหน้าฝน อาจจะไปเหยียบข้าวกล้าหรือว่าต้นพืชของชาวไร่ชาวนานะครับ เกิดความเสียหายหรือว่าอาจจะเกิดความไม่สะดวกนะ เวลาที่ต้องเดินทางหน้าฝน พระพุทธเจ้าก็เลยให้อธิษฐานอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา ๓ เดือน

พิธีกร :
ครับ

ดังตฤณ :
เพื่อให้ฝนนั้นหมดนะ

พิธีกร :
ท่านให้อธิษฐาน?

ดังตฤณ :
ครับ คือคำว่าอธิษฐานเนี่ย โดยคำแปลที่ถูกต้องนะ...คือการตั้งใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนและก็ทำให้สำเร็จ ช่วงหลังๆเนี่ยถ้าเรามองนะ คนไทยจะมองว่าอธิษฐานหมายถึงการขอ อธิษฐานว่าให้ได้อย่างนั้น ขอให้ได้อย่างนี้

พิธีกร :
อธิษฐาน ก็คือตั้งใจทำ

ดังตฤณ :
(พยักหน้า) จริงๆแล้วก็การตั้งใจทำอะไรดีๆให้สำเร็จลุล่วงนะครับ หากว่าเรามองตรงนี้ว่ารากของการเข้าพรรษามาจากการตั้งใจที่จะอยู่ที่ใดที่หนึ่งให้สำเร็จเป็นเวลา ๓ เดือน เราก็ต้องมองว่าจิตใจต้องเข้มแข็งพอสมคววรนะ

พิธีกร :
ใช่ (พยักหน้า)

ดังตฤณ :
คือถ้ามีเหตุจำเป็นอะไรก็แล้วแต่เนี่ย พระพุทธเจ้าก็อนุญาตไว้ไม่เกิน ๗ วัน ออกนอกสถานที่ได้

พิธีกร :
ครับ

ดังตฤณ :
แต่ว่า ๓ เดือนนั้นยังไงต้องมีที่ประจำ ไปไหนไม่ได้

พิธีกร :
อันนี้เราพูดถึงพระ

ดังตฤณ :
อันนี้เราพูดถึงพระ (พยักหน้า)

พิธีกร :
แล้วถ้าพูดถึงฆราวาสล่ะ?

ดังตฤณ :
ซึ่งผมอยากให้มองตรงนี้ก่อนว่า การกักบริเวณตัวเองไว้ ๓ เดือนมันก็ทรมานใจเหมือนกันนะ ถ้าหากว่าทำสำเร็จได้ก็เกิดความเข้มแข็ง เกิดความมีระเบียบมีวินัยในตัวเองนะครับ

พิธีกร :
โทษนี่ถ้ามอง ๓ เดือนนี่ก็เป็นโทษหนักนะครับ ถ้าคิดว่าโดนคนอื่นจับไปขังเนี่ย

ดังตฤณ :
ครับ คือถ้าเรามองว่า ๓ เดือนทำสำเร็จนะ แล้วจิตใจเข้มแข็งขึ้น เราต้องมองตรงนั้นแหละ..ว่านั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของการเข้าพรรษาของพระ ถ้าหากว่าเราจะเอาตามอย่าง เราจะอยากได้บุญที่มันมีความใกล้เคียงกับสงฆ์ ก็คือควรจะตั้งใจทำอะไรดีๆช่วง ๓ เดือน

พิธีกร :
อ่านี่คือกลไกว่า พระพุทธเจ้าสอนพระสงฆ์ให้ทำอย่างนี้มาแล้วเป็น ๒,๐๐๐ กว่าปีเนี่ย แล้วมันเกิดประโยชน์ แล้วเรากำลังจะทำบ้าง

ดังตฤณ :
คือเราเล็งไปที่จิตใจว่าทำสำเร็จตามตั้งใจอะไรก็ตามเนี่ย มันจะเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งมากขึ้น

พิธีกร :
ฉันทำได้นี่หว่า...ที่ฉันคิดว่าทำไม่ได้เนี่ย

ดังตฤณ :
อ่า...ผมอยากแนะนำแบบนี้ว่า ถ้าหากอยากได้บุญในวันเข้าพรรษาจริงๆนะ ลองซ้อมไว้ก่อน ก่อนถึงวันเข้าพรรษานะ ตั้งใจทำอะไรดีๆซักอย่างหนึ่ง อย่างผมชอบที่เค้ารณรงค์กันครั้งนึงนะ

พิธีกร :
เลิกเหล้าหรอครับ?

ดังตฤณ :
ใช่ (พยักหน้า) งดเหล้าเข้าพรรษา มันคล้องจองกันดี

พิธีกร :
เค้ายังรณรงค์กันอยู่นะครับ

ดังตฤณ :
แล้วยังจำกันได้ คือใครๆพอนึกว่าวันเข้าพรรษาควรทำอะไรก็จะนึกถึงคำนี้แหละ เป็นคำที่เวิร์ค เพราะคนจำกันได้ แต่จริงๆแล้วเราพิจารณาว่างดเหล้าคืออะไ? ก็คือการถือศีลข้อนึง คือข้อห้าได้
ซึ่งโอเค โดยหลักการน่ะดี แต่ว่าในทางปฏิบัติคนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้ซ้อมไว้ก่อน หรือว่าคนหลายคนนะ ที่ขี้เหล้าหน่อยหรือว่าชอบกินเหล้าเป็นประจำเนี่ย จะรู้สึกว่าตัวเองขาดไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำ ผมก็อยากจะให้คำแนะนำอย่างนี้ว่า แทนที่เราจะล็อคไว้ว่าเอาเรื่องเหล้าเรื่องเดียว เอาเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับศีล ๕ ก็ได้ หรือนิสัยเสียๆอะไรบางอย่างที่ตัวเองรู้อยู่นะ แต่ไม่ได้เลิกซะนานเพราะไม่ได้ตั้งใจ และก็จะไม่มีเทศกาลอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้เกิดความรู้สึกคึกคัก หรือเกิดความรู้สึกว่าเราก็น่าจะเข้าขบวนการร่วมรณรงค์ ขจัดนิสัยเสียๆหรือเพิ่มนิสัยนิสัยดีๆเข้ามานะ อันนี้ก็..ก่อนเข้าพรรษาเนี่ย ผมขอให้คำแนะนำว่า ถ้าปีนี้ทำไม่ทันเอาปีหน้าก็ได้นะ

พิธีกร :
ปีนี้ยังทันเนี่ย วันนี้ยังไม่หมด ยังเหลืออีก ๑๐ นาที (หัวเราะ) ใกล้หมดวันละ

ดังตฤณ :
คือถ้าหากว่าเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนขอบด่านะ กลับมาถึงบ้าน ด่าลูก ด่าเมีย หรือว่าตอนเช้าก่อนไปที่ทำงานเนี่ย นึกว่าเดี๋ยวจะไปด่าใครดี อะไรแบบนั้นนะ รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองนิสัยเสียแบบนี้

พิธีกร :
นี่ว่าถูกคนเลยนะเนี่ย (หัวเราะ) คุณดังตฤณบอกเลยว่า ๓ เดือนเนี่ย เราจะไม่ว่าใครเลย เราจะปิยวาจา

ดังตฤณ :
คือจริงๆผมไม่อยากให้ตั้งกำหนดไว้ ๓ เดือน เพราะมันเป็นไปได้ยาก คือคนเนี่ยนะ จะเปลี่ยนนิสัยตัวเองแค่เดือนเดียวก็ยากอยู่แล้ว ผมอยากให้ซ้อมอย่างนี้ก่อนว่า ตั้งใจแค่ ๒ วัน เพราะ ๒ วันเนี่ย คือจากสถิติที่ผมดูมานะเป็นไปได้มากที่สุด ที่คนตั้งใจทำอะไรดีๆแล้วจะสำเร็จ

พิธีกร :
อ่า พอได้ ๒ วันต่อมา

ดังตฤณ :
ทีนี้พ้อยท์ (point) ก็คือว่าเมื่อ ๒ วันผ่านไป คุณจะรู้สึกขึ้นมาทันที สำรวจเข้ามาที่ใจตัวเองนะ จะรู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งขึ้น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อคุณสามารถ

พิธีกร :
เฮ้ย..ฉันทำไปได้ ๒ วันแล้ว

ดังตฤณ :
อ้า..อย่างถ้าคนหลายคนเลยทบทวนชีวิตตัวเอง เอ๊ะสงสัย ไม่แน่ใจว่าตัวเองเคยทำอะไรดีๆไว้บ้างรึเปล่านะ ตรงนี้แหละ ที่คุณจะมั่นใจได้เพราะคุณตั้งใจเลยว่าจะทำดีให้ได้ในขอบเขตที่ชัดเจน

พิธีกร :
ผมเข้าใจแล้ว ทริคแบบนี้นะครับ พอตั้ง ๒ วันแล้วเราทำได้เนี่ย เราสำเร็จละและเราทำเพิ่มได้

ดังตฤณ :
สามารถที่จะเพิ่มได้

พิธีกร :
แต่ถ้าเราตั้ง ๓ เดือนเนี่ย ผ่านไป ๒ อาทิตย์ โอ้โห...จะตายแล้ว

ดังตฤณ :
มันทำไม่ได้

พิธีกร :
ก็จะรู้สึกท้อ รู้สึกว่าล้มเหลว

ดังตฤณ :
รู้สึกล้มเหลว (พยักหน้า) อันนี้ผมขอให้เป็นเทคนิค ๒ วันถ้าหากคุณตั้งใจทำอะไรก็แล้วแต่นะ ที่สำรวจเข้าไปแล้วเนี่ยมีอะไรที่เสียๆอยู่ หรือว่าอะไรที่

พิธีกร :
เสียๆเลิก ดีๆเพิ่ม

ดังตฤณ :
ใช่...ภายใน ๒ วัน ถ้าหากทำได้นะ แล้วมีความรู้สึกแฮปปี้ รู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น อธิษฐานต่อไปขออีก ๒ วันต่อยอดนะ หลังจากนั้นเกิดความรู้สึกเชื่อมั่น ระหว่างปีเนี่ยซ้อมไว้เรียบร้อยนะ พอถึงวันเข้าพรรษา หน้าพระ...จะตั้งอธิษฐาน เค้าเรียกว่าอธิษฐานพรรษา ตั้งใจว่าจะอยู่ที่นั่นที่นี่เป็นประจำ ๓ เดือน

พิธีกร :
ครับเราก็ตั้งใจว่าทำนี่ๆ ๓ เดือน เอามั่ง แต่ผ่านการซ้อมมาแล้ว ๒ วัน, ๒ วัน ไปเรื่อยๆ

ดังตฤณ :
อ่า..ผ่านการซ้อมมาแล้ว เกิดความเชื่อมั่นปูพื้นมาแล้วนะว่า เราสามารถทำได้เหมือนกัน

พิธีกร :
ฝากท่านผู้ชมไว้นะครับ นี่คือเรื่องดีๆในวันเข้าพรรษาที่กำลังจะหมดไปในวันนี้ แต่ว่าเค้าลือกันว่า เรื่องดีๆเนี่ย ไม่ทำวันนี้ ทำพรุ่งนี้ก็ได้ (หัวเราะ) มันเลยเข้าพรรษามาซักวันนึงแล้วทำคงไม่ผิดกติกา อธิษฐานผิดวัน

ดังตฤณ :
คือจริงๆแล้วผมจะพูดว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน

พิธีกร :
ครับ

ดังตฤณ :
เวลาที่เรามองว่าคนอื่นเค้าตามธรรมเนียมนิยม เค้าต้องทำกันให้ได้ ๓ เดือนอย่างนี้นะถึงจะได้เท่าพระ และก็รู้สึกว่าสำหรับตัวเราเป็นไปไม่ได้ ผมก็เลยย่อให้ว่าเป็น ๒ วัน อย่างวันนี้เข้าพรรษา อ่ะ..ตั้งใจแค่วันนี้กับพรุ่งนี้ก็ได้ วันนี้กำลังจะหมดอยู่แล้ว กำลังจะถึงเที่ยงคืนอยู่แล้ว มันง่ายมากเลย เดี๋ยวพรุ่งนี้มาต่ออีกแค่ ๒๔ ชั่วโมงนะ มันก็ได้ ๒ วัน ทีนี้พ้อยท์ก็คือว่าเมื่อผ่านไป ๒ วันแล้วเราสามารถทำได้ เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของเรา บางคนเนี่ยเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเองมาตลอด มีความรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้สำเร็จมาตลอด คุณลองดู...มาทำบุญในวันศักดิ์สิทธิ์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รองรับและก็มีความคึกคักของคนที่ตั้งใจทำอะไรดีๆพร้อมกันทั่วประเทศ

พิธีกร :
เจอคนแบบเดียวกัน

ดังตฤณ :
คุณจะเกิดความรู้สึกว่าเข้าบรรยากาศ มันจะมีกำลังเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะยึดเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ยึดอย่างนี้ก็แล้วกัน ถามตัวเองว่าคุณตั้งใจอะไรดีๆที่จะให้เกิดขึ้นกับตัวเองบ้างแล้วรึยัง? อะไรเสียๆอยากให้มันหมดออกไปจากตัวเองบ้างแล้วรึยัง? ถ้าหากว่าตั้งใจแล้วนะ ขอให้ทำให้ได้ ๒ วันพอ

พิธีกร :
๒ วันก่อน

ดังตฤณ :
แล้วพอแข็งแรงนะ ปีไหนก็ได้เลือกเอาวันเข้าพรรษา ทำให้ครบ ๓ เดือนนะครับ

พิธีกร :
ชัดเจนครับ ท่านผู้ชมครับ
ข้อที่ ๑. อย่าตอบผมว่าฉันไม่มีอะไรเสียเลย
คงเป็นไปไม่ได้ อันนั้นไม่ใช่คนแล้วครับ

๒. ก็คือลองทำดูครับ
อย่าให้วันเข้าพรรษาในวันนี้เป็นอีกวันนึงของปีหนึ่งที่ผ่านไปโดยไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง ขอบคุณคุณดังตฤณเป็นอย่างสูงครับ ขอบพระคุณมากครับ





หลักการแผ่เมตตาที่ถูกต้อง


ถาม : การแผ่เมตตาคือการที่เราคิดถึงเขา แล้วตั้งใจปรารถนาให้เขามีความสุข แค่นี้ใช่ไหม?

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/GcvwKPAOl-E

ดังตฤณ :
ไม่ใช่นะ การคิดอยากให้เขามีความสุข บางทีเราไม่รู้ตัวนะว่า ข้างในลึกๆมันไม่ได้เล็งไว้อย่างนั้นนะ บางคนน่ะนะ เรียกว่า..อืม.... ปากกับใจไม่ตรงกันนะ อันนี้ไม่ได้พูดถึงกรณีเฉพาะนะ แต่โดยทั่วๆไปเนี่ย บางทีนะ คือไปมีเรื่องกับคนที่ทำงาน ไปมีเรื่องกับคนที่บ้าน แล้วพระท่านสอนว่า เออ ให้แผ่เมตตา แล้วก็เชื่อครูบาอาจารย์แหละว่า โอเค วิธีการที่ดีที่จะดับความโกรธ คือ การแผ่เมตตา

ทีนี้การแผ่เมตตามันเป็นไปด้วยความเข้าใจที่แตกต่างกันมากนะ บางคนเข้าใจว่าแผ่เมตตาเนี่ย อย่างกรณีนี้คือว่า นึกให้เขามีความสุขนะ พยายามจะบังคับตัวเอง พยายามจะสั่งตัวเองให้ให้อภัย แล้วก็นึกให้เขามีรอยยิ้ม นึกให้เขามีความสุขอะไรต่างๆนานานะ ทั้งๆที่ตัวเราเองยังไม่ได้มีความสุขอยู่เลย ใจยังแห้งเหี่ยว ใจยังโกรธแค้น กายยังเต็มไปด้วยความรุ่มร้อนอยู่ อย่างนี้เนี่ยนะ ไม่ใช่หลักการแผ่เมตตาที่ถูกต้อง
หลักการแผ่เมตตาที่ถูกต้องที่พระพุทธเจ้าสอนนะ คือ ทำใจของเราให้มีความสุขเองก่อน เหมือนกับมีทรัพย์ แล้วค่อยเอาไปให้คนอื่น
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ให้คิดตามได้ตอนนี้เลยนะ อย่างถ้าเราตั้งใจกราบพระพุทธรูป กราบลงด้วยความนอบน้อมนะ กายประณีต แล้วก็ใจประณีตตามนะ มันมีความน้อมลงจริงๆ มันมีความรู้สึกว่าอยากเอาหน้าผากไปจรดพื้น ณ ขณะนั้นอัตตามันหายไป มันมีความสุขนะ มันเกิดความรู้สึกเคารพยำเกรง มันเกิดความรู้สึกเลื่อมใสในพระรัตนตรัย อย่างนี้เนี่ยเรามีความสุขแล้ว แล้วพอเราสวดอิติปิโส ภควา นึกถึงองค์พระราวกับว่า เออ เราอยากให้ท่านมีความสุข เนี่ย ตอนนี้มันมีความสุขอยู่ก่อนใช่ไหม แล้วเราอยากให้องค์พระมีความสุข มันก็ยิ่งมีความสุขที่ขยายออกไป ลักษณะแบบนี้แหละคือเมตตา

คือพูดง่ายๆสั้นๆนะ มีความสุขที่ตัวเองก่อน แล้วเอาความสุขนั้นเผื่อแผ่ไปให้คนอื่น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา

ถ้าอยากจะให้อภัยใคร หรืออยากจะให้ใครมีความสุขนะ ถามตัวเองว่าเรามีความสุขแล้วหรือยัง ถ้าเรามีความสุข เราพร้อมจะให้อภัย มีความพร้อมที่จะแผ่เมตตา มีความพร้อมที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างจริงๆ เพื่อที่จะให้เขามีความสุขด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่คิดๆเอา อยากจะให้เขามีความสุข บางคนเนี่ยนะนั่งบอกสวด สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ใจเนี่ย...อื้อหือ มันยังเต็มไปด้วยความเคียดแค้น เต็มไปด้วยความรู้สึกเหมือนกับคุกรุ่น เต็มไปด้วยความรู้สึกเหมือนอยากจะให้เขาเจ็บปวดนะ ใจจริงๆมันเป็นอยู่อย่างนี้ แต่ปากเนี่ยสวด สัพเพ สัตตา ไป มันไม่ใช่การแผ่เมตตา มันเป็นการพูด มันเป็นการพ่นลมปากออกไปเฉยๆนะ เหมือนกับพูดปกติ เหมือนกับการพ่นลมปากตามธรรมดานั่นแหละนะ ลักษณะของเมตตามันต้องออกมาจากจิตวิญญาณ ไม่ใช่ลมปากนะครับ