วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

รู้จักคุณดังตฤณกันมากขึ้น นสพ.กรุงเทพธุรกิจ: ฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๕

"ศรันย์ ไมตรีเวช" หรือ'ดังตฤณ'
ผู้เผยแผ่ธรรมผ่านตัวหนังสือที่มียอดตีพิมพ์มหาศาล
ในชื่อ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน'





ปกกายใจฉบับ120 
'ดังตฤณ'

รายงาน : ปริญญา ชาวสมุน 

บ้างว่าเขาเป็นผู้เผยแผ่ธรรม แม้ยังไม่ได้ชื่อว่าผู้บรรลุ แต่ทุกถ้อยคำและกระบวนความของ 'ดังตฤณ' ก็ทำให้รู้สึกว่า 'เสียดาย' หากก่อนตายไม่ได้รู้จักธรรมะจากเขา

กว่า 20 ปีแล้วที่ "ศรันย์ ไมตรีเวช" ชายผู้มีบุคลิกสงบเย็น รอยยิ้มเปี่ยมด้วยไมตรีจิต ได้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาผ่านตัวหนังสือที่ร้อยเรียงอย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย ผลงานสร้างชื่อของเขา อย่าง 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' นับเป็นหนังสือประเภทศาสนาและปรัชญาที่มียอดตีพิมพ์มหาศาลและเขายังมีลูกศิษย์ลูกหาผ่านหน้ากระดาษอีกนับไม่ถ้วน

นี่ไม่ใช่บทสนทนาสู่นิพพาน แต่คงดีไม่น้อย หากหลายเรื่องที่ตกค้างในใจผู้หลงทางในวังวนแห่งโลกียะ จะรู้กายรู้ใจตนมากขึ้นผ่านถ้อยคำอันกระจ่างชัดของเขา


ความหมายของดังตฤณ
ตฤณ แปลว่า หญ้า ดังตฤณ ก็ เหมือนหญ้า จริงแล้วเป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งที่เขียนนิยายไว้ตอนวัยรุ่น แต่พอมีเหตุให้มาเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมะก็เลือกชื่อนี้ขึ้นมา มันดูเหมือนเป็นธรรมชาติดี ไม่ใช่จะมาถ่อมตัวหรือว่าจะมาบอกว่าตัวเองเหมือนหญ้าน้อยๆ แต่ชอบความหมายตรงหญ้านี่มันมีความทนทาน โดนแดด ฝน เหยียบ เท่าไรๆ ถึงมันตายไปก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ มันเหมือนจะแฟ่บลงไปแต่มันไม่ตายจริง ลักษณะและความทนทานของหญ้าซึ่งดูบอบบางนั่นแหละ ฟังแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตของมนุษย์ทำให้เกิดเป็นอย่างนั้นได้ ถ้าหากว่าเราผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านความลำบาก ผ่านความสบาย แล้วเรามีชีวิตอยู่ได้ มันก็เหมือนหญ้า


กว่าจะเป็นหนังสือ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน'
ตอนแรกเลยที่จะได้ชื่อหนังสือว่า 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' เหตุผลเพราะมีคนขอให้เขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งเพื่อให้ญาติเขาที่ใกล้จะเสียชีวิตแล้วได้อ่าน ตอนนั้นเราก็คิดไม่ออก จนกระทั่งสองเดือนผ่านไป เรามานึกว่าญาติของเขาจากโลกนี้ไปแล้วหรือยัง ก็ปรากฏว่าเกิดความรู้สึกขึ้นมา ถ้าเขาได้ตายไปเสียก่อนที่จะได้อ่าน เหมือนกับเราไม่ได้ทำตามที่รับปากไว้ ก็เกิดคำขึ้นมาในหัวว่า 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' มีคนๆ หนึ่งได้ตายไปก่อนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ไปจริงๆ

จากนั้นพอชื่อหนังสือปรากฏขึ้นมา คอนเซ็ปท์ถึงไหลมาเทมา เราคิดออกว่าอะไรบ้างล่ะที่มันน่าเสียดาย ที่คนตายไปเสียก่อนจะได้อ่าน ก็คงไม่พ้นกับคำถามที่ผู้คนมีกันมาทุกยุคทุกสมัยว่า เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร มันมีความแตกต่างจนเกินกว่าจะเชื่อว่าเป็นแค่ความบังเอิญหรือแค่ใครกำหนดมา ส่วนที่ว่าถ้าเราเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์ มีภพภูมิต่างๆ ถ้าหากว่ามีภพภูมิอื่นอยู่เนี่ย เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว ปฏิบัติตัวอย่างนี้แล้ว มันไปไหนได้บ้าง จากนั้นคำถามอันเป็นที่สุด ถ้าหากยังมีลมหายใจ ยังมีเลือดเนื้ออยู่อย่างนี้ สิ่งที่คุ้มที่สุดที่จะทำขณะที่เป็นมนุษย์คืออะไร ตรงนี้แหละคือเนื้อหาของ 'เสียดาย...คนตายไมได้อ่าน' เป็นการไล่ลำดับจากอดีตสู่ปัจจุบัน เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร คือ อดีต ส่วนตายแล้วไปไหนได้บ้างก็คือ อนาคต ส่วนปัจจุบันก็จะตบท้าย


เริ่มต้นสนใจธรรมะอย่างไร
ไม่มีอะไรที่แปลกประหลาดเลยนะ เรียบๆ ง่ายๆ เลย ตอนช่วงที่ผมอยู่ชั้น ม.5, ม.6 มีความทุกข์เรื่องสุขภาพ มีความทุกข์เรื่องเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองว่าจะเรียนอะไรต่อ ถามตัวเองก่อนว่า คือไม่ใช่แค่เอ็นทรานซ์เข้าอะไรแล้ว ถามตัวเองจริงๆ ว่า ตื่นขึ้นมาอยากทำอะไร หมายความว่า ชีวิตที่เหลือนี่อยากจะรู้ อยากจะตอบตัวเองให้ได้ว่ามันจะอยู่ไปเพื่ออะไร ทำอะไรอันเป็นที่รัก ถ้าตอบตัวเองไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเลือกคณะได้ เราไม่สามารถเอ็นทรานซ์เพื่อจะเรียนอะไรที่จบออกมาแล้วเราไม่ได้ทำ พอมองไม่ออกว่าชีวิตของตัวเองเป็นอย่างไร มันก็เกิดคำถามว่าเมื่อเกิดมา เพื่ออะไร ตรงนี้เป็นคำถามสำคัญ ประเด็นแรกเลยที่มาจุดชนวนในหนังสือ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' ก็มาจากประสบการณ์ตรงนั่นแหละว่าเราเคยสงสัยชีวิต

ความหมายของการสงสัยชีวิตคือ ชีวิตนี่ ถ้ามันมีความหมายจริงๆ มันเริ่มต้นมาจากอะไร มันตั้งต้นมาจากอะไร ที่นี้พอเรามาพบพระพุทธศาสนาในห้องสมุดมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและปรัชญาเยอะ เหมือนเราได้คำตอบ

ก่อนหน้านั้น ไม่รู้สึกว่าชาตินี้ ชีวิตนี้จะต้องจับหนังสือธรรมะ เพราะรู้สึกว่ามันอยู่ไกลตัวเรา ในฐานะเด็กวัยรุ่น เราฟังผู้ใหญ่คุยเรื่องธรรมะแล้วไม่เกี่ยวกับตัวเราเลย พูดเรื่องมรรคมีองค์แปด พูดเรื่องสติปัฏฐาน พูดเรื่องภพภูมิอะไรต่างๆ มันไม่เชื่อ มันไม่มีความรู้สึกว่าใกล้เคียงกับชีวิตที่เราเป็นอยู่จริงๆ ณ ขณะนั้น เราแค่ต้องการคำตอบเท่านั้นว่าจะให้เรียนอะไร ไปทำงานอะไร ส่วนที่ว่าเกิดมาทำไม มันมีความสงสัยอยู่จริง แต่ไม่เชื่อว่ามันมีคำตอบ
ที่นี้พอมาพบกับธรรมะของพระพุทธเจ้า เราเจอคำตอบอย่างหนึ่ง ถ้าตั้งโจทย์ผิด คุณไม่มีทางได้คำตอบถูก


คำตอบนั้นคืออะไร
ณ ช่วงเวลานั้นเหมือนกับเราไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีคนคอยตอบคำถามให้ว่าเกิดมาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพื่ออะไร เราก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไปที่ตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไม หลังจากที่เราได้คำตอบจากพระพุทธเจ้า เราพบว่าโจทย์ข้อนี้ผิด ถ้าหากว่ามัวแต่ถามกัน มันจะมีคำตอบเป็นปรัชญา มีคำตอบเป็นความเห็นส่วนตัวมากมายก่ายกอง และหาที่สรุป ที่ลงเอยไม่ได้ คนโน้นก็บอกว่าเกิดมาเพื่อที่จะทำดี คนนั้นก็เกิดมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตให้คุ้ม อีกคนก็บอกว่าเกิดมาเพื่อศึกษา เพื่อรู้เกี่ยวกับเรื่องกรรมวิบาก แล้วแต่ว่าใครมีความเชื่อแบบไหน มีความรู้จากที่ใด

ถ้าหากว่าเราตั้งโจทย์ให้มันเข้ากันได้กับพระพุทธศาสนาจริงๆ "เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร" ไม่ใช่เกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อทำอะไรหรือเป็นอะไร ถ้าหากเราตั้งคำถามนี้มันชัดเจนว่าเราจะฟังคำตอบจากใคร มันขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของเรา อยากเลือกเชื่อฝ่ายที่บอกว่าพระพรหมหรือว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวาลเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา แต่ถ้าอีกฝั่งหนึ่ง ฝั่งที่มีเหตุมีผลเรื่องเกี่ยวกับกรรมวิบาก ก็จะบอกว่า เรานั่นแหละที่เป็นคนสร้างตัว สร้างตน สร้างฐานะ สร้างชะตา สร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำลังเห็นในชีวิต และมีผลกระทบกับชีวิตของเราทุกวันนี้


ให้ดูจิตดูใจของตัวเองใช่ไหม
ใช่ ถ้าหากเราบอกได้ว่าสิ่งที่เรารู้สึกอยู่จริงๆ มันเป็นความสุข อย่างน้อยในพระพุทธศาสนา ยืนยันว่าความสุขไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่เกิดจากใครบันดาลลงมาจากฟากฟ้าหรือสวรรค์ แต่ว่าเกิดจากการที่เราประพฤติธรรม ประพฤติกรรมอันเป็นกุศล คำว่ากุศลหมายความว่าธรรมชาติที่มีความความสว่าง มันเป็นฝักฝ่ายของความสุขความเจริญ ถ้าหากสั่งสมกุศลมากแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความสุข บุญเป็นเหตุให้เกิดความสุข ส่วนบาปเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ บางทีเรื่องบุญเรื่องบาป

คนยุคนี้จะมองกันง่ายๆ คนทำชั่วทำไมมันได้ดี ลอยหน้าลอยตา ยังมีความสุข ยังยิ้มแย้มอยู่ในสังคม เอยะแยะเลย แต่คนทำดีทำไมต๋อกต๋อย ตกต่ำ ก็มีความสงสัยกับสิ่งที่เห็นด้วยตาเปล่าง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้า ท่านให้มองที่ใจก่อน ถ้าหากเราทำบุญมาจริงๆ มันไม่ต้องมีเหตุการณ์อะไรจะมาสนองตอบเราให้มีความสุข มันมีความสุขขึ้นมาด้วยใจที่เป็นบุญนั่นแหละ หมายความว่าต่อให้พระองค์ในชาติหนึ่งก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เคยโดนตัดมือตัดเท้า เคยโดนย่ำยีต่างๆ นานา แต่จิตใจของท่านมีความสุขอยู่ได้ด้วยเมตตา การแผ่เมตตา จนกระทั่งใกล้ตายจิตเป็นฌานได้ ไปอยู่พรหมโลกได้ พูดง่ายๆ ว่า การที่เราจะมีความสุขไม่ใช่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่เกิดจากเรารู้จักคำว่าบุญดีพอหรือเปล่า

อย่างคำว่าบุญ พระพุทธศาสนาบอกไว้สามระดับ บุญอันเกิดจากการเต็มใจให้ มันอยากให้น่ะ ก็มีความสุขแล้ว ลองมองไปที่ใจตัวเอง ตอนที่อยากให้อะไรใครจริงๆ มันมีความสุขขึ้นมาแล้ว แล้วถ้าให้สำเร็จยิ่งปลื้ม และถ้าหากว่าเรารักษาศีลได้ ต่อให้ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ใจของเรามีความรู้สึกสะอาด มีความรู้สึกเคารพตัวเองได้ นี่คือความสุขชนิดหนึ่ง ยิ่งที่เราเจริญสติได้ เราเป็นอิสระจากอุปาทานได้ อย่างน้อยที่สุดถ้าเราเห็นว่าใครตาย เราไม่เศร้าหรอก ใจมันเป็นอิสระจากความเศร้าได้

นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาพยายามบอก จี้ที่ใจ เน้นที่ใจ เอาความสุขที่ใจก่อน และถ้าทำบุญได้ครบให้ทาน เจริญสติ กระทั่งตกผลึกถึงจุดหนึ่ง ชีวิตทั้งชีวิตจะเกิดสุขตลอดเวลา ไม่ใช่สุขตอนที่ใครให้ของที่เราต้องการ ไม่ใช่สุขตอนที่เรามีแฟน ไม่ใช่สุขตอนที่เราได้บ้าน ได้รถ ได้ตำแหน่ง แต่มีความรู้สึกที่เราเกิดความเข้าใจว่าธรรมะคืออะไร เกิดความรู้สึกว่าทำบุญเป็นเหตุให้ความสุขคือเรื่องจริง เป็นธรรมชาติของจิต ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นแล้วถึงค่อยเป็นอย่างนั้น แต่ธรรมชาตินี้มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา พระพุทธเจ้าค้นพบแล้วถึงมาบอกต่อ


แก่นหลักแบบดังตฤณเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจถูก เข้าใจตรง เข้าใจตามกติกาของธรรมชาติ อันนี้ถือว่าตรงเป้าของพระพุทธศาสนา คนมักเข้าใจว่าคงหมายถึงเรื่องอย่ามองกงจักรเป็นดอกบัว อย่าเห็นความชั่วเป็นความดี แต่จริงๆ แล้วพระพุทธศาสนายังมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก นอกจากกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีเรื่องของความเข้าใจที่ทุกถูกต้องว่า อะไรๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อะไรๆ มันมีความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คิดง่ายๆ สิ่งที่กำลังนั่งพูดอยู่อย่างนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นเพียงการประชุมกันชั่วคราวของธาตุสี่ เวลาตัวตนนี้ตายไปเราก็จะไม่เกิดความรู้สึกว่าเสียดายชีวิต มันเห็นเป็นแค่ธาตุสี่ มันจะแยกออกจากกัน ส่วนจะไปไหนต่อก็ขึ้นอยู่กับกรรมสั่งสมมา ถ้าสั่งสมความเห็นถูกต้องมามากพอจนกระทั่งไม่อาลัย ไม่อาวรณ์ ถึงขั้นจิตเป็นอิสระจากอุปาทานก็จะมีรางวัลสูงสุดของพระพุทธศาสนานั่นคือเป็นอิสระจากทุกข์อย่างถาวร


เราต้องทำอย่างไรจึงหลุดพ้น
ในพระพุทธศาสนามีเรื่องของการฝึกจิต การหลุดพ้นไม่ใช่เอาตัวที่เป็นร่างกายไปพ้นที่โลกไหนหรือขึ้นฟ้าไปอย่างไร แต่เอาจิตของเราพ้นจากอุปาทาน อุปาทานคืออะไร คือความรู้สึกว่าร่างกายนี้ จิตใจนี้มันเป็นของๆ เรา ร่างกายคนอื่น จิตใจของคนอื่นเกี่ยวข้องกับเรา เป็นญาติเรา แต่ไม่ใช่แค่ไม่ยึดติดนะ ต้องพ้นจากอุปาทานไปเลย ลักษณะของการฝึกจิตเพื่อให้พ้นจากอุปาทาน เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ หมายความว่าเอากายใจมาเป็นที่ตั้งของการฝึก มาเป็นที่ตั้งของการระลึก

มันคือการทำความรู้จักกับร่างกายและจิตใจของเรานี่แหละ คือเราไม่รู้จักกับร่างกายหรือจิตใจดีพอ เช่นเวลาที่เราออกเดินไป จิตใจของเราจะคิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ ชมนกชมไม้ แต่ถ้าหากว่าจะทำความรู้จักกับร่างกาย เริ่มต้นง่ายๆ เวลาที่เราเดินไป เรารู้สึกถึงเท้ากระทบ แค่รู้สึกไปธรรมดานี่แหละ พอเรารู้สึกไปได้สักพักมันจะมีท่าเดินปรากฏในจิตใจของเรา แต่เดิมไม่สังเกต พอเราเริ่มสังเกตสิ่งที่มันกระทบกาย มันรายงานความรู้สึกให้เรารู้ พอรู้สึกมันมีประโยชน์ตรงที่เราสามารถพิจารณาขึ้นมาได้ ณ เวลานั้น

เมื่อมีสติ คมชัดมากขึ้น มันจะเห็นแม้กระทั่งความรู้สึกที่ผุดขึ้นเป็นขณะๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับกายนี้ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน พระพุทธเจ้าจึงให้สังเกตตรงนี้แหละ ลมหายใจเดี่ยวมันก็เข้าเดี๋ยวมันก็ออก เดี๋ยวมันก็ยาวเดี๋ยวมันก็สั้น พอรู้ว่าลมหายใจไม่เที่ยง จิตของเราจะเป็นอีกแบบหนึ่ง มันเหมือนจะแยกไปเป็นผู้ดู เป็นผู้รู้ ว่าลมหายใจเป็นแค่ธาตุลมที่พัดเข้าพัดออกในร่างกายของเรา พอเรารู้อย่างนั้นเราได้ความสดชื่นด้วย ได้สมาธิจากการดูลมด้วย และได้ความสามารถพร้อมจะต่อยอดที่เป็นสติรับรู้ร่างกาย


เป้าหมายสูงสุดคืออะไร
เป้าหมายสูงสุดคือใช้ชีวิตอย่างที่กำลังเป็น นั่นคือเรากำลังทำตามพระพุทธเจ้า คือ ทำความดี การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญสติขั้นต้น แต่ถ้าเราเป็นประโยชน์ให้กับศาสนาได้คือเอาความเข้าใจที่เราได้แล้วไปถ่ายทอดให้คนร่วมสมัย ที่เขาอาจยังไม่มีโอกาสได้เข้าใจอะไรง่ายๆ แบบที่เป็นภาษาร่วมสมัยเราก็ทำหน้าที่แบบนั้นไป แต่จุดมุ่งหมายที่สูงสุดคงต้องเรียกว่ารอเวลาเหมาะกว่าปัจจุบัน


ความสุขของอาจารย์คือเรื่องใด

ความสุขที่สุดเลย ที่เป็นปกติเลย คือความสบายใจคนเราจะใช้ชีวิตแค่ไหนก็ตาม จะตั้งเป้า ตั้งปรัชญาลึกซึ้ง สลับซับซ้อนแค่ไหน ถ้าหากไม่มีความสบายใจ ไม่มีความเป็นปัจจุบันที่รู้สึกเบา ตรงนั้นมันไม่มีความสุข อย่าไปเชื่อว่าเข้าถึงปรัชญาของตัวเองได้ถ้าปราศจากความสบายใจ ผมเชื่อว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าลงท้ายเราได้ความสบายใจมา ตรงนั้นเรามาถูกทาง


กล่าวถึงหนังสือเล่มล่าสุด 'จิตจักรพรรดิ'

จริงแล้วๆ งานเขียนของผมที่คนรู้จักเป็น 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' ก็เป็นงานบรรยายตรงไปตรงมาว่ากฎกติกาธรรมชาติเป็นอย่างไร หลักวิธีการปฏิบัติทำอย่างไร แต่งานนวนิยายผมเขียนมาสี่เล่ม มีเรื่อง 'ทางนฤพาน', 'กรรมพยากรณ์ ภาค ชนะกรรม', 'กรรมพยากรณ์ ภาค เลือกเกิดใหม่' ส่วน 'จิตจักรพรรดิ' เป็นนวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุด ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมะหรือมีความสงสัยว่าธรรมะคืออะไร หรืออยากได้แรงบันดาลใจ จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ผมก็เอาตัวละครมาเป็นตัวล่อ หมายความว่าถ้าตัวละครที่อยู่ในเรื่องสามารถดึงดูดให้คนอ่านติดหรือรู้สึกว่าตัวเรามีส่วนใช่ ตัวละครเปลี่ยนแปลงอย่างไร เข้าใจอย่างไร

คนอ่านก็จะเข้าใจหรือกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงตามตัวละครได้ ส่วนมากคนอ่านนวนิยายไม่นึกการสอนแต่นึกถึงความสนุก ผมใช้ความสนุกนั้นแหละเป็นตัวถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจการใช้ชีวิตแบบชาวพุทธ