วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

พุทธศาสนาสอนให้วางใจเรื่องความสุขอย่างไร

ดังตฤณ : พระพุทธเจ้าเวลาสอนที่ให้ดูความสุข ตอนแรกท่านให้ดูความสุขจากการหายใจยาวเป็นก่อน

 

หายใจยาว มีความสุขอย่างนี้ แล้วเราดูว่าความสุขนี้ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็จะง่าย เพราะเป็นความสุขจากอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยมีค่าเท่าไหร่ เป็นแค่ลมหายใจเข้าออก

 

ถ้าเห็นได้ว่า หายใจเข้ายาว แล้วมีความสุข มีความสดชื่น แล้วพอหายใจสั้นลง มีความสุขน้อยลง อย่างนี้ จะทำให้เริ่มมี basic ที่จะเห็นความสุขไม่เที่ยง และไม่แคร์ที่จะเห็นความสุขนั้นแตกดับ หรือหายไป

 

แต่พอเราได้มีความชำนาญนั้นแล้ว จะพบความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้ความสุขที่ใหญ่กว่านั้น ที่ดูมีค่ากว่านั้น เช่น สุขจากครอบครัว จากคนรัก จากทรัพย์สินเงินทอง เราย้อนเข้ามาดูข้างใน โอ มีความสุขน้อยเสียกว่าที่ตอนเราทำสมาธิ และหายใจยาวๆ ได้มีความต่อเนื่องเสียอีก

 

ขนาดความสุขจากลมหายใจยาว เรายังไม่แคร์ ความสุขที่น้อยกว่านั้น มีระดับที่เล็กกว่านั้น เราจะไปแคร์ทำไม

 

เราก็สามารถที่จะเห็นว่า มันแปรไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัยได้เช่นกัน

 

เหมือนกับอย่างตอนที่เราหายใจยาว แล้วเรามีความสุขเกิดขึ้นมาก พอหายใจสั้นลง ความสุขก็ลดระดับลง เราไม่แคร์ใช่ไหม

 

เหมือนกัน ความสุขจากครอบครัว วันหนึ่ง ทุกคนดี เราเกิดความสุขเต็มเปี่ยม

 

แต่อีกวันหนึ่ง ทุกคนไม่ดี เราไปให้ค่า มันถึงมีความทุกข์

 

เราก็แค่รับรู้ไปตามจริงว่า วันที่คนเขาไม่ค่อยดีกับเราเท่าไหร่ ความสุขของเราน้อยลง

 

ตรงนี้ ก็กลายเป็นการเห็นว่าความสุขไม่เที่ยง เห็นเป็นธรรมดาว่า ความสุขไม่เที่ยง ตามเหตุปัจจัย

 

เอาจากลมหายใจให้ได้ก่อน เสร็จแล้วไปพิจารณาความสุขแบบอื่น ความทุกข์แบบอื่น ก็จะง่ายเลย

______________________

ถาม : พุทธศาสนาสอนให้วางใจอย่างไรกับความสุขครับ ทั้งความสุขจากครอบครัว คนรัก หรือทรัพย์สินเงินทอง?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=LOujQCSLlPo

 

รู้สึกเห็นกายแข็งๆ แยกต่างหากจากจิต ใช่จิตกับกายแยกกันไหม

ผู้ถาม : มีเรื่องอยากสอบถามเรื่องนั่งสมาธิครับ พอดีเมื่อวานนั่งสมาธิแล้วมีความรู้สึกเหมือนกายแข็ง คือร่างกายแข็ง ธรรมดาเคยเป็น แต่ก็พอเข้าใจอยู่ แต่รอบนี้จะคล้ายกับว่า ไม่แน่ใจว่าใช่ที่บอกว่า จิตกับกายแยกกันหรือเปล่า รู้สึกว่าสิ่งที่คอยรับรู้แยกออกมาด้วย ไม่ได้อยู่กับกาย กายเหมือนนั่งแข็งๆ อยู่เฉยๆ ไป

 

ดังตฤณ : เหมือนเห็นเป็นอีกตัวหนึ่งใช่ไหม

 

ผู้ถาม : ใช่ครับ

 

ดังตฤณ : ถ้าเห็นเป็นอีกตัว แล้วเรายังมีสติ มีความตื่นตัวรู้พร้อมอยู่ แบบนั้นถือว่าอย่างน้อย เราได้เห็นแล้วว่า กายสักแต่เป็นรูป เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ให้มองโดยภาพรวมเป็นอย่างนี้นะครับ

 

ผู้ถาม : จะถามว่า ที่แยกออกมา ใช่ที่เรียกว่า จิตหรือเปล่าครับ หรือเป็นอะไร

 

ดังตฤณ : เรามองอย่างนี้ก่อน ว่าเดิมทีเราคลุกอยู่กับความรู้สึกนึกคิด แล้วก็รู้สึกว่า กายเป็นก้อนอะไร เป็นตัวตน ที่ดิบๆ มีความรู้สึก มีตัวตนดิบๆ อยู่ในกายนี้

 

พูดง่ายๆ พอกายปรากฏที่ไหน ความรู้สึกในความเป็นตัวเรา ก็ปรากฏอยู่ที่นั่น

 

ทีนี้พอถึงจุดหนึ่ง ที่กายปรากฏราวกับว่า เป็นสิ่งต่างหากแยกออกมาจากจิต ที่เป็นผู้รู้ ตรงนั้นให้ถือว่ามีประสบการณ์ ได้เห็นว่ากายเหมือนหุ่น กายเหมือนสิ่งที่ถูกมอง สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวของเรา มองอย่างนี้ก่อนเป็นภาพรวม

 

จากนั้นให้สังเกตว่า ด้วยการเห็นกายแยกออกไปนั้น ให้ความรู้สึกอย่างไร

 

ร้อยทั้งร้อย พอเริ่มต้นมีประสบการณ์แบบนี้ สิ่งที่จะรู้สึกเป็นธรรมดาก็คือว่า ตัวเราแยกออกมาเป็นต่างหาก จากภาวะกายที่ไม่ใช่เรา จะรู้สึกอย่างนี้ มีตัวเราออกมานั่งดู เหมือนกายนี้เป็นของใครอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเรา

 

เวลาเราจะมอง มองตรงนี้ ที่จะเกิดประโยชน์จริงๆ จากประสบการณ์แบบนี้นะครับ

เราทำไว้ในใจล่วงหน้าว่า ความรู้สึกว่ามีเราเป็นผู้มองอยู่นั่นแหละ เรียกว่า อุปาทาน

 

จะได้เห็นหน้าตาของอุปาทานชัดๆ เป็นนามธรรมเลยว่า มีความรู้สึกเป็นตัวของเราอยู่ ทั้งๆที่ แยกออกมาจากกายแล้ว กายนี่เป็นที่ตั้งของอุปาทานมาทั้งชีวิต เป็นที่ตั้งของตัวตนมาทั้งชีวิต ว่านี่เป็นเราแน่ๆ ก้อนกายดิบๆ นี้

 

แต่พอกายแยกออกมาแล้ว ยังอุตส่าห์มีตัวเรา แยกออกมาอีก ตามออกมาด้วย

 

ตัวนี้ เราก็พิจารณาต่อว่า สิ่งที่รู้สึกอยู่ว่าเป็นตัวเราดูกายอยู่ ก็คืออุปาทานว่า จิตเป็นตัวเป็นตน เป็นของเรานั่นเอง ความคิดเป็นตัวเป็นตนของเรานั่นเอง

 

คราวนี้ก็จะง่ายขึ้น เวลาที่เราพิจารณาในขั้นต่อไป ถ้าเราทำไว้ในใจล่วงหน้า แล้วเกิดภาวะนั้นอีก ก็จะเห็นเลยว่า สิ่งที่เป็นความรู้สึกว่า มีตัวเราดูกายอยู่ ก็คือจิต ที่ยังอุปาทานอยู่ว่า ตัวของมันมีตัวตน

 

ถ้าหากว่า ณ ขณะที่เกิดประสบการณ์แบบนั้นเป๊ะเลย แล้วเกิดสติขึ้นมาอย่างนี้ได้ ว่า จิตของเรา หลงสำคัญผิดไป ว่ามีตัวตน

เราจะเห็นว่า ก้อนตัวก้อนตน ความรู้สึกในตัวในตน ที่เป็นอุปาทาน ที่เป็นความรู้สึกลึกๆ จะเปลี่ยนไปให้ดู

 

คือเหมือนจะแยกออกมาจากจิตอีกชั้น

 

เดิม จิตของเรายึดมั่นเหนียวแน่นอยู่กับกาย เป็นอันเดียวกับกาย แต่พอแยกออกมา เราได้เห็นเลยว่า จิตนี้ แยกออกมาจากกาย แต่ไม่ได้ถูกแยกออกมาจากความรู้สึกในตัวตน

 

ทีนี้ พอเรามีสติเห็น ณ จุดเกิดเหตุนั้นว่า จิต มีความรู้สึกในตัวในตน แล้วเรามองว่า นี่เป็นลักษณะความยึดมั่น ถือมั่น หลงติดว่า จิตมีตัวมีตน เรามีตัวมีตนอยู่ในจิต หรือมีความคิดที่ห่อหุ้มจิตเป็นอะไรก็แล้วแต่ นึกว่าความคิดที่ห่อหุ้มจิตนั้น เป็นความคิดของเรา

 

พอเราเกิดสติขึ้นมา จะเห็นแยกเลยว่า

ความคิด อยู่ส่วนความคิด

จิต อยู่ส่วนจิต

จิตที่รู้สึกอยู่ ก็อยู่ส่วนความรู้สึกของมัน

อยู่ใน layer ของมัน ความคิดก็อยู่อีก layer หนึ่ง

จะเห็นง่ายๆ เพราะไม่ได้มาฝังอยู่กับกายแล้ว

 

ตอนที่นามธรรมแยกจากกันนี่นะ ขอแค่มี สตินำนิดเดียว จะแยกกันให้ดูง่ายๆ เลย ง่ายแบบที่นึกไม่ถึงเลยนะ

 

แล้วถ้าความรู้สึกหนักๆ หน่วงๆ มีตัวมีตนยังคงอยู่ ก็จะรู้ได้ว่า เหมือนกับน้ำมันที่ยังหนัก แล้วก็ยังปน คือแนบสนิทอยู่กับน้ำ

 

แต่ถ้าหากว่าเรามีสติ ที่เหมือนกับเคยฝึกมาแล้ว เคยผ่านมาก่อนว่าความคิดไม่เที่ยง ผ่านมากระทบใจ แล้วเดี๋ยวก็หายไป จะไม่อยู๋ในลักษณะที่ความคิดห่อหุ้มจิต

 

แต่จะอยู่ในลักษณะที่จิตลอยมา หรือว่าวนๆ อยู่ รอบๆ จิต แล้วก็สลายตัวไป

 

พอเห็นว่าเหลือแต่จิต แล้วก็ความคิด ความรู้สึกในตัวในตนค่อยๆ สลาย ค่อยๆ เปลี่ยนไป เปลี่ยนระดับ จากหนัก กลายเป็นเบาๆ เหลือแต่จิตที่เบาอยู่จริงๆ เป็นอิสระ

 

ตรงนี้เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า หน้าตาของจิตก็คือตัวรู้อยู่เฉยๆ ที่มีความคิดมาปรุงแต่ง หรือมีความคิดมาห่อหุ้ม ให้เกิดความรู้สึกในตัวในตนของเรา  เกิดขึ้นเพราะจิตไม่มีสติ

 

แต่เมื่อไหร่ที่จิตมี สติแบบพุทธ ตรงนั้นแหละ ที่ความคิดหรือความรู้สึกในตัวตน จะเริ่มแยกชั้น เหมือนน้ำมันที่แยกออกจากน้ำอย่างชัดเจน แยกออกจากกัน คือไม่มาแนบสนิทอยู่ด้วยกัน

 

ผู้ถาม : ใช่เลยครับ จริงๆ มีอีกนิดหนึ่ง คือที่เจอเมื่อวานก็คือเหมือนกับตอนแรก จิตอยู่ข้างนอกกาย ความรู้สึกประมาณนั้น แล้วเหมือนกับว่า พอรู้สึกว่ามันแยกกัน ก็ลองว่า ถ้าจับลมหายใจจะรู้สึกอย่างไร แต่ว่าตอนนี้จำความรู้สึกนั้นไม่ได้แล้ว เหมือนกายแยกทำงานไปอย่างนี้ครับ แล้วก็รู้สึกคล้ายๆ จิตกลับไปอยู่ตรงแถวหัว ยังทำความเข้าใจกับมันอยู่ครับ

 

ดังตฤณ : มองอย่างนี้ ตอนนั้นใจของเราเป็นสมาธิระดับหนึ่ง ที่เห็นกายโดยความเป็นนิมิตได้ นิมิตกาย มีรูปลักษณะ มีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร จิตของเราสามารถรับรู้นิมิตนั้นได้

 

และนิมิตนั้น จะเป็นนิมิตที่มีสติแยกได้ชัดเจนนะครับ ว่าภาวะรูปพรรณสัณฐานของกาย เป็นต่างหากจากจิตจากใจ ที่รู้กายนั้น

 

ถ้าเกิดขึ้นอีก ถ้าจะเกิดขึ้นอีกได้ ไม่ใช่ด้วยการที่ตั้งต้นขึ้นมา เราอยากเห็นแบบนั้นอีก แต่ต้องตั้งต้นขึ้นมาคือ นับหนึ่งใหม่ เข้าทางเดิม เราต้องเริ่มจาก ศูนย์ เลย คือไม่ได้อยากที่จะเห็นกายแยก จิตแยก แต่ทำเหตุให้ถูก ที่จะไปถึงจุดนั้นนะครับ

 

เราเคยทำมาอย่างไร เริ่มนับหนึ่งใหม่เสมอ อย่าเริ่มต้นด้วยความคาดหวังว่า จะไปเจอสภาพนั้นอีก

 

เพราะนี่จะเหมือนที่เมื่อกี้คุณบอกว่า ตอนนี้นึกไม่ออกแล้วว่าเป็นอย่างไร นั่นเพราะจิตไม่ได้เห็นนิมิต และไม่ได้อยู่ในสมาธิแบบที่อยู่ในระดับนั้น

 

แต่ถ้าหากว่าเราทำจนชำนาญจริงๆ หายใจเข้าออกครั้งเดียวโดยไม่คาดหวังอะไรเลย ก็จะกลับเข้าทางได้

 

พูดง่ายๆ นะ นับหนึ่งใหม่เสมอ อย่าเริ่มต้นด้วยการไปคาดหวังว่าจะก๊อปปี้ของเดิมมาทำตามนะ เข้าทางเดิมเลยเริ่มต้นมาอย่างไร เอาแบบนั้นนะ

____________________

สรุปคำถาม : นั่งสมาธิแล้วมีความรู้สึกเหมือนกายแข็งๆเป็นต่างห่างจากจิต ไม่แน่ใจว่าแบบนี้เรียกว่าเห็นจิตกับกายแยกจากกันหรือเปล่า?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=26VCINimgo0

 

ภาวนาพุทโธ แต่ฝันทุกคืน จิตไม่สงบจริงใช่ไหม

ดังตฤณ : ความฝัน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความฝันมา 30 ปี ศึกษาจริงจัง เก็บตัวอย่างมามากเป็นพันเป็นหมื่นคน มาสร้างทฤษฎี สร้างโมเดลอะไรมากมาย

 

ในที่สุดยังบอกเลยว่า ความฝันของมนุษย์เป็นสิ่งที่ลึกลับ แล้วก็ไม่ใช่จะเข้าใจได้ง่ายๆ

 

เอาง่ายๆ อย่าว่าแต่ฝันเลย แม้กระทั่งว่า คำถามง่ายๆ ว่าทำไมคนต้องหลับ เป็นโจทย์ที่ยาก

 

ตอนที่เราเรียนหนังสือกัน สุขศึกษา ตอนเด็กๆ ก็บอกว่า การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด คนที่ศึกษาเรื่องการหลับ และความฝันมามากจริงๆ กลับบอกว่า ตอนหลับ ไม่ได้พักผ่อนนะ สมองนี่ทำงานเต็มที่เลย แล้วสภาวะร่างกายโดยทั่วไปก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะผ่อนคลาย

 

สมมติว่าฝันว่าวิ่งหนี ตื่นมา ก็เหนื่อยยิ่งกว่าวิ่งหนีจริงๆ อีก เพราะมีความขวัญเสีย มีอาการตอบสนองทางกายที่ออกทางเครียด หลั่งสารแย่ๆ ออกมา สมองไม่เคยพัก

 

สมองของมนุษย์ไม่เคยพัก แม้แต่ความคิดก็ไม่เคยหยุด เป็นกระแส อย่างที่ฝรั่งเรียก มีศัพท์เฉพาะว่า Theme of consciousness ลักษณะการทำงานของสมอง มีอาการตื่นอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่เรารู้สึกว่าเราหลับ

 

ความคิดจะขาดหายไปจริงๆ ก็ต่อเมื่อเราสลบ หรือไม่ก็เข้าถึงสมาธิระดับฌาน

 

ถ้าถึงฌานจริง ความคิดเงียบเลยนะ เงียบกริบเลย ไม่เหลือเลย

 

ทีนี้ อย่างเราภาวนาพุทโธมา แล้วเกิดปีติ เกิดความเบา เกิดอะไรก็แล้วแต่ ตรงนั้น เป็นตอนตื่น ยังเข้าไปไม่ถึงจุดที่ลึกลับที่สุดในชีวิตของเราคือ ตอนที่เราหลับฝัน

 

ตอนนั้น จะมีอะไรออกมามากมาย ซึ่งไม่ต้องไปกังวล เราเอาแค่ จับสังเกตก็พอว่าที่เราฝัน ฝันดีหรือฝันไม่ดี

 

ถ้าฝันดี แล้วทำให้รู้สึกตื่นมา อารมณ์ดี อารมณ์เบา อารมณ์สบาย ก็ถือว่าที่ผ่านมาใช้ได้ ภาวนามาใช้ได้ อย่าไปคาดหวังว่า ภาวนาได้ดีแล้วจะไม่ฝันนะครับ เพราะว่าเป็นการที่เราไปกะเกณฑ์สิ่งที่ลักลับที่สุดในชีวิตให้เป็นไปตามใจของเรา ซึ่งทำไม่ได้นะครับ

 

เราเอาแค่ว่า เราจะฝันดีก็พอแล้ว

___________________

 

ภาวนาพุทโธพร้อมลมหายใจเข้าออกมากว่า 20ปี เกิดปีติเร็ว ลมหายใจเบาแทบไม่หายใจ ทำทุกคืนพิจารณากายเป็นบางช่วง แต่ทำไมยังฝันไปในที่ต่างๆ แสดงว่าจิตไม่ได้สงบจริงใช่ไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=r1epM-fVytc

 

ขอวิธีช่วยพ่อเลิกดื่มเหล้า

ดังตฤณ : ก็ดีนะที่ทำอย่างนั้น (หมายเหตุ: ทำบุญ แผ่บุญให้ท่านและเทวดาประจำตัวท่าน ให้มีใจเอนเอียงมาทางศาสนา) แต่วิธีที่ลึกลับแบบนี้ จะได้ผลหรือไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะครับ ไม่ใช่วิธีตายตัว

 

แล้วถ้าว่ากันตรงไปตรงมา อนัตตาภายนอก ซึ่งคนจะอยากจริงๆ ปรารถนาจริงๆ ว่าให้บุคคลอันเป็นที่รัก ได้มามีดวงตาเห็นธรรม ตาสว่าง มีความเห็นถูกเห็นชอบ แต่ผมบอกเสมอนะว่า แม้กระทั่งศรัทธาของเราเอง บางทียังยากเลยนะที่จะรักษาไว้ให้อยู่กับทางที่ถูก ทางที่ชอบ

 

หรือว่าจะกะเกณฑ์ให้ตัวเรา มีสัมมาทิฏฐิไปทุกเรื่อง แล้วก็ตาสว่างได้ทุกเรื่อง ก็ยากอยู่แล้วนะ

 

การไปคาดหวังให้คนอื่นมานี่ บางที คาดหวังได้พยายามได้ แต่อย่าไป เอาเป็นมั่นเป็นเหมาะ ถือเป็นสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะกับตัวเองว่าจะต้องเอาให้ได้นะครับ

 

คือที่คุณทำไปนี่เรียกว่ามีความกตัญญูรู้คุณ แล้วก็มีจิตเจตนาดี ที่จะตอบแทนคุณท่าน เปลี่ยนท่านจาก มิจฉาทิฎฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ

 

ซึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีบุญอันไหนนี่ที่เยี่ยมไปกว่านี้แล้ว จะตอบแทนคุณพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ที่ดี ให้เลือดเนื้อเรามา เลี้ยงเราให้โตได้ มีบุญคุณใหญ่หลวงเหลือเกิน ยากที่เราจะตอบแทน

 

วิธีตอบแทนเดียวที่ท่านเห็นว่าสมน้ำสมเนื้อก็คือ ถ้าเราเห็นว่าท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิจริง ก็พยายามเปลี่ยนท่านเป็นสัมมาทิฏฐิเสีย

 

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าทำได้นะ ทำให้ศรัทธาของท่านตั้งมั่น ทำให้ทานของท่านตั้งมั่น ทำให้ศีลของท่านตั้งมั่น นี้ได้ชื่อว่าเราให้ที่พึ่งที่แท้จริงกับท่าน พระพุทธเจ้าตรัสว่าตอบแทนได้สมน้ำสมเนื้อ กับการที่ท่านให้เราเกิดมา และเลี้ยงดูเรานะครับ

 

แต่ว่าความพยายามที่จะทำด้วยอุบายอะไรต่างๆ ใช้หลักการอธิษฐาน หรือว่าขอให้เทวดาประจำตัวท่านช่วย ก็โอเคนะ เป็นวิธีหนึ่งที่ ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไรอย่างอื่นแล้ว ก็เป็นหนทางออกสุดท้ายที่บางคนนี่ ทำแล้วได้ผล แต่ว่าอย่าคาดหวังว่าจะต้องได้ผลกับกรณีของเราด้วยนะครับ

 

เราแค่มีจิตที่รู้ว่าพยายามเต็มที่แล้วในฐานะของลูก ก็เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วนะ

 

ผู้ร่วมดำเนินรายการ 1 : ขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ตรงของตัวเองนิดหนึ่งค่ะ เพราะมีปัญหาคล้ายแบบนี้เช่นกัน

 

คือสมัยก่อน คุณพ่อชอบดื่มเบียร์มาก เวลาไปงานสังสรรค์ บางครั้งก็จะดื่มจนเมา ซึ่งเราก็ไม่ชอบแบบนั้น

 

สมัยตอนเป็นวัยรุ่น ก็จะโต้ตอบด้วยการที่ .. อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะคะ .. คือ แย่งแก้วคุณพ่อมาดื่ม ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็น พ่อแก้วลูกแก้วเลย ซึ่งชัดเจนว่าวิธีนี้ ไม่ได้ผล

 

แต่พอช่วงหลัง เราก็มาสนใจเรื่องพุทธศาสนา ซึ่งบอกว่าต้องมีศีล 5 เป็นพื้นฐาน ก็เลยตั้งใจที่จะรักษาศีลห้าอย่างมั่นคง แล้วพยายามทำให้คุณพ่อเห็นว่า การถือศีลห้าเป็นเรื่องดีจริงๆ

 

คือต้องบอกก่อนว่า เป็นคนที่ชอบดื่มเหล้ามาก ไม่ใช่เพราะชอบเมานะคะแต่ว่าชอบรสชาติ ชอบดื่มเหล้ารสหวาน เพราะรู้สึกว่าอร่อยค่ะ

 

แต่หลังจากตั้งใจถือศีลก็คือไม่ว่าอย่างไร ก็จะไม่ดื่มเด็ดขาด ต่อให้เป็นรุ่น เป็นยี่ห้อที่ชอบอยู่ตรงหน้า ก็ไม่ดื่ม จนกระทั่งสุดท้าย คุณพ่อก็ใจอ่อนยอมเลิกดื่มเบียร์จนได้

 

คือคุณแม่เคยมาเล่าให้ฟังค่ะว่า ครั้งหนึ่ง คุณพ่อกับคุณแม่ไปทานข้าวกันสองคน อาหารที่คุณพ่อสั่งมาก็มีพวกกับแกล้มด้วย

คุณพ่อเลยเปรยว่า .. ถ้ามีเบียร์ซักแก้วก็ดี คุณแม่ก็บอกว่าเอาสิ แค่แก้วเดียว ไม่เป็นไรหรอก แต่คุณพ่อกลับตอบว่า .. ไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวลูกเสียใจ

 

พอฟังแล้วรู้สึกปีติ ดีใจที่ในที่สุด เราก็ทำให้คุณพ่อเลิกดื่มได้เป็นผลสำเร็จค่ะ

 

ดังตฤณ : นี่เป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เลยนะ เอาตัวเองเข้ามาทำให้คุณพ่อ เกิดความรู้สึก เห็นแก่เราขึ้นมา

 

ซึ่งถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นแก่ลูก แล้วก็รู้สึกถึงความเพียรพยายาม ความตั้งใจจริงๆ ของลูกที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วเกิดอารมณ์หนึ่งว่า อย่างนั้นเราเปลี่ยนก็แล้วกันนี่ ดีมากเลยนะ เป็นพ่อแม่ลูกที่ถือว่าอยู่บนเส้นทาง เกื้อกูลในทางบุญด้วยกันนะครับ

 

เราทดลองกันได้นะ จะได้ผลหรือไม่ได้ผล หรือว่าจะเกิดความประสบความสำเร็จกับตัวเราหรือเปล่า แต่อย่างน้อยได้พยายาม ตามกำลังของเรา ตามสติปัญญาที่มีอยู่ของเราทั้งหมด ก็ถือว่า เป็นเรื่องน่าอนุโมทนาทั้งสิ้นนะ

 

ผู้ร่วมดำเนินรายการ 2 : อยากขอร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยเพราะตรงกับที่พี่ตุลย์พูดไปเมื่อสักครู่เลยค่ะ

 

เหมือนผู้ร่วมดำเนินรายการอีกท่าน คือ จะเป็นคนชอบรสชาติของเหล้า ในอดีต สมัยนั้นยังไม่ได้มีบุญมาเป็นแอดมินเลยค่ะ

 

เป็นคนที่ชอบทานไวน์ จริงๆ คือชอบทุกชนิดเลย รู้สึกชอบรสชาติ ไม่ได้ทานบ่อย ไม่ได้เมา แต่จะชอบทานกับอาหาร แล้วมีความสุขค่ะ แล้วก็จะมีเพื่อนสนิท ที่เป็นขากิน ชอบทานอาหารด้วยกัน ไปไหนก็จะทานสเต๊กกับเหล้า ไวน์ มีความสุข จนกระทั่งมาตามเพจพี่ตุลย์นานๆ เข้า วันหนึ่งก็รู้สึกว่า ไม่เอาแล้วดีกว่า คือ คิดขึ้นมาเอง แล้วก็เลิกเลย

 

ดังตฤณ : ไม่ใช่คิดขึ้นมาเองนะ ตอนที่คนเรา ที่เขาเรียกว่าเปลี่ยนใจนี่ ใจจะเปลี่ยนจริงๆนะ คือถ้าหากว่าอันนี้เป็นธรรมชาติ คือถ้าหากว่าเราหมกมุ่นหรือว่าเรายังมีทางเลือกแค่อะไรที่เป็นอกุศลนี่ จะคิดได้อยู่บนพื้นฐานของอกุศล

 

แต่ถ้าหากว่า ใจของเราปักหลักอยู่บนพื้นฐานของกุศลมากๆ เข้า จิตที่เปลี่ยนจากความโน้มเอียงไปทางอกุศลนี่ พลิกหงายมาเป็นกุศล วิธีคิดจะเปลี่ยนตามไปด้วย ที่บอกว่าอยู่ๆ คิดขึ้นมาไม่ใช่นะ

 

คือลักษณะของจิตเปลี่ยนไปแล้ว จากสภาพที่เป็นอกุศล มาเป็นกุศล ถึงเปลี่ยนความคิด

 

ความคิด อยู่ๆ เปลี่ยนเองไม่ได้ ต้องมีที่ยืน

 

ผู้ร่วมดำเนินรายการ 2 : เข้าใจแล้วค่ะ รู้สึกตัวเองมีบุญมากเลย เพราะว่าไม่ต้องหักดิบ แต่อยู่ๆ อาจถึงวาระที่จิตเป็นกุศลมากพอ ก็เลิกไปได้เฉยๆ

 

แต่ทีนี้ เพื่อนยังชอบอยู่ แล้วเรารู้สึกว่าธรรมะ ไม่ต้องไปหักหาญน้ำใจกัน เขาชอบ แต่ก็ไม่ได้ขี้เมา ก็เป็นว่าเขากิน แต่เราไม่กิน แต่ในใจก็คิดเรื่อยๆ ว่าเรามาเส้นทางนี้ ก็มีความสุข แล้วรู้สึกว่า อยากจะทานข้าวด้วยกันอย่างมีความสุข โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าทำไมเขาดื่ม แต่เราไม่ดื่ม เลยคิดในใจว่า ขอให้ความสุขที่เราได้ เป็นเหตุให้วันหนึ่ง เขานึกที่จะอยากหยุดมาเองได้

 

แล้วเหมือนเป็นปาฏิหาริย์ วันดีคืนดี หลายปีผ่านไปเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เขากินเหล้าไปครึ่งแก้วก็ปวดหัวแล้ว จากที่เคยชอบมาก ก็ยังชอบอยู่ แต่ทานไม่ได้ ทานแล้วมึน ก็เลยค่อยๆ ลดลงมาเองค่ะ

 

ดังตฤณ : ถ้าเป็นเพื่อนรักกันก็อาจ osmosis นะ ความเป็นศีล หรือว่าความเบาสบายอะไรที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ที่เปลี่ยนไป

 

ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนที่รักกันมาก ผูกพันกันมาก เวลาที่อีกฝ่ายหนึ่งแตกต่างไปจากเดิมนี่ บางทีก็เหมือนกับจะซึมซับเข้ามา แล้วก็ค่อยๆ เกิดความรู้สึกตามไปด้วย

 

อย่างของพี่เอง ตอนวัยรุ่น อยากจะดื่มเหล้า อยากจะลืมเบียร์แบบเพื่อนๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องศาสนานะ แต่ว่าเป็นคนที่ดื่มเหล้าแล้ว มีอาการเมาแล้วเป็นทุกข์

 

คือของคนอื่นนี่ไม่เข้าใจว่า เขาบอกว่าเมาแล้วมีความสุข รู้สึกอย่างไร เพราะอย่างตอนนั้น เราไม่รู้ฤทธิ์ของเหล้า กินเข้าไปแค่ .. ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะแค่แก้วเดียวนี่แหละ แต่ว่าอาจจะกินแบบพรวดพราด กระดกทีเดียวแก้วหนึ่งเต็มๆ เพราะยังไม่รู้ฤทธิ์

 

และตอนนั้นที่มีประสบการณ์เมาเป็นครั้งแรก เหมือนกับเรายังรู้ทุกอย่างนะว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าควบคุมสภาพร่างกายตัวเองไม่ได้ เพื่อนต้องหิ้วไปนอนกลางทุ่ง เพื่อให้สร่างเมา แล้วนอนโดนยุงกัดอยู่ทั้งคืน

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครบอกนะ มีความรู้สึกว่าชาตินี้ไม่เอาอีกแล้ว ที่เขาบอกว่าเมาแล้วมีความสุขกันนี่ ไม่เข้าใจจริงๆ คือไม่เข้าใจไม่ใช่ว่าดัดจริต หรือว่ามีความซาบซึ้งทางศาสนาอะไรทั้งสิ้นนะ

 

แต่เห็นอยู่ชัดๆ ว่า แบบนี้เป็นทุกข์ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนอื่นเห็นความสุขได้อย่างไร ตัวเองนี่ หลังจากไม่กินเหล้ายังจิบเบียร์อยู่ แต่ไม่ถึงกับเมา

 

แล้วแก้วสุดท้ายนี่ จำได้เลยตอนนั้น จำได้ว่าที่กินแก้วสุดท้าย เพราะว่า ใจบอกตัวเองว่า จะกินทำไม กินแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าร่างกายดีขึ้น แต่ร่างกายแย่ลงชัดๆ และอาการมึนเมา อาการที่เราเหมือนสติเลือนไป ไม่ใช่ภาวะที่ดีอะไรเลย

 

แล้วยิ่งมาเห็นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราอย่ากินแล้วเป็นเหตุให้บั่นทอนสติ บั่นทอนความเป็นกุศล รู้สึกจริงๆนะ เห็นเพื่อนๆนี่ แต่ละคนที่ขี้เมานี่ชีวิต ไม่ดีนะ

 

มีอยู่คนหนึ่ง เมาแล้วไปเข้าห้องน้ำผู้หญิง ผู้หญิงเขาก็ตกใจ เขาก็เตือนบอกว่าห้องน้ำหญิงนะคะ ไม่ใช่ห้องน้ำผู้ชาย เขาก็ไปยืนอยู่หน้าห้องน้ำผู้หญิง พอเขาเดินออกมา ก็ไปชกเขา

 

นี่คือฤทธิ์ของเหล้า ตัวเขาเองพอสร่างเมาก็เสียใจ ว่าทำไมทำชั่วร้ายอย่างนั้นนะ 

 

แต่คนที่ติดใจในรสชาติของความเมา หรือรสชาติของความไม่มีสตินี่ จะมีโมหะชนิดหนึ่งพอกหนาขึ้นมา แล้วบอกตัวเองว่า แบบนี้ดีแล้ว ฉันจะทำของฉันเสียอย่าง ใครจะทำไม

 

บางทีถ้าหากว่าเป็นโมหะที่พอกหนาพอ จะไม่สามารถที่ใครจะเจาะผ่านเข้าไปได้ง่ายๆ นะ แต่ของเราสองคน มีประสบการณ์มาแบบนี้ดีนะ คือบอกเล่ามา ทำให้เห็นได้ว่า ด้วยบุญบางอย่างที่มีความสัมพันธ์กับคนบางคน สามารถช่วยให้เขาออกมาจากตรงนั้นได้

 

ซึ่งจริงๆเป็นกรณีที่ค่อนข้างยากนะ แต่ว่าถ้ามีได้ แปลว่า เราก็ภูมิใจนะ ว่าเกิดขึ้นกับเรา

_____________________

คำถาม : มีวิธีไหนที่จะช่วยให้คุณพ่อเลิกดื่มเหล้าได้ไหมคะ? ตอนนี้เวลาทำบุญ จะแผ่บุญให้ท่าน และเทวดาประจำตัวท่านให้ท่านมีใจเอนเอียงมาทางศาสนาค่ะ

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=a42pfVJvs4o

 ** IG **

อยากรู้ว่าเคยก่อกรรมกับใครไว้อย่างไร และขอวิธีตัดกรรม

ดังตฤณ : โอกาสที่จะรู้ว่า เคยผูกกรรมอะไรมากับคนใกล้ตัว

ง่ายๆ เลย ถามตัวเอง อันดับแรก

อย่าไปถามถึงเหตุการณ์ แต่ถามอาการทางใจ

ว่า เรากำลังถูกบีบคั้นหนัก ด้วยความทุกข์แค่ไหน

ระดับความทุกข์นั้น หนีได้ หรือหนีไม่ได้

เลี่ยงได้หรือเลี่ยงไม่ได้

 

เอาแค่นี้ก่อน เอาอาการทางใจก่อน อย่าไปเอาเหตุการณ์

 

ทบทวนนะ อันดับแรก ดูว่าความทุกข์นั้น

เหนียวแน่น หนาแน่นแค่ไหน

เข้มข้นแค่ไหน เบาบาง หรือว่า

บีบคั้นหัวใจแทบเป็นแทบตาย เอาตรงนี้ก่อนข้อแรก

 

อันดับสองคือ เลี่ยงได้ หรือเลี่ยงไม่ได้

 

คำว่าเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า

ต่อให้เราพยายามหลบ พยายามอะไรอย่างไรก็ตาม

พยายามจะดี ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ผ่อนคลาย

แต่ไม่ดีขึ้นเลย หลบเลี่ยงไม่ได้เลย

ต้องเผชิญหน้ากันกับความทุกข์แบบนั้น

บีบคั้นอยู่จริงๆ โดยเราทำอะไรให้ดีขึ้นไปกว่านั้นไม่ได้

 

นี่เรียกว่า เลี่ยงไม่ได้

 

แต่ถ้าเลี่ยงได้ หมายความว่า

เราไม่ต้องอยู่ใกล้ แต่เราก็ยังเอาตัวเข้าไปอยู่ใกล้

เราไม่ต้องคิดถึง แต่เราก็ยังเอาใจเข้าไปคิดถึง

อย่างนี้เรียกว่า เลี่ยงได้แต่ไม่ยอมเลี่ยง

 

ถ้าหาก เราอยากรู้ว่า ต้นเหตุของความทุกข์แบบนี้มาจากไหน

ให้สันนิษฐานไว้ว่า เราเคยไปบีบคั้น

ให้คนเกิดความทุกข์ระดับนั้นขึ้นมา แล้วบีบคั้นในแบบที่ว่า

ให้โอกาสเขาที่จะเลี่ยงได้ หรือเลี่ยงไม่ได้

 

ถ้าหากว่า เราเคยบีบคั้นมาในแบบที่ ไม่เปิดโอกาสให้เขาเลี่ยง

เวลาที่เราจะโดน เราก็โดนแบบที่เลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน

 

ทีนี้ เพื่อที่จะให้หลุดพ้นจากตรงนี้นะครับ ก็คือ

ทำอย่างไรให้ความรู้สึกทางใจของเรา คลี่คลายออกมาก่อน

อย่าเพิ่งไปคลายใจเขา อย่าเพิ่งไปตั้งความหวัง

ว่าจะให้เขามาดีกับเรา หรือว่ามามีท่าทีอย่างนั้นอย่างนี้

อย่าเพิ่งไปตั้งความหวังไว้แบบนั้น

 

เพราะการตั้งความหวังไว้แบบนั้น

เป็นการไปพยายามควบคุมเขา

พยายามที่จะทำให้อนัตตาภายนอก เป็นดังใจเรา

ทั้งๆ ที่ขนาดอนัตตาภายใน คือกายคือใจของเรา

เรายังทำให้เป็นไปอย่างใจของเราตลอด ไม่ได้เลย

 

เราอยากไปทำให้อนัตตาภายนอก คือคนอื่น มาเป็นอย่างใจเรา

นั่นเป็นความคาดหวังที่เกินตัว ผิดวิสัย

 

ถ้าหากว่าเรามองด้วยความเชื่อแบบนี้ว่า

การเจริญสติ ให้กับตัวเอง ทำให้ใจตัวเองคลายลงได้

วางลงได้ ทุกข์น้อยลงได้ มีความเบา ใจของเรามีความเบาลงได้

 

เราตั้งความเชื่อไว้ว่า ด้วยใจที่เบาลงแบบนี้

จะสามารถช่วยผ่อนคลาย หรือว่าคลี่คลายปมกรรม

ที่ทำมากับเขาได้เช่นกัน

 

เพราะว่าหลักการของการให้ผล กับคู่เวร

ที่เคยทำอะไรไม่ดีต่อกันมาก็คือว่า

ถ้าหากเปรียบเทียบ คนหนึ่งเป็นขั้วหนึ่ง อีกคนเป็นอีกขั้วหนึ่ง

แล้วมีเชือกคือ เวร มาขึงให้ตึงอยู่ แน่นหนา

ต่างฝ่ายต่างอยู่ในอาการที่เรียกว่า ทำให้เส้นนั้น ตึง เครียด

อยู่ในจุดเดิมของตัวเอง ก็จะเครียดอยู่อย่างนั้น ตึงอยู่อย่างนั้น

 

แต่ถ้าหากว่า มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้หย่อนลงได้

เปลี่ยนจุด เปลี่ยนตำแหน่งของตัวเอง วางลง

อาจทำให้ใจเรา ทิฏฐิมานะเรา เตี้ยลง

หรือความคาดหวังในตัวเราน้อยลง .. เชือกก็หย่อนได้

 

นี่แหละ พูดง่ายๆ ทำที่ตัวเรา

ให้เปลี่ยนจุด เปลี่ยนตำแหน่ง ลดระดับความตึง ความเครียดลง

ทำใจให้มีธรรมะ แล้วทำใจให้เบาลงได้

 

ไม่ได้ทำด้วยศีลแปดนะ ทำด้วยการเจริญสติ

ทำด้วยการเห็นว่าใจของเราไม่เที่ยง

 

พอใจรู้ว่าภาวะของตัวเองไม่เที่ยง ก็จะเลิกยึดมั่นถือมั่น

ว่านี่เป็นตัวของเรา เป็นตนของเรา

เกิดปัญญาขึ้นมาทันที ก็เบาลงทันทีเช่นกัน

 

ส่วนการถือศีล คือการควบคุมตัวเอง บังคับตัวเอง

ไม่ให้ทำอะไรตามใจชอบ

ตรงนั้นอาจดีตรงที่ ทำให้ใจของเราพร้อมจะเป็นสมาธิ

แต่ไม่ได้ช่วยให้ใจของเราเบาลงทันที

เหมือนกับการเจริญสติอย่างถูกวิธีนะครับ

________________

คำถาม : ปฏิบัติธรรมถือศีล ๘ ที่บ้าน รู้สึกเหมือนมีกรรมพัวพันกับบางคนหนักหน่วง พยายามแผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้เขาทุกครั้ง ทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าเราทำกรรมอะไรกับเขาไว้ และจะมีวิธีลด ตัดกรรมนั้นให้หมดสิ้นไปในชาตินี้ไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีใช้เงินบริจาคของบูรณพุทธ

วันที่ 24 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=K4eC9iEywjo