วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

ทราบได้อย่างไรว่าช่วงไหนควรโฟกัสที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม

ผู้ร่วมรายการ : พูดถึงสติปัฏฐาน ๔ เราจะทราบได้อย่างไรว่าในช่วงไหนของการปฏิบัติที่เราควรจะโฟกัสที่ฐานกาย เวทนา หรือจิต หรือธรรมครับ

ดังตฤณ : เวลาเราศึกษาแผนที่การเจริญสติ เรามีฐานที่ตั้งของสติเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม อันนี้เรียกว่าเป็นคอนเซป (concept) เป็นเบสิก (basic) นะครับ ทีนี้พอมันเยอะมีทั้งกาย กายมีแยกออกไปอีก ลมหายใจ สภาวะทางอิริยาบถ หรือว่าเวทนาเดี๋ยวเป็นสุขบ้าง เดี๋ยวเป็นทุกข์บ้าง หรือบางทีสภาวะจิตสงบบ้างฟุ้งซ่านบ้าง จิตมีราคะ ไม่มีราคะ จิตมีโทสะ ไม่มีโทสะ เนี่ยมันเยอะเหลือเกิน จนกระทั่งพอไปศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน ๔ แล้วเนี่ย บางคนมองว่าเป็นอะไรที่เยอะเกินไป บางทีไปว่าพระพุทธเจ้าอีกบอกว่า สอนธรรมะนี่มันน่าจะง่ายนะ ที่ตัวผมเคยได้ยินมาบ่อยที่สุดคนสมัยนี้ชอบพูดว่า ธรรมแท้ๆเนี่ยต้องเรียบง่ายต้องไม่มีอะไร ต้องทำง่ายๆ ทำได้แบบสบายๆ อะไรแบบนี้ เนี่ยตรงนี้นะครับพอที่ทำไปสบายๆโดยไม่เข้าใจไว้ก่อน พอไปถึงจุดนึงมันตัน แล้วก็ไปต่อไม่ถูก

ทีนี้พอเราเกิดความสงสัยแล้วก็เป็นความสงสัยที่ดี เป็นความสงสัยบนพื้นฐานของทฤษฎี การเจริญสติมีทั้งฐาน คือกาย มีทั้งเวทนา มีทั้งจิต มีทั้งธรรม เราควรจะน้อมเข้ามารู้อันไหนก่อน เราควรจะตัดสินได้ยังไงว่า ณ นาทีนี้เวลานี้เลยเราควรรู้อะไรก่อน

อย่างเวลาทีผมจะตอบคำถามตัวเองนะ ตอนที่ผมพยายามหาคำตอบให้ตัวเอง ผมสังเกตได้อย่างนึงว่า ตอนที่เราจับจุดไม่ถูกว่าตอนนี้ควรจะรู้อะไร มันเป็นตอนที่เรานึกถึงทฤษฎีมากเกินไป เรานึกถึงว่ามีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม มันนึกเป็นขั้นๆ

แล้วอีกอันนึงที่ทำให้เกิดอาการแส่ส่าย เกิดอาการไม่ปักแน่วเข้าไปรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือ เราหลงอยู่กับความฟุ้งซ่าน

ซึ่งกว่าจะจับจุดนี้ได้นะ ใช้เวลา คือมันต้องมีการพยายามสังเกตตัวเอง ยอมรับตัวเอง บางทีเนี่ยศึกษาแนวทางที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ซ้ำๆ จนกระทั่งมันถึงจุดนึงที่ภาวะทางใจของเรามีเพียงพอที่จะจูนติดกับธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้ มันได้เห็นข้อนึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้บอกว่า ความฟุ้งซ่านก็ดี ความลังเลสงสัยก็ดี เป็นนิวรณ์เป็นเครื่องถ่วงสติ ณ จุดเกิดเหตุ ณ จุดเกิดนิวรณ์ สิ่งที่เราต้องทำนะครับมีอยู่ ๒ อย่าง

อันดับที่ ๑ คือเห็นความไม่เหมือนเดิมของมัน เห็นความไม่เที่ยง มันพร้อมจะไม่เหมือนเดิมได้ในแต่ละลมหายใจ ลมหายในนี้สงสัย ลมหายใจหน้าอาจจะเลิกสงสัยแล้วก็ได้ ความสงสัยอาจจะหายไปจากจิตแล้วก็ได้ นี่คืออันดับแรกที่พระพุทธเจ้าให้ดูนิวรณ์ให้จัดการกับนิวรณ์

อันดับที่ ๒ บอกว่า ถ้าหากพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงแล้วไม่หายไป ก็ให้พิจารณาหาสาเหตุว่าทำไมมันถึงสงสัย ทำไมมันถึงฟุ้งซ่าน

อย่างในกรณีนี้ตัวสาเหตุคือเราจับจุดไม่ถูกว่า วินาทีหนึ่งๆวินาทีนั้นๆเนีย เราควรจะรู้อะไรก่อนในภาวะที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าหากเราไม่ทำความเข้าใจไว้ดีๆ มันก็จะติด มันก็จะข้อง จะสงสัยต่อไปเรื่อยๆ นี่คือต้นเหตุของนิวรณ์ที่เราพิจารณาเห็น

ทีนี้วิธีที่จะกำจัดนิวรณ์ทำยังไง ด้วยการโยนิโสมนสิการเนี่ยนะครับ เราก็โยนิโสด้วยการมองว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ให้พิจารณาทีเดียว แต่ให้พิจารณาภาวะที่กำลังปรากฏเด่นอยู่ ณ ขณะนั้น

อย่างเช่นอันนี้ที่มันชัดเจนเลยก็คือ เวลาที่เราเกิดความสงสัย สิ่งที่กำลังปรากฏเด่นที่สุดก็คือความสงสัยนี่แหละ ตัวนิวรณ์นั่นแหละคือภาวะที่มันกำลังปรากฏเด่นโดยไม่ต้องค้นหา

ทีนี้เราดูนิวรณ์ยังไง?

หลักการของเราเนี่ย คือแต่ละคนก็จะคิดเอา แต่วิธีที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ ถ้าหากใครทำมาเป็นขั้นเป็นตอนจะเห็นเลยว่า พระพุทธเจ้าให้จับหลักจับจุดมีศูนย์กลางของสติอยู่ที่อานาปานสติ คือเห็นให้ได้ว่า ณ ขณะที่กำลังหายใจเข้าหายใจออกนั้น มีความสงสัยอยู่มากหรือน้อย ถ้าสงสัยมากมันจะวนมาก ถ้าสงสัยน้อยมันจะลอยแผ่วๆเหมือนกับสายหมอกที่พยายามจะเคลือบจิตเรา นาทีนั้นเราจะได้คำตอบ ผมได้คำตอบจากตรงนี้

โดยส่วนตัวผมเคยผ่านคำถามนี้มาแล้ว แล้วก็ได้คำตอบจากจุดที่มันคลิก ณ จุดนั้นเลย ผมยังจำโมเมนท์ (moment) นั้นได้นะครับ คือมันมีความสงสัยว่า เอ๊ะ! ตอนนี้จะดูอะไรก่อน แล้วมันฉุกใจคิดถามตัวเองขึ้นมาว่า ตอนนี้ภาวะอะไรกำลังเด่นก่อน ก็คือภาวะคิดวน ภาวะฟุ้งซ่าน ก็ดูอันนั้นสิ ดูตัวที่เป็นความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านอยู่ในหมวดไหน อยู่ในหมวดจิตตานุปัสสนา จิตไม่สงบจิตฟุ้งซ่านอยู่ในหมวดจิตตานุปัสสนา อันนี้เราได้ใช้ประโยชน์จากฐานความรู้ทางทฤษฎีว่า อันนี้มีที่มาที่ไปมีปรากฏอยู่ในขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าสอนเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆเราคิดขึ้นมาเอง แต่มันตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เนี่ยมันก็เลยหายสงสัย

แล้วจากนั้นพอเหมือนกับอยู่ในอารมณ์วกวน อยู่ในอารมณ์แบบไปดูหนังมา ไปฟังเพื่อนเขาเมาท์มา กำลังมึนกับชาวโลก แล้วกลับมาถามตัวเองว่า ภาวะทางกายภาวะทางใจหายไปไหนแล้ว ดูไม่ออกแล้วดูไม่ถูกแล้ว มันก็จะเข้ามาสู่จุดคลิกจุดที่ผ่านมาแล้วนั่นแหละ ถามตัวเองว่าภาวะอะไรกำลังปรากฏเด่นอยู่ พบคำตอบว่า ก็ภาวะมึนไง ภาวะกำลังฟุ้งซ่านไง ภาวะที่กำลังจับอะไรไม่ติดไง ภาวะนั้นแหละที่กำลังปรากฏเด่น แล้วเราก็จะได้เอามาเทียบเคียงว่า ที่กำลังหายใจอยู่เนี่ย ฝึกอานาปานสติมาอย่างถูกต้องเนี่ย ที่กำลังหายใจอยู่ ณ ขณะนี้ มันกำลังหายใจเข้าออกอยู่ด้วยความฟุ้งซ่านมากแค่ไหน จะมึนแค่ไหนก็ตาม จะรู้สึกจิตมวนม้วนต้วนแค่ไหนก็ตาม ให้ยอมรับไปตามจริง เพราะมันกำลังเป็นภาวะที่กำลังปรากฏอยู่จริงๆ เราไม่ต้องไปหาที่ไหน มันปรากฏอยู่อย่างนั้นแหละ

ต่อๆมาผมก็พบว่าพอรู้อย่างนี้ รู้โดยเทียบว่าลมหายใจนึงกับอีกลมหายใจนึงมันมวนมากน้อยเพียงใดต่างกันยังไง มันได้ผลทุกครั้งไม่กลับมาสงสัยอีกเลยว่า ตอนนี้เราควรดูกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม เพราะภาวะฟุ้งซ่านภาวะที่มันเป็นนิวรณ์ ภาวะที่มันสงสัยตรงนั้นเนี่ยนะ มันเป็นภาวะที่ไม่ดี ขนาดภาวะที่ไม่ดีเรายังดูได้เนี่ย ไอ้ที่ภาวะดี ภาวะที่เป็นสมาธิ ภาวะที่จิตมันคิดเป็นกุศล ภาวะที่จิตมีสติตั้งมั่น มันก็ดูได้หมด มันยิ่งดูได้ง่ายขึ้น ถ้าผ่านการดูของไม่ดีมาได้แล้ว ของที่ดีมันจะยิ่งดูได้ง่ายขึ้น 

..............................................................................

๖ มีนาคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอนไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค

คำถามเฟสบุค : ในสติปัฏฐาน๔ เราจะทราบได้อย่างไรว่าในโมเมนต์ไหนที่เราควรโฟกัสฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม?
คำถามยูทูบ    : ทราบได้อย่างไรว่าช่วงไหนควรโฟกัสที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม

ระยะเวลาคลิป  ๙.๓๓    นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=cI8N7tTqad0&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=13

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น