วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

หงุดหงิด คุมตัวเองไม่ได้ ชอบเหวี่ยงใส่คนอื่น

ผู้ถาม : คือ ช่วงเวลาประมาณ 2-ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถนั่งสมาธิหรือสวดมนต์อะไรได้เลย ด้วยเหตุบางอย่าง

ระยะที่ผ่านมานี่ประมาณ 10 วันค่ะ เริ่มมาสวดมนต์ทำวัตรเช้าได้

แต่ว่าไม่สามารถที่จะนั่งสมาธิต่อไปได้นะคะ ก็ใช้วิธีให้นิ่งสัก 5 นาที 10 นาที พยายามค่อยๆเพิ่มไป

 

แต่ว่าระยะหลังมา 2-3 วันนี้ เกิดมีอาการ .. ความรู้สึกเหมือน หงุดหงิดงุ่นง่าน ใจแบบฟุ้ง แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนหนูถีบจักรค่ะ

ใจกระวนกระวายตลอดเวลา การพูดจาอะไรก็ตามเหมือนกับว่าเราต้องการที่จะใส่อารมณ์ลงไป รับรู้ได้เลยค่ะว่า เราใส่อารมณ์ เหมือนคนหงุดหงิด เหมือนเหวี่ยงอะไรแบบนี้

 

ซึ่งตอนที่เข้ามาแล้วก็ยกมือ ก็มีอารมณ์ตรงนั้นอยู่มากเลยนะคะ คือพลุ่งพล่านมาก เเล้วไม่สามารถที่จะสะกดได้ ถึงแม้ว่า จะใช้วิธีดูไปเรื่อยๆตามที่เคยได้รับการสอนมา ก็ไม่สามารถทำอะไรเลย

 

แต่ว่าระหว่างที่รอฟังมาถึงตรงนี้ ก็เย็นลงค่ะ อาจจะเป็นเพราะว่าลองฟังคนที่เขาถาม แล้วลองทำตามไปด้วยคะ ก็เย็นลงเย็นลงไปเรื่อยๆ

 

แต่ทีนี้อยากถามว่า ถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สิ่งที่กลัวก็คือ พอใจฟุ้งหงุดหงิดงุ่นง่านแล้ว สิ่งที่กลัวคือการทำบาปด้วยวาจา

 

คือการที่เราจะใช้วาจาที่จะไปทำร้ายจิตใจใคร คือแบบเราพูด อย่างแค่คุยกับเพื่อนค่ะ เพื่อนยังสัมผัสได้ว่าเป็นอะไร ทำไมเหมือนแบบเราใส่อารมณ์ใส่เขาอะไรอย่างนี้ แต่ว่าเราก็บอกเขาไปตามตรงว่า เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เรารู้สึกว่าเราหงุดหงิดมาก แล้วคอนโทรลตัวเองไม่ได้ อยากที่จะแสดงกิริยาก้าวร้าวให้เขาได้เห็น

 

ตอนนี้คูลดาวน์ (เย็นลง) ไปแล้ว แต่ถ้าเป็นอย่างนี้อีก ควรจะทำอย่างไรดี เพราะใช้วิธีดูตามไป หรือปล่อยไป ก็เอาไม่อยู่ค่ะ 

 

ดังตฤณ : ก่อนอื่น ต้องมองอย่างนี้ว่า

เรื่องการปฏิบัติ เรื่องการเจริญสติ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนวิธี

ที่เราจะมองอารมณ์ หรือว่ามองตัวตน หรือว่ามองสภาพทางกาย 

จากเดิมที่ รู้สึกว่าเป็นตัวของเราแน่ๆ

ให้กลายเป็นตัวที่ไม่เที่ยง ที่ทนอยู่ไม่ได้ในสภาพเดิม

นี่คือวิถีของการเจริญสติ

 

แต่ที่คุณถามมา เป็นเรื่องของนิสัยทางอารมณ์

ความเคยชิน ที่เราจะเหมือนกับเจ้าอารมณ์ หรือหงุดหงิดงุ่นง่าน

หรือว่าระบายออกซึ่งโทสะ ในรูปแบบ ในสไตล์ของเรา

 

ถ้าหากว่าเราจะอาศัยการเจริญสติ มาช่วยในการเปลี่ยนสไตล์

เปลี่ยนสไตล์ชีวิต เปลี่ยนสไตล์ของนิสัยข้างในของเรา

เราต้องเริ่มต้นมองอย่างนี้ก่อนว่า 

โทสะ ไม่ว่าเราจะฝึกอะไรมาก็ตาม 

ไม่ว่าเราจะฝึกมานานแค่ไหน ใช้วิธีใดก็ตาม

ในที่สุดแล้ว ก็ยังมีอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ 

 

คือเราต้องมองเห็นภาพก่อน .

โทสะ จะยังไม่ไปไหน ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้บรรลุอนาคามิผล 

 

เราเป็นพระอนาคามีแล้วอย่างนั้น โทสะค่อยถึงไม่เกิด

พ้นจากนั้น ต่ำลงมาเป็นพระสกทาคามี หรือเป็นพระโสดาบันก็ตาม

หรือเป็นผู้ฝึกปฏิบัติมา จะนานแค่ไหน กี่สิบ กี่ร้อยปีก็ตาม

ในที่สุดแล้ว โทสะก็อยู่ตรงนั้นแหละ จะมีสไตล์ตามความเคยชินที่เราสะสมมา 

 

เส้นทางการสะสมโทสะ ในสไตล์ของแต่ละคน

ไม่ใช่แค่เริ่มต้นในชาตินี้ชาติเดียว แต่เริ่มต้นมานานมากแล้ว

อยู่ๆ เราจะมาบอกว่า ทำอย่างไรถึงจะควบคุมตัวเอง ไม่ให้มีโทสะอีกเลย หรือไม่ให้หลงไปตามโทสะ

 

เท่ากับเราตั้งคำถามว่า ทำอย่างไร ผม หรือดิฉัน จะบรรลุอนาคามิผล

 

อย่างที่บอก พระอนาคามีเท่านั้น ถึงจะละโทสะได้ ไม่ว่าจะเคยมีสไตล์โทสะมาแบบไหน จะไปจบลงที่การเป็นพระอนาคามี

แต่ล่างลงมาจากนั้นยังไม่จบ นี่คือภาพแรกที่เราต้องมองให้ได้ก่อน 

 

ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจว่า เวลาที่เราว่างเว้นจากการเจริญสติ

หรือจากการสนใจธรรมะ 

มีอาการของขึ้น มีอาการแบบตามใจตัวเองแบบเดิมๆ

หรือว่ามีอาการที่เราเข้าโหมด ที่จะใช้โทสะตามสไตล์ ที่เราเคยชินมา

 

เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเรา ที่เราต้องเห็นว่า

คนเรานี่ เป็นแบบนี้แหละ 

 

พอว่างเว้นจากธรรมะ พอว่างเว้นจากการเจริญสติ ว่างเว้นจากการทำสมาธิว่างเว้นจากความใส่ใจ ในทางที่จะละลดกิเลส

กิเลสจะกลับมาเท่าเดิม หรือว่ายิ่งกว่าเดิม 

 

นี่ภาพที่ สอง ที่อยากให้มองให้เห็น

 

ภาพที่ สาม คือ เราตั้งข้อสงสัย เราตั้งคำถาม ตั้งโจทย์กับตัวเองว่า

ทำอย่างไรจะไม่เกิดขึ้นอีก เราจะไม่ตามใจตัวเอง

เราจะไม่เข้าสู่สไตล์โทสะแบบเดิมๆ ที่เราเคยชิน ที่เราสะสมมา

 

ตัวนี้สำคัญ คือคนเรามาตั้งคำถาม หลังจากที่เราตามใจตัวเองไปแล้ว

หรือปล่อยใจไปแล้ว แล้วเกิดความเคยชินที่สะสมไปแล้ว

 

ทีนี้ ที่ถูกต้อง คือต้องไม่มองอดีต แต่มองปัจจุบัน แล้วก็มองอนาคต

อย่างอดีตนี่ เราอาจจะมองว่า เอาอีกแล้วเข้าโหมดเดิม เอาแต่ใจ

แล้วก็ควบคุมตัวเองไม่ได้

 

เสร็จแล้วเราก็จะกลุ้มใจ แล้วก็ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่เป็นอย่างนั้นอีก 

 

พอเกิดสถานการณ์จริง เข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริง ก็จะลืมคำถามนี้

จะเข้าโหมดเดิม โหมดเคยชินที่จะทำอะไรอย่างใจ

โหมดเคยชิน ที่จะเป็นไปตามสไตล์โทสะแบบของเรา

ที่เรา ... พูดง่ายๆ นะ กิเลสสั่งให้หวงไว้

 

กิเลสสั่งให้รักษาสไตล์นั้นไว้ กิเลสจะสั่งให้เราพอใจ

ที่จะได้มีโทสะในรูปแบบเดิมๆ

 

ทีนี้ เราตั้งโจทย์ใหม่ เราตั้งมุมมองใหม่

เราไม่เอาทั้งอดีต ไม่เอาทั้งอนาคต เอาปัจจุบันอย่างเดียว 

 

ตัดทิ้งให้หมดเลยนะ เรื่องความกังวลว่าต่อไปถ้าเกิดขึ้นอีก จะเป็นอย่างไร

เอาปัจจุบันนี่ว่าใจของ เรานี่มีความพอใจ 

ลองสังเกต อันนี้ต้องสังเกตจริงๆ ถึงจะเห็นนะ

เรามีความพอใจในสไตล์โทสะของตัวเองหรือเปล่า

 

ถ้ามีความพอใจ ย้อนนึกไปนะ ตอนที่เกิดขึ้น จะมีความรู้สึกว่า

อย่างนี้ดีแล้ว ชอบแล้ว อย่างนี้ใช่แล้วที่เป็นตัวเรา

 

พอหลุดออกมาจากตรงนั้น ถึงค่อยมาเสียใจ

หรือนึกขึ้นมาได้ว่าทำอย่างไร จะละแบบนั้นออกไปได้ 

 

ผู้ถาม : ไม่รู้สึกดีเลยค่ะ ไม่รู้สึกดีตั้งแต่ตอนที่จะเปล่งวาจาออกไปแล้ว

แต่เหมือนกับคอนโทรล (ควบคุมตัวเอง) ไม่ได้จริงๆ ค่ะ

 

ดังตฤณ : ที่คอนโทรลไม่ได้ คืออย่างนี้นะ

คนจะมีสองภาค ภาคของคุณ ที่พยายามเจริญสติ พยายามปฏิบัติธรรม

นี่จะเป็นภาคหนึ่ง ที่รองพื้น บอกว่าเราจะเอาอย่างนี้ เราอยากได้ตัวนี้

นี่คือความใฝ่ดี

 

แต่ตัวที่มีความเคยชิน อยู่กับโทสะในรูปแบบเดิมตัวนั้น

เป็นอีกตัวหนึ่งต่างหาก มีความพอใจของอยู่ต่างหาก

 

ถ้าเราไม่มีความพอใจตรงนั้นแล้ว ไม่มีภาคของความพอใจในโทสะแล้ว

โทสะแบบเดิมๆ สไตล์เดิมๆ จะไม่มีทางได้ที่เกิด

 

ตอนนี้ เรามีอยู่สองภาค ภาคหนึ่ง จะพอใจที่จะเป็นผู้เจริญสติ

อีกภาคหนึ่ง ยังพอใจที่จะได้มีกิเลสแบบเดิมๆ อยู่

 

อันนี้ไม่เกี่ยวกับความคิดแล้วนะ แต่เกี่ยวกับใจ

ใจแบบที่เป็นรากเหง้าของความรู้สึกในตัวตนนี่

 

ความรู้สึกในตัวตน เป็นสิ่งซับซ้อน

แล้วก่อตัวขึ้นมาจากความพอใจเสมอ 

 

ตัวตนอะไรก็แล้วแต่ ที่ตั้งมั่นอยู่ในเราได้

ตัวตนนั้นจะถูกรักษาถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความพอใจเสมอ

ถึงแม้ว่า ภาคหนึ่ง ที่เราอยากเป็นผู้ปฏิบัติ บอกว่าไม่พอใจแล้ว

แล้วก็ไม่รู้สึกดีเลย กับตอนที่เกิดโทสะขึ้นมา 

 

แต่คุณลองย้อนกลับไปสังเกตใหม่ ดีๆ นะว่า

ตัวที่ปล่อยให้โทสะ ผุดขึ้นมา โพล่งขึ้นมา หรือโผล่ตัวขึ้นมานี่

มีความเคยชินแบบเดิมๆ ที่เป็นตัวปล่อยออกมา

ที่อาศัยช่องทางตัวตนแบบเดิมๆ นั้น ที่จะได้ที่เกิด

 

ถามว่าตัวตนแบบนั้น อยู่ได้อย่างไร

ต้องมีความพอใจเป็นตัวรักษาไว้ ซึ่งความพอใจนั้น จะอยู่ลึกลงไป

ล่างลงไปกว่าระดับความคิด

 

ระดับความคิดเราบอกว่า อันนี้ไม่ดี

คุณบอกว่า ณ เวลาที่เกิดขึ้น คุณไม่พอใจแล้ว แต่ลึกๆ ที่แท้แล้ว

รากเหง้าของความรู้สึกในตัว แบบเดิมๆ

ที่ยังมีความพอใจตัวเดิมอยู่นี่ ยังคงอยู่ ยังไม่ไปไหน

จนกว่าเราจะได้เป็นพระอนาคามี

ตรงนั้น คือจิตจะไม่รับการกระทบแล้ว

จะไม่มีการขัดเคืองเกิดขึ้นในจิตเลย

 

แต่นี่จิตของเรายังขัดเคืองได้

เพราะฉะนั้น จะยังสามารถที่จะดึงตัวตนเก่าๆ

ความเคยชินเก่าๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา

 

ขอให้มองตรงนี้ว่า ยังมีความพอใจแบบเดิมๆ

โดยที่ ก็อาจขัดแย้งกับความพอใจแบบใหม่

ในภาพของผู้ปฏิบัติธรรมของเรา

 

ทีนี้ ในปัจจุบัน คุณมองอย่างนี้

ความพอใจที่แท้จริงของเรา เราอยากจะเลิกมีโทสะแบบเดิมๆ แล้ว

นี่คือ ณ ขณะจิตแบบนี้ ที่เรากำลังไม่มีเหตุการณ์เข้ามากระทบ

ใจเราจะเป็นแบบนี้อยู่

 

ทีนี้เรามองว่า ใจแบบนี้ของเรา ยังสามารถขัดเคืองได้

ยังสามารถ .. พูดง่ายๆ พ้นความต้องการของเราไป

ขัดเคืองขึ้นเอง เหมือนไม้แห้ง ที่พร้อมจะสีกันแล้วเกิดไฟ

นี่เป็นเรื่องธรรมชาติที่ยังมีอยู่

 

พอเรามองแบบนี้ปุ๊บ เราจะเลิกคาดหวัง หรือว่า เลิกไปตั้งโจทย์ที่เกินตัว

 

อย่างผมเอง ก็ไม่ตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ

เพราะเป็นไปไม่ได้ ยังโกรธอยู่ ยังพอใจที่จะโกรธอยู่

ยังมีภาคของความพอใจที่จะโกรธ ที่จะปล่อยให้ตัวเองเป็นไปตามอารมณ์

 

ทีนี้ เวลาที่พอไม่ปกติแล้ว มีสิ่งกระทบปังเข้ามา

เราดูตัวเอง ณ ขณะนั้น อย่าไปกังวลอดีต อย่าไปกังวลอนาคต

เอาแค่ตรงนั้นว่า ใจของเรา ยังพอใจที่จะให้เกิดขึ้นเหมือนเดิม

หรือว่ามีความพอใจที่จะมีสติ ที่จะเห็นความขัดเคือง ปรากฏ แล้วก็หายไป

 

 

ถ้ามีความพอใจที่จะเห็นว่า ขัดเคือง แล้วเดี๋ยวก็หายไป

นั่นเรียกว่า เรากำลังอยู่ในภาคของผู้เจริญสติ

ก็รู้ไปตามจริงว่า ตรงนั้น เรามีสติ สติของเราเจริญขึ้น

 

แต่ถ้าหากว่า เราแพ้ ... มีความรู้สึกขัดเคืองขึ้นมา

แล้วอยากระบายโทสะ อยากจะออกงิ้ว เต้นงิ้ว เต้นแร้งเต้นกาขึ้นมา

ก็ยอมรับไปว่าตรงนั้น สติ กำลังยังอ่อน แล้วโทสะ ก็หลุดออกไป

ตรงนี้จะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง

 

คือที่พูดมาทั้งหมด เพื่อที่จะบอกว่า นักเจริญสติ จำนวนไม่น้อยเลย

เอาเป็นว่า ขอพูดว่า 99% ก็แล้วกัน มีความขัดแย้งกับตัวเองขึ้นมาเพราะอย่างนี้

 

ไปตั้งโจทย์ว่า เราไม่พอใจที่มีตัวตนแบบขัดเคืองง่าย แล้วก็ระบายใส่ไม่ยั้งอะไรแบบนี้

เราไม่พอใจแล้ว แต่ทำไมเราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

ตรงนี้กลายเป็นความขัดแย้ง แล้วความขัดแย้งทางใจนี้

เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้เราไม่พอใจตัวเอง

 

พูดง่ายๆ นะ มีความโกรธกับสิ่งกระทบไม่พอ

ยังเพิ่มโทสะไม่พอใจตัวเองเข้าไปอีก

 

เห็นไหม หลายซ้ำหลายซ้อน

 

แต่ถ้าเราแค่ยอมรับตามจริงว่า

ตอนนั้นสติเราแพ้ สติเรายังอ่อน ก็จบ ก็เอาใหม่

ในครั้งต่อไปนี่ เราก็แค่ดูว่า เราจะมีสติที่มีกำลังเหนือกว่าโทสะไหม

ก็จบ แล้วจะไม่มีอะไรตกค้างอยู่ในใจ

ไม่มีความเก็บกด ไม่มีความอัดอั้น ไม่มีความรู้สึกว่า .. ภาพเราไม่ดี

 

จะเป็นการปฏิบัติธรรม แบบไม่มีภาพตัวตน ของผู้ปฏิบัติเข้ามาเกี่ยวข้อง

แล้วก็ จะไม่มองเรื่องความคืบหน้า ความถอยหลัง ว่า

เราไม่ได้ปฏิบัติมาพักหนึ่ง กลายมาเป็นคนแบบเดิม

ฉันไม่อยากเป็นคนแบบนี้ 

 

ตรงนั้นจะหายไป จะเป็นอะไรที่สมูท (smooth) ขึ้น คือเปิดช่องให้สติ ยอมรับตามจริงได้ว่า

ภาวะที่เป็นกายเป็นใจ ณ ขณะหนึ่งๆ นี่ มีสติเด่นนำ

หรือว่ามี ราคะ โทสะ โมหะเด่นนำ .. มีอยู่แค่นี้เอง  

 

ผู้ถาม : ที่อยากจะขอคำปรึกษาคือ ช่วงนี้จะเป็นภาวะที่บอกว่า เหมือนหนูติดจั่น ฟุ้งอย่างรุนแรงค่ะ คือเราพยายามดูนะคะ พยายามดู ดูไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่ได้รับคำสอนมา ว่าดูและก็อยู่กับปัจจุบัน

สิ่งที่อยากจะหลีกเลี่ยงคือ การพบปะผู้คน หรือไม่โทรคุย แต่ถ้าโทรคุยกับใครก็ตาม สิ่งหนึ่งเราจะบอกกับเขาไว้ก่อนเลยว่า ตอนนี้เราจะมีสภาวะของการเหวี่ยงนะ ทำใจหน่อยนะ ถ้าเผลอพูดไปแล้วเราคอนโทรลตัวเองไม่ได้ ถ้าเหวี่ยงไป ขอโทษด้วยนะ

 

คือจะรู้สติแบบเหมือนคนมึนๆ รู้ตัวเองบ้างไม่รู้ตัวเองบ้าง

 

เลยอยากปรึกษาว่า ถ้าเกิดมีอาการฟุ้ง คือก่อนที่จะยกมือถาม ฟุ้งมาก เหมือนหนูถีบจักร แต่ระหว่างฟังไป ก็คูลดาวน์ลง แล้วถ้าเกิดแบบนี้อีก ควรจะทำอย่างไรดี

 

ดังตฤณ : ตอนที่คูลดาวน์ลง ตอนที่เย็นลง เหตุผลเพราะว่า

ฟังธรรมะ แล้วธรรมะ ปรุงแต่งจิต

ให้เราลืมภาวะที่เคว้งคว้าง ลอยอยู่ในอากาศเฉยๆ

 

พูดง่ายๆ ว่าจิตมีที่ตั้ง มีที่ยึด จิตมีที่ให้ยืนของสติ

 

การที่เรามีที่ยืนของสติ ไม่ว่าจะด้วยการฟังธรรม

ไม่ว่าจะด้วยการสวดมนต์ ไม่ว่าจะด้วยการฝึก ที่จะเข้ามารู้ลมหายใจ

เข้ามารู้ความเป็นกาย เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ ทำให้จิตของเรา เปลี่ยน

 

 

ปรับเปลี่ยนจากสภาวะฟุ้งไป ให้เข้ามาอยู่ มีที่ยืน อยู่ตรงใดตรงหนึ่ง 

 

คำว่าที่ยืนนี่ ก็คือสิ่งที่จิตเข้าไปตั้งอยู่นั่นแหละ

จะตั้งอยู่กับการฟังธรรมะก็ตาม จะตั้งอยู่กับการสวดมนต์ก็ตาม

จะตั้งอยู่กับการดูลมหายใจก็ตาม

นี่คือธรรมชาติของจิต ที่เราต้องเข้าใจ

 

คำถามของคุณ เหมือนกับมองไม่เห็นภาพตรงนี้

มองเห็นแต่ว่า มีอุบายอย่างไร ที่จะใช้ได้ครอบจักรวาล

เวลาที่เรากำลังฟุ้งซ่าน เวลาที่ใจของเราดิ้น

ทำอย่างไร มีอุบายชนิดไหนที่จะทำให้ใจ เลิกดิ้น

หันมาอยู่กับความสงบ หันมาอยู่กับความมีสติ หันมาอยู่กับธรรมะ

 

ตรงนั้น คือจะบอกว่า ไม่มีอุบายแบบจำเพาะตายตัว อย่างใดอย่างนึ่ง

การปรุงแต่งของจิต ขึ้นกับว่าเราจะเอาใจของเราไปผูกอยู่กับอะไร

ภาวะที่เป็นกุศล หรืออกุศล

 

แม้แต่การที่ปล่อยใจให้ล่องลอยอยู่ ไปเรื่อยๆ

หรือแม้แต่ว่าเราเก็บตัว ไม่พูดไม่จากับใคร ปิดวาจา

แต่ว่าจิตนี่ ไม่หาที่ตั้งอันเป็นกุศล

 

แล้วก็บางคนนะ คือหมกมุ่นอยู่กับการค้นหา

ว่าฉันจะเอาอุบายอะไร มาระงับจิตระงับใจให้ได้ตลอดไป

ซึ่งอุบายแบบนั้น ไม่มี 

 

มีแต่ว่า ให้เรารู้ ให้เราเข้าใจว่า ถ้าจิตผูกอยู่กับกุศลธรรม

สิ่งที่ดี จะเป็นการฟังธรรมก็ตาม จะสวดมนต์ก็ตาม

จะดูลมหายใจก็ตาม จะเดินจงกรมก็ตาม

หรือว่าจะนั่งนิ่งๆ ดูใจให้เราเฉยๆ ก็ตาม

เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นกุศลธรรม

ซึ่งถ้าจิตเข้าไปผูกอยู่ ก็จะทำให้จิตกลายเป็นกุศลตามไปด้วย 

 

ความเป็นกุศลของจิต ก็คือใจจะสบายใจโล่ง

ใจไม่วุ่นวาย ไม่มีโทสะ ไม่มีความขัดเคืองง่าย

 

แต่ถ้าหากว่า จิตของเราผูกอยู่กับอกุศลธรรม

แม้กระทั่งว่า เรากำลังตั้งใจอยู่ .. ฉันจะดูลมหายใจ

แต่ว่า ลืมที่จะมองว่า เอ๊ะ ใจไปถึงไหนแล้ว

บางทีใจกระโดดไปหาคนนั้นคนนี้ หรือ ใจอาจจะมีความสงสัย

มีความคลางแคลงอยู่ ว่าที่ฉันกำลังทำอยู่นี่ ถูกหรือเปล่า

ที่เขาสอนมาใช่ไหม อะไรต่างๆ

จะกลายเป็นผูกอยู่กับอกุศลธรรมโดยไม่รู้ตัว

 

คนเราถ้าจิตผูกอยู่กับอกุศลธรรม ดูง่ายๆ เลย

จิตจะดิ้นไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด

แต่ถ้าจิตผูกอยู่กับกุศลธรรม จะเหมือนกับที่คุณว่า

พอฟังคนอื่นไปแล้ว จะคูลดาวน์ลงเรื่อยๆ

 

แค่รู้ตัวเท่านั้นเองว่า ณ ขณะที่จิตของเราดิ้น

คือขณะที่จิตของเราผูกอยู่กับอกุศลธรรม ไม่มีอุบายเฉพาะตายตัว

 

ผู้ถาม : แสดงว่า ต้องฝึกหัดอยู่กับปัจจุบันใช่ไหมคะ

 

ดังตฤณ : ทำความเข้าใจก่อน ถ้าจิตดิ้น ฟันธงเลยว่า

ณ ขณะนั้นจิตผูกอยู่กับอกุศลธรรม

ให้หาสิ่งที่เป็นกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ามาตั้งไว้ในใจแทน

 

ผู้ถาม : มีอีกเรื่องที่คาใจมากว่า 20 ปี คือ เคยมุสากับคุณดังตฤณไว้ เลยอยากขออโหสิกรรมค่ะ

 

ดังตฤณ : อโหสินะ

 

พระอรหันต์ เวลาที่มีคนมาขออโหสิกรรม ท่านเคยพูดไว้นะ ว่า

โทษนี้ไม่มีแก่ท่าน โทษนี้ไม่มีแก่ใคร โทษนี้เป็นโทษของสังสารวัฏนะ

 

นี่คือโทษของการอยู่ในสังสารวัฏ

วันหนึ่งเราต้องผิด วันหนึ่งเราต้องพลาด

วันหนึ่งเราต้องทำอะไรไม่ดี วันหนึ่งเราต้องสร้างทางลงต่ำ

 

ฉะนั้น ถ้าเรามองเห็นโทษภัยของการอยู่ในสังสารวัฏแล้วนี่

ก็จะเป็นการแก้โทษ ที่ดีที่สุดนะ!

 

_________________ 

 

คำถาม :

1. เกิดอารมณ์หงุดหงิดพลุ่งพล่านรุนแรงมาก อยากแสดงออกให้คนรอบข้างเห็น คุมตัวเองไม่อยู่ควรทำอย่างไร 

2.มีภาวะฟุ้งซ่านแรงมากราวกับหนูติดจั่น ตอนฟังธรรมะก็รู้สึกเบาลง แต่เดี๋ยวพอลืมธรรมะนั้น จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองต่ออย่างไร 

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปhttps://www.youtube.com/watch?v=ZniKPChOCc4


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น