วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

มีภาวะซึมเศร้า คุณหมอไม่แนะนำให้นั่งสมาธิ

ผู้ถาม : พบคุณดังตฤณครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อนค่ะ ซื้อนิยายทางนฤพานมาอ่าน แล้วเป็นแสงสว่างในชีวิตช่วงหนึ่งเลย ก็ปฏิบัติมาได้ระยะหนึ่ง

ตอนนี้มีประเด็นแง่ที่ว่า ตัวเองมีภาวะซึมเศร้ามาได้สัก 6 – 7 ปี มีคนหวังดีแนะนำให้ปฏิบัติสมาธิ จะช่วยควบคุมจิต

แต่คุณหมอที่ดูแลก็ไม่แนะนำ แต่เราพยายามที่จะรู้ตัวเองว่า ตัวเองเป็นอะไรคิดอะไร ทำอะไรอยู่ พยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด คือเบื้องต้นที่พอจะทำได้ 

จะมาขอคำแนะนำว่า ถ้าเราไม่ถึงขนาดที่จะปฏิบัติได้เต็มที่ เราควรทำอย่างไรได้บ้าง

 

ดังตฤณ : อย่างที่ผมเคยรับรู้นะ คุณหมอที่เป็นห่วงอาการคนเป็นโรคซึมเศร้ามีเหตุผลของท่านที่จะเป็นห่วง

 

เพราะว่าบางคนไปปฏิบัติแบบเข้มงวด แล้วก็ต้องออกแรงเยอะ ต้องใช้อาการเกร็งค่อนข้างมาก จนกระทั่งที่ผมได้ยินมา ไปปฏิบัติมาบางแห่ง ต้องถึงขั้นไปช็อตไฟฟ้าที่โรงพยาบาล แล้วไม่ใช่แค่ราย สองราย ปีหนึ่งมีเยอะด้วย

 

เลยมีเหตุผลที่คุณหมอจะเกิดความเป็นห่วง แล้วเป็นความห่วงแบบเหมารวม คือพอได้ยินคำว่าปฏิบัติวิปัสสนา หรือว่ามาเจริญสติ ทำสมาธิ บรรดาจิตแพทย์จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาแบบเหมารวม ว่า เป็นแบบที่เคยต้องไปช็อตไฟฟ้าที่โรงพยาบาลหรือเปล่า หรือมีอาการชัก

 

ผมเคยเห็นมาแล้วนะ เคยเห็นมาจริงๆ ไปปฏิบัติมาบางที่ คือปฏิบัติตั้งใจมากๆ เลย แล้วก็รู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีแต่คนดีๆ อยู่ที่นั่น แต่ปรากฎว่า พอทำไปๆ นั่งชักให้ดู

 

แล้วก็ยังยืนยันว่าที่ปฏิบัติมาถูกต้อง เพียงแต่ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น

 

ตรงนี้ พอจิตแพทย์เจอมาเยอะๆ เคสประเภทนี้ ก็เลยมีความห่วงแบบเหมารวมว่า ถ้าปฏิบัติวิปัสสนา หรือทำสมาธิ หรือเจริญสติในขณะที่มีอาการซึมเศร้าอยู่ เดี๋ยวจะเกิด side effect จะเกิดผลอะไรที่แย่ลง

 

ที่หนักอยู่แล้ว จะแย่ลงไปอีก ก็เป็นความห่วงของท่าน เป็นเหตุผลที่สมเหตุสมผล ในแบบที่ท่านมีมุมมอง คือเห็นคนไข้มาเยอะๆ เวลาคนเราอยู่ในตำแหน่ง หรืออยู่ในหน้าที่ที่จะต้องเห็นคนไข้หรือว่า คนเป็นโรคป่วยทางจิต หรือคนเป็นซึมเศร้าเยอะๆ จะเข้าใจเรื่องปัจจัยที่มาซ้ำเติมให้หนักขึ้น หรือว่าอะไรที่ช่วยให้ดีขึ้น

 

ก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ ว่าทำไมคุณหมอถึงพูดว่า อย่าปฏิบัติวิปัสสนา อย่าเจริญสติ อย่าพยายามทำสมาธิ ตอนเป็นโรคซึมเศร้า

 

นี่คือพูดเพื่อจะให้เข้าข้างทางจิตแพทย์นิดหนึ่ง ว่ามีเหตุผลอยู่

 

แต่ทีนี้ ถามว่า ในส่วนของเรา ซึ่ง ซึมเศร้ามา 6 – 7 ปี แล้วก็อาจยังต้องใช้ยาอยู่บ้าง หรืออะไรอย่างนี้ หรือจะต้องได้รับคำแนะนำ ..

 

ผู้ถาม : อาการช่วงนี้ก็คือว่า มีจิตตกบ้าง แต่ว่าจะรู้ตัวว่า ตอนนี้เรามีอาการจิตตกนะ แต่ยังไม่เคยถึงขนาดลุแก่โทสะ คือก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะตัวยาที่คุมไว้ หรือเป็นเพราะว่าเราพยายามตั้งสติ รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นค่ะ

 

เพราะอย่างความตื่นเต้นอะไร ไม่เคยรู้สึกเลย แต่คำว่าจิตตกนี่ คือความหม่นเศร้าที่เรารู้สึกว่า เราเศร้า เศร้ากับอะไร รู้สึกเครียด .. เครียดกับอะไร อะไรประมาณนี้ค่ะ

 

ก็เรียกว่าอาการยังทรง แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายที่จะต้องพบคุณหมอทุกเดือนขนาดนั้น จะอยู่ในช่วงสองเดือนค่ะ

 

ดังตฤณ : ถ้าเป็นในลักษณะนี้นะครับ คืออาการไม่หนักมาก สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับตัวเองอันดับแรกก็คือว่า อาการซึมเศร้า เป็นผลลัพธ์ของสมอง ที่อาจผลิตเคมีอะไรออกมาไม่สมดุล หรือไม่ดี แล้วทำให้เกิดภาวะย่ำแย่ทางใจ เกิดความรู้สึกย่ำแย่ขึ้นมา

 

แต่ภาวะทางสมองนั้นไม่ใช่จะต้องเป็นอย่างนั้นแน่ๆ เสมอไป ถ้าหากว่ามีเหตุปัจจัยทางใจ ทางจิตทางใจใหม่ มีความสดใส มีความร่าเริง มีความว่องไว มีความที่เรียกว่าหัวแล่น ความผิดปกติทางสมองก็กลับเข้าที่ได้

 

ผมยกตัวอย่างอย่างนี้นะ คือเราจะฉีกออกไปจากเรื่องของการเจริญสติก็ได้ ยกตัวอย่าง คนที่เล่นปิงปอง มักจะไม่ค่อยเจอนะว่า คนที่เล่นปิงปองเก่ง จะไม่เจอซึมเศร้า

 

พอพูดแบบนี้ไป อาจมีคนบอกว่า มีคนที่รู้จักที่เล่นปิงปอง แล้วมีอาการซึมเศร้าก็มี ..คืออาจมี แต่น้อยมาก

 

ที่ผมยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีเหตุปัจจัยในแบบที่ทำให้สมองทำงานโต้ตอบอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีความสดชื่น มีความสดใสทางร่างกายประกอบอยู่ด้วย อาการซึมเศร้าจะเกิดขึ้นได้ยาก

 

นี่จะยกเป็นเคสแบบที่เรียกว่า ทำความเข้าใจตามกันได้ง่ายๆ นะ

 

ถ้าสมองของเราทำงานดี ทำงานโต้ตอบในแบบที่ฉับไว แล้วมีความสนุกด้วย มีความสดชื่นทางกาย มีความรู้สึกเบิกบานทางใจประกอบไปด้วย เล่นปิงปองเก่ง จะไม่ค่อยเป็นซึมเศร้ากัน โดยไม่ต้องใช้ยานะ

 

หรือตัวอย่างอื่น เช่น ว่ายน้ำ ว่ายอย่างมีความสุขนะ ไม่ใช่ว่ายฝืนๆ ว่ายไปด้วยความรู้สึกว่า การจ้วงน้ำไป ทำให้กล้ามเนื้อของเราผ่อนคลาย แต่ละครั้งที่เราจ้วงว่ายไป เส้นสายจะยืด แล้วจิตใจของเรามีความชุ่มชื่นอยู่กับน้ำ ไม่ใช่คนที่อึดอัด หรือทรมานกับการว่ายน้ำแบบ เมื่อไหร่จะถึงเสียที เมื่อไหร่จะจบเสียที มีแต่สติ ที่รู้ตัวว่าตอนอยู่ในสระน้ำมีความชุ่มชื่น มีความสดใสดี

 

อย่างนี้ สภาพที่พร้อมจะซึมเศร้า หรือสมองพร้อมจะอยู่ในอาการกดตัวเอง จะน้อยลง หรือไม่ก็ไม่มีเลย ถ้าหากว่าเราไปว่ายน้ำปกติ สม่ำเสมอ

 

นี่คือยกตัวอย่างเรื่องการออกกำลังกาย เรื่องของการที่ขยับแขนขา ให้มีความกระชุมกระชวยขึ้นบ้าง

 

ทีนี้ถ้าเราย้อนกลับมาพูดถึงการเจริญสติ เหมือนกัน ถ้าหากว่าวิธการเจริญสติของเรา ทำให้ความเคร่งเครียดหายไป อย่างเช่นที่คุณยกตัวอย่างมา ว่า พอเรารู้ว่าตัวเองเริ่ม ..เหมือนกับถูกกดให้จมลง แล้วเราไม่ยอมจม เรามีสติมากพอที่จะดึงตัวเองขึ้นมาพ้นน้ำได้ นี่ก็จะเป็นการเจริญสติ ในแนวทาง ในทิศทางที่จะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น

 

เราบอกตัวเองได้ว่า วิธีการเจริญสติแบบนี้ของเรา ปลอดภัย กับสิ่งที่เราเป็นอยู่

 

แต่เราอาจเพิ่มเติมเข้าไป โดยลืมคำว่าเจริญสติไปนะ เอาเป็นการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปในแบบที่ ผมยกตัวอย่างมานี่ เหมือนกับเล่นปิงปอง หรือว่ายน้ำ ที่ทำให้เราชุ่มชื่น ที่ทำให้ภาวะทางกาย ภาวะทางใจของเรา ไม่จมลง มีแต่จะเปิด มีแต่จะเบิกบานขึ้น

 

อะไรก็ตามที่เราชอบใจ ที่จะอยู่กับมัน เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่งกับที่ ไม่หยุดสมองของเราให้อยู่ในท่าพักนานเกินไป ให้ทำงานในแบบที่จะได้ความสดชื่นย้อนกลับมาหาตัวของเรา เอาให้หมด เหมาให้หมด อย่ามองแค่เรื่องการเจริญสติ

 

เพราะการเจริญสติในภาวะที่ซึมเศร้า บางทีจะเหมือนกับ เจริญไปแล้ว ติดเพดาน ลอยขึ้นไปชนเพดาน ไปพ้นกว่านั้นไม่ได้ ไม่เหมือนลูกโป่งที่ลอยขึ้นฟ้าได้ แต่จะติดเพดานเตี้ยๆ

 

ตรงนี้ก็เลยจะแนะนำว่า การเจริญสติของเราดีแล้ว สิ่งที่บอกมา ถูกต้องแล้ว พอจะจม เราไม่ยอมจม มีสติให้ลอยขึ้นมา เสร็จแล้วหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำ อย่าปล่อยให้ตัวเองนิ่ง

 

การนิ่ง เป็นเกลอกัน เป็นสหายกันกับโรคซึมเศร้า

 

การเคลื่อนไหว ยิ่งมีความสดชื่น ยิ่งมีความตื่นตัว ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ยืดเส้นยืดสายมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเป็นปฏิปักษ์กับโรคซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น

 

ผู้ถาม : แสดงว่าที่ผ่านมาปฏิบัติถูกต้องแล้ว ต่อไปก็คือเพิ่มเรื่องการมี activity

 

ดังตฤณ : ใช่ จะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เราไม่ต้องนึกถึงคำว่าเจริญสติอย่างเดียว มีกิจกรรมอะไรต่างๆ หาให้เจอ คือถ้ายังไม่เจอ อย่าหยุด หาไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเจอสิ่งที่เราพอใจจริงๆ

 

จะเป็นกีฬา หรือเป็นงานอดิเรกอะไรก็ตาม คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ .. อย่าทำกิจกรรมที่อยู่ในท่านิ่ง ต้องเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหว เหมือนกับที่คุณหมอห่วง .. คนนั่งสมาธิอยู่นิ่งๆ แล้วเป็นซึมเศร้า ยิ่งซึมหนักเข้าไปอีก เพราะเขาเจอตามสถิติว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

 

ยิ่งนั่งสมาธิแทนที่จะดีขึ้น กลับกลายเป็นว่ากดให้สภาพซึมเศร้าจมลงหนักขึ้นไปอีก

 

ผู้ถาม : ที่เข้ามาคลับเฮ้าส์ ก็เพราะเหมือนกับอยากให้มี activity ไม่อย่างนั้นก็จะนอนอย่างเดียว

 

ดังตฤณ : อย่านอน .. นอนแค่ตอนเหนื่อย

 

คนเป็นโรคซึมเศร้า การนอน ..จำเป็นคีย์เวิร์ดไว้เลย ให้นอนตอนที่เหนื่อย อย่านอนตอนที่อยากนอน

 

ถ้าจำไว้เป็นคีย์เวิร์ดตรงนี้ได้ อาการซึมเศร้าจะดีขึ้นใน 3 วัน 7 วัน เพราะโรคซึมเศร้ากลัวอาการเหนื่อย พอเหนื่อยนี่ ร่างกายขยับเคลื่อนไหว ออกแรงอะไรไปมากๆ อาการซึมเศร้าจะทนยืนอยู่ไม่ได้ จะหายไป จะเหมือนกับเสียพลังของมันไป

 

พลังความซึมเศร้า จะเกาะอยู่กับอาการนิ่ง แต่ถ้าเคลื่อนไหวนี่ จะทนอยู่ไม่ค่อยได้ แล้วถ้าเคลื่อนไหวกระทั่งเหนื่อย แล้วอยากนอน

 

พออยากนอน ตัวนี้อาการซึมเศร้าจะมาครอบงำตอนหลับไม่ได้ เพราะร่างกายถึงจุดขีดสุดที่ต้องการการพักจริงๆ ก็เลยไม่มีอารมณ์แบบที่จะมาเกาะกุม ติดค้างเข้าไปในภาวะหลับนะครับ

________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=VRXf4Ml78FE

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น