วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

ฟุ้งซ่านควรคิดนำ หรือรู้เฉยๆ และมักสงสัยสภาวะตอนลมหายใจเบา

ผู้ถาม : มีอยู่วันหนึ่งที่รู้สึกว่า ฟุ้งซ่านมาก 

รู้สึกเหมือนกับสมองเบลอไปเลย

เลยอยากจะรู้ว่า เอ๊ะ ทำไมเราถึงฟุ้งซ่าน 

ก็ตั้งสติว่า เดี๋ยวฉันจะคอยดูว่า ทำไมถึงฟุ้งซ่าน

 

ปรากฏว่าไปเห็นว่า เริ่มต้นมาจาก มีความจำผุดขึ้น

ถ้าเรามีสติเข้าไปรู้ตรงนั้นไม่ทัน จิตจะปรุงต่อทันที

แล้วถ้ายังมีสติรู้ไม่ทันอีก จิตก็จะปรุงๆ ไปเรื่อยๆ จนเราเบลอ อะไรแบบนี้ค่ะ


อันนี้เป็นสภาวะที่ ไม่ได้ไปอ่าน หรือว่า ไม่ได้ไป Copy จากใคร

คือ เป็นจากวันนั้น ที่ตั้งใจสังเกตเอง ซึ่งคิดว่าจากอันนี้ ที่รู้นี่ เพราะว่าคิดเข้าไปค่ะ

 

แล้วหลังจากที่ฟังคุณดังตฤณแนะนำคนคนหนึ่ง ก็เลยลองกลับมาทำใหม่

ถ้าเกิดว่าฟุ้ง แล้วเห็นว่า มีความจำเรื่องอะไรอย่างนี้ เกิดขึ้น

ก็จะไม่คิดแล้ว จะรู้ไปเฉยๆ เช่น กำลังทึบอยู่ เปลี่ยนเป็นโปร่ง

ยึด ไม่ยึด หลง รู้ ก็คือว่า จะดูอะไรแบบนี้

 

คราวนี้ก็จะรู้ว่า ถ้าดูแบบนี้จะมี outcome อยู่ 2 แบบ 

คือ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอะไรก็ตาม 

 

ดังตฤณ : อันนี้แหละ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ นะครับ

คือ เป็นการ โยนิโสฯ จากการที่เรามีประสบการณ์ตรง

และเห็นว่า เออ ทางมาทางไป ของความสงสัย เคลียร์ไปได้อย่างไร

แล้วภาวะที่เกิดขึ้นนี่ มีเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้

 

พูดง่ายๆ นะ .. ถ้าเรารู้เหตุ แล้วก็รู้ผล จากประสบการณ์ตรง

นั่น คือ โยนิโสมนสิการ ที่เกิดขึ้นจากการภาวนาของจริง

เห็นของจริงนะครับ

ผู้ถาม : ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกนี่ เราควรจะ..

ทำแบบแรก คือ คิดเข้าไปนิดหนึ่ง หรือ แค่ดูเฉยๆ

ไม่ต้องไปนิยามว่า สภาวะที่เกิดขึ้นเป็นความจำ หรือว่า เป็นความฟุ้งซ่าน

 

คือ แค่รู้ว่าตอนนี้ใจตรงกลางหนัก แล้วตอนนี้โปร่งแล้ว 

เพราะว่าเรากำลังมีสติรู้ทันอยู่ 

ตอนนี้กำลังคว้าเอาความจำเข้ามา ตอนนี้คลายออกไปแล้ว

คือเรา จะใช้ความคิดเข้าไปดูด้วย


หรือว่า เราควรจะดูแค่สภาวะที่เกิดขึ้น ไม่ต้องนิยามว่าคืออะไร 

แต่ดูว่า เกิดขึ้นเมื่อไร แล้วหายไปเมื่อไหร่ อย่างไร



ดังตฤณ : ตอนช่วงที่ผมมีความสงสัยทำนองนี้นี่นะ

ผมพบอย่างหนึ่งว่า จิตของเรา มีความง่ายมากเลย

ที่จะหลงเข้าไปติดกับดัก ความสงสัยแบบนี้เป็นปีๆ  

ว่าเราควรจะคิด หรือ เราไม่ควรจะคิด

เราควรจะพิจารณา หรือว่าปล่อยให้เกิดขึ้น อย่างเป็นไปเอง

 

จนกระทั่ง มาถึงจุดหนึ่ง ที่เริ่มได้คำตอบให้กับตัวเองจริงๆ 

ก็ตอนที่ จิต เริ่มลืมตาอ้าปากได้

คือ เห็นนะว่า แกนอ้างอิง หรือว่า reference 

ที่จะทำให้เราหายสงสัยได้จริงๆ

คือ การเห็น ภาวะทางกายที่กำลังเป็นปัจจุบัน ปรากฏเต็มตัว

 

พูดง่ายๆ นะ ถ้าขึ้นต้นมายังไม่ได้เห็นว่า

อิริยาบถปัจจุบัน หน้าตาเป็นอย่างไรอยู่ 

กำลังคอตั้งหลังตรงอยู่ หรือว่า หลังงอ

หรือว่า กำลังอยู่ในความเกร็ง หรือว่า อยู่ในความผ่อนคลาย

 

ถ้ายังไม่ชัดเจนตรงนี้

ความสงสัย ถูกจุดชนวนให้เตลิดไปได้ไม่จำกัด

แล้วก็ ยังสามารถที่จะมีพิสดารซับซ้อนอะไรได้มากกว่านี้อีก

คือ ยิ่งเราปฏิบัติไป ยิ่งเห็นอะไรมากขึ้น ก็จะยิ่งสงสัยเพิ่ม

 

สิ่งที่เข้ามาใหม่ๆ แทนที่จะมายุติความสงสัย

กลับไปจุดชนวนความสงสัยนะครับ

 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากภาวะของเราประณีตขึ้น

หรือว่า มีปรากฏการณ์ทางจิตอะไรแสดงออกมา

แล้วทำให้เรา เอ๊ะ ขึ้นมาได้ว่า 

นี่ เป็นอะไรที่ใกล้ความจริงเข้าไปหรือยัง ใกล้บรรลุมรรคผลหรือยัง

อะไรต่างๆ นานาที่ผุดขึ้นมาใหม่ดึงให้เราเขว

แล้วก็สงสัยใหม่ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด


แต่ถ้าถึงจุดที่ เราเข้าฝักคือ เข้าที่ 

 

จริงๆ แล้วนี่นะ ขึ้นต้นมามีความชัดเจน 

สติของเราตั้งขึ้นมาได้ เพราะว่ารู้ว่า

กำลังหายใจเข้าและหายใจออก อยู่ในอิริยาบถอย่างนี้

 

คือ รู้ทั้งตัวอย่างนี้ แบบสบายๆ แล้วก็รู้เป็นปกติ 

รู้ได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ย้อนกลับไปสู่ความไม่ชัดเจน 

หรือย้อนกลับไปสู่ความพร่าเลือน

มีความชัดเจนว่า กำลังอยู่ในอิริยาบถไหน 

 

ตรงนี้ นี่ ปิดประตูความสงสัยบานแรกไปได้เลย

 

เพราะอะไร .. เพราะว่าจิตของเรา จะได้ที่ยืนที่ชัดเจน

จะมีจุดยืนที่เป็นจุดยืนทางมุมมอง ออกมาจากกาย

ว่า กายนี้ กำลังตั้งอยู่ในอิริยาบถนี้

และ กายนี้ กำลังมีภาวะทางความรู้สึกเป็นสุข หรือ เป็นทุกข์

กายนี้ กำลังเป็นที่ตั้งของความฟุ้งซ่าน หรือ ความสงบ

 

เห็นออกมาจาก อิริยาบถปัจจุบันนี้เลย

เห็นออกมาจาก ที่ กำลังหลังตรง หรือ หลังงออยู่อย่างนี้

กำลังอยู่ในท่าที่นิ่งๆ สบายๆ ผ่อนคลาย หรือว่า กำลังเกร็งอยู่

 

ตัวนี้นะ โดยส่วนตัว บนเส้นทางที่ผมผ่านมาทำให้ได้ข้อสรุปว่า

ถ้าหากว่า เรามีฐานที่ตั้งของสติ ชัดเจนแบบที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

แบบ 1 2 3 เลยนี่นะ

ความสงสัย ที่เกิดขึ้น .. อาจจะเกิดขึ้นได้ 

แต่ว่าจะหายไปอย่างรวดเร็ว

 

แล้วพอมีภาวะความสงสัยในรูปแบบที่พิสดารอื่นๆ ตามหลังมา

จะมาจบที่นี่เหมือนกันหมดเลย

คือ เรากลับมารู้ก่อนว่า หายใจเข้า หรือ หายใจออก

อยู่ในอิริยาบถนั่ง คอตั้ง หลังตรง หรือว่า หลังงอ นะครับ

 

เอาจุดยืนตัวนี้ให้ได้ เหมือนกับเราได้เบสิก 

เราได้ ที่ยืน ที่น้ำตื้นแล้ว จะขาแข็งขึ้นเรื่อยๆ 

 

แล้วก็มีความมั่นใจว่า เราก้าวลงไปในทางธรรม ที่ลาดลึก 

มีความลาดลึกเหมือนกับทะเล

 

เราจะมีความมั่นใจว่า ขาเรา ยังไปถึงอยู่หรือเปล่า

หรือว่า เรามีความสามารถที่จะว่ายน้ำลึก แล้วหรือยัง

 

การที่ บางที เราเห็นอาการทางจิต แล้วเราไปดู 

หรือ จำคำศัพท์อะไรบางคำนี่

เช่น บอกว่าไปคว้ามา ไปยึดมา 

หรือว่า เรารู้เฉยๆ อะไรต่างๆ นี่นะครับ

 

คำพวกนี้ บางทีในเบื้องต้น ทำให้เราเข้าใจ 

แต่ทำไป ถ้าหากว่า ยังอยู่ในใจเราอยู่ตลอด

จะขังเราไว้ให้เราอยู่กับตรงนั้นเลยนะ

แล้วก็ไม่กลับมาถึง สภาพความเป็นกาย สภาพกำลังใจ ที่เป็นปัจจุบัน

 

จะสงสัยไปเรื่อยๆ แล้วก็พิสดารขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ผู้ถาม : ตอนที่สงสัย ส่วนใหญ่ จะเป็นจังหวะที่ลมหายใจ เริ่มช้าลงไปค่ะ

ถ้าเกิดรู้ลม ก็จะรู้อิริยาบถ เหมือนที่คุณดังตฤณบอกเลยค่ะ

จะไม่มีข้อสงสัย

 

แต่ว่า พอนั่งสมาธิไปเรื่อยๆ เหมือนลมหายใจ ลากช้าลงไป

เหมือนค่อยๆ หายไป มีจังหวะที่กลั้นหายใจ ไม่ได้หายใจมากขึ้น

แล้วเหมือนมีแต่ ภาวะ ..

 

ดังตฤณ : คือ ภาวะที่ไม่ชัดเจน

 

ผู้ถาม : ใช่ค่ะ คือ เป็นจังหวะที่พอนั่งไปแล้ว

ลมหายใจหายไปเองอย่างนี้ค่ะ

ก็จะรู้สึกสงสัย เพราะว่า ไม่ได้มีตัวเทียบ อย่างนี้น่ะค่ะ

ดังตฤณ : เราต้องทำให้เคยชินนะครับ 

ว่า เวลาที่ลมหายใจไม่ชัดเจนเหมือนช่วงแรกๆ 

อะไรที่มาชัดเจนแทนที่

 

อย่างเช่น ภาวะของจิต 

อย่างเช่น ความคลุมเครือ

อย่างเช่น อาการเหม่อ

หรือ อาการที่มีสติ อยู่กับจิตเฉพาะหน้านะครับ

ต้องมีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง 

 

ถ้าหากว่าสติของเรายังคมอยู่ ต้องมีสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งของใจ

ที่กำลังปรากฏมาแทนที่ลมหายใจ เราก็ดููตัวนั้นแหละ

 

ถ้าหากว่าเราสามารถดูสิ่งที่มาแทนลมหายใจได้ เราจะไม่สงสัย

และอันนี้จะเป็นการต่อยอดขึ้นมาจาก basic 

 

basic คืออะไร 

basic คือ สิ่งที่เห็นได้ง่ายๆ ชัดๆ จับต้องได้

อย่างเช่น ลมหายใจเข้าออก

 

พ้นจาก ลมหายใจเข้าออก มา

อันนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจ หรือ มุมมองที่เรามีเป็นทุนไว้ก่อน

ว่า อะไรก็แล้วแต่ มาแทนที่ลมหายใจ .. เราจะดูสิ่งนั้นแหละ

โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่แตกต่างจากลมหายใจ

 

ทีนี้ จะยากตรงที่ลักษณะของจิต บางที คงสภาพอยู่อย่างนั้นนาน 

ไม่ได้เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา อย่างรวดเร็วเหมือนกับลมหายใจ

 

ทีนี้ เราก็ต้องทำไว้ในใจว่า 

ถึงแม้จะเป็นสภาพทางใจ ที่ตั้งอยู่นาน เราก็จะดู

 

ดูอย่างนั้นแหละ .. อยู่ปรากฏเป็นสภาวะว่างๆ 

สภาวะเหมือนกับไม่มีอะไร สภาวะเหมือนกันไม่มีใครอยู่ตรงนั้น

ไม่รู้จะดูอะไร

 

ดู ตรงความไม่รู้จะดูอะไรนั่นแหละ 

ที่ว่างเปล่าน่ะ ..ว่างจริงไหม

 

ถ้าว่างจริง จะว่างไปตลอดกาล ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย

แต่ถ้าว่าง ไม่จริง .. เดี๋ยวจะมี ความสงสัยเข้ามา

ในรูปของความคิด เป็นสายหมอกบางๆ 

 

หรือไม่ก็เป็น ความกระเพื่อมของใจ

ที่ทำให้กระโดดไปนึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้

ที่ไม่ใช่ภาวะทางใจในตอนนั้นนะครับ


การที่เราสามารถสังเกตเปรียบเทียบได้

จำได้ว่า จะต้องดูอย่างไร จะทำให้ความสงสัย หายไปเช่นกันนะครับ

 

ผู้ถาม : เพราะฉะนั้น ถ้าตอนที่.. ช่วงลมหายใจที่แผ่วลง

ก็ไม่ต้องไปนิยาม ให้ดูความไม่เที่ยง

 

ดังตฤณ : ให้หันมาดูสิ่งที่ปรากฏมาแทนลมหายใจนะ

อะไรที่เด่นก่อน ให้ดูอันนั้นก่อน

ถ้าลมหายใจหายไป ลมหายใจ ไม่เด่นแล้ว

ต้องมีสภาวะบางอย่างทางใจขึ้นมาแทน

 

เช่น รู้สึกว่าว่างๆ ชืดๆ เฉยๆ หรือว่ารู้สึกสดชื่น รู้สึกมีโสมนัส

มีความเบา มีปีติ อะไรอย่างหนึ่ง

ที่ปรากฏขึ้นแทนที่ลมหายใจนั่นแหละ ที่เราจะต้องดูต่อนะครับ 

ไม่ต้องวกกลับมาที่ลมหายใจ!

____________

คำถาม

1. เวลาฟุ้งซ่านขึ้นมาควรทำอย่างไร ระหว่างใช้ความคิดเข้าไปอธิบายนำตนเองให้พิจารณานิดหนึ่ง หรือแค่รู้เข้าไปเฉยๆ?

2. สังเกตว่าพอลมหายใจช้าลงไปจนถึงจังหวะที่ลมเบาเกือบหายไป จะเกิดอาการสงสัยในสภาวะง่ายกว่า จังหวะที่ลมหายใจชัดเจน ควรจะทำอย่างไร

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ 

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=0R6dFL8mKF4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น