วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

รับเงินโอนทำบุญมาเป็นเศษสตางค์ ควรทำอย่างไรกับเศษนั้น

ผู้ถาม : คืออยู่ต่างประเทศ แล้วเวลาที่จะทำบุญ ก็จะโอนเงินให้คุณพ่อเพื่อทำบุญให้ (แทน) เพื่อน เพราะเพื่อนก็อยู่ต่างประเทศเหมือนกัน

 

สมมติเพื่อนให้โอนไปสามสิบดอลลาร์ (30 USD.) ถ้าตีเป็นเงินไทยสมมติอาจจะเป็น เก้าร้อยห้าสิบบาทจุดเจ็ดศูนย์สตางค์ (950.70) แต่เวลาทำบุญเขาก็ชอบเป็นหลักที่ไม่มีสตางค์

 

ถามว่าสมมติแทนที่จะจะให้โอน 950.70 บาท เขาบอกแค่ 950 บาท พอ เลยกลัวว่า 0.70 บาทที่ติดอยู่กับคุณพ่อ ซึ่งเพื่อนบอกว่าไม่เป็นไร สตางค์ไม่ถึงบาท ช่างเถอะ โอนแค่จำนวนเต็มก็พอ

 

แต่ก็มีเพื่อนบางคน บอกว่าต้องโอนให้หมดนะ เพราะไม่อย่างนั้น พ่อจะติดกรรม เพราะถือว่าเป็นเงินทำบุญ

 

ก็เลยจะถามว่าพี่ตุลย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไรคะ เพราะว่าค่าเงินจากเงินดอลล์ไปเป็นเงินบาทจะมีเศษสตางค์อยู่แล้วค่ะ เราควรจะบอกให้คุณพ่อโอนให้มากไปเลยไหมคะ สมมติบอกให้โอนแค่ 950 บาท แต่คุณพ่อโอนเป็น 951 บาทไปเลยอะไรแบบนี้ค่ะ

 

ดังตฤณ : เรื่องทำนองนี้นะ เป็นความกังวลใจเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบ เพื่อที่จะไม่ให้ตกหล่น ซึ่งมีพ้อยต์ (point) นะ อันนี้คนฟังดูบางทีนี่ ถ้าไม่คิดอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จริงๆ เป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหนก็ลองคิดดูแล้วกัน

 

คือมีพระวินัยอยู่ข้อหนึ่ง ถ้าภิกษุได้เอาของของใครที่เขายังไม่ยกให้มามีค่าเกินกว่าหนึ่งมาสก หรือมีผู้ที่ตีเป็นเงินไทยไว้ เกินกว่าหนึ่งบาท หนึ่งบาทไทยนี่ ให้ไล่ออกจากความเป็นพระ แล้วไม่ต้องกลับมาบวชอีกเลยตลอดชีวิต

 

คือร้ายแรงขนาดนั้นนะ ในทางพระนะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้านี่ท่านเอาจริงเอาจังขนาดไหนกับเรื่องของการที่เราจะมีความบริสุทธิ์ เกี่ยวกับเรื่องอทินาทานนะครับ

 

คือถ้าเป็นภิกษุแล้วนี่ อยู่ในใต้อาณัติของพระธรรมวินัยแล้วนี่ จะต้องระมัดระวังเรื่องเอาข้าวของคนอื่นมา แม้กระทั่งเศษเงินบาทนี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย ถึงขั้นที่ว่าขับไล่ออกจากความเป็นพระได้เลยนะ ถ้าไปโกงใครมาแม้แต่บาทเดียว

 

ทีนี้เรามาพูดถึง ความสบายใจในการทำทาน หรือว่าในการโอนให้ ในเรื่องเกี่ยวกับการโอนข้ามประเทศ หรือว่าในการบริจาคอะไร ที่เป็นเรื่องของบุญเรื่องกุศล

 

ซึ่งก็ตะล่อมเข้าข่ายในเกี่ยวกับที่ผมยกขึ้นมาอ้างอิงนะครับว่า เป็น อทินาทาน แล้วถ้าหากว่ามีมูลค่าเกินหนึ่งบาท เพื่อความสบายใจ อย่างที่ผมเคยทำเป็นประจำ ก็เหมือนกับที่คุณพูดเมื่อเมื่อกี้นี้ คือโอนเกินไปเลย แค่หนึ่งดอลลาร์ สองดอลล่าร์อะไรแบบนี้ แลกกับความสบายใจว่าเราทำครบ เราทำเกิน ไม่ใช่ว่าเราทำขาด

 

เกินดีกว่าขาด ในแง่ของบุญ ในแง่ของกุศล ในแง่ของความสบายใจ ว่าเราไม่ได้ผิดศีลไม่ได้ผิดธรรม หรือ ทำให้เงินที่โอนเพื่อการบุญนี่ เป็นไปโดยสุจริตชอบธรรม แล้วก็ถูกต้องแน่นอนนะครับ ส่วนใหญ่นี่เวลาเกี่ยวกับเรื่องการแลกค่าเงิน ผมจะทำเกิน

 

ยกตัวอย่าง เมื่อคราวที่ครั้งแรกเลย ที่ผมชวนคนสร้างโรงพยาบาลนะเปลี่ยนสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาล ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราว นึกว่าจะทำแป๊บเดียว แล้วเงินคงไม่มากมายอะไร

 

แต่ปรากฏว่าเข้ามาเป็นสิบๆ ล้านนะ ผมใช้บัญชีส่วนตัวตอนนั้นยังไม่มีมูลนิธิบูรณพุทธแบบนี้ ก็เปิดเป็นบัญชีส่วนตัวผมเอง ตอนแรกนึกว่าจะทำแป๊บๆ ปรากฏว่ายืดเยื้อ เสร็จแล้วผมก็ตัดสินใจปิดบัญชี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรู้สึกไม่สบายใจต่อ

 

เวลาผมได้รับเงินมากๆ มาเป็นภาระ เป็นช่องทางให้ทุกท่านได้มาทำบุญร่วมกัน จะมีความรู้สึกเหมือนถ่านร้อนๆ เข้ามา เอามาเก็บไว้ แล้วใจจริงๆนี่อยากทิ้งไปให้พ้นตัวนะให้เร็วที่สุดถ้าเป็นไปได้ ให้เงินนี่นะ มีความสะอาดมาแล้วก็สะอาดไป

 

วิธีง่ายๆที่ผมใช้ก็คือว่า ตอนนั้นมีเศษเงินของผมเองส่วนตัวอยู่ด้วย ก็ใช้วิธี เพิ่มเข้าไป ในปริมาณที่แน่ใจว่าอันนี้เกินกว่าที่จะมีเงินส่วนของผมนี่เข้าไปพัวพันอยู่ด้วย

 

คือถ้าเรารู้สึกว่า เราทำงานบุญอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่ ถ้าคุณทำด้วยความรู้สึกว่าเราจะให้เงินนี่สะอาด สะอาดมาแล้วสะอาดไปนี่ต้องสะอาดที่ใจ

 

ต้องสะอาดที่ใจก่อน ถ้าเรารู้สึกว่าใจเราสะอาดนี่ คืออย่างแรกเลยเราไม่กลัวนะว่าจะทำผิดทำบาปอะไรไป

อย่างที่สองคือ เราจะมีใจไปในทางเดียวกับผู้บริจาค คือให้

 

ฉะนั้น บางทีอะไรที่เราคิดว่า เดี๋ยวจะหลงไป หรืออะไรอย่างไร เราให้เกิน โปะเข้าไปเลย แล้วตรงนั้นนี่ก็คือจบน่ะครับ คือเราได้ทำเพิ่มไป สบายใจแน่นอน

 

ผู้ถาม : ก็บอกไปให้โอนเกินไปเลย แบบพี่ตุลย์แนะนำค่ะ แต่ทีนี้ก็ไม่ถือว่าเพื่อนของเราจะติดอะไรคุณพ่อใช่ไหมคะ คุณพ่อก็เต็มใจที่จะโอนเกินให้

 

ดังตฤณ : คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ มีความเต็มใจ คือถ้ามีความเต็มใจนี่จบนะ แล้วเรื่องพวกนี้นี่ พูดกันแล้วนี่เป็นเรื่องเศษ เป็นเรื่องเล็กน้อยนะ เป็นเรื่องที่รู้สึกกันได้ว่า การโอนข้ามประเทศนี่ ต้องมีหลุดๆ อะไรแบบนี้แหละ

 

ทีนี้ถ้าหลุดในแง่ที่เราเติมเข้าไปให้เกิน ทุกฝ่ายก็น่าจะเห็นตรงกันนะว่า ไม่มีอะไรผิดพลาดนะครับ ทุกอย่างนี่เกินกว่าคำว่าเพอร์เฟคนะ

____________________

สรุปคำถาม : เพื่อนโอนเงินทำบุญด้วยสกุลเงินต่างประเทศ พอแปลงเป็นเงินไทยจึงมีตัวเลขเศษสตางค์ (ทศนิยม) หากเราไม่ได้โอนครบเศษสตางค์นั้น จะเป็นการติดกรรมไหมคะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หาชุดหมีให้ (พี่) หมอ อีกครั้ง

วันที่ 17 เมษายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=AZaUELmZ73Y

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น