วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

รู้ว่าต้องพลัดพรากจากบุคคลที่รัก แต่ทำใจไม่ได้

ดังตฤณ: ความยึดมั่นถือมั่น ในตัวในตน ไม่ได้เริ่มต้นมาจากจิต

ฉะนั้น ถ้าเราดูจิต แล้วเห็นว่าจิตไม่เที่ยง อารมณ์ไม่เที่ยง ก็เห็นได้แค่ผิวๆ

 

ตัวตั้ง ของความรู้สึกในตัวตนจริงๆ นี่ อยู่ในกาย 

ถ้าหากว่า เราสามารถเห็นกาย โดยความเป็นของไม่เที่ยงได้

เห็นของตัวเองก่อนนะครับ

เริ่มนับตั้งแต่ลมหายใจ จนกระทั่งถึงอิริยาบถปัจจุบันนะ 

แล้วก็ในอิริยาบถนี้มีอะไรอยู่ ที่เป็นตับไตไส้พุง

นี่อันนี้ ถึงจะทิ้งความรู้สึกในตัวตนทางกายได้จริง

ทั้งของเราแล้วของคนอื่น 

 

ตรงนี้นี่ พระพุทธเจ้าถึงสอนมาเป็นขั้นเป็นตอน 

แต่โอเค เราอยู่ในเมือง เราอาจจะทำไม่ได้แบบเต็มที่

อาจจะดูไม่ได้ คือไม่ใช่นักปฏิบัติที่เก่งกาจ ฉกาจฉกรรจ์อะไร

ไม่สามารถที่จะดูคว้าน เข้ามาถึงตับไตไส้พุงได้

ไม่สามารถเห็นกายว่า วันหนึ่งจะต้องแตกดับลงเป็นธรรมดา

ตับไตไส้พุง จะต้องกระจัดกระจายหายไป อาจจะทำไม่ได้ถึงตรงนั้น  

 

แต่แค่ดูจิต แล้วเรายอมรับความจริงว่า อารมณ์โกรธ

อารมณ์ที่ได้รับ จากการกระทบกระทั่งในชีวิตประจำวัน เป็นของไม่เที่ยง  

 

แค่นี้ก็ถือว่าเป็นฆราวาส ที่รู้จักการเจริญสติ

แล้วก็ปฏิบัติธรรม ได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาไปเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปก็มากแล้ว 

ถ้าเป็นฆราวาส ก็จัดเป็นฆราวาสเกรดเออยู่แล้ว

 

ตรงที่ว่า เราทำใจไม่ได้กับบุคคลอันเป็นที่รัก ที่ต้องจากไปนี่

นั่นเพราะว่า เรายังปฏิบัติไม่ครบ เรายังปฏิบัติไม่เต็มที่ แบบที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับ

 

ดูจิตอย่างเดียวนี่ ถอนได้แค่อารมณ์ผิวๆ นะครับ

และเท่าที่เห็นมา พวกที่ดูจิตอย่างเดียวเป็น 10 ปีนี่ คือมักจะไปถึงจุดหนึ่ง

ที่ย้อนกลับมา วนกลับมาหาจุดเริ่มต้น เหมือนกับปฏิบัติไม่เป็น

ทำอะไรไม่ถูก แล้วก็ไม่รู้จะดูอย่างไร

เพราะไม่มีวิหารธรรม ไม่มีที่ตั้งของสติที่มั่นคงอยู่

 

ดูจิตนี่ พูดกันจริงๆ เลยนะ เริ่มต้นฝึกวันแรกนี่ ง่าย เพราะไม่มีอะไร

ถ้าเข้าใจวิธีที่จะเห็นเข้ามา กำลังเกิดอะไรขึ้น ทางความรู้สึกนึกคิด

แต่ไม่มีฐานที่ตั้ง 

 

ส่วนคนที่เริ่มดูจากกาย แล้วค่อยเขยิบขึ้นมาทางจิตนี่

จะเริ่มจากฐานที่ตั้ง ที่มั่นคงก่อน อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน

ให้ดูลมหายใจ เพื่อที่จะให้ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ นะครับ

ฐานที่ตั้งที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ วันต่อวันๆ พอไปถึงจุดหนึ่ง ไม่ย้อนกลับนะ 

 

บางคนนี่ คือเสียเวลาแค่เดือนเดียว ทำอย่างถูกทางนะ

กลายเป็นคนที่มีจิตตั้งมั่น แล้วก็สามารถเห็นอะไรต่อได้ ไม่มีจำกัด

และไม่ถอยหลัง เพราะพอทำเป็นแล้ว รู้ว่าจะจับจุดอย่างไร จะอยู่กับอะไร

 

เสร็จแล้วคือ พอไม่ถอยหลัง ทางเดียว ที่จะไปได้ก็คือก้าวหน้า

ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ เราจะพบความจริงว่า

ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า ถ้าหากมาถูกทาง 

 

ทีนี้ ถึงเราจะบอกว่า ที่ทำมาแค่ดูจิต แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง

เรารู้สึกว่า ไปต่อไม่ได้ มาถึงทางตัน หรือว่ามาถึงทางย้อนกลับ

แต่อย่างน้อย ก็ไม่ได้เสียเวลาที่ผ่านมาเปล่าๆ

ทำให้เรารู้จักการปฏิบัติธรรม ทำให้เรามีจิตมาฝักใฝ่

อยู่กับการรู้ การดู ภายใน ไม่ใช่เอาแต่โยนไปข้างนอก

โยนทิ้งเปล่าไปข้างนอก

 

ถ้าถึงจุดนี้ ที่เรารู้สึกว่า เราเริ่มไปชนเพดานแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว

ก็อาจจะถึงเวลาที่เราย้อนกลับมา สร้างรากสร้างฐาน

สร้างเบสิก ให้มีความเจริญแล้วก็มั่นคง แบบมีวิหารธรรม

มีสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ย้ำนักย้ำหนา

เรื่องการให้รู้ลมหายใจ เป็นจุดเริ่มต้น

แล้วก็สามารถที่จะรู้ เข้ามาทางกาย

 

และถ้าหากว่ารู้ทางกายได้ อิริยาบถนี้เป็นอย่างไรอยู่

ตั้งอยู่ได้นานแค่ไหน แล้วเกิดความรู้ลึกเข้ามาในกายมากขึ้น

จนกระทั่งเห็นว่ากายนี้ ไม่เที่ยงจริงๆ ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ 

 

นั่นแหละ เวลาที่เราน้อมไปพิจารณาคนอื่น

ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดติดอยู่ได้ เหมือนกัน    

 

ไม่อย่างนั้นนี่ จินตภาพของเรานะ ไม่ไปไหนหรอก

คือเอาง่ายๆ .. เราเห็นจิตคนอื่นแตกดับไหมล่ะ .. ไม่เห็นใช่ไหม

เห็นแต่จิตของเรา อารมณ์ของเราแปรปรวน

เห็นจิตของเราไม่เที่ยง เราก็เลยวางอารมณ์แปรปรวนของเราได้ 

ไม่ใช่วางจิตนะ วางอารมณ์ที่แปรปรวนของเราไปนี่   

บอกว่า อารมณ์นี้ไม่เหมือนเดิมไม่ใช่ตัวเดิม เพราะฉะนั้นเราทิ้งได้  

 

แต่ให้ไปดูว่า จิตของคนอื่นนี่ เขาคิดไม่ดีกับเรา

ทำไมเขาต้องคิดไม่ดีกับเรา ก็จะย้ำอยู่อย่างนี้

จะมองไม่เห็นใช่ไหมว่า เขาคิดไม่ดีขึ้นมาเมื่อไหร่

ความคิดไม่ดีเกี่ยวกับเรานั้น หายไปเมื่อไหน

จะเห็นแต่ว่า เขาคิดไม่ดีกับเรา แล้วก็จำไว้อย่างงั้น 

 

เหมือนกัน  สภาวะทางกายที่เรายังมีชีวิตอยู่ เขายังมีชีวิตอยู่

เอาวัดจากตรงที่ว่า ร่างกายยังขยับได้

หรือว่ามาอยู่ตรงหน้าเราได้ เป็นของของเราได้ 

แต่พอห่างหายไป หรือร่างกายแตกดับไป อ้าว นี่ เศร้า

ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร ก็เพราะว่า

เราไม่เคยได้ฝึก ที่จะปล่อยวางสภาวะทางกาย ของทั้งเรา ของทั้งเขา

 

นี่ตัวนี้จะมาเติมเต็ม ให้เกิดความเข้าใจที่สมบูรณ์มากขึ้น 

 

ปฏิบัติมานานแค่ไหน ไม่สำคัญเท่ากับที่ว่าเราปฏิบัติครบตามที่พระพุทธเจ้าให้มองหรือเปล่า

 

ถ้ามองทั้งกาย มองทั้งใจ ก็ปล่อยวางได้ทั้งกายทั้งใจ

แต่ถ้ามองแค่เป็นจุดๆ มองแค่บางส่วน

ก็ปล่อยวางได้แค่เป็นจุด ๆ ได้แค่บางส่วนเหมือนกัน!

______________

คำถาม: ปฏิบัติโดยการดูจิต ทั้งๆ ที่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก แต่ใจยังไม่ฉลาด ไม่ยอมรับค่ะ ยังคงยึดมั่นอยู่ เห็นอนัตตาแล้วก็ยังทุกข์ จะทำอย่างไรคะ

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เมี่ยง

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=WcTP0qhhh6Y

 

ผู้ป่วยวิกลจริต บรรลุมรรคผลได้ไหม

ดังตฤณ: ถ้าผิดปกติทางจิต ในแบบที่

ไม่สามารถ จะเอามารับรู้ ภาวะทางกายภาวะทางใจ

ไม่สามารถ แม้กระทั่งทำความเข้าใจว่า

จะเห็นกาย เห็นใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยงไปเพื่ออะไร

เพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวเดิม

 

ถ้าทำความเข้าใจไม่ได้นี่ ผิดปกติขนาดนั้นนี่

อย่างไร อย่าว่าแต่ไปถึงโสดาฯ เลย

เอาแค่ได้วิปัสสนา ได้สมาธิขั้นต้นๆ นี่ก็เป็นไปไม่ได้แล้วนะครับ

 

แต่ถ้าหากว่า คำว่าผิดปกตินี้ อยู่ในความหมายที่

บางทีเพี้ยนๆ หรือว่า บางทีเป็นไบโพล่า

ยังพอทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจน

มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับมุมมองของกายใจ

จะเห็นความไม่เที่ยงไปทำไม รู้ว่าไม่ใช่ตัวเดิมไปทำไมนี่

อย่างนี้ ยังมีสิทธิ์

 

ซึ่งคนที่มีความเพี้ยน หรือภาวะผิดปกติทางสมอง

ก็อาจจะยากขึ้นนิดหนึ่ง

แต่ว่า ถ้าพ้นช่วงที่ยึดติด กับภาวะปั่นป่วนในหัว ในอารมณ์ของตัวเองได้

เห็นว่าภาวะปั่นป่วน ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน

เห็นว่า ถ้าหายใจยาว จะสดชื่นขึ้นๆ

มีภาวะปรุงแต่งในทางบวกมากขึ้น

 

ในที่สุดแล้ว ก็จะหลุดออกมา จากภาวะผิดปกติ

แล้วก็สามารถทำให้ ความเป็นสติ เจริญขึ้นได้

 

คิดถึงคำว่า สติ อย่าเพิ่งคิดถึงคำว่า ปฏิบัติ

อย่าเพิ่งคิดถึงคำว่า โสดาบัน

 

คิดถึงคำว่า สติ ก่อน

 

ถ้าหากว่าคนๆ หนึ่งนะ มีความสามารถที่จะตั้งสติ

ทำความเข้าใจกับธรรมะ ธรรมะทางกาย ธรรมะทางใจ

ธรรมะแห่งความไม่เที่ยง ธรรมะแห่งความไม่ใช่ตัวตน

สติแบบนั้น จะทำให้คนๆ หนึ่งเจริญสติได้

 

เจริญสติ ย่อมาจากเจริญสติปัฏฐาน

เอากาย เวทนา จิต ธรรม

หรือพูดง่ายๆ กายใจนี้ เป็นฐานที่ตั้งของสติ

 

เมื่อคนคนหนึ่ง มีสติอยู่ในฐานของกายใจนี้

จนกระทั่งรู้สึกว่า กายใจนี้ทั้งยวงนี้เลย กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่

นั่นแหละ คือการมาตามหนทางของนักเจริญสติ

แบบที่พระพุทธเจ้าอยากให้มีนะครับ

 

ซึ่งต่อให้เขามีความผิดปกติอยู่บ้าง

ถ้ามาเดินตรงทางของนักเจริญสติแล้ว

ก็จะค่อยยังชั่ว ดีขึ้น หรือกระทั่งหายขาด

 

เอาตรงนี้ก่อน เอาตรงที่เรียกว่า

ตอนแรกเขาขาดสติ แล้วมาเจริญสติเพื่อให้มีสติดีขึ้น

เป็นไปได้นะครับ

______________

คำถาม: ผู้ที่ภาวะทางจิตผิดปกติ เช่นวิกลจริต สามารถปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิถึงขั้นโสดาบันหรือสูงกว่านั้นได้ไหมคะ

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เมี่ยง

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=JUJUCGxVoWc

 

ฟังธรรมไปด้วยนั่งสมาธิไปด้วยได้ไหม

ดังตฤณ : ได้ครับ ครูบาอาจารย์ ท่านก็สนับสนุนด้วย

 

เพราะว่า เวลาที่เรานั่งสมาธิ จะดูลมหายใจก็ตาม

จริงๆ ควรจะดูลมหายใจนะ ถ้าบริกรรมนี่

จะไม่ค่อยได้ยินคำครูบาอาจารย์ เทศนาธรรม 

 

เวลาที่พูดเกี่ยวกับเรื่องอะไรมา แล้วเรามาพุทโธ พุทโธ พุทโธ แบบนี้

คำว่าพุทโธเอาไปกินหมด เสียงพุทโธดังกลบหมดนะ

แล้วเสียงครูบาอาจารย์ไม่ได้ยินเลย

ได้ยินแต่กระแสเสียงของท่าน

ซึ่งก็จะมาช่วยปรุงแต่งให้เกิดสมาธิจิตได้ง่าย

 

แต่ว่าถ้าหากจะเอาในความหมายของ

การฟังธรรมไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย ทำสมาธิไปด้วยนี่

น่าจะเป็นในรูปแบบของการที่ .. เราหายใจ

หายใจเข้า หายใจออก แล้วก็รู้ลมหายใจไปด้วย

คำของครูบาอาจารย์ ก็เข้าหูไปด้วยนะครับ 

และก็ปรุงแต่งจิตของเรา ให้ว่างสว่างสบาย แล้วก็อยู่กับธรรมะ

 

มีทั้งการเห็นลมหายใจเข้าออก ว่าแสดงความไม่เที่ยงอยู่

แล้วก็ได้ยิน รับรู้ว่าครูบาอาจารย์นี่ เทศน์เกี่ยวกับเรื่องอะไร

 

ส่วนใหญ่ ครูบาอาจารย์ที่มีจิตที่เป็นสมาธิ ที่เป็นอุเบกขา

ที่มีความกว้าง มีความใหญ่นะ จะมาปรุงแต่ง มาช่วยให้จิตของเรา

มีความว่าง มีความใหญ่ มีความสว่างตามท่านไปด้วย

 

ถ้าหากว่า เรารู้ลมหายใจไป แล้วมีความสว่าง มีความกว้างไป

ก็กลายเป็นสมาธิแบบดีๆ ขึ้นมานะ

______________

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เมี่ยง

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=KsbcPjGPago

ทำสมาธิแล้วจิตวูบ หูดับ ตกใจกลัว

ดังตฤณ: การสวดมนต์ก็คือการทำสมาธินั่นแหละ

เพียงแต่รูปแบบต่างกันจากที่เราเข้าใจนะ

 

จิตดิ่งวูบ ก็ให้เข้าใจว่า จิต เดิมทีคลุกอยู่กับความคิดในหัว

พอเริ่มเป็นสมาธิ กลับตกลงไป ตรงฐานที่มั่นของกลางอกนี่นะ

อาการวูบนั้น .. ถ้าเป็นวูบแบบหลับ เรียกว่าเป็น ภวังค์หลับ

อาการมืดเรียกว่า ภวังค์หลับ

 

แต่ถ้าวูบไป แล้วมืดแป๊บหนึ่ง แล้วพลิกหงายกลับมาเป็นสว่าง

อันนี้เรียกว่า ภวังค์สมาธินะ 

 

เราก็ดูไปว่า ที่จิตเราวูบนี่ ยังกำลังไม่พอนะครับ

หรือว่าเราฝึกมาในแบบที่ จะทำจิตให้แคบ น้อมจิตให้แคบ

ไม่ใช่ขยายจิตให้สว่าง

 

จิตแคบ กับจิตสว่าง นี่ ขึ้นอยู่กับว่าเราฝึกแบบไหน 

แล้วก็แบบนั้น เราฝึกอย่างไรด้วยนะ

เล่าแค่นี้มาไม่พอหรอกนะ

 

ถ้าอาการข้างเคียงของสมาธิ หรือผลของสมาธินี่

อยากให้คุยทางคลับเฮ้าส์มากกว่านะครับ

หรือต่อไป ถ้า Facebook มีรูปแบบเดียวกันกับคลับเฮ้าส์

ก็จะเอามาใช้ live นี่ เพื่อที่จะได้คุยกัน 

ถ้าคำถามแบบนี้ ไม่ได้คำตอบหรอก พูดกันจริงๆนะ

______________

คำถาม: ทำสมาธิแล้วจิตดิ่งวูบ มืด เคว้งคว้างเหมือนหูดับไปไม่ได้ยินเสียง กลัวมากค่ะ ทำให้ไม่กล้าที่จะนั่งทำสมาธิอีก ถ้ากลัวแบบนี้เราสวดมนต์อย่างเดียว จิตเราจะได้สมาธิเท่ากับการนั่งทำสมาธิไหมคะ

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เมี่ยง

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=6Ei7h-UyvlU

 

ควรฝึกขณิกสมาธิไหม

 ดังตฤณ : สมาธิเป็นสิ่งที่ควรฝึก และสมาธิมีหลายระดับ 

มีทั้งขณิกสมาธิ คือ เป็นสมาธิขึ้นมาชั่วคราว

อุปจารสมาธิ คือ เฉียดฌาน

และก็ถึงขั้นฌาน คืออัปปนาสมาธิ จิตใหญ่ จิตเป็นมหัคคตะ

 

คำว่าขณิกสมาธิ จิตเป็นสมาธิชั่วคราว ก็มีได้พิสดารหลายแบบอีก

ส่วนใหญ่ คนเข้าใจกันว่า

ขณิกสมาธิ คือสมาธิอ่อนๆ สมาธิแป๊บเดียว 

แต่จริงๆ แล้ว ขณิกสมาธินี่

แม้แต่ครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ท่านก็กล่าวถึงไว้

โดยความเป็นของดีว่า ท่านพักสงบอยู่ในขณิกสมาธิ

 

หมายความว่า ท่านทำอะไรอยู่นี่

ท่านก็หลบมาอยู่กับ ภาวะขณิกสมาธิ ชั่วคราว

เพื่อที่จะเป็นการพักผ่อน

เพื่อที่จะเป็นการให้จิต ได้กลับเข้าที่เข้าทาง

และพร้อมที่จะเจริญวิปัสสนาต่อ  

 

อย่างนี้เรียกว่าเป็นขณิกสมาธิ 

ซึ่งขณิกสมาธิของแต่ละคน ก็ขึ้นอยู่กับใครฝึกสมาธิแบบไหน

ถ้าฝึกสมาธิมาแบบบริกรรมพุทโธอย่างเดียว

ขณิกสมาธิ อาจหมายถึงการที่ จิตของเราไม่วอกแวกเลย 

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไม่คิดถึงเรื่องอะไรเลย นอกจากพุทโธ

ได้ 1 นาที อย่างนี้เรียกว่าขณิกสมาธิ  

 

หรือถ้าเราฝึกมาตามแนว

เห็นลมหายใจเข้าออก โดยความเป็นของไม่เที่ยง

เห็นว่ามันเข้ามันออกอยู่ตลอดเวลา ไม่วอกแวกไปไหนเลย

1 นาทีนี่ก็เรียกว่า ขณิกสมาธิ  

 

แต่ถ้าหากว่า ขณิกสมาธิของเรา เริ่มดิ่ง เริ่มเพลิน

จิตรวมเข้ามาในลักษณะ ผนึกเข้ามาอยู่ตรงศูนย์กลางความว่าง

แล้วก็ขยายแผ่ออกไป เป็นการขยายแผ่ออกไปแบบไม่มีจำกัด

 

แบบนี้ก็เริ่มพัฒนาจากขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ

ต้องทำความเข้าใจกับนิยามของคำ ให้ถูกต้องชัดเจนนะครับ

 

เราควรฝึกสมาธิ ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม

ควรได้ฝึกทั้งนั้นแหละ เพื่อที่จะเอาจิตที่เป็นสมาธิ มาเจริญวิปัสสนาต่อ

 

แต่ที่จะเป็นสมาธิชั่วคราว อย่างที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ 

หรือว่าเป็นสมาธิชั้นดี ประณีต มีความสุข วิเวก กว้างใหญ่

เป็นอุปจารสมาธิ แบบนี้ ก็เป็นพัฒนาการของมัน

อันนี้ทำความเข้าใจนะครับ

______________

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เมี่ยง

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0FizRxyRxvo

 

สวดมนต์ขณะขับรถ ควรทำหรือไม่

ดังตฤณ – ถ้าหากว่าสติของคุณยังดีอยู่

คุณพบว่า หูตายังคมชัด โอเค 

 

แต่ถ้าหาก คุณอยู่ในโหมด (mode) ที่ว่า ขับรถแล้วสวิตช์ (switch)

ไปอยู่ในโหมดที่ สวดมนต์แล้วลืมโหมดขับรถ อันนี้ไม่ดี

 

ดูที่ใจตัวเอง ถ้าหากว่ายังมีสติเต็มร้อย

เวลาขับรถนี่ ต้องเต็มร้อยอยู่กับการขับรถให้ได้ก่อน 

มองเห็นทางได้ตลอดเวลาก่อน  

 

ถ้าพบว่า ตาคุณยังกว้าง หูตายังกว้างไกลคมชัด

เห็นอะไรต่อมิอะไรบนถนนได้ตลอด

แล้วก็มีปฏิกิริยา โต้ตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนได้ 

พอจะถึงทางเลี้ยวซ้าย อ้าวเลี้ยวซ้ายทันที 

เลี้ยวขวา อ้าวเลี้ยวขวาทันที อย่างนี้นี่เรียกว่า 100%

 

และถ้าหากว่า ใน 100% นั้น

คุณเอามาใช้สวดมนต์แล้วไม่เสีย .. อันนั้นโอเค

แต่ถ้าสวดมนต์ปุ๊บ แล้วภาพลางเลือนไป

จะซ้าย ไม่สามารถซ้ายได้ทันที ต้องคิดก่อน เดี๋ยวต้องทำอย่างไร

อย่างนี้ไม่ดีแน่นอนนะครับ

______________

คำถาม - การสวดมนต์ขณะขับรถเป็นสิ่งควรทำหรือไม่คะ

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เมี่ยง

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=4Lr5m-IUmy8