วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

นั่งสมาธิจนจิตสว่างและสงบมาก แล้วควรทำอย่างไรต่อ

ผู้ถาม: กราบสวัสดีครับ คือ มีเรื่องถามนิดเดียวว่า สมมติเรานั่งสมาธิจนถึงจิตสว่างแล้ว แล้วมันสว่างโพลงนี่ เราต้องทำอย่างไรต่อ

 

ดังตฤณ: สว่างโพลง หรืออะไรนะครับ

 

ผู้ถาม: แล้วพอสว่างโพลงเหมือนกับว่า เห็นแสงสว่าง อาจจะเป็นอุปาทานก็ได้นะครับ แต่ว่าถึงจุดที่มันสงบมาก คราวนี้ปัญหาของผมนี่คือ จากจุดนั้นนี่ ไม่รู้จะปฏิบัติต่ออย่างไร เคยลองแบบที่พระอาจารย์ท่านเคยสอนว่า ให้พิจารณาในกาย พิจารณาข้างในอวัยวะ ข้างในอะไรอย่างนี้ ก็ยังทำไม่เป็น เลยอยากได้ข้อปฏิบัติง่ายๆ จากจุดนั้นต่อไปครับ

 

ดังตฤณ: สิ่งที่เราจะต้องทำเป็นอันดับแรก ไม่ใช่การทำตอนที่จิตสว่างแล้ว แต่ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้เลย ตั้งแต่ตอนที่ยังไปไม่ถึงสมาธิตรงนั้น ยังไปไม่ถึงความสว่างตรงนั้นนะครับ

ทำตอนนี้คืออะไร คือ ทำความเข้าใจว่า จะเป็นความมืดก็ดี จะเป็นความสว่างก็ดี จะเป็นจิตที่ฟุ้งซ่านก็ดี จะเป็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิก็ดี เหล่านั้น ล้วนแล้วแต่กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา

แต่ตอนที่จิตตั้งมั่นแล้วสว่างเป็นสมาธิ ก็จะตั้งอยู่นานหน่อย จะเห็นความไม่เที่ยงได้ยากหน่อยนะครับ

 

ทีนี้ถ้าเราทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า แม้(จิต) จะตั้งอยู่นานแค่ไหน ในที่สุดก็จะต้องเคลื่อนออกมาจากสมาธิ เคลื่อนออกมาจากความสว่างนั้น ก็จะได้จุดสังเกต ได้จุดที่ตั้งของสติ

อย่างเวลาพระพุทธเจ้าท่านสอนจิตตานุปัสสนา ท่านจะสอนว่า ขึ้นต้นมาเอาง่ายๆก่อนเลย ‘ราคะ มีอยู่ในจิตก็รู้ ราคะ หายไปจากจิตแล้วก็รู้’  เสร็จแล้วท่านตรัสด้วยว่า จิตจะเป็นจิตที่มีความฟุ้งซ่านก็ให้รู้ รู้ในแต่ละลมหายใจเลยนะ ว่าจิตของเรากำลังฟุ้งซ่าน หรือว่าจิตของเรากำลังสงบ ถ้าจิตเป็นมหัคคตะ คือจิตเป็นสมาธิ จิตมีความสว่าง ก็ให้รู้ ว่าจิตเป็นมหัคคตะ เมื่อจิตออกจากความเป็นมหัคคตะแล้ว คือเสียความใหญ่ เสียความสว่างไปแล้ว ก็ให้รู้ว่าจิตเสียความสว่างไปแล้ว

 

ประเด็นคือตรงนี้ ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ตรงนี้เลย ก่อนที่จะเกิดสมาธิ แล้วเราทำสมาธิจนกระทั่งเกิดภาวะนั้นขึ้นมาอีก ก็จะมีอนุสติกำกับ จะมีสติประกอบกับจิตตอนนั้นว่า ให้รู้ไป รู้เฉยๆ ว่า จิตมีความสว่างโพลง จิตมีความนิ่ง จิตมีความสงัดจากความคิด มีความเงียบจากอารมณ์ที่หยาบๆ ทั้งหลาย เหลือแต่อารมณ์ที่ประณีต เหลือแต่ความสว่างที่ผุดผ่องอยู่ ก็รู้ไปโดยไม่ต้องทำอะไร

 

แค่รู้เฉยๆว่า นั่นเป็นจิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สมาธิจิต จากนั้นพอเราอยู่ในสมาธิไปเรื่อยๆ ตามสบายเลยเต็มที่ ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น แค่รู้เฉยๆ พอจิตจะเริ่มออกจากสมาธิ จะถอนจากสมาธินี่นะ ก็จะมีสติอีกตัวหนึ่ง ปรากฏขึ้นมาเพิ่มเติม คือรู้ว่า นี่ที่เรียกว่า ถอนออกจากสมาธิ หรือเสียจิตที่เป็นสมาธิไป สมาธิจิตหายไปแล้ว กลายมาเป็นจิตฟุ้งซ่าน หน้าตาเป็นแบบนี้ นะครับ

อาจจะเริ่มต้นด้วยการ มีสายหมอกทางความคิดอ่อนๆ ซึ่งยังไม่ก่อรูปก่อร่างชัดเจน หรืออาจจะมีภาพมีเสียง มากระตุ้นเตือน ให้เกิดความรู้สึกนึกถึงใคร นึกถึงเรื่องอะไร ตัวนี้นี่ เราบอกตัวเองได้แล้ว ณ สติขณะนั้นว่า จิตของเราเปลี่ยนจาก มหัคคตะ เปลี่ยนจากสภาวะที่เป็นสมาธิ มาเป็นสภาวะที่ไม่เป็นสมาธิแล้ว

 

จริงๆ มหัคคตะ คือ ฌานนะ แต่ผมมาพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คือภาวะอย่างหนึ่ง ของจิตที่เป็นสมาธินะครับ ที่มีความสว่าง ที่มีความตั้งมั่นชั่วคราว ซึ่งชั่วคราวนั้น อาจจะหลายชั่วโมงก็ได้ แต่ในที่สุดก็ต้องเคลื่อนออกมา

 

ความต่าง ที่จะเกิดขึ้นจากการมีสติ จากการทำความเข้าใจตรงนี้ไว้ก่อน ก็คือว่า เมื่อได้สมาธิแบบนั้นบ่อยๆ แล้วเห็น มีสติเห็น ณ ขณะเคลื่อนออกมาจากสภาวะของสมาธินั้น จะมีปัญญาแบบพุทธเกิดขึ้น แบบได้เปรียบคนทั่วไป เพราะคนทั่วไปทเวลาพิจารณาจิตตัวเอง มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ จะเห็นแบบเลื่อนเปื้อน เห็นแบบเลอะๆ เลือนๆ เห็นแบบไม่ชัดเจน

แต่คนที่มีสมาธิ แล้วเห็นว่า สมาธิจิตหน้าตาเป็นอย่างไร เคลื่อนออกมาจากสมาธิจิตเป็นอย่างไร ตรงนี้จะมีความแจ่มชัดมาก แล้วพอเห็นบ่อยๆ จะรู้ซึ้งว่า สิ่งที่เคลื่อนไป ที่ต่างไปนี่ ไม่ใช่จิตของเรา แต่เป็นแค่ภาวะหนึ่งทางธรรมชาติ ที่ไม่มีตัวใคร ไม่มีบุคคล ไม่มีเราเขาอยู่ในนั้น ตรงนี้แหละ ที่ปัญญาแบบพุทธจะเกิดขึ้น

 

หรือ ถ้าหากว่า เราเอามาเจริญสติรู้อริยาบถต่อ พอถอนออกมาจากสมาธินะ เราจะรู้ว่า จิตที่เพิ่งถอนออกมาจากสมาธิ เป็นจิตที่มีกำลัง

 

ดูได้อย่างไร รู้สึกได้อย่างไร ว่ามีกำลัง คือสติจะเข้มข้น จะมีความรู้สึกว่า สติรู้อยู่เอง โดยไม่ต้องฝืน โดยไม่ต้องเค้น แล้วพอสติที่มีกำลังดีอยู่นั้น เราน้อมเอามารู้ว่า อิริยาบถปัจจุบัน กำลังนั่งอยู่ หรือยืนอยู่ หรือเดินอยู่ ก็จะปรากฏชัด นะ

จิตที่มีกำลัง เวลาน้อมมาดูอิริยาบถปัจจุบัน อิริยาบถจะปรากฏชัดกับจิตนั้น

เมื่ออิริยาบถปรากฏชัดแล้วนะว่า กำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอน ตอนแรกๆ อาจจะดูเบสิค ๆ แต่พอดูไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดสมาธิขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เกิดสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา ณ ขณะที่กำลังรู้อิริยาบถอยู่นั่นแหละ อิริยาบถนั้นจะปรากฏโดยความเป็นกาย เห็นเป็นกายทั้งตัว และกายทั้งตัวนี้จะค่อยๆ ปรากฏรายละเอียดมากขึ้นๆ

ตอนแรก อาจจะมาในรูปลักษณะของ การขยับโน่นขยับนี่แล้วรู้เห็น โดยไม่เสียความรู้อิริยาบถหลัก คือ ยืน เดิน นั่ง นอนไป แต่ต่อมา พอรู้มากขึ้นๆ แสงจากจิตที่เป็นสมาธิ มีความตั้งมั่นรู้อิริยาบถนั้น จะเหมือนกับส่องเข้ามาข้างใน ผุดขึ้นมาจากข้างใน แล้วก็ส่องย้อนกลับเข้าไปข้างในกายนั้นแหละ ด้วยจิตที่มีความตั้งมั่นสว่าง ว่าง กว้าง จะเห็นกายเป็นของเล็ก แล้วก็จะรู้ว่า ..เออ นี่ ค่อยๆ รู้เข้าไป มีหัวใจเต้นอยู่ตรงนี้ มีลมหายใจเข้าไปถึงจุดนี้ แล้วออกมา

 

จะค่อยๆ รู้รายละเอียดมากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง เป็นแบบที่ครูบาอาจารย์ของคุณบอก ก็คือ ให้เห็นว่า ข้างในกายนี่ แออัดยัดทะนานไปด้วยอสุภะ มีตับ ไต ไส้ พุง แล้วพอเห็นตับ ไต ไส้ พุงได้ชัดเจน เหมือนกับเครื่องเอกซเรย์แล้วนี่ ก็จะพัฒนาต่อไปถึงขั้นที่ สามารถรู้ธรรมชาติของ ตับ ไต ไส้ พุงนั้นได้ว่า วันหนึ่งมันจะต้องกระจัดกระจายหายไป แยกย้ายออกจากกัน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา ไม่ใช่ทรัพย์ของใคร ไม่ใช่บุคคลที่เราจะยึดไว้ได้ว่า นี่ เป็นตัวเราในตับไตไส้พุงเหล่านั้นนะครับ

ผู้ถาม: กราบขอบพระคุณนะครับ เวลาอ่านเพจ จะนึกถึงคำถามใดขึ้นมา จะได้คำตอบจากท่านอาจารย์พี่ตุลย์ตลอดเลยนะครับ กราบขอบพระคุณ

 

ดังตฤณ: อนุโมทนานะครับ ก็แสดงว่า อยู่ในเส้นทางบุญ

 

ผู้ถาม: ตกใจทุกครั้งเลย เวลานึกถึงเรื่องอะไรที่แบบว่า เอ๊ะ สงสัยอันนี้ ปรากฏว่า เดี๋ยวเพจก็ (ตอบ) มาให้แล้ว

 

ดังตฤณ: ก็แสดงว่า เราอยู่บนเส้นทางบุญเดียวกันนะครับ อนุโมทนา สาธุนะ

 

ผู้ถาม: แต่ก็ยาก เพราะตัวเองยังมีราคะ โมหะ โทสะ ตลอดเวลา ยังหลงมาก ยัง หลงสุดๆ

 

ดังตฤณ: เราเป็นฆราวาสอย่างนี้ด้วยกัน ไม่ได้นุ่งห่มจีวรอยู่ด้วยกัน ถ้าเราค่อยๆ อยู่บนเส้นทางนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ออกจากเส้นทางเสียก่อน ในที่สุดเราจะพบว่า ความต่อเนื่องนั่นแหละ คือความก้าวหน้า ไม่ต้องสนใจว่า เรายังมีกิเลสแค่ไหน แต่สนใจว่าเรายังก้าวต่อไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องรึเปล่า ตรงนั้นแหละ  ในที่สุด จะต้องถึงเป้าหมายไปด้วยกันทุกคนครับ!

_______________

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน มุมมองที่เปลี่ยนไป

วันที่ 13 มีนาคม 2564

ถอดเสียง : เมี่ยง  

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิปhttps://www.youtube.com/watch?v=KH9OSLJeZfo

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น