วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

สวดมนต์แทนการนั่งสมาธิได้ไหม

 ดังตฤณ : แล้วแต่คนนะ คือสวดมนต์นี่เอาอย่างนี้ เรามาดูก่อนว่าทำไมท่านถึงแนะนำให้ใช้การสวดมนต์ เป็นเครื่องช่วยนำให้จิต เข้าสู่สมาธินะครับ

ถ้าเรามองเห็นภาพรวมเราจะได้คำตอบตรงนี้นะครับ

 

คือเวลาที่เราใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆนี่ เราใช้ชีวิตไปด้วยความคิดในหัวนะ ในหัวนี่จะมีความคิด บอกโน่นบอกนี่ตลอดเวลา ว่าให้เราทำนั่นทำนี่ เรากำลังอยากอย่างนั้น เรากำลังอยากอย่างนี้ เรากำลังตัดสินใจว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร จะเดินหน้าต่อหรือว่าจะถอยหลัง จะยกเลิกหรือว่าจะทำให้เสร็จอะไรแบบนี้ คือความคิดทั้งนั้นเลย

 

ที่นี้ รูปแบบความคิดที่จะเอาหรือไม่เอากับอะไรนี่ จะอยู่ในโหมดที่ลืมตา  แล้วก็เอาตัวไปพัวพัน เอาจิตเอากายไปพัวพัน กับอะไรภายนอกนะครับ ซึ่งจะลากจูงเราไปถึงไหนก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่าความคิดนี่เชื่อมต่อติดกับโลกภายนอก

 

ที่นี้ เวลาที่เราจะนั่งสมาธิ ท่านบอกว่าความคิด ไม่ควรจะมีอยู่ในหัวในระหว่างมีสมาธิ ตรงนี้เท่ากับว่าเราเปลี่ยนมิติเลยนะ เรากลับจากหัวเป็นก้อย จากก้อยเป็นหัวกับชีวิตประจำวันปกติ

 

ความคิดนี่แล่นอยู่ในหัวตลอด แล้วอยู่ๆบอกว่า มาทำสมาธิหมายความว่า จะดับความคิดลงให้ได้เลย ซึ่งถ้าใครทำได้ก็จะรู้สึกดี รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตที่เหนือระดับ หรือว่าแตกต่างจากชาวบ้านชาวช่องเขา ที่ยังต้องฟุ้งซ่านอยู่

 

ซึ่งเอาเข้าจริง เวลาที่คนธรรมดาคนหนึ่ง จะเริ่มมาฝึกสมาธิ แล้วบอกว่าจะมาอยู่กับลมหายใจนะ หรือคำบริกรรมต่างๆ และไม่เอาความคิดในหัว นี่ตรงนี้จะมีความรู้สึกราวกับว่า คน 2 คนต่อสู้กัน คนที่อยากจะนั่งสมาธิ กับคนที่อยากจะเป็นตัวเดิมของตัวเอง ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากอยู่กับเขาแบบเดิม

 

ความคิดนี้ ตอนที่ไม่อยากจะนั่งสมาธิ ไม่อยากจะมาอยู่สงบๆ แล้วมาดูลมหายใจเฉยๆ หรือว่าบริกรรมคำอะไรซ้ำๆ นี่ จะเป็นความคิดในแบบที่พยายามแย่งพื้นที่ของจิต ให้ไประลึกนึกถึงอะไรที่กำลังติดใจอยู่

 

อย่างเช่น เคยเล่นเกมสนุก ความคิดก็จะเอาภาพ เกี่ยวกับการเล่นเกมส์ขึ้นมาใส่หัว หรือว่าจิตกำลังมีความรู้สึกหวานแหววกับคนรัก หรือว่าคนที่กำลังตามจีบอยู่ อะไรต่างๆ ก็จะดึงภาพบุคคล อันเป็นที่ตั้งของความรัก เข้ามาอยู่ในใจ แล้วก็คิดว่า เคยคุย เคยพูด หรือว่าอยากจะได้คุย อยากจะได้เห็น อยากจะได้สัมผัสให้มากขึ้นแค่ไหน

 

จะมีความปรุงแต่งเป็นขั้นบันไดต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่เรานั่งหลับตา และความคิดพยายามแย่งตัวเรากลับมา หาตัวเดิมที่อยากโน่นอยากนี่

 

ทีนี้ พอเรามองเห็นภาพของความแตกต่างอย่างนี้ เราก็จะมองเห็นว่า การสวดมนต์ .. อิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมา.. นี่เข้าโหมดไหน

 

ก็เข้าโหมดที่เป็นความคิด ยังเป็นความคิดอยู่ คิดถึงบทสวด ไม่คิดสุ่ม ไม่อนุญาตให้ตัวเองคิดถึงคนรัก ไม่อนุญาตให้ตัวเอง คิดถึงเรื่องที่ติดใจ แต่อนุญาตเฉพาะ สิ่งที่เป็นคำเฉพาะหน้า .. อิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ .. แล้วใจจะไปตั้งอยู่ที่ไหนไม่ได้ นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

 

พอจิต มีตัวเชื่อมระหว่างโลกเดิมกับโลกใหม่ โลกเดิม คือโลกของความยุ่งเหยิงด้วยกิเลส โลกใหม่คือโลกของสมาธิ ที่ว่างจากความคิด การสวดมนต์ อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงจุดที่เรายังคิดอยู่ ความคิดไม่ได้ดับไป แต่คิด ในแบบที่มีความแน่นอน ไม่ได้คิดตามใจอยาก

 

ตรงนี้นี่ ก็เป็นเครื่องคั่น ระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ แล้วถ้าหากว่าการสวดมนต์ของเรา เป็นไปแบบถูกต้องคือ สวดว่า อิติปิโสภะคะวา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ ด้วยใจที่ไม่คิดอะไรอย่างอื่น ไม่วอกแวก สวดแบบเต็มปากเต็มคำ สวดแบบคอตั้งหลังตรง ด้วยท่านั่งที่มีความสบาย ราวกับเป็นพานทองรองรับบทสวด ที่มีความสูงสุด ที่มีความศักดิ์สิทธิ์

 

ในที่สุดนี่ จิตจะเกิดความเบา จิตจะเกิดการสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

 

เสร็จแล้ว ความเบาความว่างความนิ่งความสบายนั้น จะทำให้รูปแบบความคิด ประณีตขึ้น คือไม่ใช่แค่สวดแบบแปล่งเสียงอย่างเดียว แต่สวดด้วยใจที่มีความนอบน้อม เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนถึงจุดหนึ่ง จิตจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความรู้สึกว่า ว่าง นิ่ง กว้างขวางแล้วก็มีความสว่าง

 

เมื่อไหร่ที่จิตสวดมนต์ จนไปถึงจุดที่มีความสว่างเบิกบาน กว้างขวาง จุดนั้น เป็นจุดที่สมาธิเริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยยังไม่ต้องนั่งหลับตาทำสมาธินะครับต่อให้ลืมตาสวดมนต์ ถ้าหากไปถึงจุดที่มีความสว่าง คุณจะรู้สึกเลยว่าความสว่างนั้นเอง คือความศักดิ์สิทธิ์

 

พูดง่ายๆ พอเราน้อมใจเปิดรับ และสดุดีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ จนกระทั่งจิตสว่าง เราจะไม่รู้สึกว่าจิตนี่กำลังนอบน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว แต่จะปรากฏราวกับว่า จิตกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเอง

คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ มาประดิษฐานอยู่ในจิตของเรา ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราอาจจะยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจเรื่องการทำวิปัสสนาขั้นสูง ไม่รู้หรอกว่า ความรู้สึกในการหลุดพ้น ของพระอรหันต์เป็นอย่างไร

 

แต่ถ้าหากว่าสวดมนต์จนกระทั่ง จิตมีความสว่าง ราวกับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียเองได้นี่ เราจะเข้าใจรสชาติของการปล่อยวาง เพราะพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และพอเรานอบน้อม สักการะท่านด้วยจิตนะ ด้วยจิตที่เหมือนกับดวงแก้ว ที่มีความแพรว ที่มีความใส เราจะรับรู้ได้ว่า ทิศทางของความเป็นพุทธ ก็คือจิตที่มีความว่างจากกิเลส จากตัวตนนะครับ

 

และจิตที่เป็นสมาธิ มีความว่าง มีความสว่างที่ ณ จุดนั้นนั่นแหละ ที่เราเอามาพัฒนาต่อ นั่งสมาธิ ก็จะเป็นสัมมาสมาธินะครับ

 

จะรู้ความเป็นกาย รู้ความเป็นใจ สภาวะความปรุงแต่งของจิตนี่ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นอะไรที่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าไปต่อติดกับความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ที่เรามีไว้ก่อนเป็นทุนนี่นะ เมื่อมาบวกกับสมาธิ ที่น้อมเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเต็มๆดวงนี่ ก็จะพัฒนาต่อเองแบบก้าวกระโดด รวดเร็วมาก

 

เพราะฉะนั้น ทำความเข้าใจตรงนี้ สวดมนต์แทนการนั่งสมาธิได้ไหม .. นั่นคือสะพานที่ดี ที่จะเชื่อมระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่

 

โลกใหม่ คือโลกของสมาธิแบบพุทธนะครับ ถ้าหากว่าเราสวดแบบเข้าใจจริงๆว่า จิตนี่จะบูชาถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบไหน ..แบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ยึดมั่น ถือกายใจนี้เป็นตัวเป็นตน คือพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย นั่นแหละที่จะเป็นต้นทาง จะเป็นต้นเหตุ จะเป็นทิศทางที่ถูกต้องให้จิตนี่เดินต่อไปในแบบที่ตามรอยพระอรหันต์ท่านนะครับ

________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์ลดความฟุ้งซ่าน

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล/เอ้

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=4w82OlaY2bI


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น