วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมมาตลอดสามปี อยากพัฒนาจิตต่อ

 

ดังตฤณ : ที่ผ่านมา ชีวิตพามาถึงธรรมะได้อย่างไร?

 

ผู้ถาม : เริ่มได้ศึกษาธรรมะ เพราะมีปัญหาครอบครัวตอนช่วงแต่งงานใหม่ๆ พี่สาวแฟนแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมดู ว่าอาจจะช่วยอะไรได้ 

จากที่ไม่เคยสนใจมาตลอด 30 ปี ก็เลยลองดู หลังจากปฏิบัติแล้ว เหมือนเปิดตา เหมือนปิ๊งขึ้นมาว่า เรามีทางออก .. ถ้าเราทำความเข้าใจได้ ก็น่าจะช่วยได้ ก็ปฏิบัติมาอีก 2-3 ปี หลังจากนั้นก็ทิ้งไป



ดังตฤณ : ช่วยเล่าประสบการณ์ทางธรรมะที่ได้สมาธิ หรือได้ปัญญาแบบพุทธ มีจุดไหนที่เป็นจุดที่ประทับใจ และอยากบอกเล่าให้คนที่ตามมาข้างหลัง ได้เข้าใจว่า อ้อ เวลาที่ปฏิบัติแล้ว จะมีความรู้สึกดี หรือว่ามีประสบการณ์อย่างนี้นี่เอง คนเขาถึงอยากปฏิบัติธรรมกัน มีตรงไหนบ้างครับ



ผู้ถาม : หลังจากนั้น ตอนอายุประมาณ 39 ผมได้บวชอีกทีหนึ่ง ได้บวชหนึ่งพรรษา ครั้งนี้ถือเป็น turning point ของชีวิตเลย เพราะพลิกความคิดเราหมดเลย เหมือนตื่นจากการหลับมาตลอด 39 ปี

 

มันเปลี่ยนความคิด เพราะพูดตรงๆ ว่า ตอนที่ปฏิบัติมา เรายังไม่ให้คุณค่ากับสมาธิเท่าไหร่ แต่พอได้มาปฏิบัติจริงๆ แล้วเห็นผลจริงๆ ก็พลิกความคิดทั้งหมดเลย

 

ทำให้ความโลภ ความอยากเรื่องทางเพศพวกนี้ หรือความอยากในเรื่องต่างๆ ลดลงเหลือครึ่งหนึ่งจริงๆ แล้วพอก่อนที่จะสึก ก็เลยตั้งจิตไว้ว่า จะปฏิบัติสมาธิตลอดชีวิตจนตาย



ดังตฤณ : คืนนี้มีคำถามอะไรครับ 

 

ผู้ถาม : หลังจากสึกมา 3 ปี ก็ปฏิบัติทุกวัน ปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอด ไม่มีหยุดทุกวัน เหมือนการที่ตั้งเป้าไว้ได้ .. รู้สึกว่าการตั้งสัจจะและอธิษฐานจิต นี่ สำคัญมาก

 

พอปฏิบัติมาถึงช่วงปีที่ 3 ตอนนี้ รู้สึกว่า มีอะไรที่เราจะพัฒนาจิตเพิ่มเติมอีกไหม จากที่ปฏิบัติมาต่อเนื่องตลอด 3 ปี 



ดังตฤณ : ที่ผ่านมา ใช้วิธีไหนในการภาวนาครับ?

 

ผู้ถาม : ตอนแรกใช้หลายวิธี ยุบหนอ พองหนอ ..พุทโธ ..

 

ดังตฤณ : เอาที่ทำประจำอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ทำจริงๆ

 

ผู้ถาม : สุดท้ายที่ทำจริงๆ ตลอด 3 ปี คือ อานาปานสติ .. กลับมาสู่จุดเริ่มต้นหมดเลย ทำตามที่พระพุทธองค์สอนหมดทุกอย่างเลย



ดังตฤณ : อย่างเริ่มต้นขึ้นมา วางท่านั่งใช่ไหม เอาประสบการณ์ของคุณก่อนเลยนะ ขึ้นต้นมา มีความเคยชินที่จะอยู่กับอะไร 

 

ผู้ถาม : เคยชินอยู่กับลมหายใจและสภาวะ

 

ดังตฤณ : ไม่ใช่ครับ คือ ขึ้นต้นมาเลย ตั้งต้นมา อย่างสมมุติว่า ตอนนี้จะให้คุณนั่งทำสมาธิ คุณจะนึกถึงอะไรก่อน

 

ผู้ถาม : ไม่นึกเลยครับ พอนั่งปุ๊บ ก็เข้าเลย .. คือ จิตจะดิ่งลงเลย วางตัวตนเลยทันที จะเป็นสภาวะแบบนั้น คือ ไม่ได้ปรุงแต่งอะไร 

 

ดังตฤณ : อย่าง อานาปานสติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสขึ้นมาตามลำดับว่า ..

 

ผู้ถาม : 16 ขั้น

 

ดังตฤณ : จริงๆ 16 ขั้น เป็นเหมือนกับข้อสรุปของครูบาอาจารย์ยุคสมัยเรานะ ซึ่งจริงๆ พระพุทธเจ้า บางที่ท่านก็ตรัสไว้มากกว่านั้น หรือน้อยกว่านั้น

 

ทีนี้ คำถามของผมก็คือว่า เวลาที่ คุณเริ่มต้นนั่งขึ้นมา คิดถึงอิริยาบถปัจจุบัน หรือว่า นึกถึงลมหายใจขึ้นมาก่อน เพราะพระพุทธเจ้าจะตรัสตามลำดับเสมอว่า

 

ขึ้นต้นขึ้นมา นั่งกายตรง ดำรงสติมั่น ขาขวาซ้อนขาซ้าย อะไรแบบนี้ แต่ท่านไม่ได้บอกนะ ว่าให้ซ้อนมือหรือเปล่า จริงๆ ท่านเปิดตรงนี้

 

อยากให้ลองเล่าให้ฟังว่า ที่เคยชินจริงๆ โดยตลอด เราเริ่มต้น .. นึกออกไหม เพราะจิต อยู่ๆ ไม่ใช่หรอกที่เราไม่ได้คิดถึงอะไร แล้วรวมลงเอง ต้องมีทิศทางที่จะเหนี่ยวนำ ให้จิตรวมลงเสมอ

 

ตรงนี้ เขาเรียกว่า ปลง และ วิตก และ วิจารณ์ จะต้องเป็นตัวตั้งเสมอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ อานาปานสติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอิริยาบถและลมหายใจ

 

ที่ผ่านมา คุณนึกถึงอะไรก่อน?

 

ผู้ถาม : ผมจะนั่งคู้ขาเข้ามา แล้วเอามือวางอยู่บนหัวเข่า 2 ข้าง

 

ดังตฤณ : ดีเลยครับ เพราะจะทำให้ไหล่เปิด 

 

ผู้ถาม : แล้วหลับตา ช่วงที่มีสติหรือสมาธิดี ก็หายใจเข้า ปุ๊บ แล้วหายใจออก แล้วก็สงบลงเลย แล้วก็ตามรู้ลมหายใจ ตามรู้สภาวะที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่าอยู่ตรงนั้น มีปีติ แล้วก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ครับ

 

ดังตฤณ :

เราคุยกันตรงๆ เลยนะ ที่ผมเห็น พอคุณรู้สึกถึงลมหายใจ แล้วจิตมีความเคยชินที่จะเข้าทาง อันนี้จริง.. คือ จะมีความรู้สึกสบาย มีความรู้สึกโล่ง

 

Point ก็คือว่า อานาปานสตินี่ คนมักจะมาติดกันที่ตรงนี้

 

คนที่เข้าใจว่าตัวเองทำอานาปานสติมา โดยเฉพาะกรณีของคุณนี่ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการทำความเคยชินกับลมหายใจ และความสุขอันเกิดจากการหายใจ

 

สมองจะเข้าโหมดว่า เลิกคิด พอรู้สึกถึงลมหายใจ จะมีการลั่นไก หรือ มี trigger ที่จะกระตุ้นให้เกิดจิต แบบที่มีความสงบจากความคิดขึ้นมา

 

แล้วพอจิตสงบจากความคิด ธรรมชาติร่างกายก็จะเริ่มผ่อนคลาย เริ่มสบาย ไม่กังวล ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรทั้งสิ้น นอกจากภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ..อันนี้ คือ ข้อดีของการหายใจเป็น

 

ถ้าหากหายใจเป็นแล้ว ภาวะที่เป็นปัจจุบันจะปรากฏต่อจิต ที่ว่างจากความคิด

 

ประเด็น คือ เมื่อเราฝึกมาถึงตรงนี้ หรือได้ถึงตรงนี้ ส่วนใหญ่ เท่าที่เห็นมาทั้งชีวิต ส่วนใหญ่จะทำกันไม่เหมือนสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาล จะต้องมีการคาดคั้นจากครูบาอาจารย์ ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ว่า เห็นว่าในแต่ละลมหายใจ ที่เกิดความสุขขึ้นมา สุขมากหรือสุขน้อย

 

ถ้าสุขมาก ขยับขึ้นไป เรียกว่าเป็น ปีติ บ้าง ปราโมทย์ บ้าง ถ้าสุขน้อยลงมา ก็อาจจะเฉยๆ เรียกว่า สุขอ่อนๆ สุขธรรมดา อะไรแบบนี้ เริ่มเห็นความไม่เที่ยงในแต่ละลมหายใจ

 

ในแต่ละลมหายใจ นี่ จริงๆ แล้ว ถ้าสังเกตตั้งแต่เริ่มเลย จะมียาว จะมีสั้นไม่เท่ากัน ซึ่งความไม่เท่ากันนี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของคำว่า อานาปานสติ

 

คำว่า อานาปานสติ ไม่ใช่อยู่กับลมหายใจนะ แต่ให้ลมหายใจ จุดประกายสติขึ้นมาสังเกตว่า แต่ลมหายใจมีภาวะอะไรกำลังปรากฏอยู่เพื่อที่ว่า พอภาวะนั้นหายไป หรือ เปลี่ยนไป คลี่คลายไปในลมหายใจต่อมา จะได้เห็นถึงความไม่เที่ยง และพอเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ เข้า ก็จะเกิด "อนิจจสัญญา"

 

คำว่า อนิจจสัญญา หมายถึง ความไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ต้องต่างไป เดี๋ยวก็ต้องไม่ใช่ตัวเดิม อันนี้แหละ ที่จะทำให้ภาวะการเป็นสมาธิใน อานาปานสติ พาเรามาสู่ความรู้สึกว่า กายที่กำลังหายใจอยู่นี้ ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน

 

คือ จะเป็นไปตามลำดับนะ .. พอเรามีจิตที่เป็นสมาธิอยู่จริงๆ แล้วก็สังเกตลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น และความสุขความทุกข์ที่มากับแต่ละลมหายใจ ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน ก็จะพาเข้ามาถึงจุดสรุปว่า อิริยาบถทางกาย หายใจอย่างรู้ว่า กำลังหายใจอยู่ในอิริยาบถท่าทางนี้ 

 

ทั้งกายที่มันกำลังเป็นเครื่องตั้งลมหายใจนั่นแหละ ก็เป็นที่สังเกตความไม่เที่ยงได้เช่นกัน

 

คือ พอเราถอนออกจาก อานาปานสติ แล้ว จะก็ไม่จบแค่นั้น .. ลมหายใจจะปรากฏที่ตัวอยู่ จนกลายเป็นความเคยชินอีกแบบหนึ่ง คือ จะเดินก็ตาม เราจะเห็นว่า เดินด้วย หายใจด้วย ..จะนอนก็ตาม เราจะเห็นว่า นอนด้วย แล้วก็หายใจด้วย

 

ท่านั้นๆ เป็น 'คน' หายใจ ..ไม่ใช่ 'เรา' เป็นคนหายใจ

ท่านอนหายใจ ท่าเดินหายใจ ท่านั่งหายใจ ไม่มีตัวใครหายใจ

 

ตรงนี้ ที่จะเป็นปัญญาแบบพุทธ จะค่อยๆ เบ่งบานขึ้นมาตามกำลังของสมาธิ เพราะสมาธินี้ คนส่วนใหญ่พอมาถึงจุดที่สบายแล้ว มักจะมีความเคยชินที่จะหยุด 

 

เพราะอะไร?

 

เพราะธรรมชาติของจิตมนุษย์ จะมีความรู้สึกว่า ความสงบ หยุดฟุ้งซ่าน คือ จุดหมายปลายทาง คือ เป้าหมายของการทำอานาปานสติ



แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราเข้าใจแบบสมัยพุทธกาล จิตที่เป็นสมาธิ พร้อมรู้ลมหายใจทั้งปวง และพร้อมรู้อิริยาบถ อันเป็นที่ตั้งแห่งลมหายใจ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของวิปัสสนา

 

ยิ่งเราสั่งสม อนิจจสัญญา เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ .. เราจะยิ่งหายใจ อย่างรู้ว่า นี่ ก็ไม่เที่ยง นั่นก็ไม่เที่ยง

 

ที่สุขอยู่ตอนนี้ มันแป๊บหนึ่ง .. เดี๋ยวมันคลี่คลาย กลายเป็นเฉยๆ 

ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความเสียดาย ไม่มีความอาลัย

มีแต่ความเห็น ที่เป็นสติว่า อะไรๆ กำลังแสดงให้รู้ความไม่เที่ยงอยู่

 

 

ผู้ถาม : ในปัจจุบัน ก็ใช้อานาปานสติกับทุกอิริยาบถ คือ ทำได้ทุกสภาวะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงาน จะเดิน จะอยู่ข้างนอก ถ้าเราว่างจากกิจการงาน ว่างจากสิ่งที่เราทำอยู่ ก็จะกลับมาที่ลมหายใจ ดูสภาวะที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ดังตฤณ :

เมื่อกี้ ผมตอบข้อสงสัยแล้วหรือยังครับ?

 

ผู้ถาม :

ตอบแล้วครับ และก็ได้ขยายความของการกระทำเพิ่มขึ้นด้วยว่า จริงๆ แล้ว อานาปานสติ ใช้ได้กับทุกอิริยาบถ ไม่ใช่แค่กับการนั่งสมาธิ ใช้ในการดำรงชีวิตได้เลย ไม่ว่าจะทำอะไร

_______________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถ่ายทอดจากคลับเฮาส์ ครั้งที่ 1

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=NtxHqVAsiU4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น