ดังตฤณ : ที่ผ่านมาชีวิตเราชีวิตนี้ชาตินี้ พามาถึงธรรมะได้อย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังนิดนึงครับ
ผู้ร่วมรายการ
: คุณพ่อผมได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับคุณแม่ด็อกเตอร์สิริ
กรินชัย ผมก็เลยได้ปฏิบัติมาตามคุณพ่อจนถึงทุกวันนี้ครับ
ดังตฤณ : ครับ อนุโมทนาครับ ที่ผ่านมามีประสบการณ์ยังไงบ้างว่าเราไปเดินจงกรมแล้ว
แล้วเห็นอะไรยังไงเกี่ยวกับกายใจของตัวเอง ช่วยเล่าให้ฟังนิดนึงครับ
ผู้ร่วมรายการ
: ช่วงเด็กๆก็จะมีเวลาในการเข้าปฏิบัติธรรมเยอะมากกว่าตอนนี้
ช่วงเด็กๆที่ผ่านมาสติค่อนข้างแข็งแรงว่องไว แล้วก็สังเกตเห็นอะไรได้เยอะขึ้นกว่าตอนโตนี้มาก
ที่บอกว่าสติแข็งแรงผมก็วัดจากที่เวลามีอะไรมากระทบ
เรารู้ว่ามันมากระทบแล้วเกิดอะไรขึ้นที่ใจเรา เกิดอะไรขึ้นที่กายเราบ้าง
ตอนเด็กๆจะค่อนข้างรู้ชัดเจนแล้วก็บ่อย
แต่พอโตขึ้นด้วยหน้าที่การงานด้วยหลายๆอย่างทำให้ผมห่างเหิน
บางทีก็ยากที่กลับมาดูใจดูกายตัวเอง อยากจะถามเทคนิคว่า จะทำยังไงให้ดึงตัวเองกลับมาทุกๆวันครับ
ดังตฤณ : โอเคเข้าใจคำถามแล้วครับ
ในการที่เราจะดึงสติกลับมาอยู่ในชีวิตประจำวันได้เนี่ย มันไม่มีทางเลี่ยงอย่างอื่น
คือเราต้องหาทางจับจุดว่าทำยังไง มันถึงจะมีความสามารถที่จะเกิดสติได้ในระหว่างวัน
เนี่ยตัวนี้ต้องตั้งเป็นโจทย์ก่อน
ไม่ว่าเราจะปฏิบัติมายังไงก็ตาม
ขอให้สังเกตว่าการปฏิบัตินั้นเนี่ย มันเป็นจุดเริ่มต้น หรือว่าจุดประกาย หรือว่าเป็นชนวนให้เกิดสติระหว่างวันได้หรือเปล่า
ยกตัวอย่างเราเดินจงกรม
ถ้าเราสามารถเดินจงกรมในทางเดินได้ด้วย
แล้วก็พอออกจากทางเดินจงกรมเรายังมีความรู้สึกราวกับเดินจงกรมอยู่
อันนี้แสดงว่าการเดินจงกรมของเราเนี่ย
มันเป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้เกิดสติระหว่างวันนะครับ
แต่ถ้าออกจากทางเดินจงกรมแล้ว
มันเหมือนทิ้งน้ำเลยที่อุตส่าห์เดินมาทั้งหมดเป็นชั่วโมงๆ หรือบางทีเป็นวันๆ
ตรงนี้แสดงว่าการเดินจงกรมแบบของเราเนี่ยมันเวิร์คไม่ได้กับชีวิตประจำวัน
อันนี้ไม่ได้พูดถึงแนวคำสอนหรือว่าสำนักไหนนะครับ
แต่พูดถึงเฉพาะว่าการเดินจงกรมของเรา หรือว่าการนั่งสมาธิของเราเนี่ย
มันไม่มาเอื้อให้เกิดประโยชน์กับสติในระหว่างวัน
ทีนี้พอเราเข้าใจมุมมองตรงนี้
เราตั้งโจทย์ต่อได้ว่า แล้วเดินยังไงล่ะ แล้วนั่งสมาธิยังไงล่ะ
หรือสวดมนต์ยังไงล่ะ ที่มันจะทำให้เกิดความต่อเนื่องสืบเนื่องออกมานอกทางเดินจงกรมนอกที่นั่งสมาธิหรือว่านอกห้องพระที่เราใช้สวดมนต์
ตรงนี้โจทย์ข้อนี้ถ้ามีความชัดเจน ในที่สุดเราจะได้หลักหรือว่าจับจุดได้ถูกได้ตรง
ถ้าเรามีสติในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความชำนาญ
อย่างมีความเชี่ยวชาญ อย่างมีความเคยชิน ในที่สุดเราจะไม่ต้องเค้นไม่ต้องพยายาม
สติของเราจะเป็นสติอัตโนมัติอยู่กับชีวิตประจำวัน ถึงแม้เราจะโกรธ ถึงเราจะเหม่อ
ถึงแม้เราจะเผลอ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของคนยังไม่ใช่พระอนาคามี
ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เราก็จะมีความรู้สึกว่า ไอ้ความโกรธนั้นถูกรู้ได้เร็ว
หรือเกิดความเหม่อ เกิดความฟุ้งซ่าน หรือเกิดกิเลสแรงๆขึ้นมา
แทนที่จะซัดเราหายเข้าป่าเข้ารกเข้าพงไปเลย
มันก็จะอยู่ได้แป๊บนึงเป็นพายุอ่อนๆพัดมาวูบนึงแล้วก็หายไป
ใจเราจะหลงแล้วก็ไม่ถูกซัดไปง่ายๆ มันจะกลับมาสู่ที่ตั้งได้ไม่ยาก
ทีนี้ถามว่าพระพุทธองค์สอนไว้อย่างไร?
แบบที่จะทำให้สติกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้
ท่านตรัสไว้หลายที่เลยบอกว่า ใครก็ตามที่เจริญอานาปานสติได้เชี่ยวชาญ ผู้นั้นจะไม่มีช่องว่างจะไม่มีช่องโหว่จะไม่มีจุดอ่อนให้มารเล่นงานได้
มารในทีนี้มีทั้งกิเลสมาร
มีทั้งขันธมาร มีทั้งอะไรต่างๆโดยสรุปแล้วก็คือ ถ้าเราอยู่กับลมหายใจเป็น
ไม่ใช่แค่จ้องลมหายใจอย่างเดียว แต่มีความเคยชินมีความชำนาญจริงๆที่จะรู้สึกอยู่เรื่อยๆว่า
กำลังหายใจเข้าอยู่ หรือว่าหายใจออกอยู่ กำลังหายใจยาวอยู่ หรือว่าหายใจสั้นอยู
จนกระทั่งมันเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาแบบหนึ่ง เห็นออกมาจากมโนภาพภายในว่า
เออนี่มันกำลังมีสายลมหายใจลากยาวบ้าง สายลมหายใจปล่อยออกมาสั้นๆบ้าง แตกต่างกันไปเรื่อยๆ
ตรงนี้ในที่สุดแล้วเราจะพบความจริงตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วคือ
ผู้ใดมีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญที่จะรู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่
ผู้นั้นจะตกเข้าสู่บ่วงมารได้ยากขึ้น ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
อันนี้ก็เหมือนกันคือสติเนี่ย มันจะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ เมื่อเรารู้สึกอยู่ว่าอารมณ์กระทบต่างๆ หรือว่ากิเลสที่มันเกิดขึ้น ณ ขณะหนึ่งๆเนี่ย มันเกิดขึ้นด้วยลมหายใจแบบไหน ตรงนั้นเนี่ยเราจะไม่หลงไปนาน แล้วก็ไม่หลงไปยาวนะครับ อันนี้คือคำตอบนะครับ
---------------------------------------
๒๐
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
Clubhouse
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
คำถาม : ช่วงเด็กมีสติแข็งแรง ว่องไวกว่าตอนโตมาก วัดจากการรู้ทันเวลามีเรื่องกระทบ พอโตแล้วกลับสติด้อยลง จะดึงตัวเองกลับมาอย่างไร?
ระยะเวลาคลิป ๗.๒๕ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=j8q0VyDo-P0&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=32&t=9s
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น