ผู้ร่วมรายการ : งานที่ทำอยู่ตอนนี้ ไม่รู้ว่ามันเทรน(train)เรามาให้จะต้องหาอะไรมาใส่หัวตลอดเวลาหรือเปล่า งานที่ทำ ทำวันละ ๑๐ ชั่วโมง แล้วทำอยู่กับคอมพิวเตอร์ตลอด ๑๐ ชั่วโมงคือดูหน้าจอตลอดเวลา
พอหลังเลิกงานมันก็มีมือถือ ไอแพด อะไรต่างๆ มีอยู่ช่วงนึงถ้าวันไหนแบตหมดแล้วเราไม่ได้ทำงานเหมือนขาดอะไรไป ไม่รู้ว่างานที่ทำมันเทรนให้เราฟุ้งซ่าน จิตมันเลยต้องหาอะไรคิด
ดังตฤณ : โอเคครับ ตอนนี้พูดง่ายๆนะ เราทุกคนเป็นคนเมืองอยู่ในยุคไอที จะมาร้องอุทธรณ์ไม่ได้ว่าจงอย่าได้มีสิ่งแวดล้อม หรือว่าอะไรที่มันรบกวนตา รบกวนใจ ให้เกิดความรกรุงรังทั้งในหัว
แล้วก็ในหัวใจในตัวของเราเต็มไปด้วยคลื่นอะไรเยอะแยะไปหมดที่มันแทรกผ่านเข้ามา มันเต็มไปด้วยอาหารอะไรแปลกๆที่มันธรรมชาติบ้าง ไม่ธรรมชาติบ้าง สังเคราะห์ หรือว่าเป็นอะไรที่มันพยายามกลับไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมที่บริสุทธิ์เยอะไปหมดนะครับ
ยุคของเราเป็นยุคที่ชีวิตมันมีความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่แรกเกิดเลย เด็กแรกเกิดทุกวันนี้รู้จักไอแพด รู้จักไอโฟน เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปเหมือนกับขอว่าจงอย่าได้มีสิ่งรบกวนอะไรแบบนี้มาทำให้จิตใจของเรายุ่งเหยิง แล้วก็ปฏิบัติธรรมยาก เราร้องขอไม่ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้ก็คือ เห็นมันไปตามจริงว่า ตอนที่ตื่นขึ้นมาถ้าหากว่าเป็นการตื่นนอนอย่างมีสติ เป็นการตื่นนอนจากการหลับที่มีคุณภาพ มันจะรู้สึกตัวเบาใจสบาย แล้วก็มีความรู้สึกปลอดโปร่งชีวิตมันดีอย่างน้อยก็ช่วงเช้าช่วงนั้น
แต่พอสายๆ หรือว่าเวลาในระหว่างวันล่วงไป เราเจอกับโทรศัพท์ เราเจอกับเสียงโน่นเสียงนี่ไอ้ที่มันเกี่ยวข้องกับไอทีอะไรทั้งหลายเนี่ยนะครับ มันมีความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบนึงว่า ที่มันโปร่งๆที่มันโล่งๆเนี่ย มันหายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ กลายเป็นเหมือนเข้าสู่ป่ารกแบบเดิม
ซึ่งคนยุคเราก็จะบอกว่าฉันไม่ชอบแบบนี้แล้ว ฉันทนไม่ไหวแล้ว แล้วก็พยายามไปอยู่ป่าอยู่เขากัน อันนี้ก็คือตัวอย่างว่าทำไมคนถึงได้พยายามหลีกหนี เสร็จแล้วสุดท้ายต่อให้ไปอยู่เข้าจริงๆ ต่อให้เป็นทะเลสวยๆ ต่อให้เป็นเนินเขางามๆ ก็ทนอยู่ไม่ไหว คล้ายๆมีอะไรเรียกร้องให้กลับมาฟุ้งซ่านใหม่
ยุคเราต้องทำไว้ในใจว่าเราหลีกหนีไม่ได้ แต่เราเห็นข้อดีของมันก็แล้วกันคือ มันทำให้เรามีโอกาสมากกว่าคนยุคโบราณเยอะ
คนยุคโบราณ ถ้าหากอยู่ห่างจากพระสงฆ์ หรือว่ามีโอกาสได้แค่เจอพระที่ปฏิบัติแบบไม่ค่อยรู้อะไร ไม่ค่อยสอนอะไรเนี่ย เขาหมดสิทธิ์หาข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเลยนะ
ในยุคเราเนี่ยคือได้ฟังธรรมะที่ออกมาจากพระพุทธเจ้าตรงๆเลย คือง่ายๆเลยด้วยปลายนิ้วกระดิกเราสามารถเสิร์ชหา 84000.org เข้าไปแล้วเสิร์ชหาคำที่ต้องการอย่างเช่นคำว่า “เจริญสติ” คีย์คำว่า เจริญสติ เข้าไป คำว่าเจริญสติปัฏฐาน ๔ เนี่ย ออกมาเต็มเลย นี่ก็คือข้อดีนะครับที่เราต้องแลกกัน
ทีนี้ถามว่า ในแง่ของการปฏิบัติเราเอายังไงกับมันดี คือการที่เรามีหัวรกๆ มีหัวยุ่งๆอยู่เนี่ยไม่ใช่ว่าเราจะไม่ได้ประโยชน์จากมันเลย น้องลองสังเกตตอนที่กลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน มันจะรู้สึกเหมือนตอนเข้าห้องเงียบๆเหลือตัวคนเดียวเนี่ย คล้ายกับมีเสียงผู้คนตามมาจากออฟฟิศ หรือตามมาจากท้องถนน มีอะไรต่อมิอะไร คือเราจะเจออะไรคล้ายๆกับใยแมงมุม หรือว่าข่ายใยอะไรบางอย่างที่มันห่อหุ้มหัวเราอยู่ แล้วมันรกรุงรังอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยิ่งเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบลงมากขึ้นเท่าไหร่เนี่ย ภาวะยุ่งเหยิงปั่นป่วนคล้ายๆกับใยแมงมุมตรงนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นเท่านั้น
ถ้าหากว่าเรามีความเคยชินอะไรสักอย่างเป็นวิหารธรรม อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ตั้งแต่เมื่อสองพันปีที่แล้วก็ยังมีอยู่ในสมัยนี้เอามาใช้ได้ เป็นอุปกรณ์ของมนุษย์คือ ลมหายใจ ติดตัวเราอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เวลาที่เราอยู่คนเดียว เราลองมานั่งดูลมหายใจ ลมหายใจแรกสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นแน่ๆคือความรู้สึกอึดอัดฝืดฝืนไม่อยากดูต่อ เพราะว่าอะไรที่มันเกาะหัวความฟุ้งซ่านเนี่ยนะครับ มันรบเร้าให้เราออกไปหาอะไรอย่างอื่นทำแบบที่สอดคล้องกับมัน พูดง่ายๆอยากไปหาเรื่องฟุ้งซ่านทำ ไม่ได้อยากมาอยู่สงบๆกับลมหายใจ
แต่ทีนี้ถ้าเราไม่กะจะเอาความสงบล่ะ ไม่กะว่าจะระงับความฟุ้งซ่านให้ได้เดี๋ยวนั้น แต่เรากะว่าเราจะมาดูซิ ไอ้สิ่งที่มันห่อหุ้มหัวของเราอยู่เนี่ย ราวกับมีลูกตะกร้อที่มันปั่นจี๋ๆๆอยู่รอบหัวเราเนี่ย ถ้าเรามาสังเกตว่าลมหายใจแรก มันมีความหมุนจี๋แค่นี้ มันมีความปั่นป่วน มันมีอาการจะพยายามยื้อเราให้ไปหาเรื่องที่มันทำแล้วสนุก ที่มันทำแล้วฟุ้งซ่านแบบเดิม ดูลมหายใจแรก เราพบความเป็นอย่างนั้น ลมหายใจที่สองมันยังยื้อเหมือนเดิมมั้ย หรือว่ายื้อยิ่งกว่าเก่า นั่งสังเกตไปเรื่อยๆว่าอาการยื้อ อาการหมุนจี๋ในหัวมันแตกต่างไปอย่างไรในแต่และลมหายใจ เนี่ยตัวนี้นะครับ มันจะเริ่มเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ สติสังเกตได้ว่า คลื่นความคิดในหัวก็ชั้นนึงเป็นเลเยอร์ (layer)นึง ส่วนลมหายใจที่ชัดขึ้น ชัดขึ้น ก็เป็นอีกเลเยอร์นึง ไม่ว่าลมหายใจนั้นจะเป็นลมหายใจแห่งความอึดอัดเพียงใดก็ตาม ลมหายใจนั้นมันจะค่อยๆชัดขึ้นมาเรื่อยๆ
ทีนี้ประเด็นมันอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อใดก็ตามที่น้องสามารถเห็นได้ว่า เรากำลังหายใจ สิ่งที่เห็นไปเรื่อยๆคือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แต่สิ่งที่ต่างไปคือข่ายใยความคิดในหัวที่ครอบหัวอยู่หรือห่อหุ้มหัวอยู่เนี่ย มันจะค่อยๆบางลง บางลง ในบางลมหายใจมันเหมือนจะหายไปเลย ในบางลมหายใจมันเหมือนจะกลับมากขึ้นมาใหม่ ทวีตัวขึ้นมาเข้มข้นหนักกว่าเดิม
ถ้าเรามีความเคยชินที่จะสังเกตอยู่อย่างนี้ เป็นสองเลเยอร์นะครับ ลมหายใจเลเยอร์นึง แล้วก็คลื่นความฟุ้งซ่านในหัวอีกเลเยอร์นึง มันจะเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆว่า ข่ายใยความฟุ้งซ่านที่ครอบหัวอยู่ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่ตัวเดิมให้เรารับรู้ในแต่ละลมหายใจ ตรงนี้เราสนุกกับมันได้ คือถ้าไม่ทดลองเราจะไม่รู้นะว่าเราสนุกยังไง พี่พูดว่าสนุกเนี่ย หน้าตาความสนุกมันเป็นยังไง
แต่หน้าตาความสนุกมันเกิดขึ้นตอนนี้ ตอนที่เรามีความเคยชิน มีความชำนาญที่จะเห็นว่าลมหายใจก็เลเยอร์นึง แล้วก็ความฟุ้งซ่านก็อีกเลเยอร์นึง คนละอันกัน เนี่ยตรงนี้แหละลองไปให้ถึงตรงนี้ ถ้าไปถึงตรงนี้แล้วมันจะมีความสนุกเกิดขึ้น
ความสนุกตรงนั้นมันจะทำให้เราได้แนวทางว่า
อยู่แบบคนเมือง อยู่แบบคนที่เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่าน
เต็มไปด้วยสิ่งเร้าให้เกิดความวกวนยุ่งเหยิง
เราจะเอาการจะเอาการเจริญสติปฏิบัติธรรมมาทำให้มันกลายเป็นอุปกรณ์การปฏิบัติไปได้อย่างไรนะครับ
-------------------------------------------------
๒๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอนทดสอบไลฟ์จากคลับเฮาส์ ครั้งที่ ๒
คำถาม : ทำงานที่ต้องอยู่หน้าจอตลอด เลี่ยงการฟุ้งซ่านยากมาก ควรทำอย่างไร?
ระยะเวลาคลิป ๙.๔๑ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=3ZFNy870VS0&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=20&t=9s
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น