วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

ศึกษาธรรมะมานาน รู้สึกมีตัวตนว่าเป็นคนดี

ผู้ถาม : ฝึกมานานเป็นสิบปี แต่ว่าไม่ได้มีรูปแบบอะไร

ก็ใช้วิธีว่า ฟังธรรม แล้วก็พยายามทำความเห็นให้ตรง 

แล้วก็เหมือนกับมีการขอขมากรรม อย่างนี้

 

แต่ ก็มีความรู้สึกว่า ตั้งแต่ที่เราเริ่มเข้ามาศึกษากับตอนนี้

จิตใจพัฒนาขึ้น แบบ.. ตายแล้ว จิตใจเราพัฒนาขึ้นมาจังเลย

จะมีความรู้สึกว่า .. เราเป็นคนดีจังเลย

จิตตรงนี้ ถ้าฉลาดขึ้น จะวางไปเองไหมคะ

หรือว่า ต้องทำอย่างไร คือ เรายังมีตัว..ตัวของเราอยู่

 

ดังตฤณ : คำถามดูเหมือนง่ายนะ

แต่จริงๆ แล้ว เป็นอะไรที่ลึกมาก

แล้วถ้าเราอยู่กับชีวิตไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตทางธรรมนี่นะ 

จะยิ่งเห็นนะว่า สิ่งที่เราติดอยู่จริงๆ น่ะ ไม่ใช่อะไรที่ไม่ดี

 

สิ่งที่เราติดอยู่จริงๆ คือ อะไรที่ดีๆ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกว่า เราดี

 

แม้แต่ พระอนาคามี ท่านยังวางไม่ได้เลยนะ 

มีความรู้สึกว่า เราสูงส่ง มีความรู้สึกว่า

เราเป็นจิต ที่เหนือโลก เหนือจักรวาล 

เหนืออินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นะครับ

 

จิตแบบนี้ท่านยังมีอยู่ 

และเมื่อยังมีอยู่ ก็พูดง่ายๆว่า มีมานะ อัตตา ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์

ยังไม่สามารถผ่านด่านสุดท้าย คือ ความเห็นว่า ไม่มีตัวตนจริงๆ 

ยังรู้สึกเหลือเยื่อใยของตัวตน นะครับ



ทีนี้  มาพูดแบบเราๆ ท่านๆ ที่ยังมีความรู้สึกอะไร

ที่ยังหนาแน่นอยู่นี่นะ

 

เราก็มองไปตามจริง เราก็เห็นไปตามจริงว่า 

เวลาที่จิตเป็นกุศล 

เวลาที่จิตมีความสว่าง 

เวลาที่จิตมีความสุข 

เป็นเวลาที่จิต รู้สึกดีกับตัวเองมากที่สุด

รู้สึกว่า อยากเอาตัวนี้ไว้มากที่สุด นะครับ

 

ตัวที่ไม่ดี ไม่อยากเอาหรอก

 

แม้กระทั่ง อย่างบางทีนี่ เรามีหน้าตาในสังคมแบบหนึ่ง

ที่คนยกย่อง หรือว่า คน ชื่นชมเชียร์ 

แต่เรามองว่า ตัวตนแบบนั้นไม่ดี แค่นี้เราก็ไม่ติดใจแล้ว

 

คือ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยวางตัวตนได้ 

แต่เราแค่ไม่ชอบตัวตนแบบนั้น เราก็เลยไม่มีความยินดีนะ

 

ตรงที่เรารู้ตัวว่า ตรงไหนที่เราติดอยู่

ตรงไหนที่เรารู้สึกว่า ทำสมาธิได้ แล้วก็เห็น กายใจ เป็นอนัตตาได้ 

เป็นห้วงๆ เป็นช่วงๆ หรือว่าเป็นครั้งๆ นะครับ

 

หรือว่า เราฟังครูบาอาจารย์ท่านไหน 

เรารู้สึกว่า เราเป็นลูกศิษย์ท่าน

แล้วแปลว่า เรามีครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐนะ 

แล้วก็ดี.. ดีกว่าอีกหลายๆ คน ที่ยังหลงทางอยู่ อะไรอย่างนี้ 

 

มีสารพัดที่จะเกิดภาวะ บอกตัวเองว่า เรามาถึงจุดที่ดี

มาถึงจุดที่น่าพอใจของชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใด

ไม่ว่าจะมาทางไหน

 

ให้มองที่นี่แหละ ที่ใจนี่แหละ ที่ใจรู้สึกว่ายึด

นี่ อย่างคุณรู้ตัว แล้วสามารถตั้งคำถามนี้ขึ้นมาได้ 

แปลว่า คุณเห็น อาการของใจที่ยึด

 

ทีนี้ เวลาดูเพื่อที่จะให้คลาย ไม่ใช่แค่เห็นอย่างเดียวนะครับ

เห็นอาการยึดนี่ เราต้องดูด้วยว่า อาการยึดนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

อยู่ได้นานแค่ไหน

 

เวลาที่เห็น จิต อยู่ในการยึดดี หรือ ติดดี 

เป็นเวลาที่เห็น รากเหง้าของความเป็นตัวตนได้ชัดที่สุด

 

แล้วถ้าเห็นในแบบที่จะ ค่อยๆ ขุด ค่อยๆ ถอน 

จนกระทั่งถอนรากถอนโคน ความรู้สึกยึดติด นั้นได้

แปลว่า คุณเข้าใกล้ความจริง

คุณเข้าใกล้ความสามารถ ที่จะมีจิตเป็นอิสระจากตัวตนได้

 

วิธีง่ายๆ เลย ที่จะทำให้เห็นความยึดติดนั้น เป็นของไม่เที่ยง

เราดูว่า หนักหรือว่าเบา นะครับ

 

ตอนที่ใจคุณดีอยู่มากๆ ใจมีความผ่องแผ้ว คุณจะรู้สึกเบา 

แต่พอมีความรู้สึกอีกตัวหนึ่งขึ้นมาว่า แหม ดีจังเลย

ตัวแบบนี้ของเรา ตัวนี้แหละ ที่มีน้ำหนักขึ้นมา

 

น้ำหนักของความยึด 

น้ำหนักของความยินดี

 

ตัวยินดีนี่แหละ ยินดีในสิ่งนั้นนั่นแหละ คือ ตัวยึด

 

พอเห็นความยินดีนั้นได้ ให้บอกตัวเองเลย

ว่า นี่ ที่ลมหายใจในความยินดีนี้

มีน้ำหนักประมาณนี้ มีน้ำหนักความยินดีแบบนี้

 

แหม ภูมิใจ รู้สึกดีกับตัวเองจังเลย 

ปลื้มนะ มาได้ไกลถึงขนาดนี้ 

 

นี่ ความรู้สึกตรงนี้ ที่เราจะดูว่าเกิดขึ้น ณ ลมหายใจนี้

แล้วพออีก 2-3 ลมหายใจต่อมา เราปล่อยไปเพลินๆ 

ความยินดีนี่ ความยินดีแบบมีปีติ ขนลุกขนชัน.. มากขึ้นหรือว่าน้อยลง

 

คือ เราสังเกต แค่สังเกตเฉยๆ ตามที่เกิดขึ้น ให้สังเกตดูจริงๆ 

 

ไม่ใช่คาดหวังว่า จะน้อยลง

ไม่ใช่คาดหวังว่า จะเพิ่มขึ้น

แต่สังเกตว่า มีอะไรให้เห็นอยู่ตรงนั้น

 

เหมือนกัน แค่สังเกตลมหายใจว่า กำลังเข้า หรือว่า กำลังออกอยู่

เรา ไม่มีความยินดียินร้าย ที่หายใจเข้า

ไม่มีความยินดียินร้าย ที่หายใจออก

ไม่มีความคาดหวังว่า จะให้หายใจเข้าอย่างเดียว

ไม่มีความคาดหวังว่า จะหายใจออกอย่างเดียว

หรือว่า จะหยุดหายใจนานแค่ไหน

 

เอาความรู้สึกแบบเดียวกัน กับที่เห็นลมหายใจเข้าออก มาเป็นตัววัด

ว่า ความยินดียึดติดในความเป็นเรา 

ในภาวะนั้นของเรา .. อยู่ได้กี่ลมหายใจ

 

คุณจะเห็นเลยนะว่า บางที นี่ ปีติไปเป็นชั่วโมงๆ เกิดความยึดดี 

เกิดความรู้สึกว่า ถอนความปลื้มในตัวเองไม่ได้ 

 

นี่นะครับ ความรู้สึกแบบนี้ ยิ่งเราเห็นบ่อยขึ้นเท่าไหร่

เราจะยิ่งเข้าใจว่า อาการยินดี อาการยึดติด

เป็นแค่หน้าตาของจิตแบบหนึ่ง ที่มีน้ำหนัก

 

น้ำหนักดึงดูด 

น้ำหนักที่จะคว้าไว้

น้ำหนักที่จะเอาไว้ หวงไว้ 

 

จะมีหน้าตาอย่างไรให้ดูก็แล้วแต่

ถ้าเราเห็นความไม่เที่ยงของได้ เราจะเข้าใจหน้าตาที่แท้จริงของได้

 

ตอนแรก เราจะอ่านไม่ออกนะ 

เพราะว่าจิตของเรานี่ เล็งอยู่ทางเดียว ทางที่หลง ทางที่ยึด

 

ต่อเมื่อ เราสังเกตโดยอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องนับนะ

ว่า อยู่ได้กี่ลมหายใจ

ตรงนี้ พอเริ่มเห็นว่า อาการนั้น คลายตัวออกไปที่ลมหายใจไหน

คราวนี้จะเห็นถนัด 

ว่า อาการยึดอาการหลง แค่ภาวะชั่วคราว

มีหน้าตาแบบหนึ่งอย่างชัดเจนนะ

แล้วหน้าตาแบบนั้น ก็หายไปอย่างชัดเจนเช่นกัน

 

ด้วยความชัดเจน ทั้งตอนที่ยึด แล้วก็ตอนที่คลาย

ตอนที่เสื่อมไป ใจของเราที่เหลืออยู่นี่

จะเป็นใจที่เป็นอิสระจากการยึด

 

จะเหมือนกับว่างๆ 

ไม่มีหน้าตาบุคคล 

ไม่มีตัวใครอยู่ในจิตนี้ 

 

พอเราเห็นแบบนี้บ่อยๆ นะ

แล้ว อาการหลงความดี หรือว่า อาการติดดี เกิดขึ้น

จะมีวิธีโต้ตอบที่ชัดเจน

จะมีวิธี ที่จะรู้อย่างแน่นอน

 

แต่เดิม นี่ เราไม่รู้จะทำอย่างไร 

เพราะมองไม่ออกด้วยซ้ำว่า อาการติดดี

เกิดขึ้น แล้วหายไปตอนไหน

 

ต่อเมื่อ เราอาศัยลมหายใจ เป็นเครื่องนับ

แล้วเกิดความเห็นว่า เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ต้องหายไปเมื่อนั้นนะ

 

เมื่อไหร่มีความเกิดขึ้น

เมื่อนั้นมีจุดเริ่มต้นของการดับลงเสมอ

 

นี่ ตัวนี้ ที่จะค่อยๆ ถอนนะ

แล้วที่ถอน นี่ ไม่ใช่ว่า เราไปถอนความยึดติดด้วยความตั้งใจจะไม่เอานะ ฉันจะไม่ยึดความดี ฉันจะไม่ปลื้มในตัวตนแบบนี้

 

ไม่ใช่คิดแบบนั้นนะครับ

 

แต่เป็นการอาศัยจิตที่มีสติ ข้าไปถอนความรู้สึกนั้นตรงๆ

จากการเห็นความไม่เที่ยงทีเดียวเลยนะ

 

ผู้ถาม : เข้าใจกระจ่างขึ้นค่ะ แต่ว่าพอเวลาเกิด จิตไม่รู้ค่ะ

เสพย์อารมณ์นั้น แล้วก็เหมือนกับมีความสุข

แต่ว่า พอฟังอย่างนี้แล้วก็.. เมื่อกี้ ก็รู้สึกว่า ถอน

แล้วก็มีความเบาอยู่ ซึ่งจะเอากลับไปปฏิบัติต่อค่ะ

______________

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=g_g-QpHrFgc

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น