วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

ขอวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดอกุศลธรรม

ดังตฤณ : เรื่องอกุศลธรรมนี่ อย่างหนึ่งที่เราต้องตั้งไว้ในใจก็คือ มันไม่เกิดไม่ได้นะครับ

 

จิตของเรา สวิง (swing) ง่ายระหว่างความเป็นกุศล กับความเป็นอกุศล เฉียดกันนิดเดียว เอาแค่เราเจออากาศร้อน ร้อนอยู่สักชั่วโมงหนึ่ง แล้วไม่ได้ห้องแอร์ ไม่ได้ความเคยชินแบบเย็นๆ ที่เราเคยได้มา แค่นี้อกุศลธรรมเกิดแล้ว

 

เกิดความหงุดหงิด เกิดความรู้สึกว่า ทำไมร้อนนัก ทำไมไม่เย็นลงซะที อากาศบ้านเรา ทำไมแย่กว่าบ้านเมืองอื่น ทั้งๆ ที่จริงๆ บ้านเมืองอื่น มีที่เขาหนักกว่าเราเยอะนะ 

ความรู้สึกที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง จะผุดขึ้นเต็มหัวไปหมดนะครับ ส่วนใหญ่ ก็จะโทษนั่นโทษนี่ โทษเทวดาฟ้าดิน โทษโลก โทษนักการเมือง โทษคนรวยๆ ที่แข่งกันผลิตของด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ปล่อยก๊าซขึ้นอากาศ อะไรต่างๆ จะมีความคิด ที่ปนออกมากับโทสะได้สารพัด ได้หลากหลาย แล้วก็ไม่จำกัด

 

ตัวโทสะนี่ เป็นตัวอกุศลธรรมที่ใกล้กับเรามากที่สุดเลย แล้วเกิดบ่อยนะครับ โอกาสที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นเลยนี่ ไม่ได้


เพราะฉะนั้น ตั้งโจทย์ใหม่ .. แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนนะว่า จงกลั้นไว้ไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเลย แต่ท่านจะแนะนำว่า พิจารณาว่าอกุศลธรรมใดเกิดขึ้นนี่ มีทางไหนที่จะทำให้บรรเทาเบาบางลง หรือ มีทางไหนด้วยเหตุอันใด จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกนะครับ

 

แต่ท่านจะไม่มาตรัสในสิ่งที่ทำไม่ได้จริง ประเภทที่ว่า จงอย่าเกิดขึ้นอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมใดๆ 




พอมีมุมมองที่ชัดเจน ว่าอกุศลธรรมอย่างไรก็ต้องเกิด ทีนี้ ทำอย่างไร ..ตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะแปรให้อกุศลธรรมนั้น ให้เปลี่ยนเป็นกุศลธรรม หรือเป็นมหากุศลเลยได้

 

ตรงนี้แหละ ที่เป็นประเด็นของนักเจริญสตินะครับ

 

ต่อให้เราไม่ได้มุ่งหวังจะเจริญสติ เพื่อเอามรรคผลนิพพาน แต่เราก็สามารถที่จะได้ประโยชน์จากการเจริญสติ ในแง่ของการแปรอกุศลธรรม ให้กลายเป็นกุศลหรือมหากุศลได้นะครับ

จุดที่เราต้องมอง ก็คือ มีความเข้าใจที่ตรงกับ กลไกการทำงานของธรรมชาติ

 

เมื่อใดก็ตาม อกุศลจิตหรือว่าอกุศลธรรมเกิดขึ้นมา แล้วมีสติรู้ว่า นั่นเป็นอกุศล ตัวสตินั้น โดยตัวของตัวสติเอง จะทำให้จิต แปรเป็นมหากุศลอยู่แล้ว


ย้ำอีกทีนะ ทำความเข้าใจว่า อกุศลธรรม ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเลยไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แล้วมีสติประกอบ รู้ว่าอกุศลธรรมเกิดขึ้น วินาทีนั้น นาทีนั้น อกุศลธรรมจะเป็นเครื่องส่งของกุศลธรรมขึ้นมาทันที


สมมุติว่า เราเจออากาศร้อน แบบเดิม แบบเดียวกัน แต่เดิม เราจะเอาแต่บ่นไปเรื่อยๆ บ่นอยู่ในใจ หงุดหงิดอยู่ในใจ ว่าเมื่อไหร่จะหายร้อน เมื่อไหร่จะได้เข้าร่ม เมื่อไหร่จะได้เข้าห้องเย็น เข้าห้องแอร์ แล้วก็หงุดหงิดโลก หงุดหงิดผู้คน 

เปลี่ยนเป็น มีสติรู้ว่า กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ ณ จุดที่เกิดความหงุดหงิด การหายใจเข้าหรือหายใจออกนั้น หายใจเอาความทุกข์หรือความสุขเข้ามา

 

แน่นอน ตอนที่กำลังหงุดหงิดอยู่ ย่อมหายใจเอาความทุกข์เข้ามาแน่ๆ ถ้าคำตอบจากผู้มีสติตรงความจริง

 

หรือ ตอนที่เรากำลังนั่งอยู่ นั่งอยู่ด้วยท่าทางกระสับกระส่าย เรารู้ว่าอิริยาบถนั่งนี้ เป็นอิริยาบถแห่งความทุกข์ อิริยาบถแห่งความกระสับกระส่าย เพราะถ้าหากว่าเป็นอิริยาบถแห่งความสุข ย่อมต้องสงบระงับ ไม่กวัดแกว่ง

 

โดยการตั้งข้อสังเกตอยู่อย่างนี้ จะได้สติขึ้นมาอย่างไร

 

จะได้สติขึ้นมา ตรงที่เราจะรู้ว่า อาการกระสับกระส่ายก็ดี หรือว่า อาการร้อนจนหงุดหงิดในใจก็ดีนี่ แต่ละลมหายใจมันไม่เท่าเดิม

 

ถ้ามันเท่าเดิมแปลว่า มันเป็นตัวเราจริงๆ แต่ถ้าหากว่าอะไรก็แล้วแต่ แสดงความไม่เท่าเดิม แสดงความคลี่คลาย กลายเป็นอื่นให้เห็น แสดงการล่วงลับดับไปให้รู้นะ .. อันนั้น พระพุทธเจ้าให้ถือเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า นั่นไม่ใช่ตัวเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน 

 

นั่นเป็นเพียงภาวะอะไรอย่างหนึ่ง ที่ประกอบขึ้นมา ก่อตัวขึ้นมา แล้วก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา


สำคัญคือ พอเราเริ่มมามีความรับรู้ ว่าอกุศลธรรมไม่เที่ยงนี่ ครั้งแรกๆ จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ไม่เกิดความต่างอะไรกับชีวิตเลย เพราะจิตก็ยังหลงเหมือนเดิมว่า มีตัวเราที่เป็นผู้โมโห มีตัวเราที่เป็นผู้หงุดหงิด


แต่พอรู้ไปตามแนวทางนี้ ว่าโทสะไม่เที่ยง แต่ละลมหายใจไม่เท่าเดิม รู้ไปเรื่อยๆ รู้ไปหลายๆ ครั้ง ชีวิตจะเริ่มยกระดับมาจากภายใน เห็นเลยว่า จิตนี่ ในทันทีที่รู้ว่าโกรธ รู้ว่าหงุดหงิด รู้ว่ามีความเป็นอกุศลขึ้นมา ก็จะมีความชอบใจ ที่จะได้เห็นความไม่เที่ยงซ้ำอีก


รอบแรก เห็นมาแล้ว เออ มันไม่เที่ยงจริงๆ 

รอบสอง ดูซิ เราจะดูมันโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ไหม

 

พวกที่ดูไม่ได้นะครับ คือ ไปดูตัวโทสะตรงๆ ดูเฉยๆ โดยไม่มีเครื่องช่วย

 

ถ้าศึกษาอานาปานสติมาดี แล้วก็มีเครื่องช่วย เป็นการระลึกถึงว่า ที่ลมหายใจนี้ เราโมโหแค่นี้ ลมหายใจต่อมาเราโมโหน้อยลง หรือว่ามากขึ้น เห็นไปๆ จนกระทั่งในที่สุด จะจับจุดถูกว่า เมื่อใดก็ตาม ที่อกุศลธรรม เกิดขึ้นในจิต เมื่อใดก็ตาม อกุศลธรรม กำลังห่อหุ้มจิต

 

ให้ระลึกถึงว่า ที่ลมหายใจนี้ อกุศลธรรมดังกล่าว มีความหนาแน่นแค่ไหน แล้วก็ลมหายใจต่อๆ มา มันเบาบางหรือต่างไปเพียงใด

ด้วยอาการระลึกอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเกิดความชำนาญ ก็จะเห็นทุกครั้ง ว่าโทสะไม่เที่ยงจริงๆ ด้วย อกุศลธรรมไม่เหมือนเดิมจริงๆ ด้วย ต่างไปเรื่อยๆ จริงๆ ด้วย

 

ตัวที่มีสติรู้ว่าไม่เหมือนตัวเดิมจริงๆ ด้วยนั่นแหละ ที่จะทำให้ตัวตน ค่อยๆ ห่าง ค่อยๆ หาย ค่อยๆ เบาบางลง

 

สรุปนะครับ วิธีป้องกันอกุศลธรรมไม่ให้เกิด เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ต้องเกิด แต่เกิดขึ้นแล้ว เรารับมืออย่างไร .. ทำให้เกิดสติขึ้นมา แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของอกุศลได้อย่างไร ตรงนั้นถึงเป็นโจทย์ที่แท้จริงนะครับ

_______________

คำถามที่ ๖ : เรียนขอฟังคำแนะนำ เรื่องวิธีป้องกันอกุศลธรรมไม่ให้เกิดค่ะ

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค ครั้งที่ 3

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=oaZuwGJw3Yc


** IG **



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น