วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ มีการสวดมนต์หรือยัง

ดังตฤณ : ที่แน่ๆ มีการสวดปาฏิโมกข์นะครับ แล้วสมัยก่อนนี่ ในเวลาที่เขาถ่ายทอดธรรมะ หรือว่าถ่ายทอดคำพูดของพระพุทธเจ้า เขาไม่ใช้อักษรแบบเรานะ 

 

เขาใช้สิ่งที่เรียกว่า มุขปาฐะ คือ พูดแบบปากต่อปาก ซึ่งในสมัยพุทธกาล นี่ แม่นเป๊ะเลย คือ ไม่สามารถที่จะพูดผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสได้ เนื่องจากมีการสอบทานกันนะครับ


แต่การสวดมนต์อย่าง ... อิติปิโส ภะคะวา นี่อาจจะไม่มีก็ได้ เนื่องจาก บทสวด อิติปิโส จริงๆ แล้วนี่แยกกันอยู่  คือพระพุทธเจ้าตรัสไว้คนละที่นะ 

บอกว่า พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ มีคุณสมบัติอย่างไร มีความบริสุทธิ์ มีความตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เหมาะที่จะสอนทั้งมนุษย์และเทวดา อินทร พรหม ยม ยักษ์ รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในอนันตจักรวาล

 

นี่คือไม่ใช่ว่าพระองค์ตรัสถึงพระองค์แค่องค์เดียว แต่ว่า (ตรัสถึง)พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และอย่างที่ตรัสถึงธรรมะว่า บริสุทธิ์ หรือว่า มีความน่าที่จะน้อมเข้ามารู้เฉพาะตน พระองค์ก็ตรัสไว้อีกทีหนึ่ง 


แต่พอมารวมกัน กลายเป็นบทสวด อิติปิโส กลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ขึ้นมา เพราะว่าอะไร

เพราะว่า บทสวดนี้จาระไนถึงความจริง เกี่ยวกับ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และเป็นไปในทางสดุดีสรรเสริญ 

 

ซึ่งทำให้คนที่ท่องหรือว่าสวดอยู่ หรือว่าจาระไนความจริงนี้อยู่

 

.. เป็นผู้กล่าวคำอันศักดิ์สิทธิ์

.. เป็นผู้กล่าวความจริงที่เป็นมงคล

.. เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าสรรเสริญบุคคลผู้ควรสรรเสริญ นะครับ

 

แล้วตอนที่เรากล่าวชมเชยผู้อื่นอยู่ เอาแค่คนธรรมดาทั่วไป ที่มีความดี มีคุณงามความดี เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม แค่นี้ เราก็เกิดความรู้สึกแล้วว่า การชมคน เกิดความรู้สึกที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่สังคมยอมรับกันทั่วไปว่า ทำความแช่มชื่นให้แก่ผู้รับรู้จริงๆ 


อย่างคนที่มีใจเป็นทาน เสียสละยิ่งใหญ่ เช่นพวกที่พาคนไปในทาง.. อย่างพวกวิ่งการกุศล หรืออย่างพวกที่เสียสละทรัพย์สินส่วนตัว ไปเพื่อสร้างศาสนสถาน โรงเรียน หรือว่าสถานพยาบาล อะไรแบบนี้

เวลาที่เรากล่าวชมออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ว่า เขาเป็นคนที่มีใจที่จะอุทิศตัว หรือว่า อุทิศชีวิต เพื่อที่จะช่วยให้คนอื่นได้ดิบได้ดีมากขึ้นจริงๆ ..เป็นชีวิตที่เกิดมา เพื่อยกระดับชีวิตอื่น อะไรแบบนี้ แล้วมีความรู้สึกว่า ตอนที่เราเอ่ยชมไป จิตจะเป็นกุศล ใจจะเบิกบาน ใจรู้สึกดี


แล้วพอทำให้คนอื่น เกิดความรู้สึกเห็นดีเห็นงามตามเราไปได้ด้วย จะยิ่งได้ความรู้สึกที่เป็นกุศล ขยายออกไปอีก ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกนะครับ .. อันนี้ เป็นระดับของคนธรรมดา

 

แต่ในระดับของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ ไม่ได้แค่ช่วยยกระดับให้ใครคนใดคนหนึ่งมีชีวิตดีขึ้น แต่สามารถทำให้บุคคลธรรมดา พ้นจากภัยในสังสารวัฏ พ้นจากการที่จะต้องมาเกิดตายนะ แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

 

ซึ่งถ้าสวดอย่างเข้าใจจริงๆ คือ ท่องบ่นอย่างเข้าใจจริงๆ ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณวิเศษอย่างไร มีคุณอนันต์ มีพลัง มีอานุภาพของความเบิกบานในธรรมะระดับนิพพาน ได้เพียงใด

 

ใจเรานี่ สว่างไสวก่อนคนอื่น


แต่ถ้าผู้อื่นได้ฟัง .. อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา .. ถึงไม่รู้คำแปล แต่ก็รู้สึกสัมผัสถึงอารมณ์ที่เป็นกุศล มหากุศล ยิ่งถ้าหากว่า ใครสวดด้วยใจที่เป็นกุศล มีความหนักแน่น 

 

ก็จะรู้สึกราวกับว่า นี่ ตัวแทนของพระพุทธเจ้าเป็นประทีป ที่ส่องให้เกิดความรู้สึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้นะ ..พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่

 

อันนี้ ก็เป็นประเด็นนะครับว่า ถึงแม้ในสมัยพุทธกาล จะไม่มีการสวดมนต์แบบที่เรากำลังสวดๆ กันอยู่ แต่เขาก็จะมีการพูดถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แบบที่เราสวด อิติปิโส กันนี่แหละ

 

พูดถึง พระพุทธเจ้า ..

พระพุทธเจ้าเป็นใคร 

พระพุทธเจ้าสอนอะไร 

พระพุทธเจ้า มีความเหมาะสม

ที่จะเป็นพระศาสดาของพุทธศาสนาได้อย่างไร

และข้อธรรมะของพระพุทธเจ้า มีเนื้อหาอย่างไร

 

พระสงฆ์ ที่เป็นอริยสาวก มีลักษณะ มีท่าทาง มีสมณสารูปสง่างามอันงามเพียงใด อย่างนี้ เขาก็พูดๆ กันอยู่ แต่ไม่ใช่พูดแบบท่องบ่น ไม่ได้

พูดแบบสวด แต่พูดกันในลักษณะสรรเสริญ พูดกันในลักษณะแนะนำบอกต่อ


และถ้าเรากล่าวเกี่ยวกับเรื่องของการสวดมนต์นี่ จริงๆ แล้วนะ มีมาก่อนพุทธศาสนาอยู่แล้ว

 

ในพุทธศาสนายุคพุทธกาลนี่ เขาจะมีบทสวดอะไรกันบ้าง เราก็อาจจะไม่สามารถบอกได้หมด แต่มีอยู่นะ ที่พระพุทธเจ้าบอกให้ภิกษุ สวดบางบทที่เทวดามาบอก

 

อันนี้เป็นเรื่องเล่า ว่าในป่าที่ภิกษุไปจำพรรษากันอยู่ นี่ ผีดุ และมีเจอประเภทที่เป็นเหมือนกับ ครึ่งยักษ์ครึ่งเทวดา มาทำให้เกิดความเกรงกลัว


เทวดาที่เป็นหัวหน้าเทวดาทั้งหลายในย่านนั้น ก็มากล่าวบอกว่า ในบริวารของข้าพระพุทธองค์ ก็ไม่ใช่ว่าจะคุมได้ทั้งหมด แต่ถ้าหากเอามนต์ ที่ข้าพระพุทธเจ้าจะให้ไว้นี้ ได้่ไปเป็นใบเบิกทาง ก็จะช่วยให้บริวารของข้าพระพุทธเจ้า เกิดความมีไมตรี หรือว่าจะไม่มีลักษณะ มาคุกคามก้าวร้าว อะไรแบบนี้

 

นี่ ก็เป็นเรื่องเล่าที่เป็นหลักฐานว่า ในสมัยพุทธกาลก็มีการท่องมนต์กันเหมือนกัน และก็อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างจากที่เรากำลังท่องๆ กันอยู่นะครับ

_________________

คำถามที่ ๒

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ไลฟ์คลับเฮาส์และเฟสบุ๊ค ครั้งที่ 3

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=QqHBURLNBII

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น