วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

ชอบเปรียบเทียบการปฏิบัติธรรมกับเพื่อน

ดังตฤณ : ตอบแบบคร่าวๆ ไปก่อนนะครับ

 

เวลาโดนเปรียบเทียบนะครับ แล้วเกิดความหวั่นไหว เกิดความอ่อนไหว

เป็นความรู้สึกเทียบเขาเทียบเรา ใครเหนือกว่าใครน้อยกว่า นะครับ

 

จริงๆ แล้วนี่ อย่าเพิ่งไปมองว่า เป็นการไม่เอาไหน 

หรือ ปฏิบัติมาแบบไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่

เพราะว่า ถ้าเราจะดูนะ ความเทียบเขาเทียบเรา แบบมีทิฏฐิมานะ มีอัตตาตัวตนนี่ 

แม้แต่ พระอนาคามี ท่านยังละไม่ได้เลย

 

ถ้าหากว่า เป็นปุถุชน ถ้าหากเป็น โสดาฯ ถ้าหากเป็น สกทาคาฯ นี่ ก็ลืมไปได้

คือ ไม่มีทางหรอก ที่จะไปเลิกเทียบเขาเทียบเรา

 

เพราะอาการเทียบเขาเทียบเรานี่ มีอยู่ เป็นอยู่มาชั่วกัปชั่วกัลป์

มีอยู่ เป็นอยู่มา ตั้งแต่เราอยู่ในสังสารวัฏ มานับอนันตชาตินี่นะครับ

ไม่ได้เคยหายไปจากใจเราเลย 

 

ที่จะหายไปจริงๆ นี่ คือ จิต พรากจากขันธ์ 

จิต แยกต่างหากออกมาจากสภาพความเป็นกาย สภาพความเป็นใจ อย่างเด็ดขาดแล้ว 

 

พูดง่ายๆว่า เป็นพระอรหันต์ น่ะ ท่านถึงจะไม่รู้สึกแล้วว่าไม่มีตัวมีตน ให้ไปเทียบกัน

ไม่มีความรู้สึกว่า ฉันเป็นพระพุทธเจ้า ฉันเป็นพระอรหันต์ 

ฉันเป็นผู้ตาม ท่านเป็นผู้นำ อะไรต่างๆ นี่ จะหายไปจากใจ

 

เพราะกายกับจิตนี่นะ สภาวะทางกาย สภาวะทางใจ ปรุงแต่งทั้งหลายนี่

จะเหมือนกับ แยกออกไปเป็นต่างหากแล้ว ไปเป็นอีกคนหนึ่ง

 

แล้วจิต ไปเป็นผู้รู้เฉยๆว่า ไม่ใช่ ไม่มีตัวตน นะครับ 

ตรงนั้นแหละ ที่ความเทียบเขาเทียบเรา ถึงจะหายไปจริงๆ 

 

ทีนี้ ถามว่า ระหว่างเรากำลังปฏิบัติ ระหว่างเรากำลังทำความเห็นให้ถูกต้อง

ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา

มันไม่เที่ยง ..เกิดภาวะอย่างนี้ จะทำอย่างไร

 

ไม่ต้องทำอย่างไรมาก 

ไม่ต้องไปเหมือนกับ พยายามบีบคั้นตัวเอง ให้เลิกเทียบเขาเทียบเรา 

แต่ให้ดูอาการ ที่เกิดจากการเทียบเขาเทียบเรานั่นแหละ  

ว่า เออ มันมีอาการหยิ่งผยองขึ้นมา วันนี้ฉันทำได้

อาการหยิ่งผยองนี้ ก็จะพาเราไปมองคนอื่นว่า นี่ ทำได้อย่างฉันหรือเปล่า

จะมีอัตตาตัวตน จะมีอุปาทานขึ้นมาว่า ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันเจ๋ง

 

แล้วพอวันไหนที่ไปเจอคนที่เจ๋งกว่า 

บอกว่า นี่ ฉันนั่งสมาธิได้ 3 ชั่วโมง นิ่งเงียบ ไม่มีความคิดผุดขึ้นเลย

แล้วพอมาเทียบกับตัวเรา โอย.. เรานั่งได้ 10 นาทีนี่ 

มีความคิดอะไรขึ้นมาพล่านเต็มหัวไปหมด อย่าว่าแต่จะนั่งๆ ได้ 3 ชั่วโมง

เอาแค่ 10 นาทีนี่ เอาให้นิ่ง เอาให้กายดูเหมือนกับผู้ทรงภูมิ สมาธิ 

แล้วก็จิต เหมือนกับ มีความเงียบสงบก้าวหน้า สมกับเป็นนักปฏิบัติมายาวนานนี้ อะไรต่างๆ นี่ ก็ทำไม่ได้แล้ว

 

ก็รู้สึก น้อยเนื้อต่ำใจตัวเองว่า ตัวเองทำได้ไม่เท่าเขา

 

อาการอะไรแบบนี้ ขอให้มองตามจริง ณ จุดเกิดเหตุ 

อย่ารอให้ผ่านเวลาเสียก่อน ผ่านช่วงนั้นไปเสียก่อนนะครับ

 

ให้มองให้เห็น ณ ขณะนั้นเลย 

ว่า ความหยิ่งผยองเกิดขึ้น ตอนที่ทำอะไรดีๆ ได้

นั่นก็เป็นสภาพเริ่มต้น เป็นตัวตั้ง 

ที่เราจะไปเทียบเขาเทียบเรา แบบที่รุนแรงนะครับ

 

แต่ตอนที่ไปมองว่า คนอื่นเขาทำได้ แต่ว่าเรายังทำไม่ได้ 

อันนี้ เป็นการเปรียบเทียบแบบอ่อนๆ 

 

คือ เพราะว่าเรายังไม่มีดีไปสู้เขา ก็จะมีความรู้สึกว่าอยู่ที่ต่ำนะครับ 

ยังไม่อาจเผยอไปที่สูง แล้วก็มีความรู้สึกว่า จิตของเรานี่ยังเล็ก จิตของเรานี่ ยังไปสู้ใครไม่ได้ ก็เลยไม่ไปดิ้นมาก

 

ทีนี้ พอเขยิบขึ้นมา จากผู้เริ่มต้น beginner ขึ้นมาเป็น intermediate ขั้นกลางขึ้นมาแล้วนี่ อย่างนี้ จะเริ่มมองซ้ายมองขวานะครับ 

เทียบว่า ใครทำไปถึงไหนแล้ว แล้วเรา นี่ อยู่เหนือกว่าเขา หรือ ต่ำกว่าเขา

 

นี่คือ ธรรมชาติธรรมดาของคนนะครับ ที่ยังเวียนว่ายอยู่กับการแข่งขัน เวียนว่ายอยู่กับการเห็นว่า ตัวเองเป็นอย่างไร เห็นว่าตัวเขาเป็นอย่างไร ยังไม่สิ้นสุดการเห็นว่า นี่เป็นตัวเป็นตนนะครับ ก็ยังต้องเทียบกันไปเรื่อยๆ 

 

ทีนี้ ณ ขณะที่เราเข้าใจว่า จุดเริ่มต้นมาจากไหนนั่นแหละ จุดเริ่มต้นของตัวตน มาจากความรู้สึกว่า เราเจ๋งแค่ไหน เทียบกับคนอื่นแล้ว เราด้อยกว่า หรือ เหนือกว่า

 

ตัวนี้นะ พอมองเข้ามาว่า เรามองใครแล้วรู้สึกอย่างไร ผยอง หรือว่า รู้สึกต่ำต้อย หรือว่าพอเทียบแล้ว รู้สึกว่าเขาก้าวหน้า เรายังถอยหลังอยู่ ถอยหลังเข้าคลอง หรือว่ายังกระโดกกระเดก อยู่ที่จุดต้น 

มองอย่างนี้ มองที่ความปรุงแต่งของจิตว่า กำลังมีความใหญ่ หรือ มีความเล็ก 

 

เอาแค่นี้ เป็นคีย์เวิร์ดสั้นๆ เลย จำง่ายๆ ใหญ่ หรือว่า เล็ก

มองตามจริง ณ จุดเกิดเหตุ อย่ารอให้ผ่านเวลานั้นไปนะครับ

เมื่อเห็นว่า มันใหญ่ หรือ มันเล็ก ที่จิต สิ่งที่จะได้ประโยชน์ ก็คือ มอง และ จำไว้ว่า ความใหญ่ ความเล็กนั่น มันเท่าเดิมอยู่เรื่อยๆ หรือว่า ต่างไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ที่เราเทียบเขาเทียบเรานะครับ

 

ตอนแรกๆ นี่ ก็จะเห็นแต่ว่า มีหน้าตาเบ้อเริ่มเลยนะ เวลาผยอง

 

หรือ เห็นอาการเล็กลีบเหมือนลูกหนู ในกล่องแคบๆ ตอนที่เรารู้สึกจ๋อยๆ 

รู้สึกว่า เราไม่ได้หน้าได้ตา ไม่มีศักดิ์ศรีไปเทียบใครเขา 

เสร็จแล้ว พอเทียบอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ตอนแรกๆ นี้เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น

พอมีความชิน มีความชำนาญ ที่จะเห็นอาการใหญ่ อาการเล็ก 

ที่เกิดขึ้น ที่กำลังปรากฏอยู่นั่นนะ ก็จะมีความรู้สึก เหมือนหน้าตามันหายไป 

 

มีแต่ความใหญ่ที่สูญเปล่า แล้วก็ความเล็กที่ไม่เกิดประโยชน์ ที่ไม่มีแก่นสารอะไรขึ้นมา

 

มีแต่ ใหญ่ เล็ก ใหญ่ เล็ก ใหญ่ เล็ก ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ไม่มีความเป็นบุคคล ในอะไรที่รู้สึกใหญ่ๆ 

ไม่มีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ในความรู้สึกเล็กๆ 

ไม่มีความเป็นแชมป์ ที่ครองความรู้สึกใหญ่นั่น ได้ตลอดทุกวัน

มีแต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่า เราจะเปรียบเทียบกับใคร นี่ตัวนี้ เอาไปสังเกต

 

พอสังเกตแล้วนี่ ไม่ต้องไปเอาชนะความคิดตัวเอง 

ไม่ต้องไปปรับจิต ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งสิ้น 

 

จิตจะฉลาดเอง แล้วรู้ว่า ไม่มีอะไรต้องทำ มากไปกว่าเทียบกับจิตของตัวเองนะครับ

 

คือ ตอนแรกนะ จะเป็นไปตามอัตโนมัติ ตามความเคยชิน

ของผู้ที่เวียนว่ายอยู่กับการแข่งขัน มาตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์แหละ 

จะเทียบใหญ่เทียบเล็กกับคนอื่น

 

แต่เมื่อไหร่ เราเทียบใหญ่เทียบเล็กกับจิตของตัวเองนะครับ จบเลย

จะไม่มีอะไร ที่ต้องทำมากไปกว่านั้น 

 

รู้สึก ไร้สาระ ไร้แก่นสารจริงๆ กับการเห็น อาการผยองชั่วคราว ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ 

 

แล้วก็อาการตัวเล็กลีบเป็นลูกหนู ที่เกิดขึ้น แล้วเดี๋ยวก็หายไป โดยที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

___________________

คำถามเต็ม : เวลาโดนเปรียบเทียบการปฏิบัติธรรมกับเพื่อน ชอบคิดว่า ต้องทำอย่างไร ให้ดี ให้ชนะเขา 

จะปรับจิต ความคิด หรือ การภาวนาอย่างไร

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สวดมนต์ลดความฟุ้งซ่าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Mf0cHJzwkrE

 

** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น