วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไปนั่งสมาธิในป่าช้า ความกลัวฝังอยู่ในใจ แก้อย่างไร

ผู้ถาม : ได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรม ก็คือว่าไปนั่งสมาธิในป่าช้า

แล้วก็จะมีครูใหญ่ ก็คือว่า คนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ก็จะมาเป็นครูใหญ่ให้เรา

 

ทีนี้ ตอนที่เข้าไปนั่งที่ในนั้น ประมาณ 2 ชม..

 

ดังตฤณ : แนะนำสถานที่หน่อยได้ไหม เป็นสถานที่ที่คนทั่วไปเข้าไปฝึกได้ หรือว่าอย่างไร

 

ผู้ถาม : ไปฝึกได้ค่ะ อยู่ที่กาญฯ จำชื่อวัดไม่ได้เป๊ะๆ วันนั้นเพื่อนพาไปตอนบ่าย ก็คือวัดอยู่ที่กาญฯ ค่ะ เป็นวัดเปิดค่ะ สามารถเข้าไปได้

 

ตอนนั้นที่ไป เพื่อนเคยไปมาก่อน แล้วบอกว่าที่นี่ดี

ทีนี้ เราได้ไปนั่ง ตอนที่นั่งต้องเล่าก่อนว่า ตอนที่พระท่านให้เข้าไปตอนสองทุ่มนะคะ

พระก็จะบอกว่า นั่งสมาธินี่ ก็คือห้ามลืมตาใดๆ ทั้งสิ้น ให้กำหนดรู้

จะได้ยินเสียง ได้ยินอะไรก็แล้วแต่ ก็คือใครจะอย่างไรก็แล้วแต่

ห้ามลืมตา แล้วก็กำหนดภาวะตามความเป็นจริงค่ะ

 

แล้วพอตอนเข้าไปนั่ง ก็คือตอนประมาณสองทุ่ม พระท่านจะมารับตอนประมาณห้าทุ่ม

ระหว่างที่นั่งอยู่ จิตตอนนั้นกลัวมาก เพราะตัวนี่สั่นไปทั้งตัว

เพราะเราต้องนั่งกับครูใหญ่สามโลง แล้วก็อยู่ในป่าช้าที่สงัดมาก

ตัวเราก็สั่นจนแบบว่าเหมือนจะลอยออกมาได้เลย ประมาณชั่วโมงครึ่ง

 

พอครึ่งชั่วโมงหลัง เราก็กำหนดจิต พูดกับตัวเองว่า โอเค ยังไงเราก็ยังอยู่

แล้วก็เหมือนใจนิ่งลง แล้วก็เหมือนรู้ตามความเป็นจริงว่า

สิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เราได้ยินเสียงที่มีใบไม้ยวบๆ

ก็คิดไปแบบเป็นบวกเสมอว่า มีคนเดินมา อะไรประมาณนี้ เหมือนมีพระอะไรประมาณนี้ค่ะ

 

จนกระทั่งได้ยินเสียงเดินมาจริงๆ ก็คือ มีพระอาจารย์เดินมา กับลูกศิษย์ในวัด แล้วก็มารับ พอรับเสร็จก็ให้แผ่กุศลอะไรแบบนี้ แล้วหลังจากนั้นก็กลับประมาณ สี่ ห้าทุ่ม

 

ทีนี้ก็ถามพี่ในวัด เป็นพี่ที่อยู่ในวัดที่เป็นลูกศิษย์ว่า ได้ยินเสียง คือสิ่งที่เราได้ยิน เราคิดไปเองหรือเปล่า ท่านก็บอกว่า คนที่เป็นแม่งามระบือ .. ที่(เรา) นั่งอยู่กับศพ ท่านชอบเดินอยู่แล้ว ก็จะเดินผ่าน เหมือนกับเดินให้คุ้มครองเรา

 

พอหลังจากนั้น เรามาปฏิบัติธรรมที่บ้าน ความกลัวนี้ก็ยังอยู่

เหมือนได้ยินเสียงอะไรเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่ปฏิบัตินะคะ ก็ปฏิบัติตามรูปแบบ

แต่ทุกครั้งที่จะปฏิบัติ แต่ก่อนนั่งคนเดียวได้

แต่ ณ ตอนนี้จะต้องมีแฟนมานั่งอยู่ข้างๆ เขาจะทำอะไรก็ได้ เราก็นั่งปฏิบัติไปด้วย

เลยทำให้รู้สึกว่า ตอนนี้มีปัญหากับการ .. ทำให้เราไปปรุงแต่งมากเกินไปหรือเปล่า แล้วไม่ทำให้จิตเราก้าวขึ้นหรือเปล่าค่ะ

 

ดังตฤณ : จริงๆ แล้วถ้าเอาตามการปฏิบัติ แบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนในสมัยพุทธกาล ก็เป็นอะไรคล้ายๆ แบบนี้แหละ คือให้พิจารณาศพ

 

ศพของเขาเป็นอย่างไร กายของเราก็เป็นแบบนั้น

 

นี่คือจริงๆ .. เรามาพูดกันแบบเรื่องการปฏิบัติ แบบถึงกึ๋นเลยนี่นะ เอาแบบ hard core เลยนี่ สมัยพุทธกาล ผูกพันอยู่กับเรื่องศพกันมากทีเดียว

 

ซึ่งสมัยนี้ จริงๆ พระ หรือว่าวัดต่างๆ ก็ยังมีโอกาสนั้นอยู่ แต่ไม่ได้ใช้โอกาสกันเท่าไหร่

 

ผมก็เสียดายนะ ที่มูลนิธิบูรณพุทธไปสร้างเมรุ สร้างอะไรกัน ก็พยายามเอาแนวไอเดียนี้ หรือว่าความคิดแบบนี้ ไปให้กับทางวัด

 

แต่คือความสมัครใจ จะต่างยุคกับสมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ พระก็ไม่ค่อยจะอยากมาสนใจเรื่องการเอา .. ยกศพ หรือว่าความตาย มาเป็นครูอาจารย์ของตนเอง หรือว่าของฆราวาส

 

พระพุทธเจ้าเคยสอนเลยนะ ถึงขั้นที่ว่า เอาศพของหญิงงามเมืองสมัยนั้น

แบบว่าคนแย่งกันมากเลย ปรากฏว่าพอเป็นศพ ไม่มีใครเอา

พระองค์ถามว่า ให้ฟรีๆ เอาไหม .. ไม่มีใครเอา

แถมเงินให้ด้วยเอาไหม .. ไม่มีใครเอา

 

คือเดิมนี่ต้องใช้เงินซื้อ ถึงจะไปอยู่กับนางได้ แล้วพอนางตายไปนี่

ให้ใครเอาเงินมาซื้อ ก็ไม่มีใครเอานะ ให้ฟรีๆ ก็ไม่เอา แถมเงินให้ด้วยก็ไม่เอาอีก

 

ตรงนี้ ก็ทำให้ผู้คนได้เห็นความจริงกันว่า

ศพของคน ก็คือร่างกายเดิม ที่เคยติดใจกันนัก ติดใจกันหนานี่แหละ

แล้วก็ พอน้อมเข้ามาดูที่ตัวเอง ตัวเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

วันหนึ่ง เราก็ต้องเป็นแบบนี้

 

วันนี้เราจะหน้าตาดี รูปร่างเป็นอย่างไรก็ตาม

มีใครอยากมาเสนอเงินให้เท่าไหร่

วันหน้า อย่าว่าแต่เสนอเงินให้ แถมเงินให้ด้วยก็ไม่เอา

 

ตรงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงๆ จังๆ เป็นจริงเป็นจัง กับภาวะทางกายนี้

จะปรุงแต่งจิต ให้เกิดความรู้สึกปล่อย เกิดความรู้สึกไม่เอา

เกิดความรู้สึกว่าถอยห่างออกมา

แล้ว อาการถอยห่างออกมา ถ้าถอยอย่างถูกต้อง จะเป็นสมาธิง่าย

 

จุดประสงค์ของ การเจริญอสุภกรรมฐาน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า

เมื่อเห็นกายเป็นของโสโครก

เมื่อเห็นกายเป็นของต้องแตกดับเป็นธรรมดา

เมื่อเห็นกายเป็นของไม่ต่างไปจากศพๆ หนึ่ง

จิตจะมีความเป็นอิสระจากกาย เป็นอิสระจากความยึดกาย

พูดง่ายๆ ว่าเป็นสมาธิได้ง่าย

 

ทีนี้ ถ้าเราทำแล้ว กลายเป็นกลัว

นั่นแสดงว่าเราไม่ได้ผลลัพธ์ที่พระพุทธเจ้าต้องการ

 

พระพุทธเจ้า ต้องการให้เราเจริญอสุภกรรมฐาน หรือว่าเจริญตัวมรณสติ

เห็นของเขาเป็นอย่างไร เห็นของเราเป็นอย่างนั้น

เห็นเขาเป็นศพ ก็เห็นกายเป็นศพเหมือนกัน

จุดประสงค์คือ เพื่อให้จิต ทิ้งกาย

แยกออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นในกาย

หรือว่าความติดใจในความเป็นของน่าต้องใจ ของภาวะทางกาย

 

ถ้าจิตออกมาจาก ภาวะยึดติดหรือหลงติดในภาวะทางกาย

โดยธรรมชาติแล้ว จิตจะตั้งอยู่เป็นสมาธิได้ง่าย

เพราะมีความปลอดโปร่ง เพราะมีความแห้งสะอาด

 

ปกตินี่ ตัวราคะ ตัวความติดใจในกาย จะเหมือนน้ำ ที่มีความเปียก

ถ้าจิตมีความเปียกอยู่ ก็แห้งไม่ได้ สะอาดไม่ได้ สบายไม่ได้ โล่งเป็นสมาธิไม่ได้นะ

 

ทีนี้ พอเราเห็นว่า จุดประสงค์ของการที่เรามาพิจารณากายเป็นอสุภะ หรือกายเป็นศพ เพื่อให้จิตสบาย

แต่นี่จิตของเรา กลายเป็นความตระหนก กลายเป็นความกลัว กลายเป็นความคิดมาก

กลายเป็นความรู้สึก คิดถึงอะไรที่เป็นภาพไม่ดี แล้วก็ไม่มีสมาธิ ตรงนี้แหละที่เราจะมาต่อยอด ให้เกิดความสมบูรณ์

 

ที่เราทำมา ดีแล้ว แต่ต้องทำให้สมบูรณ์ .. สมบูรณ์อย่างไร

สมบูรณ์ด้วยการที่ เราย้อนกลับไปทบทวน สังเกตว่า ใจของเรานี่

ถามตัวเองนะว่า มีความย้อนระลึกเข้ามา มีสติ เข้ามาถึงกายของตัวเองบ้างไหม

 

ถ้าหากว่าในระหว่างอยู่กับอาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ หรืออยู่กับศพนี่

แล้วมีแต่การพิจารณาตัวศพ หรือมีแค่การพิจารณาความกลัว อันเกิดจากการอยู่กับศพ

อย่างนั้นถือว่า ไม่ครบวงจร

เพราะไม่เกิดการ เทียบเขา เทียบเรา

ไม่เกิดการเทียบ อสุภะ กับ อสุภะ

ไม่เกิดการเทียบ อนัตตา กับ อนัตตา

 

มีแต่การเห็นว่า นั่นเป็นศพ แล้วอย่างมากที่สุด เราดูว่า นี่คือความกลัว ที่เกิดจากการอยู่กับศพ

 

พอเห็นแค่ศพ พอเห็นแค่ความกลัว สิ่งที่ได้ ณ เวลานั้นก็คือ

อย่างมากที่สุด คือความหายกลัว

 

หากเข้าใจแล้วว่า ความกลัวนี่ ดูไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะหายไป

แต่พอกลับมาบ้าน ไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ด้วย หรือว่าจิต คิดปรุงแต่งไปได้ต่างๆ นานา เวลากลับมาอยู่ที่บ้านนี่นะ

จะมีเรื่องของความบันเทิง

จะมีเรื่องของโทสะ

จะมีเรื่องของความยุ่งเหยิง ปั่นป่วนในชีวิตประจำวัน เข้ามากลุ้มรุม

แล้วทำให้จิตของเราเตลิด คิดอะไรไปเรื่อยๆ แบบไม่จำกัด

ไม่เหมือนตอนอยู่วัด

 

พอเตลิดได้ไม่จำกัด แล้วนึกถึงศพขึ้นมา

หรือแม้กระทั่งว่า มาปฏิบัติ พยายามปฏิบัติเอง หรือว่าทำสมาธิ สวดมนต์

แล้วย้อนกลับไปคิดถึงศพ ก็จะคิดถึงแบบเตลิด

 

แล้วมากที่สุดก็คือ รู้หลักว่ามีความกลัว

แต่ไม่รู้ว่า จะตั้งสติอยู่กับความกลัวอย่างไรถูก

เพราะมันมาเรื่อยๆ มารบกวนจิตใจ

 

คราวนี้ วิธีที่เราจะจบตรงนี้ได้ก็คือ เราทำความเข้าใจ

ตรงนี้สำคัญมาก .. คือ เราเห็นศพเขา เพื่อที่จะได้เห็นศพเรา

เราเห็นภาวะความเป็นของที่ถูกทิ้งไว้ในโลก

เหมือนขอนไม้ที่วางไว้บนพื้น ของอาจารย์ใหญ่

เพื่อที่จะน้อมมา ได้เกิดความเข้าใจว่า

ร่างนี้ของเรานี่ ก็ต้องเป็นขอนไม้ วางนอนไว้เฉยๆ เหมือนกัน

 

ศพของคน อย่างถ้าเป็นอาจารย์ใหญ่ของหมอ

เขาก็จะขอบคุณอาจารย์ใหญ่ ที่ช่วยให้รู้ว่า ร่างกายภายในของมนุษย์เป็นอย่างไร

แล้วเขาก็คือ ยกมือไหว้จริงๆ ด้วยความเคารพจริงๆ แล้วก็ขอบคุณจริงๆ

อันนั้นคือ จบ.. จบหน้าที่อาจารย์ใหญ่ในโรงพยาบาล

 

แต่หน้าที่ของอาจารย์ใหญ่ในสถานที่ปฏิบัติธรรม

จะจบต่อเมื่อเราน้อมเข้ามา เห็นว่า

กายของเขาเป็นอย่างไร กายของเราก็อย่างนั้น

 

เวลาฝึก เราฝึกง่ายๆ เลย ตอนที่นึกถึงภาพขึ้นมา หรือมีความกลัวขึ้นมานี่

เรากลัวอะไร .. ถามตัวเอง

เรากลัวสิ่งที่เป็นศพ

เรากลัวสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตวิญญาณหลงเหลืออยู่แล้ว

เรากลัวขอนไม้ท่อนหนึ่ง ที่วางอยู่เฉยๆ บนพื้น

 

ทีนี้ ถ้าสิ่งนั้น ปรากฏอยู่ตรงนี้ล่ะ ปรากฏอยู่ในท่านั่งนี้

ปรากฏอยู่ในอิริยาบถปัจจุบันนี้ โดยยังมีลมหายใจเข้าออก

ผ่านเข้าผ่านออกได้อยู่ จะยังน่ากลัวอีกไหม

 

นี่ ตอนนี้ อย่างตัวผม มีลมหายใจเข้าออกอยู่ เลยยังไม่เป็นขอนไม้ที่วางนอนอยู่นิ่งๆ เฉยๆ

แต่ก็ไม่ต่างกันโดยเนื้อหา มันยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อเหมือนกัน

แล้วก็วันหนึ่ง จะต้องไร้ลมหายใจเหมือนกัน

 

เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ที่การหายใจเข้า หายใจออก ณ บัดนี้ วินาทีนี้

แล้วเห็นว่า แค่มีสิ่งนี้แหละ

ที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้กับศพที่วางนอนอยู่

นี่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วก็มีไออุ่นอยู่ในร่าง

 

ถ้าไออุ่นกับลมหายใจนี้หมดไป เหลือแต่โครงกระดูก

แล้วก็ฉาบด้วยเลือดเนื้อ ตับไตไส้พุง .. ก็จะไม่ต่างกับศพเลย

 

พิจารณาเข้ามาที่อิริยาบถปัจจุบัน

อย่าพิจารณาแค่ที่ว่า เราเกิดความกลัว

เพราะจะไม่ไปไหน .. แล้วก็ไปไม่ถึงไหน

 

แต่ถ้าเอาเข้ามาในอิริยาบถปัจจุบัน คือถามตัวเองก่อนเลย

ตอนนี้อยู่ในอิริยาบถไหน ตั้งอยู่ในท่าไหนอยู่ ต่างกับศพอย่างไร

ศพ .. คือวางนอนลง

 

เอา ลองนอนดูเหมือนกับศพนี่

ตอนที่เราจะนอนแต่ละคืนอยู่แล้ว นอนหงาย ลองไม่กระดุกกระดิก

แล้วหายใจเข้าออกตามปกตินี่

สิ่งที่ต่างจากศพ มีแค่ลมหายใจที่ยังเข้ายังออกอยู่ ยังมีไออุ่นอยู่

 

แต่โดยเนื้อหา ก็คือ กระดูกที่มีตับไตไส้พุง แออัดยัดทะนานอยู่

 

พิจารณาอย่างนี้ บ่อยๆ ซ้ำๆ ทุกคืน

หรือว่าตอนที่เราเกิดความกลัวขึ้นมา

หรือ ตอนอยู่ในห้องพระ หรือ ตอนที่ทำสมาธิ

 

ตอนไหนก็ตามที่นึกถึงศพขึ้นมา

ให้น้อมเข้ามานึก ที่อิริยาบถปัจจุบันทันที

ถามตัวเองก่อนเลยว่า ตอนนี้เราอยู่ในท่าไหน ต่างจากศพอย่างไร

 

จะพบคำตอบเดิม ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ มาปรุงแต่งศพ ศพนี้ ไม่อย่างนั้น ศพนี้ ..เหมือนกันกับที่อยู่ในโลง

 

เห็นไปบ่อยๆ ภาวะความกลัวที่เกิดขึ้น หรืออะไรที่ตามหลอกหลอน

ที่เป็นภาพ ที่เป็นอะไรในใจ จะปรากฏเป็นแค่ ของเทียบเคียง

เป็นของกระตุ้น ให้เราย้อนนึกเข้ามาที่ภาวะความจริงภายใน

 

ย้ำนะ ถามตัวเองอยู่ในท่าไหนอยู่ อยู่ในอิริยาบถไหน

แล้วอิริยาบถนี้ ต่างกับศพอย่างไร จะเห็นภาวะขึ้นมา

แล้ว ภาวะทางกาย ยิ่งปรากฏชัดขึ้นเท่าไหร่

ภาวะทางใจที่กลัวจะยิ่งลดระดับลง หรือเจือจางลง เบาบางลง

 

อย่างตอนนี้ ถ้าเราถามตัวเองนะ เราอยู่ในท่านี้ แล้วหายใจอยู่

เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เป็นแค่อิริยาบถทางกาย อิริยาบถหนึ่ง หรือเปล่า

 

ถ้าหากเรารู้สึกว่า นี่เป็นภาวะของอิริยาบถทางกาย ภาวะหนึ่ง

แล้วรู้สึกขึ้นมา แม้แต่แวบเดียวว่า ไม่มีใคร อยู่ในภาวะนี้

มีแต่ภาวะที่จะต้องเป็นศพ

 

นี่ ตัวนี้ ตอนนี้ ที่เราจะได้ตัวอย่าง เอาเป็นแบบอย่าง ตัวตั้ง

ที่จะใช้ฝึก ในการเจริญสติ ระลึกถึงความเป็นเรา

เทียบเคียงกับศพได้อย่างถูกต้อง

 

ผู้ถาม : ได้คำตอบเลยค่ะ ขอบคุณพี่ตุลย์มากเลยค่ะ

 

ดังตฤณ : อนุโมทนานะ ที่ทำ มาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำให้ครบ

ต้องน้อมเข้ามาเทียบ กับอิริยาบถอันเป็นปัจจุบันด้วย

 

จริงๆ วัดทุกวัด ยังสามารถเอาเรื่องของศพที่มาเผา

ที่มาทำกิจกรรมครั้งสุดท้ายของชีวิต

สามารถที่เอามาสอนคนได้หมดแหละ

เพียงแต่ว่าจะมีครูบาอาจารย์ที่เล็งเห็นไหม

หรือมีความเข้าใจหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนไหม

 

แล้วจริงๆ การพิจารณาศพ ไม่จำเป็นต้อง ..

คืออย่างในกรณีของผู้ถาม ได้ไปเจอมา ท่านก็ให้อยู่กับความกลัว

ซึ่งจริงๆ พระพุทธเจ้า ท่านก็สอนเหมือนกันว่า

เวลาเกิดความกลัวขึ้นมา ให้อยู่กับความกลัวนั้นไป จนกว่าความกลัวจะหาย

จะได้เห็นอนิจจัง หรือความไม่เที่ยง ของความกลัวอย่างชัดเจน

 

เพราะอะไรก็แล้วแต่ ที่เกิดขึ้นอย่างกัดกินหัวใจ หรือครอบงำจิตให้มืดได้

พอคลี่คลาย หรือสว่างออก จะเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้น หรือภาวะนั้น อย่างแจ่มแจ้ง

โดยไม่ต้องไปควานหาที่ไหน นี่คือข้อดีของความกลัว

 

แต่ถ้าความกลัวนั้น มาในลักษณะที่ว่าเราคิด ปรุงแต่ง

แล้วเกิดความหลอกหลอนตัวเอง คือคิดโน่น คิดนี่อะไร

อันนี้ก็มาต่อให้ครบวงจร

 

จริงๆ การปฏิบัติ เจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอน

ท่านวางรากฐาน แล้วก็มีแผนที่อะไรให้อย่างชัดเจนนะ

ว่าจะให้เดินจากจุดไหนไปจุดไหน มีขั้นต่อไปเป็นอย่างไร มีเป็นขั้นๆ เลย

แต่เราต้องศึกษา แล้วเราต้องชัดเจน ถึงจะเกิดความรู้สึกมั่นใจ

 

แล้วก็เวลาที่เกิดภาวะหรือปรากฏการณ์ทางจิตขึ้นมา

จะได้อุ่นใจว่า เรารู้แล้วว่าจะต้องทำต่อแบบไหน ท่าไหนนะครับ

_______________

รายการปฎิบัติธรรมที่บ้าน คลับเฮ้าส์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=YryCWPqmtJs

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น